สงฆ์ หรือ คณะ


สงฆ์ หรือ คณะ

 

คำว่า  สงฆ์   หรือ  คณะ   ทางวรรณคดีบาลีหมายถึง  กลุ่ม”  หรือ  หมู่ เช่น  หมู่เทพ   หมู่ชน   หมู่สัตว์   และอาจหมายถึงกลุ่มบุคคลทางการเมือง  กลุ่มบุคคลทางอาชีพได้ด้วย

ในครั้งพุทธกาลนิยมหมายถึงกลุ่มบุคคลทางศาสนา   ไม่ว่าจะเป็นนักบวชที่นิยมจาริกหรือนักบวชอยู่ประจำตามหมู่บ้าน   ประจำเมือง  และยังหมายถึงบุคคลในสำนักปรัชญาต่าง ๆ   ได้ด้วยแต่ละกลุ่มมีแบบประพฤติปฏิบัติเป็นของตนเอง   มีแบบการแต่งกาย   มีสัญลักษณ์   ของแต่ละหมู่แต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง    คำว่า  สงฆ์   ในครั้งพุทธกาลนั้นนิยมหมายถึงกลุ่มบุคคลทางศาสนา มีวินัยเป็นหลักปฏิบัติ มีแนวชีวิตเป็นของเฉพาะกลุ่ม   ดังนั้น   คำว่า  สงฆ์จึงมีการให้คำนิยามไว้ว่า   คือกลุ่มบุคคลที่เสมอกันด้วย  ศีล  และทรรศนะ    หมายความว่า  การมีศีลเสมอกัน    และการมีทรรศนะที่ถูกต้องตรงกัน    เป็นคุณสมบัติของสงฆ์   เพราะคำว่า สงฆ์   มีความหมายถึง   ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ความสามัคคีกลมกลืนกัน   ถ้าเห็นต่าง  ๆ  กัน  มีความขัดแย้งกัน   ไม่ตรงกับคำว่า   สงฆ์  ที่แปลว่า  หมู่  หรือ กลุ่ม

คำว่า  คณะ   ใช้กันกว้างขวาง   เช่น   คณะรัฐมนตรี   คณะกรรมาธิการ  คณะกรรมการ   คณะอนุกรรมการ  และคณะนักแสดงต่าง  ๆ   ที่นำมาใช้ทางการศึกษา  เช่น   คณะนิติศาสตร์   คณะบริหารธุรกิจ   คณะมนุษยศาสตร์   คณะศึกษาศาสตร์  เป็นต้น   ตามกลุ่มของวิชาที่กำหนดให้ศึกษาซึ่งมีการเน้นหนักต่าง  ๆ  กัน

ส่วนคำว่า สงฆ์     เป็นคำเฉพาะคำหนึ่งในพระพุทธศาสนา  มีความสำคัญควบคู่กับพระพุทธและพระธรรม   เป็นส่วนหนึ่งในพระรัตนตรัย   หมายถึง  พระสาวกของพระพุทธเจ้า  นับตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้นมา   หรือนับตั้งแต่พระสารีบุตร  พระโมคคัลลานะ  เป็นต้นมาอยู่ในฐานะเป็น   สถาบัน  ทางฝ่ายพระสาวกเรียกว่า   ภิกษุสงฆ์   ทางฝ่ายพระสาวิกา  เรียกว่า  ภิกษุณีสงฆ์  ใครทำสงฆ์ให้แตกความสามัคคี จัดว่าเป็น   อนันตริยกรรม    คือเป็นกรรมหนัก   เป็นบาปหนักที่ไม่มีสิ่งใดจะขัดขวางผลของมันได้   เพราะฉะนั้น คำว่า   สงฆ์ จึงนิยมเรียกกลุ่มบุคคลในพระพุทธศาสนา  มากกว่ากลุ่มบุคคลอื่นในลัทธิศาสนาใด  ๆ  เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย   ที่เป็นหลักสูงสุดของพระพุทธศาสนา   ถึงแม้จะมีการนำคำว่า  สงฆ์  ไปใช้ในลัทธิอื่นบ้าง  ก็ไม่มีความหมายสำคัญเท่ากับที่ใช้ในพระพุทธศาสนา

พิธีกรรมที่สำคัญ ๆ   ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา   เรียกว่า  สังฆกรรม   แปลว่ากรรมของสงฆ์   คือเป็นงานของหมู่ของส่วนรวมที่ต้องพร้อมเพรียงกันทำ   และต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระวินัย   เช่น  อุโบสถกรรม   คือการประชุมสวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน   ปวารณากรรม  คือกรรมที่ต้องทำในวันออกพรรษา    อุปสมบทกรรม   คือพิธีรับบุคคลใหม่เข้าหมู่เข้าสถาบัน  เหล่านี้เป็นเรียกว่าสังฆกรรมทั้งสิ้น   พระพุทธเจ้าทรงมอบให้สงฆ์เป็นเจ้าของพิธีกรรมในครั้งพุทธกาล  พระพุทธเจ้าประทับเป็นประธาน   เมื่อศาสนาขยายออกไปทรงมอบให้สงฆ์มีความสำคัญอย่างสมบูรณ์   แม้พระองค์ไม่ได้ประทับเป็นประธานในที่ประชุมก็ตาม  คำว่า  สงฆ์   จึงเป็นชื่อของสถาบันทางพระพุทธศาสนาสืบมาถึงบัดนี้

นอกจากนี้ยังมีคำอื่น  ๆ    อีกมากที่มีความหมายถึงกลุ่มบุคคล  เช่น   กลุ่มนักแสดงกลุ่มนักฟ้อน  กลุ่มนักกีฬา   กลุ่มนักกายกรรม   เป็นต้น   มีความหมายในทางที่มีอาชีพเดียวกันมากกว่าที่หมายถึงศีลธรรม   ความเชื่อถือ   และทรรศนะทางจิตใจ  สรุปว่า   ไม่มีคำใดที่มีความหมายพิเศษไปกว่าคำว่า  สงฆ์   ที่เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย


**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  พุทธปรัชญาเบื้องต้น  (รศ.สุวรรณ  เพชรนิล)

 

หมายเลขบันทึก: 215831เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท