สมณะพราหมณ์


สมณะพราหมณ์

 

ชื่อบุคคลในศาลอินเดียสมัยโบราณ   ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด   คือ    สมณะ และ  พราหมณ์  ทั้งสองคำนี้มีความหมายคลุมถึงบุคคลในหลายศาสนา  เป็นต้นว่า     ศาสนาพราหมณ์  ศาสนาเชน  ศาสนาพุทธ  ตลอดถึงเหล่าอาชีวก   และบุคคลประเภทอื่น  ๆ  อีกมากที่ดำเนินชีวิตอยู่ในศาสนาต่างประเภทกัน   รวมถึงดาบสและนักพรตทั้งหลาย  

ชื่อบุคคลประเภทต่าง ๆ  ทางศาสนาที่จะกล่าวถึงนี้   มิใช่ปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเท่านั้นแต่ปรากฏในคัมภีร์ของศาสนาอื่น  ๆ  ด้วย  เป็นต้นว่าคัมภีร์ของศาสนาเชน   ในวรรณกรรมของปตัญชลีผู้เขียนปรัชญาโยคะ  ในจดหมายเหตุของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก  ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชหลังพุทธกาล   200  ปีเศษ

อรรถกถาคือคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกชื่อ   สุมังคลวิลาสินี   ได้อธิบายไว้ว่า   สมณะ  หมายถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด   แต่หมายถึงบุคคลที่สละโลกออกบวช”   ส่วนคำว่า  พราหมณ์  หมายถึงบุคคลที่ถือกำเนิดในสกุลพราหมณ์  มีความสนใจทางศาสนาและปรัชญายิ่งกว่าความรู้อื่นใด   เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องในสังคม”  

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้อธิบายให้เห็นต่อไปว่า  สมณะเป็นผู้ดำรงชีวิตด้วยภิกขาจาร  และถือการปฏิบัติบำเพ็ญตบะ  มุ่งทำลายกิเลสเป็นสำคัญ  มีหลักฐานปรากฏหลายแห่งว่า  บุคคลนอกพระพุทธศาสนาก็นิยมเรียกพระพุทธเจ้าว่า  พระสมณโคดม  ซึ่งหมายความว่า   เป็นที่ยอมรับกันว่าพระพุทธเจ้าทรงอยู่ในกลุ่มบุคคลประเภทเป็น  สมณะ  นักบวชในศาสนาเชนก็นิยมเรียกว่า   สมณะ   พระพุทธศาสนาได้อธิบายความหมายของคำว่า  สมณะ   ว่ามีรากศัพท์มาจาก  สม  แปลว่า  สงบ  หรือ  สำรวม   หมายถึง  สงบจากอกุศล  ทุจริตทั้งปวง  มีกาย  วาจา  ใจ  ส่วนคำว่า  

อาชีวก   อธิบายไว้ในคัมภีร์อรรถกถาปปัญจสูทนี  ว่า  หมายถึงนักบวช  หรือสมณะประเภทเปลือยกาย  น่าจะอยู่ในสายเดียวกันกับกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า  นิครนถ์  ซึ่งหมายถึงนักบวชเปลือยกาย  ตามนิกายของเจ้าลัทธิชื่อ  นิครนถ  นาฏบุตร
อรรถกถาชื่อ   ปปัญจสูทนี   ได้วิเคราะห์ความหมายของคำว่า  สมณะ  และ  พราหมณ์  ไว้ว่า...
พึงทราบว่า  บุคคลเป็นสมณะเพราะสงบจากบาป  เป็นพราหมณ์เพราะลอยบาปเสียได้  

อีกประการหนึ่ง  

เรียกว่า  สมณะ  เพราะมีความประพฤติสม่ำเสมอ  หรือ  เพราะมีความประพฤติสงบมีกาย  วาจา  ใจ  สงบ  

ดังนั้นความหมายของคำว่า  สมณะ   ในระดับสูง  คือ  หมายถึง  ผู้ลอยบาปได้ชนะความทุกข์เพราะเกิดแก่เจ็บตายได้

มหาอัสสปุรสูตร  มัชฌิมนิกาย   มูลปัณณาสก์    กล่าวถึงหน้าที่ของพุทธสาวกว่าเป็นสมณะ  หรือเป็นพราหมณ์  ด้วยคุณธรรม  หมายถึงเป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์ด้วยความบริสุทธิ์ด้วยความสงบอย่างสมบูรณ์  เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือ   ได้รับอุปถัมภ์และการอารักขาจากบ้านเมืองเสมอมา   การบรรลุธรรมเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของสมณพราหมณ์รวมความว่า   ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา  คำว่า   สมณะ   และ   พราหมณ์   ไม่มีความหมายแตกต่างกันในระดับสูง  โดยพราหมณ์นั้น   มีทั้งพราหมณ์ที่เป็นสมณะและเป็นคฤหัสถ์   ส่วนสมณะหมายถึง  ผู้สละชีวิตทางโลกเป็นนักบวชโดยส่วนเดียว

ทางด้านสังคม   สมณะก็เป็นสังคมหนึ่ง  ติดตามด้วยสังคมพราหมณ์   สังคมกษัตริย์และสังคมคฤหบดี  

คัมภีร์มัชฌิมนิกายได้กล่าวถึงบริษัท  4  คือ  ขัตติยบริษัท   พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท   และสมณบริษัท   ทำให้เห็นว่า   สมณะ   กับ  พราหมณ์ ที่กล่าวถึงในที่นี้  อยู่คนละสังคม  คนละบริษัท ไม่ใช่อย่างเดียวกัน  

พราหมณ์อาจทำหน้าที่รักษาหลักเกณฑ์ระเบียบประเพณีของสังคมพราหมณ์และทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา   แก่ผู้ที่เกิดในวรรณะพราหมณ์โดยตรง  ส่วนในพระพุทธศาสนาไม่มีระบบวรรณะ  พระพุทธเจ้าทรงรับบุคคลที่เกิดจากสกุล  ต่างๆ เข้ามาสังกัด  ในภิกษุบริษัทบ้าง  ภิกษุณีบริษัทบ้างของพระองค์  ดังนั้น  สมณะ  กับ พราหมณ์  ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ต่างกันโดยความหมาย  


ทั้งพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกอยู่ในฐานะเป็นสมณะ เพราะมีความสงบกาย   วาจา  ใจ  สงบจากบาปและอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือ  จะเรียกว่าพราหมณ์ก็ได้  เพราะลอยบาปได้ด้วยการปฏิบัติ  ทั้งนี้ควรเข้าใจไว้ด้วยว่า  พระพุทธศาสนาอธิบายความหมายของคำดังเดิม  ด้วยการปรับปรุงความหมายใหม่แล้ว  จึงควรใช้คำเหล่านี้ด้วยความหมายที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา

*****************************************************************************
ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  พุทธปรัชญาเบื้องต้น  (รศ.สุวรรณ  เพชรนิล)

หมายเลขบันทึก: 215826เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากได้ประเด็นที่มันรู้เรื่องกว่านี้ ที่มีสาระกว่านี้ เอาแบบที่ว่าเข้าใจง่าย

อยากรู้เรื่องการบวชของพรา

หมณ์และฤษี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท