การตีความธรรมะในเรื่อง "สุญญตา" ของบรรดาอาจารย์ในนิกายต่างๆ


การตีความธรรมะในเรื่อง "สุญญตา ของบรรดาอาจารย์ในนิกายต่างๆ 

เมื่อพระพุทธศาสนาวิวัฒนาการมาถึงขั้นที่มีลักธินิกายแล้ว  ต่างลัทธิต่างอาจารย์  ก็มีความเห็นแตกแยกกัน  การตีความธรรมะในเรื่อง  สุญญตา  ของบรรดาอาจารย์เหล่านี้ก็เกิดการขัดแย้งกันขึ้น  ดังเช่น


มติที่ ๑  เป็นมติฝ่ายของนิกายสรวัสติวาท  ถือว่าบุคคลสูญ  แต่ธรรมไม่สูญ  ธรรมในที่นี้ได้แก่พวกปรมัตถสภาวะต่างๆ เช่นว่า ปฐวี  วาโย  อาโป  อายตนะ  สิ่งนั้นเป็นปรมัตถสภาวะมีอยู่จริงๆ สิ่งที่สูญเป็นเพียงแต่อัตตาเราเขาเท่านั้นเอง  แต่อัตตา  อายตนะจะบอกว่าสูญ  ไม่มีสภาวะในตัวมันเองไม่ได้  ถ้าไม่มีภาวะในตัวมันเองแล้วทำไมฝรั่ง  ไทย  จีน แขก  จึงจะรู้ว่านี่เป็นดินเล่า  ถึงแม้ภาษาจะเรียกแตกต่างกัน  แต่ความเข้าใจตรงกันนี่  แม้ในไฟก็รู้ว่านี่เป็นของร้อน  อาการอุณหเตโชและสีตเตโช  อาการที่รู้ได้ทางใจนี้แหละเป็นปรมัตถสภาวะ  ปรมัตถสภาวะเป็นอนิทัสสนะอปฏิฆะ  เช่น  อาโปธาตุ  อาโปตามความหมายในทางอภิธรรมถือว่าเห็นไม่ได้  สัมผัสไม่ได้  เราอาจจะถือว่าทำไมสัมผัสไม่ได้  ตักน้ำมาขันหนึ่งเราเอามือแหย่ลงไปเราจะรู้ว่ามันเปียก  แล้วบอกว่านี่สัมผัสอาโปไม่ได้  ทำไมว่าอย่างนั้นเล่า


เปล่าเลย  ที่เราเอามือแหย่ไปและเปียกขึ้นมา  อาการที่เราแหย่ไปกระทบเป็นปฐวีแล้ว  และรู้สึกว่าน้ำเย็นเป็นสีตเตโช  คือเป็นอุณหภูมิชนิดต่ำเป็นสีตเตโช  อุณหภูมิสูงเป็นอุณหเตโช    เตโชธาตุแบ่งเป็น ๒ ชนิด  ชนิดหนึ่งเรียกว่าสีตเตโช  เรียกว่าไฟเย็น  ไฟในที่นี้ไม่ปรากฏเปลว  ปรากฏแต่อาการที่มันลดระดับจากร้อนของมันลงมา  เพราะฉะนั้นอาการที่ร้อนน้อยนั้นเราเรียกกันว่า เย็น  อาการที่ร้อนสูงเราเรียกกันว่า ร้อน  อุณหภูมิต่ำเราเรียกว่าเย็นจนถึงมันต่ำกว่าจุดศูนย์มันก็กลายเป็นน้ำแข็ง  แต่ทั้งๆ ที่มันเป็นน้ำแข็งแต่มันมีเตโชธาตุอยู่ในนั้น  เพราะอาโปนั้นไม่เกี่ยวกับอุณหภูมิ  และอย่าไปเล็งเอาว่าเตโชธาตุได้แก่เปลวไฟได้แก่กองดวงไฟ  นั่นที่เราเห็นว่าเป็นไฟ  เป็นสี  เป็นวรรณะรูป  ไฟนี้เป็นอนิทัสสนะคือเห็นไม่ได้  เห็นทำไมว่าไม่เห็น  ในเตาเวลาหุงข้าวบอกว่าไม่เห็นไฟได้หรือ  ที่เห็นนี้ทางอภิธรรมถือว่าเป็นวรรณะ  เห็นสีต่างหาก  คือเห็นวรรณรูป  ตาเห็นสี  ไม่ใช่เห็นไฟ  ธาตุไฟเป็นธาตุปรมัตถ์  จะต้องกระทบอย่างเดียวถึง รู้  เพราะฉะนั้นในน้ำจึงมีทั้งปฐวี  เตโช  วาโย  


น้ำนี้เราว่าอาบน้ำเป็นขันๆ เอาน้ำรดซู่ๆ ตัวเย็นสบาย  หายร้อนแล้วจะบอกว่าไม่กระทบน้ำได้อย่างไร  ที่เรารู้ว่าน้ำกระทบเราซู่ๆ นี้แหละ  กระทบปฐวี  ถ้าไปอาบน้ำร้อนก็เป็นอุณหเตโช  ถ้ากระทบน้ำเย็นก็เป็นสีตเตโช  นี่ธาตุไฟในน้ำกระทบ  อาการที่น้ำเกาะกุมกันได้เป็นอำนาจของปฐวีธาตุซึ่งมีสภาพเกาะกุม  อาการที่น้ำไหลไปได้เป็นอำนาจของวาโยธาตุ  เพราะฉะนั้นอาโปจริงๆ เป็นอนิทัสสนะอปฏิฆะ  เห็นก็ไม่ได้  สิ่งที่เรากระทบได้ก็มีแต่  เตโช  วาโย  ปฐวี  นี่อาศัยการกระทบจึงจะรู้  


ที่จริงแล้วธาตุทั้ง ๔ นี้เห็นไม่ได้  ธาตุปรมัตถ์ทั้ง ๔ เห็นไม่ได้โดยสภาวะปรมัตถ์ของมัน  เพราะฉะนั้นนิกายนี้จึงถือว่าสิ่งที่สูญสิ่งที่ไม่มีภาวะในตัวมันเองได้แก่บุคคลสัตว์เราเขาอันเป็นคำสมมติบัญญัต  แต่ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่ประกอบด้วยปรมัตถ์สภาวะอย่างปฐวี เตโช วาโย อาโป ที่ว่ามานี้จะเป็นสุญญตาไม่ได้  จะต้องมีอยู่  ถ้าสภาวะพวกนี้พลอยไม่มีคุณสมบัติในตัวมันได้  ดำรงมั่นในตัวมันเองแล้วเราก็ไม่สามารถจะบัญญัติสัตว์บุคคลในสิ่งอะไรๆ  นี่เป็นมติที่ ๑


********************


มติที่ ๒  เป็นมติฝ่ายโยคาจารวิชญาณวาทิน  ได้แก่พวกฝ่ายมโนภาพนิยม  ถือใจเป็นใหญ่  ถือจิตเป็นใหญ่  ว่าจิตเป็นของมีอยู่จริง  สิ่งที่มาผสมกับจิตหรือสิ่งที่ปรากฏออกไปจากจิตจึงเป็นเรื่องว่างเปล่าเป็นสุญญตา  โลกคือปรากฏการณ์ของจิตที่ส่งเงาสะท้อนออกไป  เพราะฉะนั้นโลกอันเป็นอารมณ์เป็นสุญญตาได้  แต่ตัวจะพลอยเป็นสุญญตาด้วยก็หามิได้  ตัวจิตจะต้องมีอยู่แม้โดยปรมัตถ์  จิตเป็นมูลธาตุของโลกทั้งหมด  อาศัยจิตเป็นปทัฏฐาน  เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นมูลเดิมธาตุเดิม  สิ่งนั้นจะต้องคงอยู่ดำรงอยู่ตลอดไป  นี่เป็นมติที่ ๒


*************************************

มติที่ ๓  เป็นมติฝ่ายนิกายมาธยมิกะ  นิกายนี้ถือว่า  ทั้งบุคคลทั้งสัตว์ล้วนเป็นสุญญตาหมด  บาลีเราบัญญัติว่าเป็นสุญญตานั้นก็เพราะบุคคลทั้งสัตว์ไม่มีสิ่งใดที่ไม่ต้องแอบอิงเหตุปัจจัยต่างๆ เราอาจตั้งปัญหาถามว่า  แล้วอย่างนั้นเหตุปัจจัยต่างๆ จะมาจากอะไร  ตอบว่าไม่สิ้นสุดทุกสิ่งเป็นจุดอนันต์  สิ่งนี้อาศัยสิ่งนั้น  สิ่งนั้นอาศัยสิ่งนี้  เมื่อทุกสิ่งในโลกมีความสัมพันธ์กันอย่างนี้แล้ว  เราจึงไม่สามารถจะชี้สิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นคุณสมบัติดั้งเดิมที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง  ไม่สามารถชี้ลงไปได้  ทุกสิ่งอาศัยความสัมพันธ์เกิดขึ้น  เมื่อทุกสิ่งอาศัยความสัมพันธ์กันเกิดขึ้น อย่างยาวอาศัยสั้น  สั้นอาศัยยาวเช่นนี้แล้วเราจึงไม่สามารถจะชี้อะไรว่าภาวะของยาวมีจริงๆ หรือภาวะของสั้นมีจริงๆ ได้เลย  เพราะอาศัยความสัมพันธ์กันดังนี้จึงถือว่าบุคคลเป็นสุญญตา  ส่วนธรรม  คือ ขันธ์ ธาตุ  อายตนะ  ก็เป็นสุญญตาด้วย  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็มีค่าไม่ต่างอะไรกับมายา  โลกเป็นมายาด้วยปรากฏการณ์เช่นนี้  ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นอยู่โดยเอกเทศ  โดยตัวมันเองได้จึงจัดเป็นศูนย์  นี่เป็นมติที่ ๓  

**************************************************

ข้อมูลในการเรียบเรียง  ปาฐกถาเรื่อง "สุญญตา"  : เสถียร  โพธินันทะ

การที่มีนิกายความเห็นแตกต่างกันออกไปนั้น  ก็เป็นเพราะความบกพร่องขาดหลักใดหลักหนึ่งไป  และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ  ได้ขาดหลักประการที่สาม  “ปฏิเวธธรรม”   ไปเสีย  



เราจะพิจารณาสังเกตเห็นได้ว่า  ปางเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์สั่งสอนเวไนยนิกรอยู่  ปรากฏมีผู้บรรลุถึงอริยภาพ  คือมีผู้ตรัสรู้ธรรมกันมากมาย  การปริยัติและปฏิบัติดำเนินร่วมกันในทางเดียว  อริยมรรคเมื่อมีผู้เจริญกันอริยผลก็บังเกิดเป็นเงาตามตัว  เมื่อต่างคนต่างได้ชมเชยอริยผลนั้นด้วยตนของตนเองแล้ว  ทรรศนะคือความเห็นก็ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   แต่เมื่อพ้นยุคนี้มาแล้ว  กลับปรากฏว่าอริยมรรคเป็นแต่เพียงเรื่องปรัชญา  อันน่าเรียนน่ารู้ที่บรรจุอยู่ในพระคัมภีร์เท่านั้น  จะหาผู้มุ่งปฏิบัติตนอย่างสมัยแรกได้น้อยลง  ทุกคนส่วนมากมุ่งกันแต่จะเรียน  และจำทรงพระพุทธพจน์กันเป็นปิฎก ๆ อริยผลจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น   เมื่อผู้ทรงศาสนามิได้เป็นพระอริยะ  และเมื่อความคิดในการปริยัติเฟื่องฟูขึ้นถึงขีดสุด  จนบางทีกลายไปเป็นลัทธิแปลกๆ มีสัทธรรมปฏิรูปเข้ามาเจือปน  ผู้ร่ำเรียนก็ตีความหมายตลอดจนอรรถาธิบายสัจธรรมด้วยปุถุชนอัตโนมัติ




ความคิดความเห็นของคนแต่ละคนที่มีต่อคัมภีร์อันตนได้ร่ำเรียนนั้นแตกแยกออกเป็นมติ  ต่างคนต่างเข้าใจอย่างหนึ่ง  อีกคนหนึ่งเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงกัน  และต่างฝ่ายก็ยึดถือมติของตนว่าถูกต้องของผู้อื่นผิดเพราะปุถุชนเรานั้นมักเข้าข้างตนเองเสมอโดยมิใคร่จะคำนึงถึงเหตุผลอะไรนักและเมื่อตนถือมติใด  ก็อดไม่ได้ที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบกับมติของฝ่ายอื่น  จึงได้มีการโต้วาทะระหว่างกันและกันว่าใครจะดีกว่าใคร  หนักเข้าก็เลยแตกสามัคคี  แล้วนิกายก็เป็นเงาตามเข้ามาทันที  เรื่องเช่นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชมพูทวีปแล้ว  มักมีการคัดค้านโต้คารมกันในข้อธรรมอย่างเอาจริง  บางทีถึงกับวางชีวิตของตนไว้เป็นเดิมพัน  ว่าถ้าหากแพ้แล้วจักยอมให้บั่นเศียรหรือเป็นข้าทาสตลอดชีพ  ประชาชนตลอดจนพระราชาก็นิยมการใช้เหตุผลเอาแพ้เอาชนะกันด้วยวิธีตีฝีปากเช่นนี้  ปรากฏว่าถ้าคณาจารย์ใดพ่ายแพ้ในสงครามโอษฐ์  ลัทธิของคณาจารย์ผู้นั้นก็พลอยอับแสงลง  เพราะพระราชาและประชาชนไม่เคารพนับถือ  บางทีถูกขับไล่ไสส่งออกนอกบ้านเมืองเลยทีเดียว  



เมื่อสถานการณ์แวดล้อมเป็นเช่นนี้  ก็ย่อมจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของกันและกัน  ซึ่งแม้จะเป็นลัทธิศาสนาเดียวกันก็ตาม  ให้เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง   ต่างฝ่ายต่างพยายามยกลัทธิของตนให้สูงส่งเด่นด้วยวิธีนานัปการ  ฉะนั้นการโต้คารมเพื่อทำลายมติฝ่ายค้านจึงยากที่จะหลบหลีกได้  และพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคหลังจึงได้สมบูรณ์ด้วยเรื่องทำนองนี้ทุกประการ

>>>   จะยกตัวอย่างให้เห็นในข้อแตกต่างทางมติเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนิพพานและจิตต์ภายในวงการพระพุทธศาสนาของสยามซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาทล้วนๆ แต่ก็ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องต้องกันได้


    ** นักธรรมะบางพวกเห็นว่านิพพานเป็นอนัตตา  ซึ่งทั้งนี้อาศัยพระพุทธภาษิตข้อว่า  สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตา  ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนเป็นข้ออ้าง  


     ** บางพวกเห็นว่าที่พระพุทธเจ้าสอนอนัตตาก็เพื่อจะให้เรารู้จักอัตตานั่นเอง  แต่อัตตาที่นี้ไม่ใช่อัตตาขันธ์ห้า  ขันธ์ห้าเป็นอนัตตา  ส่วนธรรมของจริง  คือพระนิพพานนั้นเป็นอัตตาตัวจริงของเรา  มีพระพุทธภาษิตเป็นหลักฐานว่า  อตฺตา  หิ  อตฺตโน  นาโถ  ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน  ถ้าไม่มีตนเสียแล้ว  เหตุไรพระองค์จึงสอนให้เอาตนเป็นที่พึ่งเล่า ?  


      ** บางพวกเห็นว่าจิตต์นี้เป็นธรรมชาติเกิดเร็วดับเร็วไม่มีแก่นสาร  


      ** อีกพวกหนึ่งเห็นว่าจิตต์แท้นั้นเป็นธรรมชาติไม่เกิดดับ  ที่เกิดดับเป็นอารมณ์ต่างหาก  


>>>  แต่ละฝ่ายล้วนมีเหตุผล  ซึ่งอาจแสดงให้เห็นชัดด้วยกันทั้งนั้น  และแต่ละฝ่ายก็อ้างพระพุทธภาษิตเป็นหลัก  ตัวอย่างนี้ล้วนเป็นมูลของการแตกแยกนิกาย  ซึ่งถ้าเป็นสมัยโบราณเจ้าของผู้ให้กำเนิดแต่ละฝ่ายอยากจะตั้งเป็นนิกายขึ้นก็อาจจะได้  และพระพุทธศาสนาในเมืองเราก็จะมี  นิกายอนฺตตานิพฺพานวาท   นิกายอตฺตานิพฺพานวาท  และนิกายจิตฺตอนิจฺจวาท  นิกายจิตฺตอมตวาทกันขึ้นบ้างเป็นแน่

หมายเลขบันทึก: 215962เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท