นรก - สวรรค์ อธิบายอย่างไร...?


นรก - สวรรค์ อธิบายอย่างไร...?

นรก - สวรรค์  พูดถึงบ่อยมากในพระไตรปิฎก  บ่อยเสียจนไม่น่าคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือพูดผ่านๆ เท่านั้น  แต่เป็นเรื่องที่ชี้ชัดว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องนี้จริง  ยืนยันเรื่องนี้จริง  แต่การพูดถึงนรก-สวรรค์ของพระองค์เป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ในแง่ที่ว่า  พระองค์มิได้ให้รายละเอียดชัดเจนสมกับที่พูดถึงบ่อย  ข้อความที่ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพระสูตรก็คือ


กายสฺส  เภทา  ปรมฺมรณา  สุคตึ  สคฺคํ  โลกํ  อุปปชฺชติ

หลังจากแตกกายทำลายขันธ์แล้ว  เขา(ผู้ทำดีแล้ว) ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์


กายสฺส  เภทา  ปรมฺมรณา  อปายํ  ทุคฺคตึ  วินิปาตํ    อุปปชฺชติ

หลังจากแตกกายทำลายขันธ์แล้ว  เขา(ผู้ทำชั่ว) ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ  วินิบาต  นรก


--> นรก - สวรรค์ อยู่ที่ไหน  มีสภาพอย่างไร  ไม่พูดถึง  จนทำให้คิดว่านรก - สวรรค์ นี้เป็น  "สภาวะทางจิต"  มากกว่านรก - สวรรค์ ที่เป็น  "กายภาพ"  แต่จะสรุปอย่างนี้โดยตรงก็ไม่ได้  เพราะมีบางสูตรที่กล่าวถึง นรก - สวรรค์  พอที่จะให้คิดว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ทาง "กายภาพ"  เช่น  


เล่มที่ ๒๔  ข้อ  ๘๙  พูดถึงพระโกกาลิกะ  สมุนพระเทวทัต  ตายไปตกปทุมนรก  เมื่อพระภิกษุทูลถามว่าอายุของสัตว์ในปทุมนรกนี้ยาวนานเท่าไร  ตรัสว่ายาวกว่านรกขุมอื่นๆ  แต่นานเท่าไรสุดจะนับได้ด้วยการคำนวณของมนุษย์  

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  บรรทัดที่ ๓๙๑๖ - ๔๐๐๙.  หน้าที่  ๑๖๙ - ๑๗๓.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=3916&Z=4009&pagebreak=0


เล่มที่  ๑๔  ข้อ ๔๗๓-๔๗๕  กล่าวถึงนายนิริยบาลทำโทษสัตว์นรก  เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน  โดยบอกว่า  นรกมี "สี่มุม  สี่ประตู  แบ่งส่วนเท่ากันมีกำแพงเหล็กล้อมรอบ  ข้างบนครอบด้วยแผ่นเหล็ก  พื้นเป็นเหล็กลุกเป็นไฟ  กว้าง  ยาวร้อยโยชน์"
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  บรรทัดที่ ๖๔๑๗ - ๖๔๔๘.  หน้าที่  ๒๗๑ - ๒๗๒.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6417&Z=6448&pagebreak=0


เล่มที่ ๒๘  ข้อ ๙๒  ระบุชื่อ  นรกมี  ๘ ขุม  เล่มนี้ให้รายละเอียดมากกว่าในที่อื่น  คือ  ระบุคนทำบาปชนิดไหนจะได้รับโทษทัณฑ์ในนรกชนิดไหน
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘  บรรทัดที่ ๖๒๐ - ๗๑๘.  หน้าที่  ๒๕ - ๒๙.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=620&Z=718&pagebreak=0


เล่มที่ ๑๔  ข้อ  ๕๑๒ - ๕๒๓  เล่าว่าคนตายจะถูกยมบาลถามว่าเวลาเห็นคน เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  แล้วคิดว่าวันหนึ่งตนก็จะเป็นเช่นนั้น  แล้วคิดทำบุญหรือไม่  ถ้าตอบว่าไม่ก็จะถูกทำโทษต่างๆ ในนรก
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  บรรทัดที่ ๖๗๕๕ - ๖๗๗๓.  หน้าที่  ๒๘๕.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6755&Z=6773&pagebreak=0
 เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  บรรทัดที่ ๖๘๓๗ - ๖๘๘๒.  หน้าที่  ๒๘๘ - ๒๙๐.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6837&Z=6882&pagebreak=0


จากพระสูตรต่างๆ ที่ยกมาพอจะประมวลได้ว่า  นรก - สวรรค์  น่าจะมีอยู่จริงในแง่  "กายภาพ"  


--> ส่วนในแง่นามธรรมหรือสภาวะทางจิตนั้น  มีปรากฏในเล่มที่ ๑๐  ข้อ ๙๑  พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้พระภิกษุดูว่า  "ถ้าใครยังไม่เคยเห็นเทวดาชั้นดาวดึงส์  ก็ให้ดูพวกลิจฉวีนี่แหละ"  เท่ากับบอกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยมีความสุขเต็มที่  เช่น  พวกเจ้าลิจฉวี  นั้นก็คือสภาวะที่เรียกว่า  ชาวสวรรค์  หรือผู้เกิดในสวรรค์


ส่วนเรื่องของเทวดาที่เป็นเทวดาจริงๆ ที่มีอยู่ในสวรรค์นั้น  มีตรัสมากมายในพระไตรปิฎก   และเทวดาชั้นต่างๆ มักมาเฝ้าพระพุทธเจ้า  ส่วนมากจะมาด้วยเหตุ ๒ ประการ  คือ  ไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อีกอย่างหนึ่ง  ตนคิดคำสุภาษิตหรือคติธรรมอะไรได้  ก็ไปกล่าวต่อพระพักตร์  ทำนองขอความเห็นจากพระพุทธเจ้า  ถ้าพระองค์เห็นว่าเหมาะสมแล้วก็จะตรัสรับรอง  ถ้าทรงเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์  ก็จะตรัสที่ถูกต้องให้ฟัง  
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  บรรทัดที่ ๓ - ๒๙.  หน้าที่  ๑ - ๒.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=3&Z=29&pagebreak=0


--->>  ในเล่มที่ ๑๘  ข้อ ๒๑๔  พะพุทธองค์ตรัสว่า  พระองค์ทรงเห็นนรกชื่อ  "ฉผัสสายตนิกะ"  กับสวรรค์ชื่อ  "ฉผัสสายตนิกะ"  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ของคนเรานี่แหละคือนรกและสวรรค์  ขณะใดที่เห็น รูป  ได้ยินเสียง...อันน่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  น่าเพลิดเพลินเจริญใจ  ก็เรียกว่า  "ขึ้นสวรรค์"  ขณะใดที่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  กระทบรูป  เสียง  กลิ่น  รส  ผัสสะ  และมโนภาพที่ไม่น่าปรารถนา  ไม่น่าพอใจ  มีแต่ความทุกข์ร้อนใจ  ขณะนั้นเรียกว่า  "ตกนรก"
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  บรรทัดที่ ๓๒๕๓ - ๓๒๖๔.  หน้าที่  ๑๔๐.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=3253&Z=3264&pagebreak=0



--->>>  สรุป  นรก - สวรรค์ ในพระไตรปิฎก  สามารถตีความได้ทั้ง  ๒  นัย  คือ

นรก - สวรรค์ ทาง  "กายภาพ"  และ  นรก - สวรรค์  "สภาวะทางจิต"

โดยนัยนี้จะพูดว่า  "สวรรค์ในอก  นรกในใจ"  ก็ถูก  หรือพูดว่า  สวรรค์ - นรก  เป็นภพภูมิหนึ่ง  โดยเฉพาะก็ถูกเช่นกัน  


ถ้ายังไม่เห็นด้วยตนเองก็ไม่ต้องเถียงกัน  เมื่อใดประจักษ์ด้วยญาณอันเป็นปัจจัตตังแล้ว  ปัญหาจะหมดไปเอง  การทะเลาะทุ่มเถียงกันก็จะหมดไปโดยอัตโนมัติ

หมายเลขบันทึก: 215741เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท