จะต่อวิชาอย่างไรครับ เมื่อเห็นดวงปฐมมรรคแล้ว


จะต่อวิชาอย่างไรครับ เมื่อเห็นดวงปฐมมรรคแล้ว

เรียนคุณสมถะ และเพื่อนสหธรรมิกผู้สนใจใฝ่เรียนรู้และกำลังฝึกฝนวิชาธรรมกายอยู่ครับ

คืออย่างนี้ครับ มีน้องคนหนึ่ง เขาได้เห็นดวงปฐมมรรคขึ้นที่ศูนย์แล้ว
ปัญหามีอยู่ว่า จะต่อวิชาอะไร และอย่างไรให้เขา
ขอทราบหลักสูตรเบื้องต้น ระดับกลาง และระดับสูงเป็นนโยบายด้วยครับ
ถ้าจะกรุณาลงรายละเอียดในหลักสูตรเบื้องต้นอย่างเป็นลำดับขั้นตอน จะเป็นพระคุณมาก

ผมคิดว่า
หากจะให้เขาคงเห็นดวงธรรมอยู่อย่างนั้น
แล้วปล่อยให้เขาค่อย ๆ เห็นไปทีละกายจากกายโลกีย์ไปจนถึงกายธรรมนั้นน่าจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง

เพราะผมเคยพบกับบางท่านที่มีประสบการณ์ทำนองนี้
(ท่านเป็นคุณป้าอายุกว่า 70 แล้ว มีตัวตนอยู่จริง พำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา)
ท่านกรุณาให้ความรู้กับผมว่า
คุณ...ฉันเห็นกายรูปพรหมมากว่าสิบปีแล้ว ไปต่อไม่ได้เลย ฉันจะทำอย่างไรดี พยายามแล้วก็ไปไม่ได้ไกลกว่านี้
มีอีกครับ
บางท่าน เป็นคนอายุน้อยรุ่นหนุ่มสาว
ท่านแจ้งว่า
พี่...ผมเห็นดวงธรรม เข้าไปจนถึงกายฝันแล้ว พยายามประคองไว้เข้าตำราที่ว่า ลุ้น เร่ง เพ่งจ๋าขอลาก่อน
รอให้ไปเองแต่ละกาย ๆ
ต่อมา ทั้งดวงทั้งกายหายหมดเลย จนป่านนี้ ผมยังทำอีกไม่ได้
ถามพระท่านแล้ว ท่านก็ว่า ให้ทำใจเฉยๆ สบาย ๆ เดี๋ยวก็ได้เอง
นี่ล่วงเลยมาเป็นปีแล้ว ทำอย่างไรดีครับ
ถ้าทำได้อีก แล้วผมยังรักษาไม่ได้ เกิดหายไปอีก มันจะแย่กว่าเดิมอีกหรือเปล่าครับ

ทั้งหมดนี้ ผมมีความเห็นว่า ท่านเหล่านี้ล้วนประสพกับปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนในการเรียนวิชาเบื้องต้น
ดังนั้น จึงขอรบกวนท่านผู้รู้
ช่วยชี้แจงหลักสูตรเบื้องต้นที่ชัดเจนสำหรับผู้เรียนผู้ฝึกด้วยครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าและขออนุโมทนาในกุศลจิตที่จะได้พยายามชี้แจงเพื่อประโยชน์ของผู้เรียนครับ


จากคุณ : ผ่านเข้ามาพบ



เป็นคำถามที่ยากจะหาคนตอบได้จริงๆ ครับ เมื่อเราเป็นครูอาจารย์เขา ศิษย์ของเรามีความเพียรชอบ จนใจหยุด ใจนิ่ง เห็นดวงปฐมมรรคในท้องของตน เราผู้เป็นครูอาจารย์จะต่อวิชชาให้เขาอย่างไร เรื่องนี้สำคัญยิ่งครับ เพราะถ้าเราช่วยเขาจากดวงปฐมมรรคให้เห็นพระธรรมกายได้ ถือว่าเขาโชคดีมหาศาล แล้วเราจะหาอาจารย์ที่ว่านี้ได้ที่ไหน...


จะต่อวิชาอย่างไรเมื่อท่านผู้ฝึกกับเราเห็น "ดวงปฐมมรรค" แล้ว ดวงปฐมมรรค นั้นคืออะไร


ดวงปฐมมรรค หรือเรียกว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรียกย่อๆ ว่าดวงธรรมก็ได้ ดวงใสก็ได้ หมายเอาเมื่อเราฝึกใจได้ระดับหนึ่งโดยการกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วขาวใสในท้องตรงฐานที่ 7 เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ดวงนิมิตนั้นเปลี่ยนเป็น "ดวงปฐมมรรค" ตรงจุดเปลี่ยนนี้เรามักสังเกตไม่ทัน เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้าดวงนิมิตเปลี่ยนเป็นดวงปฐมมรรคทันที ปรากฏมีรัศมีสว่างโชติขึ้นมา ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็น ยังความปราบปลื้มใจมาสู่ผู้ฝึก แต่เมื่อถึงตรงจุดนี้แล้วจะไปต่ออย่างไร ผู้ฝึกเองก็ไม่ทราบ จึงควรไปขอต่อวิชชาจากครูอาจารย์


ครูอาจารย์ที่ฉลาดต้องรู้จักกำหนดหลักสูตรให้ผู้เรียนได้เรียนเป็นขั้นเป็นตอน กำหนดหลักสูตรให้ชัดเจนว่า ผู้ฝึกกับเราเขาจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ฝึกอย่างไร เรียนอย่างไร ทำได้จุดนี้แล้วไปจุดไหนต่อ เมื่อผู้ฝึกเห็นดวงปฐมมรรคในท้องตรงฐานที่ 7 ได้แล้ว ควรต่อวิชชาอย่างไร จะต่อวิชชาให้เขาเห็น 18 กายเลยดีไหม แต่เวลาเรามีน้อยจะทำอย่างไร และผู้ฝึกก็ยังใหม่อยู่


การต่อวิชา 18 กายให้ผู้ฝึกใหม่นั้นดูว่าจะยากไป ควรต่อให้เห็นพระธรรมกายเบื้องต้นก่อน เพราะกายธรรมรักษาได้ง่ายกว่ากายโลกีย์ เมื่อผู้ฝึกเห็นกายธรรมชัดเจนดีแล้ว เราค่อยเลื่อนชั้นในหลักสูตรต่อไป จนถึงวิชา 18 กาย การฝึกให้เห็นพระธรรมกายเบื้องต้นนั้น คือหลักสูตร 4 กายธรรม ได้แก่ กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัตต์ วิธีการฝึกต่อวิชา จากดวงปฐมมรรคให้เห็น 4 กายธรรมเบื้องต้น มีดังนี้


ขณะนี้ผู้ฝึกเห็นดวงปฐมมรรคในท้อง(ฐานที่ 7) ส่งในนิ่งไปกลางดวงปฐมมรรค ท่องใจ หยุดในหยุด ๆ ๆ ดวงใส(ดวงปฐมมรรค)จะใสขึ้น ชัดขึ้น สว่างขึ้น


ลำดับต่อไป ให้สมมติใจคือความรู้สึกทั้งหมดของเราเป็นปลายเข็มเย็บผ้า เข็มเย็บผ้าคือใจของเรา ส่งเข็มใจสัมผัสนิ่งไปกลางดวงใส ท่องใจ หยุดในหยุด ๆ ๆ นึกให้เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็มกลางดวงใส(ดวงปฐมมรรค) เห็นแล้ว. . . ส่งใจนิ่งไปกลางจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ท่องใจ หยุดในหยุด นึกให้จุดเล็กใสเท่าปลายเข็มว่างออกไป เกิดกายธรรม เป็นพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง 5 วา สูง 5 วา นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางว่างใส หันหน้าทางเดียวกับเรา เป็นสัดส่วนของกายธรรมพระโสดา




*** เมื่อเห็นกายธรรมพระโสดาแล้ว ท่องใจ หยุดในหยุดๆ ๆ กายธรรมพระโสดาจะใสขึ้น ชัดขึ้น สว่างขึ้น ลำดับต่อไป


ส่งใจของเรามองปากช่องจมูกของกายธรรมพระโสดา (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา) ท่องใจ หยุดในหยุด


เลื่อนใจมองเพลาตาของกายธรรมพระโสดา (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา)ท่องใจ หยุดในหยุด


มองเข้าไปที่จอมประสาทในกลางกะโหลกศีรษะกายธรรมพระโสดา ท่องใจ หยุดในหยุด


มองผ่านปากช่องลำคอลัดฐานลงไปในท้องกายธรรมพระโสดา ท่องใจ หยุดในหยุด เห็นดวงธรรม


ส่งใจนิ่งไปกลางดวงธรรมท่องใจ หยุดในหยุด เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม


ส่งใจนิ่งไปกลางจุดเล็กในเท่าปลายเข็ม ท่องใจ หยุดในหยุด นึกให้จุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ว่างออกไป เกิด กายธรรม เป็นพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง 10 วา สูง 10 วา นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางว่างใส หันหน้าทางเดียวกับเรา เป็นสัดส่วนของกายธรรมพระสกิทาคามี




*** ท่องใจ หยุดในหยุดๆ ๆ ต่อไป นึกเลื่อนใจมองปากช่องจมูกของกายธรรมพระสกิทาคามี (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา) ท่องใจ หยุดในหยุด


เลื่อนใจมองเพลาตาของกายธรรมพระสกิทาคามี (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา)ท่องใจ หยุดในหยุด


มองเข้าไปที่จอมประสาทในกลางกะโหลกศีรษะกายธรรมพระสกิทาคามี ท่องใจ หยุดในหยุด


มองผ่านปากช่องลำคอลัดฐานลงไปในท้องกายธรรมพระสกิทาคามี ท่องใจ หยุดในหยุด เห็นดวงธรรม


ส่งใจนิ่งไปกลางดวงธรรมท่องใจ หยุดในหยุด เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม


ส่งใจนิ่งไปกลางจุดเล็กในเท่าปลายเข็ม ท่องใจ หยุดในหยุด นึกให้จุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ว่างออกไป เกิด กายธรรม เป็นพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง 15 วา สูง 15 วา นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางว่างใส หันหน้าทางเดียวกับเรา เป็นสัดส่วนของกายธรรมพระอนาคามี




*** ท่องใจ หยุดในหยุดๆ ๆ ต่อไป นึกเลื่อนใจมองปากช่องจมูกของกายธรรมพระอนาคามี (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา) ท่องใจ หยุดในหยุด


เลื่อนใจมองเพลาตาของกายธรรมพระอนาคามี (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา)ท่องใจ หยุดในหยุด


มองเข้าไปที่จอมประสาทในกลางกะโหลกศีรษะกายธรรมพระอนาคามี ท่องใจ หยุดในหยุด


มองผ่านปากช่องลำคอลัดฐานลงไปในท้องกายธรรมพระอนาคามี ท่องใจ หยุดในหยุด เห็นดวงธรรม


ส่งใจนิ่งไปกลางดวงธรรมท่องใจ หยุดในหยุด เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม


ส่งใจนิ่งไปกลางจุดเล็กในเท่าปลายเข็ม ท่องใจ หยุดในหยุด นึกให้จุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ว่างออกไป เกิด กายธรรม เป็นพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูม หน้าตักกว้าง 20 วา สูง 20 วา นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางว่างใส หันหน้าทางเดียวกับเรา เป็นสัดส่วนของกายธรรมพระอรหัตต์




*** ท่องใจ หยุดในหยุดๆ ๆ ต่อไป นึกเลื่อนใจมองปากช่องจมูกของกายธรรมพระอรหัตต์ (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา) ท่องใจ หยุดในหยุด


เลื่อนใจมองเพลาตาของกายธรรมพระอรหัตต์ (หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา)ท่องใจ หยุดในหยุด


มองเข้าไปที่จอมประสาทในกลางกะโหลกศีรษะกายธรรมพระอรหัตต์ ท่องใจ หยุดในหยุด มองผ่านปากช่องลำคอลัดฐานลงไปในท้องกายธรรมพระอรหัตต์ ท่องใจ หยุดในหยุด เห็นดวงธรรม


ส่งใจนิ่งไปกลางดวงธรรมท่องใจ หยุดในหยุด เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งไปกลางจุดเล็กในเท่าปลายเข็ม ท่องใจ หยุดในหยุด ๆ ๆ ๆ ๆ เรื่อยไป กายธรรมพระอรหัตต์ก็จะใสแจ่มอยู่ในท้องของเรา พึงนึกให้เห็นกายธรรมพระอรหัตต์และดวงธรรมของกายธรรมพระอรหัตต์ใสแจ่มอยู่ในท้องของเรา ทุก อิริยาบถ ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง นอน ลืมตาหรือหลับตาเชียวนะ.......


จบการต่อวิชาจากดวงปฐมมรรคให้เห็นพระธรรมกายหรือหลักสูตร 4 กายธรรมเบื้องต้น




**** เราใช้เวลาไม่นานเลยผู้ฝึกที่เห็นดวงปฐมมรรคก็จะเลื่อนชั้นขึ้นไป เห็นพระธรรมกายเบื้องต้น หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเพื่อต้องการให้ผู้ฝึกสามารถรักษาสภาพใจที่หยุดนิ่งอยู่กับกายธรรมเนืองๆ เพราะการเห็นกายธรรมจะเห็นได้ชัดเจนกว่า รักษาให้อยู่กับเราได้ตลอดดีกว่าฝึกเข้า 18 กาย โดยให้ไปเห็นกายโลกีย์คือ กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม (ทั้งหยาบและละเอียด)ก่อน กายธรรมใสสว่างกว่ากายโลกีย์ รักษาได้ง่ายกว่ากายโลกีย์


เมื่อฝึกได้ถึงขั้นนี้แล้ว ควรระลึกนึกถึงพระธรรมกายในท้องเนืองๆ ทุกอิริยาบถ และฝึกเดินวิชชา 4 กายธรรมนี้เป็นอนุโลมปฏิโลม คืออนุโลมหมายถึง เดินหน้า จากกายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัตต์ ปฏิโลมคือเดินถอยหลัง จาก กายธรรมพระอรหัตต์ ถอยกลับมาที่กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระโสดา ฝึกเดินอนุโลมปฏิโลมให้กายธรรมต่างๆ ใสแจ่มตลอดไป เพื่อเตรียมพร้อมสู่การฝึกหลักสูตรต่อไป


การที่เรามีปัญหาเดินวิชา 18 กายไม่ได้ตลอดจนครบ 18 กายก็เพราะเราใจเร็วด่วนได้เกินไป ไม่ฝึกใจไปทีละขั้นตอนจนชำนาญเสียก่อนนั่นเอง


เมื่อสังเกตให้ดีจะเห็นว่าการเดินใจตามฐานต่างๆ ทุกครั้งที่จะเข้าหากายใหม่ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะไม่ทำอย่างนี้ ใจจะไม่เข้ากลาง เมื่อไม่เข้ากลางก็ไม่เห็นดวงใส(ดวงธรรม)ในท้องของกายนั้นๆ เมื่อไม่เห็นดวงธรรมก็ไปต่อไม่ได้


มีคำถาม ขอถามเจ้าของกระทู้ และทุกคนช่วยอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยครับ จุดเล็กใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรม(ดวงปฐมมรรค) นั้นคืออะไร สำคัญอย่างไร เคยได้ยินอาจารย์บ้างท่านบอกให้ผู้ที่เห็นดวงปฐมมรรคหรือเห็นพระธรรมกาย เอาใจแตะนิ่งๆ เบาๆ สบายๆ ให้องค์พระผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ผุดขึ้นมาเป็นสาย ให้ดวงธรรมผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ผุดขึ้นเป็นสาย ทำใจเบาๆ สบายๆ ไม่ทราบว่าทำอย่างนั้นได้อะไร ถูกหลักเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร

จากคุณ : สมถะ



ขอบพระคุณคุณสมถะมากครับ
ที่ได้กรุณาตอบคำถามมาโดยละเอียด

ผมขออนุญาตสรุปความนิดนึงนะครับ
"ปัญหา" ที่ผมได้เรียนแจ้งในกระทู้ก็คือ
ปัญหาการเรียนขั้นพื้นฐาน
ที่ทำให้ผู้เรียนที่เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคไม่สามารถเดินต่อไปเพื่อให้ครบ 18 กายได้
ส่วนใหญ่ติดอยู่ที่กายโลกีย์ คือตั้งแต่กายมนุษย์นี้เป็นต้นไป แล้วไปต่อไม่ได้
พอรักษาไว้ไม่ได้ก็หายไป

คุณสมถะกำลังให้ความรู้ในทางปฎิบัติว่า
จากการที่ได้เห็นดวงปฐมมรรคแล้ว
ให้ต่อวิชาเข้าสู่กายธรรมพระโสดาทันที
จากนั้นก็ต่อวิชาให้เข้าสู่กายธรรมพระสกิทาคามี พระอนาคามี และกายธรรมอรหัตต์โดยลำดับ

หมายความว่า ให้เดินวิชาเข้าสู่กายธรรมเลย โดยยังไม่เดินวิชากับกายโลกีย์ คือตั้งแต่กายฝันไปจนถึงกายอรูปพรหมหยาบ

หมายความต่อไปว่า ให้เดินวิชากับกายธรรมทั้ง 4
คือโสดา สกิทาคามี อนาคามี และอรหัตต์ เหล่านี้ไปก่อน โดยวิชาโดยอนุโลม-ปฏิโลม จนกระทั่งกายธรรมทั้ง 4 นี้ใส
ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่า สามารถรักษาสภาวะใจให้หยุดนิ่งได้ดีขึ้นโดยลำดับ

การเดินวิชาโดยอนุโลมนั้นหมายถึง เดินวิชาตั้งแก่กายธรรมโสดา-สกิทาคามี-อนาคามี-อรหัตต์
ส่วนการเดินวิชาโดยปฎิโลมนั้นหมายถึง เดินวิชาจาก กายธรรมอรหัตต์-อนาคามี-สกิทาคามี-โสดา
ทำซ้ำอย่างนี้จนกว่า "กายธรรม" จะใส

เหตุที่ต้องเดินวิชาเฉพาะกายธรรมนี้ก่อนก็เป็นเพราะ
กายธรรมนั้นสามารถ "ต่อรู้-ต่อญาณ" ให้เราเห็นวิชาได้โดยตลอดรอดฝั่ง
ต่างฝ่ายต่างช่วยกัน
คือ ยิ่งเราเดินอนุโลม-ปฏิโลม กายธรรมก็ยิ่งใส
เมื่อกายธรรมยิ่งใส ก็ต่อรู้-ต่อญาณให้เราเดินวิชาได้ดีขึ้น หยุด นิ่ง แน่น ได้ดีขึ้น

ดังนั้น
การเดินวิชาเฉพาะกายธรรมนี้ก่อน จึงนับเป็นวิธีอันสำคัญ ที่จะช่วยให้เรารักษาวิชาเราไว้ให้ได้ ไม่เลือนหายไป
เพราะเราสามารถประคองใจให้หยุดนิ่งได้ดีขึ้นโดยความช่วยเหลือของกายธรรมเหล่านั้น

ต่อเมื่อเราหยุดนิ่งแน่นได้ดีแล้ว เราก็ไปเดินวิชา 18 กายต่อได้
คราวนี้เมื่อถึงกายโลกีย์เราก็ไม่ต้องห่วงแล้ว
เพราะเราอาศัยกายธรรมมาช่วยเราเดินวิชาให้ตลอดรอดฝั่งทั้ง 18 กาย

นี่เอง จึงเป็นวิธีที่จะสามารถต่อวิชาให้ผู้เรียนสามารถเดินวิชา 18 กายได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

เสียดาย....
คุณป้าคนนั้น หากรู้วิธีนี้ ป่านนี้คงก้าวหน้าไปไหนต่อไหนแล้ว
น่าเสียดายจริงๆ ครับ

จากคุณ : มาดึก (ผ่านเข้ามาพบ)



ต่อครับ เนื่องจากคุณสมถะได้กรุณาถามมาว่า

".....จุดเล็กใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรม(ดวงปฐมมรรค) นั้นคืออะไร สำคัญอย่างไร เคยได้ยินอาจารย์บ้างท่านบอกให้ผู้ที่เห็นดวงปฐมมรรคหรือเห็นพระธรรมกาย เอาใจแตะนิ่งๆ เบาๆ สบายๆ ให้องค์พระผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ผุดขึ้นมาเป็นสาย ให้ดวงธรรมผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ผุดขึ้นเป็นสาย ทำใจเบาๆ สบายๆ ไม่ทราบว่าทำอย่างนั้นได้อะไร ถูกหลักเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร..."

ขออนุญาตแสดงความเห็นเป็นเรื่อง ๆ ไปนะครับ

1...."จุดเล็กใสขนาดโตเท่าปลายเข็ม" ที่อยู่กลางดวงธรรมนั้นคืออะไร สำคัญอย่างไร

จุดเล็กใสนั้นก็คือ "กลาง"
หรือคำพระที่ท่านเรียกว่า "มัชฌิมาปฎิปทา" นั่นเอง
จุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม หรือต่อไปจะเรียกว่า "กลาง" นี้ มีอยู่ทุกดวงธรรม
ที่ดวงธรรมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน เมื่อเข้ากลางได้ ก็เห็นดวงศีล
เข้ากลางดวงศีลได้ ก็เห็นดวงสมาธิ
เข้ากลางดวงสมาธิได้ ก็เห็นดวงปัญญา
เข้ากลางดวงปัญญาได้ก็เห็นดวงวิมุตติ
เข้ากลางดวงวิมุตติได้ ก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัศนะ
เข้ากลางดวงวิมุตติญาณทัศนะได้ ก็เห็นกายใหม่อีกกาย
จะเป็นกายที่หยาบกว่า หรือละเอียดกว่ากายเดิมก็สุดแล้วแต่ว่าเราจะเดินวิชาไปหากายสุดหยาบ หรือกายสุดละเอียด

หรือแม้จะเดินวิขาโดยซ้อนกาย หรือสับกาย ก็ต้องเดินเข้ากลางนี้ทั้งนั้น
(นอกเรื่อง...จะไปนิพพาน ท่องไปทั่วภพสาม หรือโลกันต์ ก็ต้องเข้ากลางนี้ทั้งสิ้น)

รวมความว่า หากไม่มี "กลาง" หรือ "จุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม" แล้ว เราก็หมดหนทางไป คือไปต่อไม่ได้
ไม่รู้จะไปทางไหน
ทางก็ตันอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น "กลาง" นี้จึงสำคัญนัก
เรียกว่าเป็นหัวใจเลยก็ว่าได้
ทั้งพระและมารจึงต่างแย่งชิงกันสุดฤทธิ์
ฝ่ายพระต้องการจะเปิดเผย ให้เห็นและเข้า "กลาง"ให้ได้
ฝ่ายมารก็หวงแหน ปกปิด ปัดป้องอย่างเต็มที่ ไม่ให้เห็นและไม่ให้รู้ด้วย ถึงรู้ก็ให้รู้อย่างบิดเบือนอีก
นอกจากนั้น ยังปัดให้ไปเรียนวิชาอย่างอื่นที่ออกนอกศูนย์ ออกนอกทาง
ถ้าออกนอกศูนย์ ออกนอกทางแล้ว การจะเห็น "กลาง" ได้ก็หมดหวัง
ดังนั้น กลาง หรือจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม จึงมีเรื่องราวและความสำคัญดังที่กล่าวมานี้

2... ที่ว่า "...เคยได้ยินอาจารย์บ้างท่านบอกให้ผู้ที่เห็นดวงปฐมมรรคหรือเห็นพระธรรมกาย เอาใจแตะนิ่งๆ เบาๆ สบายๆ ให้องค์พระผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ผุดขึ้นมาเป็นสาย ให้ดวงธรรมผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ผุดขึ้นเป็นสาย ทำใจเบาๆ สบายๆ ไม่ทราบว่าทำอย่างนั้นได้อะไร ถูกหลักเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร...."

ขออนุญาตแสดงความเห็นอันเป็นเชิงความรู้ครับ
หากกระทบกับนโยบายหรือวิธีปฏิบัติที่สั่งสอนกันของท่านใดเข้า ผมต้องขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ตามความรู้ที่แจ้งไว้ในข้อที่ 1.
เมื่อจบ 6 ดวงธรรม ก็จะเข้าสู่กายใหม่ จะเป็นกายที่หยาบกว่า หรือละเอียดกว่ากายเดิมนั้น ก็สุดแล้วแต่วิธีการเดินวิชา
ดังนั้น หากเดินวิชาไป โดยเห็นดวงธรรม (ไม่ใช่กายธรรมนะครับ คนละประเด็น) ผุดขึ้นมาไม่สิ้นสุด เป็นท่อ เป็นสายอย่างนั้นแล้ว
เชื่อได้ว่า "ผิดหลักวิชา" ตามที่ได้เรียนเอาไว้ข้างต้นอย่างแน่นอน

สาเหตุน่าจะมาจากการปล่อยให้ใจเบา ๆ สบาย ๆ เรื่อยไปอยู่อย่างนั้น
คือไม่ยอมสั่งวิชาต่อไปว่าจะเอาอย่างไร
จะเข้ากลาง หรือจะไปกายไหน จะสับกาย หรือจะซ้อนกาย หรือจะทำอะไรก็ไม่เอาให้แน่สักอย่าง
และอย่างที่แจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนแล้วว่า ทั้งพระและมาต่างๆแย่งชิง "กลาง" กันอย่างสุดฤทธิ์
วิธีแย่ง หรือวิธีปกครองนั้น ทั้งพระและมารต่างต้องการปกครอง "ใจ"
ใจประกอบด้วย เห็น-จำ-คิด-รู้
หากเราไม่ยอมสั่งวิชา ไม่เดินตามตำราหรือตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ที่วางหลักเกณฑ์ตามแบบแผนวิธีที่ถูกต้อง
คือปล่อยให้นิ่งๆ เบา ๆ สบาย ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ช้าก็เข้าสู่สภาวะของความ"เคลิบเคลิ้ม"
คือมีความรู้สึก สบาย จนไม่อยากจะทำอะไรต่อไป
นั่น แปลว่าท่านโดนยิงเครื่องเข้าแล้ว
วิชาของมารที่จะยิงเข้ามาในเครื่อง คือดวงธรรมของเรานั้น จะทำให้เราชะงักและไม่เดินวิชาต่อ
การที่ท่านรู้สึกเช่นนั้น นั่นก็แปลว่า ท่านโดนปกครองเข้าแล้ว
เปรียบเสมือนใจเรานั้นโดน "หุ้ม" เอาไว้ด้วยวิชาของเขา ไม่ให้เราทำอะไรต่อ
เป็นเพราะเราเปิดช่องว่าง ปล่อยใจเอาไว้ ไม่ยอมสั่งวิชาแท้ ๆ มารจึงได้ช่องอย่างนั้น

และหากยังปล่อยให้ใจเผินลอยอยู่อย่างนั้น ไม่ช้า ท่านก็จะถูกปกครองมากขึ้น
และเมื่อ ใจของท่านถูกปกครอง ก็แปลว่า เห็น-จำ-คิด-รู้ ก็ถูกปกครองลงอย่างสิ้นเชิง
ท่านก็จะเห็น และจะจำ และจะคิด และจะรู้ ไปอย่างที่ผู้ปกครองเขาต้องการ
นั่นคือ การเห็นของท่านจะผิดไปจากวิชาของธรรมภาคพระ
คือแทนที่จะเห็นเพียง 6 ดวงธรรม แล้วเกิดกายใหม่ขึ้น ท่านก็จะเห็นการผุดขึ้นมาอย่างไม่ขาดสายของดวงธรรม(ไม่ใช่กายธรรม)
เห็นเป็นท่อ เป็นสายแล้วยิ่งไปกันใหญ่

นั่น ความเสียหายใหญ่หลวงเกิดขึ้นแล้ว
วิชาของท่านเพี้ยนไปแล้ว
และหากไม่ได้รับการแก้ไข
จากหุ้มก็กลายเป็น เคลือบ เอิบ อาบ ซึม ซาบ ปน เป็น ไปจนถึงร้อยไส้
และถูก "ทับทวี" ขึ้นไป จนละเอียดและลึกซึ้ง จนยากที่จะเยียวยา
น่ากลัวนะครับเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย

ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตเรียกร้องให้พวกเราศึกษาตำราอันเป็นหลักที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำได้วางเป็นหลักเอาไว้
ถ้าไม่มีความสำคัญ ท่านก็คงไม่ให้ศิษย์ของท่านทำเอาไว้ให้เป็นหลักฐานหรอกจริงไหมครับ

จงประกอบเหตุ สังเกตผล ทนเอาเถิด ประเสริฐนัก นะครับ

จากคุณ : ผ่านเข้ามาพบ



แก้ไข ความเห็นที่ 7 ครับ
"หมายความว่า ให้เดินวิชาเข้าสู่กายธรรมเลย โดยยังไม่เดินวิชากับกายโลกีย์ คือตั้งแต่กายฝันไปจนถึงกายอรูปพรหมหยาบ"

แก้เป็น "...........ไปจนถึงกายอรูปพรหมละเอียด"

ขอโทษด้วยครับ มันดึกแล้ว ตาลาย

จากคุณ : ตาลาย..แก้ไข (ผ่านเข้ามาพบ)




หลักเดียวครับ หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า มองดูดวงธรรมที่เห็นไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้นครับ แล้วประสบการณ์ก็จะพัฒนาไปเองครับ

จากคุณ : ......



“หยุดเป็นตัวสำเร็จ” คำกล่าวนี้มีความหมายลึกซึ้งนะครับ “ใจหยุด “คือ “ใจเดิน” ถ้าใจไม่หยุด ใจก็เดินไม่ได้ "ใจเดิน" คือ เดินไปในกลางของกลาง 6 ดวงธรรม คำว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ก็ขึ้นกับว่าจะหยุดได้แค่ไหน แค่อารมณ์สบายๆ แล้วอยู่กับที่ อย่างนั้นเรียกว่า ใจหยุด แต่ ใจไม่เดิน เมื่อใจหยุด ใจจึงจะเดินไปต่อได้ การเดินใจเราต้องสั่งวิชชาเป็นครับ การทำใจหยุดเฉยๆ แล้วรอให้ความรู้พัฒนาไปเอง หลวงพ่อวัดปากน้ำไม่สอนอย่างนี้นะครับ เพราะเมื่อ “ใจหยุด” แล้ว ใจต้องทำงานต่อไป งานของใจก็คือ เข้ากลางของกลาง ตรงจุดใสโตเท่าปลายเข็ม เพื่อไปรู้ไปเห็นเรื่องกายในกาย แล้วจึงจะพัฒนาไปสู้ทางมรรคผลต่อไป ไม่ใช่ปล่อยใจหยุดเฉยๆ แล้วรอให้ความรู้เกิดขึ้นมาเอง นั่นเป็นความคิดที่ไม่ฉลาดเลย เพราะเราเชื่อมั่นตนเองเกินไป เชื่อใจตนเองมากเกินไป


ใจของเราเป็นที่รวมของสารพัดธาตุสารพัดธรรม เขาจ้องยึดอำนาจปกครองใจเราอยู่แล้ว ถ้าเราไม่รู้หลัก เอาแต่ใจหยุดเฉยๆ แล้วเกิดความสบายใจ จนถึงขั้นมีความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมาเอง พึงระวังเถิดครับ เพราะธาตุธรรมภาคมารและภาคอัพยากตาฯ เขาคอยสอดละเอียดอยู่ วิธีการเดียวที่จะเอาตัวให้รอด คือ เมื่อใจหยุด แล้วใจต้องเดิน คือใจเข้ากลางของกลางตรงจุดเล็กใสโตเท่าปลายเข็ม ตรงนี้สำคัญยิ่ง อย่าหยุดเฉยๆ ทำใจสบายๆ อย่างเดียว ใจก็ไปต่อไม่ได้ เป็นการล่าช้าไปอีก เราพลาดกันมาแล้วไม่รู้เท่าไรเป็นเท่าไร แค่วิชชา 18 กาย เราก็ยังไปต่อไม่ได้ เพราะเรารอแต่ว่าเมื่อไร ใจเราจะตกศูนย์ได้เอง แล้วเห็นกายต่างๆ ได้เอง


คำว่า “ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น” คำนี้ไม่ชัดเจนนะครับ เพราะขณะที่ใจเราหยุด เราไม่คิดอะไรที่ฟุ้งซ่านแล้ว แต่เราต้องสั่งวิชชาให้ใจเราเดินหน้าต่อไปไม่ถอยหลังกลับ จะเดินหน้าอย่างไร ก็คือต้องรวมใจเป็นหนึ่ง ให้ใจหยุด ใจนิ่ง ยิ่งขึ้น แล้วเอาความรู้สึกทั้งหมดนิ่งไปกลางดวงปฐมมรรค นึกให้เห็นจุดเล็กใสโตเท่าปลายเข็ม เมื่อเห็นจุดเล็กใสโตเท่าปลายเข็มได้แล้ว ใจจึงจะเดินต่อไปได้ ถ้าไม่สั่งใจ มารปิดทันที ให้เราอยู่กับความนิ่ง ความสบาย ไปต่อไม่ได้ หรือถ้าจะไปต่อก็ยากเต็มที่


การสั่งใจ ถือเป็นการชิงสิทธิเฉียบขาด ใจเราจึงจะทำงานต่อได้นะครับ ส่วนคำว่า "นึก" ในที่นี้ ตรงกับคำพระที่ว่า "จิตตังภาวิยะติ" คือ “ทำให้จิตเป็นขึ้น” คนละอาการกับการนึกคิดจินตนาการนะครับ การคิดจินตนาการแบบฟุ้งซ่าน กับการนึกแบบ จิตตังภาวิยะติ คนละเรื่องกัน เพราะตอนที่เราสั่งใจนี้เป็นขั้นตอนที่ใจเราหยุด ใจเรานิ่ง ไม่มีฟุ้งซ่านใดๆ อยู่แล้ว การนึก ในที่นี้เป็นสิทธิเฉียบขาด เพื่อให้ใจทำงานต่อไปได้ครับ


ฉะนั้นหลักการเดินวิชชาเราต้องรู้ว่าจะทำของยากให้เป็นของง่าย จะทำอย่างไร อย่าลืมว่า ความรู้ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำวางแนวไว้ให้เราศึกษาในภาคปฏิบัติมีมากมาย หลายหลักสูตรเหลือเกิน แต่วันนี้ เราจะมานั่นสบายๆ มองดูดวงธรรมไปเรื่อยๆ แล้วประสบการณ์จะเกิดขึ้นมาเอง ถือว่าประมาทมากนะครับ อย่าดูแคลนฝ่ายตรงข้าม เขาพยายามชิงปกครองที่ใจของเราอยู่แล้ว การที่เราจะเข้าถึงกรุวิชชา เราต้องมีความเพียรชอบ เมื่อเห็นธรรมกายแล้ว หน้าที่ต่อไปคือ เราต้องเรียนวิชชาขั้นสูงต่อไป อย่าเสียเวลาติดอยู่กับความว่าง ความสบาย พระพุทธองค์ ตรัสไว้ว่า ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จด้วย “ใจ” รีบเร่งให้เข้าถึงใจหยุด ใจนิ่ง แล้วสั่งวิชชาเพื่อปกครองใจของเราเองให้ได้ก่อน ความรู้ยังมีอีกเยอะ อย่ารอให้รู้เอง บารมีอย่างเราไปรู้เองเห็นเอง ไหวหรือ อันตราย เรียนไปตามความรู้ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านวางแนวเอาไว้ให้เถิด หลวงพ่อฯท่านนำร่องเอาไว้ให้แล้ว จะเสียเวลาอยู่ทำไม.......

จากคุณ : สมถะ
หมายเลขบันทึก: 215596เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับอนุโมทนาบุญด้วยครับ

ก่อนอื่นต้องขอถามก่อนว่า

1.ความสม่ำเสมอ ที่คุณนั่งวันละกี่ชั่วโมงครับ

2.คุณรักษาศีลอะไร ศีล 5 หรือศีล 8 หากเป็นศีล 8 บริสุทธิ์จริงหรือไม่

ทั้ง 2 ข้อมีผลต่อการเจริญสมาธิยิ่งครับ

เมื่อคุณเข้าดวงปฐมมรรค คุณมีความสุขหรือไม่ หากเห็นจริงต้องมีความสุขปลื้ม จริง ๆ

นะครับ หากไม่ปลื้ม อาจเป็นนิมิตรก็ได้ครับ

ทุกดวงบุญและทุกกาย เห็นแล้วต้องปลื้มด้วยครับ

คือหมายความว่าความปลื้มสุขใจจะเกิดขึ้นเองนะครับไม่มีใครบังคับ

จะรู้ด้วยตัวเอง

เรียนคุณสำเร็จนะครับ ผมทราบว่าวัดพระธรรมกายเขาสอนมาเช่นนั้น ผมขออธิบาย ดังนี้

1.ความสม่ำเสมอ ที่คุณนั่งวันละกี่ชั่วโมงครับ

คำถามนี้ ผมดูว่าเป็นเรื่องที่ตั้งโดยถามถึงปริมาณ มิได้มุ่งที่คุณภาพของการนั่งกระมังครับ

การเดินวิชชาสำหรับคนที่เป็นธรรมกายแล้ว คือเห็นกายในกายแล้ว เขาไม่ถามว่านั่งกันนานแค่ไหนนะครับ เขาจะถามกันว่า หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ใสในใส เดินกายในกายทั้ง ๑๘ กายได้ หยุด นิ่ง จริงแค่ไหน อนุโลม-ปฏิโลมกายมากน้อยเท่าใด แปลว่า วสีความแคล่วคล่องมีมากน้อยแค่ไหน

ผมนั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ทุกวันเป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า ๑๐ ปี ไม่มีขาดแม้แต่วันเดียว โดยการเดินวิชชา ๑๘ กาย ทั้งอนุโลม-ปฏิโลม อย่าน้อย ๓ เที่ยว อย่างมากไม่มีประมาณ แล้วจึงจะเข้านิพพานเพื่อไปทำวิชชาบนนิพพานอีกที(โดยใช้กายธรรมเข้านิพพาน)และสอนสมาธิให้ผู้เรียนมีใจหยุดใจนิ่งจนเห็นธรรมกายมาตลอดครับ การเห็นดวงปฐมมรรค ใจหยุดนิ่งเห็นพระธรรมกายได้นั้น ความนิ่งความหยุดนั่นแหละคือความสุข ความสุขเกิดจากความหยุดความนิ่งของใจ ถ้าเราฝึกให้เขาใจหยุดใจนิ่งใจสงบเกิดสุขขึ้นทุกคนครับ เรื่องนี้เห็นเป็นเรื่องปกติแล้ว เพราะใส่ใจที่ความหยุดความนิ่ง ไม่ได้ไปยึดติดกับตัวสุขเพราะถ้าใจหยุดใจนิ่งสุขเกิดตามมาเอง เข้าใจนะครับ

2.คุณรักษาศีลอะไร ศีล 5 หรือศีล 8 หากเป็นศีล 8 บริสุทธิ์จริงหรือไม่

ผมเองมีศีลเป็นปกติ แปลว่าไม่ทำตัวผิดปกติ เพราะศีลแปลว่าปกติ ศีล ๕ มีเป็นปกติ ศีล ๘ อาราธนาตามความเหมาะสม ศีลที่คุณกล่าวนั้น เป็นเพียงขั้นเบื้องต้น จำคำของหลวงพ่อวัดปากน้ำได้ไหมครับ ศีลธรรมดาก็คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ นั่นเป็นปกติศีล แต่ "อธิศีล" นี่เจริญขึ้นมาอีก ก็คือดวงศีลของกายในกายนั่นเอง เราต้องทำให้ขาวใสเนืองๆ ศีลที่ยกระดับเป็นอธิศีลอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ศีลภายนอกแต่คือศีลภายใน อธิศีลเช่นนี้เป็นมรรคด้วย เป็นทางเข้าถึงสมถะ-วิปัสสนานะครับ

ผมสรุปง่ายๆ ให้ฟังนะครับ ถ้าท่านเข้าถึงธรรมกายจริง นั่นแล อธิศีล เกิดแล้ว เดินวิชชาให้ขาวใสเนืองๆ อธิศีลนั่นแหละมีอานุภาพนัก อธิศีลนี้คอยควบคุมศีลภายนอกอีกที แปล่าอะไร แปลว่า ท่านอย่าไปยึดว่าศีลภายนอกก่อนแล้วจะนั่งสมาธิดี แต่ท่านต้องคิดว่าศีลภายนอกเป็นอุปการะให้เจออธิศีลภายใน ต่อเมื่อท่านเข้าถึงธรรมกาย เมื่อเดินวิชชาลำดับดวงธรรม ทั้ง ๖ ดวง คือ ดวงธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ให้หยุด ให้นิ่ง ให้ใสเนืองๆ นี่แหละศีลบริสุทธิตัวจริงล่ะ

ผมขอยกตัวอย่างให้พิจารณาเรื่องหนึ่งลองเชื่อมโยงดูนะครับ องคุลีมาลฆ่าคนมามาก ในช่วงสุดท้ายถึงขนาดคิดจะฆ่ามารดาตนเอง เมื่อพระพุทธเจ้าไปโปรด องคุลีมาลวิ่งไล่พระองค์ ร้องเรียก "สมณะหยุด ๆ ๆ " วิ่งไล่เท่าไรก็ไม่ทัน เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "เราหยุดแล้ว ท่านซีไม่หยุด" เท่านั้นเอง องคุลีมาล ฉุกคิดขึ้นมา ใจก็หยุดทันที เห็นดวงธรรมสว่าง ใจหยุดนิ่งกับดวงธรรมทันที นี่ไงครับอานุภาพของใจหยุดใจนิ่ง เมื่อใจหยุดใจนิ่งได้เมื่อไร เจอแล้วดวงศีล องคุลีมาลไม่เคยรักษาศีลได้เลย พอใจหยุดได้เท่านั้น ศีลบริสุทธิ์ทันที ผมจึงกล่าวว่า เมื่อใจหยุดใจนิ่งเมื่อไร ศีลบริสุทธิ์เมื่อนั้น และเมื่อหมั่นเดินวิชชา อะไรที่มันเคยบกพร่อง ก็จะเต็มขึ้น ขอให้ใจหยุดใจนิ่งให้ได้ก่อนเถิด ศีลภายนอกกับศีลภายในเป็นอุปการะแก่กันและกันอย่างนี้ แต่ศีลภายในมีอานุภาพมากกว่าศีลภายนอกเพราะเมื่อ อธิศีลเกิดหิริโอตตัปปะเกิดเมื่อศีลภายในแข็งแรงขึ้นศีลภายนอกจะรักษาได้เป็นปกติเอง ไม่ต้องไปนุ่งขาวห่มขาวพูดช้าๆ เดินช้าๆ ถ้าอธิศีลเกิดแล้ว เป็นปกติทั้งภายนอกภายในแล้ว ท่านเข้าใจไหมครับ

คุณสำเร็จกำลังเข้าใจแบบทีละขั้น แต่นั่นมันเรื่องของภายนอก การปฏิบัติภายใน ท่านทำใจหยุดใจนิ่งจนกระทั่งเห็นดวงใส(ปฐมมรรค)ได้ไหม ถ้าได้นั่นแหละหิริโอตตัปปะเกิดแล้ว ทีนี้ถามว่าสุขเกิดจากไหน คุณจะไปปรุงว่า นั่งแล้วจะต้องมีความสุขนะลูกนะ ไปพูดให้ติดสุขอย่างนั้นเป็นเรื่องของการปรุงอารมณ์ ท่านลืมแล้วหรือ นัตถิสันติปะรังสุขขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบของใจนั้นไม่มี เมื่อใดใจหยุดใจนิ่งนั้นแหละความสงบเกิดความสงบเกิดความสุขจึงเกิด แล้วหยุดอย่างเดียวไม่พอ ต้องหยุดในหยุด แปลว่าต้องหยุดในหยุดเดินหน้าต่อไปไม่ถอยหลังกลับ...

ผมขอกล่าวว่าการโฆษณาว่า นั่งสมาธิต้องมีความสุขเป็นการพูดเพื่อสร้างภาพหรือไม่ เพราะโดยปกติเราต้องเข้าใจเป็นขั้นตอนก่อนว่า ใจหยุด ใจนิ่ง นั่นคือความสงบเกิดแล้ว สุขเกิดจากความสงบต่างหาก และผู้ฝึกสมาธิวิชชาธรรมกายที่ถูกต้อง จะเข้าถึงความสงบคือเมื่อใจหยุดเห็นดวงปฐมมรรคความสุขจากใจสงบนั้นเกิดทันที แล้วไม่ต้องไปหลงกับความสุขเช่นนี้เลย เพราะหยุดในหยุดยิ่งหยุดยิ่งนิ่งยิ่งสงบก็ยิ่งสุข แต่เป็นความสุขที่ไม่ต้องปรุงแต่งนะครับเป็นธรรมชาติของความสงบ อย่าลืม นัตถิสันติปะรังสุขขัง นะครับ

การที่เราไปปรุงแต่งว่านั่งแล้วต้องมีความสุขนะลูกนะ นึกถึงบุญที่เคยทำยิ่งมีความสุข นั่งเขาเรียกว่าปรุงแต่งจิต(สังขาร)ไม่ใช่สุขที่เกิดจากสมาธิ แต่บางท่านอาจจะบอกว่าเมื่อเห็นดวงใสในท้องเห็นพระผุดขึ้นเป็นสายยิ่งสุขเหลือเกิน นั่นเราต้องพิจารณาแล้วนะครับ เพราะความสุขเช่นนั้นใช่ หยุดในหยุด จนเกิดความสงบหรือไม่ ท่านหลงเพียงแค่สุขจอมปลอมไม่ได้นะครับ สุขต้องเกิดจากความสงบจึงจะถือว่าใช้ได้แล้วไม่ต้องไปนั่งปรุงจิตให้สุข ใจหยุดใจนิ่งเมื่อไรสุขเกิดแล้วครับ

สำหรับเรื่องนิมิตกับการเห็นจริงนั้น เรื่องนี้ท่านไม่เคยมีประสบการณ์ท่านจะทราบได้อย่างไร ไม่ยากครับ ดวงใสที่เรานึก เมื่อใจหยุดนิ่งจนเห็นเป็นดวงปฐมมรรคนั้น ดวงปฐมมรรคต่างจากดวงใสในขั้นบริกรรมนิมิต ตรงที่ ดวงปฐมมรรคสว่างกว่าใสกว่าและมีรัศมีปรากฏ ที่สำคัญเมื่อใจหยุดจนเห็นดวงปฐมมรรค ความหยุดความนิ่งนี่แหละที่ทำให้เราเห็นดวงปฐมมรรค ก่อนหน้านี้เราบริกรรมนิมิตใจยังไม่หยุดจริงพอใจหยุดเท่านั้นดวงนิมิตเปลี่ยนเป็นปฐมมรรคแล้ว ใสสว่างกว่ากันมีรัศมีปรากฏ ถามว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่านั่นไม่ใช่นิมิต ก็ใจของเราตอนนี้ต่างกับตอนที่ยังไม่เห็นดวงปฐมมรรคอย่างไร ใจหยุด ใจนิ่ง แล้วจึงเห็นดวงปฐมมรรคครับ นี่คือผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เฉพาะตนจริงๆ

อีกประการหนึ่ง เมื่อเราต่อวิชชาจนกระทั่งเห็นกายธรรม กายธรรมที่เราเห็น เราเห็นได้ทั้งข้างบนข้างล่างซ้ายขวาหน้าหลัง เห็นได้รอบตัว ไม่ใช่เห็นแบบส่องกระจกนั่นเห็นได้ด้านเดียว แต่นี่เห็นได้รอบตัว นี่ถ้าเห็นจริงก็จะทราบเองว่าเห็นรอบตัวคืออย่างไร เพราะโดยปกติเราเห็นรอบตัวทุกทิศทางไม่ได้ เข้าใจไหมครับ การวัดผล การพิสูจน์ว่าเห็นจริงหรือไม่ วิปัสสนาจารย์ที่ชำนาญเขาทราบดี แล้วท่านเคยได้ยินได้ฟังเช่นนี้มาก่อนไหมครับ

ผมถึงกล่าวว่า วิชชาธรรมกาย เรียนให้ถูกให้ตรงจริง ต้องมีเหตุมีผลกำกับทุกขั้นตอน ต้องวัดผลการปฏิบัติได้ทุกขั้นตอน เรื่องอย่างนี้หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนไว้หมดแล้ว ท่านเรียนมาอย่างนี้หรือเปล่าเท่านั้นเอง

ยินดีที่ได้สนทนากันนะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท