อภิปรัชญาจากพุทธปรัชญา


อภิปรัชญาจากพุทธปรัชญา
ตามแนวของนักปรัชญาอินเดีย
สำนักพุทธปรัชญาต่างๆ




พุทธปรัชญาตามหลักปรัชญาที่ถือเป็นหลักสำคัญ  คือ


1. สำนักไวภาษิกะ (สรวาสติวาท)

2. สำนักวิชญาณวาท  (วิญญาณวาท)

3. สำนักเสาตรันติกะ

4. สำนักมาธยมิกะ


->  สำนักไวภาษิกะ ถืออภิธรรมปิฎกเป็นหลัก  คือถือคัมภีร์อรรถกถาอภิธรรม  ชื่อ  “มหาวิภาษาศาสตร์”  ที่กล่าวว่า  ความแท้จริงมีอยู่  2  อย่าง  คือ  นามกับรูป   หรือ กายกับจิต  (object & subject)   ความแท้จริงทั้ง  2 อย่างนี้  สามารถรู้ได้โดยตรงทางประจักษ์  (perception)  และชื่อของสำนักนี้ก็ได้มาจากชื่อคัมภีร์นี้นั้นเอง


->  สำนักเสาตรันติกะ  ถือพระสุตตันปิฎกเป็นหลัก  คำว่า “เสาตรันติกะ” ก็คือ  “สุตตันติกะ”ในภาษาบาลีนั่นเอง  สำนักนี้ยึดหลักอภิปรัชญาอย่างเดียวกับสำนักไวภาษิกะ  คือยอมรับความแท้จริงสองอย่างเหมือนกัน   แต่เห็นต่างกันในหลักญาณวิทยา  กล่าวคือ  เสาตรันติกะ  ถือว่าความแท้จริง  2  อย่างนี้   ไม่อาจรู้ได้โดยตรงทางการประจักษ์  จะรู้ได้ก็โดยทางอนุมานเท่านั้น


->  สำนักวิชญาณวาท  ถือว่า   ความแท้จริงมีอยู่อย่างเดียวคือ   วิญญาณ  หรือจิต  ส่วนรูป หรือร่างกายนั้นเป็นเพียงอารมณ์ของจิต  เกิดขึ้นมาจากจิต   หาได้มีอยู่อย่างอิสระ   โดยไม่ต้องอาศัยจิตไม่


->  สำนักมาธยมิกะ  สำนักนี้มีความเห็นเป็นกลาง ๆ  โดยยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา  หรือกฎปฏิจจสมุปบาท   เป็นมาตรฐานสำหรับตัดสินว่าอะไรจริง  อะไรไม่จริง   หมายความว่าสิ่งใดที่เป็นไปตามกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท  สิ่งนั้นเรียกว่า "ศูนยะ"  คือว่างจากความจริง (ไม่จริง) สิ่งใดไม่เป็นไปตามกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท  สิ่งนั้นจัดเป็นความแท้จริง และเรียกตามศัพท์ของสำนักนี้ว่า  ศูนยะ  เหมือนกัน  แต่หมายความว่า   ว่างจากการพรรณนา คือ ไม่มีทฤษฎีใดสามารถพรรณนาความแท้จริง  เช่นนั้นให้ถูกต้องครบถ้วนได้


สรุปว่า  ความแตกต่างระหว่างสำนักไวภาษิกะ  กับ  เสาตรันติกะ  เป็นความแตกต่างทางญาณวิทยา   ส่วนความแตกต่างระหว่างสำนักวิชญาณวาทกับมาธยมิกะเป็นเรื่องทางอภิปรัชญา




อนึ่งนักปรัชญาอินเดียจัดแบ่งสำนักพุทธปรัชญาทั้ง  4  สำนัก   ออกเป็น  2  พวก คือ



สองสำนักแรก  คือ

ก. ไวภาษิกะ  หินยานหรือเถรวาท

ข. เสาตรันติกะ  หินยานหรือเถรวาท



สองสำนักหลัง  คือ

ค. วิชญาณวาท  มหายานหรือาจาริยวาท

ง. มาธยมิกะ  มหายานหรือาจาริยวาท



แต่คำว่า  “หินยาน”  นั้น  ไม่ใช่สายเดียวกับพวก  “หินยาน”  ในประเทศศรีกังลาและในประเทศไทย  เพราะไม่ได้ถือตามคัมภีร์สายบาลีเหมือนอย่างในประเทศไทยและศรีลังกา  แต่ถือคัมภีร์สายสันสกฤต  เช่นเดียวกับพวกมหายาน   ต่างแต่ถือกันคนละคัมภีร์เท่านั้น  นักปรัชญาฝ่ายไทย  ไม่ถือว่าเป็นฝ่ายหินยาน  กลับถือว่าเป็นนิกายหนึ่งที่แตกออกมาจากมหายาน

หมายเลขบันทึก: 215951เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
นิสิตจักรชัย อุ่นใจ

-ขอขอบพระคุณที่ให้ความรู้อย่างกว้างในพุทธอภิปรัชญาฯ อนุโมธนาบุญกุศลฯ จาก..นิสิตปีสาม/2552/ MCU

1. อภิปรัชญา พุทธปรัชญาสำนักไวภาษิกะ


สำนัก “ไวภาษิกะ” เป็นสำนักพุทธปรัชญาที่นักปรัชญาชาวอินเดียสันนิษฐานว่า แตกมาจากนิกายเถรวาท (หินยาน) แต่อาศัยคัมภีร์ภาษาสันสกฤตจึงทำให้ชื่อพระสูตรต่าง ๆ และบุคคลที่คุ้นหูคุ้นตากับคนไทยเปลี่ยนแปลงไป นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงซึ่งทำให้เกิดปรัชญาไวภาษิกะขึ้นนั้นมีหลายท่านด้วยกันคือ


1. ท่านกาตยายนีบุตร (ราว พ.ศ. 500-600) เป็นผู้รจนาคัมภีร์หลักของอภิธรรมปิฎก ชื่อ “ชญานปรัสถาน” (ญาณปัฏฐาน) และเป็นผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มหาวิภาษาศาสตร์ ขึ้น


2. ท่านอัศวโฆษ (ราว พ.ศ. 600-700)เกิดที่เมืองสาเกต เป็นผู้รจนาหนังสือ “พุทธจริต” และรจนาคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มหาวิภาษาศาสตร์ ด้วย


3. ท่านวสุพันธุ์ (ราว พ.ศ. 900-1000 ) เป็นผู้รจนาอภิธรรมโกศะ


4. ท่านสังฆภัทร (รุ่นเดียวกับท่านวสุพันธุ์) เกิดที่แคว้นกัษมีระ ผลงานของท่านที่เด่น ๆ มี 2 เล่ม คือ สมยทีปะ และนยายานุสาระ



การคาดคะเนความจริงทางจักรวาลวิทยา

นักปรัชญาไม่ว่ายุคใดย่อมถือว่าจักรวาล หรือสากลโลกเป็นเรื่องที่ดึงดูดความสนใจเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ประจักษ์อยู่เบื้องหน้า ท้าทายให้ศึกษาหาคำตอบว่ามาอย่างไรมาจากไหน, ประกอบด้วยอะไร และจะเป็นอย่างไรต่อไป ความจริงข้อนี้เราจะเห็นได้จากสำนักปรัชญาต่าง ๆ ทั้งในสมัยโบราณ , สมัยกลางและสมัยปัจจุบัน

พุทธปรัชญาสำนักไวภาษิกะก็สนใจเรื่องจักรวาลนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน และเป็นระบบปรัชญาฝ่ายพุทธ ระบบแรกที่ยอมรับความมีอยู่จริงของจักรวาล คือรับรองว่า จักรวาลเป็นองคภาวะชั้นสูงที่มีอยู่จริง ๆ และมีอยู่อย่างอิสระจากตัวเอง ความมีอยู่ของจักรวาลนี้ไม่ว่าจะมองแง่ใดมุมใด คือแง่สามัญสำนึกหรือแง่ปรมัตถ์ ก็คงเห็นว่า จักรวาลเป็นองคภาวะหนึ่งต่างหากจากตัวเรา แต่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


วัตถุประสงค์ที่ไวภาษิกะต้องศึกษาเรื่องนี้ ก็เพื่อค้นคว้าถึงความแท้จริงขั้นสูงสุดอันจะนำไปสู่การดับทุกข์ ตามเป้าหมายของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ จากการวิเคราะห์สิ่งภายนอกตัวเราว่ามีอะไรเป็นอย่างไรแล้ว ในที่สุดจะนำไปสู่การศึกษาเรื่องตน และผลท้ายสุดที่ได้รับก็คือ “ความว่าง ” แม้ว่าสำนักปรัชญานี้จะยังไม่ได้บรรลุตามเป้าหมายอันนี้ก็ตามก็เชื่อว่าเป็นการปูพื้นฐานให้พุทธปรัชญาสำนักอื่น ๆ เช่น โยคาจาร หรือ มาธยมิกะก้าวเข้าไปจนถึง...

2. พุทธปรัชญาสำนักเสาตรันติกะ


คำว่า “เสาตรันติกะ” ตรงกับบาลี “สุตตันติกะ” แปลว่าผู้ศึกษาหรือปฏิบัติตามพระสูตร หมายความว่า ปรัชญาสำนักนี้นับถือพระสุตันตปิกฎเป็นสำคัญ ไม่ยอมรับพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก สำนักนี้ถ้าถือตามทัศนะปรัชญาอินเดียแล้ว ถือว่าพัฒนามาจากปรัชญาเถรวาท (หินยาน) นั้นเอง


ตามบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง หรือ ถังซำจัง ผู้ไปสืบศาสนาในอินเดีย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 นั้นว่า ผู้ก่อตั้งสำนักนี้ก็คือท่านกุมารสาตะ แห่งตักศิลา ซึ่งเป็นนักปรัชญาร่วมสมัยกับท่านนาคารชุน, ท่านอารยเทพ นอกจากนี้ก็ยังมีท่านศรีลาภะ, ท่านยโศมิตร เป็นต้น ร่วมกันตั้งสำนักนี้ขึ้น


อภิปรัชญาของสำนักสาตรันติกะ

อภิปรัชญาของสำนักนี้ โดยทั่วไปตรงกันกับของสำนักไวภาษิกะ คือยอมรับความมีอยู่ของวัตถุภายนอกและของจิตกับอารมณ์ภายใน ต่างกันแต่ในทางญาณวิทยาเท่านั้น หลักอภิปรัชญาที่จะนำมากล่าวต่อไปนี้แสดงให้เห็นทัศนะของสำนักไวภาษิกะและเสาตรันติกะต่างกันหรือตรงกันอย่างไร



ขณิกภังควาท

ทฤษฏีทางอภิปรัชญาที่ไวภาษิกะและเสาตรันติกะเห็นตรงกันมีชื่อว่า “ขณิกภังควาท” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ขณิกวาท” (The theory of Momentariness) ทฤษฎีนี้ถือว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ได้นาน หรือคงทนถาวร บางท่านเรียกว่า ทฤษฎีนี้ว่า “สันตติวาท” (the theory of Flux) เพราะถือว่า นามรูปเกิด ๆ ดับ ๆ สืบต่อกันเป็นกระบวนการลูกโซ่ไม่หยุดหย่อน

ทฤษฎีขณิกภังควาท ตั้งขึ้นจากหลักไตรลักษณ์ของพุทธศาสนา และมีนัยเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิของนักปราชญาอื่น

ตามหลักทฤษฏีนี้รายละเอียดว่า ทุกสิ่งเป็นขณิกะ คือตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วก็ดับไป หมายความว่าไม่เที่ยงนั่นเอง กล่าวคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขณิกะ (ไม่เที่ยง) ไม่อยู่ในอำนาจของตน (เป็นทุกข์) ไม่มีทั้งภาวะ (being) และ อภาวะ (non-being) (หมายถึงอนัตตา) มีแต่การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อน (becoming) สิ่งที่เป็นภาวะก็ดี อภาวะก็ดี ล้วนแต่ไม่ใช่ความดีแท้จริง อาการที่เปลี่ยนแปลง ของสิ่งทั้งหลายเท่านั้นคือความแท้จริง


ทฤษฎีนี้ถือต่อไปอีกว่า ชีวิตนี้มิใช่อื่นไกล ที่แท้ก็คืออนุกรมแห่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีเที่ยงแท้ถาวร มีแต่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้น อนุกรมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมเป็นไปต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งจึงเกิดขึ้น และสิ่งนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดสิ่งอื่นต่อไปเป็นวัฏฏจักร์ ในทางปฏิโลมนั้นก็ย่อมเป็น ไปตามนี้ คือ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับด้วย ทั้งหมดนี้ตรงกับกฏปฏิจจสมุปบาท


->  สรุปว่า
สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ดับไปก็เพราะเหตุปัจจัย  ในโลกนี้จึงมีแต่การเกิดกับการดับ การผลิตกับการทำลาย หรือการสร้างกับการกับการเสื่อมสลาย ไม่มีอะไรอื่นนอกจากนี้ ไม่มีมนุษย์และเทพองค์ใดที่สามารถยืนยงคงอยู่ชั่วนิรันดร



-->  เปรียบเทียบกับทัศนะของนักปราชญ์อื่นๆ

เพื่อแสดงให้เห็นว่าหลักขณิกภังควาทที่เป็นหลักสากลกับทัศนะของนักปราชญ์อื่น ๆ จึงขอนำทัศนะของปรัชญาบางท่านมาเปรียบเทียบให้เห็นดังต่อไปนี้


1. นักปรัชญากรีกชื่อเฮราโดรตัส กล่าวไว้ว่า ท่านไม่สามารถก้าวข้ามกระแสน้ำเดียวกันได้ถึง 2 ครั้งทั้งนี้เพราะกระแสน้ำไหลไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน กระแสน้ำที่ข้ามครั้งแรกย่อมไหลไปในทันที ส่วนกระแสน้ำที่ข้ามครั้งที่สอง จึงเป็นกระแสน้ำที่ไหลมาแทนที่ใหม่

2. นักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อ เดวิด ฮูม กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจจับตัวข้าพเจ้าเองได้ เมื่อข้าพเจ้าพยายามจะจับครั้งใด ก็พบแต่สัญญาณนี้หรือนั้น” หมายความว่าหาตัวอัตตาไม่พบ คงพบแต่สิ่งที่สมมติเรียกกัน เช่น นี้มือ นี้เท้า นี้ผม แสดงว่าว่างจากอัตตาที่ศาสนาและปรัชญาอื่นถือว่าเที่ยงแท้ถาวร

3. นักปรัชญาชาวอเมริกัน ชื่อ วิลเลี่ยม เจมส์ กล่าวไว้ว่า “ความคิดที่ผ่านไป ๆ นั้นเอง คือตัวผู้คิด” หมายความว่าไม่มีผู้คิด มีแต่ความคิด แสดงว่าว่างจากอัตตาเหมือนกัน

4. กวีเอกอังกฤษชื่อ เชลลีย์ (Shelley) ได้ประพันธ์เป็นโครงบทหนึ่งไว้ว่า

“Worlds on Worlds are rolling ”

“From creation to decay,

Like the bubbles on a river,

Sparking, bursting, borne away.”

“โลกทั้งมวล ล้วนหมุนไปไม่รู้หยุด

เริ่มจากสร้าง แล้วก็เสื่อมโทรมทรุด

ดุจฟองน้ำแตกประกาย แล้วหายไป.”

3. พุทธปรัชญาสำนักวิชญาณวาทหรือโยคาจาร


ปรัชญาสำนักนี้บางทีเรียกว่า “โยคาจาร” ทั้งนี้เพราะมุ่งศึกษาให้รู้แจ้งสัจธรรมขั้นสูงสุดโดยการปฏิบัติโยคะ และวิธีปฏิบัติก็ดำเนินตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งทรงเน้นข้อปฏิบัติทางกายและทางใจเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งสัจธรรมดังกล่าว ข้อปฏิบัติทางจิต ก็คือการฝึกจิตเพื่อให้รู้แจ้งในสัจธรรมขั้นสูงสุด แล้วจะพบว่า


1. สากลจักรวาล หาใช่อะไรอื่นที่แยกออกไปจากจิตไม่

2. ในสัจจธรรม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเกิด และการตาย

3. ไม่มีสิ่งหรือวัตถุภายนอกจิตที่มีอยู่จริง ๆ ท่าทีดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงถึงเหตุผลอย่างเพียงพอว่า ทำไมจึงใช้ชื่อว่า “โยคาจาร” และเพราะเหตุที่ปรัชญาสำนักนี้ถือว่าไม่มีความแท้จริงใด ๆ อื่นนอกจากจิตหรือวิญญาณฉะนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิชญาณวาท (วิญญาณวาท-บาลี)


ในด้านอภิปรัชญา นักปรัชญาอินเดียท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า สำนักปรัชญาอินเดียที่จัดได้ว่าเป็นจิตนิยม (Idealistic school) อย่างแท้จริงนั้น มีสำนักเดียวเท่านั้น คือ สำนักปรัชญาโยคาจารหรือวิชญาณวาท นั้นเอง เพราะปรัชญาสำนักนี้มีทัศนะว่า ความแท้จริงมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ "อาลยวิญญาณ" วัตถุทั้งหลายในโลกเป็นเพียงรูปแบบและภาพปรากฏของวิญญาณหรือจิตทั้งสิ้น เช่นที่ปรากฏในคัมภีร์ลังกาวตารสูตรตอนหนึ่งว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ใช่อะไรอื่น ที่แท้ก็คือจิตนั้นเอง”


คำว่า จิตในที่นี้ ท่านหมายถึง “อาลยวิญญาณ” ซึ่งเป็นหนึ่งในวิญญาณ 8 ตามการจำแนกของปรัชญาสำนักนี้


ประเภทของวิญญาณ 8 อย่างคือ



1. จักขุวิญญาณ

2. โสตวิญญาณ

3. ฆานวิญญาณ

4. ชิวหาวิญญาณ

5. กายวิญญาณ

6. มโนวิญญาณ

7. กลิษฏมโนวิญญาณ (มนัส)

8. อาลยวิญญาณ


วิญญาณ 5 ข้างต้น เรียกว่า ปัญจวิญญาณ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกับของเถรวาทเลย

มโนวิญญาณ มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นต้นเหตุแห่งการประกอบกรรมดี กรรมชั่ว มโนวิญญาณเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล และอัพยากฤต เช่นเดียวกับปัญจวิญญาณ และมโนวิญญาณจะขาดตอนก็ต่อเมื่อเข้าสู่อสัญญีภพ,เข้าอสัญญีสมาบัติ, เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ,คนที่หลับสนิทไม่มีฝัน และคนที่สลบ

กลิษฏมโนวิญญาณ (วิญญาณที่ 7) โยคาจารอธิบายไว้ว่า มนินทรีย์(อินทรีย์คือใจ) ต่างกับมโนวิญญาณ เพราะมนินทรีย์คือมโนธาตุ มีสภาพเป็นอัพยากฤต ทำหน้าที่ยึดอาลยวิญญาณ(วิญญาณที่ 8) ว่าเป็นตัวตน เป็นตัวอุปาทานยึดครอง อาลยวิญญาณ, อาลยวิญญาณเป็นสภาพมนินทรีย์หรือมนัสเข้ายึดไว้ ไม่มีหน้าที่พิจารณารับรู้อารมณ์ภายนอก รับรู้คิดยึดแต่อารมณ์ภายใน คืออาลยวิญญาณ แต่เนื่องด้วยเป็นตัวทำการยึดถืออาลยวิญญาณจึงมีอิทธิพลมาก สามารถทำให้มโนวิญญาณมีความรู้สึกไปในทางกุศล และอกุศลได้ เพราะฉะนั้นแม้จะมีลักษณะเป็นอัพยากฤตก็นับว่าเป็นกิเลส จึงมีชื่อว่า “กลิษฏมโนวิญญาณ”


“กลิษฏมโนวิญญาณ” นี้ ทำหน้าที่คิดพิจารณาอาลยวิญญาณว่าตัวตนเสมอสืบสันตติเนื่องกันไปไม่ขาดสายจนกว่าจะสิ้นภพชาติพ้นกิเลส กลิษฏมโนวิญญาณจะขาดตอนก็ต่อเมื่อได้บรรลุอรหัตตผลหรือเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธเท่านั้น


อาลยวิญญาณ (วิญญาณที่ 8) ที่เรียกชื่อเช่นนี้เพราะวิญญาณนี้เป็นสภาพที่กลิษฏมโนวิญญาณเข้าไปยึดครองแล้วเกิดอุปาทานว่า เป็นตัวของตัวจึงมีความอาลัยเลิกถอนไปได้ยาก อลยวิญญาณตรงกับภวังคจิตของฝ่ายเถรวาทนั่นเอง แต่ปรัชญาโยคาจารถือว่า วิญญาณนี้มีความสำคัญมาก คือถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นอาลยวิญญาณ และออกมาจากอาลยวิญญาณนี้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาโยคาจาร จึงมีชื่อวิชญาณวาท หรือจิตนิยม


หน้าที่ของอาลยวิญญาณนั้น ท่านนิยามความหมายไว้สั้น ๆ ว่า“เก็บก่อ” , “เก็บ” คือเก็บเอาพืชของสิ่งทั้งปวงไว้ เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ผลไม้ย่อมเก็บเอาลำต้นกิ่งก้านสาขาตลอดจนผลไว้หมด รอการนำส่งปลูกรดน้ำพรวนดิน ตลอดแสงอาทิตย์เป็นปัจจัยเร่งเร้า ก็จักโตวันโตคืน แตกดอกออกผลโดยลำดับ  “ก่อ” คือสร้างพฤติกรรมต่าง ๆ ให้เกิดให้มีขึ้น เช่นโตเป็นลำต้นมีใบมีดอก



อายลวิญญาณเป็นมูลฐานของสิ่งทั้งปวง

อาลยวิญญาณกับมูลฐานของสิ่งทั้งปวง ถ้าไร้อาลยวิญญาณแล้ว สิ่งทั้งปวงก็ไม่มีเพราะว่าสิ่งทั้งปวง เป็นเพียงเงาสะท้อนออกมาหรือพฤติกรรมของอาลยวิญญาณ นั้นเอง

นักปรัชญาโยคาจารยุคแรกมีท่านอสังคะ และท่านวสุพันธุ์ เป็นต้น ถือว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงความคิดของเรา สิ่งทั้งปวงอยู่ในจิตของเรา

ครั้นมาถึงยุคหลัง สมัยท่านธรรมปาละ ท่านทิงนาคะ ได้สอนต่างออกไปว่าสิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกจิตก็มีเหมือนกันแต่มูลกำเนิดของมันไม่พ้นไปจากจิต

4. พุทธปรัชญาสำนักมาธยมิกะหรือศูนยวาท


พุทธปรัชญาสำนักนี้ ถือกันว่าเป็นปรัชญาชั้นยอด แสดงให้เห็นถึงลักษณะอันแท้จริงแห่งสัจจธรรมชั้นสูงสุดที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมาย โดยที่ปรัชญาสำนักนี้ชี้ให้โลกรู้ว่าคำว่า “นิพพาน” ที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายนั้นคือ อะไร ? ณ สภาพนิพพานนี้แหละผู้ปฏิบัติจะบรรลุสันติภาพถาวรชั้นสุดท้าย เป็นความหลุดพ้นจากความทุกข์ หยุดเกิดและการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร


ปรัชญานี้ถือหลักปฏิจสมุปบาทที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง เป็นหลักในการดำเนินจึงได้ชื่อว่า “มาธยมิกะ” และเพราะเหตุที่ถือ “ศูนยตา” เป็นเรื่องสำคัญจึงมีชื่อเรียกว่า “ศูนยวาท”


ผู้ก่อตั้งสำนักมาธยมิกะคือท่านนาคารชุน ซึ่งถือกำเนิดในสกุลพราหมณ์อินเดียตอนใต้ท่านศึกษาพระไตรปิฎกแตกฉานโดยใช้เวลาเพียง 90 วันเท่านั้น


ทัศนะทางอภิปรัชญาของสำนักนี้

ท่านนาคารชุนกล่าวว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องกับความจริง 2 ชนิด คือ


- ความจริงสมมติ

- ความจริงปรมัตถ์


ผู้ไม่รู้ความจริง 2 ชนิดนี้จะไม่มีทางเข้าใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้เลย


ความจริงสมมติ หรือสมมติสัจจะ คือภาวะปกปิดความจริง ทำให้เห็นลักษณะไม่จริงเป็นลักษณะแท้ ในขณะเดียวกันก็ปกปิดลักษณะแท้ไว้ ความจริงสมมติเป็นความจริงตามสมมติบัญญัติ เช่น ในชีวิตประจำวันของเรา สิ่งทั้งหลายที่เราตั้งชื่อเรียกกันอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติกิจนั้น ล้วนเป็นสมมติสัจจะหรือจริงสมมติทั้งนั้น เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของมันแล้ว เราจะพบว่าหาเป็นภาวะที่แท้จริงไม่


ความจริงปรมัตถ์ คือภาวะแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งต่างจากลักษณะที่ปรากฏของมัน หรืออยู่เหนือภาวะบัญญัติทั้งหลาย


ความแตกต่างระหว่างสมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะนั้น เห็นได้ยากเพราะเป็นความแตกต่างกันทางความคิดอันจำกัดของปุถุชน (แต่สำหรับพระอรหันต์ท่านเห็นความแตกต่างกันโดยแจ้งชัด) ดังที่ท่านนาคารชุนได้กล่าวไว้ว่า ความแตกต่างนี้จะมีอยู่ในโลกแห่งปรากฏการณ์นี้เท่านั้น ผู้ไม่รู้ความแท้จริงย่อมเห็นไปว่า สมมติสัจจะเป็นภาวะจริง ย่อมไม่เห็นว่าเป็นภาวะหลอกลวง เพราะใช้ปัญญาทางเหตุอันสามัญเข้าพิจารณา เหมือนคนกำลังฝัน ย่อมเห็นว่า เรื่องราวในฝันเป็นความจริงทุกอย่าง เพราะเขาใช้ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นมาพิจารณาตัดสิน แต่พอพวกเขาตื่นขึ้น เขาใช้ปัญญาอีกชั้นหนึ่งพิจารณา จึงรู้เรื่องในฝันไม่จริง ข้อนี้ฉันใด เรื่องราวในชีวิตของปุถุชนเราก็ฉันนั้น จะต้องตัดสินด้วยปัญญาชั้นสูงจึงจะรู้ว่าเป็น เรื่องมายาทั้งนั้น


ความหมายของคำ “ศูนยตา”

คำว่า “ ศูนยตา” หรือ “สูญ” มีผู้เข้าใจผิดกันมาก คือส่วนมากเข้าใจว่าเป็นคำปฏิเสธความจริงโดยสิ้นเชิง เช่นว่า สูญเปล่า ไม่มีอะไรเหลือ ซึ่งตรงกับทัศนะของพวกอุจเฉททิฏฐิที่พระพุทธเจ้าทรงคัดค้าน ดังนั้น ศูนยตาจะหมายความว่า สูญเปล่าอย่างนั้นไม่ได้แน่ ศูนยตาตามทัศนะของท่านนาคารชุนมีอยู่ 2 นัยด้วยกันคือ


1. ได้แก่สวภาวศูนยตา ความว่างจากสภาวะ หรือลักษณะแท้ของมัน หมายถึงสิ่งที่ปรากฏทั้งหลายในโลกนี้ ซึ่งไม่มีลักษณะแท้ขั้นปรมัตถ์ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย (ตรงกับความหมายของคำว่า อนัตตา ในสายบาลี)


2. ได้แก่ ความแท้จริง ซึ่งอยู่เหนือความต่างทั้งหลาย อยู่เหนือพุทธิปัญญา หรือปัญญาขั้นเหตุผล (หมายถึงนิพพาน ซึ่งไม่อาจรู้ได้ด้วยตรรก) ฉะนั้น ทฤษฏีใด ๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่ออธิบายสัจจะอย่างนี้ จึงเป็นศูนยตาในความหมายว่า ว่างจากความจริงคือ ไม่ถูกต้องครบถ้วน


ท่านนาคารชุน กล่าวว่า “คนทั้งหลายก็เข้าใจว่า ศูนยตาหมายถึงความไม่มีอะไร จึงกล่าวโจมตีเราว่า สอนเรื่องความไม่มี แต่ความจริงศูนยตามนั้นปฏิเสธทฤษฏีทั้งหมด และศูนยตาเองก็ไม่เป็นทฤษฏีหนึ่งต่างหาก ท่านกล่าวตามแบบวาทวิจารณ์ (Dialectics) ของท่านว่า


“ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอศูนยะ มันก็เป็นอิสระแก่กันและกัน เมื่อเป็นอิสระแก่กันก็ต้องเป็นภาวะสมบูรณ์ เมื่อเป็นภาวะสมบูรณ์ ก็ต้องไม่มีการทำลาย เมื่อไม่มีการทำลายก็ย่อมไม่มีสงสาร,ไม่มีนิพพาน ไม่มีอริยสัจจ์ ไม่มีสงฆ์ ไม่มีศาสนา ไม่มีพระพุทธเจ้า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นจริง จะเป็นสิ่งถาวรคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และถ้าเป็นเช่นนี้ก็คงไม่มีในโลก”


มีผู้โต้เถียงท่านนาคารชุนว่า ศูนยตาที่ปฏิเสธความมีอยู่ของธรรมทั้งหลาย (สิ่งทั้งหลาย) ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุผลที่ใช้โต้วาทะว่า ศูนยตามีอยู่ก็ใช้ไม่ได้ ถ้าหากว่าเหตุผลไม่จริงก็ทำลายหลักฐานของศูนยตาวาทินเอง เพราะในที่สุดก็ต้องยืนยันความจริงของเหตุผล และศูนยตาไม่มีประมาณที่จะตั้งตัวเอง

นิสิตจักรชัย อุ่นใจ คณะพุทธศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

พระสูตรสำคัญของมหายานที่คนส่วนใหญ่รู้จักมีดังนี้

ปรัชญาปารมิตาสูตร

อวตังสกะสูตร

คัณฑวยุหสูตร

ทศภูมิกสูตร

วิมลเกียรตินิทเทศสูตร

ศูรางคมสมาธิสูตร

สัทธรรมปุณฑริกสูตร

ศรีมาลาเทวีสูตร

พรหมชาลสูตร

สุขาวดีวยุหสูตร

ตถาคตครรภสูตร

อสมปูรณอนุสูตร

อุตรสรณสูตร

มหาปรินิรวาณสูตร

สันธินิรโมจนสูตร

ลังกาวตารสูตร

พระสูตร 42 บท/ พระพุทธวจนะ 42 บท ชาวมหายานเชื่อว่าเป็นสูตรแรกที่ได้รับการแปลสู่พากย์จีน เมื่อ พ.ศ. 612 รัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเม่งเต้ แห่งราชวงศ์ฮั่น

โมหมาลาหรือร้อยอุทาหรณ์สูตร ซึ่งพระสิงหเสนเถระคัดมาจากนิทานที่ปรากฏในพระสูตร

นิสิต จักรชัย อุ่นใจ ,คณะพุทธศาสตร์

ร้อยเอกภูมิรัตน์ ศรไกร กรอมน.ภาค1

คิดถึงพี่แจ็ค ดร.จักรชัย อุ่นใจ อดีตผู้จัดการทีมชาติยอดเยี่ยม/ปี2538-2539, แชมป์ซีเกมส์18 ที่เชียงใหม่ฯปี2538....เอเซี่ยนเกมส์12 ที่ประเทศญี่ปุ่น และเหรียญทองประวัติศาสร์ เอเซี่ยนเกมส์13 กรุงเทพฯปี2539 ในอุปกรณ์ห่วงนิ่ง หมู อมรเทพ อุ่นใจ (แววแสง) จากการถ่ายทอดสดฯ สิ่งที่ชาวไทยได้จดจำอย่างมิรู้ลืม..

ขอให้ทุกๆท่านจงมีแด่ความสุขความเจริญ ที่พร้อมใจกันเสียสละเพื่อประเทศชาติ แม้จะปิดทองหลังพระ !

ขอขอบคุณพี่แจ๊ค. ดร.จักรชัย อุ่นใจ. ที่ให้ความรู้ทางด้านพุทธศาสตร์ 

จาก ; นิสิตสาขารัฐศาสตร์ ,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,วิทยาลัยเขตระยอง (วัดป่าประดู่)

ขออุทิศส่วนกุศลแด่เจ้ากรรมนายเวร และผู้มีพระคุณโดยทั่วไป สาธุ ๆ ๆ

ลงนาม ; เจนนี่ เครือมาศ ประทานพุฒิพงศ์

15 กย. 2560

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท