ปริพพาชก


ปริพพาชก

คำว่า  “  จารกะ   แปลว่า   ผู้ท่องเที่ยวไป””   น่าจะเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่มีมาก่อนพุทธกาล  มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าผู้เที่ยวจาริก   ในที่บางแห่งกล่าวถึง  วนจารกะ  แปลว่า  ผู้เที่ยวในป่า  หมายถึงนายพรานเนื้อที่เลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ป่านำเนื้อมาบริโภคเองบ้าง  ขายแก่ประชาชนบ้าง  มีคำที่คล้ายกันอยู่อีกคำหนึ่งคือคำว่า  จารบุรุษ  นิยมแปลว่า  คนสอดแนม   หรือ   นักสืบ   เช่น  นักสืบราชการลับ    ปรากฏว่ามีทั้งที่เป็นส่วนบุคคลและส่วนราชการเป็นส่วนบุคคล  เช่น...  

-->>  จารบุรุษของพระเจ้าสุปปพุทธะ  ที่ติดตามทางเสด็จบิณฑบาตของพระพุทธเจ้าและสาวก  แล้วส่งจารบุรุษไปติดตามฟังว่า   พระพุทธเจ้าจะตรัสปรารภตนอย่างไร   พระพุทธเจ้าตรัสปรารภการกระทำของพระเจ้าสุปปพุทธะว่า  เป็นการทำกรรมหนัก  พระเจ้าสุปปพุทธะ  จักสิ้นพระชนม์ที่เชิงบันได้ปราสาทภายใน  7  วัน   เมื่อทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าตรัสเช่นนั้น ก็ทรงพยายามหาทางไม่ให้สิ้นพระชนม์ในเวลาดังกล่าว   แล้วจะได้ยกวาทะของพระพุทธเจ้าว่าตรัสไม่จริง  แต่เหตุการณ์ก็เป็นไปอย่างที่ตรัส  

-->>  อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องเศรษฐีตระหนี่   เมื่อมีคนมาบอกบุญก็ใช้นิ้วมือสามนิ้วหยิบข้าวสารให้  ใช้ใบหญ้าหยดน้ำผึ้งให้  เมื่อผู้มาบอกบุญจดรายชื่อและของบริจาคกลับไป   เกรงว่าจะเสียชื่อตนเอง   จึงพกมีดไปด้วยตั้งใจว่า   ถ้าเขาประกาศชื่อเราก็จะแทงเสียให้ตาย   เมื่อเจ้าหน้าที่ฉลาดไม่ประกาศชื่อ   ก็ไม่ได้ทำกรรมอย่างที่ตั้งใจ  ในเรื่องนี้ก็ใช้คำว่า    จารบุรุษ

-->>  ส่วนเรื่องทางราชการนั้น  ได้แก่เรื่องวัสสการพราหมณ์   ที่เป็นจารบุรุษไปทำการ  ยุยงเจ้าลิจฉวีให้แตกสามัคคีกัน   แล้วให้ส่งกองทัพไปตีเมืองเวสาลีแตกในที่สุด

แต่ว่า  จารุกะ  ที่มุ่งกล่าวถึงในที่นี้  หมายถึง  นักปราชญ์  ผู้ใช้ชีวิตผ่านวัยมาแล้วได้ประสบความสำเร็จในการศึกษามาแล้ว   จึงใช้ชีวิตออกเดินทางประกาศความรู้   และค้นหานักปราชญ์ในถิ่นต่าง  ๆ   ต่อไป


--->> คัมภีร์พระพุทธศาสนามหายาน  กล่าวถึงคำว่า  จารกะ”   พร้อม ๆ  กับคำว่า  ปริพพาชกะ   ได้ความว่า...  

จารกะ   เป็นนักบวชประเภทหนึ่งควบคู่กันไปกับพวกอาชีวกและพวกนิครนถ์    

--->>  ส่วนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทนิยมใช้คำว่า   ปริพพาชกะ   แทนคำว่า    จารกะ     จึงน่าจะกำหนดได้ว่า   คำว่า   ปริพพาชกะ   เป็นคำใหม่กว่าคำว่า  จารกะ  และเป็นที่ปรากฏว่า  ปริพพาชก  เป็นนักบวชประเภทหนึ่ง   ถือหลักปฏิบัติในการจาริก  ไม่อยู่ประจำที่ใด  ๆ  เป็นหลักสำคัญ  มีความหมายปะปนกันอยู่กับประเภทหนึ่ง   ถือหลักปฏิบัติในการจาริก  ไม่อยู่ประจำที่ใด  ๆ  เป็นหลักสำคัญ  มีความหมายปะปนกันอยู่กับประเภท   สันยาสิน  ของฮินดู

--->> อัสสลายตนสูตร   ในมัชฌมนิกาย  มัชฌิมปัณณาสก์  กล่าวว่า...  

                อัสสลายตนมานพเป็นผู้คงแก่เรียน  มีความเฉลียวฉลาด  ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า    ในเรื่องนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า  บุคคลนอกพระพุทธศาสนาในครั้งนั้น   กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าดำเนินชีวิตแบบปริพพาชกเหมือนกัน   เพราะพระพุทธเจ้าและพระสาวกนิยมการเสด็จจาริกเหมือนกัน   เรื่องนี้เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่แสดงว่า   บุคคลนอกพระพุทธศาสนามองบุคคลในพระพุทธศาสนาในรูปใดบ้าง

คัมภีร์ในพระพุทธสาสนาอธิบายว่า  คำว่า  ปริพพาชก    หมายถึงนักบวชที่นิยมจาริกมีจุดหมายคือการได้พบศาสดาหรือผู้วิเศษทางความรู้   เพื่อได้มีโอกาสสนทนาปัญหาเรื่องจริยธรรม  หลักปรัชญา   หลักธรรมชาติ   และปัญหาที่ลึกซึ้งคัมภีรภาพต่างๆ  ใช้เวลาจาริกแต่ละครั้งประมาณ  7-8   เดือน   คัมภีร์ต่าง  ๆ   ในพระไตรปิฎกยังได้กล่าวด้วยว่า   ใกล้เมืองราชคฤห์มีปริพพาชกอาศัยอยู่ประมาณ  300  คน  ส่งเสียงอึกทึกเหมือนชาวประมง   พากันกล่าวเรื่องพระราชาบ้าง  เรื่องเสนาบดีบ้าง    เรื่องสงครามบ้าง  เรื่องอาหารการบริโภคบ้าง   เรื่องเกี่ยวกับวัตถุกามทางโลกบ้าง  และเรื่องไร้สาระอื่น  ๆ  บ้าง

--->> คัมภีร์มัชณิมนิกาย   มัชณิมปัณณาสก์กล่าวว่า   พระพุทธเจ้าทรงสนทนากัปริพพาชก  นามว่า   วัจฉโคตร   โดยที่วัจฉโคตรทูลถามปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์   เรื่องผู้บรรลุนิพพาน   เมื่อดับไปวิญญาณไปไหน ?   พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ทรงกำหนดรู้การเกิด  การดำรงอยู่   และการดับไปของขันธ์  5  เท่านั้น
คนทั่วไปไม่สามารถหยั่งรู้ได้ในเรื่องวิญญาณของผู้ได้นิพพาน เช่นเดียวกับที่ใคร  ๆ   บอกไม่ได้ว่า   เปลวไฟที่ดับแล้วไปไหน  การสนทนาครั้งนี้เกิดขึ้นที่วัดพระเชตะวัน   เมืองสาวัตถี   เมื่อจบจากสนทนา   วัจฉโคตรปริพพานชกประกาศตนนับถือพระพุทธ พระธรรม   และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต

-->> ที่อยู่หรือสำนักของปริพพาชกเรียกว่า   ปริพพาชการาม   หรืออารามของปริพพาชก  ปรากฏว่าชาวเมืองได้สร้างศาลาอุทิศปริพพาชกโดยตรงก็มี   เพราะนับถือว่าเป็นครูเป็นนักปราชญ์  ปริพพาชกที่มีชื่อเสียงเช่น   นิโครธปริพพาชก โปฏฐปาทปริพพาชก  

--->>  คัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรคแสดงว่า   พระนางมัลลิกามเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล  ได้สร้างอาศรมพระราชทานเป็นพิเศษ  วัจฉโคตรปริพพาชกอาศัยอยู่ในอารามชื่อ  ปุณฑริก  ใกล้เมืองสาวัติถีนั่นเองเป็นที่น่าสังเกตว่า   ปริพพาชกส่วนใหญ่มาจากสกุลพราหมณ์

บางทีพระพุทธศาสนาเรียกบุคคลภายนอกศาสนาว่า   อัญญเดียรถีย์  คำว่า  อัญญะ แปลว่า  อื่น  คำว่า   เดียรถีย์  มาจากคำว่า   ดิตถะ  หรือ ดิตถะ   ที่แปลว่า  ท่า  เช่น  ท่าน้ำ  เป็นที่ลงอาบน้ำ   ในที่นี้ใช้คำว่า   ดิตถะ  หรือ   เดียรถีย์ หมายถึง  ลัทธิ  ศาสนา  หมายความว่าเป็นที่ลงอาบหาความบริสุทธิ์ของสรรพสัตว์  เพราะฉะนั้น  คำว่า  อัญญเดียรถีย์   จึงแปลว่านักบวชในศาสนาอื่น   หรือบุคคลในศาสนาอื่น  หรือบุคคลนอกพระพุทธศาสนา  

เช่นเดียวกับพูดว่า  นาย  ก.  และไม่ใช่  นาย  ก.   คำว่าไม่ใช่นาย  ก.  ย่อมหมายถึงทุกคนที่ไม่ใช่นาย  ก.   หรือหมายตั้งแต่  นาย  ข.   เป็นต้นไปถึง  ฮ.  ล้วนแต่เป็น  ไม่ใช่นาย  ก.  ทั้งสิ้น  

คำว่า  อัญญเดียรถีย์ก็เช่นเดียวกัน  หมายรวมถึงปริพพาชกด้วย   หลักสำคัญของปริพพาชก คือ   การออกจาริก   และการดำรงด้วยอาหารที่ได้มาจากประชาชน   ในบางคัมภีร์กล่าวถึงสตรีด้วยเรียกว่า  ปริพพาชิการวมความว่า   นักบวชกลุ่มปริพพาชกมีทั้งฝ่ายชายและหญิง  ฝ่ายชายเรียกว่า   ปริพพาชก  ฝ่ายหญิง  เรียกว่า  ปริพพาชิกา


**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  พุทธปรัชญาเบื้องต้น  (รศ.สุวรรณ  เพชรนิล)

หมายเลขบันทึก: 215830เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท