การเกิดใหม่


การเกิดใหม่

คำว่า “ การเกิดใหม่”  นี้  ในหลักพุทธธรรมขั้นปรมัตถ์ไม่มี   แต่มีในการสื่อความหมายของคนทั่วไป  เพราะหากมีการเกิดใหม่  ก็จะต้องมีการตาย  จึงมีคำถามว่า  คำว่า  คนตายหมายถึงอะไรตาย?  คนตายแล้วเกิดหรือไม่?   ถ้าตอบว่าไม่เกิด (ขาดสูญ)   ก็จบลงแค่นั้น แต่ถ้าตอบว่า  คนตายแล้วเกิด  จึงถามต่อไปอีกว่า  อะไรไปเกิด?  ฯลฯ

การตอบคำถามที่ยกมาข้างต้น  หากตอบตามหลักพุทธธรรมก็ตอบได้หลายนัย  

คือ  ตายแล้วเกิด  หมายถึง  กระบวนการที่มีการอิงอาศัยกันเกิดของเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาทเมื่อไม่มีการดับเหตุปัจจัยตัวใดตัวหนึ่ง   มันก็จะหมุนเวียนกันไปเป็นวงจรหรือวงเวียน  เรียกว่า  “วัฏฏะ  3”   คือ  เมื่อกิเลส  ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกรรม  เมื่อเกิดกรรม  (การกระทำ)  ก็จะต้องมีผลของกรรม  ครั้งครบหนึ่งรอบก็จะหมุนต่อไป  คือ  วิบาก  (ผลของกรรม)  ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสอีก  เป็นการเกิดใหม่  ในหลักพุทธธรรมที่แท้นั้นมิใช่วิญญาณล่องลอยจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดในร่างใหม่  ซึ่งหมายถึงชาติใหม่   แต่วิญญาณในพุทธธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดดับได้   ซึ่งมันเป็นอนัตตา  คือ  วิญญาณ  ก็มิใช่ตัวตนที่ถาวร   หรือไม่มีตัวคนเที่ยงแท้   การเกิดใหม่จึงมิใช่วิญญาณเดิมที่ออกจากร่างเก่าแล้วไปอาศัยร่างใหม่ในชาติใหม่  แต่หมายถึง  วิญญาณมีการสืบต่อจากวิญญาณดวงหนึ่งไปเป็นวิญญาณอีกดวงหนึ่ง   เปรียบได้กับดวงเทียนเล่มหนึ่งมีเปลวไฟลุกอยู่  ต่อมาก็เอาเทียนอีกเล่มหนึ่งมาจุดไฟจากเทียนเล่มแรก   ไฟที่ได้มาจากเล่มเก่านั้นจะ  เรียกว่า  เป็นไฟดวงเก่าไม่ได้  มันก็เป็นไฟดวงใหม่  แต่อาศัยไฟดวงเก่า   แสงเทียนจากเล่มเก่ามาสู่เล่มใหม่

ก็เหมือนกับวิญญาณที่มีการสืบต่อจากเดิมไปสู่วิญญาณดวงใหม่   เหมือนกับพ่อแม่สร้างบุตรธิดา  พ่อแม่ก็ต้องให้เลือดเนื้ออันเป็นร่างกายและให้วิญญาณอันเป็นส่วนของจิตใจจึงเป็นไปตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท  หรือหลักวัฏฏะ 3  คือ  กิเลส  กรรม  วิบาก  


ดังนั้น  การเกิด หรือการตาย (ดับ)   นั้นก็อยู่กับเหตุปัจจัย  เมื่อยังมีเหตุมีปัจจัยก็มีการเกิด  ครั้นสิ้นเหตุปัจจัยก็ตายหรือดับไป  เช่น  หากสามารถดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง      ก็จะไม่มีกรรม    เมื่อไม่มีกรรมก็ไม่มี วิบาก (คือผลของกรรม)   เพราะปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งดับ  ปัจจัยอื่นก็ดับ  เปรียบได้กับกองไฟการที่จะเกิดเป็นกองไฟที่ลุกโซนได้ก็ต้องอาศัยปัจจัย 3  ประการ  คือ  (1)  เชื้อเพลิง (2)  ออกซิเจน และ  (3)  ความร้อน  ถ้าปัจจัยทั้ง  3  นี้มารวมกันเมื่อใด ก็เกิดเป็นกองไฟได้  และก็จะต้องลุกไหม้ต่อไป  หากปัจจัยทั้ง  3  ยังมีอยู่  ถ้าต้องการที่จะดับไฟก็ต้องกำจัดหรือตัดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป  เช่น  ไม่ใส่เชื้อเพลิงเพิ่ม   หรือเอาถังมาครอบกองไฟเพื่อไม่ให้มีออกซิเจน  เมื่อแยกเอาปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือปัจจัยทั้งสามออกจากกัน  ก็จะไม่มีไฟลุกไหม้อีกต่อไป  

ในเรื่องการเกิดหรือการตายของชีวิตมนุษย์ก็เช่นเดียวกับกองไฟนี้  เมื่อมีการประกอบกันของส่วนประกอบสำคัญ  5  ส่วน  คือ  รูปขันธ์  เวทนาขันธ์   สัญญาขันธ์   สังขารขันธ์  และวิญญาณขันธ์  ก็จะเรียกชีวิตหรือ คน  เราใช้ภาษาเป็นสื่อให้เข้าใจกันว่า  “เกิด” เมื่อส่วนประกอบทั้ง  5  ส่วนเหล่านี้ประกอบกันเข้าแล้ว  ก็ทำหน้าที่ควบคุมกันไปได้ระยะหนึ่งเท่านั้น   ในที่สุดส่วนประกอบเหล่านั้นก็จะแยกออกจากกัน   ไม่มีตัวตนเหลือให้เห็นต่อไป  ซึ่งเราใช้ภาษาเป็นสื่อให้เข้าใจว่า  คือ   “ตาย”

ดังนั้น  คำตอบที่ว่าตายแล้วเกิด   จึงหมายเอากระบวนการช่วงหนึ่งที่มีการสืบต่อกันไปเหมือนกับไฟที่ยังไม่สิ้นเชื้อ   ก็จะลุกไหม้ต่อไป  คำตอบอีกอย่างหนึ่งคือตายแล้วไม่เกิดอีก  ก็หมายถึง  การตัดวงจรคือตัดเหตุปัจจัยช่วงใดช่วงหนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง  ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะสืบต่ออีกต่อไป  เช่น  ตัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง  ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยช่วงหนึ่งเสีย  กรรมก็จะไม่มี  ไม่เกิดขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง  หยุดไว้แค่ผัสสะ  (การสัมผัส)  ไม่ให้เวทนา (ความรู้สึก) เกิดขึ้น ก็จะไม่เกิดเหตุปัจจัย  ตัวอื่น ๆ  ต่อไป  เมื่อตัดได้แล้วจิตก็เป็นสมาธิ  เมื่อจิตสงบก็สามารถจะพิจารณาสิ่งต่างๆ  ได้อย่างถูกต้อง  ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา  เมื่อจิตสงบจากกิเลส  ตัณหา  อวิชชา  อุปาทานแล้วก็เข้าสู่ภาวะแห่งนิพพาน  คือ  ดับสนิท  หมายถึง  ดับเพลิงกิเลส  อันเป็นกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิงไม่เกิดอีก  เปรียบได้กับไฟที่สิ้นเชื้อ  (เพลิง)  แล้วก็ดับลง

จึงสรุปได้ว่า  การเกิดใหม่  คือ  กระบวนการเปลี่ยนแปลงติดต่อกันไปเรื่อย ๆ  แห่งปรากฏการณ์ของนามรูป  การตาย   คือ  การยุติกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ติดต่อกันแห่งปรากฏการณ์ของนามรูป


หลักคิดบางประการเกี่ยวกับการเกิดใหม่

-->> ตามทัศนะทางพุทธศาสนานั้น  หาได้มีชีวิตหลังจากการตายแล้ว  หรือชีวิตก่อนการเกิดที่อิสระจากกรรมหรือการกระทำที่มีเจตนาอย่างใดไม่  กรรมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดใหม่  และอีกนัยหนึ่ง  การเกิดใหม่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรม

การเกิดย่อมมาก่อนการตาย  และในทางตรงกันข้าม  การตายก็มาก่อนการเกิด  ทั้งสองอย่างนี้ติดตามเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการขาดห้วง   เพราะฉะนั้น  จะไม่มีดวงวิญญาณหรืออัตตาที่ถาวร   หรือเอกลักษณ์ที่ตายตัวส่งผ่านต่อกันไปจากการเกิดหนหนึ่งกับการเกิดอีกหนหนึ่ง   ถึงแม้ว่าคนเราจะประกอบขึ้นเป็นหน่วยหนึ่งของจิตใจกับร่างกายหรือนามกับรูป  แต่จิตใจหรือนามนั้น  ไม่ใช่ดวงวิญญาณหรือตัวตนอันใดอันหนึ่งตามความหมายของเอกลักษณ์ที่ถาวรหรือเป็นนิรันดร์   หรือเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ทำขึ้นสำเร็จรูปและคงทนต่อไปก็ไม่มีทั้งสิ้น   แต่มันเป็นเพียงพลังอันหนึ่ง   ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง   และสามารถเก็บรักษาความทรงจำต่าง ๆ  ไม่แต่เพียงชีวิตนี้เท่านั้น   แต่รวมถึงชีวิตในชาติก่อน ๆ  ด้วย

ตามแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์  รูปหรือสสาร  ก็คือ  พลังงานในภาวะการกดดัน   ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง   โดยไม่ได้เปลี่ยนสาระสำคัญที่เป็นจริง   ตามแนวความคิดของนักจิตวิทยา  จิตใจย่อมเป็นเอกลักษณ์ที่ตายตัว   เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเน้นว่า   สิ่งที่เรียกว่า   สิ่งมีชีวิตหรือบุคคลนั้นเป็นเพียงสังเคราะห์กรรมของร่างกายกับพลังจิต  หรือพลังงานซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโดยต่อเนื่องตลอดเวลาเท่านั้น   ก็หมายความว่า  พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบความจริงมาก่อนวิทยาศาสตร์เสียอีก   หรือแม้แต่จิตวิทยาสมัยใหม่ก็มีขึ้นหลังการค้นพบของพระองค์

วิลเลียม  เจมส์  เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า…

“สิ่งที่เป็นตัวข้าพเจ้านี้  เป็นสิริรวมของสรรพสิ่งที่เป็นจริง  และเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วโดยรูปธรรม   แต่ตัวข้าพเจ้าซึ่งก็รู้จักสิ่งต่าง ๆ   เหล่านั้นเป็นอย่างดี  หาสามารถจะนับตัวเองว่ารวมอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้ไม่   และสำหรับในแง่ความมุ่งหมายทางด้านจิตวิทยาแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะถือว่าตัวข้าพเจ้าเป็นรูปลักษณ์ทางด้านเมตาฟิสิกส์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับดวงวิญญาณ  หรือหลักการอื่นบางอย่าง  ดังเช่นเรื่องอัตตาที่บริสุทธิ์ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องคนละเวลากัน   แท้ที่จริงแล้ว   ตัวข้าพเจ้านี้ย่อมประกอบด้วยความคิดจิตใจซึ่งในขณะจิตหนึ่งย่อมจะแตกต่างไปจากดวงจิตที่ล่วงไปแล้ว  แต่มีความสอดคล้องเหมาะสมกับจิตที่ล่วงไปแล้วนั้น รวมทั้งกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ดวงจิตที่ ล่วงแล้วถือว่าเป็นของตน”
ฉะนั้น  การดำรงอยู่ของบุคคล  ก็เป็นเพียงการแปรเปลี่ยนที่สืบต่อกันตลอดเวลา  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   ไม่หลงเหลือเป็นสิ่งเดียวกันอยู่เลยในชั่วขณะจิตที่ต่อเนื่องกัน  กลไกของร่างกายและจิตใจนี้  ถึงแม้ว่าจะแปรเปลี่ยนไปโดยไม่หยุดนิ่ง  ก็ได้เป็นตัวก่อกำเนิดกระบวนการของร่างกายและจิตใจขึ้นมาใหม่ในทุกขณะจิต  ฉะนั้น  จึงยังคงรักษาศักยภาพสำหรับกระบวนการของกลไกลในอนาคตไว้เสมอ  และไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างขณะจิตหนึ่งกับขณะจิตต่อไปไว้เลย ชีวิตของเรานั้น  เรามีชีวิตอยู่และตายอยู่ทุกขณะจิตตลอดชีวิตของเรา  เป็นเพียงแต่เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปคล้ายกับลูกคลื่นทั้งหลายที่ซัดสาดอยู่ในท้องทะเล  ฉะนั้น

การเปลี่ยนแปลงของความต่อเนื่องตลอดเวลา  ซึ่งได้ติดตรึงกับเราในชีวิตนี้   หาได้หยุดลงเมื่อเราถึงแก่ความตายไม่   กระแสจิตยังคงสืบต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  ดังเช่นกระแสไฟฟ้าซึ่งยังคงทำหน้าที่อยู่ต่อไป   แม้ว่าหลอดไฟฟ้าจะเสียไป   และไม่บังเกิดแสงสว่างก็ตาม  เมื่อเราเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าดวงใหม่แทน   จะมีกำลังแรงเทียนมากหรือน้อยก็ตาม ก็จะเกิดมีแสงสว่างขึ้นใหม่อีก   กระแสจิตที่ไหลอยู่ตลอดเวลา   ที่มีศัพท์เรียกว่า   พลังแห่งกรรมบ้าง   เจตนารมณ์ความกระหาย  หรือความต้องการบ้าง   พลังอันมีอำนาจยิ่งนี้ได้เป็นตัวทำให้มีการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปฉะนั้น  กระแสของจิตสำนึกอันต่อเนื่องนี่เอง   ได้ดำเนินไปโดยไม่รู้จักจบสิ้น  ตราบใดที่ความทะยานอยาก  (ตัณหา)   ยังเป็นตัวก่อกำเนิดอยู่

-->> มติทางพุทธศาสนากล่าวว่า  ในระดับโลกิยธรรม  คนเราถ้ายังมีกิเลสอยู่แล้ว  ถูกพลังแห่งกิเลสนี้กระตุ้นหรือชักจูงที่เรียกว่า  เจตนา   หรือความตั้งใจ  จึงเกิดการกระทำที่เรียกว่า  กรรม  หากการกระทำที่เจือด้วยกิเลสอันเป็นพลังผลักดันแล้วย่อมจะต้องเกิดผล  คือ  วิบากอย่างแน่นอน  ทางพุทธศาสนาจึงเรียกกระบวนการนี้ว่า   วัฏฏะ  3  ซึ่งอธิบายเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างย่นย่อที่สุดแล้ว  นั่นคือ   อธิบายวงจรของกระบวนการแห่งชีวิต   3  จังหวะที่หมุนเป็นวงกลมได้แก่    กิเลส     กรรม         วิบาก    หากบุคคลไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด  ก็ต้องตัดกระแสอันเป็นวงจรแห่งกระบวนการเสีย  ท่านจึงสอนว่า  ควรจะตัดที่กิเลส  คือ  อวิชชา  ตัณหา  และอุปทานเสียเมื่อตัดได้อย่างเด็ดขาดแล้ว   กรรมและวิบากก็จะไม่มี  

ดังพุทธพจน์ตรัสเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทในท่อนที่แสดงการดับ (นิโรธวาร)   ว่า

“เมื่อสิ่งนี้ไม่มี  สิ่งนี้ก็ไม่มี  เพราะสิ่งนี้ดับไป  สิ่งนี้ก็ดับ  (ด้วย)”  หมายความว่า  เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือ  สังขารจึงดับ  ฯลฯ  เพราะชาติดับชรามรณะจึงดับ (ความเศร้าโศก  คร่ำครวญ  ทุกข์  โทมนัส  ความคับแค้นใจ  ก็ดับไปด้วย)  นี่คือหลักคำสอนเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของพุทธศาสนา  ซึ่งแสดงในระดับโลกิยธรรม  
ส่วนในระดับโลกุตตรธรรม   มติทางพุทธศาสนามิได้ระบุตัวตน  บุคคล  เรา  เขา  หรือกล่าวถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้แต่จะแสดงเป็นรวม  ๆ  ว่า  ทุกสิ่งมันเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่มันอิงอาศัยกันและกันเกิดและดับเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงติดต่อเชื่อมโยงกันไป   ตราบใดเหตุปัจจัยอาศัยกันและกันเกิดดับอยู่  กระบวนการก็ดำเนินต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด   ไม่อธิบายว่า  ใครเป็นผู้มีกิเลส  ใครเป็นผู้กระทำ (กรรม)  หรือใครเป็นผู้รับผลของกรรม (วิบาก)   แต่จะอธิบายว่า  ไม่มีใครเกิด   ไม่มีใครตายแต่จะมีก็เพียงเหตุปัจจัยที่อาศัยกันเกิด  และดับสืบต่อเชื่อมโยงกันไปเรื่อย ๆ  เท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 215779เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2013 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท