วิชชาเพี้ยนกับวิชชาพัฒนา เขามีเกณฑ์วัดกันอย่างไร


๏๏๏๏๏๏๏๏ .::   "วิชชาเพี้ยนกับวิชชาพัฒนา"  เขามีเกณฑ์วัดกันอย่างไร?  ๏๏๏๏๏๏๏๏ .::



ก่อนจะพูดคุยก็ต้องขออ้างอิงตำราวิชชาธรรมกาย 4 เล่ม ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  คือ


1. ทางมรรคผล (วิชชา 18 กาย)

2. คู่มือสมภาร

3. วิชชามรรคผลพิสดาร เล่ม 1

4. วิชชามรรคผลพิสดาร เล่ม 2


ทั้ง 4 เล่ม เป็นข้อมูลอ้างอิง  เป็นสาระในการวินิจฉัยนะครับ  การปฏิบัติวิชชาธรรมกายต้องอิงตำรา  ต้องหมั่นทบทวนตำรา  เพราะตำราคือความรู้ที่เป็นผลจากการปฏิบัติมาแล้ว  หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านปฏิบัติจนรู้เห็นปิฎกวิชชาแล้วจึงรวบรวมมาเป็นตำราให้เราได้ใช้เป็นคู่มือปฏิบัติ  ดังนั้นเราต้องอ่านตำรา  ต้องหมั่นทบทวนตำรา  แต่ทั้งนี้การจะอ่านตำรารู้เรื่องและเข้าใจแจ่มแจ้งทุกบทฝึกได้นั้นไม่ง่ายนัก  เราจึงต้องเข้าหาครูอาจารย์ที่ท่านสอนได้ตรงตามตำรา  อย่างน้อยก็เชื่อได้ว่าสอนถูกตรงตามความรู้ของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ท่านบันทึกอยู่ในตำรา  การจะทราบว่าอาจารย์ท่านใดสอนได้ถูกสอนได้ตรงเราเพียงขอความรู้ท่านโดยเทียบเคียงตามตำราวิชชาธรรมกายเท่านี้เองก็จะพอทราบได้ว่าอาจารย์ท่านสอนตรงตามความรู้ของหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือไม่


โดยภาพกว้างๆ "เพี้ยนกับพัฒนา" เหมือนเส้นยาแดงผ่าแปดสำหรับคนที่มีพื้นทางวิชชาน้อย  แต่สำหรับผู้มีพื้นฐานทางวิชชามาดี  หรือปฏิบัติได้ตรงแนวจะเข้าในเป็นอันดี  จะทราบเป็นอันดีว่าความหมายของคำว่าเพี้ยนหรือพัฒนา  เขาวัดกันที่การเดินวิชชาในบทฝึกต่างๆ ตรงตามตำราหรือไม่  ความรู้ที่ได้สามารถนำไปกำจัดทุกข์  กำจัดภัย  กำจัดโรค  และกำจัดอวิชชาได้หรือไม่  โดยมีแนวทางสังเกตดังนี้



****  วิชชาพัฒนา  สังเกตดังนี้  ****


1)  ต่อยอดจากความรู้เดิม  โดยมีเนื้อวิชชาเดิมเป็นพื้นฐาน



2) แก้ไขปัญหาที่พบในการเดินวิชชาแบบเดิมให้เดินวิชชาได้ดีขึ้น  ได้เหตุได้ผลตรงตามที่บทฝึกต้องการ  เช่น  เรื่องการเดินวิชชา 18 กาย  เดิมเราเอาใจนิ่งไว้ที่ฐานที่ 7 รอให้ใจหยุดถูกส่วนก็จะเห็นกายในกายเรื่อยไปจนครบ 18 กาย  



++ ปัญหาที่พบคือ  น้อยคนที่จะเดินวิชชาแนวนี้ไปจนครบ 18 กาย  ไปติดแค่กายหนึ่งหรือสอง สามกาย  เนื่องจากวิธีนี้เหมาะแก่ผู้มีบารมีมาก  ที่ใจถูกฝึกมาดี  ดังเช่นหลวงพ่อวัดปากน้ำและเหล่าศิษย์ยุคแรกๆ



++ วิธีแก้ไข  ก็คือ  เราต้องเดินใจตามฐานทั้ง 7 ทุกครั้ง  เมื่อถึงกายใดๆ เช่น  เห็นกายฝัน(มนุษย์ละเอียด) เราก็ต้องลำดับใจไปทีละฐาน  แล้วไปหยุดตรงฐานที่ 7 ส่งใจนิ่งลงไปเห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรมของกายฝัน  ลำดับดวงธรรม 6 ดวง  พอถึงดวงธรรมที่ 6 จุดเล็กใสว่างออก  เห็นกายทิพย์หยาบ  แล้วเดินใจไปตามฐานทั้ง 7 ของกายทิพย์หยาบทำตามวิธีนี้ก็จะเห็นกายในกายได้ตลอดไปจนครบ 18 กายได้อย่างง่ายดายขึ้น



เมื่อทดสอบดูแล้ววิธีการเดินใจไปตามฐานทั้ง 7 ทุกครั้ง มีข้อดีมากเพราะใจจะเข้ากลางเสมอ  และทำให้สามารถเดินวิชชาได้ครบ 18 กายได้โดยง่ายดาย  ช่วยแก้ปัญหาการเดินวิชชา 18 กายได้ดีมาก  



***  อย่าลืม  หลวงพ่อวัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า  "เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์  เป็นเค้ามูลสืบกันมาฯ" นั่นหมายถึงก่อนใจจะหยุดตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ใจจะหยุดตรงสิบก่อนคือฐานที่ 6 ใจจะหยุดตรงสิบและตกศูนย์ได้  เราต้องเดินใจตามฐานที่ตั้งของใจทั้ง 7 ฐานเสมอ



3) ทำของยากให้เป็นของง่าย  


เช่น  สอนให้ผู้มารับการฝึกเห็นธรรมกายได้ง่ายขึ้น  ใช้เวลาน้อย  ประหยัดงบประมาณ  มาร้อยต้องเห็นธรรมทั้งร้อย  มาพันต้องเห็นธรรมทั้งพัน  ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง  มีขั้นตอนในการฝึกชัดเจน  จัดลำดับก่อนหลังในการฝึกภาคปฏิบัติได้  มีวิธีการวัดผลการฝึกทุกครั้ง   



4)  ต้องพัฒนาวิชชาอยู่เสมอ  วิชชาต้องละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อย  ดังคำของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ว่า  "เดินหน้าต่อไปไม่ถอยหลังกลับ"   โดยให้   "ดับหยาบไปหาละเอียดเรื่อยไป"  



เราต้องพัฒนากันที่เนื้อวิชชา  ในภาคความรู้ขั้นปฏิบัติ   เพราะนี่คือมรรควิถีของผู้เข้าถึงธรรมกายอย่างแท้จริง  เมื่อเราพัฒนากันที่เนื้อความรู้  เนื้อวิชชา  ธรรมก็จะเจริญ  โลกก็จะเจริญ  เพราะความรู้ย่อมมีไปไม่สิ้นสุด  ตราบใดที่กิเลสอวิชชายังครอบงำสัตว์โลกอยู่  เราจะมาพึงพอใจแต่ความรู้เดิมๆ ไม่ได้  กิเลสเขาก็พัฒนาในฝ่ายของเขา  เราจะมานั่งเดินวิชชาที่หยาบลงๆ ก็ไม่ได้  จะเห็นได้ว่าแม้เรื่องในโลกนี้ก็มีการพัฒนามาโดยตลอดในช่วงเวลาอันยาวนาน  แทบจะเรียกว่าในทุกเรื่องก็ว่าได้  อยู่ที่ว่ามันเป็นไปในแง่ดีขึ้นหรือเลวลงเท่านั้น



หลวงพ่อให้ความสำคัญในภาคปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง  เราต้องเอาความรู้ออกหน้า  อย่าเอาความเชื่อความศรัทธาออกหน้า  เพราะความรู้ที่ถูกต้องตรงตามหลักวิชชาเท่านั้น  วิชชาจึงจะพัฒนาได้  เราจะทราบได้อย่างไรว่าความรู้ที่ได้ตรงกับหลักวิชชา  ขอให้ย้อนไปพิจารณากันในตำราหลักสูตรทั้ง 4 เล่มที่ยกมาข้างบนนั้นเป็นหลัก  เพราะตำราเหล่านั้นมีความรู้ภาคสมถะและวิปัสสนาอย่างครบถ้วน  เป็นความรู้วิชชาธรรมกายทุกระดับชั้น  ตั้งแต่  เบื้องต้น  กลาง  ปลาย  อ่อน  แก่  หยาบ  ละเอียด  โปรดศึกษาให้มาก  ทำความเข้าใจให้ได้ทุกบทฝึก





----  วิชชาเพี้ยน  สังเกตดังนี้  ----


1) ความรู้นอกกรอบนอกตำรา  โดยไม่มีพื้นวิชชาเดิมรับรอง  เทียบเคียง  ตรวจสอบไม่ตรงกับความรู้หลักของวิชชาธรรมกาย



เช่น  การที่คนๆ หนึ่งเห็นดวงปฐมมรรคเราต้องรีบต่อวิชชาให้เขาเห็นธรรมกาย  จนสามารถเดินวิชชา 18 กายได้  ไม่ใช่ปล่อยเขาให้เห็นแต่ดวงไปเรื่อยๆ หรือเห็นกายธรรม(องค์พระ)ไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์เลย  เพราะเห็นดวงธรรมแล้วต้องเห็นกายในกายให้ได้  ตามที่หลวงพ่อวัดปากน้ำวางแนวเอาไว้ให้ดังนี้



สอนจนเขาเห็นดวงปฐมมรรค  ต้องต่อวิชชาให้เขาเห็นกายในกาย  จนเป็นวิชชา 18 กาย  แล้วฝึกเดินวิชชาอนุโลม-ปฏิโลม  ทุกวันให้กายทุกกายใสสว่าง



จากนั้นจึงพาผู้ได้ธรรมกายไปฝากธาตุฝากธรรมต่อธาตุธรรม บนพระนิพพาน  และขอรัตนะทั้งเจ็ดด้วย  ฝึกเข้านิพพานเยอะๆ เพื่อไปซ้อนกายสับกาย  ซ้อนสับทับทวีกับธาตุธรรมเพื่อให้กายและใจใสที่สุด  เพื่อเตรียมเรียนวิชชาอื่นต่อไป



2) แทนที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นกลับถอยหลังเข้าคลอง


เช่น  ผู้เป็นธรรมกายต้องแก้โรคได้  ต้องตรวจคนตายว่าไปอยู่ที่ไหนได้  ต้องสอนเขาเห็นธรรมกายได้อย่างเฉียบคม  สอนเขาเดินวิชชา 18 กายได้  ถ้าทำได้อยู่ถือว่ายังรักษาความรู้ไว้ได้  ถ้าทำไม่ได้นั่นคือการถอยหลังเข้าคลองทางวิชชา



3) มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากเนื้อความรู้เดิม  


เช่น การเห็น บุญ ต้องเห็นเป็นดวงบุญ  ไม่ใช่เห็นเป็นท่อบุญ  เป็นสายบุญ  


วิชชาธรรมกายที่ถูกต้อง  ต้องตรวจสอบวัดผลได้  เทียบเคียงตำราแล้วลงรอยกัน  ที่สำคัญรู้ญาณทัสสนะที่เห็นต้องได้รับการยืนยันและตรวจสอบกันเองเสมอ  รู้อะไรเห็นอะไรอย่าเพิ่งเชื่อให้ทำวิชชาตรวจสอบก่อนเสมอ



4) วิชชาหยาบลง  คือถอยจากละเอียดมาเล่นความรู้ที่หยาบลง


ดังเช่น  ความรู้ทางปฏิบัตินั้น  เป็นเรื่องนามธรรม  ผู้ปฏิบัติพึงเห็นผลได้ด้วยตนเอง  ประหยัดเวลา  และค่าใช้จ่าย  แต่ถ้าเราเอาเรื่องที่เป็นนามธรรมถอยหยาบมาเป็นเรื่อง  วัตถุธรรม  เรื่องพิธีกรรม  ที่เกินความจำเป็น  และอาจเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับหลักปฏิบัติทางวิชชาด้วยซ้ำ  เพราะวิชชาธรรมกายสอนให้เราพัฒนาใจ  ไม่ยึดติด  ไม่ติดพิธีกรรม  ไม่ติดวัตถุภายนอกตัว  หลวงพ่อวัดปากน้ำมีคติธรรมที่เราควรนำเป็นแบบอย่างคือ  ท่านมุ่งหวังสร้างพระในใจคน  ท่านกล่าวว่า  เราต้องให้ความรู้เขาก่อน  เมื่อเขามีความรู้แล้วก็ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย  เมื่อใจใสแล้วทำอะไรดีหมด  หลวงพ่อวัดปากน้ำจะบรรเทิงอารมณ์มากเมื่อผู้มารับการฝึกเห็นดวงธรรมในท้องได้  ใครที่ทำได้แม้เพียงแค่คนเดียว  หลวงพ่อฯ ยิ้มได้ทั้งวัน  นั่นหมายถึงหลวงพ่อฯ เห็นการปฏิบัติสำคัญกว่าเรื่องอื่นใด  เราผู้เป็นศิษย์ควรถือเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี  ทำอะไรๆ ต้องเข้าหลักหลวงพ่อฯ  นั่นคือ  "ประหยัดสุด  ประโยชนสูง"  



ขอให้อ่านแล้วพิจารณาให้มาก  ว่าการเรียนรู้ในวิชชาธรรมกายนั้น  หลวงพ่อวัดปากน้ำได้วางหลักเกณฑ์ไว้อย่างดีแล้ว  มีการตรวจสอบ  และวัดผลความถูกต้องไว้อย่างชัดเจน  ตำราทั้ง 4 หลักสูตรถือเป็นธรรมนูญของผู้ฝึกธรรมกายทุกคน  เราอย่าหลงเชื่อตนเอง  คือเชื่อรู้ญาณทัสสนะของเราเองจนเกินไป  ควรตรวจสอบความรู้กับตำราเนืองๆ ว่าเรายังอยู่ในร่องในรอย  ของ  รอยใจภาคขาว(กุศลาธัมมา)อยู่หรือไม่.......  




ความรู้ทางวิชชาธรรมกายยังมีอีกมาก  รอผู้มีบารมีธรรมมาช่วยกันฝึกฝนและเรียนรู้  ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ...

 

เวบให้ความรู้วิชชาธรรมกาย  http://www.khunsamatha.com/

หมายเลขบันทึก: 215615เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2012 00:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถึงคุณปราชญ์ขยะ เท่าที่ผมได้อ่านประสบการณ์การปฏิบัติธรรมของคุณผมคิดว่าตัวคุณเองก็ใช่ได้นะ การอ้างอิงตำราของหลวงปู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ขอให้อย่าลืมว่า การที่คุณปฏิบัติธรรมจนได้ธรรมกาย ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหมดกิเลสความรู้ความเห็นในทางปฏิบัติจึงไม่ สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นว่าจะถูกต้องไปเสียทั้งหมด การที่ตัวคุณเองไปปรามาศ ครูบาอาจารย์ท่านอื่นคิดว่าถูกต้องแล้วหรือ ผมไม่ได้สนว่าคุณประสบการณ์ภายในคุณจะทำได้ดีเท่าใด เพราะผลชี้วัดในการปฏิบัติ มันอยู่ที่ว่าคุณละวางและกิเลสในใจลดน้อยลงแค่ไหน โดยรวมข้อมูลสิ่งต่างๆที่คุณโพสไว้ก็ดี แต่ติดที่คุณไปปรามาศผู้อื่น ว่าอย่างนี้เพี้ยนอย่างนั้นไม่ถูกต้องผมว่ามันไม่ควร ผมคิดว่าคนทั่วไปที่จะฝึกฝนจะมาทำความดีอินทรียมันก็มีหลายระดับ รายละเอียดมันจึงมีมาก ท่านหรือใครจะสอนหรือจะใช้คำแบบไหนผมว่ามันไม่สำคัญ สำคัญว่าสอนแล้วเข้าถึงธรรมกายให้เป็นคนดีมีศิลธรรม ไม่ดูถูกดูแคลนผู้อื่นผมว่าแบบนี้มันจะไม่ดีกว่าหรือ

ถึงคุณปราชญ์ขยะ เท่าที่ผมได้อ่านประสบการณ์การปฏิบัติธรรมของคุณผมคิดว่าตัวคุณเองก็ใช้ได้นะ การอ้างอิงตำราของหลวงปู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ขอให้อย่าลืมว่า การที่คุณปฏิบัติธรรมจนได้ธรรมกาย ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหมดกิเลสความรู้ความเห็นในทางปฏิบัติจึงไม่ สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นว่าจะถูกต้องไปเสียทั้งหมด การที่ตัวคุณเองไปปรามาศ ครูบาอาจารย์ท่านอื่นคิดว่าถูกต้องแล้วหรือ ผมไม่ได้สนว่าประสบการณ์ภายในคุณจะทำได้ดีเท่าใด เพราะผลชี้วัดในการปฏิบัติมันอยู่ที่คุณละวางและกิเลสในใจลดน้อยลงแค่ไหน โดยรวมข้อมูลสิ่งต่างๆ ที่คุณโพสไว้ก็ดี แต่ติดที่คุณไปปรามาศผู้อื่น ว่าอย่างนี้เพี้ยนอย่างนั้นไม่ถูกต้องผมว่ามันไม่ควร ผมคิดว่าคนทั่วไปที่จะฝึกฝนจะมาทำความดีอินทรียมันก็มีหลายระดับ รายละเอียดมันจึงมีมาก ท่านหรือใครจะสอนหรือจะใช้คำแบบไหนผมว่ามันไม่สำคัญ สำคัญว่าสอนแล้วเข้าถึงธรรมกายให้เป็นคนดีมีศิลธรรม ไม่ดูถูกดูแคลนผู้อื่นผมว่าแบบนี้มันจะไม่ดีกว่าหรือ

ผมได้อ่านแล้ว ผมประทับใจมาก ถึงจะพึ่งมาอ่าน แต่ผมก็ชอบ คนเราควรฟังคำสั่งสอนของครูอาจารย์ เป็นที่ตั้ง สาธุ อนุโมทนาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท