อนัตตตา (Soullessness or Non-Self) ความมิใช่ตัวตน


อนัตตตา   (Soullessness  or  Non-Self)   ความมิใช่ตัวตน  


ความมิใช่ตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายทั้งที่เป็นฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม   หมายความว่า   ชีวิตร่างกายนี้มิใช่ตัวที่แท้จริงของเรา   ที่เรามองเห็นเป็นรูปร่างก็เพราะการรวมกันของขันธ์  5   คือ  รูปและนาม   (รูปขันธ์  มีส่วนประกอบคือ   มหาภูตรูป  4 ( ธาตุ  4  ได้แก่ดิน  น้ำ ลม  ไฟ  )  และอุปาทายรูป   (รูปอาศัย)   มี  24  นามขันธ์มีส่วนประกอบ  4  ได้แก่  เวทนา  สัญญา   สังขาร   วิญญาณ  เมื่อส่วนประกอบทั้งที่เป็นขันธ์


และนามขันธ์มารวมกันเข้าแล้ว   มันก็คุมกันอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น  มันก็จะเปลี่ยนแปลง  เสื่อม  คร่ำคร่า   ทรุดโทรม   ในที่สุดมันก็จะแยกออกจากกัน  (ดับ)   ที่เราเรียกว่า   “ตัวตน”   ก็คือขันธ์   5  นี่เอง ซึ่งเราสมมุติบัญญัติเรียกเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าสิ่งนั้น   สิ่งนี้เท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว  ตัวตนจริง ๆ  ไม่มี  หากเราแยกส่วนประกอบต่าง ๆ  ในขันธ์   5  ออกไปแล้วก็จะหาตัวตนไม่พบ



มีคำถามว่า  หลักอนัตตาสอนว่า   ความไม่มีตัวตน   แต่ปรากฏตัวตนคำสอนของพุทธศาสนาว่ามีตัวตน   เช่น   พุทธศาสนสุภาษิตว่า  “อตฺตา  หิ  อตฺตโน  นาโถ”   แปลว่า  ตนแลเป็นที่พึ่งของตน   คำสอนจะไม่ขัดแย้งกันหรือ?   ตอบว่าไม่ขัดแย้งกันเลย  ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “ตน”   ในที่บางแห่ง   พระองค์ตรัสเพื่อให้เข้าใจง่ายเท่านั้น   คือตรัสในภาษาที่เป็นสมมุติบัญญัติเป็นเรื่องการสมมุติเรียกสิ่งนั้น   สิ่งนี้    คนนั้น  คนนี้   เหมือนกับการบัญญัติชื่อขึ้นมาเรียก   เช่น  นายสี นายมี  นายมา  นางสาวจารุณี  นางสาวพรทิพย์   ฯลฯ  ซึ่งเดิมก็ไม่มีชื่อเรียก  ครั้นเกิด  (ขันธ์  5 ปรากฏ)  จึงมีการตั้งชื่อ  และชื่อเหล่านี้ก็มิใช่สิ่งที่เป็นตัวตนถาวรอีก   บางคนตั้งชื่อโดยพ่อแม่แต่ภายหลังเติบโตแล้ว   ก็ไม่พอใจกับชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้นั้น   ก็สามารถเปลี่ยนชื่อใหม่ได้อีก


มนุษย์คือขันธ์ 5  หากแยกขันธ์  5  ออกแล้วก็ไม่มีมนุษย์  จึงตรงกับหลักอนัตตาที่ว่าความไม่มีตัวตน   ดังนั้น  มนุษย์  (ขันธ์ 5 )   จึงเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น   ตั้งอยู่   และดับไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น   หลักอนัตตาไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักอนิจจตาและทุกขตาอย่างแยกกันไม่ออก  คนส่วนใหญ่มักจะเข้าไปยึดถือสิ่งสมมุตินี้ว่าเป็นตัวตนจริง ๆ  เป็นสิ่งแน่นอน   เมื่อสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป  (อนิจจัง)   ไม่เป็นไปตามปรารถนาก็จะเกิดทุกข์  (ทุกขัง)


กล่าวโดยทั่วไป   หลักอนัตตา   พร้อมทั้งหลักอนิจจตาและหลักทุกขตาเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องแท้จริงของหลักจริยธรรมอื่น ๆ    โดยเฉพาะหลักกรรมและหลักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น  (จากทุกข์)   เช่น เพราะสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน  ความเป็นไปในรูปกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์สืบต่อเนื่องอาศัยกันจึงเป็นไปได้   กรรมจึงมีได้   และเพราะสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตนความหลุดพ้นจึงมีได้


หลักอนัตตานี้  อาจทำความเข้าใจได้โดยศึกษาลักษณะของอนัตตา  ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. ไม่เป็นไปตามอำนาจของใคร
2. ไม่มีแก่นสาร  (สังขารทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง)
3. ว่างเปล่าจากตัวตน   (ตัวตนเป็นเพียงสิ่งสมมุติ)
4. ไม่มีใครเป็นเจ้าของ (ผู้เป็นเจ้าของเป็นเพียงติดอยู่กับอุปาทาน)
5. ไม่มีอะไรหรือใครเป็นใหญ่กว่า  (สังขตธรรมเกิดจากการคุมกันขึ้นของปัจจัยเหตุเหมือนกันหมด)
6. ขัดแย้งกับตัวตนอย่างตรงกันข้าม

ความคิดเรื่องอนัตตาในพระสูตร


ความคิดเรื่องอนัตตาในพระสูตรที่จะกล่าวต่อไปนี้   เป็นบทความที่คัดย่อมาจากผลการวิจัย  ซึ่งเสนอต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   โดย  นายรุ่งธรรม   ศุจิธรรมรักษ์   จุดมุ่งหมายของการวิจัยก็เพื่อทราบว่า  พระสุตตันตปิฎก  (พระสูตร)   ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก  กล่าวถึงหลักคำสอนเรื่องอนัตตา ไว้อย่างไร  โดยตั้งประเด็นคำถามว่า



1. อนัตตามีความหมายอย่างไร?
2. พุทธศาสนาปฏิเสธอัตตาอย่างไร?
3. อนัตตากับทุกข์สัมพันธ์กันอย่างไร?
4. หลักอนัตตาจะเป็นแกนกลางอธิบายหลักคำสอนอื่น ๆ  ได้หรือไม่ ?


คำตอบที่ได้จากการวิจัย  มีเนื้อหาสาระสรุปได้ดังนี้


1. อัตตา   หมายถึง  ตัวตน   ซึ่งก็คืออะไรบางอย่างที่มีอยู่จริงเป็นนิรันดร์  ไม่มีการแปรสภาพ   แต่เป็นจุดศูนย์กลางของการแปรสภาพ   เป็นหลักซึ่งทำให้อธิบายความคงเดิมของสิ่งต่าง ๆ   รวมทั้งมนุษย์ได้


2.  เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์   พระพุทธศาสนาเห็นว่า   ตัวตนจริง ๆ   ไม่มี  โดยอธิบายว่าชีวิตนั้นมีองค์ประกอบ  5  อย่าง   คือ  รูป  เวทนา   สัญญา   สังขาร  และวิญญาณ  เรียกกันว่า  “ขันธ์  5”   ขันธ์แต่ละอย่างเกิดขึ้นและดับลงได้ตามเงื่อนไข   จึงถือได้ว่าไม่มีตัวตน   เพราะถ้ามีตัวตนก็น่าจะดำรงตัวอยู่ได้โดยตนเองไม่เปลี่ยนแปลงของอื่น ๆ  ขันธ์  5  มาประกอบกันเข้าก็มิได้เกิดอะไรขึ้นมาและแปรไปตามเงื่อนไขเหมือนกัน  ฉะนั้นตัวตนไม่มี


3. ปัญหาเรื่องตัวตนนั้นเป็นปัญหาด้านอภิปรัชญา  การยอมรับว่า  มีตัวตนเป็นรากฐานที่ทำให้เชื่อว่ามี  “ตัวตน”   การทึกทักนี้ก่อให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นที่จะให้สิ่งนั้นเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง   เมื่อไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวังก็เกิด  ความทุกข์  ความเดือดร้อนขึ้น


4. หลักอนัตตาเกี่ยวข้องกับนิพพาน  นิพพาน  คือ   ความสงบ   ความสงบเกิดขึ้นได้เพราะไม่มีการยึดมั่นถือมั่น   แต่การยึดมั่นถือมั่นนั้น  เกิดขึ้นเพราะไปหลงผิดคิดว่าขันธห้านี้เป็น  “ตัวตน”   ดังนั้น  ความสงบก็คือ    อาการของจิตที่ปราศจากการยึดมั่นนั่นเอง  


หลักอนัตตาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องกรรม   การกระทำที่มี   “ตัวตน”  เป็นศูนย์กลางนั้น   เมื่อทำแล้วไม่มีที่สิ้นสุด   เพราะ  “ตัวฉัน”  จะต้องไปเกิดใหม่เพื่อรอเสวยผลนี้ก่อนความทุกข์   ส่วนผู้ที่กระทำโดยปราศจาก  “ตัวฉัน”ไม่ต้องเกิดใหม่เพื่อรอผล จึงไม่ก่อให้เกิดความทุกข์นี่คือหลักที่ว่า  “ทำอย่างไรได้ผลอย่างนั้น”


จากคำตอบที่ได้จากการวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่า   หลักอนัตตามีความสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าใจพระพุทธศาสนา   เพราะเป็นหลักพื้นฐานที่อธิบายปัญหาสำคัญ ๆ   ในพุทธศาสนา  เช่น  ปัญหาเรื่องทุกข์   นิพพาน  และกรรม  ถ้าเราเข้าใจเรื่องอนัตตาแล้ว   จะทำให้เข้าใจเรื่องต่าง ๆ  ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง


ความจริงแล้ว  ปัญหาเรื่องทุกข์  นิพพาน  และกรรมนั้นเป็นปัญหาเดียวกัน   แต่มองจากแง่มุมที่ต่างกัน   ทุกข์กับนิพพานเป็นสิ่งตรงกันข้าม  ทุกข์ก็คือ  ความมีอยู่ของตัวตน   ของตัวฉัน  นิพพานคือ  ความไม่มีอยู่ของตัวตน  ของตัวฉัน   การตัดสินเรื่องกรรมดี   กรรมชั่ว   ก็ดูจากเจตนาว่าเป็นไปเพื่อตัวฉันหรือไม่   การทำกรรมแล้วจะเกิดหรือไม่เกิดนั้น   สิ่งที่เกิดหรือไม่เกิดก็คือ   “ตัวฉัน”  เมื่อความเป็นจริงของมนุษย์คืออนัตตา   พระพุทธศาสนาจึงเห็นว่า  มนุษย์ควรจะอยู่กับความจริงจึงจะพ้นทุกข์ได้   การอยู่กับความจริงก็คือ   การดำรงชีวิตอยู่อย่างปราศจากการยึดถือตัวตน  หรือปราศจากการยึดถือ  “ตัวฉัน”   การดำรงชีวิตอยู่อย่างปราศจากการยึดถือตัวฉัน(ขันธ์ 5)เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดที่คนเราควรแสวงหา  จึงกล่าวได้ว่า   มติของพุทธศาสนาเกี่ยวกับมนุษย์แยกได้  2  ประเด็น  คือ


1.  ชีวิตของมนุษย์  คือ  อนัตตา  นี่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงพื้นฐาน   เป็นคำตอบที่ว่ามนุษย์คืออะไร ?


2.  ชีวิตมนุษย์มีอยู่ในลักษณะอนัตตา   นี่เป็นเรื่องของคุณค่าพื้นฐาน  เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า   อะไรเป็นสิ่งประเสริฐสุดสำหรับมนุษย์


หลักอนัตตาเป็นหลักวิเคราะห์แก่นแท้ของสรรพสิ่ง


หลักอนัตตาเป็นเรื่องอภิปรัชญา  ในพระพุทธศาสนา  เป็นหลักวิเคราะห์ถึงแก่นแท้อันเป็นสาระของสรรสิ่ง  ซึ่งเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก  ซึ่งไม่ปรากฏมีในลัทธิและศาสนาอื่น ๆ  มาก่อนเลย   นักปราชญ์ทางตะวันตกได้พยายามวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของสรรพสิ่งมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณบางท่านก็กล่าวว่าน้ำ  บางท่านยืนยันว่า  อากาศ  ลม  ไฟ  ฯลฯ   ส่วนนักปราชญ์ทางตะวันออกก็พยายามวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของสรรพสิ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ  บางลัทธิก็กล่าวว่า   อาตมันบ้าง   พระพรหมบ้าง  หรือบางลัทธิก็กล่าวว่า  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ฯลฯ  ซึ่งคำตอบเหล่านั้นล้วนกล่าวถึงเรื่องอัตตา   คือตัวตนทั้งสิ้น   ส่วนคำตอบของพุทธศาสนาแตกต่างจากทัศนะเหล่านั้น  นั่นคือ    ทัศนะที่ว่า   สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนัตตา คือ  ความมิใช่ตัวตน  พุทธศาสนาจึงแปลกและพิเศษไปจากลัทธิและศาสนาอื่น ๆ


ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  ซึ่งเป็นศาสนาเดิมของชาวอินเดีย  สอนว่า  มนุษย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ  2  ส่วน คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย  ซึ่งประกอบด้วยธาตุ  4  คือ  ดิน น้ำ  ลม  ไฟ  และของพราหมณ์  ร่างกายเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แตกสลายไปตามกาลเวลา   ส่วนภายในที่เป็นอัตตานั้นอนัตตานั้นเป็นสิ่งแท้จริง  เป็นอมตะ  ไม่ตาย  จะมีลักษณะเป็น  “สัท”  หรือ  “สัจธรรม”   เป็นคราวแท้จริงมีลักษณะเป็น “จิต”   คือเป็นธาตุรู้  (มิใช่วัตถุ)  มีลักษณะเป็น  “อนันทะ”   คือมีความสุขอัตตาจะมีลักษณะเหมือน  “ปรมาตมัน”  หรือ “พรหมัน”  หรือ “วิญญาณสากล”  หรือ “พระผู้เป็นเจ้ายิ่งใหญ่”


ศาสนาพราหมณ์ให้ทัศนะเกี่ยวกับ  อัตตา(ส่วนภายใน)   ว่า ในระยะเริ่มแรก อัตตา  (อาตมัน)  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปรมาตมัน    แต่เพราะมนุษย์  (เมื่ออาตมันมาอาศัยร่างกายอยู่)  ก็ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง   คือเกิดอวิทยาขึ้น    ไม่รู้ว่าตน   (อาตมัน)   เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปรมาตมันมาก่อน   แต่เกิดมีความเข้าใจผิดไปว่า  ตน  (อาตมัน)    เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับร่างกาย  ดังนั้น   จึงมีหลักปฏิบัติเพื่อให้อัตตา(อาตมัน)  รู้ตัวเอง  (วิทยา)  ว่ามิใช่อันหนึ่งอันเดียวกับร่างกาย   แล้วพยายามแยกอัตตา  (วิญญาณ)  ออกจากร่างกายก็จะมองเห็นสภาพต่าง ๆ   ตามความเป็นจริง    สิ่งที่แท้จริงก็คือพระพรหม   จึงจะบรรลุโมกษะ  (ความหลุดพ้น) แล้วกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพรหม  (ปรมาตมัน หรือ  วิญญาณสากล)   ก็จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป


ตามทัศนะของพุทธศาสนา  คำว่า  “วิญญาณ”  มี 2  อย่าง คือ   วิญญาณธาตุกับวิญญาณขันธ์   วิญญาณธาตุ  คือตัวรู้   ได้แก่จิต  ส่วนวิญญาณขันธ์  คืออาการของจิตที่รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ  วิญญาณขันธ์อาจดับไป  ขณะที่วิญญาณธาตุยังคงอยู่


วิญญาณตามทัศนะของพุทธศาสนา   ไม่ใช่สิ่งอมตะ  (ไม่ตาย)   แต่มันเกิดและดับไปซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย  วิญญาณเกิดเมื่อสัมผัสสะ  เช่น  ตาเห็นรูป   เป็นต้น  เมื่อวิญญาณเกิดแล้วมันก็ทำหน้าที่แล้วก็ดับไป   และมันก็เกิดขึ้นใหม่อีกติดต่อกันไปเป็นช่วง ๆ   อย่างรวดเร็ว  ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่คล้ายกับเป็นสิ่งเดียวกันทั้งหมด   เพราะเราไม่สามารถจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนนั่นเอง


มีคำถามว่า  เมื่อพุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องอัตตาแล้ว  จะอธิบายเรื่องสันตติเครื่องสืบต่อของบุคคลได้อย่างไรว่า    คนเราได้ผ่านการเกิดมาแล้วหลายชาติ   หลายภพ  โดยเฉพาะเรื่องอาตมัน  หรือวิญญาณล่องลอย  


ในการตอบคำถามดังกล่าวนี้  หากเราเข้าใจในหลักปฏิจจสมุปบาทโดยชัดเจนแล้ว  ก็จะเห็นทัศนะเรื่องการสืบต่อได้ง่าย   ตามคำสอนในหลักปฏิจจสมุปบาท  ชีวิตคือกระแสธารของสภาวะที่เกิด- ดับติดต่อกันมิได้ขาดระยะ  สภาวะแต่ละอันย่อมอาศัยปัจจัยที่เกิดขึ้นก่อนในขณะนั้น  และเป็นเหตุสร้างสภาวะอันจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาด้วย   โดยหลักการอันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า     การสืบต่อของกระแสแห่งชีวิตย่อมตั้งอยู่บนเหตุปัจจัยที่สืบต่อเนื่องกันเป็นสายโซ่โดยผ่านลักษณะต่าง ๆ   ตัวอย่าง  เช่น  ประทีปที่เผาไหม้ตลอดคืน    การลุกไหม้ของดวงประทีปแต่ละขณะนั้น  อาศัยเหตุปัจจัยของตัวมันเองและสถานการณ์ต่าง ๆ  กัน    ทั้งแตกต่างไปจากเหตุและปัจจัยในอีกขณะหนึ่งอาศัยเหตุและปัจจัย อื่น ๆ  อีก   แสงประทีปที่สืบต่อและทยอยกันไปได้ไม่ขาดสาย  ต่างก็อาศัยเหตุและปัจจัยตามสถานะของมันเอง  การที่มันเกิดเป็นประทีปก็เพราะมีองค์ประกอบสำคัญ  3  ส่วน  คือเชื้อเพลิง  ออกซิเจน   และความร้อน  (อุณหภูมิ)  หากเหตุปัจจัยทั้ง  3  มาประจวบกันได้อย่างเหมาะสมเมื่อใด   เมื่อนั้นมันก็เกิดเป็นประทีปลุกไหม้หากเหตุปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งหมดไปหรือถูกแยกออกไปเสีย     มันก็ดับไป   เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะสืบต่อ  


การสืบต่อของชีวิตก็เช่นเดียวกับดวงประทีป  จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยสืบต่อกันไปเป็นสายโซ่โดยไม่ขาดสายจึงเท่ากับพุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องอัตตาเที่ยงแท้คือวิญญาณล่องลอยนั่นเองกล่าวคือ  เมื่อเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งดับลง  เปรียบได้กับเชื้อเพลิงหมดลง  เปลวไฟก็จะต้องหมดไปเช่นกัน  ชีวิตคนเราก็อยู่ในกฎอันเดียวกันคือ  เมื่อร่างกายสลายเป็นธาตุเดิมของมันแล้ว  จิตใจซึ่งถือว่าเป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่งที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิต   นั่นคือร่างกายกับจิตใจอิงอาศัยกันขึ้นเป็นชีวิต  เมื่อปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งดับลง  ปัจจัยอีกอันหนึ่งก็ต้องดับลง   เพราะทั้งสองอย่างเป็นเหตุปัจจัยของกันและกันและอิงอาศัยกัน   จึงเท่ากับการปฏิเสธวิญญาณที่ล่องลอยออกจากร่างกายเมื่อร่างกายดับสลายลงแล้วไปปฏิเสธสนธิในร่างใหม่   ซึ่งเป็นทัศนะของลัทธิอื่น  เช่น   ลัทธิพราหมณ์  เป็นต้น  


ดังนั้น  หลักอนัตตาเป็นหลักคำสอนสำคัญมากในพุทธศาสนา  เพราะเป็นคำสอนที่ปรากฏอยู่เฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น   หากเข้าใจและปฏิบัติตามหลักอนัตตาถึงขั้นสูงสุดแล้วก็เท่ากับได้เข้าสู่สภาวะแห่งนิพพานนั่นเอง   หลักอนัตตา  จึงมีคุณค่าสำคัญมากในทางจริยธรรมซึ่งอาจแยกความสำคัญของหลักอนัตตาออกได้  3  ระดับ คือ


4.1 ช่วยลดความเห็นแก่ตน    เพราะพุทธศาสนาเห็นว่า   การที่คนเราหลงยึดสิ่งสมมุตินี้ว่าเป็นตัวเป็นตนแล้ว  ก็จะมัวเมาอยู่กับอัตตานี้เรื่อยไป   การจะแก้ปัญหาเรื่องความเห็นแก่ตนก็ต้องแก้ด้วยการไม่ยึดเรื่องตัวตน   เช่น   มีคำถามว่า   “ทำไมคนจึงเห็นแก่ตน?”   ตอบ ตามหลักพุทธศาสนาว่า  “คนเห็นแก่ตน  เพราะมีตนให้เห็น”   หากไม่ยึดเป็นตัวเป็นตนเสียแล้ว  คนเราก็ไม่เห็นแก่ตน


4.2  ช่วยลดทิฐิมานะลง   จะทำให้คนมีจิตใจกว้าง    การแก้ปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ  พิจารณาด้วยปัญญาที่มีเหตุผล   ไม่เอาตนเข้าไปเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าเป็นความยาก (ตัณหา)   หรือความเห็น  (ทิฐิ)   หรือ มานะ  (ความถือตัว)   ไม่ยึดอัตตาธิปไตยแต่ยึดธรรมาธิปไตย


4.3  ช่วยให้ใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง  โดยทั่วไป หลักอนัตตาพร้อมทั้งอนิจจตาและทุกขตา  เป็นหลักยืนยันความถูกต้องแท้จริงของหลักจริยธรรมอื่นๆ   โดยเฉพาะหลักกรรมและการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น  แสดงหลักความจริงที่ว่าเพราะสรรพสิ่งไม่มีตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตน   ความเป็นไปในรูปของกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกันจึงเป็นไปได้  กรรมจึงมีได้  และเพราะสรรพสิ่งไม่มีตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตน  ทำ
ให้เราคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ความหลุดพ้นจึงมีได้  นี่ถือว่าเป็นความสำคัญสูงสุดในหลักคำสอนของพุทธศาสนา

หมายเลขบันทึก: 215734เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท