ชีวิตแบบฤษี


ชีวิตแบบฤษี

การดำเนินชีวิตแบบฤษีเป็นแบบชีวิตที่มีมานานอย่างหนึ่ง   เป็นเรื่องที่ปรากฏมาแต่โบราณกาล  ทั้งในอียิปต์  ปาเลสไตน์   ซีเรีย   และประเทศทางตะวันออกหลายประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศอินเดีย

-->>  กล่าวกันว่า   การดำเนินชีวิตแบบฤษี   น่าจะเป็นรูปแบบของการใช้ชีวิต ทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด

คัมภีร์อารัณยกะของพราหมณ์กล่าวว่า  พราหมณ์อยู่ป่าเรียกว่า  วนปรัสถะ มีหน้าที่ศึกษาคัมภีร์  ประกอบพิธีบูชายัญ   สวดมนต์และทำสมาธิ  แต่ไม่ได้กล่าวถึงการบำเพ็ญตบะใด  ๆ  ไว้

คำว่า   มุนี  คำว่า  ดาบส   ในขั้นแรกหมายถึง   ผู้อยู่ป่าและบำเพ็ญตบะด้วยวิธีการต่าง  ๆ  คัมภีร์อุปนิษัทกล่าวว่า   การบำเพ็ญตบะและการสละกามวัตถุ  เป็นวิธีการปฏิบัติให้เข้าถึงฐานะที่สูงสุด   และกล่าวว่านักปฏิบัติมี  2  อย่าง  คือ

นักปฏิบัติประจำหมู่บ้าน  ทำการบูชายัญ   บำเพ็ญตบะ    ชักชวนชาวบ้านทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์  เช่น  ขุดบ่อน้ำ  สร้างหนทางเป็นต้น แม้จะปฏิบัติในชั้นสูง  ๆ  ก็กลับมาใช้ชีวิตทางโลกได้อีก

นักปฏิบัติที่ออกอยู่ป่า  มีศรัทธามั่นคง   ถือสัจจะ  บำเพ็ญตบะ   เพื่อไปสู่เทวโลกตามทางที่เรียกว่า  เทวยาน   ไม่กลับมายังโลกนี้อีก   ประเภทหลังนี้เรียกว่า   สันยาสิน  ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในการออกจาริกจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน   จากแคว้นสู่แคว้น   ดำรงชีวิตด้วยภิกขาจารมาปรากฏชัดเจนในเรื่องอาศรมของฮินดูว่า   ประเภทหลังนี้เป็นนักบวชสละโลกโดยสิ้นเชิง  

คำว่า  มุนี   ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง   ผู้ได้อบรมตนทางกายวาจาใจแล้ว  ปรากฏในคัมภีร์นิเทศ  6  ประเภท  คือ


1.  อาคารมุนี   มุนีครองเรือน  เป็นผู้รู้และปฏิบัติตามคำสอน  แต่ใช้ชีวิตทางโลก

2.  อนาคารมุนี   มุนีผู้ไม่ครองเรือน   เป็นผู้สละโลก  ตรงกันข้ามกับอย่างที่  1

3.  เสขมุนี  มุนียังต้องศึกษา  หมายถึงผู้ได้บรรลุมรรคผลในขั้นต้น ๆ  

4.  อเสขมุนี   มุนีที่ไม่ต้องศึกษา  หรือ  จบการศึกษาคือ  พระอรหันต์

5. ปัจเจกมุนี   มุนีคือ   พระปัจเจกพุทธเจ้า   ผู้ที่ตรัสรู้ธรรมเฉพาะตน

6.  มุนิมุนี   หรือ   มหามุนี หมายถึงจอมมุนีคือ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยนัยนี้คำว่า  มุนี   จึงหมายถึง  นักปราชญ์ส่วนคำว่า   ดาบส   แปลว่า   ผู้มีตบะ  หมายถึงผู้บำเพ็ญตบะต่าง  ๆ  ใช้หนังสัตว์  เช่น  หนังเสือนุ่งห่ม  และยังหมายถึงนักบวชเปลือยกายอีกด้วย  

ในทางพระพุทธศาสนาเรียกผู้กำจัดกิเลสได้ว่า   ดาบส   ในความหมายว่า  ทำลายกิเลสได้

-->> เป็นที่น่าสังเกตว่า   ศัพท์เหล่านี้ที่ศาสนาต่าง  ๆ  ในอินเดียใช้อยู่แล้ว   เป็นที่ปรากฏแพร่หลายในหมู่ชน  หรือเป็นที่รู้จักในหมู่ชน  พระพุทธเจ้าทรงนำมาใช้ในพระพุทธศาสนา  ด้วยการให้ความหมายใหม่หรือกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่   ช่วยให้มีความรวดเร็วในการสื่อสารรับรู้เป็นวิธีการเหมาะสมอย่างยิ่งในการประกาศศาสนาขึ้นมาใหม่  

แม้คำว่า  ฤษี  พระองค์ก็อยู่ในฐานะ  มหาฤษี   แปลว่า   ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่  การที่พระพุทธเจ้าทรงนำศัพท์เก่ามาใช้ เช่นนี้   ไม่ปรากฏกล่าวถึงว่าเป็นการเสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีแต่อย่างใด   น่าจะถือเป็นวิธีการอันฉลาดของนักการสอนอย่างยิ่ง

--->> คัมภีร์มัชฌิมนิกาย   กล่าวว่า   พราหมณ์ฤษีดำเนินชีวิตอยู่ในป่า  มีทรรศนะว่าโลกสวรรค์สามารถบรรลุได้ในชาติหน้า  ด้วยการบำเพ็ญตบะและบูชายัญ   ทำให้คนทั่วไปเชื่อตามว่าความบริสุทธิ์หรือโมกษะ  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสวรรค์นั้น  เป็นรากฐานที่จะเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติทรมานตัวเท่านั้น  


วิธีการดังกล่าวนี้  ในปฐมเทศนาคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร   พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า...
 
อัตตกิลมถานุปรโยค   คือการทำความเพียรทรมานตัว   ว่าไม่ใช่ทางโมกษะว่าไม่ใช่ข้อปฏิบัติของภิกษุ   ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของนักบวช  เป็นวิธีการปฏิบัติที่ตึงเกินไป ไม่ประเสริฐ  ไม่ได้ประโยชน์ที่ประสงค์ไม่ใช่ทางให้บรรลุอริยสัจได้  จึงตรัสกับนักบวชไม่พึงปฏิบัติ

การปฏิบัติทรมานตนที่พระพุทธศาสนากล่าวถึง   ส่วนใหญ่เป็นวิธีการปฏิบัติของพวกปริพาชก   และนักบวชบางนิกายนอกพระพุทธศาสนา   ตัวอย่างเช่น...  

นิครนถนาฏบุตร  ถือว่าความสุขความทุกข์เกิดขึ้นอยู่กับกรรมในอดีตชาติ  การบำเพ็ญตบะทรมานตัว  เป็นวิธีการกำจัดกรรมเหล่านั้นให้หมดไป  ทั้งเป็นวิธีการป้องกันกรรมใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นด้วย   การที่จะหยุดกระแสกรรมได้อย่างสมบูรณ์จะ ต้องรู้จักทุกข์มาก่อน   ถ้าปราศจากทุกข์เสียแล้วเวทนาก็มีไม่ได้   เมื่อไม่มีทุกขเวทนาแล้วจะถึงที่สุดทุกข์ได้อย่างไร   การบำเพ็ญตบะต่าง ๆ   จึงเป็นวิธีการสำคัญตามหลักการของนิครนถนาฏบุตร  


-->>  วิธีการบำเพ็ญตบะนั้นปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่งตามที่กล่าวถึงบุคคลในเรื่องนั้น  ๆ    ประมวลมากล่าวไว้โดยย่อในที่นี้  ดังนี้


-->> โยคีบางท่านถือการเปลือยกายเป็นวัตร   คือเป็นข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวันปรากฏศาสนาเชนนิกายหนึ่งเรียกว่า   นิกายทิฆัมพร   แปลว่า  นุ่งลมห่มฟ้า  

อเจลกบางท่านไม่ปฏิบัติตามหลักของสังคม...เช่น  

รับอาหารด้วยการเลียมือ  

ไม่รับอาหารที่เขาเชื้อเชิญ  

ไม่รับอาหารจากสตรีที่มีครรภ์  

ไม่รับอาหารจากบุคคลที่มีสุนัขเฝ้ามองอยู่    

ถือรับอาหารจากบ้านเดียว  สองบ้าน   สามบ้าน  อย่างมาก  7  บ้าน  

ถือรับอาหารจำกัดประมาณ  คือรับอาหารเพียงคำเดียว  สองคำ   สามคำ    หรือ  เจ็ดคำเป็นอย่างมาก  

บางนิกายถือรับอาหารผัก  ผลไม้   หรือถือไม่รับอาหารเลย  

บางพวกใช้แผ่นหนังนุ่งห่ม   หรือใช้ผ้าที่ทำด้วยผมมนุษย์  ทำด้วยขนสัตว์  ขนนก  

บางพวกถือวิธีการถอนผมและหนวด  โดยห้ามโกนอย่างเด็ดขาด    

ถือการนั่งบำเพ็ญตบะด้วยท่าทางที่แปลก ๆ      

ถือการนอนกลางแจ้ง  

ถือนอนบนหนามทรมานตัว  

บางพวกถือการชำระบาปด้วยการอาบน้ำ

บางพวกถือการไม่อาบน้ำเป็นข้อปฏิบัติ  

ถือหลักอหิงสาอย่างเคร่งครัด    มีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการที่จะไม่ฆ่าสัตว์  แม้ว่าเป็นระดับจุลินทรีย์ก็ตาม  

ถือการเดินทางไกลโดยไม่มีการอาบน้ำเพื่อไม่ต้องทำร้ายสัตว์ในการอาบน้ำ  

บางพวกนิยมอยู่อาศัยตามคอกวัว  เลี้ยงชีวิตด้วยผลไม้  เพียงเล็ก  ๆ  วันละหนึ่งผล  เป็นต้น    

เหล่านี้คือการบำเพ็ญตบะต่าง  ๆ   ของนักบวชนานานิกายที่พระพุทธศาสนากล่าวถึงในพระไตรปิฎก


เป็นที่น่าสังเกตว่า  พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ในบางสูตรว่า   ก่อนตรัสรู้พระองค์เคยบำเพ็ญตบะมาอย่างไรบ้าง   เป็นที่ปรากฏว่า  พระองค์ทรงปฏิบัติตบะมาหลายอย่าง   การบำเพ็ญตบะเหล่านั้น  คือการพิสูจน์ว่าจะเป็นทางให้บรรลุธรรมที่สูงสุดหรือไม่   พระองค์ไม่ได้ปฏิบัติตบะเหล่านั้นไปอย่างงมงาย   เมื่อทรงปฏิบัติสูงสุดและเป็นที่รับรองแน่ชัดว่าไม่มีใครเสมอเหมือนและไม่บรรลุผลสำเร็จ  จึงทรงเปลี่ยนแปลงหาวิธีการอย่างอื่นต่อไป    ตามที่กำหนดว่าจะให้สำเร็จได้ดังนั้น   การที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการปฏิบัติบางอย่างว่าไร้ประโยชน์นั้น   เป็นการปฏิเสธที่มีหลักฐานอ้างอิงไม่ใช่เป็นการปฏิเสธอย่างเลื่อนลอย   แม้การยืนยันข้อปฏิบัติใด  ๆ  ว่าให้ผลได้จริงก็เช่นเดียวกัน   ข้อนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของพุทธศาสนิกทั่วไป   เพราะเป็นวิธีการที่เหตุผล  วิธีการเหล่านี้มาในสมัยหลังเรียกว่า   วิธีการทางวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม  การบำเพ็ญตบะนั้น   พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธว่าใช้ไม่ได้ไปเสียทุกอย่าง  ทรงปฏิเสธตบะบางอย่าง  และทรงยืนยันตบะอย่างว่าถูกต้อง   เช่น  การถือศีลอุโบสถเป็นตบะ   เป็นต้น  

พระพุทธเจ้า   ตรัสไว้ใน  กัสสปมหาสีหนาทสูตร ทีฆนิกาย   สีลขันธวรรคว่า...พระองค์ไม่ได้ตำหนิตบะ  ไปเสียทั้งหมด  เพราะตบะที่เป็นกุศลก็มี    ทรงทราบดีว่าผู้บำเพ็ญตบะบางท่านตายไปแล้วเกิดภพภูมิที่สูงขึ้นไปก็มี   แต่ก็มีนักบำเพ็ญตบะในทางผิด   ๆ  

คัมภีร์มหานิเทศ   ได้กล่าวถึงชาวอินเดียแสวงหาความบริสุทธิ์  ด้วยการบำเพ็ญตบะบางประการ  เช่น  การถือศีลอย่างเคร่งครัด   การให้ชีวิตทานแก่ช้าง  ม้า  วัว  เป็นต้น  แม้ในชาดกก็กล่าวถึงดาบสบำเพ็ญตบะด้วยวิธีการต่าง  ๆ   ซึ่งจะไม่นำรายละเอียดมากล่าวในที่นี้   เพียงแต่ต้องการกล่าวให้เห็นว่า   การบำเพ็ญตบะต่าง ๆ   นั้นเป็นที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย  แม้ว่าหลักการและขั้นตอนต่าง ๆ   จะไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจนก็ตาม


**************************************************************************
ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  พุทธปรัชญาเบื้องต้น  (รศ.สุวรรณ  เพชรนิล)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 215828เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท