คัมภีร์ฎีกา คัมภีร์อนุฎีกา คัมภีร์โยชนา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

คัมภีร์ฎีกา คัมภีร์อนุฎีกา คัมภีร์โยชนา 

คัมภีร์ฎีกา


คำว่า  “ฎีกา”  แปลว่า  วาจาเป็นเครื่องกำหนด  เล็งนัยเฉพาะคำพูด  การเกิดขึ้นของฎีกานั้น  มีจุดหมายสำคัญเพื่ออธิบายคำในอรรถกถาให้เข้าใจง่ายขึ้น   และจะอธิบายเฉพาะข้อความที่ยากหรือไม่ชัดเจนมากกว่าแง่อื่น  เพราะในอรรถกถานั้นจะอธิบายพระไตรปิฎกในแง่มุมต่าง ๆ  อย่างกว้างขวาง   ในแง่ของความคิด   ความเชื่อ  ประเพณี  วัฒนธรรม  ฯลฯ  


คำว่า  “ฎีกา”   นี้  มักจะใช้คำอื่นนำหน้า  เช่น  คำว่า ลีนัตถปกาสนา  ลีนัตถปกาสินี   ซึ่งแปลว่า   การประกาศหรือเปิดเผยเนื้อความที่เร้นลับ บางครั้งก็ใช้คำว่า   ลีนัตถโชตนา  หมายถึง การทำเนื้อความที่ลี้ลับให้สว่าง  และมีคำอื่น ๆ   เช่น  คำว่า  ทีปนี   เป็นคำลงท้าย  ซึ่งหมายถึงการอธิบายให้แจ่มแจ้ง   ซึ่งเหล่านี้ล้วนจัดอยู่ในประเภทฎีกาทั้งสิ้น


คัมภีร์ฎีกาถือกำเนิดขึ้นหลังอรรถกถา  ดร.  จีพี มาล   ลาเซเกรา  (Dr.  G.P. Malalakera) ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า  “บ่อเกิดของคัมภีร์ฎีกาแตกต่างจากอรรถกถา   คือ  มีบ่อเกิดที่ศรีลังกาเป็นครั้งแรก    และผู้แต่งคัมภีร์ฎีกาก็เป็นปราชญ์ชาวศรีลังกา”  


ประวัติความเป็นมาของคัมภีร์ฎีกานั้นมีเรื่องเล่าว่า  ในพุทธศตวรรษที่  17  พระมหากัสสปะ  เป็นพระเถระรูปหนึ่งของศรีลังกา  (ชื่อไปพ้องกับพระมหากัสสปะ   สมัยทำสังคายนาครั้งที่  1 )  ได้จัดให้มีการทำสังคายนาขึ้นซึ่งนับว่าเป็นสังคายนาครั้งที่  7 โดยมีพระเจ้าปรักกมพาหุ   ทรงเป็นองค์อุปถัมภก   เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์   ในการทำสังคายนาครั้งนี้   ได้มีการแต่งคัมภีร์ฎีกาขึ้นเพื่ออธิบายข้อความในอรรถกถาโดยพระเถระหลายรูปได้ร่วมกันแต่ง  ซึ่งได้กลายมาเป็นแบบอย่างการแต่งฎีกาและอนุฎีกาสืบต่อมา  นอกจากนี้ การแต่งฎีกาในสมัยนั้น  ได้มีพระสงฆ์ชาวพม่าหลายรูปที่ไปศึกษาที่คณะมหาวิหารในศรีลังกาเข้าร่วมแต่งคัมภีร์ฎีกาด้วย


คัมภีร์ฎีกาถือกำเนิดขึ้นและรุ่งเรืองมากในช่วงพุทธศตวรรษที่  17-24  ในช่วงนี้ได้มีผู้แบ่งสมัยของการแต่งคัมภีร์ฎีกา   เพื่ออธิบายอรรถกถาออกเป็น   3 สมัย  คือ


1.  สมัยแรก   คัมภีร์ฎีกาเริ่มจากการแต่งของพระธัมมปาละและพระอานนท์  (ชื่อ พ้องกับพระอานนท์   ซึ่งเป็นพุทธอนุชาในสมัยพุทธกาล)   การแต่งในสมัยนี้นิยมใช้คำว่า “ลีนัตถปกาสนา”  หรือ  “ลีนัตถโชตนา”


2.  สมัยที่สอง   ในสมัยนี้ นักปราชญ์ที่แต่งคัมภีร์ฎีกา  มักใช้คำว่า  “คัณฐิ”   ต่อท้ายชื่อปกรณ์  เป็นประเภทคัณฐิบท  เช่น   มหาคัณฐิบท   จูฬคัณฐิบท  เป็นต้น


3.  สมัยที่สาม  นักปราชญ์ผู้แต่งคัมภีร์ฎีกา  มักใช้คำว่า  “ฎีกา”   นำหน้าหรือต่อท้ายปกรณ์


อนึ่ง  ยังมีคัมภีร์ฎีกาที่พระสงฆ์ชาวพม่าได้แต่งขึ้น   วิธีการแต่งมักจะเลียนแบบประเพณีนิยมของพระสงฆ์ชาวศรีลังการเป็นส่วนใหญ่  และในคัมภีร์ก็มิได้ระบุว่า   แต่งเมื่อใดหรือสมัยใดไว้ด้วย   จึงเป็นการยากที่จะทราบสมัยหรือระยะเวลาที่แน่ชัด    อย่างไรก็ตาม  ฎีกาเหล่านี้ก็สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นภายหลังฎีกาของพระสงฆ์ชาวศรีลังกา

หมายเลขบันทึก: 215837เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

การแบ่งประเภทของคัมภีร์ฎีกา

คัมภีร์ฎีกาแบ่ง ได้ 3 ประเภท ซึ่งแบ่งไปตามประเภทของไตรปิฎก คือ

-> ฎีกาวินัย ฎีกาวินัยมีจำนวน 10 คัมภีร์ คือ

1. สารัตถทีปนี ฎีกาวินัย เป็นฎีกาของสมันตปาสาทิกา เป็นผลงานการแต่งของพระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวศรีลังกา

2. วิมติวิโนทนี ฎีกาวินัย แต่งขึ้นเพื่ออธิบายศัพท์และประโยคในสมันตปาสาทิกาเป็นผลงานการแต่งของพระมหากัสสปะ ท่านพำนักอยู่ ณ อุทุมพรคีรีวิหาร ศรีลังกา

3. วชิรพุทธิ ฎีกาวินัย แต่งขึ้นเพื่ออธิบายศัพท์และประโยคในสมัคนตปาสาทิกา เป็นผลงานของพระวชิรพุทธิ

4. วินยัตถมัญชุสา ฎีกาปาติโมกข์ เป็นผลงานของพระพุทธนาคะ

5. สุมังคลปกาสินี ฎีกาขุททกสิกขา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

6. วินยัตถสารสันทีปนี ฎีกาวินัยวิจฉยสังคหะ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

7. ลีนัตถปกาสนาฏีกาอุตตรวินยวินิจฉัย เป็นชื่อที่ตั้งใหม่ ซึ่งชื่อเดิม คือ อริมัททนะ เป็นผลงานของพระเรวตะ แต่งที่เมืองพุกาม

8. วินวิมติจเฉทนี นวฎีกามูลสิกขา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

9. อนุตตามทีปนี ฎีกาปาลิมุตตกวินยวินิจฉยสังคหะ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

10. วินยาลังการ ฎีกาปาลิมุตตวินยวินิจฉยสังคหะ เป็นผลงานของพระติปิฎกลังการเถระ แต่งที่ประเทศพม่า

-> ฎีกาสุตตันตะ ฎีกาพระสูตรมีจำนวน 7 คัมภีร์ คือ

1. ลีนัตถปกาสนา ฎีกาทีฆนิกาย เป็นผลงานของพระธัมมปาละ

2. ลีนัตถปกาสนา ฎีกามัชฌิมนิกาย เป็นผลงานของพระธัมมปาละ

3. ลีนัตถปกาสนา ฎีกาสังยุตตนิกาย เป็นผลงานของพระธัมมปาละ

4. ลีนัตถปกาสนา ฎีกานิบาตชาดก ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

5. ปรมัตถมัญชุสา มหาฎีกาวิสุทธิมรรค เป็นผลงานของพระธัมมปาละ

6. สังเขปัตถโชตนี จูฬฎีกาวิสุทธิมรรค ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

7. ฎีกาสัจจสังเขป เป็นผลงานของพระวาจิสสระ แต่งที่ศรีลังกา

-> ฎีกาอภิธรรม ฎีกาอภิธรรมนี้มีจำนวน 27 คัมภีร์ คือ

1. ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาธัมมสังคณี เป็นผลงานของพระอานันทาจารย์ แต่งที่ ศรีลังกา

2. ลีนัตถปาสินี อนุฎีกาธัมมสังคณี ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

3. ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาวิภังค์ เป็นผลงานของพระอานันทาจารย์ แต่งที่ศรีลังกา

4. ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกาวิภังค์ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

5. ลีนัตถปกาสินี มูลฎีกาธาตุกถา เป็นผลงานของอานันทาจารย์ แต่งที่ศรีลังกา

6. ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกาธาตุกถา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

7. ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาปุคคลบัญญัติ เป็นผลงานของพระอานันทาจารย์ แต่งที่ศรีลังกา

8. ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกาปุคคลบัญญัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

9. ลีนัตถโชตนา มูลฏีกากถาวัตถุ เป็นผลงานของพระอานันทาจารย์ แต่งที่ศรีลังการ

10.ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกากถาวัตถุ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

11. ลีนัตถโชตนา มูลฎีกากถาวัตถุ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

12. ลีนัตถปาสินี อนุฎีกายมก ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

13. ลีนัตโชตนา มูลฎีกาปัฏฐานเป็นผลงานของพระอานันทาจารย์ แต่งที่ศรีลังกา

14. ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกาปัฏฐาน ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

15. มธุสารัตถทีปนี ฎีกาอธิบายความของมูลฎีกา เป็นผลงานของพระอานันทเถระพระสงฆ์ชาวพม่า แต่งที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า

16. โปราณฏีกาอภิธัมมาวตาร ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

17. อภิธัมมัตถวิกาสนี ฎีกาอภิธัมมาวตาร เป็นผลงานของพระสุมังคละ

18. อภิธัมมัตถวิภาวินี ฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นผลงานของพระสุมังคลาจารย์ พระเถระชาวศรีลังกา แต่งที่เมืองปุลัตถินคร (เมืองโปโลนารุวะ) ศรีลังกา

19. ปรมัตถมัญชุสา อนุฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

20. มณิสารมัญชุสา นวฏีกาอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นผลงานของพระอริยวังสะพำนักอยู่เมืองสกาย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า

21. สังเขปวัณณนา ฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นผลงานของพระโชติกเถระ

22. อเผคคุสารัตถทีปนี จูฬฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นผลงานของพระมหาสุวัณณทีปเถระ แต่งที่ประเทศพม่า

23. มุขมัตตกถา โปราณฎีกาปรมัตถวินิจฉัย ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

24. ฎีกาปรมัตถวินิจฉัย ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

25. ฎีกาเขมปกรณะ เป็นผลงานของพระเขมกะ

26. ลีนัตถปกาสินี โปราณฎีกานามรูปปริจเฉท ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

27. ปรมัตถทีปนีฎีกา เป็นผลงานของท่านอาจารย์เลดี อู ญาณะ หรือ ญาณธชะเป็นพระเถระชาวพม่า คัมภีร์เป็นคัมภีร์ที่อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ และ อภิธัมมัตถวิภาวินีเป็นวรรณกรรมภาษาบาลีรุ่นปัจจุบัน

-->> นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์อื่นอีก เรียกชื่อว่า “คัณฐิ” คำว่า “คัณฐิ” คือ คัมภีร์ที่ชี้เงื่อนสำคัญหรือคัมภีร์ที่ชี้ปมสำคัญ มีจำนวนทั้งหมด 26 คัมภีร์ แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้

คัมภีร์อนุฎีกา

คำว่า “อนุฎีกา” หมายถึงฎีกาใหม่ที่แต่งเพิ่มเติมภายหลัง คำบาลี เรียกว่า “อภินวฎีกา” แปลว่า ฎีกาใหม่ เป็นคำอธิบายความในฎีกาให้เข้าใจง่ายขึ้น อนุฎีกามีชื่อต่าง ๆ แยกไปตามไตรปิฎก

-> อนุฎีกาวินัย ได้แก่

1. วินยาลังการฎีกาคัมภีร์ใหม่เป็นผลงานของพระมุนินทโฆสะแต่งที่ประเทศพม่า

2. ขุททสิกขาฎีกาคัมภีร์ใหม่ หรือสุมังคลปสาทนีฎีกา เป็นผลงานของพระสังฆรักขิตเถระ แต่งที่เมืองราธปุระ

3. มูลสิกขาฎีกาคัมภีร์ หรือวิมติจเฉทฎีกา เป็นผลงานของพระสมันตคุณสาคระแต่งที่เมืองวิชัยปุระ

-> อนุฎีกาพระสูตร ได้แก่

1. อังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

2. ทุกังทุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

3. ติกังคุตตรฎีกาภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกาล

4. จตุกกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

5. ปัญจกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

6. ฉักกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

7. สัตตังคุตตร ฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

8. อัฎฐังคุตตรฎีกาภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

9. นวังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

10. ทสังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

11. เอกาทสังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสารีบุตร พระเถระชาวศรีลังกา

12. ธัมมปทัฏฐกถาฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานพระวรสัมโพธิ แต่งที่ปุคันจิประเทศพม่า

13. เปฎกาฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสังฆราชญาณวังสะ ธรรมเสนาบดีแต่งที่ประเทศพม่า

-> อนุฎีกาพระอภิธรรม ได้แก่

1. อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสุมังคละ แต่งที่ศรีลังกา

2. ปรมัตถวินิจฉยฎีกาคัมภีร์ใหม่ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

3. นามรูปปริจเฉทฎีกาคัมภีร์ใหม่ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

4. อภิธัมมาวตารฎีกาคัมภีร์ใหม่ เป็นผลงานของพระสุมังคละ แต่งที่ศรีลังกา

5. สัจจสังเขปฎีกาคัมภีร์ใหม่ หรือสารัตถสาลินีฎีกา ไม่ปราฏกชื่อผู้แต่ง

-->> ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแต่งฎีกาและอนุฎีกาประการหนึ่ง คือ นับตั้งแต่การแปลและแต่งอรรถกถาในสมัยของท่านพระพุทธโฆษาจารย์ จนกระทั่งถึงสมัยที่มีการเริ่มแต่งคัมภีร์ฎีกาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุเป็นต้นมา พระสงฆ์ทั้งที่เป็นชาวศรีลังกาและพม่า (เมียนมาร์) ได้แต่งอรรถกถาและฎีกาเป็นจำนวนมาก โดยยึดถือเอาหลักการและวิธีการแต่งอรรถกถา และฎีการุ่นแรก ๆ เป็นแบบ

คัมภีร์โยชนา

โยชนา คือ คัมภีร์ประเภทแสดงการสร้างประโยคและแปลความหมาย คัมภีร์นี้

จะมีคำว่า “โยชนา” นำหน้าหรือต่อท้าย ลักษณะของคัมภีร์โยชนามีรูปแบบค่อนไปทางไวยากรณ์มากกว่าจะเป็นคัมภีร์ฎีกา ซึ่งมุ่งเน้นความหมายที่ถูกต้องของคำพูด โยชนาจะแบ่งไปตามไตรปิฎก คือ โยชนาพระวินัย โยชนาพระสูตร และโยชนาพระอภิธรรม นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์โยชนาอื่น ๆ แต่ถูกจัดไว้เป็นประเภทของ “คันถันตระ” ซึ่งเป็นคัมภีร์อยู่นอกสายพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา มธุ กนิฏฐะ คัณฐิ และโยชนาพระไตรปิฎก

อนึ่ง โยชนาของพระไตรปิฎกก็คือ ไวยากรณ์ที่จะช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ และความหมายในพระไตรปิฎกนั่นเอง โยชนาจึงให้ประโยชน์มากแก่ผู้ที่สนใจไวยากรณ์ในส่วนที่เป็นวากยสัมพันธ์ และผู้ที่ประสงค์จะใช้หลักของปรัชญาภาษาเพื่อนำมาประยุกต์กับภาษาของพุทธศาสนา

การเกิดขึ้นของคัมภีร์โยชนานั้น เชื่อกันว่าเกิดขึ้นหลังคัมภีร์ฎีกา เมื่อดูจากชื่อผู้แต่งโยชนาที่ยังเหลืออยู่ ปรากฏว่าพระสงฆ์ชาวพม่าและพระสงฆ์ชาวพม่าและพระสงฆ์ชาวไทยจะแต่งไว้ค่อนข้างมากในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโยชนาของพระไตรปิฎก โดยแยกกล่าวเป็นหมวด ๆ ไป คือ

-> โยชนาพระวินัย มีชื่อคัมภีร์ต่อไปนี้

1. ปาจิตติยาทิอรรถกถาโยชนา เป็นผลงานของพระชาคราภิวังสะ พำนักอยู่ ณ วัดทักขิณาราม เมืองมัณฑเล ประเทศพม่า

2. ขุททสิกขาโยชนา เป็นผลงานของพระเถระวนนาสี (พระเถระที่อาศัยอยู่ในป่า) ไม่ระบุชื่อว่าเป็นใคร แต่งที่เมืองสกาย

3. วินยวินิจฉยโยชนา เป็นผลงานของพระเถระนวาสี ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง แต่งที่เมืองสกาย

-> โยชนาพระสูตร มีชื่อคัมภีร์ต่อไปนี้

1. นิธิกัณฑสุตตอัตถโยชนา เป็นผลงานของพระจารินทาสภะ (พญาจี สยาดอ)

2. ธัมมปทัฏฐกถาคาถาโยชนา เป็นผลงานของพระสิริสุมังคลเถระ แต่งที่พม่า

3. ตุลัตถโยชนา เป็นผลงานของพระอุกกักวังสมาลา

4. ปัจเจกขณโยชนา เป็นผลงานของพระอุกกังวังสมาลา

-> โยชนาพระอภิธรรม มีชื่อคัมภีร์ต่อไปนี้

1. ธาตุกถามูลฎีกาโยชนา เป็นผลงานของพระสารทัสสิ (พระปุพพาราม สยาดอ)

2. สังคหโยชนา เป็นผลงานของพระกวิธชะ

3. ธาตุวัตถุโยชนา เป็นผลงานของพระจารินทาสภะ

คัมภีร์สัตถศาสตร์

สัตถศาสตร์เป็นคัมภีร์ประเภทใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาคัมภีร์ประเภทวรรคดีบาลีคัมภีร์สัตถศาสตร์แบ่งได้ 4 ประเภท คือ

1. สัททสัตถะ คือ คัมภีร์ประเภทไวยากรณ์

2. อภิธานสัตถะ คือ คัมภีร์ประเภทอภิธาน ได้แก่ พจนานุกรมบาลี

3. ฉันทะสัตถะ คือ คัมภีร์ที่ใช้คู่มือในการแต่งฉันท์

4. อลังการสัตถะ คือ คัมภีร์อธิบายการแต่งวรรณคดีบาลี

-->> คัมภีร์สัตถศาสตร์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นนี้ การจัดการศึกษาปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย ได้จัดไว้ในหมวดสัททาวิเสสทั้งหมด และคัมภีร์ประเภทที่ 1 คือ สัททสัตถะ ตามที่ปรากฏในบัญชีหนังสือของหอสมุดวชิรญาณ มีจำนวน 134 เล่ม จารึกไว้ไปใบลานด้วยภาษาขอมผู้แต่งคัมภีร์นี้มีทั้งที่เป็นพระเถระชาวอินเดีย ศรีลังกา พม่า และไทย

ธรรมคุณ

ธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แม้จะมีจำนวนมากมาย แยกแยะเป็นหลายประเภท หากบุคคลรู้จักเลือกสรรเอาหัวข้อธรรมมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและชีวิตของตน ครอบครัว และสังคมแล้ว ย่อมจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของศาสดาผู้นำมาประกาศ หลักธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ล้วนเป็นจริง เป็นสิ่งที่พาไปสู่ความสงบสุข และประโยชน์เกื้อกูล คุณของพระธรรมที่ท่านผู้รู้ได้สรุปไว้มี 6 ประการ คือ

1. สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

2. สนฺทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นแจ้งได้ด้วยตนเอง

3. อกาลิโก ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา (ไม่เคยล้าสมัย)

4. เอหิปสฺสิโก เชิญชวนให้มาพิสูจน์ได้ (ท้าพิสูจน์)

5. โอปนยิโก อันบุคคลควรน้อมนำเข้ามาสู่ตน

6. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน (จะให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเท่านั้น)

พยายามจะเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับคัมภีร์ต่าง ไม่สามารถเข้าไปได้

เรียนผู้รู้ครับกระผมอยากทราบข้อมูลดังต่อไปนี้1.อยากทราบประวัติความเป็นมาของคัมภีร์ฏีกา2.สาระสำคัญของคัมภีร์ฏีกามีอะไรบ้างขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท