อัตตากับอนัตตา และ ความยึดถือ เป็นไฉน?


อัตตากับอนัตตา และ ความยึดถือ เป็นไฉน?



อัตตา คือ   ความเป็นตัวเป็นตน   โดยความเป็นสภาพเที่ยง  (นิจฺจํ/สสฺสตํ)  ใครเข้าถึงรู้เห็นและเป็นแล้ว  เป็นสุข  (สุขํ)  เป็นสภาวะที่ยั่งยืน   มั่นคง  (ธุวํ/ตาทิ)   คือ ไม่ดับสลาย  ได้แก่   ไม่เคลื่อน  กล่าวคือเป็นอมตธรรม  เป็นธรรมธาตุที่ไม่ตาย   จึงไม่ปรากฏความเกิด  แก่ เจ็บ  และตายอีก


ธรรมธาตุนี้เป็นอสังขตธาตุ   อสังขตธรรม  อันไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง   จึงไม่ต้องอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์   คือไม่เป็นอนิจจัง  ไม่เป็นทุกขัง  และไม่เป็นอนัตตา


ธรรมธาตุที่มีสภาวะที่เป็นตัวตน  (อตฺตา) นี้แหละที่ชื่อว่า  วิสังขาร  คือ  พระนิพพาน  ได้แก่   ธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔  คือ  โลกุตตรภูมิ  นั่นเอง


อนัตตา  คือ   ความที่มิใช่ตัวตน   โดยความเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)   เป็นทุกข์   (ทุกฺขํ)     เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้   ใครเข้ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน  (อตฺตา)   ด้วยตัณหาและทิฏฐิคือความหลงผิดแล้ว  เป็นทุกข์   เพราะจะต้องเสื่อมสลายหมดสภาพเดิมของมันไปในที่สุด   เป็นอนัตตา  จึงเป็นสภาพสูญ  คือว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน  ไม่มีเจ้าของ  ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครว่า   ธรรมทั้งปวงเหล่านี้   จงอย่าแก่   อย่าเจ็บ   อย่าตายเลย


ธรรมชาติที่ไม่ใช่ตัวตน  คือที่เป็นอนัตตานี้  จัดเป็นสังขตธาตุสังขตธรรม  ชื่อว่า  สังขารธรรมอันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  จึงต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์   คือ ความเป็นอนิจจัง   ทุกขัง อนัตตา  ดังกล่าวแล้ว


สังขารธรรมทั้งปวงที่เป็นอนัตตา เหล่านี้   ได้แก่  อนุปาทินนกสังขาร   คือสังขารที่มีวิญญาณครอง  ได้แก่  ขันธ์  ๕   และ  อนุปาทินนกสังขาร   คือสังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง   อันรวมเป็น  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๓  คือ    กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ   เท่านั้น

 

ผู้เห็นหรือยึดถือสภาวะของธรรมชาติที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา  ผู้นั้นแหละมีความเห็นผิดจากธรรมชาติที่เป็นจริง จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ  คือ  มีทิฏฐิชั่วร้าย   (ปาปกํ   ทิฏฐิคตํ)


ผู้เห็นสภาวะของธรรมชาติที่เป็นอัตตาว่า  เป็นอนัตตาผู้นั้นก็มีความเห็นผิดจากธรรมชาติที่เป็นจริง  จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ  คือมีทิฏฐิชั่วร้าย  (ปาปกํ  ทิฏฐิคตํ)   เช่นเดียวกั

ที่ พระเดชพระคุณท่านกล่าวว่า  อัตตาหรือตัวตนมีอยู่แต่ความยึดถือของคน  ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง  นั้น


ถามว่า   ยึดถืออะไร  คือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
ถ้าตอบว่า   ยึดถือสังขารทั้งปวง   คือ  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๓  มีขันธ์  ๕  เป็นต้น   เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
 เพราะเป็นสภาพสูญ   ว่างเปล่าจากตัวตน  ว่าเป็นสภาวะที่มีอยู่จริง   อย่างนี้ละก็  ใช่แน่


แต่ถ้าตอบว่า  ยึดถือวิสังขาร  คือ  พระนิพพาน  ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริง  ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงด้วยแล้ว   ก็จะต้องขัดกับคำในบันทึกของพระเดชพระคุณพระเทพเวที  ที่ว่า  “สภาวธรรมที่เรียกว่า  นิพพาน  ก็มีอยู่”  ก็ผิดครูแย่ซิโยม !!


แท้ที่จริงพระอริยเจ้า   พระอรหันตเจ้า  พระพุทธเจ้า  หรือพระตถาคตเจ้าท่านไม่ยึดถืออะไรทั้งนั้นแหละ แต่ท่านเข้าถึง  ได้รู้  ได้เห็น  และเป็นพระนิพพาน  และความที่ท่านได้รู้ได้เห็นโลกุตตรธรรมนั้น   หาใช่เป็นความยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่  แต่เป็นความรู้จริงเห็นแจ้งสภาวะของสังขาร  และวิสังขารคือพระนิพพานที่เป็นจริง  ไม่ได้เห็นมั่ว ๆ   คลุม ๆ  ว่าอะไร ๆ ก็เป็นอนัตตาไปหมดหรอก

 อนึ่ง  ที่พระเดชพระคุณท่านว่า  “สภาวธรรมที่เรียกว่านิพพานก็มีอยู่”


ถามว่า  สภาวธรรมนี้มีอยู่ที่ไหน?   หรืออะไรคือ  ผู้ทรงสภาวะนิพพาน
  ของพระอริยเจ้า  พระอรหันเจ้า   ของพระพุทธเจ้า  หรือพระตถาคตเจ้า


ถ้าตอบว่า  สภาวธรรมคือ พระนิพพานมีอยู่ที่ขันธ์  ๕  หรือว่า  ขันธ์  ๕ คือผู้ทรงสภาวะนิพพาน  ของพระอริยเจ้า  พระอรหันตเจ้า  ของพระพุทธเจ้า  หรือพระตถาคตเจ้า   และว่าพระอรหันตเจ้า   พระตถาคตเจ้าเป็นต้นนั้น  เมื่อตายแล้วก็ขาดสูญ  ไม่มีอะไรอยู่อีก  แล้วก็ย่อมมีคติเช่นเดียวกันกับพระยมกเมื่อก่อนบรรลุธรรม คือมีทิฏฐิชั่วร้าย   (ปาปกํ  ทิฏฐิคตํ)   เชียวหนา


ถามว่า  ถ้าเช่นนั้น  สภาวะนิพพานนั้นมีอยู่ที่ไหน   อะไร  เป็นผู้ทรง สภาวะนิพพาน  ของพระอริยเจ้า  ของพระอรหันตเจ้า  ของพระพุทธเจ้า   หรือพระตถาคตเจ้า ?


ตอบว่า  ผู้ทรงสภาวะพระนิพพานนั้นคือธรรมกายที่บรรลุอรหัตตผลแล้วนั่นเอง   หากยังครองเบญจขันธ์อยู่  ชื่อว่า   สอุปาทิเสสนิพพาน   ถ้าเบญจขันธ์แตกทำลายคือตายแล้ว  ชื่อว่า อนุปาทิเสสนิพพาน
 

พระอรหันต์  พระตถาคต  ท่านตายแต่เพียงขันธ์   ๕   พระนิพพานคือ  ธรรมกายที่บรรจุอรหัตตผลของท่านเป็นอมตธรรม   สถิตยั่งยืน   อยู่ในอายตนนิพพานนั้นนั่นแหละมิได้สูญไปไหน  ญาณดีก็รู้   ตา  (ใน)  ดีก็เห็นตามที่เป็นจริงเอง

--> ที่พระเดชพระคุณท่านว่า “เมื่อมีความยึดถือ  จึงเกิดเป็นอัตตาขึ้น  เมื่อไม่มีความยึดถือ  อัตตาก็ไม่มี”  นั้น


ข้อนี้ไม่จริง  และ  ไม่ตรงประเด็น  เพราะว่า

ก.  ไม่ว่าจะมีคนยึดถือ  หรือไม่ยึดถือ   หรือไม่ก็ตาม   “อัตตา”  อันเป็นสภาวะของวิสังขาร   คือ
พระนิพพาน  และ  “อนัตตา”  อันเป็นสภาวะของ สังขารธรรม  ก็มีอยู่  โดยธรรมนิยาม   ธรรมฐิติ  อย่างนั้น  หาใช่ว่า  อัตตา  หรืออนัตตา  จะเกิดขึ้นเพราะความยึดถือของ  คนหรือสัตว์ไม่

ข.  ความยึดถือ   (คหณํ)  เป็นประเด็นเรื่องของความคิดเห็น   (ทิฏิฐิ)  ในสภาวธรรม หาใช่เป็นสภาวธรรมเองไม่
 ความยึดกับสภาวธรรมเป็นคนละเรื่อง  คนละประเด็นโดยแท้


แต่ความยึดถือหรือความเห็นสภาวะในธรรมทั้งหลายทั้งปวงใด  จะ “ผิด”   เป็นมิจฉาทิฏฐิ  หรือจะ  “ถูก”  เป็นสัมมาทิฏฐิ  นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นหนึ่ง  เป็นต้นว่า

ข. ๑ ผู้ใดยึดถือหรือมีความเห็นในสภาวะของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่ไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)   ว่าไม่เที่ยง   ที่เป็นทุกข์   (ทุกฺขํ)   ว่าเป็นทุกข์   ที่เป็นอนัตตา  (อนตฺตา)   ว่ามิใช่ตัวตน  ตามที่เป็นจริง   ผู้นั้นเป็นผู้ยึดถือหรือมีความเห็น  “ถูก”เป็น  “สัมมาทิฏฐิ”


แต่ผู้ใดยึดถือหรือมีความเห็นในสภาวะของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่ไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)   ว่าเที่ยง   ที่เป็นทุกข์   (ทุกฺขํ)   ว่าเป็นสุข  ที่เป็นอนัตตา   (อนตฺตา)ว่าเป็นตัวตน   บุคคล  เรา  เขา   ของเรา  ของเขา  อันผิดจากสภาวะของธรรมชาติ  ตามที่เป็นจริง   ผู้นั้นแหละยึดถือ  หรือ มีความเห็น “ผิด”   ชื่อว่า   “อัตตานุทิฏฐิ”  เป็น  มิจฉาทิฏฐิ”


แต่สังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวง   ซึ่งมีสภาวะตามที่เป็นจริง  โดยธรรมฐิติ  ธรรมนิยามอย่างไร   ก็เป็นอยู่อย่างนั้น   ไม่เกี่ยวด้วยว่า   ใครจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ  และแม้จะมีผู้ยึดถือหรือมีความเห็นว่าเป็นอัตตาหรืออนัตตาก็ตาม  สังขารธรรมทั้งปวงเหล่านั้นก็มีสภาวะตามที่เป็นจริง  คือ เป็นอนัตตาอยู่นั่นแหละ   หาใช่ว่า  “เมื่อมีความยึด  จึงเกิดเป็นอัตตาขึ้น” ไม่   ดังตัวอย่างคำถาม-คำตอบ  ให้เห็นสัจธรรมข้อนี้   ดังต่อไปนี้

ถามว่า  สังขารธรรม  ทั้งหลาย ทั้งปวง  หรือธรรมที่เป็นไปในภูมิ  ๓   มีเบญจขันธ์เป็นต้น   เป็นสภาพเที่ยง  หรือไม่เที่ยง ?

ตอบว่า ไม่เที่ยง

ถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุข?

ตอบว่า เป็นทุกข์
 คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน

ถามว่า สิ่งใดเป็นทุกข์   สิ่งนั้นเป็นตัวตน  (อัตตา) หรือมิใช่ตัวตน  (อนัตตา) ล่ะ ?

ตอบว่า มิใช่ตัวตน  (อนัตตา)

ถามว่า เพราะเหตุไร  สังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นอนัตตา?

ตอบว่า เพราะแย้งต่ออัตตา  และเป็นธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจว่า ธรรมทั้งปวงเหล่านี้จงอย่าแก่  อย่าเจ็บ   อย่าตายเลย



นี้แสดงว่า  สังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา  โดยธรรมฐิติธรรมนิยามโดยแท้   หาได้เป็นอนัตตาตามความยึดถือ   หรือไม่ยึดถือของใครไม่ความยึดถือของคนว่า   สังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นอัตตา หรือ อนัตตานั้น ก็เพียงแต่ว่าเป็นความยึดถือหรือความเห็นที่ถูกเป็นสัมมาทิฏฐิหรือเป็นความยึดถือผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเท่านั้นเอง

ข. ๒  ผู้ใดยึดถือหรือมีความเห็นในสภาวธรรมที่เที่ยง   (นิจฺจํ)   ว่า  เที่ยงที่เป็นบรมสุข  (ปรมํ  สุขํ)   ว่าเป็นบรมสุข   ที่เป็นตัวตนวิมุตติ   (อตฺตาวิมุตฺติ)ว่าเป็นตัวตน  ซึ่งมีอยู่ตามที่เป็นจริงอย่างไร  ผู้นั้นแหละเป็นผู้มีความยึดถือ หรือมีความเห็น  “ถูก”  เป็น “สัมมาทิฏฐิ”


แต่ผู้ใดยึดถือหรือมีความเห็นในสภาวธรรมที่เที่ยง  ว่าไม่เที่ยง  ที่เป็นบรมสุข  ว่าเป็นทุกข์  ที่เป็นตัวตนวิมุตติ   ว่ามิใช่ตัวตน  (อนตฺตา)  ซึ่งมีอยู่ตามที่เป็นจริงอย่างไร  ผู้นั้นแหละที่มีความยึดถือ   หรือมีความเห็น “ผิด”  เป็น  “มิจฉาทิฏฐิ”


แต่  วิสังขาร   คือพระนิพพาน  จะมีสภาวะตามที่เป็นจริงอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น  ใครจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ   หรือ แม้ใครจะยึดถือหรือมีความเห็นว่าเป็นอัตตา  หรือว่าเป็นอนัตตาก็ตาม  สภาวะของวิสังขาร คือ  พระนิพพานก็เป็นอมตธรรม  ตามที่เป็นอยู่จริง   กล่าวคือเที่ยง  เป็นบรมสุข   ยั่งยืนเป็นตัวตนวิมุตติ  อยู่นั่นแหละ   หาใช่ว่า   “เมื่อมีความยึดถือ  (พระนิพพาน) จึงเกิดเป็นอัตตา   เมื่อไม่มีความยึดถือ  อัตตาก็ไม่มี”  ไม่  จะเห็นสัจธรรมนี้จาก ตัวอย่างคำถาม-คำตอบ  ดังต่อไปนี้


ถามว่า  วิสังขาร  คือ  พระนิพพาน   เป็นสภาพเที่ยง หรือไม่เที่ยง?  

ตอบว่า  เป็นสภาพเที่ยง  (นิจฺจภาวโต)

ถามว่า  ธรรมใดเป็นสภาพเที่ยง ธรรมนั้นเป็นทุกข์   หรือเป็นสุข?

ตอบว่า  เป็นบรมสุข  (ปรมํ  สุขํ)

ถามว่า  ธรรมใดเป็นบรมสุข  ธรรมนั้นเป็นอัตตาหรือ  อนัตตาเล่า?

ตอบว่า  เป็นอัตตาวิมุตติ  (อตฺตาวิมุตติ)  แน่นอน

ถามว่า  เพราะเหตุใด  วิสังขาร  คือพระนิพพาน  จึงเป็น  อัตตา  วิมุตติ?

ตอบว่า  เพราะแย้งต่ออนัตตา  และเป็นธรรมที่อยู่ในอำนาจว่า  พระนิพพานธรรมนี้ไม่ต้อง
เกิด   จึงไม่ต้องแก่  ไม่ต้องเจ็บ  และไม่ต้องตาย  เป็นอมตธรรม (อมตํ  ปทํ )   เป็นธรรมประเสริฐ   (เสฏฐภาวโต)   เป็นธรรมสาระ (ธมฺมสารํ)



เพราะฉะนั้น  ใครจะยึดถือ  (คหณํ)  หรือมีความเห็น (ทิฏฐํ)  ว่าวิสังขาร คือ  พระนิพพาน   เป็นอนัตตาหรืออัตตา  หรือว่า   ไม่ยึดมั่นถือมั่น   (อุปาทาน)  อะไร  ๆ  เลย  อย่างเช่นพระอรหันตขีณาสพ   ผู้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานแล้ว  ซึ่งท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น  (อุปาทาน)  อะไร  ๆ   เลยแม้พระนิพพาน    พระนิพพานของท่านก็เป็นอัตตาวิมุตติอยู่นั่นเอง

ความยึดถือหรือความเห็น  ว่าพระนิพพานเป็นอนัตตาหรืออัตตาก็เป็นแต่เพียงความยึดถือถูกหรือผิด     เป็นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิเท่านั้น  ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง   หาใช่เป็นเหตุให้วิสังขารคือพระนิพพาน  เป็นอนัตตาหรืออัตตา  ไม่


จึงสรุปว่า  
ใครจะมีความยึดถือ  (คหณํ)  หรือความเห็น (ทิฏฐิ)  ผิดหรือถูกอย่างไร  ก็ไม่เกี่ยวกับสภาวธรรมที่เป็นจริง   โดยธรรมฐิติ  ธรรมนิยาม  แต่อย่างใด

ความยึดถือหรือความเห็น  (ทิฏฐิ)  ของคน  จึงไม่เป็นเหตุให้สภาวธรรม  (ที่เป็น  อัตตา  หรือ อนัตตา)  แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่จริงแต่ประการใด




หมายเลขบันทึก: 215739เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มองเห็นทุกข์อย่าง เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลง ยึดถือไม่ได้ และว่างเปล่าจากตัวตน

แต่การที่เราจะมองเห็นสิ่งนี้ได้ต้องเกิดจากปัญญาในการปฏิบัติฝึกสติ

เมือ่เรามองทุกข์อย่างนี้เห็นตามความเป้นจริงด้วยปัญญา โรคภัยไข้เจ็บในตัวเรา ก็จะไม่มี หรือ หายได้

หากท่านได้รับความเจ็บปวดจากโรคภัยต่างๆ ไปฝึกสติ เพือ่รักษาโรค.....ฟรี ได้ที่

สำนักแม่พลอย อ. สิงหนคร จ. สงขลา

ดิฉันไปฝึกมาแล้วจึงมาบอกเป้นวิทยาทาน

กี้ [email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท