พุทธพจน์ตรัสเรื่อง กรรมกับการเกิดใหม่


พุทธพจน์ตรัสเรื่อง กรรมกับการเกิดใหม่ 

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต


ภวสูตร

            [๕๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้
ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ภพ ภพ ดังนี้
ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์
ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุจักไม่มีแล้ว กามภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ท่าน

พระอานนท์ทูลว่า ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ


            พ.  ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น
พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ
อย่างเลวของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย
ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผล
ให้ในรูปธาตุจักไม่มีแล้ว รูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ

            อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ


            พ.  ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น
พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ
อย่างกลางของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย
ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้
อรูปธาตุจักไม่มีแล้ว อรูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ

            อา. ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า ฯ


            พ.  ดูกรอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็น
พืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุ
อย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ
ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูกรอานนท์ ภพย่อมมีได้
ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ฯ



            เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  บรรทัดที่ ๕๙๑๐ - ๕๙๓๓.  หน้าที่  ๒๕๓ - ๒๕๔.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=5910&Z=5933&pagebreak=0


/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังเข้าไม่ถึงนิพพานนั้นยังต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอยู่เรื่อยไป  
ทั้งนี้เพราะมีกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด เปรียบเสมือนพืชที่จะงอกงามขึ้นได้ต้องอาศัย  เนื้อที่  พืช และ ยางในพืช  
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตรข้างบนนี้


การเกิดใหม่ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  คือ  
วิญญาณ  ซึ่งไม่ใช่ดวงเดิมและไม่ใช่ดวงใหม่ แต่อาศัยของเก่าเกิดขึ้นใหม่  โดยดวงใหม่รับเอาคุณสมบัติของดวงเก่าไว้  
เหมือนกับต้นมะม่วงกับเมล็ดมะม่วง  ดังนั้นการสืบภพสืบชาติและการสั่งสมบารมีจึงเป็นไปโดยอาการเช่นนี้


ซึ่งการเกิดใหม่จะเป็นสัตว์เหล่าใดนั้นขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนเองได้สร้างไว้  
การที่สรรพสัตว์ต้องเกิดใหม่ก็เนื่องจากหลงอยู่ในเหตุ ๔ ประการคือ


๑. กาโมฆะ  คือ  กาม  ได้แก่  ความใคร่ในอารมณ์ที่ก่อให้เกิดกิเลส

๒. ภโวฆะ  คือ  ภพ  ได้แก่  ความต้องการเป็นอย่างนั้น  เป็นอย่างนี้

๓. ทิฎโฐฆะ  คือ  ทิฐิ  ได้แก่  ความเห็นในทางที่ผิด

๔. อวิชชาโชฆะ  คือ  อวิชชา  ได้แก่  ความไม่รู้  ทำให้เกิดความลุ่มหลงไปในทางที่ผิด


อย่างไรก็ตามสรรพสัตว์มักจะจำภพเก่าที่ตนเองเคยเกิดมิได้  ทั้งนี้เพราะสัตว์ต่างๆ นั้นขาดสติ  
มีความไม่รู้สึกตัวอยู่เสมอ  แม้ในชีวิตปัจจุบันก็ตาม



--->>  จุดมั่งหมายของการเกิดใหม่


การเกิดใหม่ของสรรพสัตว์เป็นไปตามปัจจัย  ในขณะเดียวกันก็มีเป้าหมาย  
คือการพัฒนาตนให้บรรลุถึงความเต็มบริบูรณ์ซึ่งความดี
คือการสะสมบารมีมาตามขีดขั้นจนเต็มรอบให้ถึงซึ่งความปรารถนาที่จะหลุดพ้นหมดกิเลส  
มีความพร้อมที่จะออกจากโลก(โลกียวิสัย)นี้  และไม่หวนกลับมามีความทุกข์ในโลกนี้อีก  
ซึ่งจุดมุ่งหมายนี้เรียกว่า  "นิพพาน"

หมายเลขบันทึก: 215963เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท