สังสารวัฏที่หาจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดไม่พบ


สังสารวัฏที่หาจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดไม่พบ
(อนมตัคคสังสาร)



เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวพุทธว่า  ชีวิตทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   ทุกชีวิตต้องดิ้นรนหาอาหารมาเพื่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดไปวันแล้ววันเล่า  ทุกชีวิตต่างแย่งชิงกันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด   ในสมรภูมิแห่งการแก่งแย่งนี้   ผู้ที่ร่างกายใหญ่กว่าฉลาดกว่าหรือปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า  ย่อมเอาชนะคู่แข่งได้และได้อาหารไปหล่อเลี้ยงชีวิตได้มากว่า



พระพุทธองค์ตรัสว่า  สรรพสัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร  ถ้าปราศจากอาหารแล้วสรรพสัตว์ก็ดำรงอยู่ไม่ได้



ดังนั้น  อาหารจึงเป็นปัจจัยหลักให้ทุกชีวิตต่างทนทุกข์ทรมานต่าง ๆ  เพื่อให้ได้อาหารมาหล่อเลี้ยงร่างกายของตนให้มีชีวิตอยู่ได้ไปวัน ๆ เหมือนน้ำมันที่หล่อเลี้ยงให้รถวิ่งเคลื่อนที่ไปได้แต่ละขณะฉันนั้น



ในส่วนของสัตว์ทั้งหลายนั้น  นอกจากจะหาอาหารมาหล่อเลี้ยงร่างกายเพียงอย่างเดียวแล้วยังไม่เพียงพอแก่ความเป็นจริงของสิ่งที่มีชีวิตได้  เพราะนอกจากอาหารทางร่างกายแล้ว  สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายยังจะต้องหาอาหารมาหล่อเลี้ยงจิตใจของตนด้วย  ซึ่งอาหารที่ว่านี้ก็มีความสำคัญมากพอกับอาหารทางร่างกาย  หรืออาจมีความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำไป



อาหารที่ว่านี้  ได้แก่  อาหารทางอารมณ์ความรู้สึก  เรียกว่า  ผัสสาหาร  หรืออาหารทางสัมผัส เราจะเห็นได้ว่าบางคนต้องไปหารับประทานยังสถานที่มีดนตรีขับกล่อมด้วยจึงจะได้อารมณ์  แม้จะเสียค่าใช้จ่ายแพงแสนแพงก็ยอมเพื่อแลกกับอาหารทางอารมณ์



อาหารทางจิต  เรียกว่า  มโนสัญเจตนาหาร  หรืออาหารทางใจทางความคิด  บางทีเราเรียกบุคคลที่ไม่มีความคิดรอบคอบหรือไม่ฉลาดว่าโตแต่งกายแต่งสมองฟ่อ  นั่นหมายความว่า  เขาไม่มีอาหารทางใจ  หรือ  พูดให้เข้าใจง่าย ๆ  ก็คือ  ความคิดสติปัญญาหรือข้อมูลทางสมองไม่ค่อยมี   จึงทำให้พิการทางความคิดไป  หรือที่เราเรียกติดปากว่า   อัปปัญญา  ถ้าคนใดมีอาหารทางใจมาก  คนนั้นจะฉลาดคิดมีความเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้ง  เพราะข้อมูลทางสมองมีมาก  จึงทำให้มีข้อมูลในการนำไปคิดได้มาก



สุดท้าย  คือ  อาหารที่เป็นปัจจัยหนุนให้เกิดในภพใหม่ต่อไป เรียกว่า  วิญญาณาหาร  หรืออาหารทางวิญญาณ  หมายถึงอาหารที่สนับสนุนให้เกิดในภพต่อไปเรื่อย ๆ   ไม่มีที่สิ้นสุด   ซึ่งอาหารประเภทนี้  ได้แก่  ความไม่เข้าใจ  ความหลงผิดแล้วส่งผลให้ยึดถือผิด ๆ  ในสิ่งที่ผิดนั้นต่อไป  เรียกให้เข้าใจง่าย  ๆ  ว่า  มีอวิชชา  ตัณหา  และ อุปาทาน



ดังนั้น  ความทุกข์ทั้งหมดที่สัตว์ทั้งหลายได้รับและเสวยอยู่ในขณะนี้ล้วน เป็นผลมาจากการแสวงอาหารล้วน ๆ   ไม่ใช่อย่างอื่นเลย



ขอให้เข้าใจความจริงไว้อย่างหนึ่งว่า  ไม่ว่าเราจะเห็นพฤติกรรมของสัตว์ต่าง ๆ  แสดงออกมาในลักษณะเช่นใดก็ตาม  ก็ขอให้รู้ว่านั่นเขากำลังหาอาหารหรือกำลังรับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในบรรดาอาหาร  4   ชนิดนี้ที่กล่าวมานี้  ก็เพื่อให้เขามีร่างกายที่ดี  มีความสุขที่ดี  มีความคิดสติปัญญาที่ดี  และมีภพใหม่ที่ดีขึ้น



ในการแสวงหาอาหารนี้  ก็เป็นการเรียกแบบสุภาพ ๆ  เพื่อให้ดูดีเท่านั้นเอง  แต่ถ้าจะเรียกให้ตรงประเด็นก็ต้องบอกว่า  การแสวงหาอาหารนี้  คือ  การแย่งชิงเอาร่างกายของผู้อื่นเข้ามาเป็นร่างกายของตนเอง  เพื่อให้ร่างกายของตนเองดำรงอยู่ต่อไปได้  เพราะการกินอาหารก็คือ  การกลืนกินร่างกายของผู้อื่นเข้าไปเป็นร่างกายของตนเองสัตว์บางประเภทมีการแย่งชิงแบบโหด  ๆ  เห็นแล้วชวนให้สังเวชสลดใจ  ไม่อยากจะเกิดอีกต่อไป  แต่บางพวกอย่างมนุษย์แย่งชิงแบบสุภาพหน่อย  หรือว่ายิ่งโหดกว่าสัตว์อื่น ๆ  ก็ไม่รู้ดูเองก็แล้วกัน   แต่ว่าการบริโภคนั้นบอกได้ว่า  ดูดีกว่าพวกอื่น



พูดโดยสรุปว่า  สัตว์เล็ก ๆ  น้อย ๆ  ก็กินสัตว์ที่มีกำลังน้อยกว่าตัวเอง  ใครที่ใหญ่กว่า  หรือมีปัญญามากกว่าก็ทำร้ายร่างกายแย่งชิงเอาของผู้ด้อยกว่ามาเป็นอาหารของตนได้  เรียกได้ว่า  ไม่มีใครเลยที่จะอยู่ได้ด้วยลำพังตนเองโดยไม่พึ่งพาอาหารหล่อเลี้ยง  นี้แหละเป็นธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า  เป็นอนัตตา  คือ  ไม่อาจอยู่ด้วยลำพังตนเองได้ ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ   เข้ามาเกื้อหนุนให้เป็นอยู่ตามหลักปฏิจจสมุปบาท  เมื่อเป็นเช่นนี้  ทำให้ผู้ที่ฉลาดเท่านั้นจึงจะสามารถดับภพดับชาติ  ดับอาหารใด ๆ  ทั้งหมดได้  ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอีกตลอดไป   ส่วนพวกที่ไม่เข้าใจหลงผิดก็ต้องทนทุกข์แย่งชิงร่างกายกันต่อไป



ความทุกข์เกิดจากการแสวงหาอาหารต่าง ๆ ที่พูดถึงนี้มีมากเท่าใดนั้นแต่ละคนแต่ละท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจของตนเองไม่จำเป็นต้องบอก   ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนว่า  จะต้องการอาหารชนิดใดมากและรู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์แก่ตนเองมากน้อยเพียงใด



ในหลักการของพระพุทธศาสนาบอกได้เพียงอย่างเดียวว่าชีวิตทุกชีวิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ล้วนมีธรรมชาติเป็นอย่างเดียวเท่านั้น  คือ ทุกข์  การที่เรามีความรู้สึกว่า มีความสุขอยู่บ้าง  ก็เพราะความทุกข์มันลดน้อยลงไปเพราะเราได้อาหารเข้าไปช่วยแบ่งเบาความทุกข์เท่านั้นเอง  เพราะความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ  ชั่วครั้งชั่วคราวนี้เอง  ที่ทำให้พวกเราหลงว่า  มีความสุขแล้วก็แสวงหาสุขนั้นและในที่สุดก็ติดสุขนั้นอีก โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า  นั่นเป็นเพียงทุกข์ที่ลดน้อยลงไปเท่านั้น



เมื่อรู้ว่า  ความจริงคือทุกข์อย่างนี้แล้ว  ลองหันกลับมาสำรวจดูความจริงอีกอย่างบ้างว่า  สาระแก่นสารของชีวิตนี้  คืออะไร  และเพื่ออะไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า  ชีวิตในสังสารวัฏนี้  ที่มีความยาวนานมากจนไม่มีใครจะกลับไปดูจุดเริ่มต้นของสังสารวัฏ ได้  และในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครที่จะตามไปดูจุดสุดท้ายของสังสารวัฏนี้ได้เช่นกัน  จึงเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยทุกข์นานาประการ



เมื่อพูดถึงเรื่องความยาวนานของทุกข์ในสังสารวัฏนี้  พระพุทธองค์ ได้ทรงเปรียบเทียบความยาวนานของสังสารวัฏเป็นกัปให้เหล่าภิกษุสาวกฟังในปัพพตสูตร  พระไตรปิฎกเล่มที่  20  ไว้ว่า



กัปหนึ่งนั้นนานนักหนา  มิใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนับเป็นปี  หรือ 100 ปี  พันปีหรือแสนปี  แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเปรียบเทียบให้สาวกฟังว่า



"สมมติว่ามีภูเขาลูกหนึ่งที่เป็นหินล้วน ๆ  ไม่มีสิ่งอื่นปะปนเลยไม่มีรูโหว่แม้แต่นิดเดียว  ภูเขาลูกนั้นมีความกว้างและความยาวด้านละ  1  โยชน์ หรือด้านละ   16  กิโลเมตร และมีความสูง 1 โยชน์เช่นกัน



เวลาล่วงไปทุก ๆ  100 ปี  ให้มีคนนำผ้าฝ้ายที่ละเอียดที่สุดมาปัดภูเขานั้นหนึ่งครั้ง   ทำอยู่เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ  จนภูเขานั้นจะราบเป็นหน้ากลองนั่นแหละเรียกว่าเวลา  1  กัป  ถ้าเทียบกับการนับปัจจุบัน คงจะหลายล้านล้านปี  จึงเรียกหนึ่งกัป"




เมื่อตรัสถึงความยาวนานของกัปแล้ว   พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสถึงความยาวนานของชีวิตในสังสารวัฏอีกต่อไปว่า  



"ชีวิตของพวกเธอที่ท่องเที่ยวไปเกิดในภพนั้นบ้างภพนี้บ้างยาวนานจนนับเป็นกัปไม่ได้ว่าหนึ่งกัป  หรือร้อยกัป  หรือพันกัป  หรือแสนกัป   ทั้งนี้ก็เพราะว่าสงสารนี้มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดอันใคร ๆ  ไม่สามารถจะตามไปล่วงรู้ได้นั่นเอง"



เมื่อสังสารวัฏยาวนานจนไม่มีใครล่วงรู้หรือกำหนดได้นี้เองชีวิตทุกชีวิตที่ต้องท่องเที่ยวไปเกิดในที่ต่าง ๆ  และก็ต้องหาอาหารอยู่ทุกขณะเพื่อการดำรงอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าความทุกข์จะมีมากน้อยเพียงใด



ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงตรัสเป็นการเตือนสาวกว่า  "เพราะสงสารนี้มีจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายที่ไม่มีใครจะตามไปรู้ได้นี้แหละ ก็เพียงพอแล้วที่พวกเธอจะควรเบื่อหน่ายในสังขารร่างกาย  ควรคลายกำหนัดจากความต้องการทั้งหลาย  ควรหลุดพ้นไปจากการเกิดได้แล้ว"



เพื่อให้รู้ถึงเรื่องความทุกข์ของชีวิตที่ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏอันนานนี้  พระพุทธองค์ได้แสดงอัสสุสูตร   พระสูตรว่าด้วยเรื่องน้ำตาให้พระสาวกฟังว่า



"เพราะสังสารวัฏอันยาวนานที่พวกเธอได้ท่องเที่ยวไปเกิดยังภพต่างๆ นั้นถ้าหากจะเปรียบเทียบแล้วน้ำตาของพวกเธอที่ร้องไห้เสียใจเพราะสูญเสียของที่รักที่พอใจไป  หรือร้องไห้เพราะประสพกับความทุกข์ยากหรือประสพกับสิ่งที่ไม่พอใจ  น้ำตาน้ำหลั่งไหลออกมารวมกันมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4  รวมกันเสียอีก"



ในขีรสูตร ก็ได้ทรงเปรียบเทียบอีกว่า  "การที่พวกเธอทั้งหลายวนเวียนเกิดแล้วตาย  ตายแล้วเกิดอยู่เช่นนี้  น้ำนมของมารดาที่พวกเธอดื่มเข้าไปแล้ว  เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4  แล้วน้ำในมหาสมุทรยังน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้อีกเช่นกัน"



นอกจากนี้ในอัฏฐิปุญชสูตรได้ให้คำอุปมาอีกว่า  "ชีวิตของพวกเราในสังสารวัฏนี้ที่ได้ตายไปในชาติต่าง ๆ  ถ้าจะสามารถนำเอากระดูกแต่ละชาติมารวมกันได้เพียงกัปเดียว  ก็จะมีกองกระดูกของเราคนเดียวได้ปริมาณมากกว่าภูเขาเวปุลละที่ตั้งล้อมเมืองมคธอยู่นั้น"



เมื่อรู้ว่าสังสารวัฏยาวนานเช่นนี้  ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงต้องเป็นทุกข์เพราะแก่งแย่งหาอาหารเลี้ยงชีพเพื่อให้ตนเองดำรงอยู่ได้อย่างไม่รู้จบเช่นนี้แล้วอะไรคือสาระที่จริงแห่งการเกิดหรือชีวิต    และแต่ละคนจะไปถึงจุดสุดท้ายได้อย่างไรนั้น    ในที่นี้จะยังไม่ตอบโดยตรง   แต่บอกได้คำเดียวว่า  ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้  ถ้าเรารู้สาเหตุ  และต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น   ปัญหาทุกอย่างจึงจะสงบราบคาบลงได้



ดังพุทธพจน์ ที่เหล่าพระสาวกเพียงแค่ได้ฟังครั้งเดียวก็สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้   คือ เย  ธัมมา  เหตุปะภะวา  เตสัง  เหตุง  ตถาคโต.



--->>>   ผู้ศึกษาอย่างละเอียดจะรู้วิธีแก้ปัญหาที่เอ่ยมาทั้งหมดได้แน่นอน  ถ้าต้องการ และขอให้เชื่อไว้อีกอย่างว่า  ธรรมของพระพุทธองค์ ผู้ที่ปฏิบัติจริงจะเห็นประจักษ์ได้ด้วยตนเอง  (สันทิฏฐิโก)  โดยไม่จำกัดกาลเวลา  (โอหิปัสสิโก)   เป็นสิ่งที่ทุกคนจะนำมาปฏิบัติด้วยตังเอง (โอปนยิโก)  และเป็นสิ่งที่ผู้รู้จะได้พบกับตนเอง  โดยไม่ต้องผ่านจากการบอกเล่าจากใคร  (ปัจจัตตัง) อีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 215782เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท