นรก – สวรรค์ สำคัญอย่างไร ?


นรก – สวรรค์ สำคัญอย่างไร ? 

โดยทั่วไป  คนส่วนใหญ่รู้เรื่อง  นรก – สวรรค์  จากคำบอกเล่าสืบๆ กันมา  หรือแม้คนบางคนจะได้ศึกษาเรื่อง  นรก – สวรรค์  จากคัมภีร์โดยตรงก็ตาม  แต่บางครั้งบางคราวก็อดที่จะเกิดความเคลือบแคลงสงสัยไม่ได้  ทั้งนี้ก็เพราะพื้นความรู้ที่เป็นหลักวิชาเบื้องต้นไม่ได้เรียนรู้กันมาก่อน  หรือบางคนแม้จะเคยเรียนรู้มาแล้วก็ตาม  แต่เพราะเรียนรู้มาไม่ละเอียด  ไม่รู้หลักวิชาอย่างแจ่มแจ้ง  

ด้วยเหตุนี้แหละ  ผู้รู้ทั้งหลายที่เป็นพระและฆราวาส ทั้งที่เคยบวชเรียนมา  บางคนได้เป็นมหาเปรียญสูงๆ แต่ก็อดที่จะสงสัยในเรื่อง นรก – สวรรค์ ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไม่ได้  บางคนถึงกับบอกว่า  เขาไม่เชื่อเรื่องนรก – สวรรค์ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นั้นๆ เลย  โดยให้เหตุผลว่า  เรื่องนี้ความจริงพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสไว้  คนอื่นเขียนขึ้นในภายหลังทั้งสิ้น  แต่ผู้รู้บางท่านก็ยอมรับว่า นรก – สวรรค์  มีจริง  แต่ก็ยืนยันว่า  นรก – สวรรค์  ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็น  นรก – สวรรค์  ในโลกมนุษย์นี้เท่านั้น  ไม่ใช่ นรก – สวรรค์  ในชาติหน้าหลังจากที่ตายไปแล้ว  แล้วก็อ้างพุทธพจน์ที่กล่าวถึง นรก – สวรรค์  ในโลกนี้   ซึ่งความจริงก็ถูก  แต่มันก็ผิดตรงที่ว่า  ท่านไม่พูดถึง นรก – สวรรค์  ในชาติหน้า  ซึ่งมีอยู่ในโลกของโอปปาติกะ(กายละเอียด)  ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้เหมือนกัน  



ฉะนั้น  การที่รู้อะไรไม่รอบคอบ  รู้ไม่ทั่วถึง  เจาะจงเอาเฉพาะแต่เรื่องที่เข้ากันได้กับความเห็นของตน  ส่วนเรื่องที่ขัดแย้งกับความเห็นหรือความเชื่อของตนทั้งที่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้  แต่ก็ตัดออกไม่ยอมพูดถึงนั้น  ซึ่งถ้าผู้ที่พูดนี้เป็นนักปราชญ์เป็นผู้ที่คนส่วนมากยอมรับ  และเชื่อถือเสมือนเป็นศาสดาองค์หนึ่ง  ถ้าเป็นอย่างนี้ก็นับว่าเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง  ตนเองเป็นผู้หลงผิด  แล้วยังชักจูงคนอื่นให้หลงผิดอีกเป็นจำนวนมาก  บุคคลเช่นนี้ไม่ใช่จะมีเฉพาะแต่ในสมัยครั้งพุทธกาลเท่านั้น  ในปัจจุบันก็มีเหมือนกัน  เพราะถ้าไม่เคยมีแล้วพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสถึง  จะแตกต่างกันก็แต่เพียงผู้รู้บางคนมีความหลงผิดเป็นบางข้อ  บางคนก็อาจจะหลงผิดทั้งหมด  ขอให้ศึกษาถึงเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง  ข้อความที่ว่านี้  คือพุทธพจน์  ในอปัณณกสูตร  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้  ดังนี้  



“ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย  มีอยู่  สมณพรหามณ์บางพวกมีวาทะอย่างนี้  มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  :-


๑.    นตฺถิ  ทินฺนํ   ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

๒.    นตฺถิ  ยิฏฐํ    การบูชาไม่มีผล

๓.    นตฺถิ  หุตํ      การเคารพบูชาไม่มีผล

๔.    นตฺถิ  สุกฎทุกฺกฏานํ  กมฺมานํ  ผลํ  วิปาโก  ผลและวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี

๕.    นตฺถิ  อยํ  โลโก  โลกนี้ไม่มี (คือเห็นว่าสัตว์ในโลกอื่นมาเกิดในโลกนี้ไม่ได้  เพราะตายแล้วสูญ)

๖.     นตฺถิ  ปโร  โลโก  โลกอื่นไม่มี (คือเห็นว่าสัตว์ในโลกนี้  ไปเกิดในโลกอื่นไม่ได้  เพราะตายแล้วสูญ)

๗.    นตฺถิ  มาตา    คุณของมารดาไม่มี

๘.    นตฺถิ  ปิตา     คุณของบิดาไม่มี

๙.     นตฺถิ  โอปปาติกา  พวกโอปปาติกะไม่มี

๑๐.นตฺถิ  สมณพฺราหฺณา  สมฺมคฺคตา  สมฺมาปฏิปนฺนา  เย  อิมญฺจ  โลกํ  ปรญฺจ  โลกํ  สยํ  อภิญฺญา  สจฺฉิกตวา  ปเวเทนฺติ 
สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง(คือบรรลุอภิญญา  มรรคผลและนิพพาน)  กระทำให้แจ้งด้วยตนเอง  ซึ่งโลกนี้  และโลกอื่นด้วยอภิญญา  แล้วประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มี (คือเห็นว่า  ผู้ที่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ไม่มีหรือผู้ที่สำเร็จอภิญญาสามารถที่จะรู้เรื่องนรก-สวรรค์และสามารถที่จะมีหูทิพย์ตาทิพย์  เห็นเจรจาติดต่อกับโอปปาติกะได้  และมีอิทธิปาฏิหาริย์อื่นๆ ไม่มี  เพราะผิดวิสัยธรรมชาติ)



ดูกรท่านคฤหบดีทั้งหลาย  สมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้  สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันหวังได้ว่า  จะต้องเบื่อหน่ายในกุศลธรรม ๓ คือ  กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต  และจะยึดถือปฏิบัติอยู่แต่ในอกุศลธรรม ๓ คือ  กายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?  ก็เพราะสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น  ไม่เห็นโทษไม่เห็นความต่ำทราม  ไม่เห็นความเศร้าหมองของอกุศลธรรมทั้งหลาย  ไม่เห็นคุณค่าแห่งความบริสุทธิ์ของกุศลธรรมทั้งหลาย  ก็ปรโลกมีอยู่แท้ๆ เขากลับมีความเห็นว่าปรโลกไม่มี  ฉะนั้นความเห็นของเขาจึงจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ความคิดของเขาก็จัดเป็นมิจฉาสังกัปปะ  ปรโลกมีอยู่แท้ๆ แต่เขากลับพูดว่า ปรโลกไม่มี  ฉะนั้น  คำพูดของเขาจึงเป็นมิจฉาวาจา



อนึ่ง  พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าปรโลกมีอยู่  ฉะนั้นผู้ที่ถือว่า  ปรโลกไม่มีจึงได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ทั้งหลายอีกด้วย  ในเมื่อตนเองถือเช่นนั้นและสอนให้คนอื่นเชื่อตาม  จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกาศอสัทธรรม  และด้วยอสัทธรรมที่ตนเองประกาศออกมาเช่นนั้น  ย่อมจะเป็นเหตุให้ยกตนข่มคนอื่นอีกด้วย (อสัทธรรมไม่คงทนต่อการพิสูจน์  และผู้ประกาศอสัทธรรมใจย่อมไม่สูง  ฉะนั้นเมื่อถูกคัดค้านก็มักจะใช้วิธีข่มผู้อื่น  เพื่อเอาชนะ)  และย่อมละศีลได้ง่าย  ประพฤติอยู่แต่ในทางทุศีล  ดูกร คฤหบดีทั้งหลาย   เพราะอาศัยมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย  ย่อมก่อให้เกิดอกุศลธรรมไม่น้อยทีเดียว



อนึ่ง  ในเรื่องปรโลกนี้  ท่านคฤหบดีทั้งหลาย  สำหรับคนที่ฉลาดทั้งหลาย  เขาย่อมคิดว่า  ถ้าหากปรโลกไม่มี  คนที่ทำบาปไว้ก็นับว่าปลอดภัยไป  แต่ถ้าหากปรโลกมีจริง  คนที่ทำบาปไว้  ตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก  หรือถึงแม้จะไม่พูดถึงเรื่องปรโลก  แต่คนที่มีความเห็นผิดและเป็นผู้ทุศีล  ก็ย่อมจะถูกวิญญูชนติเตียนในโลกนี้เอง  เพราะฉะนั้นคนที่มีความเห็นผิดจึงต้องประสบผลร้ายถึง ๒ ทาง  คือถูกติเตียนในโลกนี้และเมื่อตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก  อีกด้วย
:- อปัณณกสูตร  ม.ม. ๑๓/๑๐๑-๑๐๒

ขอให้สังเกตให้ดีว่า  ในปัจจุบันคนที่มีความเห็นผิดตามในพระสูตรนี้ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน  โดยเฉพาะข้อที่ ๙  ที่กล่าวว่า  “ผู้ที่ไม่เชื่อว่า  โอปปาติกะมี”  นับว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ร้ายแรง  เพราะผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิข้อนี้จะไม่มีทางเข้าใจหรือยอมรับว่า  คนเราตายแล้วจะต้องเกิดอีก  และเมื่อไม่ยอมรับหรือไม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็ไม่อาจจะเข้าใจเรื่อง  “วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป”  ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในอันที่จะทำให้เข้าใจ  และยอมรับในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  เรื่องกฎแห่งกรรม  และที่สำคัญที่สุดก็คือ  เมื่อไม่รู้แจ้งว่า  “วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป”  ก็ไม่มีทางจะรู้แจ้งอริยสัจได้  ไม่มีทางที่จะเอาชนะกิเลส  ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้เลย  เพราะฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องโอปปาติกะ(กายละเอียด) จนกระทั้งเข้าใจดีและเข้าใจถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้  จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  “ผู้ที่ไม่เชื่อว่า  โอปปาติกะมี  จึงนับว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ร้ายแรงมาก”



นรก – สวรรค์  ตามหลักของพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง  คือ  นรก – สวรรค์ ในโลกนี้  และ นรก – สวรรค์ ในโลกหน้า  คือในโลกของโอปปาติกะ(กายละเอียด)  เพราะทุกคนที่ยังมีกิเลส  เมื่อตายแล้วจะต้องเกิดเป็นโอปปาติกะทันที  โลกของโอปปาติกะเป็นโลกที่ใหญ่กว่า  กว้างขวางกว่าโลกของมนุษย์หลายร้อยหลายพันเท่า  เพราะแม้แต่ในสถานที่ซึ่งไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เลย  แต่พวกโอปปาติกะก็อาศัยอยู่ได้  เช่น  ในท้องฟ้า  ในมหาสมุทร  ในแม่น้ำ  ตามภูเขา  ตามต้นไม้  พวกโอปปาติกะ(กายละเอียด)ก็อาศัยอยู่ได้  แม้กระทั่งในโลกอื่น  ในจักรวาลอื่น  เช่นโลกพระจันทร์ก็มีโอปปาติกะอยู่เป็นจำนวนมาก  อย่างนี้เป็นต้น

ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องหมั่นนึกไว้เสมอ  ก็คือ  ชีวิตทั้งหลายในสากลจักรวาลนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น  คือ กายเนื้อ(กายหยาบ)  กับกายทิพย์(กายละเอียด)  ซึ่งคำบาลีเรียกว่า  โอฬาริกรูป  คือกายหยาบ  และสุขุมรูป  คือกายละเอียด  คำว่า  กายทิพย์ (กายละเอียด)นั้นหมายถึง กายเทวดา  กายพรหม  กายอรูปพรหม  หรือแม้แต่พวกสัตว์นรก  เปรต  อสุรกาย  และพวกสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่เป็นพวกโอปปาติกะนั้น  ก็เรียกว่าพวกกายทิพย์(กายละเอียด)เหมือนกัน  


ทุกอย่างเกิดจากใจ สำคัญที่ใจ


คำว่า  “ใจ”  ในที่นี้หมายถึง  “จิต”  หรือ  “วิญญาณ”  หรือ  “มโน”  ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า


จิตฺเตน  นียติ  โลโก             จิตฺเตน  ปริกสฺสติ
จิตฺตัสฺส  เอกธมฺมสฺส            สพฺเพว  วสมนฺวคู

โลกหมุนไปตามจิต  วิวัฒนาการไปตามจิต  เพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามอำนาจของสิ่งๆ เดียว คือ  จิต



วิญฺญาณปจฺจยา     นามรูปํ

วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป



มโนปุพฺพงฺคมา  ธมฺมา  มโนเสฏฺฐา  มโนมยา

ใจเป็นใหญ่  ใจเป็นประธาน  ทุกอย่างสำเร็จแล้วด้วย  ใจ



พระพุทธเจ้าตรัสว่า  คนเราเกิดมาจากธาตุ ๖ คือ  ปฐวีธาตุ  อาโปธาตุ  เตโชธาตุ  วาโยธาตุ  อากาสธาตุ  และวิญญาณธาตุ  และธาตุทั้ง ๔ ข้างต้น  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  มหาภูตรูป ๔  และมหาภูตรูปนั้นมีอยู่ในลักษณะที่เป็นของหยาบ(โอฬาริกรูป)  และมีอยู่ในลักษณะที่เป็นรูปละเอียด (สุขุมรูป) พวกโอปปาติกะทั้งหลาย  รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในโลกของโอปปาติกะทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นมา  หรือประกอบขึ้นมาจากสุขุมรูป

อนึ่ง  ในโลกของโอปปาติกะก็มีธาตุทั้ง ๔  ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า  มหาภูตรูป  เหมือนกันกับธาตุทั้ง ๔ ในโลกมนุษย์  ต่างกันแต่เพียงว่าธาตุทั้ง ๔ ในโลกของโอปปาติกะเป็นธาตุที่ละเอียด  เป็นธาตุที่ตามนุษย์มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้



พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า   วิญฺญาณปจฺจยา     นามรูปํ  แปลว่า  วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามและรูป  และอีกแห่งหนึ่งพระองค์ตรัสว่า  “ดูก่อนอานนท์  ถ้าวิญญาณจักไม่ก้าวลงสู่ท้องของมารดา  นามรูปจะพึงเกิดในท้องของมารดาได้หรือ?”  พระอานนท์ก็ได้ทูลตอบว่า  “มิได้พระพุทธเจ้าข้า”  ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า  “เพราะเหตุนี้แล  เราตถาคตจึงได้กล่าวว่า  วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป”  



พระพุทธเจ้าทรงรู้จักวิญญาณ  ในฐานะเป็นสิ่งธรรมดาอย่างหนึ่ง  เช่นเดียวกับ  ดิน น้ำ ลม ไฟ  และการที่พระองค์ทรงเรียกสิ่งนี้ว่า  “วิญญาณ”  ก็เพราะบรรดาปรากฏการณ์ต่างๆ เท่าที่มีอยู่ในโลกนี้หรือในโลกไหนก็ตาม  มีอยู่สิ่งเดียวนี้เท่านั้น  ที่สามารถจะรู้สิ่งต่างๆ ได้  และสามารถที่จะมีปรากฏการณ์ต่างๆ ออกมาเป็นการเห็น  การได้ยิน  การรู้สึกกลิ่น  การรู้สึกรส  การรู้สึกสัมผัสและความนึกคิดต่างๆ ก็เพราะ วิญญาณ  ตาเห็น  ก็คือวิญญาณเห็น  หูได้ยิน ก็คือวิญญาณได้ยิน  จมูกรู้สึกกลิ่น ก็คือวิญญาณรู้สึกกลิ่น  ลิ้นรู้สึกรส ก็คือวิญญาณรู้สึกรส  กายรู้สึกสัมผัส ก็คือวิญญาณรู้สึกสัมผัส  สมองนึกคิดก็คือวิญญาณนึกคิด  คำว่า  วิญญาณมาจากคำว่า  วิ + ญาณ  วิ  แปลว่า  ต่างๆ  ญาณ  แปลว่า  รู้  และคำนี้  ถ้าจะเรียกให้เต็มก็เรียกว่า  วิญญาณธาตุ  ซึ่งแปลว่า  ธาตุที่สามารถจะรู้อะไรได้ต่างๆ



มีความเข้าใจผิดติดสันดานกันมานานแล้วว่า  วิญญาณก็คือ  “ผี”  ถ้าใครเห็นคนที่ตายไปแล้วมาปรากฏก็พูดกันว่าเห็น วิญญาณ  ซึ่งความจริงร่างที่มาปรากฏให้เห็นนั้น  พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเรียกว่า วิญญาณ  แต่ทรงเรียกว่า  โอปปาติกะ(กายละเอียด)

หมายเลขบันทึก: 215742เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท