การบำเพ็ญสติปัฏฐาน : สมถวิปัสสนา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

 การบำเพ็ญสติปัฏฐาน : สมถวิปัสสนา



๑. ขั้นสมถกัมมัฏฐาน



 คือ  ขั้นของการอบรมจิตใจ  ให้สงบ ให้หยุด  ให้นิ่ง  เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง  เป็นธรรมเครื่องให้สงบระงับจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา  ให้อ่อนโยนควรแก่งาน  ได้แก่


               นิวรณปัพพะ   ข้อกำหนดด้วยนิวรณ์ ๕  คือการมีสติพิจารณาเห็นธรรมคือนิวรณ์  ๕  ได้แก่  กามฉันทะ  ๑  พยาบาท  ๑  ถีนมิทธะ  ๑   อุทธัจจกุกกุจจะ  ๑  วิจิกิจฉา  ๑


               ปฏิกูลมนสิการปัพพะ  ข้อกำหนดด้วยของน่าเกลียด  หรือกายคตาสติ  คือการมีสติพิจารณาเห็นส่วนต่าง ๆ    ของร่างกาย  ได้แก่  ผม ขน  เล็บ ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  ฯลฯ  ตามที่เป็นจริงว่าเป็นแต่ปฏิกูลหรือที่ตั้งแห่งปฏิกูล   โสโครก น่าเกลียด


               นวสีวถิกาปัพพะ  ข้อกำหนดด้วยป่าช้า  ๙  คือ ซากศพที่ตายแล้ว  มีอาการต่าง ๆ  เป็นต้น

กล่าวคือ  บรรดาพระกัมมัฏฐาน  ที่พระโยคาวจรกำหนด  "องค์บริกรรมนิมิต" นึกให้เห็นด้วยใจ  เช่น  ตจปัญจกกัมมัฏฐาน  (มูลกัมมัฏฐาน)  ที่ให้นึกเห็นผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  และกำหนด องค์บริกรรมภาวนา   ว่า “เกสา  โลมา นขา  ทันตา  ตโจ” ก็ดี  จนเกิด อุคคหนิมิต  ถึง  ปฏิภาคนิมิต  อันเป็นสมาธิแนบแน่น  ถึง อัปปนาสมาธิ  เบื้องต้นของปฐมฌาน ก็ดี  หรือ


               การมีสติพิจารณาเห็นลมหายใจเข้าออก  ด้วยองค์บริกรรมภาวนา   “พุทธโธๆๆ”  ก็ดี  การพิจารณาเห็นอาการที่ท้อง  (นาภี)  พองยุบ ด้วยองค์บริกรรมภาวนา  “ยุบหนอ  พองหนอ ๆๆ” ก็ดี หรือ  การกำหนดองค์บริกรรมนิมิต  นึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส  ด้วยองค์บริกรรมภาวนา  ว่า  “สัมมาอรหัง ๆๆ” ก็ดี  ที่อยู่ในขั้นเป็นอุบายวิธีให้ได้อุคคหนิมิต  ถึงปฏิภาคนิมิต  ให้ใจสงบ  หยุดนิ่ง  เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง  ถึงขั้น  อุปาจารสมาธิ  และ  อัปปนาสมาธิ    อันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌานซึ่งมีผลให้จิตใจสงบระงับจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา  เป็น “จิตตวิสุทธิ” อ่อนโยนควรแก่งานเหล่านี้ทั้งหมด  เป็นขั้นสมถกัมมัฏฐานทั้งสิ้น



               แม้จะมีบางท่านอ้างว่าวิธีภาวนาในสำนักของตนนั้นเป็นวิปัสสนาก็ตาม

               ถ้าตราบใดที่ยังมีการกำหนดองค์บริกรรมนิมิต (นึกให้เห็นด้วยใจ)  และมีการกำหนดองค์บริกรรมภาวนา  (นึกท่องในใจ)  แม้จะมีความหมายที่แสดงความไม่เที่ยง  หรือ ความเกิด-ดับ ประการใด ๆ ก็ตาม  เมื่อใจยังไม่สงบไม่หยุดนิ่ง  ถึงอัปปนาสมาธิ  เป็น “จิตตวิสุทธิ” (จิต ใจสงบจากกิเลสนิวรณ์)  แล้ว “วิปัสสนาปัญญา”  คือ ปัญญาอันเห็นแจ้งชัดสภาวะของสังขารธรรมทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์  และ  มิใช่ตน  ยังไม่เกิดขึ้นจริง ๆ   แล้ว  ตราบนั้นพระกัมมัฏฐานนั้นยังเป็นชั้นสมถะ  ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา  คือยังไม่เป็นตัววิปัสสนา
(วิสุทธิ ๕)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ตั้งแต่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (วิสุทธิที่ ๓  ) และ  ปฏิปทาญาณทัสสนาวิสุทธิ  (วิสุทธิที่  ๔ )  อันเป็นขั้นเจริญวิปัสสนาญาณทั้ง ๙  ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ  (ปรีชาญาณคำนึงเห็นทั้งความเกิดและความดับ )  ต่อไปเป็นลำดับ  จนถึงสัจจานุโลมิกญาณ  (ปรีชาญาณเป็นไปโดยสมควรแก่การกำหนดอริยสัจ)



๒. ขั้นอนุวิปัสสนา


คือเมื่อพระโยคาวจรอบรมจิตใจ ให้สงบ ให้หยุด  ให้นิ่ง  ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  อันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน  ประกอบด้วยองค์  ๕  คือ  วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  เอกัคคตา  อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญานั้น เป็น  “จิตตวิสุทธิ”  แล้ว  มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย  เวทนา ในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม  บรรดาที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ชื่อว่า  “สังขาร/สังขตธรรม”  ทั้งปวง ให้เห็นแจ้งชัดตามธรรมชาติที่เป็นจริง  ว่า  มีสามัญญลักษณะ  คือ  มี ลักษณะที่เป็นเองโดยธรรมชาติเสมอกันหมด  ที่ ไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)  เป็นทุกข์  (ทุกฺขํ)  เพราะต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา (วิปริณามธมฺมโต)  จึงมิใช่ตัวตน  บุคคล  เรา-เขา  ของเรา-ของเขา  (อนตฺตา) นี้เป็น    “วิปัสสนาปัญญา”
 ที่เกิดขึ้นแจ้งชัด  ตั้งแต่มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ  ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ    เจริญวิปัสสนาญาณทั้ง ๙  ต่อไป  ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ  จนถึงสัจจานุโลมิกญาณ  ปรีชาญาณเป็นไปสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ  ๔



๓. ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา

คือเมื่อพระโยคาวจร  เจริญวิปัสสนาปัญญาแล้ว  ใช้ตาหรือญาณทัสสนะของธรรมกาย พิจารณาเห็นธรรมในธรรม  อันมี  อริยสัจ  ๔  และ ปฏิจจสมุปบาทธรรม  ๑๒  เป็นต้นต่อไป  จนเห็นแจ้งแทงตลอดพระอริยสัจ  ๔  เป็นไปในญาณ  ๓  (สัจจญาณ  กิจจญาณ  และกตญาณ)  มีอาการ  ๑๒  นี้เป็น  “โลกุตตรปัญญา”
 อันเป็นลำดับแห่งญาณทัสสนวิสุทธิ   (วิสุทธิที่  ๕) 
 

                ขณะเมื่อธรรมกายทำนิโรธถึงอายตนะนิพพาน  โคตรภูญาณยึดหน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์มรรครวมเป็นเอกสมังคี  มรรคจิตมรรคปัญญาเกิดและเจริญขึ้น  เป็นโลกกุตตรมรรค  (มรรคญาณ)  ทำหน้าที่ปหาน (ละ)  สัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกอย่างน้อย ๓  ประการ  คือ   สักกายทิฏฐิ   วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส  ได้ ก้าวล่วงข้ามโคตรปุถุชน  เป็นพระอริยบุคคล  บรรลุอริยมรรค อริยผล  ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้แล้ว   ธรรมกายอริยผลนั้นเข้าผลสมาบัติ   พิจารณามรรคผล  กิเลสที่ละได้  และ  กิเลสที่ยังเหลือ   (กรณีพระเสขบุคคล)   และ พิจารณาพระนิพพาน  อันเป็น วิสังขาร/อสังขตธรรม  ด้วยปัจจเวกขณญาณ  ให้เห็นแจ้งพระนิพพานทั้งโดยสภาวะ  ผู้ทรงสภาวะ   และ อายตนะนิพพาน  ว่าเป็นวิสังขาร / อสังขตธรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (อสงฺขตํ) เป็นธรรมชาติที่ไม่มีความเกิด  (อชาตํ)  อีก  จึงไม่มีความแก่  (อชรํ)    เป็นธรรมชาติที่คงที่  (ตาทิ)  ที่เที่ยง  (นิจฺจํ)   เป็นบรมสุข (นิพฺพานนํ  ปรมํ  สุขํ)   ยั่งยืน  (ธุวํ)  มั่นคง  (สสฺสตํ)  เป็นธรรมมีเจ้าของ  (สสามิกํ)  คือ เป็นธรรมเฉพาะของพระอริยเจ้าพระอรหันตเจ้า  ผู้ได้บรรลุแล้ว  ดังพระพุทธดำรัสว่า  ชญฺญา  นิพฺพานมตฺตโน  แปลความว่า  พึงรู้พระนิพพานของตน  ดังมีอรรถาธิบายว่า

                ความว่า   พระนิพพานอันเป็นอสังขตธาตุนำมาซึ่งความสุขโดยส่วนเดียวโดยเป็นอารมณ์อันดีเยี่ยมแก่มรรคญาณ  และ  ผลญาณ   ซึ่งได้โวหาร  (ชื่อ)  ว่า  อัตตา  เพราะพระนิพพานไม่เป็นอารมณ์ของปุถุชนอื่นแม้โดยที่สุดความฝันแต่เพราะพระนิพพานเป็นแผนกหนึ่งแห่งมรรคญาณ  และ   ผลญาณนั้น ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย และ  เพราะพระนิพพานเป็นเช่นกับอัตตา  จึงตรัสว่า  อตฺตโน  (ของตน).

                 อันแสดงอัตตลักษณะ  คือ  ลักษณะที่เป็น อัตตา  (ตัวตน)  แท้  ที่ตรงกันข้ามกับอนัตตลักษณะของสังขาร/สังขตธรรมทั้งปวง  ทุกประการ  ดังพระสารีบุตรได้แสดงเรื่อง ภิกษุย่อมได้อนุโลมขันติ  (พิจารณาเห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญา  โดยความเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา)   ด้วยอาการ  ๔๐  หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม  (ย่อมหลั่งลงในขณะแห่งมรรคและผล) ด้วยอาการ  ๔๐         นี้เป็น  โลกุตตรปัญญา

 

********************************************************************************************
รวบรวมข้อมูลจาก : หนังสือ "ทางมรรคผลนิพพาน" พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖, รป.ม. (เกียรตินิยมดี) มธ.

หมายเลขบันทึก: 215814เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท