ลัทธิของครูทั้ง 6 ในสามัญผลสูตร


ลัทธิของครูทั้ง 6 ในสามัญผลสูตร 

ลัทธิของครูทั้ง   6  จัดว่าเป็นลัทธิร่วมพุทธกาล  มีหลักฐานปรากฏในสามัญผลสูตรที่กล่าวถึงครูทั้ง  6   ว่า...  



เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้ครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าพิมพิสารผู้ราชบิดาอยู่มาวันหนึ่งทรงมีความประสงค์จะสนทนากับสมณพราหมณ์   ในปัญหาเรื่องการบวชมีผลเป็นที่ประจักษ์อย่างไร      ได้เสด็จถามปัญหาดังกล่าวกับครูทั้ง  6    และได้รับคำตอบไม่เป็นที่พอพระทัย  เพราะเป็นการถามปัญหาอย่างหนึ่งและตอบเสียอีกอย่างหนึ่ง   ทรงนำคำตอบในลัทธิของครูทั้ง  6  มาตรัสเล่าถวายพระพุทธเจ้า  ข้อความพิสดารมีปรากฏในสามัญญผลสูตร   ครูทั้ง   6  นั้นมีนามปรากฏ  ดังนี้  คือ



1.  ปูรณกัสสปะ

2.  มักขลิโคศาล

3.  อชิตเกสกัมพล

4.  ปกุธกัจจายนะ

5.  สญชัยเวลัฏฐบุตร

6.  นิครนถนาฏบุตร




--->>  1.  ทรรศนะของปูรณกัสสปะ


ปูรณกัสสปะ  เป็นเจ้าลัทธิเก่าแก่ผู้หนึ่ง   มีความเห็นว่า   วิญญาณเป็นสิ่งไร้กัมมันตภาพเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  ร่างกายนี้เองเป็นเจ้าของพฤติกรรม  วิญญาณไม่เกี่ยวข้องกับกรรมดีกรรมชั่วที่ร่างกายทำ  แต่ร่างกายก็เป็นสิ่งที่ไร้เจตนา   ดังนั้น  เมื่อร่างกายทำสิ่งใด  ๆ   ลงไป  จึงไม่จัดเป็นบุญบาปแต่อย่างใด   บุคคลไม่จัดว่าได้ทำบุญเมื่อให้ทาน  เป็นต้น   และไม่จัดว่าได้ทำบาป  เมื่อฆ่าสัตว์   ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม   หรือพูดปด  



พระพุทธศาสนาเรียกทรรศนะของปูรณกัสสปะว่า   “อกิริยวาท ”  แปลว่า  “กล่าวการทำว่าไม่เป็นอันทำ”  


เป็นทรรศนะที่ปฏิเสธพลังงาน   ปฏิเสธกรรมไปด้วยพร้อมกัน  ผู้มีทรรศนะดังกล่าวนี้เรียกว่า “อกิริยวาที”   แปลว่า  “ผู้กล่าวการทำว่าไม่เป็นอันทำ”  ขัดแย้งกับหลักกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง   เพระพระพุทธศาสนาสอนหลักกรรมว่า  สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม   ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี  ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว  และถือว่าเป็นหลักเหตุผลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง


**************************************************************************


--->>  2.  ทรรศนะของมักขลิโคศาล


กล่าวกันว่า  มักขลิโคศาลเป็นเจ้าลัทธิฝ่าย  อาชีวก   วันหนึ่งเห็นต้นข้าวที่คนเหยียบย่ำแล้วกลับงอกงามขึ้นมาอีก   จึงเกิดความคิดว่า  
“สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้ว   จะต้องกลับมีวิญญาณขึ้นมาอีก  ไม่ตายไม่สลาย” และถือว่า  “สัตว์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับกระบวนการที่ได้กำหนดไว้แล้ว”  กระบวนการดังกล่าว   เริ่มต้นจากระดับต่ำสุดไปหาจุดหมายที่สูงสุด เป็นกระบวนการที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง   เช่นเดียวกับความร้อนมีระดับต่ำเป็นน้ำแข็ง  และมีระดับสูงเป็นไฟ



มักขลิโคศาลปฏิเสธกรรมและพลังความเพียรว่าเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย   สัตว์ทั้งหลายไม่ต้องทำความเพียร  และไม่ต้องทำความดีเพื่ออะไร  เพราะการบรรลุโมกษะไม่ได้สำเร็จด้วยความเพียรหรือด้วยกรรมใด  ๆ   สัตว์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดจากภพสู่ภพไปโดยลำดับ   เมื่อถึงภพสุดท้ายก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้เอง   ความบริสุทธิ์ประเภทนี้เรียกว่า   “สังสารสุทธิ”
  คือความบริสุทธิ์ที่ได้จากการเวียนว่ายตายเกิด   กระบวนการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์    เช่นเดียวกับการคลี่เส้นด้ายออกจากกลุ่ม   เมื่อจับปลายเส้นด้ายด้านนอกแล้วปากกลุ่มด้ายไป   กลุ่มด้ายจะคลี่ออกจนถึงปลายด้านใน  ปลายสุดด้านในของเส้นด้ายนั่นเอง   เปรียบเหมือนความบริสุทธิ์ของสัตว์  หรือที่เรียกว่าโมกษะ



เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหนึ่ง ๆ  เป็นเรื่องของการโชคดีและเคราะห์ร้าย  ไม่เกี่ยวกับกรรมดีและกรรมชั่วแต่อย่างใด    สัตว์ประเภทอื่น  ๆ  จะเข้าถึงโมกษะได้  จำต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ก่อนจึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้



พระพุทธศาสนาเรียกทรรศนะของมักขลิโคศาลว่า  “อเหตุกวาทะ”   คือกล่าวว่า   “ความเศร้าหมองและความบริสุทธิ์ของสัตว์ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย  ”   ทรรศนะของมักขลิโคศาลจัดเป็น
อกิริยาวาทด้วย   เพราะเป็นการปฏิเสธกรรมและผลของกรรมอยู่แล้วด้วย   ทั้งยังเป็นอวิริยวาทด้วย  เพราะปฏิเสธพลังความเพียรว่าเป็นสิ่งไร้ผลด้วย



**************************************************************************


--->>  3.  ทรรศนะของอชิตเกสกัมพล


ทรรศนะของอชิตเกสัมพล  ตรงกับปรัชญาในยุคหลังคือวัตถุนิยม   เป็นทรรศนะที่ปฏิเสธว่า   ไม่มีสัตว์   ไม่มีบุคคลใด   ๆ   ทั้งสิ้น  ไม่มีชาติหน้า   ไม่มีบุญ   ไม่มีบาป   ปฏิเสธกรรมดีกรรมชั่ว  ปฏิเสธพิธีกรรมทางศาสนาว่าไร้ผล   ปฏิเสธความสมบูรณ์ทางจิต   ไม่มีใครทำดีไม่มีใครทำชั่ว   เพราะสัตว์ประกอบด้วยธาตุ  4  คือ   ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ   จึงไม่มีสัตว์ใด  ๆ    คงมีแต่กลุ่มธาตุ  ชาตินี้ของสัตว์สิ้นสุดลงที่การตาย  ไม่มีอะไรเหลืออีกหลังจากตาย



ธาตุทั้งหลายเหล่านั้นทำหน้าที่ผลิตวิญญาณขึ้นมา    เมื่อธาตุเหล่านั้นแยกจากกันสัตว์ก็สิ้นสุดกันแค่นั้น   ไม่มีความดีความชั่ว   ไม่มีโลกหน้าชาติหน้าต่อไปอีก   ไมมีสวรรค์หรือโลกทิพย์ที่ไหนอีก   ไม่มีพระเจ้า    โลกนี้ดำรงอยู่โดยตัวเอง   วิญญาณและเจตนาของสัตว์เกิดจากธาตุ  เช่นเดียวกับสุราที่เกิดจากการหมักดองเครื่องปรุง   เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลงที่ความตายจึงไม่จำเป็นต้องทำบุญเพื่อเป็นเสบียงไปชาติหน้า   ทรรศนะนี้ปฏิเสธคัมภีร์พระเวทอย่างรุนแรง  เป็นทรรศนะที่ชี้แนะว่า  สัตว์จะแสวงหาความสุขแก่ตนด้วยวิธีใด  ๆ ก็ได้  ไม่ต้องทำสิ่งที่เคยเชื่อกันมาว่าจะอำนวยความสุขในชาติหน้า    เพราะวิญญาณคือร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง  



พระพุทธศาสนาเรียกทรรศนะนี้ว่า  “นัตถิกวาท”  แปลว่า  “กล่าวว่าไม่มีสัตว์บุคคล”


ทรรศนะของอชิตเกสกัมพล  ตรงกับปรัชญาจารวากหรือวัตถุนิยม   ยอมรับค่านิยมทางกามสูขเท่านั้น   ไม่มีค่านิยมใด  ๆ   อีกที่เหมาะสมของมนุษย์   จึงเป็นทรรศนะที่ถูกตำหนิจากปรัชญาอื่นอย่างมาก


**************************************************************************


คำอธิบายสามัญญผลสูตรกล่าวว่า   เจ้าลัทธิทั้ง  3   ดังกล่าวแล้วนั้น  


-->  ปูรณกัสปะกล่าวว่า   เมื่อบุคคลทำบาป  ไม่ชื่อว่าเป็นทำบาป  จัดว่าเป็นการปฏิเสธกรรม    


-->  เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพลกล่าวว่า     สัตว์ทั้งหลายตายแล้วหมดสิ้นกัน  ไม่มีอะไรไปเกิดอีก   จัดว่าเป็นการปฏิเสธผลของกรรม


-->  เจ้าของลัทธิมักขลิโคศาลกล่าวว่า   สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ   ไม่มีปัจจัย   เศร้าหมองเองมีความบริสุทธิ์ได้เอง   จัดว่าเป็นการปฏิเสธทั้งกรรมและผลของกรรม  




เจ้าลัทธิปูรณกัสสะปะแม้ปฏิเสธแต่กรรม  ก็จัดว่าปฏิเสธผลของกรรมไปด้วย


เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพลเมื่อปฏิเสธผลของกรรมก็เป็นการปฏิเสธกรรมไปด้วยแล้ว  


เพราะฉะนั้น     โดยความหมายแล้ว   เจ้าลัทธิทั้ง  3 จัดว่าเป็นทั้ง  อกิริยาวาทอเหตุ  และนัตถิกวาท  เหมือน ๆ กัน  เพราะปฏิเสธทั้งกรรมและผลกรรม



-->> ฏีกาสามัญญผลสูตรกล่าวว่า...


เจ้าลัทธิปูรณกัสสปะจัดว่าปฏิเสธกรรม  เพราะกล่าวการทำว่าไม่เป็นอันทำ  


เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพลจัดว่าปฏิเสธผลกรรม    เพราะถือว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกต่อไป  


เจ้าลัทธิมักขลิโคศาลจัดว่าปฏิเสธทั้งกรรมและผลกรรม   เพราะเมื่อทำการปฏิเสธเหตุก็เท่ากับปฏิเสธผลไปด้วยกัน   เมื่อปฏิเสธเหตุของความเศร้าหมองและความบริสุทธิ์  ก็เป็นการปฏิเสธผลกรรมเสียแล้วด้วย   เมื่อกรรมไม่มีผลกรรมก็ต้องไม่มีด้วย  หรือเมื่อผลกรรมไม่มี  ก็ต้องสืบเนื่องมาจากกรรมไม่มี



-->> คำอธิบายคัมภีร์  เอกนิบาต   อังคุตตรนิกาย   กล่าวว่า...  



มิจฉาทิฐิบางอย่างห้ามทั้งสวรรค์และมรรค

บางอย่าง ห้ามแต่มรรคอย่างเดียว  ไม่ห้ามสวรรค์

บางอย่างไม่ห้ามทั้งมรรค และสวรรค์



มิจฉาทิฐิ  3  อย่างคือ  


อกิริยทิฐิ   และนัตถิกทิฐิ   ห้ามทั้งสวรรค์และมรรค


มิจฉาทิฐิถึงที่สุด   10  อย่าง คือการยึดถือว่า   โลกเที่ยง  เป็นต้น  จัดว่าห้ามแต่มรรคอย่างเดียว  เป็นความเห็นที่วิปริตจากทางของมรรค   แต่ไม่ห้ามสวรรค์เพราะไม่เป็นอกุศลกรรมบถ  


ส่วนสักกายทิฐิ  20  มีเห็นรูปว่าเป็นตน  เห็นตนว่าเป็นรูป  เห็นตนในรูป   เป็นต้น   เป็นการเห็นลักษณะ  4  อย่างในขันธ์  5  รวมเป็น   20  ไม่ห้ามทั้งสวรรค์และมรรคเพราะไม่เป็น
อกุศลกรรมบถ   และเมื่อเกิดความรู้จัดแจ้งตามเป็นจริง  ก็บรรลุมรรคผลได้

หมายเลขบันทึก: 215825เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

--->> 4. ทรรศนะของปกุธกัจจายนะ

ปกุธกัจจายนะเป็นนักพหุนิยมและวัตถุนิยม มีทรรศนะคล้ายกับอชิตเกสกัมพลโดยถือว่าสัตว์ประกอบด้วยธาตุทั้งหลาย ธาตุเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีความมั่นคง ไม่เป็นบ่อเกิดของสิ่งใด ๆ ได้อีก ไม่มีพฤติกรรมร่วมกับสิ่งใด ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงไม่มีใครฆ่าใคร ไม่มีใครถูกฆ่า ไม่มีใครแสดงอะไรแก่ใคร ไม่มีใครสอน ไม่มีใครเรียน แม้ดาบจะผ่านร่างกายของสัตว์ไปก็ไม่จัดเป็นการทำบาป ไม่จัดเป็นการทำลายสัตว์เป็นเพียงดาบได้ผ่านกลุ่มธาตุที่ปรากฏเป็นร่างกายเท่านั้น ร่างกายนั้นเป็นกลุ่มของปรมาณูไม่มีสิ่งอื่นใดทุกอย่างสิ้นสุดลงพร้อมกับการตายของสัตว์นั้น ๆ

พระพุทธศาสนาเรียกทรรศนะนี้ว่า [b]“อุจเฉทวาทะ” หรือ “อุจเฉททิฐิ” แปลว่า “เห็นว่าสูญสิ้น” คือไม่มีใคร ตายแล้วจึงไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก อยู่ในฐานะเป็น นัตถิกทิฐิ คือ ปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นอเหตุกทิฐิ คือ ปฏิเสธเหตุของความเศร้าหมอง ความบริสุทธิ์ และเป็น อกิริยทิฐิ คือ ปฏิเสธการกระทำด้วย เพราะเมื่อปฏิเสธบุคคลอย่างเดียวแล้ว การกระทำจะมีได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ทรรศนะของเจ้าลัทธิปกุธกัจจายนะ จึงมีลักษณะกลมกลืนกับเจ้าลัทธิเหล่าอื่นที่กล่าวมาแล้ว

**************************************************************************

--->> 5. ทรรศนะของสญชัยเวลัฏฐบุตร

ไม่ปรากฏชัดเจนว่า สญชัยถือทรรศนะใด ว่าเป็นสิ่งสูงสุด เพราะถือว่า สิ่งอันติมะเป็นสิ่งไม่สามารถกำหนดได้ สญชัยกล่าวถึงปัญหาบางอย่างที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เช่น ปัญหาเรื่อง อาตมันเป็นสิ่งเดียวกับร่างกายหรือไม่ ? สัตว์ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่? ปัญหาเหล่านี้พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ โดยทรงแสดงเหตุผลว่าเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แต่ทรงพยากรณ์ปัญหาต่าง ๆ ในกระบวนการของอริยสัจ 4

ในการตอบปัญหาต่าง ๆ สญชัยใช้หลักตรรกวิทยาเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญจึงถูกวิจารณ์ว่าเป็น อมราวิกเขปิกะ คือ พูดซัดส่ายไปมาอย่างปลาไหล เป็นคนพูดจาไม่อยู่กับร่องรอยที่แน่นอน แต่ไม่จัดว่าเป็น อกิริยาวาทิน อย่าง 4 เจ้าลัทธิข้างต้น

-->> คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า สญชัยเป็นครูของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ของพระพุทธเจ้า พระอัครสาวกได้พยายามที่จะให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่ออ้อนวอนไม่เป็นการสำเร็จ จึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก

--->> 6. ทรรศนะของนิครนถนาฏบุตร

นิครนถนาฏบุตร เป็นเจ้าลัทธิร่วมยุคกับพระพุทธเจ้า เป็นเจ้าลัทธิที่ถือปฏิบัติ เปลือยกาย เพราะถือว่าเครื่องนุ่งห่มเป็นเครื่องผูกพันอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายของการมีพันธะอยู่กับโลกวัตถุ

นิครนถนาฏบุตร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในศาสนาเชน โดยทั่วไปถือว่าเป็นผู้เดียวกับมหาวีระศาสดาองเชน

แต่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงนครถนาฏบุตรเป็นส่วนใหญ่ ว่าเป็นผู้ปฏิบัติทรมานตน ในฐานะเป็นตบะปลดเปลื้องกรรมเก่าให้หมดไป และเพื่อปิดกั้นกรรมใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น ต่อจากนั้นก็จะบรรลุโมกษะ

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า นิครนถนาฏบุตร ได้สิ้นชีวิตก่อนพระพุทธเจ้า สาวกแตกสามัคคีกัน พระพุทธสาวกเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็เป็นห่วงถึงพระพุทธศาสนา ด้วยเกรงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระสาวกจะแตกสามัคคีเช่นนั้น จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อทำสังคายนา พระพุทธเจ้าทรงแนะนำวิธีพิจารณาหลักธรรมและทรงแสดงวิธีการไว้เป็นตัวอย่าง

ทรรศนะทางปรัชญาของเชน กล่าวถึงเนื้อสารน่ามีอยู่จริง 9 อย่าง คือ

1. ชีวะ ที่เป็นตัวการของสิ่งมีชีวิต มีอยู่ในทุกสิ่งแม้แต่ต้นไม้ มีความรู้เป็นคุณสมบัติ

2. อชีวะ สิ่งที่เป็นพื้นฐานให้ชีวะทำงานได้ เช่น ร่างกายเป็นที่อาศัยของสิ่งที่ เรียกว่า ชีวะ

3. บุญ-บาป เป็นผลเกิดจากพฤติกรรมของชีวะ ปรากฏทางกาย วาจา และทางมนัส

4. อาสวะ คือสิ่งที่หลั่งไหลเข้าสู่ร่างกาย และจิต เป็นไปตามกรรมที่ได้ทำไว้

5. สังวระ คือการปิดกั้นกระแสกรรม และทำลายกรรมให้หมดสิ้นไป

6. พันธะ คือการผูกพันทางชีวะ เป็นเหตุให้ต้องตายและเกิดสืบต่อไป

7. นิรชา การกำจัดผลกรรม เหมือนการปิดน้ำไม่ให้รั่วเข้าเรือ แล้วทำการวิดน้ำในเรือออกให้หมดสิ้น

8. โมกษ คือความหลุดพ้น เป็นขั้นที่ผู้ปฏิบัติรู้ชัดตามเป็นจริง ตามหลักการของศาสนาเชน

ปรัชญาเชนถือว่า ความจริงต่าง ๆ มีอยู่หลายแง่หลายมุม ทั้งความจริงก็มีหลายอย่าง ทรรศนะดังกล่าวนี้เรียกว่า “อเนกันตวาทะ” แปลว่า “กล่าวถึงความจริงไม่ใช่หนึ่ง ” แต่ความจริงเหล่านั้นจะยืนยันเพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นปฏิเสธความจริงด้านอื่น ๆ จะเป็นการปฏิเสธความจริงเสียหลายด้าน เมื่อถือเอาเพียงด้านเดียว ดังนั้นการจะกล่าวยืนยันความจริงใด ๆ จำต้องมีคำว่า “บางที” หรือ “อาจนะ” เข้ามากำกับ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสความจริงด้านอื่นให้เป็นความจริง หลักการดังกล่าวนี้เรียก “สยาทวาท” แปลว่า “การกล่าวความจริงอย่างมีเงื่อนไข ”

ด้วยเหตุนี้ปรัชญาเชนจึงไม่กล่าวความจริงที่เป็น “อันติมะ” การกล่าว การกล่าวถึงสิ่งใด ๆ จะต้องระบุ รูปแบบ เนื้อสาร และ กาลเทศะ ของสิ่งนั้น ๆ มีเงื่อนไขการกล่าวความจริง 7 ขั้น คือ

1. สิ่งนั้นอาจจะเป็นจริง (ตามรูปแบบ เนื้อสาร และกาลเทศะ)

2. สิ่งนั้นอาจจะไม่จริง-

3. สิ่งนั้นอาจเป็นจริงและไม่เป็นจริง-

4. สิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งอธิบายไม่ได้-

5. สิ่งนั้นอาจจะเป็นจริง และอธิบายไม่ได้

6. สิ่งนั้นอาจจะไม่เป็นจริง และอธิบายไม่ได้-

7. สิ่งนั้นอาจจะเป็นจริงและไม่เป็นจริง ทั้งอธิบายไม่ได้-

ข้อปฏิบัติพื้นฐาน 5 ประการ ในศาสนา เชน คือ

1. อหิงสา การไม่เบียดเบียนทางกายวาจาและใจ

2. สัตยะ การปฏิบัติสัจจะทางกาย วาจา ใจ

3. อสเตยยะ การไม่ลักด้วยกาย วาจา ใจ

4. พรหมจริยะ การปฏิบัติถูกต้องเรื่องกามด้วยกาย วาจา และใจ

5. อปริคคหะ การไม่เกาะเกี่ยวสิ่งใด ๆ ด้วยกาย วาจา และใจ

นักบวชต้องปฏิบัติตามหลักการนี้อย่างเคร่งครัด จึงเรียกว่าลักษณะการปฏิบัติว่า มหาพรต ส่วนผู้ครองเรือนปฏิบัติในขั้นต่ำลงมา จึงเรียกว่า “อนุพรต” คำว่า “พรต” คือข้อปฏิบัติหรือหมายถึงสิ่งที่เรียกว่า ข้อวัตรปฏิบัติ

หลักการในการปฏิบัติในศาสนาเชนที่นำมากล่าวนี้ เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น สำหรับเป็นเครื่องประกอบทรรศนะของนิครนถนาฏบุตร ผู้ประสงค์ศึกษาพิสดารค้นหาได้จากศาสนาและปรัชญาของเชน ซึ่งมีอยู่ในฐานะเป็นปรัชญาและศาสนาระบบหนึ่งของอินเดีย

--->> รวมความว่า ลัทธิปรัชญาของครูทั้ง 6 เป็นลัทธิปรัชญาร่วมพุทธกาล ทำให้เห็นว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น ไม่ได้มีเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น ที่ปรากฏในห้วงความคิดของปวงชนแต่ยังมีลัทธิปรัชญาอื่น ๆ อีกมาก มีทรรศนะของครูทั้ง 6 เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสปรารภครูทั้ง 6 ว่า เหมือนชาวประมงที่ปิดกั้นปลาไม่ให้สัตว์น้ำแหวกว่ายลงสู่ห้วงแห่งอิสรภาพ คือมรรคผลนิพพาน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท