ลักษณะและอาการแทงตลอดสัจจะ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ลักษณะและอาการแทงตลอดสัจจะ  ๔



ก)     ลักษณะแห่งสัจจะทั้ง  ๔



มีปรากฏในพระไตรปิฎกว่า


“สจฺจานํ  กติ  ลกฺขณามิ.   สจฺจานํ   อิมานิ  เทว  ลกฺขณานิ.....”
สจฺจานํ   กติ  ลกฺขณานิ.   สจฺจานํ   อิมานิ  ฉ  ลกฺขณานิ........”
สจฺจานํ  กติ   ลกฺขณานิ.   สจฺจานํ   อิมานิ  ทฺวาทส   ลกฺขณานิ......”



มีคำแปลซึ่งจะแยกหัวข้อให้เห็นเป็น ๓  หัวข้อดังต่อไปนี้


๑.  สัจจะมีลักษณะ  ๒

“สัจจะมีลักษณะเท่าไร  ?   สัจจะมีลักษณะ  ๒  คือ  สังขตลักษณะ  ๑  อสังขตลักษณะ  ๑.  สัจจะมีลักษณะ  ๒  นี้.”


เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าสัจจะทั้ง  ๔  นี้  มีลักษณะที่พึงสังเกตอยู่ ๒  ประการ  คือ  มีทั้งสังขตลักษณะ  คือ เป็นธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ชื่อว่า  สังขตธรรม   อย่างหนึ่ง   และมีทั้งอสังขตลักษณะ  คือ เป็นธรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ชื่อว่า  อสังขตธรรม   อีกอย่างหนึ่ง


เพราะฉะนั้น  ในการที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติ  เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน  ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง  ต้องเข้าใจจุดนี้  ต้องเข้าใจลักษณะแห่งสัจจะทั้ง  ๔  นี้ ว่าสัจจะไหนเป็นสังขตธรรม  มีสังขตลักษณะ  ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  ลักษณะแห่งสังขตธรรม  คือ  ปรากฏความเกิด  ๑  ปรากฏความเสื่อมสลาย ๑   เมื่อตั้งอยู่  ปรากฏความแปรปรวน  ๑  นี้อย่างหนึ่ง  ว่าสัจจะไหนเป็นอสังขตธรรม  ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอสังขตะลักษณะไว้ว่า  ไม่ปรากฏความเกิด  ๑  ไม่ปรากฏความเสื่อมสลาย  ๑  เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน ๑  ข้อนี้ต้องเข้าใจทีเดียว

เพราะฉะนั้นพระสารีบุตรมหาเถระ  จึงได้ชี้แจงในปฏิสัมภิทามรรคต่อไปว่า


๒.    สัจจะมีลักษณะ  ๖

“สัจจะมีลักษณะเท่าไร  ?   สัจจะมีลักษณะ  ๖  คือ  สัจจะที่ปัจจัยปรุงแต่ง  มี ความเกิดปรากฏ  ๑  ความเสื่อมปรากฏ  ๑  เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนปรากฏ  ๑.  สัจจะที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง  ความเกิดไม่ปรากฏ  ๑  ความเสื่อมไม่ปรากฏ  ๑  เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนไม่ปรากฏ  ๑.  สัจจะมีลักษณะ  ๖  นี้.”


๓.     สัจจะมีลักษณะ  ๑๒

“สัจจะมีลักษณะเท่าไร  ?  สัจจะมีลักษณะ  ๑๒.  ทุกขสัจ  มีความเกิดปรากฏ ๑   มีความเสื่อมปรากฏ  ๑  เมื่อยังตั้งอยู่ปรากฏความแปรปรวน  ๑.  สมุทัยสัจ   มีความเกิดปรากฏ ๑  มีความเสื่อมปรากฏ ๑  เมื่อยังตั้งปรากฏความแปรปรวน  ๑.  มรรคสัจ  ปรากฏความเกิด  ๑  ความเสื่อมปรากฏ  ๑  เมื่อยังตั้งอยู่ปรากฏความแปรปรวน ๑ .  นิโรธสัจ  ความเกิดไม่ปรากฏ  ๑ ความเสื่อมไม่ปรากฏ  ๑  เมื่อยังตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน ๑.  สัจจะมีลักษณะ  ๑๒  นี้.”



จะเห็นได้ว่า  ทั้ง  ทุกข์  สมุทัย และมรรค นั้น  เป็นสังขารธรรม  จึงมีสภาวะที่ไม่เที่ยง  คือ   อนิจฺจํ  และมีพระพุทธดำรัสว่า  ยทนิจฺจํ  ตํ  ทุกฺขํ   ยํ   ทุกฺขํ   ตทนตฺตา  ซึ่งแปลความว่า   สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นแหละเป็นทุกข์  คือ  ตั้งอยู่หรือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน   สิ่งใดเป็นทุกข์  สิ่งนั้นเป็นอนัตตา  เพราะฉะนั้น  ทุกขสัจ  สมุทัยสัจ  มรรคสัจ  ซึ่งเป็นสังขตธรรม  จึงมีสภาวะที่เป็นอนิจจัง   ทุกขัง   อนัตตา


แต่ส่วน  นิโรธสัจ  ท่านพระสารีบุตรมหาเถระได้แสดงลักษณะว่า  ความเกิดไม่ปรากฏ  ๑  ความเสื่อมสลายไม่ปรากฏ  ๑  เมื่อยังตั้งอยู่  ความแปรปรวนไม่ปรากฏ  ๑  เพราะฉะนั้น นิโรธสัจ คือ นิโรธธาตุ   โดยความหมายเดียวว่าเป็นอสังขตธาตุนั้นเอง  ที่มีอสังขตลักษณะ  คือ  ความเกิดไม่ปรากฏ  ๑  ความเสื่อมสลายไม่ปรากฏ  ๑  เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนไม่ปรากฏ  ๑


ข้อนี้พึงทำความเข้าใจให้ดีว่า  นิโรธธาตุ   โดยสภาวะย่อมมีอย่างเดียว   ความหมายเดียวขอเน้นว่า  นิโรธาตุ คือ นิโรธสัจที่เป็นอสังขตธาตุ  นี่แหละ  เป็นความหมายเดียวก็คือ พระนิพพานธาตุที่พระอริยเจ้าพระอรหันตเจ้าท่านบรรลุ  แล้ว  เป็นอกิริยา แล้วนั้นเอง   แต่ลำพังคำว่า  “นิโรธ”  มีความหมายได้ทั้งความหมายเดียว  คือ เป็นนิโรธธาตุ  ที่เป็นอสังขตะนี้  และมีความหมายมากกว่า ๑   ได้แก่ความหมายโดยอ้อม  ๒ อย่าง  คือ  สอุปาทิเสสะ   นิโรธธาตุที่พระอริยเจ้ายังครองเบญจขันธ์อยู่  คือ มีอุปาทิอยู่  และ  อนุปาทิเสสะ    คือ  นิโรธธาตุหรือนิพพานธาตุที่พระอริยเจ้าไม่มีอุปาทิเหลือ  คือเบญจขันธ์แตกทำลายแล้ว  ไม่มีอุปาทิเหลือ  นั่นเป็นความหมาย   ๒  ประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว


เพราะฉะนั้น  ในเรื่อง การแทงตลอดอริยสัจ  จึงต้องเข้าใจจุดนี้ให้ดี  นอกจากนั้น ยังพึงเข้าใจนิโรธต่อไปถึงอาการแทงตลอดแห่งอริยสัจ  ๔ ในความหมายของนิโรธว่า  อาการดับแห่งนิโรธในขณะที่พระอริยเจ้ากำลังบรรลุมรรคผลนิพพาน  อาการบรรลุนิพพาน  นั้นนั่นแหละ เป็นสังขตธรรม  ที่มีสังขตลักษณะ  คือ  มีความเกิดปรากฏ  ๑  มีความเสื่อมสลายปรากฏ  ๑  เมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนปรากฏ  ๑  อาการที่พระอริยเจ้าบรรลุผลมรรคนิพพานอย่างนั้นแหละเป็นอนิจจังทุกขัง  อนัตตา  ดังจะได้อธิบายต่อไป

ข)    อาการแทงตลอดสัจจะทั้ง ๔

พระสารีบุตรมหาเถระได้แสดงธรรมเรื่องการแทงตลอดสัจจะนี้ไว้ว่า


“กติหากาเรหิ  จตฺตาริ  สจฺจานิ  เอกปฏิเวธานิ.....จตฺตาริ  สจฺจานํ   เอกปฏิเวธานิ.....”

“สัจจะ   ๔  มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว  ด้วยอาการเท่าไร?   สัจจะ   ๔  มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว  ด้วยอาการ   ๔  คือ  ด้วยความเป็นของแท้  (ตถฏเฐน)  ๑  ด้วยความเป็นอนัตตา (อนตฺตฏเฐน) ๑  ด้วยความเป็นของจริง (สจฺจฏเฐน) ๑  ด้วยความเป็นปฏิเวธ  (ปฏิเวธฏเฐน) ๑ .   สัจจะ  ๔  ท่านสงเคราะห์เป็น ๑  ด้วยอาการ  ๔ นี้.  สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็น ๑  สัจจะนั้นเป็น ๑  บุคคลก็ย่อมแทงตลอด สัจจะ  ๑  ด้วยญาณเดียว  เพราะเหตุนั้น  สัจจะ   ๔  มีการแทง  ตลอดด้วยญาณเดียว.”



สัจจะ  ๔  มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว  ด้วยอาการเท่าไร  นี้เป็นเรื่องการแทงตลอดสัจจะทั้ง ๔  ต้องจับประเด็จนี้ไว้ให้ดีว่า  แทงตลอดด้วยอาการเท่าไร?  นี้เป็นอาการแทงตลอด  โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย


เพราะฉะนั้น  อาการแทงตลอดมี   ๔  ประการ  คือ  แทงตลอดด้วยความเป็นของแท้  ด้วยความเป็นอนัตตา  ด้วยความเป็นของจริง  และ ด้วยความเป็นปฏิเวธ  คือ ธรรมที่บรรลุ  แทงตลอดแล้วก็บรรลุ  


เฉพาะ  อาการแทงตลอดด้วยความเป็นอนัตตา  ท่านพระสารีบุตรมหาเถระได้อธิบายต่อไป


“สัจจะ   ๔  มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว  ด้วยความเป็นอนัตตาอย่างไร? สัจจะ  ๔  มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว  ด้วยความเป็นอนัตตา   ด้วยอาการ ๔  คือ  สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์   เป็นสภาพที่มิใช่ตน  ๑  สภาพเป็นเหตุเกิดสมุทัย  เป็นสภาพมิใช่ตน   ๑  สภาพดับแห่งนิโรธเป็นสภาพมิใช่ตน ๑   สภาพเป็นทางแห่งมรรคเป็นสภาพมิใช่ตน ๑ สัจจะ  ๔  ท่านสงเคราะห์เป็น ๑  ด้วยความเป็นอนัตตาด้วยอาการ  ๔  นี้.   สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็น ๑   สัจจะนี้เป็น  ๑  บุคคลก็ย่อมแทงตลอดสัจจะ  ๑  ด้วยญาณเดียว  เพราะเหตุนั้น  สัจจะ   ๔  มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว.”

การแทงตลอดสัจจะ ๔  นั้นแทงตลอดด้วยญาณเดียว  ด้วยความเป็นอนัตตาอย่างไร  คือ  เห็นแจ้งรู้แจ้งอย่างไร  แทงตลอดคือเห็นแจ้งรู้แจ้ง ด้วยอาการ  ๔  อย่าง  อย่างไร  ที่ชื่อว่า   ด้วยความเป็นอนัตตา  ตามที่แสดงไว้นั้น   พึงทราบอธิบายดังนี้


ประการที่  ๑  สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์  ที่ว่า  ทุกขํ  หรือ  ทุกฺขตา  ความเป็นทุกข์  เป็นสภาพที่ทนได้ยาก  จึงชื่อว่า หรือ  เป็นสภาพที่มิใช่ตน  มิใช่ตัวตน  คือ มิใช่อัตตา  ไม่เป็นอัตตา


ประการที่ ๒  สภาพเป็นเหตุเกิดสมุทัย   ก็คือ  เห็นแจ้งรู้แจ้งสมุทัยนั้นแหละว่า  เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  เป็นต้น  นี้ก็เป็นสภาพที่มิใช่ตน  เพราะมีความเกิดขึ้นตั้งอยู่  และเสื่อมสลายไป


ประการที่  ๓   สภาพดับแห่งนิโรธ  (มิใช่ตัวนิโรธธาตุที่พระอริยเจ้าท่านได้บรรลุ) ที่ยังเป็นกิริยาอยู่  เป็นสภาพที่มิใช่ตน


ถามว่า  คำว่า  “สภาพดับ”  นั้น  อะไรดับ?

ตอบว่า  สมุทัยดับ  คือ อวิชชาดับ  กิเลสตัณหา  อุปาทานดับ และ  ภพชาติดับ  นี่คืออาการ กิริยาหรือสภาพดับแห่งนิโรธ


ตรงนี้แหละ  ถ้าใครไม่ศึกษาให้ดี  ไม่ปฏิบัติให้เห็นผลตามสมควรแก่ธรรมเหมือนพระผู้ สุปฏิปันโน  ก็จะไปหลงนึกว่า  นิโรธธาตุ  คือ  นิพพานธาตุที่พระอริยเจ้าพระอรหันต์เจ้าท่านบรรลุ   ที่เป็นกิริยาแล้ว   อันเป็นวิสังขาร  เป็นอสังขตธรรม  ที่ดำรงคงอยู่  ตั้งอยู่   ว่า  เป็นสภาพมิใช่ตัวตน มิใช่ตัวตน  ความจริง   อรรถธิบายตรงนี้หมายเอาอาการแทงตลอดสัจจะทั้ง ๔  ด้วยความเป็นอนัตตา ด้วยอาการ ๔  คือ สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์  ๑  สภาพเป็นเหตุเกิดสมุทัย ๑  สภาพดับแห่งนิโรธ  ๑  และ  สภาพเป็นทางแห่งมรรค ๑  ที่ยังเป็นกิริยาอยู่  ว่าเป็นสภาพมิใช่ตัวตน


สภาพดับแห่งนิโรธนั้น  คือ   สมุทัยอันมีอวิชชาดับ  กิเลส  ตัณหา  อุปาทานดับ และภพชาติดับ  ทุกข์ก็ดับ   สภาพคือ   อาการกิริยาที่ทุกข์ดับ  เพราะเหตุคือสมุทัยดับนี้เอง   ชื่อว่า  สภาพดับแห่งนิโรธ   ซึ่งจัดเป็นกิริยา ไม่ใช่ตัวนิโรธธาตุ  คือ  พระนิพพานธาตุที่พระอริยเจ้าท่านได้บรรลุแล้ว  ที่ เป็นอกิริยาแล้ว  เป็นวิสังขารธรรม   เป็นอสังขตธรรมที่ดำรงอยู่   ตั้งอยู่   เป็นตัวดับสูญ  เป็นตัวเสื่อมสิ้นหมดไป   ไม่ใช่อย่างนั้น


ประการที่  ๔  สภาพเป็นทางแห่งมรรค  เป็นทางปฏิบัติมรรคจิตเกิดขึ้นปหานสัญโญชน์ผลจิตก็เกิด   เข้าผลสมาบัติไป  นั้นแหละสภาพเป็นทางแห่งมรรค  คือ  เป็นทางปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสเหตุแห่งทุกข์  ซึ่งยังเป็นกิริยาอยู่นั่นแหละ  ว่าเป็นสภาพมิใช่ตัวตน

สัจจะ  ๔ ท่านสงเคราะห์เป็น ๑   ด้วยความเป็นอนัตตา   ด้วยอาการ  ๔ นี้


เพราะฉะนั้นกรณีนี้   ใครอย่าเพิ่งไปทักว่านิโรธธาตุหรือพระนิพพานธาตุ  ซึ่งเป็นอกิริยาเป็นวิสังขารธรรม  เป็นอสังขตธรรม ที่พระอริยเจ้าพระอรหันต์เจ้าท่านบรรลุ  ว่าเป็นอนัตตา  คือว่า เป็นสภาพมิใช่ตัวตน  เพราะนิโรธธาตุคือ   นิพพานธาตุนั่น   เป็นธรรมที่บรรลุ   เป็นอกิริยาแล้ว  ไม่ใช่อาการแทงตลอดซึ่งยังเป็นกิริยาอยู่  เป็นคนละประเด็น  อย่าสับสนปนเปกัน


แต่อาการแทงตลอด  ซึ่งสภาพดับแห่งนิโรธ  คือ สภาพที่ทุกข์ดับเพราะเหตุคือสมุทัยดับ  (และแม้มรรคสัจซึ่งเป็นสภาพเป็นทางแห่งมรรค)  ก็เป็นสภาพมิใช่ตัวตน   ด้วยประการฉะนี้


ดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า  ทุกขสัจ  สมุทัย  มรรค  ๓   ประการนี้ เป็นสังขตธรรม  ซึ่งมีสภาวะที่  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง   อนัตตา  นี้เป็นอันทราบและเข้าใจได้ง่าย


ส่วนนิโรธสัจ  เฉพาะแต่อาการแทงตลอด  ซึ่ง แทงตลอดด้วยอาการ  ๔  คือ  ด้วยเป็นของแท้  ๑  ด้วยความเป็นอนัตตา๑    ด้วยความเป็นของจริง ๑  และด้วยความปฏิเวธ  ๑  เข้าใจได้ยากสำหรับ   ปุถุชน  จึงควรศึกษาข้อมูลจากผลการปฏิบัติของพระผู้สุปฏิบันโนที่แสดงไว้ดีแล้ว   และได้ลงมือปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม   ก็จะช่วยบรรเทาความเข้าใจยากได้ว่า  เฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยความเป็นอนัตตา  นั้นก็มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว  ด้วยความเป็นอนัตตา  ด้วยอาการ  ๔  คือ เป็นสภาพทนได้ยากแห่งทุกข์  ๑  สภาพเป็นเหตุเกิดสมุทัย  ๑  สภาพดับแห่งนิโรธ  ๑  และสภาพเป็นทางแห่งมรรค ๑ ด้วยประการฉะนี้


อาการแทงตลอดที่  ๓  คือ  สภาพดับแห่งนิโรธ  คือสภาพที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ  เท่านั้นแหละเป็นตัวดับ   เป็นอนัตตา   เป็นสภาพที่มิใช่ตัวตน   ไม่ใช่นิโรธธาตุคือ  พระนิพพานธาตุซึ่งเป็นธรรมที่พระอริยเจ้าท่านได้บรรลุแล้ว  เป็นวิสังขาร  เป็นอสังขตธรรมที่ดำรงคงอยู่   ตั้งอยู่นั้นเป็นตัวดับ

อุปมาดั่งอาการที่ความร้อนดับเพราะไฟดับ   ความเย็นย่อมปรากฏ  อาการที่ความร้อนดับเพราะไฟดับเท่านั้นที่เป็นอนัตตา  มิใช่ตัวตน  เพราะแปรไป  สูญไป  ส่วนความเย็นที่ยังดำรงอยู่ยั่งยืน  หาได้เป็นอนัตตา   คือ เป็นสภาพมิใช่ตนเพราะแปรไปสูญไปไม่  ฉันใด  อาการที่พระโยคาวจรแทงตลอดสัจจะ  ๔  มีนิโรธเป็นต้น   ด้วยความเป็นอนัตตา   ด้วยอาการ  ๔  ก็ฉันนั้น  เฉพาะแต่อาการที่แทงตลอดนิโรธสัจ  ด้วยสภาพดับแห่งนิโรธเท่านั้นที่เป็นอนัตตา   นิโรธธาตุหรือพระนิพพานธาตุอันพระอริยเจ้าท่านได้บรรลุ  เป็นอกิริยาแล้ว  เป็นวิสังขารธรรม เป็นอสังขตธรรม   ที่ดำรงคงอยู่ตั้งอยู่นั้นหาได้เป็นอนัตตา  เพราะแปรไป  สูญไปไม่


เพราะเหตุไร
 นิโรธธาตุคือพระนิพพานธาตุอันพระอริยเจ้าพระอรหันตเจ้าท่านได้บรรลุจึงไม่เป็นอนัตตา และแต่เฉพาะอาการแทงตลอดนิโรธสัจ  ด้วยสภาพดับแห่งหนึ่งนิโรธเท่านั้นที่เป็นอนัตตา?


เฉลยว่า  เพราะนิโรธาตุ  คือ  พระนิพพานธาตุ  โดยปรมัตถ์ อันพระอริยเจ้าพระอรหันต์เจ้าท่านได้บรรลุแล้วนั้น  เป็นอกิริยา   เป็น อสังขตธรรม   ซึ่งมีอสังขตลักษณะ  ๓  คือ   ไม่ปรากฏความเกิด ๑  ไม่ปรากฏความเสื่อมสลาย  ๑  เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน  ๑   หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นวิสังขารธรรม ที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง   จึงมีสภาวะที่เที่ยง  (นิจฺจํ)   เป็นบรมสุข   (ปรมํสุขํ)  และ ยั่งยืน   (ธุวํ)  จึงไม่ตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์  แต่ส่วน  อาการแทงตลอดนิโรธสัจเป็นสังขตธรรม ซึ่งมีลักษณะ  ๓ คือ  ปรากฏความเกิด ๑   ปรากฏความเสื่อมสลาย  ๑ เมื่อตั้งอยู่   ปรากฏความแปรปรวน  ๑   หรืออีกนัยหนึ่ง  เป็นสังขารธรรม  ที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง จึงตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลัษณ์  ตามหลักพระสัจจธรรม  คือ หลักซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันดุจโซ่  ๓ ห่วง  ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว  ว่า


“ยทนิจฺจํ   ตํ  ทุกฺขํ   ทุกฺขํ   ตทนตฺตา”

แปลความว่า สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์   สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”


ถ้า  นิโรธธาตุ  คือ  พระนิพพานธาตุ  ซึ่งเป็นอสังขตธรรม  เป็นอมตธรรม   อันพระอริยเจ้า  พระอรหันตเจ้าท่านได้บรรลุแล้ว   เป็นอนัตตา  ก็ย่อมหมายความว่า


นิโรธธาตุ   คือ  พระนิพพานธาตุนั้น  ก็ต้องเป็นอนิจจัง และทุกขัง   ด้วย  เพราะเป็นลักษณะที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันดุจโซ่  ๓ ห่วงตามนัยแห่งพระพุทธดำรัสที่กล่าวแล้ว   ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้  เพราะ


(ก) ทั้งขัดด้วยหลักพระสัจจธรรม  คือ  พระไตรลักษณ์  อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว


(ข) ทั้งขัดด้วยอสังขตลักษณะของนิโรธธาตุ คือ  พระนิพพานธาตุที่พระอริยเจ้าท่านได้บรรลุซึ่งเป็นวิสังขารธรรม  และเป็นอสังขตธรรมที่ดำรงอยู่  ตั้งอยู่   ตามความเป็นจริงแท้  และ  ทั้งขัดด้วยลักษณะอันแท้จริงของพระนิพพานธาตุ  ซึ่งเป็นสภาวะที่เที่ยง (นิจฺจํ)   เป็นบรมสุข  (ปรมํ  สุขํ)   และยั่งยืน  (ธุวํ)  ไม่แปรปรวน  (อวิปริณามธมฺมํ)

 อันพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระสารีบุตรมหาเถระเป็นต้นได้แสดงไว้ดีแล้ว

ถ้าใครทิ้งหลักสัจจธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนี้   ก็เลอะเหลว  มีโอกาสเข้าใจผิดเพี้ยนไปจากสัจจธรรมนี้ได้โดยง่าย  และจะกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ   เป็นคนนอกศาสนาไปโดยไม่รู้ตัวได้  แต่พระอริยเจ้าผู้สุปฏิปันโนได้รู้แจ้งแทงตลอดในสังขารธรรม   และวิสังขารธรรมคือพระนิพพาน  ได้ตามที่เป็นจริงแล้ว   ย่อมไม่เห็นผิดเพี้ยนไปจากหลักสัจธรรมนี้ได้เลย


หลักฐานเป็นอย่างนี้   และผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้ผลสมควรแก่ธรรม เขาก็เห็นอย่างนี้  นี่เป็นเพียงตัวอย่างในส่วนของนิโรธ  ซึ่งบางท่านอาจจะสำคัญผิด  ก็เลยไปคิดว่านิโรธธาตุคือพระนิพพานธาตุเป็นอนัตตา  ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น   เป็นอนัตตาแต่เฉพาะอาการคือสภาพดับแห่งนิโรธ  เท่านั้น


ดังที่พระอรรถกถาจารย์ ได้อรรถาธิบายความหมายของการแทงตลอดแห่งสัจจะทั้ง  ๔ นี้  ในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคไว้อีกว่า

“เอกตฺตํ  เอเกน  ญาเนน  ปฏิวิชฺฌตีติ.....จตฺตาริปิ   หิ  อนตฺตาเยว.”


แปลความว่า “   บทว่า  เอกตฺตํ   เอเกน  ญาเณน  ปฏิวิชฺฌติ.  (บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว )  ความว่า  บุคคลกำหนดเป็นอย่างดีถึงความดำรงอยู่  ย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่ง  มีความเป็นของแท้เป็นต้นด้วยมรรคญาณหนึ่งในขณะแห่งมรรค.”


ที่ว่า  บุคคลกำหนดเป็นอย่างดีถึงความสัจจะ  ๔  ต่างกัน  ต่างกันอย่างไร?   ความต่างกัน  แห่งสัจจะ  ๔  นั้นคือ


ทุกขสัจ   สมุทัย  มรรคสัจ  นี่เป็นสังขตธรรม   มีสังขตลักษณะ  อย่างเดียวกัน   คือมีความเกิดปรากฏ  เมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนปรากฏ  และมีความเสื่อมสลายปรากฏ


ส่วนนิโรธสัจ  นั้น  มี อสังขตลักษณะ  เพราะไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งว่า ความเกิดไม่ปรากฏความเสื่อมสลายไม่ปรากฏ   เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรไม่ปรากฏ


นี่คือความต่างกัน ระหว่าง  ทุกขสัจ  สมุทัยสัจ  และ มรรคสัจ  กับ  นิโรธสัจ

เนื้อความตรงนี้   ท่านว่า  
บุคคลกำหนดเป็นอย่างดีถึงความที่สัจจะ  ๔  ต่างกัน

ต่างกันคือ  ทุกขสัจ  สมุทัย  และมรรคสัจ  ๓  อย่างนี้  เป็นสังขตธรรม   แต่นิโรธสัจเป็น อสังขตธรรม  นี่คือความต่างกัน



และความเป็นอันเดียวกัน   นั้นก็คือ    ทุกขสัจ สมุทัย   และมรคคสัจ  เป็นอย่างเดียวกัน   คือ  เป็นสังขตธรรม  มีสังขตลักษณะเหมือนกัน   คือ มีความเกิดปรากฏ   เมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนปรากฏมีความเสื่อมสลายปรากฏ  เป็นต้น


และแม้ในตัวนิโรธสัจ  เองก็มีทั้งความต่างกันและเป็นอันเดียว  ความต่าง กัน  ก็คือ  นิโรธธาตุหรือพระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ที่พระอริยเจ้าบรรลุทั้งอสังขตธรรม ที่ดำรงคงอยู่   ตั้งอยู่ไม่ปรากฏความเกิด  ไม่ปรากฏความเสื่อมสลาย   เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน  หรืออีกนัยหนึ่ง  เป็น วิสังขารธรรม   ที่ไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์   แต่ อาการอันเป็นกิริยาแทงตลอดแห่งนิโรธคือสภาพที่ทุกข์ดับเพราะเหตุ คือสมุทัยดับ  อันเป็นสภาพคืออาการดับแห่งนิโรธนั้นเป็นสังขตะ  หรือ  สังขารธรรม  จึงมีสภาพที่เป็น  อนิจจัง   ทุกขัง  อนัตตา


นี่เองที่พระอรรถกถาจารย์ท่านได้แสดงอาการตลอดว่า  บทว่า เอกตฺตํ  เอเกน  ญาเณนฺ ปฏิวิชฺฌติ  (บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว)  ความว่า   บุคคลกำหนดเป็นอย่างดี  คือ  ต้องกำหนดรู้ให้ดี   ถึงความที่สัจจะ  ๔  ต่างกัน  และเป็นอันเดียวกัน   ดังที่กล่าวมาแล้ว   จะเห็นได้ว่าแม้นิโรธโดยความหมายอย่างเดียว   เฉพาะนิโรธธาตุก็เป็นอสังขตะ    และ  แม้ อาการคือ สภาพดับแห่งนิโรธก็ไม่เหมือน  ไม่เป็นอย่างเดียวกัน   คือ  ต่างกันกับนิโรธธาตุอันพระอริยเจ้าพระอรหันตเจ้าท่านได้บรรลุแล้ว  เป็นวิสังขารธรรม  เป็นอสังขตธรรม ที่ดำรงคงอยู่   ตั้งอยู่   ต้องเข้าใจตรงนี้ในส่วนเบื้องต้นแล้วดำรงอยู่   คือ  ต้องเข้าใจหลักพระสัจจธรรมนี้ให้ดีก่อน   ย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งมีการแทงตลอดด้วยความเป็นของแท้เป็นต้นด้วยมรรคญาณหนึ่ง ในขณะแห่งมรรค   คือ   จึงเห็นแจ้งแทงตลอดอย่างถูกต้อง   จะต้องกำหนดรู้ตรงนี้ให้แน่นอนก่อน

พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายต่อไปในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคว่า


“ถามว่า  เมื่อแทงตลอดสัจจะหนึ่งที่มีความเป็นของแท้เป็นต้น  ของนิโรธสัจจะ  ย่อมเป็นการแทงตลอดสัจจะหนึ่งที่มีความเป็นของแท้เป็นต้น   แม้สัจจะที่เหลืออย่างไร?”


ก็คือว่าเมื่อแทงตลอดสัจจะหนึ่ง  อีกสัจจะอื่นก็แทงตลอดเหมือนกัน  ความนี้เป็นอย่างไรท่านแสดงเป็นคำถามไว้  แล้วก็ได้แสดงคำตอบไว้เพื่อให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง  จะได้หมดสงสัย  ว่า


“แก้ว่า  เมื่อโยคาวจรกำหนดด้วยดีถึงความต่างกัน  และความเป็นอันเดียวกันของขันธ์   ๕   ในส่วนเบื้องต้นแล้วจึงดำรงอยู่”


นี่ท่านยกตัวอย่างขันธ์  ๕  การแทงตลอดขันธ์ ๕  ให้กำหนดด้วยดีถึงความต่างกัน  ความต่างกันมีอย่างไรบ้าง  เช่น  ของขันธ์  ๕    ก็มีรูปขันธ์  มีนามขันธ์   ๔  คือ   เวทนาขันธ์   สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์   วิญญาณขันธ์   หรือมีรูปกับนาม     รูปธรรม  นามธรรม  นี้คือความต่างกัน  แต่ความเหมือนกันของขันธ์   ๕ ก็คือ   สามัญญลักษณะ ลักษณะที่เป็นเองเสมอกันของขันธ์  ๕   (เบญจขันธ์)ว่า  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา   นี่ความเหมือนกัน   เห็นในส่วนเบื้องต้นแล้วจึงดำรงอยู่   ท่านว่า  “เมื่อพระโยคาวจรกำหนดด้วยดีถึงความต่างกัน และความเป็นอันเดียวกันของขันธ์  ๕  ในส่วนเบื้องต้น  แล้วจึงดำรงอยู่”   ท่านแสดงเป็นอุปมาอุปไมย และก็เป็นวิธีปฏิบัติคือ  เป็นวิปัสสนาวิธีด้วย  และ ก็ เป็นความบรรลุด้วย  ว่า


“  ในเวลาที่ออกจากมรรค  ออกโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง   ออกโดยความเป็นทุกข์  หรือออกโดยความเป็นอนัตตา.   แม้เมื่อเห็นขันธ์หนึ่งโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นต้น  แม้ขันธ์ที่เหลือก็เป็นอันเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นต้นฉันใด  แม้การแทงตลอดสัจจะหนึ่งที่มีความเป็นของแท้เป็นต้นของสัจจะที่เหลือ  ก็พึงเห็นมีอุปมาฉันนั้น.”


นี้ท่านแสดงเปรียบเทียบว่า  เมื่อกำหนดด้วยดีถึงความต่างกัน  และความเป็นอันเดียวกันของสิ่งที่จะแทงตลอด  โดยยกเอาขันธ์  ๕  มาเป็นตัวอย่างไว้   ในส่วนเบื้องต้น  แล้วดำรงอยู่   เมื่อเห็นขันธ์หนึ่งโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นต้น  ขันธ์อื่น ๆ  เช่นเห็นรูปว่าไม่เที่ยง  เวทนา  สัญญา สังขาร  และ วิญญาณ  ก็พลอยเห็นว่าหรือเห็นแจ้งแทงตลอดไปด้วยกันว่าไม่เที่ยงเหมือนกัน  อุปมานี้ฉันใด   การแทงตลอดสัจจะทั้ง ๔  เป็นต้นว่า ในเวลาที่ออกจากมรรค  ออกโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง  ออกโดยความเป็นทุกข์   หรือออกโดยความเป็นอนัตตา  ก็ฉันนั้น  และแม้การแทงตลอดสัจจะหนึ่งที่มีความเป็นของแท้อย่างนี้เป็นต้น    สัจจะที่เหลือก็พึงเห็นโดยมีอุปมาฉันนั้นเหมือนกันที่ท่านกล่าวอย่างนี้  อุปมาว่าการแทงตลอดสัจจะหนึ่งแล้ว  สัจจะที่เหลือก็แทงตลอดไปด้วยกันด้วยมรรคญาณหนึ่ง ญาณเดียวเท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 215815เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

และถ้าท่านทั้งหลายได้ศึกษาอบรมพระกัมมัฏฐานให้รู้แจ้งแทงตลอดในสามัญญลักษณะหรือพระไตรลักษณะ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ตามพระพุทธดำรัสที่ได้ตรัสไว้ว่า

“รูป อนิจฺจํ. ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ. ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา.”

แปลความว่า “รูปไม่เที่ยง. สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์. สิ่งใดเป็นทุกข์. สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.”

ก็จะเห็นว่า แม้เห็นความไม่เที่ยง ก็พลอยให้เห็นหรือแทงตลอดทั้งความเป็นทุกข์และ ความเป็นอนัตตานั้นไปด้วยในตัวเสร็จ นี่หมายถึงพระโยคาวจรที่เจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานตามพระธรรมพระวินัยนี้ ก็จะเห็นอย่างนี้

ท่านจึงได้อธิบายต่อไปอีกว่า

“บทว่า ทุกฺขสฺส ทุกฺขฏโฐ ตถฏโฐ (สภาพทนได้ยากแห่งทุกข์เป็นสภาพแท้) คือ อรรถ ๔ อย่างมีความบีบคั้นแห่งทุกขสัจจะเป็นต้น เป็นสภาพแท้ เพราะเป็นจริง แม้ในสัจจะที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. อรรถ ๔ อย่างนั้นแล ชื่อว่าเป็นสภาพมิใช่ตน เพราะมิใช่ตัวตน. ชื่อว่าเป็นสภาพจริง เพราะไม่ผิดไปจากความจริงในสภาพดังกล่าวนั้น. ชื่อว่าเป็นสภาพแทงตลอด. เพราะควรแทงตลอดในขณะแห่งมรรค.”

เพราะฉะนั้นการแทงตลอดสัจจะทั้ง ๔ ด้วยอาการ ๔ คือ ด้วยความเป็นของแท้ ๑ ด้วยความเป็นอนัตตา ๑ ด้วยความเป็นของจริง ๑ ด้วยความเป็นปฏิเวธคือด้วยความแทงตลอด ๑ นั้น เมื่อแทงตลอดสัจจะหนึ่ง สัจจะอีก ๑ ก็เป็นอันได้รับการแทงตลอดเช่นเดียวกัน ทีนี้มีคำอธิบายต่อไปอีกว่า

“บทมีอาทิว่า ยํ อนิจฺจํ (สิ่งใดไม่เที่ยง) ท่านแสดงทำสามัญญลักษณะให้เป็นเบื้องต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า ยํ อนิจฺจํ, ตํ ทุกฺขํ, ตํ อนิจฺจํ (สิ่งใด ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง) ท่านหมายเอา ทุกข์สมุทัย และมรรค. เพราะสัจจะ ๓ อย่างเหล่านั้นเป็นสภาพไม่เที่ยง และชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง. บทว่า ยํ อนิจฺขญฺจ,ตํ อนตฺตา (สิ่งใดไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา) ท่านหมายเอาสัจจะ ๓ เหล่านั้นเท่านั้น. บทว่า ยํ อนิจฺจญฺจ ทุกฺขญฺจ อนตฺตา จ (สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา) ท่านสงเคราะห์นิโรธสัจจะเข้ากับสัจจะ ๓ เหล่านั้น.

คือมีความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นหมายเอาอาการแทงตลอดสภาพดับแห่งนิโรธ เพราะเรื่องนี้ท่านพูดเรื่อง อาการแทงตลอดแห่งสัจจะทั้ง ๔ ไม่ใช่เรื่อง ตัวนิโรธ ธาตุคือพระนิพพานธาตุ แต่ประการใด เพราะนิโรธธาตุคือ พระนิพพานธาตุที่พระอริยเจ้าพระอรหันตเจ้าท่านบรรลุนั้นเป็นอสังขตธรรม ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง มีอสังขตลักษณะ คือ ไม่ปรากฏความเกิด เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน และไม่ปรากฏความเสื่อมสลายหมดสภาพเดิมของมันไป หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นวิสังขารธรรม จึงไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกขัง และไม่เป็นอนัตตา

แต่อาการแทงตลอดด้วยสภาพดับแห่งนิโรธ และ อาการที่กำลังจะบรรลุมรรค ผล นิพพาน นั้นนั่นแหละ ยังเป็นกิริยาอยู่ ยังเป็นสังขตธรรม มีความเกิดปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ มีความแปรปรวนปรากฏ และมีความเสื่อมสลายปรากฏ จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

**** เรื่องลึกซึ้งอย่างนี้ มิใช่เป็นเรื่องที่ปุถุชนจะคาดคะเน หรือคิดเดาเอาแต่เพียงจากการอ่านหรือฟังข้อความเพียงสั้น ๆ แล้วจะเข้าใจถูกต้องได้

เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้พระอรรถกถาจารย์จึงได้อรรถาธิบายในอรรถกถาขุททกนิกายปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๒ หน้า ๒๓๐ นั้น ท่านหมายถึงอย่างนี้ ท่านส่งเคราะห์นิโรธสัจจะ คือ ท่านอ้างไปถึงพระสารีบุตรมหาเถระว่า ท่านสงเคราะห์นิโรธสัจจะเข้ากับสัจจะ ๓ เหล่านี้ เราต้องเข้าใจว่าสงเคราะห์ส่วนไหน ก็คือ ส่วนอาการแทงตลอดแห่งสัจจะนี้เอง ไม่ใช่ตัวนิโรธธาตุหรือพระนิพพานธาตุที่พระอริยเจ้าบรรลุที่เป็นอกิริยาแล้ว ดำรงอยู่ ตั้งอยู่ แต่ประการใด

แล้วก็มีคำต่อไปว่า “จริงอยู่ แม้สัจจะ ๔ ก็เป็นอนัตตาทั้งนั้น.” ก็ดังที่กล่าวนี้แหละ คือ ทุกขสัจจะ สมุทัยสัจจะ มรรคสัจจะ และนิโรธสัจจะในส่วนของการแทงตลอดเท่านั้นที่เป็นสังขตธรรม มีสังขตลักษณะ จึงเข้าอนัตลักษณะ หรือ เข้าสามัญญลักษณะ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการฉะนี้

**** เพราะฉะนั้น อย่างได้เผลอไผล เพราะว่าท่านผู้ใดอ่านแล้วไม่พิจารณาให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมพอที่จะเข้าถึงรู้เห็นและเป็นโลกุตตรธรรมที่บริสุทธิ์ตามสมควรแก่ธรรมเหมือนอย่างพระบูรพาจารย์ผู้สุปฏิปันโน หรืออย่างผู้ปฏิบัติธรรมผู้สุปฏิปันโนในปัจจุบัน หรือผู้ที่ปฏิบัติธรรมที่ได้ผลพอสมควรแก่ธรรม พอที่จะเห็นและรู้พระนิพพานธาตุตามที่เป็นจริง ถ้าท่านที่ยังไม่เข้าถึงจุดนี้ หรือ ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงจุดนี้ก็อาจจะเข้าใจไขว้เขวไปได้ ขอท่านจงตั้งใจปฏิบัติธรรมเถิด อย่าได้ศึกษาปริยัติแต่เพียงรู้เฉย ๆ แล้วก็อาจจะเข้าใจผิดได้โดยง่าย

ถ้าหากว่าท่านได้ยินได้ฟังสัจจธรรมที่ผู้รวบรวมประมวลข้อมูลที่ถูกต้อง ที่เชื่อถือได้ ตรงประเด็นที่สมบูรณ์ทั้งหลักปริยัติ และผลการปฏิบัติของพระผู้สุปฏิปันโน เอามาแสดงแล้ว อาจจะมีความรู้สึกกว่าค้านความคิดหรือมติของท่าน แม้ท่านจะได้อ่านได้เรียนคัมภีร์มากมายก่ายกองเท่าใดก็ตาม อาจจะหลงเข้าใจผิดได้ อาจจะพลาดพลั้งได้ และโดยอาการอย่างนั้น ด้วยความที่ท่านเรียกรู้มามาก (สำหรับบางท่านนั้น) ก็อาจจะเผลอไปตำหนิติฉินธรรมะที่ผู้รวมประมวลข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ตรงประเด็น และที่สมบูรณ์ จากเอกสารหลักฐานทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา และผลการปฏิบัติของพระผู้สุปฏิปันโนที่สอดคล้องตรงกันแล้วนั้น ท่านอาจจะขัดเคืองใจที่มติจากข้อมูลดังกล่าวมาค้านแย้งหรือไม่ตรงกับมติของท่านที่เคยมี อยู่ เดิมแล้วนั้น ท่านก็อาจจะมีฐานะ หรือ แสดงอาการดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเรียกว่า อลคัททูปมาปริยัติ คือปริยัติดั่งงูพิษ ได้

ฉะนั้น พึงอย่าประมาทว่าได้เรียนปริยัติมามากแล้ว แม้ถ้าหากว่าธรรมะดังกล่าวนั้นไปขัดข้องมติของท่าน ก็ควรตั้งใจศึกษา รับฟังและพิจารณาทบทวนใหม่ให้ดี แล้วจงปฏิบัติให้ได้ผลสมควรแก่ธรรม เพื่อสลัดตนออกจากทุกข์และจากวัฏฏะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกการเรียนปริยัติแล้วเอาไปปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลสมควรแก่ธรรมของท่านผู้นั้นว่า นิสสรณัตถปริยัติ คือ ปริยัติ ที่ศึกษาแล้วก็ปฏิบัติ เพื่อสลัดตนออกจากทุกข์ในวัฏฏะ และถ้าสามารถปฏิบัติได้สูงขึ้นไปถึงมรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ได้เรียนได้ทบทวน หรือได้ทำความเข้าใจแล้วแสดงออกตามที่เป็นจริงเพียงไร ก็จะได้ชื่อว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ ปริยัติประดุจขุนคลัง เพียงนั้น

เพราะฉะนั้น ท่านที่เรียนแต่ปริยัติ แม้จะมากเพียงไร สูงเพียงไร แต่ ถ้ายังปฏิบัติได้ไม่เข้าถึง ไม่รู้เห็น ไม่เป็นโลกุตจรธรรมที่พอจะเข้าใจถึงเรื่องพระนิพพานอย่างแท้จริงแล้ว จงอย่าประมาท เพราะอาจจะผิดพลาดพลั้งได้ ถ้าได้ฟังธรรมที่ไม่ตรงกับมติของท่านก็ตาม ท่านก็จงรับฟังด้วยดี จงพิจารณาด้วยดีเถิด อย่าประมาท ไปด่วนไปตัดสินใจประนามเขา ว่า เขาทำพระธรรมพระวินัยให้วิปริต จงศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งด้วยตน แล้วท่านจะถึงมรรคผลนิพพานตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ มรรค ผล นิพพานนั้นดีเลิศประเสริฐนัก ถึงแม้ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูง ก็พอจะทราบได้ถูกต้องกว่าการเอาแต่นอนกอดคัมภีร์โดยไม่ยอมฟังใคร แม้ผลการปฏิบัติของพระผู้สุปฏิปันโน จนกลายเป็นอลคัททูปมาปริยัติ (ปริยัติดั่งงูพิษ) เป็นพวกอนัตตาตกขอบ หรือ อุจเฉททิฏฐิ หลุดออกนอกพระพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัว.

**************************************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ ทางมรรคผลนิพพาน (ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท