ธรรมกายในความหมายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ธรรมกายในความหมายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ


ธรรมกายในความหมายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อวัดปากน้ำบอกว่า พระพุทธเจ้าก็คือ ธรรมกาย หรือธรรมกายก็คือพระตถาคตเจ้านั่นเอง แต่ก็มีความหมายอีกหลายอย่างหรือหลายนัยซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำพูดถึง เท่าที่ค้นพบมีดังนี้



**************************************************************************

๑.ธรรมกายเป็นกายในกายที่สุดละเอียดของมนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลาย อันประมวลความบริสุทธิ์ ๓ ประการ เข้าไว้ คือ


กายและหัวใจ เป็นเนื้อหนังที่แท้จริงรวบยอดกลั่นออกมาจากพระวินัยปิฎกเป็น ปฐมมรรค


ดวงจิต เป็นเนื้อหนังที่แท้จริงรวบยอดกลั่นออกมาจากพระสุตตันตปิฎก เป็นมรรคจิต


ดวงปัญญา เป็นเนื้อหนังที่แท้จริงรวบยอดกลั่นออกมาจากพระอภิธรรม หรือ พระปรมัตถ์ปิฎก เป็น มรรคปัญญา



**************************************************************************


๒. ธรรมกาย เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสรู้ หรือพระอรหันต์บรรลุถึง ดูจากข้อความว่า ความอุบัติเป็น “เด่น” ขึ้นของ “ธรรมกาย” ในแต่ละสัตว์โลก เป็นเรื่องที่สัตว์โลกมีได้ด้วยยาก แต่ก็มิใช่จะเหลือวิสัยที่สัตว์โลกจะทำได้ เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี หรือพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ก่อนแต่จะตรัสรู้ ได้บรรลุพระอรหัตผลหรือพระสัมมาสัมโพธิญาณด้วย “พระธรรมกาย” นั้น


การเกิดขึ้นดังกล่าว เป็นการเกิดขึ้นของธรรมกายหลังจากการเกิดขึ้นของรูปกายดังคำว่า ความอุบัติขึ้นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยรูปกายอุบัติ และธรรมกายอุบัติ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช ปุสสเทว ชำระโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรส ว่า


“แม้องค์พระตถาคตอังคีรสศักยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ซึ่งมีความปรากฏในโลกอันสัตว์ได้ด้วยยาก ดังนี้ พระองค์ก็ได้อุบัติเกิดขึ้นแล้วในโลก ด้วยรูปกายอุบัติและธรรมกายอุบัติทั้ง ๒ ประการ พร้อมด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมดาธรรมชาตินิยมโดยพุทธธรรมดา


นี้เป็นเอกสารหลักฐาน ซึ่งแสดงถึงความอุบัติขึ้นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะรูปกายอุบัติ และธรรมกายอุบัติ และเฉพาะ “ธรรมกาย” อุบัติ นั้นก็คือเมื่อ “ตรัสรู้”พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งครอบคลุมถึงความตรัสรู้ในพระอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลายอีกด้วย



**************************************************************************


๓. ธรรมกาย เป็นพระนามหนึ่งของพระตถาคต หรือพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้อธิบายว่า ธรรมกายนี้ก็คือพระตถาคตเจ้า และว่า พระพุทธเจ้า ก็คือ ตัวธรรมกาย ถึงธรรมกายก็เหมือนถึงพระธรรมเจ้า และเป็นกายธรรม เรียกว่าพระพุทธเจ้า


อัคคัญญสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ ว่า เราตถาคตคือธรรมกายธมฺมกาโย อหํ อิติปิ พระตถาคตเจ้าคือธรรมกาย ชื่อธรรมกาย มีคำรับรองว่า ดูก่อน วาเสฏฐโคตรทั้งหลาย คำว่าธรรมกาย ธรรมกายน่ะ เป็นตถาคตโดยแท้


นอกจากนั้นมีการอธิบาย โดยได้อ้างถึงเรื่อง วักกลิสูตร ดังที่กล่าวในบทว่าด้วยพระไตรปิฎกและขยายว่า คำว่า “ผู้ใดเห็นธรรม” หมายถึงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า คือ “ธรรมกาย”



**************************************************************************


๔. ธรรมกาย เป็น “อสังขตธาตุ อสังขตธรรม” อันผู้มีปัญญาพึงปฏิบัติให้เข้าถึงพึงรู้เห็นและเป็นตามรอยบาทพระพุทธองค์


ธรรมกายเป็นธรรมที่ซึ่งแปลว่า “ทรง” เมื่อเพ่งตามอาการแล้ว ก็มีทรงอยู่ ๒ อย่างคือ ทรงอยู่อย่างนั้น ไม่แปรผันเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งเรียกว่า อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรืออมตธรรม ธรรมที่ไม่ตายอย่างหนึ่ง......


คำว่า “ธรรมกายในที่นี้เข้าใจว่า หมายเอาอสังขตธรรมหรืออมตธรรมที่เป็นส่วนโลกุตตรธาตุหรือโลุตตรธรรม ไม่ใช่โลกิยธาตุหรือโลกิธรรม”



********************************************************************


๕. ธรรมกาย หมายถึง สิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายเป็น เพราะท่านเป็น “ธรรมกาย” ด้วยกันทั้งนั้น



**************************************************************************


๖. ธรรมกาย เป็นชื่อของกายหนึ่งในกาย ๑๘ กาย คือคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำได้แบ่งกายออกเป็น ๑๘ กาย เมื่อพ้นจากกายโลกิยะ ( ๘ กายข้างต้น) แล้วก็จะถึงกายธรรม หรือ “ธรรมกาย” เป็นกายที่ ๙-๑๐ ตั้งแต่กาย ที่ ๙-๑๐ ไปเป็นกายโลกุตตระ ซึ่งจะมีกายในกายต่อไปจน สุดละเอียด และในแต่ละกายสุดหยาบสุดละเอียดนี้ยังเป็นที่ตั้งของธาตุธรรมเห็น จำ คิด รู้ ขยาย ส่วนหยาบเจริญเติบโตออกมาเป็นกาย ใจ จิต วิญญาณ (กรณีกายโลกิยะ) หรือ ญาณะ (กรณีกายธรรม) ของแต่ละกายที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ สุดกายหยาบและกายละเอียดนั้นเองด้วยและยังมีกายภาคผู้เลี้ยง (จักรพรรดิ) ภาคผู้สอด (วิชชา หรือ อวิชชา แล้วแต่กรณีว่าเป็นธาตุธรรมฝ่ายพระ หรือฝ่ายมาร ) ภาคผู้ส่ง ภาคผู้สั่ง ภาคผู้บังคับ ภาคผู้ปกครอง (ซึ่งมีทั้งภาคผู้ปกครองย่อย ของแต่ละกาย และรวมย่อยหมดทั่วทุกกายของมนุษย์หรือสัตว์แต่ละตัวตน และทั้งผู้ปกครองใหญ่ประจำภพ คือภาพกามภพ รูปภพ และอรูปภพ และรวมใหญ่หมดทั้งภพและจักรวาลต่อ ๆ ไปจนสุดละเอียด แล้วก็จะเป็นองค์ต้นธาตุต้นธรรมใน “อายตนนิพพานเป็น”



**************************************************************************


๗. ธรรมกาย หมายถึง สัทธรรมแท้ ๆ ดังประโยคว่า “นี่ส่วนธรรมกาย ดวงสัทธรรมที่เป็นธรรมกายนั่นแหละ ดวงนั้นแหละเป็นตัวสัทธรรมแท้ ๆ ฯลฯ”



**************************************************************************


๘. ธรรมกาย หมายถึง กายที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดูจากข้อความว่า


ความอุบัติโดยธรรมกายนั้น ก็มิใช่การเกิดตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรมโดยมีอวิชชาเป็นมูลรากฝ่ายเกิดแต่ประการใด แต่เป็นความอุบัติขึ้นด้วยความบริสุทธิ์อันประมวลเข้าไว้ดังที่ได้กล่าวแล้ว จึงมิใช่นาม-รูป มิใช่นิมิต อันเกิดแต่อวิชชา หรือกิเลสตัณหาใด ๆแต่เป็น “ธรรมกาย”ที่บริสุทธิ์ หรือ “พรหมกาย” ที่ประเสริฐ เป็นกายที่ยั่งยืนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายดังผู้ปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายได้ เห็นปรากฏว่าที่อยู่ในอายตนนิพาน นับประมาณจำนวนองค์ไม่ถ้วนอยู่แล้ว



**************************************************************************


๙. ธรรมกาย เป็นชื่อวิชชาอย่างหนึ่งที่สำคัญ โดยใช้คำว่า “วิชชาธรรมกาย” ในหลาย ๆ แห่ง เช่น วิธีการเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายนั้น มีสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในตัวพร้อมเสร็จแนวทางปฏิบัติภาวนาธรรมตามแนววิชชาธรรมกายที่ผู้ปฏิบัติธรรมรวมใจหยุดในหยุดกลางของหยุดในหยุด ผ่านกาย เวทนา จิต และธรรมแล้วทำนิโรธ



****************************************************************************


๑๐. ธรรมกาย เป็นธาตุล้วนธรรมล้วนที่อยู่เหนือความปรุงแต่ง ด้วยบาปอกุศล (อกุศลลา ธัมมา) และแม้ด้วยบุญกุศล (กุสลธัมมา) ในระดับโลกียธรรม กล่าวคือ เป็นความดีสูงที่สุดจนเป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ทั้งองค์ เป็นวิสุทธิขันธ์ หรือวิสุทธิสัตว์แท้ ๆ เป็นกายที่เที่ยงแท้ยั่งยืนพระพุทธองค์จึงได้ทรงเรียกธรรมกายบ้าง พรหมกายบ้าง แทนคำว่า “ตถาคต” โดยนัยนี้ธรรมกายจึงไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา


คำว่า ธาตุล้วน ธรรมล้วน หมายถึงธาตุที่มีตั้งอยู่แล้ว ธรรมนี้มีตั้งอยู่แล้วในคำว่า จิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฏจิตตา ธาตุแบ่งเป็น สังขตธาตุ อสังขตธาตุ ราคธาตุ วิราคธาตุ ส่วนธรรมก็คือ สังขตธรรม อสังขตธรรม ราคธรรม วิราคธรรม ซึ่งวิราคธาตุ วิราคธรรม เป็นสิ่งที่ประเสริฐเลิศกว่า สังขตธาตุ สังขตธรรม อสังขตธาตุ และอสังขตธรรม



**************************************************************************


๑๑. ธรรมกาย คือสิ่งที่จะนำไปสู่พระนิพพาน ดูจากข้อความว่า ธรรมกายนี้มีความสำคัญ และรักษาชีวิตไว้เป็นอยู่ด้วย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ถ้าไม่มีก็ดับ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านกล่าวว่า พระตถาคตเจ้า ไม่ได้สอนอย่างนั้น สอนให้เห็นธรรมกายเท่านั้น ให้เดินทาง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ .....ให้เข้าถึงกายมนุษย์......กายพระอรหัตละเอียด



**************************************************************************


๑๒. ธรรมกาย หมายถึงกายของนิพพาน ดังที่หลวงพ่อวัดปากน้ำกล่าวว่า “....นิพพานมีขันธ์ ของนิพพาน เรียกว่า ธรรมขันธ์ หรือ ธรรมธาตุ กาย เรียกว่า ธรรมกาย.......



**************************************************************************


๑๓. ธรรมกาย เป็นปรมัตถธรรม ที่ไม่ใช่นามรูป ดังที่พระมหาเสริมชัยกล่าวว่า ธรรมกาย ไม่มีนามรูป เพราะวิญญาณดับแล้ว เป็นธรรมกาย ไม่ใช่นาม ไม่ใช่รูป เป็นปรมัตถธรรม


จากนัยของคำว่าธรรมกายในคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำดังที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่ามีความหมายครอบคลุมตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด ถึงกายของนิพพาน หมายถึงธรรมทั้งปวงก็ได้ หมายถึงพระนามหนึ่งของพระพระพุทธเจ้าก็ได้ หมายถึงสังขตธรรม(กายโลกีย์)หรืออสังขตธรรม(กายโลกุตตระ)เป็นต้นธาตุต้นธรรมก็เป็นธาตุล้วนธรรมล้วนก็ได้ เป็นผู้เข้านิพพานก็ได้ เป็นวิชชาอย่างหนึ่งที่เรียกว่าวิชชาธรรมกายก็ได้ รวมถึงที่เรียกว่า ปรมัตถธรรมก็ได้


“ถ้ามนุษย์ได้เห็นธรรมกาย มนุษย์คนนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่หลับแล้ว ถ้ามนุษย์ใดยังไม่เห็นธรรมกาย ยังไม่เป็นธรรมกาย มนุษย์นั้นยังหลับอยู่ มารมันยังกดหลับอยู่ ยังไม่ตื่นเลย บางทีตายเสียชาติหนึ่งยังไม่ตื่นเลย หลับเรื่อยไปเสียทีเดียว


บางคนเห็นปรากฏ ตื่นทีเดียวมีธรรมกายบางคนไม่เดียงสา มีธรรมกายใหญ่โตมโหฬาร เช่นนี้แล้ว มาถึงรัตนะอันเลิศประเสริฐเช่นนี้แล้ว กลับไปวางเสียก็มี แปลกประหลาดนัก ลืมตาขึ้นแล้วกลับไปตาบอดก็มี อย่างนี้น่าอัศจรรย์นัก”




พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

หมายเลขบันทึก: 215647เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ปัจจุบันมีใครเก่งสุดบ้าง มาสนทนากันหน่อยครับ

คนเก่งสุดเขาคงไม่มานั่งจิ้มเนตให้เสียเวลาเขาหรอกครับ...

อืม... จริง อั้วก็ลืมไป อุอุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท