ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๑)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๑) 

การค้นพบหลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาท  นับเป็นการค้นพบหลักปรัชญาที่เกี่ยวข้องด้วยกฏของจักรวาลที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง  พระพุทธองค์ได้เคยตรัสให้พระอานนท์ฟังว่า

...ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง  และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง  เพราะไม่รู้ เพราะไม่เข้าใจแทงตลอดหลักธรรมข้อนี้  หมู่สัตว์จึงวุ่นวาย  เหมือนเส้นด้ายที่พันกันยุ่ง  เหมือนขมวดเส้นด้ายที่พันกันเป็นปม  เป็นเหมือนหญ้ามุ่งกระต่าย  และหญ้าปล้อง  ไม่สามารถที่จะล่วงพ้นอบาย  ทุคติ  วินิบาต  และสังสารวัฏไปได้

ข้อความข้างต้นนี้ให้ความหมายสำคัญที่ยิ่งใหญ่ต่อหลักปฏิจจสมุปบาท, และด้วยหลักนี้เองนับเป็นการเริ่มต้นแห่งการปฏิบัติแนวความคิดทางศาสนา  เข้าสู่ยุคแห่งความอิสระทางความคิดของมนุษย์ชาติ.  ภายใต้ระบบเหตุผลในทำนองเดียวกันนี้ คือ  พื้นฐานของระบบความรู้  ที่มนุษย์ในยุคต่อมารู้จักกันดีในนามของหลักการแห่งวิทยาศาสตร์.

ในความคิดของพุทธศาสนา  หลักปฏิจจสมุปบาทเป็นเหมือนหลักการแม่บทแห่งหลักการหรือทฤษฏีใด ๆ  ที่จะอธิบายกระบวนการต่าง ๆ  ของโลก  จักรวาลและชีวิต  ด้วยหลักการต่อเนื่องระหว่างเหตุและผล  วิธีการเช่นนี้ย่อมปฏิเสธการอธิบายโดยยกหรืออ้างอำนาจลึกลับ   นอกเหนือไปจากตัวของมนุษย์เอง  ปฏิเสธเหตุที่เกิดขึ้นลอย ๆ  โดยไม่มีคำอธิบาย  ดังนั้น  หลักการแห่งปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นเหมือนศูนย์กลางของความรู้ต่อธรรมชาติทั้งมวล  ด้วยความสำคัญที่นับเป็นแกนของคำสอนของพุทธศาสนา  ดังนั้น  จึงทรงตรัสไว้ในมหาสาโรปมสูตรว่า  

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท  ผู้นั้น  ชื่อว่า  เห็นธรรม  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า  เห็นปฏิจจสมุปบาท

ข้อความนี้ยืนยันชัดเจนว่าหากเราไม่เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท, เราก็เข้าใจหลักธรรมทางพุทธศาสนาได้ไม่ครบถ้วน  และหากเข้าใจปฏิจจสมุปบาทก็เพียงพอที่ทำให้เราเข้าใจหลักการของพุทธศาสนา  ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท  ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจความเป็นไปของสรรพสิ่งและจักรวาลนี้

ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นเหมือนแกนของระบบคำสอนของพุทธศาสนา  เป็นหลักการของชีวิตในระดับสามัญและรวมไปถึงในระดับสูงที่เป็นไปเพื่อการกำจัดทุกข์ซึ่งจะเป็นตัววิเคราะห์ให้เห็นว่าทุกข์ของมนุษย์ชาติเกิดมาอย่างไร  และดับไปได้อย่างไรหลักปฏิจจสมุปบาท คือ  คำอธิบายหลักการของความเป็นอนัตตา,  สร้างระบบมัชฌิมาปฏิปทาของพุทธศาสนาขึ้น  หลักปฏิจจสมุปบาทยังเป็นการอธิบายระบบของธรรมชาติ  พัฒนาระบบความคิดของมนุษย์ขึ้นอยู่เหนืออำนาจของพระเจ้า

ในที่นี้  เราจะมองหลักปฏิจจสมุปบาท  ในฐานะเป็นแกนกลางของระบบกลไกทางจักรวาล  เพื่ออธิบายความเป็นจริงทางอภิปรัชญาโดยร่วมกับหลักการอื่น  คือ ธาตุ  หลักการเรื่องอายตนะ  และที่จะกล่าวถึงต่อไป คือ เรื่องฐานะและอฐานะ

หลักการของปฏิจจสมุปบาท

หลักปฏิจจสมุปบาท  หรือที่อาจเรียกกันว่า  หลักปัจจยาการ  นับเป็นกฎสากลของจักรวาล  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงตรัสออกมาอย่างชัดเจนว่า

ไม่ว่า ตถาคตจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม  ความเป็นจริงนี้  ยังคงดำรงอยู่  เป็นธรรมฐิติเป็นธรรมนิยาม....ภิกษุ  ภาวะที่เป็นอย่างนั้น (ตถตา)  ภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อนไปได้  (อวิตถตา)  ภาวะที่ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น  (อนัญญตา)  กล่าวคือ  หลักอิทัปปัจจยตาที่กล่าวมานี้แลคือ  หลักปฏิจจสมุปบาท

ความหมายของคำว่า  ปฏิจจสมุปบาท  ตามนัยแห่งภาษา  มีความหมายว่าเพราะถึงเฉพาะหน้ากัน  หรืออาศัยกัน (ปฏิจจ)  จึงทำให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น  (สมุปปาท)  ปฏิจจ”  จึงอยู่ในฐานะเป็นปัจจัย (หรือเหตุ),  ส่วน  สมุปบาท”  อยู่ในฐานะเป็นผล  ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักการที่ยืนยันว่า  เพราะสิ่งหนึ่งถึงเฉพาะหน้ากัน,หรืออาศัยกัน  หรือเป็นปัจจัย จึงทำให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น  สิ่งใด ๆ   ที่เกิดขึ้นตามหลักนี้,  ซึ่งก็คือ   สังขตธรรมทั้งมวล,  นับเป็น  ปฏิจจสมุปปันนธรรม”  โดยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งตามหลักปฏิจจสมุปบาทข้างต้น,  ในปัจจยสูตร  แห่งนิทานวรรคกล่าวแยกไว้ละเอียดว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาท  เป็นไฉน  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ.....เพราะภพเป็นปัจจัย  จึงมีชาติ.....เพราะอุปทานจึงมีภพ...เพราะตัณหาเป็นปัจจัย  จึงมีอุปาทาน .....เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา.....เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  จึงมีเวทนา.....เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย  จึงมีผัสสะ....เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  จึงมีสฬายตนะ...เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย  จึงมีนามรูป....เพราะสังขารเป็นเป็นปัจจัย   จึงมีวิญญาณ...เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร พระตถาคตจะเกิดขึ้นมาหรือไม่เกิดขึ้นมาก็ตาม  ธาตุอันนี้  ยังคงดำรงอยู่.....พระตถาคตตรัสรู้แล้ว.....ครั้นแล้ว ย่อมตรัสบอก  บัญญัติ  แต่งตั้ง   เปิดเผย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ปฏิจจสมุปปันนธรรม  เป็นไฉน     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ชรามรณะเป็นของไม่เที่ยง  อันปัจจัยประชุมแต่ง   อาศัยกันเกิดขึ้น   มีความเสื่อมไปมีความสิ้นไป   คลายไป   ดับไปเป็นธรรมดา  ชาติเป็นของไม่เที่ยง...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เมื่อใดแล อริยสาวกเข้าใจปฏิจจสมุปบาท  และปฏิจจสมุปปันนธรรม ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงแล้ว...

แม้ว่าจะแยกออกเป็นเช่นนี้ก็ตาม  การเข้าใจปฏิจจสมุปบาท  ก็คือการเข้าใจปฏิจจสมุปปันนธรรมนั้นเอง,  และเมื่อยอมรับปฏิจจสมุปปันนธรรมก็เท่ากับยอมรับปฏิจจสมุปบาท.

หลักปฏิจจสมุปบาทดำรงอยู่ใน  ๔  ลักษณะ  ในฐานะเป็นการทรงไว้  (ธาตุ),เป็นการดำรงของสิ่งทั้งหลาย (ธัมมฐิติ)  , เป็นแนวทางของสิ่งทั้งหลาย  (ธัมมนิยาม) และความเป็นปัจจัยของกันและกัน (อิทัปปัจจยตา)   บางครั้ง  อาจเรียกหลักปฏิจจสมุปบาทโดยชื่ออื่น  เช่นตถตา (ความมี เพราะปัจจัยอย่างนั้น)  ,อวิตถตา (ความไม่มี เพราะไม่มีปัจจัยอย่างนั้น),   อนัญญตา  (ความไม่มี  เพราะปัจจัยอื่น )  และอิทัปปัจจยตา (ความที่สิ่งนี้มี  เป็นปัจจัยของสิ่งนี้)   หลักปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นมูลบทพื้นฐานแห่งทฤษฎีที่ว่าด้วยกฎแห่งภาวะสัมพันธ์ทั้งมวล. เป็นการแน่ชัดว่าถ้าหากเราไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงของกฎนี้  เราก็ยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้.

ในการนำเสนอเรื่องปฏิจจสมุปบาท จะแบ่งออกเป็น  ๒ ส่วน คือ  กฎสากลของปฏิจจสมุปบาท  และหลักปฏิจจสมุปบาทประยุกต์  ส่วนแรกจะเป็นการบอกถึงตัวกฎ ส่วนหลัง   จะเป็นการนำกฎแห่งปฏิจจสมุปบาทไปอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ  ส่วนมาก  มักจะมองหลักประยุกต์ว่าเป็นตัวปฏิจจสมุปบาทเสียเอง.

ก.  กฎสากลของปฏิจจสมุปบาท

หลักปฏิจจสมุปบาทจะเริ่มด้วยกฎสากล  ซึ่งยืนยันว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมีเพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น   เมื่อสิ่งนี้ไม่มี   สิ่งนี้ก็ไม่มี  เพราะสิ่งต่อไปนี้ดับไป  สิ่งนี้จึงดับตามได้ด้วย

จากกฎนี้  มีความจริงที่ได้รับการยืนยัน  ๒  อย่าง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ประการแรก คือ ธรรมชาติที่เป็นปัจจัยซึ่งเรียกว่า  ปฏิจจสมุปบาท, ประการที่สองคือ  ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยเหล่านั้น   เรียกว่า  ปฏิจจสมุปปันนธรรม.  ตามหลักการนี้  เราจำแนกออกได้เป็นส่วน  ปัจจัย หรือ เหตุและ ผล

การยืนยันกฎปฏิจจสมุปบาทว่าเป็น  กฎสากล”  นี้ เพราะเป็นการยืนยันกฎแห่งเหตุและผลดังนี้

ประการแรก เพราะการเกิดขึ้นตามปัจจัยที่คงตัว (ตถตา)  กฎในข้อนี้ยืนยันว่าผลจะเกิดขึ้นจากปัจจัยกลุ่มหนึ่ง,  โดยที่ผลนั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอ.

ประการที่สอง  การเกิดขึ้นของปัจจัยทำให้เกิดผลเช่นนั้นแน่นอน (อวิตถตา)ในการเกิดขึ้นของปัจจัยที่พอดี  ย่อมทำให้จำเป็นต้องเกิดผลเช่นนั้นตามมา.

ประการที่สาม การเกิดผลอย่างหนึ่ง  จะไม่มีเพราะผลของปัจจัยส่วนอื่น ที่ไม่ใช่เหตุของมันเอง (อนัญญตา)  เหตุอย่างหนึ่งจะแปรเปลี่ยนไปก่อให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่งไม่ได้.

ประการที่สี่  เป็นการรวมกันของปัจจัย (อิทัปปัจจยตา)  กฎในข้อสุดท้ายนี้สรุปให้เห็นว่า  เมื่อมีปัจจัยอย่างนั้น  ย่อมก่อให้เกิดผลเช่นนั้นแน่นอน.

ในการยืนยันด้วยคำว่า  ปัจจัย”   ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้.  มีคำที่มาคู่กัน คือ เป็น  เหตุ”  ของผลที่ตามมา .  บางครั้ง  ก็ใช้รวมกันว่า เป็น เหตุปัจจัย”  ซึ่งหมายถึงการเป็นสภาพที่อุดหนุน  โดยการเป็นมูล (เหตุมีความหมายว่า  เป็นมูล  ส่วนปัจจัยมีความหมายว่า เป็นสภาพที่อุดหนุน).   ในที่นี้  อาจเรียกใช้แต่คำว่าเหตุ หรือปัจจัย  หรือเหตุปัจจัย  โดยมีความหมายเดียวกัน  จริง ๆ  แล้วการยืนยันว่าเป็นเหตุปัจจัย เป็นการยืนยันความเป็นปัจจัยในความหมายว่า  เป็น แกนหลัก”  เท่านั้นเพราะยังมีการเป็นปัจจัยอื่นได้อีกหลายประการ

ในการเป็นเหตุเป็นผลกันนั้น.  มีข้อสรุปว่า  ไม่มีผลอย่างเดียว  ที่เกิดจากเหตุอย่างเดียว  ผลหลายอย่างก็เกิดจากเหตุอย่างเดียวไม่ได้,  ไม่มีผลอย่างเดียวที่เกิดจากเหตุหลายอย่าง,  แต่ผลหลายอย่าง  เกิดจากเหตุหลายอย่าง  ข้อความในวิสุทธิมรรค  กล่าวไว้ว่า

ผลอย่างเดียวจะเกิดจากเหตุอย่างเดียวไม่มี  แม้แต่ผลหลายอย่างจะเกิดมาจากเหตุอย่างเดียวไม่ได้  เกิดจากเหตุหลายอย่างก็ไม่ได้  แต่ประโยชน์ในการแสดงเหตุอย่างเดียว  และผลอย่างเดียวมีอยู่

ในข้อความนี้มีข้อสรุปว่า  แม้ว่าในการกล่าวเหตุและผล  จะเสนอเหตุและผลอย่างเดียวก็จริง,  แต่นั้นเพราะต้องการเสนอเฉพาะเหตุและผลหลักเท่านั้น.  จริง ๆ  แล้วในการบอกว่า A  เป็นปัจจัยให้เกิด  B  ยังหมายถึงมีเหตุอื่นร่วมกับ A  ด้วยและผลที่เกิดขึ้น  ก็มีผลอื่นเกิดขึ้นร่วมกับ B  ด้วยเช่นกัน  เมื่อต้องการเสนอเฉพาะเหตุและผลหลักจึงระบุแค่เพียง  A และ B

หลักการนี้เห็นได้ชัด,  เฉพาะในส่วนเหตุ  จะเห็นได้ว่า  สภาพแวดล้อม,  อุณหภูมิและอื่น ๆ  (ในปัจจัย  ๒๔  ประการ)   ต่างเป็นปัจจัยร่วมด้วย  ส่วนผลที่เกิดขึ้น,นอกจากมีผลโดยตรงแล้ว  ยังมีผลกระทบ ผลที่แฝง  และผลที่ซ่อนเร้นอยู่ด้วย.

ดังนั้น  ในการเป็นเหตุและผล  จึงเกิดมาจากเหตุหลายอย่าง และก่อให้เกิดผลหลายอย่าง.

ทั้งหมดนี้ คือกฎเบื้องต้นที่เป็นหลักการของหลักปฏิจจสมุปบาท.กฎเหล่านี้ คือ  แนวทางที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์เหตุการณ์ย่อย  หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ อันเป็นการนำหลักปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายเหตุการณ์ภายนอก  .เห็นได้ชัดว่า  หากเราไม่เข้าในกฎสากลนี้ก่อน  การวิเคราะห์เหตุการณ์ภายนอกจะไม่สมบูรณ์และเราจะไปยึดกับการอธิบายเหตุการณ์ว่าเป็นตัวปฏิจจสมุปบาทเสียเอง.

ข.  ปฏิจจสมุปบาทและการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ

เนื่องจากหลักปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่สำคัญยิ่งนัก.  จากกฎสากลนี้จึงมีการขยายต่อด้วยการแสดงกรณีเฉพาะในเรื่องต่าง ๆ  เช่น  พัฒนาการของชีวิต,  การเกิดขึ้นและการดับของความทุกข์,  ปัญหาทางสังคม,  เราอาจพบกรณีตัวอย่างของการนำหลักสากลนี้ไปอธิบายในกรณีเฉพาะอื่น ๆ มากมาย,  ที่ปรากฏมากที่สุด คือในการแสดงการเกิดขึ้นและการดับทุกข์.

หลักปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นหลักการที่เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทั้งมวลและตอบปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ได้ทุกเรื่องเพื่อทดแทนการอ้างถึงการดลบันดาลของอำนาจลึกลับข้างนอกและการยึดหลักการเกิดขึ้นเองอย่างเลื่อนลอย.

อย่างไรก็ตาม  มีหลายท่านมักจะเข้าใจผิดโดยการไปยึดเอาตัวอย่างเฉพาะของปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวกฎของปฏิจจสมุปบาท  ความเข้าใจเช่นนี้ทำให้หลักปฏิจจสมุปบาทมีความหมายแคบไป. ในที่นี้ เราได้เริ่มต้นด้วยการเสนอกฎสากลที่เป็นกลางไปแล้ว,  จึงทำให้ง่ายที่เข้าใจการอธิบายปรากฏการณ์.

หมายเลขบันทึก: 215578เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท