คัมภีร์อรรถกถา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

คัมภีร์อรรถกถา


หลักคำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้น  มิได้เป็นพุทธวจนะทั้งหมด  แต่จะมีคำอธิบายขยายความควบคู่กันไปด้วย  หากตอนใดที่เป็นพุทธวจนะที่ตรัสไว้ย่อย ๆ   ก็จะมีคำ อธิบาย ความไว้อีก   เพื่อให้มีเนื้อหาที่สมบูรณ์และเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้นข้อความที่อธิบายและขยายความพุทธวจนะนี้  ท่านเรียกว่า  “อรรถกถา”


คัมภีร์อรรถกถา  ของพระไตรปิฎกมีกำเนิดมาอย่างไรนั้น   ตามหลักฐานที่ปรากฏระบุว่าเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 5  ในคัมภีร์มหาวงศ์และสัทธัมมสังคหะ   ระบุข้อความเชิงประวัติว่าอรรถกถาเดิมนั้น  พระมหินทเถระ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำมายังศรีลังกา   แล้วแปลจากภาษาเดิม  (ภาษามคธหรือบาลี)     ลงสู่ภาษาสิงหฬ  เชื่อกันว่า  อรรถกถาเหล่านี้เป็นผลงานจากการทำสังคายนาครั้งที่  3  


ครั้นล่วงมาถึงสมัยของพระพุทธโฆษาจารย์  อรรถกถาที่มีอยู่ในประเทศอินเดียได้สูญหายไป   ส่วนที่เหลืออยู่ก็ไม่สมบูรณ์  เมื่อเป็นเช่นนั้นพระเรวตเถระจึงได้แนะนำให้ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เดินทางไปยังศรีลังกา  เพื่อศึกษาอรรถกถา  และแปลกลับมาสู่ภาษาเดิม  (คือมคธ)    พระพุทธโฆษาจารย์จึงได้เดินทางไปยังศรีลังกาตามคำแนะนำนั้น     แล้วได้ศึกษาและแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหฬสู่ภาษามคธ   (บาลี)  ด้วยเหตุดังกล่าว  อรรถกถาที่เราได้ศึกษากันอยู่ในปัจจุบัน   ส่วนใหญ่จึงเป็นผลงานการแปลของท่านพระพุทธโฆษาจารย์และพระเถระอื่น  ๆ


ในปณามคาถา (คำนำ)  ในสุมังคลวิลาสินี    อรรถกถาทีฆนิกาย   ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้รจนาไว้  (ซึ่งจัดเป็น  4  ตอน)  ต่อไปนี้


1.  อตฺถปฺปกาสนตฺถํ  อตฺถกถา อาทิโต  วสิสเตติ
    ปญฺจหิ  ยา  สงิคีตา อนุสงฺคีตา  จ  ปจฺฉาปิ  ฯ


2.  สีหฬทีป  ปน  อา ภตาย วสินา  มหามหินฺเทน
    ฐปิตา  สีหฬภาสาย ทีปวาสีนมตฺถาย  ฯ


3.  อปเนตฺวาน  ตโตหํ สีหฬภาสํ  มโนรมํ  ภาสํ
    ตนฺตินยานุจฺฉวิกํ อาโรเปนฺโต  วิคตโทสํ ฯ


4.  สมยํ  อวิโลเมนฺโต เถรานํ  เถรวาสทีปานํ
    สุนิปุณวินิจฺฉยานํ มหาวิหาเร  นิวาสีนํ  ฯ
    หิตฺวา  ปุนปฺปุนาคต มตุถํ  อตฺถํ  ปกาสยิสฺสามิ
    สุชนสฺส  จ  ตุฏฺฐตฺถํ จิรฏฺฐิตตฺถญฺจ  ธมฺมสฺส ฯ



แปลว่า

 
1.  อรรถกถาใด  อันพระอรหันต์   500 องค์  ได้สังคายนาไว้แล้วเมื่อครั้งสังคายนาครั้งที่  1  หรือสังคายนาครั้งหลัง ๆ  คือ  การสังคายนาครั้งที่   2  และที่  3  เพื่อประกาศเนื้อความของทีฆนิกาย  ซึ่งกำหนดหมายด้วยสูตรขนาดยาว  ซึ่งละเอียด  ประเสริฐยิ่งกว่านิกายอื่น ๆ  อันพระพุทธเจ้าและพระสาวกสังวรรณนาไว้  อันมีคุณค่าต่อการปลูกฝังศรัทธา ฯ


2.  ก็อรรถกถานั้น  อันพระอรหันตเถระ  นามว่าพระมหินเถระ   ได้นำมาจากประเทศอินเดียสู่ประเทศศรีลังกา   ต่อมาก็ได้เรียบเรียงด้วยภาษาสิงหฬ  เพื่อประโยชน์แก่ชาวศรีลังกาทั้งหมด


3.ข้าพเจ้า  (พระพุทธโฆษาจารย์)   จะถอดภาษาสิงหฬออกจากอรรถกถานั้น  แล้วแปลเป็นภาษามคธ  (บาลี)   อันน่ารื่นรมย์ใจ  ถูกต้องตามระเบียบบาลี  โดยไม่มีภาษาอื่นปะปนฯ  


4.  จะไม่คัดค้านทฤษฏีของพระเถระทั้งหลาย  ผู้นับถือนิกายมหาวิหาร  ผู้ค้ำจุนเถรวงศ์ไว้  ผู้ซึ่งวินิจฉัยไว้อย่างละเอียดและรอบคอบ   เพียงแต่จะตัดทอนข้อความที่วกวน  แล้วเรียบเรียงอรรถกถาของทีฆนิกาย   เพื่อความชื่นชมโสมนัสของสาธุชน  และเพื่อความตั้งมั่นชั่วกาลนานของพระสัทธรรมฯ

หมายเลขบันทึก: 215839เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ส่วนใหญ่นิกายเถรวาทจะยอมรับหลักฐานข้างต้นว่า คัมภีร์อรรถกถามีมาแต่เดิมตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ 1 แล้ว แต่มีในลักษณะเป็นต้นเค้าและได้พัฒนามาจนสมบูรณ์ในครั้งสังคายนาครั้งที่ 3

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถานี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง บางกลุ่มให้ทัศนะว่า หากยอมรับกันว่า อักขรวิธีมีใช้กันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ก็น่าจะยอมรับว่าการแต่งและการจารึกอรรถกถาก็ต้องทำกันมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่การแต่งและการจารึกยังไม่สมบูรณ์เท่านั้น หากแต่มาสมบูรณ์ในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 แล้วได้นำแปลเป็นภาษาสิงหฬในศรีลังกา สมัยต่อมา เหตุการณ์ในอินเดียได้เปลี่ยนแปลงไป คัมภีร์อรรถกถาที่เป็นภาษามคธ (บาลี) ได้สูญหายไป จึงจำเป็นต้องอาศัยอรรถกถา ที่เป็นภาษาสิงหฬเป็นต้นฉบับในการแปลกกลับมาสู่ภาษาเดิม ในราวพุทธศตวรรษที่ 5 โดยพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แปลร่วมกับพระเถระอื่น ๆ

ดังนั้น จึงอาจแบ่งทัศนะเกี่ยวกับจุดกำเนิดของคัมภีร์อรรถกถาออกได้ 2 ทัศนะ คือ

-->> กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าอรรถกถามีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล การยอมรับเช่นนี้ก็เท่ากับว่า คัมภีร์อรรถกถาเป็นคัมภีร์ที่ร่วมยุคสมัยกับพระไตรปิฎก

-->> อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า คัมภีร์อรรถกถาเกิดขึ้นหลังพุทธกาล ความเชื่อเช่นนี้ก็เท่ากับว่า คัมภีร์อรรถกถาเป็นอีกยุคหนึ่งที่สืบต่อจากยุคพระไตรปิฎก กลุ่มหลังนี้ถือเอาจากการศึกษาประวัติวรรณคดีบาลี

อรรถกถาที่มีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธโฆษาจารย์

1. อรรถกถาภาษาสิงหฬโบราณ อรรถกถาภาษาสิงหฬโบราณที่จะกล่าวต่อไปนี้ต้นฉบับได้สูญหายไปหมดแล้ว ซึ่งแยกออกเป็น 3 หมวด คือ

1.1 อรรถกถาวินัยปิฎก ได้แก่

1.1.1 มหาอรรถกถาหรือมูลอรรถกถา เป็นผลงานของพระสงฆ์คณะมหาวิหาร เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา แก้ครบทั้ง 3 ปิฎก

1.1.2 มหาปัจจรีอรรถกถา คือ อรรถกถาแพใหญ่ แต่งขณะที่นั่งบนแพ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

1.1.3 กุรุนทีอรรถกถา แต่งที่กุรุนทีมหาวิหารในศรีลังกา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

1.1.4 อันธกัฏฐกถา แต่งเป็นภาษาอันธกะ แล้วสืบต่อกันมาขยายไปยังเมืองกัฐจิปุระ หรือเมืองคอนเจวารามในอินเดียภาคใต้ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

1.1.5 สังเขปัฏฐกถา คือ อรรถกถาย่อ สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งในอินเดียภาคใต้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

1.1.6 วินัยอัฏฐกถา ไม่ปรากฏสถานที่แต่งและชื่อผู้แต่ง

1.2 อรรถกถาสุตตันตปิฎก ได้แก่

1.2.1 มหาอรรถกถา หรือมูลอรรถกถา

1.2.2 สุตตันตอรรถกถา คือ อรรถกถาพระสูตร

1.2.3 อาคมัฏฐกกถา อรรถกถานิกาย 4

1.2.4 ทีฆัฏฐกถา อรรถกถาทีฆนิกาย

1.2.5 มัชฌิมัฏฐกถา คือ อรรถกถามัชฌิมนิกาย

1.2.6 สังยุตตัฏฐกถา คือ อรรถกถาสังยุตตนิกาย

1.2.7 อังคุตตรัฏฐกถา คือ อรรถกถาอังคุตตรนิกาย

1.3 อรรถกถาอภิธรรมปิฎก ได้แก่

1.3.1 มหาอรรถกถา หรือ มูลอรรถกถา

1.3.2 อภิธัมมัฏฐกถา คือ อรรถกถาอภิธรรม

2. อรรถกถาที่เชื่อว่าเป็นของเดิม อรรถกถาที่จะกล่าวต่อไปนี้ เชื่อกันว่าเป็นอรรถกถาที่มีอยู่เดิมก่อนสมัยของพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นอรรถกถาที่ได้รับการยกย่องและยอมรับกันในนิกายเถรวาทสายกัสสปวงศ์ ได้แก่

2.1 เนตติปกรณ์ คือ อรรถกถาที่เชื่อว่าเป็นผลงานของพระมหากัจจายนะ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า คือ พระมหากัจจายนะ ซึ่งมีชีวิตในสมัยพุทธกาลหรือไม่ คัมภีร์นี้ได้อธิบายหลักสำคัญ ๆ ของพุทธศาสนา และนำธรรมต่าง ๆ ที่จะนำไปปฏิบัติให้พ้นไปจากวัฏฏะ

2.2 เปฏโกปเทสปกรณ์ คือ อรรถกถาอันเป็นผลงานของพระมหากัจจายนะคัมภีร์นี้ได้อธิบายอริยสัจ 4 มีเนื้อหาบางส่วนที่ท่านนำมาจากคัมภีร์สังยุตตนิกาย

2.3 มิลินทปัญหา เป็นอรรถกถาเป็นผลงานของพระติปิฏกจุฬาภัย ต้นฉบับเดิมเป็นบทสนทนาถาม-ตอบระหว่างพระยามิลินท์กับพระนาคเสน ซึ่งพระยามิลินท์องค์นี้ทรงเป็นกษัตริย์กรีก ผู้ครองสาครนครในอินเดียภาคเหนือ

-->> ในบรรดาคัมภีร์อรรถกถาทั้ง 3 ข้างต้นนี้ คัมภีร์ที่ 3 คือ มิลินทปัญหานั้นได้ถูกนำมาแปลงสู่ภาษาไทยทั้งย่อและพิสดาร จึงทำให้ชาวพุทธในประเทศไทยรู้จักและคุ้นเคยกับคัมภีร์นี้มากกว่าอีก 2 คัมภีร์ข้างต้น

อรรถกถาที่มีอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธโฆษาจารย์

ท่านพุทธทัตตะได้เดินทางไปยังศรีลังกาก่อนพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อศึกษา และแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหฬสู่ภาษามคธ ผลงานที่เด่น ๆ ของท่านที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ คือ

1. อภิธัมมาวตาร เป็นการสรุปอรรถกถาที่พระพุทธโฆษจารย์ส่งไปให้

2. วินัยวินิจฉัย แต่งเป็นคู่มือพระวินัย กล่าวถึงวิธีการพิจารณาและตัดสินวินัย

3. อุตตรวินิจฉัย แต่งเป็นคู่มือพระวินัยต่อจากวินัยวินิจฉัย โดยเพิ่มประเพณีอันปฏิบัติกันอยู่ในศรีลังกา

4. รูปารูปวิภาค แต่งจำแนกรูปธรรมและอรูปธรรม

5. มธุรัตถวิลาสินี แต่งเป็นอรรถกถาพุทธวังสะ ขุททกนิกาย

อรรถกถาที่แต่งขึ้นในสมัยของพระพุทธโฆษจารย์

1. คัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์นี้ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่สำคัญอันเป็นผลงานของท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งคัมภีร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นสารานุกรมของพุทธศาสนาแต่งในลักษณะของอรรถกถา คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ก็เป็นงานเขียนสรุปสารัตถะของวินัยปิฎกกล่าว คือในส่วนสีลนิเทสเป็นการสรุปสารัตถะของวินัยปิฎก ในสมาธินิเทสเป็นการสรุปสารัตถะของสุตตันตปิฎก และในปัญญานิเทสเป็นการสรุปสารัตถะของปัญญา

2. คัมภีร์ญาโณทัยและปริตตัตกถา บางทีเรียกว่า อรรถกถาย่อ กล่าวกันว่าเป็นผลงานของท่านพระพุทธโฆษจารย์อีกคัมภีร์หนึ่ง แต่ต้นฉบับสูญหายไปแล้ว

อรรถกถาของพระไตรปิฏกสมัยพระพุทธโฆษาจารย์

อรรถกถาที่กล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นอรรถกถาที่อธิบายพุทธวจนะ ซึ่งมีผู้แต่งหลายท่านในที่นี้จะแยกกล่าวโดยแยกเป็น 3 ส่วนตามปิฎกทั้ง 3 และจะระบุชื่อของอรรถกถาและชื่อผู้แต่งดังต่อไปนี้

คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ชื่อผู้แต่ง

วินัยปิฎก สมันตปาสาทิกา พระพุทธโฆษาจารย์

ปาติโมกข์ กังขาวิตรณี พระพุทธโฆษาจารย์

ทีฆนิกาย สุมังคลวิลาสินี พระพุทธโฆษาจารย์

มัชฌิมนิกาย ปปัญจสูทนี พระพุทธโฆษาจารย์

สังยุตตนิกาย สารัตถปกาสินี พระพุทธโฆษาจารย์

อังคุตตรนิกาย มโนรถปูรนี พระพุทธโฆษาจารย์

คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ชื่อผู้แต่ง

1. ขุททกปาฐะ ปรมัตถโชติกา พระพุทธโฆษาจารย์*

2. ธัมมปทะ ธัมมปทัฏฐคาถา พระพุทธโฆษาจารย์*

3. อุทาน ปรมัตถทีปนี พระธัมมปาละ

4. อิติวุตตกะ ปรมัตถทีปนี พระธัมมปาละ

5. สุตตนิบาต ปรมัตถทีปนี พระพุทธโฆษาจารย์

6. วิมานวัตถุ ปรมัตถทีปนี พระธัมมปาละ

7. เปตวัตถุ ปรมัตถทีปนี พระธัมมปาละ

8. เถรคาถา ปรมัตถทีปนี พระธัมมปาละ

9. ชาดก ชาตกัฏฐกถา พระพุทธโฆษาจารย์*

10. นิเทส ลัทธัมมปัชโชติกา พระอุปเสนะ

11. ปฏิสัมภิทามัคค์ ลัทธัมมัปปกาสินี พระมหานามะ

12. อปทาน วิสุทธนวิลาสินี ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

13.พุทธวังสะ มธุรัตถวิลาสินี พระพุทธทัตตะ

14. จริยาปิฏกะ ปรมัตถทีปนี พระธัมมปาละ

15. ธัมมสังคณี อัฏฐสาลินี พระพุทธโฆษาจารย์

16. วิภังค์ สัมโมหวิโนทนี พระพุทธโฆษาจารย์

17. กถาวัตถุ ปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆษาจารย์

18. ปุคคลบัญญัติ ปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆษาจารย์

19. ธาตุกถา ปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆษาจารย์

20. ยมก ปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆษาจารย์

21. ปัฏฐาน ปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆษาจารย์

*ที่ใส่เครื่องหมายดอกจันไว้ท้ายนั้น หมายถึง ผู้แต่งเป็นเพียงการสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ไม่เป็นการรับรองกันแน่ชัด

วรรณกรรมบาลีอันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

วรรณกรรมที่แต่งด้วยภาษาบาลี (มคธ) ซึ่งรจนาขึ้นหลังพุทธกาล นับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพุทธศาสนา คัมภีร์ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ตามมติของพม่า (เมียนมาร์) จัดไว้ในหมวดคันถันตระหรือคัมภีร์ที่อยู่นอกสายพระไตรปิฎก มีชื่อดังนี้

1. คัมภีร์ทีปวังสะ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระเจ้ามหาเสนและก่อนสมัยของพระเจ้าธาตุเสน เชื่อกันว่าคัมภีร์นี้มีมาก่อนสมัยพระพุทธโฆษาจารย์เพราะท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้อ้างถึงชื่อและข้อความบางตอนในคัมภีร์นี้ด้วย

2. คัมภีร์มหาวังสะ เป็นผลงานของท่าน พระมหานามะ รจนาขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าธาตุเสน ราวพุทธศตวรรษที่ 10 ลักษณะของการแต่งคล้ายคลึงกับคัมภีร์ทีปวังสะมาก เช่น มีการลำดับบทและเนื้อหา แต่ที่แตกต่างก็คือมหาวังสะมีเนื้อหาละเอียดมากกว่านักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า มหาวังสะก็คืออรรถกถาทีปวังสะนั่นเอง

3. คัมภีร์โพธิวังสะหรือทาฐาวังสะ เป็นผลงานของพระอุปติสสะ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยการประดิษฐานพระศรีมหาโพธิ์และอานิสงส์ของการบูชาพระศรีมหาโพธิ์

4. คัมภีร์ทาฐาธาตุวังสะหรือทาฐาวังสะ เป็นผลงานของพระธรรมกิตติ แต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้าที่นำไปประดิษฐานในที่ต่าง ๆ

5. คัมภีร์ถูปวังสะ เป็นผลงานของท่านวาจิสสระ เนื้อหาของคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องประวัติความเป็นมาของสถูปต่าง ๆ

6. คัมภีร์จูฬวังสะ เป็นผลงานของท่านธัมมกิตติ เนื้อหาของคัมภีร์นี้กล่าวถึงประวัติของกษัตริย์ศรีลังกาต่อจากมหาวังสะ จนกระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ 2

7. คัมภีร์หัตถวนคัลลวิหารวังสะ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง มีเนื้อหาว่าด้วยประวัติการสร้างวิหารชื่อหัตถวนคัลละ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของศรีลังกาเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “มลยเทสะ” และกล่าวถึงประวัติของพระเจ้าสิริสังฆโพธิ

พอจะมีหนังสือเกี่ยวกับ โมคคัลลานะสูตร กัจจายนสูตร ไหม อยากได้ข้อมูลจังเลย เพราะต้องไปนำปสอนพระนิสิตที่กำลังเรียนระดับอุดมศึกษาห้องเรียนบุรีรัมย์อะ หากได้จะเป็นคุณอย่างสูง เจริญพร

อยากทราบสูตรไวยากรณ์จากคัมภีร์กัจจายนะ ลักษณะและองค์ประกอบของคัมภีร์มากๆค่ะ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

นายสนั่น ด้วงโพนทัน

ขอข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาสูตรไวยากรณ์จากคัมภีร์ กัจจายนะ โมคคัลลานะ สัททนีติปกรณ์และปทรูปสิทธิปกรณ์

ดีคับ

คำภีร์ดาลาดาวังสะ(ทาฐวังสะ) ของลังกา ได้กล่าวถึงการแบ่งพระบรมสารีรกิธาตุในกาลนั้น และกล่าวถึงพระธาตุเขี้ยวแก้ว ทั้ง 4 องค์ ในที่นี้ กล่าวเฉพาะ องค์ที่มีสองเขี้ยวแก้ว (หมายถึงรากฟันงามดังงาช้าง หน้าฟันสวมทองคำ ซึ่งนาคทั้งหลายนำไป (หมายถึงเต้าโครงรากฟันงามๆ วางไว้ที่เดดานปากรูปปั้นหรือภาพเขียนหน้าพญานาค ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าบนโลกมนุษย์ของเรานี้ มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ 2 องค์ (หมายถึงพระเจ้าห้าองค์นั้น มีรากฟันอย่ด้านซ้ายขวา 2 องค์และสวมทองคำ เค้าโครงอุปมัยดังเขี้ยวในเรื่องจิตนาการณ์ไว้ในปากพญานาค ปากฟันรกปั้นยักษ์วัดพระแก้ว เป็นต้น สรุปเขี้ยวแก้วมายถึงรากแก้วของฟัน เป็นชุดที่สวมทองคำจำนวน 5 พระองค์ แต่มีรากฟัน เพียงสองรากฟัน ตรงการสามซี่ ถูกตัดรากฟันไปแล้ว เมื่อนำชุดนั้นกลับรากฟันออกนอกเพดานรูปปั้นพญานาค จึงดูเป็นเขี้ยวยาวๆ

คัมภีร์มหาวังสะ เป็นผลงานของท่าน พระมหานามะ รจนามีแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท