ความสัมพันธ์ระหว่างเจตสิกกับจิต


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ความสัมพันธ์ระหว่างเจตสิกกับจิต



จิตเมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์  ต้องมีเจตสิกอันเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตประกอบด้วย  ในพระสุตตันตปิฎกได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับเจตสิกไว้ดังนี้


“สารีบุตรสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว  บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก  วิจาร  ปีติ  และสุข  อันเกิดจากวิเวกอยู่  ก็ธรรมในปฐมฌานคือ  วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  จิตเอกัคคตา  ผัสสะ  เวทนา  สัญญา  เจตนา  วิญญาณ  ฉันทะ  อธิโมกข์  วิริยะ  สติ  อุเบกขา  มนสิการ  เหล่านั้น  สารีบุตรกำหนดตามลำดับบทได้แล้ว...”
(ม.อุ.(ไทย) ๑๔/๙๓/๑๑๑-๑๑๔.)


->>  และทรงกล่าวถึงจิตและเจตสิกในทุติยฌาน  ตติยฌาน  จตุตถฌาน  จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานของพระสารีบุตรเป็นขั้นๆ ต่อไป


จิตและเจตสิกจะเกิดร่วมกันไม่แยกจากกันและรู้ในสิ่งเดียวกันดังที่พระสารีบุตรอธิบายแก่พระมหาโกฏฐิตะถึงความสัมพันธ์ของปัญญาเจตสิกกับวิญญาณ(จิต)ดังนี้


“ปัญญาและวิญญาณ  ๒  ประการนี้รวมกัน  ไม่แยกกัน  และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้  เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด  วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น  วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด  ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น  เหตุนั้นธรรม ๒ ประการนี้  จึงรวมกัน ไม่แยกกัน  และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้”
(ม.มู.(ไทย) ๑๒/๔๔๙/๔๘๙.)


->>  ต่อมาพระสารีบุตรได้อธิบายคำถามของพระมหาโกฏฐิตะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง  เวทนาเจตสิก  สัญญาเจตสิก  กับวิญญาณ  ดังนี้


“เวทนา  สัญญา  และวิญญาณ  ๓  ประการนี้รวมกัน  ไม่แยกกัน  และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้  เพราะเวทนาเสวยอารมณ์สิ่งใด  สัญญาก็กำหนดหมายสิ่งนั้น  สัญญากำหนดหมายสิ่งใด  วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น  เหตุนั้นธรรม ๓ ประการนี้  จึงรวมกัน ไม่แยกกัน  และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้”
(ม.มู.(ไทย) ๑๒/๔๕๐/๔๙๐.)


->>  แสดงว่าจิตกับเจตสิกนั้นเกิดร่วมกัน  รับอารมณ์เดียวกันแต่ทำหน้าที่ต่างกัน  ดังนี้คือ  วิญญาณหรือจิตทำหน้าที่รู้อารมณ์  เจตสิกแต่ละดวงทำหน้าที่เฉพาะของตนเอง  ได้แก่  ปัญญาเจตสิกทำหน้าที่รู้ชัดอารมณ์  เวทนาเจตสิกทำหน้าที่เสวยอารมณ์  สัญญาเจตสิกทำหน้าที่กำหนดหมาย(จำ)อารมณ์


ในขุททกนิกาย  มหานิทเทส  พระสารีบุตรได้อธิบายความหมายคำสอนของพระผู้มีพระภาคทำให้เราได้ทราบความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับเจตสิกต่อไป  ดังนี้

“(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)

ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น  ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว  ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแท้


พระสารีบุตรอธิบายว่า

คำว่า  อิ่ม  ได้แก่  ความอิ่มเอิบ  ความปราโมทย์  ความบันเทิง  ความเบิกบาน  ความร่าเริง  ความรื่นเริง  ความปลื้มใจ  ความยินดี  ความมีใจสูง  ความมีใจแช่มชื่น  ความเต็มใจที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕

คำว่า  ใจ  ได้แก่  จิต  มโน...ที่เกิดจากผัสสะ  เป็นต้นนั้น  นี้เรียกว่า ใจ  ใจนี้ไปพร้อมกัน  คือ  เกิดร่วมกัน  ระคนกัน  เกี่ยวเนื่องกัน  เกิดพร้อมกัน  ดับพร้อมกัน  มีวัตถุอย่างเดียวกัน  มีอารมณ์อย่างเดียวกันกับความอิ่มนี้”

(ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๒/๓-๔)


->>  พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า ปีติเจตสิก  ซึ่งเรียกว่าความอิ่มใจนั้น  มีการเกี่ยวเนื่องกับจิต  คือ  ประกอบกับจิต  เกิดร่วมกับจิต  เกิดพร้อมกับจิต  ดับพร้อมกับจิต  มีวัตถุเดียวกับจิต  และมีอารมณ์เดียวกับจิต


การเกิดและดับของจิตนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายว่า  


“ตถาคตเรียกสิ่งนี้ว่า  จิตบ้าง  มโนบ้าง  วิญญาณบ้าง  จิต  เป็นต้นนั้น  ดวงหนึ่งเกิดขึ้น  ดวงหนึ่งดับไปตลอดทั้งคืนและวัน”
(สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๖๑/๑๑๖)


->>  พระสูตรนี้ทำให้เราได้รู้ลักษณะการทำงานของเจตสิกซึ่งประกอบกับจิตว่า  มีการเกิดและดับสืบเนื่องติดต่อกันตลอดเวลาและอาศัยวัตถุ  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  เกิด  และรู้อารมณ์เช่นเดียวกับจิต


ในอีกพระสูตรหนึ่งพระสารีบุตรได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับเจตสิกในข้อความที่คล้ายกันโดยท่านได้อธิบายความของพระพุทธสุภาษิตที่ว่า


“เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดีจึงมีแก่เรา
อนึ่ง  เราได้เห็นลูกศรที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านั้นแล้ว”



จากพระพุทธพจน์นี้พระสารีบุตรอธิบายว่า


“คำว่า  ลูกศร  ได้แก่  ลูกศร  ๗  ชนิด  คือ (๑) ราคะ  (๒) โทสะ  (๓) โมหะ  (๔) มานะ  (๕) ทิฏฐิ  (๖) โสกะ  (๗) ความสงสัย”


“คำว่า  อันอาศัยหทัย  คือ  อันอาศัยจิต  อาศัยอยู่ในจิต  ไปร่วมกัน  เกิดร่วมกัน  เกี่ยวข้องกัน  ประกอบร่วมกัน  เกิดพร้อมกัน  ดับพร้อมกัน  มีวัตถุเดียวกัน  มีอารมณ์เดียวกับจิต...”

(ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๑๗๓/๔๙๑-๔๙๒)


สรุปได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับเจตสิกมีลักษณะดังนี้คือ  เจตสิกอาศัยจิต  ประกอบกับจิต  เกิดร่วมกับจิต  เกิดพร้อมกับจิต  ดับพร้อมกับจิต  มีวัตถุเดียวกับจิต  และมีอารมณ์เดียวกับจิต  แม้เจตสิกจะเกิดร่วมกับจิต  แต่เจตสิกแต่ละดวงต่างทำหน้าที่เฉพาะตามลักษณะของตนๆ



จิตและเจตสิกต่างอิงอาศัยกัน   เจตสิกนอกจากอาศัยจิตดังที่กล่าวมาแล้ว  จิตก็ต้องอาศัยเจตสิกในการเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน  ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า


“เพราะวิญญาณมี  นามรูปจึงมี  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย  นามรูปจึงมี. . .เพราะนามรูปมี  วิญญาณจึงมี  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  วิญญาณจึงมี. . .วิญญาณนี้ย่อมกลับมา  ไม่พ้นจากนามรูป  ด้วยเหตุเพียงเท่านี้โลกจึงเกิด  แก่  ตาย  จุติและอุบัติ. . .”
(สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๖๕/๑๒๗.)


พระสารีบุตรก็กล่าวกับพระมหาโกฏฐิตะไว้เช่นเดียวกันว่า  


“เปรียบเหมือนไม้อ้อ  ๒  กำ  พึงตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยกันและกัน  อุปมาฉันใดอุไมยก็ฉันนั้น  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  วิญญาณจึงมี  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย  นามรูปจึงมี...”
(สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๖๗/๑๓๕-๑๓๖.)


พระสารีบุตรได้อธิบายความหมายของนามรูป  ว่าหมายถึง  “เวทนา  สัญญา  เจตนา  ผัสสะ  มนสิการ  นี้เรียกว่า  นาม  มหาภูตรูป ๔  และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔  นี้เรียกว่า  รูป”
(ม.มู. (ไทย) ๑๒/๑๐๐/๙๕.)


หรือ  “นาม  ได้แก่  ขันธ์ที่มิใช่รูป  ๔  อย่าง  (เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  และวิญญาณขันธ์)  และรูป  ได้แก่  มหาภูตรูป ๔  และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔”
(ขุ.จู. (ไทย) ๓๐/๕/๕๘.)


->>  จะเห็นได้ว่านามคือเจตสิกและวิญญาณคือจิต  ต่างก็อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้  และทั้งจิตและเจตสิกต่างก็ต้องอาศัยรูปจึงเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับรูปก็ต้องอาศัยนามคือเจตสิกและจิตในการเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน  หรืออีกนัยหนึ่ง  ขันธ์ทั้ง ๕  คือ  รูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  และวิญญาณขันธ์  คือนามและรูป  ต่างต้องอาศัยกันจึงเกิดขึ้นได้



เจตสิกปรุงแต่งจิต  เจตสิกเมื่อประกอบกับจิตแล้วยังปรุงแต่งจิตให้เป็นไปตามเจตสิกที่ประกอบ  ดังที่พระธัมมทินนาภิกษุณีกล่าวกับวิสาขะอุบาสกว่า


“สัญญาและเวทนาเป็นธรรมมีอยู่คู่จิต  เนื่องกับจิต   ฉะนั้น  สัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร(เครื่องปรุงแต่งจิต)”

(สังขารมี ๓  คือ  ๑.กายสังขาร  หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกายได้แก่  ลมหายใจ  ๒.วจีสังขาร  หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา  ได้แก่  วิตกและวิจาร  ๓.จิตตสังขาร  หมายถึงสภาพปรุงแต่งทางใจ  ได้แก่  สัญญาและเวทนา  ดูใน ม.มู.อ.(บาลี)๒/๔๖๓/๒๗๒.)
(ม.มู. (ไทย) ๑๒/๔๖๓/๕๐๔.)


พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงจิตที่เศร้าหมองเพราะประกอบด้วยเจตสิกที่เศร้าหมอง  คือ  ราคะ  โทสะ  และโมหะ  ดังนี้


“ภิกษุทั้งหลาย  แม้ภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น  จิตรกรก็คิดด้วยจิตนั่นเอง  จิตนั่นเองวิจิตรกว่าภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น  เพราะเหตุนั้นแล  เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตอยู่เนืองๆ ว่า  จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ  โทสะ  โมหะ  เป็นเวลานาน  สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมอง  เพราะจิตเศร้าหมอง  สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว”
(สํข.(ไทย) ๑๗/๑๐๐/๑๙๑-๑๙๒.)


ในอีกพระสูตรหนึ่ง  พระพุทธองค์ตรัสว่า  "จิตที่เศร้าหมองก็หวังได้ว่าจะต้องไปสู่ทุคติเหมือนผ้าสกปรกที่ช่างนำมาย้อมสีต่างๆ ก็หวังได้ว่าผ้านั้นย้อมได้ไม่ดี  สีไม่สดใส  ส่วนจิตที่ไม่เศร้าหมอง  ก็หวังได้ว่า  จะต้องไปสู่สุคติเหมือนผ้าสะอาด  ที่ช่างย้อมนำไปใส่ลงในน้ำย้อมสีต่างๆ ก็หวังได้ว่า  ผ้านั้นย้อมได้ดีมีสีสดใส  ทรงอธิบายว่า  จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลส  คือ  กิเลสเครื่องเศร้าหมองมี  ๑๖  ประการ  ๑.อภิชฌาวิสมโลภะ (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น)  ๒.พยาบาท (ความคิดปองร้ายผู้อื่น)  ๓.โกธะ (ความโกรธ)  ๔.อุปนาหะ (ความผูกโกรธ)  ๕มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน). . .๑๖.ปมาทะ (ความประมาท)
(ม.มู. (ไทย) ๑๒/๗๐/๖๒-๖๓.)


การปรุงแต่งจิตของเจตสิกนี้ทำให้จิตที่ถูกปรุงแต่งมีลักษณะตามเจตสิกนั้นๆ ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


“บุรุษบุคคลนี้ตกอยู่ในอวิชชา  ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง  วิญญาณก็ประกอบด้วยบุญ  ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง  วิญญาณก็ประกอบด้วยบาป  ถ้าสังขารที่เป็นอาเนญชาปรุงแต่ง  วิญญาณก็ประกอบด้วยอาเนญชา  ในกาลใดภิกษุละอวิชชาได้แล้ว  วิชชาเกิดขึ้น  ในกาลนั้นภิกษุนั้นก็ไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร  อปุญญาภิสังขาร  อาเนญชาภิสังขาร  เพราะกำจัดอวิชชาได้  เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น  เมื่อไม่ปรุงแต่ง  ไม่จงใจ  ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก”
(สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๕๑/๑๐๑.)


การปรุงแต่งของเจตสิกยังเป็นมูลเหตุให้บุคคลกระทำกรรมทั้งทางดีและไม่ดีตามเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตนั้น  ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า


“เพราะบุคคลผู้มีราคะ  ถูกราคะครอบงำ  มีจิตถูกราคะกลุ้มรุม  ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย  ประพฤติทุจริตทางวาจา  ประพฤติทุจริตทางใจ  หลังจากเขาตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก  ฉะนั้น  ราคัคคิ(ไฟคือราคะ)นี้  จึงเป็นสิ่งที่ควรละ  ควรเว้น  ไม่ควรเสพ  
เพราะบุคคลผู้มีโทสะ  ถูกโทสะครอบงำ. . .
เพราะบุคคลผู้มีโมหะ  ถูกโมหะครอบงำ. . . ฉะนั้นโมหัคคิ(ไฟคือโมหะ)นี้  จึงเป็นสิ่งที่ควรละ  ควรเว้น  ไม่ควรเสพ”

(อง.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๔๗/๗๒-๗๓.)


สรุปได้ว่าการปรุงแต่งจิตของเจตสิกนี้นอกจากทำให้จิตมีลักษณะต่างๆ กันตามลักษณะของเจตสิก  เช่น  จิตฟุ้งซ่านเมื่ออุทธัจจะเจตสิกปรุงแต่ง  จิตมีความยินดีพอใจในกามคุณเมื่อโลภเจตสิกเข้าปรุงแต่ง  จิตมีความท้อถอยเมื่อถีนมิทธะปรุงแต่ง  จิตมีความโกรธเมื่อโทสเจตสิกเข้าปรุงแต่ง  เป็นต้น นอกจากนี้  ยังทำให้จิตแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของเจตสิกที่ปรุงแต่ง  เช่น  จิตที่เป็นบุญ  จิตที่เป็นบาป(อปุญญา)  และจิตที่เป็นอาเนญชา(อรูปฌาน)  เป็นต้น  และเป็นต้นเหตุให้บุคคลกระทำกรรมทั้งที่ดีและไม่ดีตามเจตสิกที่ปรุงแต่งให้ได้รับผลของกรรมในทางที่ดีและไม่ดีอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 215948เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทางกาย และรู้สึกนึกคิดทางใจ จิตนี้ไม่ว่าจะเกิดแก ่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็ตาม ย่อมมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ เหมือนกันทั้งสิ้น
  • เจตสิก เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนเรา ที่ช่วยตัดสินใจ หรือปรุงแต่งจิตใจ ในการทำบุญและทำบาป ซึ่งธรรมชาตินี้ เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกันกับจิต อาศัยวัตถุ เดียวกันกับจิต เหมือนกระแสไฟและแสงสว่าง ที่ต้องอาศัยหลอดไฟเกิดขึ้น

ในหนังสือผมว่าเช่นนั้นขอรับ

แต่มาอ่านแล้วก็ทำให้เข้าใจขึ้นอีกเยอะเลยครับ

กำลังเรียนอภิธรรมด้วยครับ เพิ่งจะเริ่ม ต้องเข้าใจจุดนี้ก่อน แหม โอกาสเหมาะกำลังจะปิดเข้ามาอ่านพอดี

ขอบคุณมากครับ

ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท