สำนักปรัชญาทั้ง ๖ และ ลัทธิของครูทั้ง ๖


สำนักปรัชญาทั้ง ๖ และ ลัทธิของครูทั้ง ๖ 

สำนักปรัชญาทั้ง ๖ (6 Theories)


--------------------------------------------------------------------------------

         ๑. ลัทธิเวทานตะ (Vedanta) ลัทธินี้แปลว่า ตอนสุดท้ายแห่งพระเวท โดยแสดงว่าความจริงอย่างแท้จริงมีอยู่สิ่งเดียวคือปรมาตมัน ๆ แตกตัวจากอาตมันคือวิญญาณของบุคคล มันสิงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เพียงแต่เขาอาจจะไม่ทราบเท่านั้น หลักการนี้พุทธศาสนามหายานก็นำไปใช้ โดยกล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีธาตุแห่งความเป็นพุทธะอยู่แล้วในตัวทุกคน ลัทธินี้เป็นระบบปรัชญาที่เกิดจากอุปนิษัท โดยอุปนิษัทเรียกร้องศรัทธา เวทานตะเรียกร้องเหตุผลจากมนุษย์ ปรัชญาหลักของเวทานตะคือ ความไม่รู้เท่าทันความจริงที่ว่า จิตของเราแต่ละคนเป็นอาตมัน เป็นอย่างเดียวกับจิตของพรหมคือ ปรมาตมัน คนเราจึงกระทำกรรมถือกรรมต่าง ๆ เป็นตัวตนของเขา ดังนั้นจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ เมื่อใดกำจัดอวิชชา ความไม่รู้ไห้หมดไปแล้วอาตมันจะเข้าร่วมกับปรมาตมัน คนที่สำเร็จจะกลายเป็นพรหม ลัทธินี้รวบรวมโดยอวยาส



         ๒. ลัทธินยายะ (Nyaya) แปลว่าเข้าไปในธรรม เป็นหลักการค้นคว้าหาความจริงอย่างอนุมานและพิจารณาเรื่องทุกข์ ชาติ พฤติกรรมโทษพร้อมทั้งอวิชชา ซึ่งนยายะสอนให้เปลื้อง ตั้งแต่ปลายไปหาต้น แล้วจะบรรลุความหลุดพ้น วาตสยายนะ อาจารย์สอนชื่อดังของลัทธินี้กล่าวว่า "อวิชชา คือ ความไม่รู้นำมาซึ่งความเกาะเกี่ยว ความแห้งแล้ง ความริษยา ความเห็นผิดความประมาท อหังการและความโลภตามลำดับ บุคคลผู้มีอวิชชา ย่อมประกอบประทุษกรรมต่าง ๆ มีการลักขโมย ประพฤติผิดในกาม เป็นต้นนี้เป็นอกุศลทั้งสิ้น บุคคลใดมีความประพฤติดีรู้จักให้ทาน มีความเมตตากรุณา มีความสัตย์ บำเพ็ญประโยชน์ พูดจามีสาระย่อมได้ชื่อว่าประกอบกุศลกรรม การเกาะเกี่ยวชีวิต ทำให้มีการเกิดและนำมาซึ่งความทุกข์ อุปมาว่าอาหารที่คลุกเคล้าด้วยน้ำผึ้งและยาพิษก็ควรทิ้งไปให้หมดเพราะเป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์" ลัทธินี้รวบรวมโดยท่านฤๅษีโคตมะ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระพุทธเจ้าและหลักคำสอนก็คล้ายคลึงอย่างมาก



       ๓. ลัทธิไวเศษิกะ (Vaisesika) ลัทธินี้สอนว่าโลกเกิดจากพลังอันมองไม่เห็นที่สืบมาจากกรรมในภพก่อน แต่ก็มีจิตอันยิ่งใหญ่ที่สุดคือปรมาตมันเป็นใหญ่อยู่ในสากลโลก จิตอันยิ่งใหญ่นี้แยกเป็นวิญญาณ ส่วนบุคคลเรียกว่าชีวาตมัน ปรมาตมันเป็นอมตะ ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีการทำลายแตกดับแผ่ซ่านทั่วไปโดยปราศจากรูปร่างและเป็นผู้สร้างสากลโลกขึ้นก่อตั้งโดยกณาทะ



         ๔. ลัทธิสางขยะ (Sankhya) มาจากคำว่าสังขยา แปลว่าการนับก่อตั้งโดยกบิลมุนี เป็นลัทธิที่มีอิทธิพลมากพอสมควรในยุคก่อนพุทธกาล แนวปรัชญาของลัทธินี้อยู่ในประเภททวินิยม คือสองส่วนโดยชี้ให้เห็นว่าปุรุษะถูกขังอยู่ในประกฤติ จึงได้ประกอบกรรมอันนำมาซึ่งความทุกข์ เมื่อทราบดังนี้แล้วจึงต้องพยายามหาทางถอนวิญญาณของตนออกจากวัตถุธาตุทั้งมวล เพื่อเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิญญาณสากล หรือปรมาตมันต่อไป



         ๕. ลัทธิโยคะ (Yoga) ก่อตั้งโดย ฤๅษีตัญชลี ในยุคต้นฝึกบำเพ็ญตบะ โดยหวังไปทางโลกิตสุข ต่อมาฝึกเน้นหนักไปในทางทำจิตให้สะอาดเพื่อจะได้รวมกับพระพรหมในโอกาสต่อไป คำว่าโยคะแปลว่าการดับพฤติของจิต หรือสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของจิต ลัทธินี้ให้หลักการไว้ว่า จิตมักจะแสดงอาการให้เห็น ๔ ลักษณะ คือ ๑. พุทธะ ความเข้าใจหรือแน่วแน่ ๒. จิตความตริตรอง ๓. สมฤติ ความระลึกทรงจำ ๔. อหังการ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ จิตมีฤติ ๔ ประการ คือ ๑.ประมาณความวิปลาส ๒.ความสมมติผิด ๓.ความหลับ ๔.และความระลึกความทรงจำ



         วิธีการของโยคะคือบังคับการระบายและตั้งลมหายใจเข้าออก เพ่งบางส่วนของร่างกายให้เกิดสมาธิ ต้องมีความข่มการดิ้นรนให้หมดไป โดยตั้งใจเพ่งพระอิศวรเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นบุรุษหรืออาตมัน อันพ้นแล้วจากกรรมหรือความเสื่อมเสียทั้งปวง มีทางเข้าถึงโยคะ ๘ สาย การปฏิบัติโยคะนี้ต้องปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ไป และจะเกิดความสำเร็จเป็นขั้น ๆ เช่นกัน บางครั้งอาจเกิดมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลพลอยได้ แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อการดับพฤติของจิต ปัจจุบันลัทธินี้ยังคงแพร่หลาย แม้ในเมืองไทยเราเอง ก็มีการเปิดหลักสูตรโยคะอยู่ทั่วไป



         ๖. ลัทธิมิมางสา (Mimamsa) ลัทธินี้มีหลักคล้ายโยคะมาก ผิดกันเฉพาะตอนที่สอนให้ทำพิธีต่าง ๆ ไม่ได้สอนให้ใช้การเพ่งด้วยการคิดอันเป็นหลักของโยคะ ก่อตั้งโดยไชมินิ จึงไม่มีความสำคัญมากนัก





 
ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ

หมายเลขบันทึก: 215824เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ครูทั้ง ๖ (6 Gurus)

--------------------------------------------------------------------------------

ลัทธิครูทั้ง ๖ เป็นลัทธิที่มีมาก่อนยุคพุทธกาลเล็กน้อยและบางท่านร่วมสมัยกับพระพุทธองค์มีประวัติไม่

ชัดเจนมากนัก หลักฐานที่ได้มาจากพระไตรปิฎิกเป็นหลักโดยทั้ง ๖ ท่านต่างเป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงพอสมควร แต่ที่ดังมากที่สุดจนถึงปัจจุบันคือ นิครนถ์นาฏบุตร หรือมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน ซึ่งจะได้กล่าวย่อ ๆ แต่ละลัทธิดังนี้

๑. ลัทธิปูรณะกัสสปะ (Purana Kassapa)

ท่านนี้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในบรรดาครูทั้ง ๖ ในหนังสือสุมัคลวิลาสินีของพระพุทธโฆษาจารย์ปราชญ์ผู้เรืองนามราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ กล่าว่า ท่านผู้นี้เกิดในตระกูลวรรณะพราหมณ์ โตขึ้นออกบวชแบบลัทธินิยมการนุ่งลมห่มฟ้า หรือเปลือย ในวัยเด็กเป็นคนรับใช้ในตระกูลที่มีคนรับใช้ ๙๙ คน รวมบูรณะอีกคนหนึ่งเป็น ๑๐๐ พอดี แต่มีบางมติแย้งว่า คำว่าปูรณะมาจากการบรรลุโพธิญาณมากกว่า เป็นเรื่องยากที่คนวรรณะพราหมณ์จะลดตัวมาเป็นเด็กรับใช้ ท่านผู้นี้มีคำสอนที่ว่า "วิญญาณนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานอะไร แต่ร่างกายต่างหากทำงาน วิญญาณจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลบุญและบาปที่ร่างกายทำไว้และกล่าวว่า บุญไม่มี บาปไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ทำเองก็ดีให้ผู้อื่นทำก็ดี ย่อมไม่มีผล สิ่งใดก็ตามที่ได้ทำลงไปแล้วดีก็ตาม ชั่วก็ตามเท่ากับว่าไม่ได้ทำไม่มีบุญหรือบาปเกิดขึ้น ทฤษฎีนี้เรียกว่า อกริยทิฏฐิ คือการกระทำที่ไม่มีผล หรือไม่เชื่อไม่เชื่อในผลของกรรม" ซึ่งค้านกับคำสอนของพระพุทธองค์ที่กล่าวว่า กายกับจิตเป็นสิ่งที่เนื่องถึงกัน แยกกันไม่ได้ ทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลกรรมเช่นนั้น

๒. ลัทธิมักขลิโคสาล (Magghalikosala)

ท่านผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์มักขลิ มารดาชื่อภัททา ณ หมู่บ้านสาลวัน ใกล้เมืองสาวัตถี พระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวว่า คำว่าโคสาละ แปลว่าผู้เกิดในคอกวัว สมัยเป็นเด็กเป็นคนรับใช้ วันหนึ่งเดินอุ้มหม้อน้ำมันไปตามถนน ด้วยความประมาทจึงลื่นล้ม เจ้านายจึงกล่าวเตือนว่า มา ขลิ แปลว่า อย่าลื่น จึงได้ชื่อว่ามักขลิ ตั้งแต่นั้นมา แต่ทฤษฎีนี้ก็มีผู้แย้งว่าเป็นไปได้ยากที่ที่คนวรรณะพราหมณ์จะลดตัวเป็นคนใช้ ยิ่งในสมัยก่อนพุทธกาล วรรณะยังเข้มข้นอยู่

ลัทธินี้มีความเกี่ยวเนื่องกับศาสดา คือปารศวนาถต้นกำเนิดศาสนาเชน และเคยเป็นอาจารย์ของนิครนถ์นาฏบุตรมาก่อน ลัทธินี้มีชีวิตอย่างสกปรก ไม่ยอมรับอาหารที่เขาเจาะจงถวาย ไม่รับอาหารขณะมีสุนัขอยู่ข้าง ๆ หรือแมลงวันตอมอยู่เพราะถือว่าเป็นการแย่งความสุขของผู้อื่นไม่รับประทานปลา เนื้อ ไม่ดื่มสุราและของมึนเมา ไม่สะสมข้าวปลาอาหาร ยามข้าวยากหมากแพง

ลัทธิมีคำสอนว่า "สัตว์ทั้งหลาย ต้องฟื้นคืนชีพมาอีกไม่สูญหายไปจากโลกนี้และมีภพที่ไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงไม่ว่าภพชั้นต่ำหรือสูง สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย การกระทำไม่มี ผลของการกระทำไม่มีการกระทำที่เป็นเหตุเศร้าหมองไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความ บังเอิญและโชควาสนาและอำนาจของดวงดาว การกระทำทุกอย่างอยู่ภายใต้ชะตากรรม อำนาจของดวงดาวมีอำนาจเหนือสิ่งใดในพิภพ แม้แต่พระเจ้ายังตกอยู่ในอำนาจของโชคชะตา ด้วยคำสอนแบบนี้มักขลิโทศาลจึงจัดเข้าในเจ้าลัทธิอเหตุกทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นมาของมันเอง โดยมันเองและเพื่อมันเองไม่มีใครสร้างและปรุงแต่ง"

แนวคำสอนนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าไร้ประโยชน์ที่สุดในบรรดาลัทธิทั้งหลาย ลัทธินี้สืบต่อกันมาไม่นานก็ขาดหายไป

๓. ลัทธิอชิตเกสกัมพล (Ajita kesakambala)

ลัทธินี้ก่อตั้งโดยท่านอชิตเกสกัมพลเป็นผู้มีชือเสียงก่อนพุทธกาลเล็กน้อย คำว่า เกสกัมพล แปลว่า ผู้มีผ้านุ่งผ้าห่มที่ทำด้วยผม เป็นผ้าที่หยาบและน่าเกลียด มีแนวความคิดที่รุนแรงคัดค้านทุกลัทธิรวมทั้งพุทธศาสนา

ลัทธินี้สอนว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างขาดสูญ ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีมารดา บิดา ทำอะไรก็สักว่าแต่ทำเท่านั้นการบูชาบวงสรวงก็ไร้ผล การเคารพนับถือผู้ควรเคารพก็ไร้ผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี สัตว์ตายแล้วขาดสูญ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อตายแล้วก็จบที่ป่าช้า ไม่มีอะไรเกิดอีก บาปบุญคุณโทษไม่มี การทำบุญคือคนโง่ การแสวงหาความสุขจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ความสุขที่ได้มาจาก การปล้นสะดมภ์ ย่องเบา เผาบ้านสังหารชีวิตก็ควรทำ"

ลัทธินี้ หนักไปในทางวัตถุนิยมยิ่งกว่าลัทธิใด เป็นลักษณะอุจเฉททิฏฐิ ที่เชื่อว่า ตายแล้วขาดสูญ

๔. ลัทธิปกุธกัจจายนะ (Pakudha Kacchayana)

ลัทธินี้ก่อตั้งโดยปกุธกัจจายนะ หนึ่งในคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง เล่ากันว่าเกิดในตระกูลพราหมณ์ สมัยเด็กมีความสนใจทางศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โตขึ้นจึงออกบวชแสวงหาโมกขธรรม จนบรรลุธรรมที่มุ่งหวัง แล้วสั่งสอนจนกลายเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง

ลัทธินี้สอนว่า "สภาวะที่แยก หรือทำให้แปรเปลี่ยนไปไม่ได้อีก มี ๗ อย่างคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สุข ทุกข์ วิญญาณ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือใครเนรมิตร เป็นสภาพที่ยั่งยืนั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่อาจให้สุข ทุกข์ ผู้ฆ่า ผู้ถูกฆ่า บาปกรรมจากการฆ่าจึงไม่มี เป็นแต่เพียงสภาวะที่แทรกเข้าไปวัตถุทั้ง ๗ เท่านั้น" ความเห็นของปกุธกัจจายนะจึงจัดเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าโลกเที่ยง ซึ่งเป็นแนวคำสอนที่ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนา

๕. สัญชัยเวลัฏฐบุตร (Sanjaya Velatthaputra)

ท่านสัญชัย เป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระอัครสาวกคือ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุต รก็เคยอยู่กับท่าน เป็นเจ้าลัทธิของพวกปริพพาชก ตั้งสำนักเผยแพร่ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ชาวมคธเป็นจำนวนมากต่างนับถือในเจ้าลัทธินี้

แต่เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองผละหนีไปพร้อมลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก จึงกระอักเลือดจนถึงมรณกรรม ท่านสัญชัยมีแนวคำสอนกลับกลอก เอาแน่นอนไม่ได้ ไม่สามารถบัญญัติอะไรตายตัวอะไรออกไปได้ เพราะกลัวผิดบ้าง ไม่รู้บ้าง โดยคำสอนว่า "ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง โลกนี้โลกหน้าไม่มีจะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีทั้งสองอย่าง วิญญาณไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช้ทั้งสองอย่าง"

ทฤษฎีของท่านสัญชัยจึงฟังยากจะเอาแน่ เอานอนไม่ได้ พูดซัดส่ายเหมือนปลาไหล ในกรตังคสูตร จึงกล่าวประณามว่า เป็นลัทธิคนตาบอด ไม่สามารถนำตนและผู้อื่นให้เข้าถึงความจริงได้ มีปัญญาทราม โง่เขลาไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ ได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากไม่รู้จริงอย่างถ่องแท้

๖. นิครนถ์นาฏบุตรหรือศาสดามหาวีระ (Mahavira)

รูปปั้นศาสดามหาวีระ เบลโกล่า อินเดียภาคใต้

ก่อนพุทธกาลราว ๔๓ ปี นิครนถ์นาฏบุตร หรือมหาวีระ (Mahavira) ก็ได้ก่อตั้งลัทธิศาสนาหนึ่งขึ้น ซึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า ศาสนาเชน ท่านนิครนถ์นาฏบุตร นับเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในบรรดาครูทั้ง ๖ ตำนานกล่าวว่าเกิดที่กุณฑคาม เมืองไวสาลี แคว้นวัชชีของพวกเจ้าลิจฉวี บิดานามว่าสิทธัตถะหรือสิทธารถะ เป็นกษัตริย์ลิจฉวีพระองค์หนึ่ง มารดาชื่อว่าตฤศลา เนื่องจากเป็นคนกล้าหาญ จึงได้ชื่อว่า มหาวีระ แปลว่า มีความแกล้วกล้าอาจหาญ

ครั้งออกบวชแสวงหาโมกขธรรม ๑๒ ปี จึงบรรลุโมกษะ เมื่อได้บรรลุแล้วจึงได้นามใหม่ว่า ชินะ อันหมายถึงผู้ชนะแล้ว ท่านเป็นศิษย์ท่านปาร์ศวา (Parsva) ซึ่งถือว่าเป็นศาสดาองค์ที่ ๒๓ ผู้มีอายุห่างจากท่านมหาวีระเพียง ๒๕๐ ปีเท่านั้น คำว่า ศาสดาในศาสนาเชนเรียกว่า ตัรถังกร แปลว่า ผู้ถึงท่าคือนิพพาน

โดยมหาวีระเป็นองค์ที่ ๒๔ ได้สั่งสอน อยู่ ๓๐ ปี จึงนิพพานหรือ นิรวาน (Nirvan) ก่อนพระบรมศาสดา อย่างไรก็ตาม มีสาวกของมหาวีระหรือนิครนถ์นาฏบุตรเป็นจำนวนมากที่เปลี่ยนกลับมาเป็นพุทธสาวก

เชนนับเป็นศาสนาที่ถือหลักการไม่เบียดเบียน หรืออหิงสาอย่างเอกอุ และที่มีแนวคิดใกล้คียงกันกับพุทธศาสนา แม้แต่การสร้างพระพุทธรูป ถ้าดูอย่างผิวเผินก็ไม่เห็นความแตกต่างจากพระพุทธรูปเท่าใด ยกเว้นจะเปลือยกายและมีดอกจันทน์ที่หน้าอกเท่านั้น

ปัจจุบันมีเชนศาสนิกชนประมาณ ๖ ล้านคน ทั่วอินเดีย โดยมากมีฐานะดี เพราะเป็นพ่อค้าเสียส่วนใหญ่ จุดประสงค์ของลัทธินี้ก็เพื่อจะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ โดยเรียกว่าโมกษะ คือต้องสำเร็จเกวลัชญาณก่อน โดยสอนว่า "การที่จะนำไปสู่โมกษะได้นั้นคือแก้ว ๓ ดวงคือมีความเห็นชอบ มีความรู้ชอบ มีความประพฤติชอบ เท่านั้น พระเจ้าเป็นเรื่องเหลวไหล พระเจ้าไม่สามารถบันดาลทุกข์สุขให้ใครได้ ทุกข์สุขเป็นผลที่สืบเนืองมาจากกรรม การอ้อนวอนก็เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ไม่มีสาระ"

ลัทธินี้ถือว่าการบำเพ็ญตนให้ลำบากคืออัตตกิลมถานุโยค ถือเป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรมที่เรียกว่า โมกษะ ผู้ที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดทางกาย วาจา ใจ

กล่าวกันว่า ท่านมหาวีระบำเพ็ญขันติธรรมนานจนไม่ขยับเขยื้อนไปไหน จนเถาวัลย์ขึ้นพันรอบกายท่าน

นอกจากนี้นักบวชเชนยังต้องรักษาศีล ๕ ข้อย่างเคร่งครัด คือ

๑. เว้นจาการฆ่าสิ่งที่มีชีวิตรวมทั้งพืชด้วย

๒.เว้นจาการพูดเท็จ

๓. เว้นจาการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

๔. เว้นจาการประพฤติผิดในกาม

๕. ไม่ยินดีในกามวัตถุ

และศาสนิกชนเชนต้องรักษาศีล ๑๒ ข้ออย่างเคร่งครัดเช่นกัน คือ

๑. เว้นจากการทำลายสิ่งที่มีชีวิต

๒. เว้นจาการประพฤติผิดในกาม

๓. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ไห้

๔. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๕. มีความพอใจในความปรารถนาคือพอใจในสิ่งที่ตนมี

๖. เว้นจากอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความชั่ว เช่นการเที่ยวเตร่

๗. รู้จักประมาณในการใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภค

๘. เว้นจากการทางที่ก่อให้เกิดอาชญาให้ร้าย

๙. ไม่ออกพ้นเขตไม่ว่าทิศใดทิศหนึ่งยามบำเพ็ญพรต

๑๐. บำเพ็ญพรตทุกเทศกาล

๑๑. อยู่จำอุโบสถศีล

๑๒. ให้ทานแก่พระและต้อนรับแขกผู้มาเยือน

ต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน ๒๔๐ ปีก็แตกออกเป็น ๒ นิกายคือ

๑. นิกายทิฆัมพร ยังถือเคร่งครัดเหมือนเดิม โดยไม่นุ่งผ้า เปลือยกายเหมือนเดิม

๒. นิกายเสวตัมพร นุ่งขาวห่มขาว ไว้ผมยาว แต่งตัวสะอาดสะอ้าน และคบหากับผู้คนมากกว่านิกายเดิม ที่เน้นการปลีกตัวอยู่ต่างหาก

ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ

ในปรัชญา 6 สำนัก ๆ ใดใก้ลเคียงพุทธศาสนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท