"เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา ฯลฯ"


"เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา ฯลฯ"


เรียนคุณสมถะ และเพื่อสหธรรมมิกผู้สนใจวิชาธรรมกายทุกท่านครับ
ผมขออนุญาติเปิดประเด็นคุยกันเพื่อความรู้
ไม่ใช่มาเถียงกันนะครับ
แต่เรามาคุยกันในเรื่องความรู้ของวิชาว่า

"สิบ" และ "ศูนย์" คืออะไร และสำคัญอย่างไร
ที่ว่า "เห็นสิบ แล้วเห็นศูนย์" นั้นเป็นอย่างไร

มาคุยกันเพื่อให้เกิดความรู้นะครับ ไม่ได้มาโอ้อวดกัน
เป็นความรู้ภาคปฏิบัติครับ
จากคุณ : ผ่านเข้ามาพบ


"เห็นสิบ แล้วเห็นศูนย์"

ประโยคนี้จะว่าไปแล้วเป็นเคล็ดลับความสำเร็จ คือเป็นเคล็ดลับของภาคปฏิบัติให้ถึงของจริงเชียวนะครับ

ขออนุญาตใช้ความรู้เท่าที่มีลองอธิบายดูนะครับ

เมื่อเราพิจารณาประโยคนี้ "เห็นสิบ แล้วเห็นศูนย์" เราต้องทราบก่อนว่า สิบ คืออะไร แล้ว ศูนย์ คืออะไร


"สิบ" คือฐานที่ 6 อยู่ระดับเดียวกับสะดือของเรา โดยสมมติว่ามีเส้นด้าย 2 เส้น เส้นที่ 1 สมมติว่าแทงจากสะดือทะลุหลัง ให้เส้นด้ายขึงตึง อีกเส้นหสึ่งสมมติว่าแทงจากสีข้างขวาทะลุสีข้างซ้าย ให้เส้นด้ายขึงตึง ตรงจุดตัดของเส้นได้ทั้งสอง หรือที่หลวงพ่อวัดปากน้ำเรียกว่า "กลางกั๊ก" นั่นแหละเรียกว่า "สิบ"


"ศูนย์" คือฐานที่ 7 หรือศูนย์กลางกาย โดยอยู่เหนือสะดือขึ้นมา 2 นิ้วมือ(ตัวเราเอง) คืออยู่เหนือฐานที่ 6 ขึ้นมาประมาณ 2 นิ้วมือ(ตัวเราเอง) โดยอยู่ในท้องของเรา นี่เรียกว่า "ศูนย์" ครับ


หลวงพ่อกล่าวไว้ชัดแล้วครับ เห็นสิบแล้วจึงเห็นศูนย์ หมายความว่า เมื่อใจนิ่งได้ถูกส่วน ใจจะเข้า "สิบ" แล้วจึงจะตก "ศูนย์" ทุกครั้งไป แสดงว่า ใจเราเมื่อครั้งเราเริ่มทำใจหยุดใจนิ่งได้ถูกส่วน ใจจะทำงานสองจังหวะ คือเข้าสิบแล้วตกศูนย์เสมอ แต่แรกเมื่อทำได้ เรามักสังเกตไม่ทัน ต่อไปเมื่อฝึกจนคล่องแล้ว อาการอย่างนี้เราจะทราบได้เอง


โอ้..เรื่องความสำคัญนั้น มหาศาลทีเดียว เพราะนี่เป็นทางมรรคทางผลทีเดียว ถ้าไม่เข้าทางนี้ล่ะก็เป็นไม่เห็นของจริงกันล่ะ ท่านกล่าวว่า "ผิดศูนย์ผิดทางไม่เข้ากลางออกนอก" นี่เรียกว่าเข้าป่าเข้าดงรกชักไปเลย ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันกันล่ะ ถ้าไม่เดินให้ถูกศูนย์ก็ไม่ถูกทาง


เอ.....แต่เท่าที่ทราบนอกจากฐานที่ 6 คือ "สิบ" และฐานที่ 7 เรียกว่า "ศูนย์" หลวงพ่อวัดปากน้ำกล่าวว่า ทางเดินของใจมีทั้งหมด 7 ฐาน ไม่ทราบว่าทั้ง 7 ฐานนี้สำคัญอย่างไร การเดินใจทีละฐานทำขั้นตอนไหนบ้าง และเพื่ออะไร ขอรบกวนท่านผ่านเข้ามาพบ (เจ้าของกระทู้) และท่านผู้รู้และสนใจใคร่รู้ทั้งหลายช่วยอธิบายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยครับ

จากคุณ : สมถะ





โอ้ ชัดเจนทีเดียวครับคุณสมถะ
แต่ก่อนที่จะไปเรื่อง 7 ฐาน ต่อไป ผมขออนุญาตแสดงความเห็นเรื่องนี้อีกสักนิดเถอะครับ
เพื่อความเข้าใจที่สอดคล้องกัน

สำคัญมากนะครับเรื่อง "สิบ" และ "ศูนย์" นี้
มีคำกล่าวเอาไว้ครับ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านว่า

"เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา
เที่ยงแท้แน่หนักหนา ตั้งอนิจจาเป็นอาจิณ
จุติแล้วปฏิสนธิ ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้น
สังขาราไม่ยืนยิน ราคีสิ้นเป็นตัวมา"

ชัดเจนครับว่า
เห็นสิบ แล้วจึงเห็นศูนย์
คือเห็นดวงใสฐานที่ 6 ก่อน แล้วจึงเห็นจะเห็นดวงธรรมที่ศูนย์
นี่คือหลักเกณฑ์
เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ฝึกฝนครับ

คำว่าศูนย์ คือศูนย์กลางกาย
ศูนย์กลางกายมีที่เดียวนะครับ คือที่ฐานที่ 7
ดังนั้น ไม่มีคำว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ 6 และศูนย์กลางกายฐานที่ 7
ค้นตำราดูได้ครับ ว่าไม่มีคำว่าศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ในสารบบ
จะค้นข้อมูลมาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อบรรลุธรรมใหม่ ๆ ไปจนถึงรุ่น 3 ดวงธรรม รุ่น 5 กาย สุดท้ายมาถึงรุ่น 18 กาย 6 ดวงธรรม ก็ไม่มีกล่าวเอาไว้
มีแต่ที่หลวงพ่อสอนเอาไว้ว่า "สิบ" และ "ศูนย์" นี้เท่านั้น
นอกจากนั้น หลวงพ่อยังเรียกว่า เป็น "ดวงเครื่อง" เสียอีกแน่ะ
ไม่คุ้นหูใช่ไหมครับ
อันนี้ อย่าว่ากันนะครับ ผมไม่ได้กล่าวปักปรำว่าใครสอนผิดถูกไปจากตำรับตำรา
แต่ผมเอาเรื่องความรู้ที่ศึกษามา มาชี้แจงให้ทราบ
อย่าว่ากันเลยนะครับกัลยาณมิตรที่เคารพ

เอ้า เข้าเรื่องต่อ

เรื่องความรู้ของคุณสมถะที่แสดงนี้ ถ้ายกประเทศให้ได้ ผมยกให้คุณสมถะหมดเลย
เพราะอะไร
เพราะเรื่องการเห็นสิบก่อน แล้วจึงเห็นศูนย์ นี่ มันถูกตำราทีเดียว
ไม่มีการพูดถึงกันแล้ว สมัยนี้

จังหวะแรกเราจะเห็นดวงใสที่ "สิบ" ก่อน
อธิบายให้ชัดอีกหน่อย คือ
จังหวะนี้ยังเห็นเป็นนิมิตอยู่นะครับ
จะเป็นอุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิตก็ตามที คือเปลี่ยนสี ย่อ ขยายได้
แต่พอใจหยุด นิ่ง แน่น หนักเข้าไปอีก ใจก็ตกศูนย์ คือที่ เข้าสู่ฐานที่ 7
พอตกศูนย์เข้าเท่านั้น ก็จะเห็นดวงปฐมมรรคขึ้น เป็นดวงกลมโตเท่าฟองไข่แดงของไก่ ขาวใสบริสุทธิ์
ขั้นตอนนี้ ไม่ใช่นิมิตแล้ว
ดวงปฐมมรรคที่เห็น มีขนาดที่แน่นอน สีขาว และใส ไม่มีแปรเปลี่ยน
ดวงนี้เรียกดวงธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นของจริง สัมผัสได้ เที่ยงแท้ และแน่นอน (คนละเรื่องกับอัตตา-อนัตตานะครับ)
และการเห็นนี้ คือการเห็นรอบตัว
คือเห็นทั้งซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง-ล่าง-บน-นอก-ใน
เห็นพร้อมกันไปหมด
นอกจากเห็นแล้ว ยังสัมผัสได้อีกด้วยว่า สภาวะความหยุดนิ่งของใจเมื่ออยู่ที่ ศูนย์นั้นเป็นอย่างไร
เพราะ "ใจ" คือ เห็น-จำ-คิด-รู้ นั้นไปรวมอยู่ที่ศูนย์ทั้งหมด
ดังนั้น เราจึงรู้สึกได้ด้วย เมื่อเอาใจไปหยุดอยู่ที่ศูนย์

ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่อง สิบ และศูนย์
เมื่อเราเห็นดวงนิมิตที่สิบ เราก็อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่า นั่น เราเห็นธรรมแล้ว
แล้วเราก็พอใจอยู่อย่างนั้น เราไม่หยุด นิ่ง แน่น ต่อไป
แปลว่า เราพลาดแล้ว ประโยชน์ไม่เกิดแล้ว
และที่สำคัญ
ถ้ายังไม่เข้าศูนย์ มารเขาก็หลอกรู้ลวงญาณได้เรื่อยไป โดยอาศัยนิมิตนั้น
เราอาจเห็นกายธรรมหรือเห็นนิมิตหมายไปต่าง ๆ นานา
สุดท้ายใจเราก็ออกนอกศูนย์
แล้วมัวไปพอใจอยู่แต่นิมิตนั้น มันก็เรียบร้อยโรงเรียนมารเท่านั้นเอง

ถ้าไม่เห็นสิบ เราก็ไม่มีทางเห็นศูนย์
เรื่องนี้ จะเป็นเรื่องของการเห็นดวงธรรมนอกตัวครับ
ต้องถกกันอีกยาว เดี๋ยวจะโพสต์เข้ามาอีกครับ

จากคุณ : ผ่านเข้ามาพบ




ครับ เรื่อง 7 ฐานที่ว่ามานั้นก็คือ "ทางเดินของใจ"

มาดูกันก่อนว่า "ใจ" คืออะไร

"ใจ" คือ เห็น-จำ-คิด-รู้ (เข้าใจว่าคุณสมถะ และคุณ xcvbnm คงเคยอธิบายเอาไว้แล้วโดยละเอียด)

แล้วใจตั้งอยู่ที่ไหน
ตอบว่า ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย คือกลางตัวเหนือระดับสะดือสองนิ้วมือขึ้นมา

เอาล่ะสิทีนี้
แล้วในเมื่อใจของเราไปตั้งอยู่ในกลางตัว คือที่ศูนย์กลางกาย เวลาเราจะเข้าไปหาใจ เราจะไปทางไหน
จะเอาแบบ ทะลุท้องเข้าหาใจของเราเลยหรือ
หรือเอาแบบทะลุข้างหลังเข้ามา ฯลฯ

คำตอบคือว่า จะเข้าไปหาใจที่ฐานที่ตั้งของใจได้ ต้องเข้าตามทางเดินของใจ
มีอยู่ 7 ที่ครับ อย่างที่คุณ xcvbnm ได้กรุณาอธิบายไว้โดยละเอียดแล้ว
โดยสรุปคือ
1.ปากช่องจมูก ญ-ซ้าย ช-ขวา
2.เพลาตา ญ-ซ้าย ช-ขวา
3.จอมประสาท หรือกลางก๊กศีรษะ
4.ปากช่องเพดาน
5.ปากช่องลำคอ
6.ฐานของศูนย์กลางกาย หรือ สิบ
7.ศูนย์กลางกาย หรือ ศูนย์

ความสำคัญของทั้ง 7 ฐาน ซึ่งก็คือทางเดินของใจนั้นมีหลายอย่าง
เป็นทางของการ เกิด ดับ หลับ ตื่น
คือจะเกิด จะตาย จะหลับ หรือจะตื่น ใจต้องไปหยุดอยู่ที่ศูนย์นี้ทั้งสิ้น
และใจก็ต้องเดินไปตามทางเดินทั้ง 6 ฐานเพื่อไปสู่ศูนย์ตามที่กล่าวมาแล้ว

ประเด็นที่ผมใคร่จะนำมาเรียนเสนอสำหรับผู้ที่กำลังฝึกฝนตนฝนวิชาธรรมกายอยู่ก็คือ
การเดินใจไปตามทางเดินทั้ง 7 ฐานนี้สำคัญมาก

หากไม่เดินไปตามนี้ เราก็มีโอกาสพลาดที่จะเข้าไปสู่ "สิบ" และ "ศูนย์"
เมื่อเข้าสิบไม่ได้ การเข้าศูนย์ก็ไม่มีทางเป็นไปได้

บางสำนัก ผมเห็นท่านสอนให้เอาใจเข้าไปวางไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เลย (ท่านสอนให้เรียกอย่างนี้)
โดยท่านไม่ได้ให้เอาใจเข้าไปตามทางเดินของใจ
ซึ่งอย่าลืมนะครับว่า ฐานที่ 1 และ 2 นั้น มีความแตกต่างกันของตำแหน่งเมื่อเป็นหญิงและชาย
กล่าวคือ ชายต้องสอดใจเข้าทางขวา หญิงต้องสอดใจเข้าทางซ้าย
หากทำในทางตรงกันข้าม คือชายเข้าทางซ้าย หญิงเข้าทางขวา ใจก็ไปต่อไม่ได้ เพราะผิดทางเดินของใจ
ผลก็คือ ไปฐานที่ 3 ต่อไม่ได้ และแน่นอน ย่อมเข้าศูนย์ไม่ได้
ดังนั้น เมื่อบางสำนักท่านไม่สอนให้เข้าสู่ทางเดินของใจ อย่างที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านวางหลักเอาไว้
ผลก็คือ ผู้เรียนไม่สามารถเอาใจเข้าสู่ศูนย์ได้
ต่อให้ปฏิบัติไปอีกสักร้อยปีก็เข้าไม่ถึง เพราะผิดที่ผิดทาง ผิดฝาผิดตัว
หรือถ้าจะมีการเห็น ก็คือการเห็นนอกตัว
ถ้าอย่างนั้นก็หวานคอมาร
เขาจะเสกสรรปั้นแต่งให้ท่านเห็นอะไรก็ทำได้สะดวกมือ
อย่างนี้ ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว
บางท่านเห็นดวงธรรมผุดขึ้นมาไม่ขาดสาย นับไม่ถ้วน
เห็นเป็นท่อ เป็นสายเลยทีเดียว
ความจริง ดวงธรรมมีอยู่ 6 ดวงครับ
เมื่อจบชุด 6 ดวงแล้ว ท่านต้องเห็นกายใหม่
คือจะเป็นกายแบบเดิมแต่ละเอียดขึ้นหรือหยาบลงก็สุดแล้วแต่ตามวิธีการเดินวิชาของเรา
ไม่ใช่เห็นเป็นดวง เป็นท่อ เป็นสาย ไปอย่างนั้น
ผิดหลักนะครับอย่างนั้น
คิดให้ดีเถอะครับ เป็นเพราะการเห็นธรรมนอกตัวหรือเปล่า น่าคิดนะครับ

ดังนั้น การที่คุณสมถะได้กรุณาเน้นยำให้เห็นถึงเรื่องความสำคัญของทางเดินของใจ 7 ฐานนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ
เป็นกุศลจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนาสาธุการจริง ๆ ครับ

จากคุณ : ผ่านเข้ามาพบ

หมายเลขบันทึก: 215595เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท