พราหมณปุโรหิต , พราหมณาจารย์


พราหมณปุโรหิต

การทำพิธีบูชายัญส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพราหมณ์และกษัตริย์  โดยเชื่อว่าจะเป็นเหตุให้บรรลุความสุขและความดีขั้นสูงสุดที่นิรันดร   การบูชายัญจึงทำได้ยาก  เพราะผู้ประกอบพิธีต้องมีความรู้ทางศาสนาเป็นอย่างดี   ในพิธีบูชายัญต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก  หน้าที่สำคัญเป็นเรื่องของพราหมณ์ผู้รู้ยชุรเวท   การสวดเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ที่รู้สามเวท   ผู้ประกอบพิธีต้องบริสุทธิ์โดยกำเนิดทั้งฝ่ายบิดาและมารดา  สืบต่อกันมาถึง  7  ชั่วคน  

กูฏทันตสูตร    แสดงให้เห็นว่า  กุฏทันตพราหมณ์เป็นเศรษฐีในที่บางแห่งนิยมเรียกว่า   พราหมณ์มหาศาล   แม้กูฏทันตพราหมณ์ได้เตรียมการบูชายัญไว้แล้ว  ก็ตัดสินใจไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  เพื่อปรึกษาวิธีการให้การบูชายัญของตนมีผลมากข้อนี้ย่อมเป็นการยืนยันว่า    พราหมณ์มีชื่อเสียงในครั้งนั้นไม่น้อยที่ยอมรับว่า   พระสมณโคดมผู้ศาสดาของพระพุทธศาสนา    เป็นผู้แตกฉานในคัมภีร์พระเวทและยัญพิธีเป็นอย่างดี   แม้ชาวบ้านจะพากันคัดค้านด้วยถ้อยคำต่าง ๆ   กูฏทันตพราหมณ์ก็ยังยืนยันว่า  พระสมณโคดมประเสริฐบริสุทธิ์กว่าหลายประการ  

เรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพราหมณ์ปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้ามหาวิชิตราช  ก็แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า   พราหมณปุโรหิตทำหน้าที่ถวายความรู้  ประกอบพิธีกรรม   ตลอดถึงเสนอแนะหลักการบางประการแก่พระราชา   โดยนัยนี้   พราหมณปุโรหิตจึงมีความสำคัญต่อราชสำนักและนโยบายการปกครองแผ่นดินอยู่ไม่น้อย

ส่วนนักบวชที่มีความชำนาญในการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์นั้น  ต้องมีความสามารถในการสวดใช้เสียงให้ถูกต้องอีกด้วย   ดำรงชีวิตด้วยปัจจัยไทยทาน

ส่วนพิธีบูชายัญ  สำหรับปุโรหิตโดยกำเนิดในสกุลของนักประกอบพิธีกรรมทางศาสนา   ได้รับการยกย่องนับถือจากประชาชนเป็นอย่างดี   ในปัจจุบันน่าจะได้แก่สกุลของครูและลูกของคุรุประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่รักษานำประชาชนในพิธีกรรมทางศาสนา   นอกจากมีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาโดยตรงแล้ว   ยังมีความรู้ทางนิติคือขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอย่างดีด้วยปุโรหิตจึงอยู่ในฐานะเป็นครูอาจารย์ประจำราชสำนักในกาลต่อมา   อย่างที่เรียกว่า  ปุโรหิตาจารย์  พราหมณ์ที่อยู่ในตำแหน่งนี้เรียกว่าพราหมณปุโรหิต   ดังที่กล่าวถึงในเรื่องกูฏทันตพราหมณ์  ส่วนนักบวชที่สละ
โลกสละการการครองเรือนเรียกว่า   พราหมณสมณะ   พราหมณปุโรหิตทำหน้าที่ร่วมกันกับพราหมณ์ที่เป็นสมณะ   ในพิธีบูชายัญและราชพิธีอื่น ๆ   เป็นตำแหน่งประจำราชสำนักในกาลต่อมา

*************************************

พราหมณาจารย์

ในคัมภีร์พระไตรปิฏกทางพระพุทธศาสนา  มีหลายสูตร  เช่น   เตวิชชสูตร   กูฏทันตสูตร  สุภสูตร  และสูตรอื่นอีกมากในทีฆนิกายเป็นต้น   ได้กล่าวพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงหลายคน  เช่น  จังกีพราหมณ์   โปกขรสาติพราหมณ์   ชานุสโสณีพราหมณ์   โตเทยยพราหมณ์  กูฏทันตพราหมณ์  และอื่น  ๆ  อีกมาก  ว่าเป็นครูประจำหมู่บ้านที่ตนได้รับพระราชทานจากพระราชทานจากพระราชาเป็นผู้ร่ำรวยมีชื่อเสียงเรียกว่า   พราหมณมหาศาล   บางครั้งทำการบูชายัญด้วยสัตว์จำนวนมาก  ๆ  พราหมณ์เหล่านี้มีคุณสมบัติอย่างปุโรหิต   คือรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างดี   มีความบริสุทธิ์ทางวรรณะ  7  ชั่วคน  มีร่างกายได้ลักษณะงดงาม   มีความสามารถในการประกอบพิธีอย่างถูกต้อง   ทำหน้าที่สอนมนต์แก่ศิษย์จำนวน   300  คนบ้าง  500  คนบ้าง  ที่มาจากเมืองต่าง  ๆ  ในทิศานุทิศ  ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนประจำหมู่บ้านนั้น  

แม้หลักฐานจะปรากฏจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเดียว  ก็เป็นการแน่ชัดว่า  พราหมณ์เหล่านั้นเป็นนักปราชญ์มีชื่อเสียงอยู่ในตำแหน่ง  พราหมณาจารย์  คือ  เป็นพราหมณ์ระดับอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลาย  เป็นหัวหน้าหรือเป็นเจ้าสำนักทีเดียว

ถ้าพิจารณาจากทรรศนะทางพระพุทธศาสนา  พราหมณ์เหล่านั้นไม่ใช่บุคคลในศาสนาอย่างแท้จริงนัก   เป็นเพียงครูของพวกเราพราหมณ์หรือของปวงชนประจำหมู่บ้านเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสปรารภพราหมณ์เหล่านั้นว่า   เป็นเพียงนักร่ายมนต์บอกมนต์  เป็นผู้ปฏิบัติและสอนทางไปสู่พรหมโลก   โดยถือ  พราหมสหัพยตา   คือ     ความเป็นสหายกับพรหม  หรือการเข้าถึงความเสมอภาคกับพรหมเป็นเป้าหมาย  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามว่าเห็นพรหมกันหรือไม่...?

พราหมณ์เหล่านั้นสารภาพว่าไม่เคยเห็น   อาจารย์ก็ไม่เคยเห็น  อาจารย์ของอาจารย์ก็ไม่เคยเห็น  ฤษีผู้เขียนคัมภีร์พระเวท  เช่น   ฤษีอัตถกะ  ฤษีวามกะ เป็นต้น   ก็ล้วนแต่ไม่เคยเห็นพรหมทั้งสิ้น
พระพุทธตรัสเปรียบเทียบว่าเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด   บอกว่าจะนำไปดูพรหมแต่ผู้นำทางก็ไม่เคยเห็นพรหม   ผู้เดินตามก็ไม่ได้เห็นพรหม  พระพุทธเจ้าทรงปฏิญญาณพระองค์ว่าทรงเห็นพรหม  ทรงรู้จักพรหมทรงรู้จักทางให้ถึงพรหม   ด้วยความหมายทางพระพุทธศาสนา  คือทางรู้จักภาวะที่ประเสริฐและปฏิปทาให้ถึงภาวะที่ประเสริฐนั้น...

************************************************************
ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  พุทธปรัชญาเบื้องต้น  (รศ.สุวรรณ  เพชรนิล)

หมายเลขบันทึก: 215827เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท