ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพระอภิธรรม ๔ สมัย


ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพระอภิธรรม ๔ สมัย 

พระอภิธรรมปิฎก  อันเป็นปิฎกสุขุมคัมภีรภาพที่สุดของพระพุทธศาสนา  เราควรจะทราบถึงการพัฒนาแห่งพระอภิธรรมในประวัติศาสตร์  ตามมติของข้าพเจ้า (เสถียร โพธินันทะ)  ขอแบ่งระยะกาลความเป็นมาแห่งพระอภิธรรมออกเป็น ๔ สมัย  ดังต่อไปนี้



๑. สมัยพระอภิธรรมรวมอยู่ในฐานะพระสูตร


สมัยนี้เป็นสมัยที่พระอภิธรรมยังมิได้แยกตัวออกมาเป็นเอกเทศ  ยังรวมตัวอยู่ในพระสูตร  และยังมิได้ถูกเรียกว่าอภิธรรม  ซึ่งพูดให้ถูกแล้วก็คือพระสูตรนี่เอง  แต่เป็นพระสูตรซึ่งมีเค้าโครงของพระอภิธรรม   อาทิเช่น  มหาสติปัฏฐานสูตร , สังคีติสูตร , ทสุตตรสูตร , มหาเวทัลลสูตร , จุลเวทัลลสูตร , สัมมาทิฏฐิสูตร ฯลฯ  ซึ่งปรากฏในบาลีทีฆนิกาย ,  มัชฌิทนิกายและเนื้อธรรมบางหมวดในบาลีสังยุตตนิกายและอังคุตตรนิกาย  


--->>>   แน่นอนเหลือเกินที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดพระอภิธรรม  เช่น ในกรณีที่ทรงแสดงอุทเทสแห่งพระธรรม  ครั้นแล้วก็ทรงขยายความออกให้พิสดารเป็นนิเทส  ทั้งนี้เพื่อให้เนื้อธรรมละเอียดกระจ่างชัดแก่พระสาวก  ซึ่งเป็นเรื่องมีมากมายทั่วไปในพระบาลี  และเป็นสาวกภาษิตก็มาก  ในมหาสติปัฏฐานสูตรแห่งบาลีทีฆนิกาย  มหาวรรค  พระบรมศาสดาตรัสกระจายหมวดธรรมแต่ละหมวดของสติปัฏฐานทั้ง ๔  เช่น  ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ทรงจำแนกลักษณะของจิตไว้   ๑๖  อย่าง  คือ  สราคจิต,  วีตราคจิต,  สโทสจิต,  วีตโทสจิต,  สโมหจิต,  วีตโมหจิต,  สังขิตตจิต,  วิกขิตตจิต,  มหัคคตจิต,  อมหัคคตจิต,  สอุตตรจิต,  อนุตตรจิต,  สมาหิตจิต,  อสมาหิตจิต,  วิมุตตจิต,  อวิมุตตจิต,  ซึ่งทำให้นึกถึงการจัดแบ่งประเภทจิตในพระอภิธรรมปิฎกว่า  จะมีเค้ามาจากพระสูตรนี้  


อนึ่งในสังคีติสูตรแห่งบาลีทีฆนิกายปาฏิกวรรค  เป็นภาษิตของพระสารีบุตรธรรมเสนาบดี  อธิบายลักษณะหมวดธรรมตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ  ในหมวดสามว่าด้วยรูปสังคหะ  พระสารีบุตรแสดงว่า  “รูปสังคหะ ๓ ประการ  เป็นไฉน ?  คือ  สนิทัสสนสัปปฏิฆรูป  ได้แก่รูปที่เห็นได้กระทบได้,  อนิทัสสนสัปปฏิฆรูป  ได้แก่รูปที่เห็นไม่ได้  แต่กระทบได้,  อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป  ได้แก่รูปที่เห็นไม่ได้  กระทบไม่ได้”  อย่างนี้มีเค้าเป็นพระอภิธรรมชัด ๆ



**************************************************************************


๒.  สมัยพระอภิธรรมเป็นนิเทสของพระสูตร


สมัยนี้  อันที่จริงก็มีมาพร้อมด้วยสมัยแรก  แต่เนื่องจากมีลักษณะต่างกันอยู่บ้าง  จึงแยกเป็นหัวข้ออีกส่วนหนึ่ง


ก่อนจะอธิบาย  จะต้องวินิจฉัยคำ ๒ คำว่าได้แก่อะไร  คือคำว่า  อภิธมฺเม  อภิวินเย  ๒  คำนี้มีปรากฏทั้งในพระสูตรและพระวินัยหลายแห่ง  เช่น ในกินติสูตรแห่งพระบาลีมัชฌมนิกาย  อุปริปัณณาสก์  มีคำว่า  อภิธมเม  คัมภีร์อรรถกถาแก้ว่า  ได้แก่โพธิปักขิยธรรม  ๓๗  


แต่ในที่บางแห่ง  อภิธมฺเม  ไม่ได้หมายอย่างในกินติสูตรก็มี  เพราะปรากฏว่าในพุทธกาล  มีคณะภิกษุผู้เป็นอภิธรรมิกะ  เช่น  ในมหาโคสิงคสาลสูตร  แห่งบาลีมัชฌมนิกาย  มูลปัณณาสก์  พระสารีบุตรถามพระโมคคัลลานะว่า  ธรรมชาติในป่าโคสิงคสาลวัน  จะงามสมกับภิกษุผู้มีคุณรูปอย่างไร ?  

พระโมคคัลลานะตอบว่า  ถ้ามีพระภิกษุร่วมสนทนาอภิธรรมกถาแก่กันและกันจักพึงงามสมยิ่ง  


--->>>   อนึ่ง  ในวินัยปิฎกมหาวรรคตอนมหาขันธกะ  มีพระพุทธพจน์ว่าด้วยองค์กำหนดของผู้ไม่สมควรจะเป็นอุปัชฌายะ ๕ ข้อ  มีอยู่ข้อหนึ่งว่า  “นปฏิพโล ฯลฯ  อภิธมฺเม  วิเนตํ  น  ปฏิพโลติ  อต์โถ ฯ  อภิวินเยติ  สกเล  วินยปิฏเก  วิเนตํ  นปฏิพโลติ  อต์โถ ฯ  ความว่า  ไม่สามารถที่จะแนะนำในนามรูปปริเฉทการกำหนดแยกนามรูป  ไม่สามารถที่จะแนะนำในวินัยปิฎกทั้งสิ้น



เพราะฉะนั้น  อภิธมฺเม  ซึ่งเป็นคำเก่า  มีมาในพุทธกาล  และพระบรมศาสดาก็ตรัสถึง  จักหมายเอาอะไร ?  

ข้าพเจ้าใคร่สันนิษฐานว่า  หมายเอาธรรมนิเทสซึ่งพระบรมศาสดาไขอรรถแห่งพระพุทธวจนะในรูปอภิปรายปุจฉา-วิสัชนากัน  ในการอภิปรายไขอรรถพระพุทธวจนะเพื่อความช่ำชองในอรรถธรรมของพระสาวกนั้น  จะต้องมีการตั้งหลักเกณฑ์บางอย่างขึ้นใหม่  เพื่อประกอบการอธิบาย  หรือมีการวางแนวอธิบายในหัวข้อประเด็นเดียวแต่มีวิธีที่การที่จะอธิบายต่างกัน  ซึ่งปรากฏชัดในสมัยที่พระอภิธรรมได้ถูกรวบรวมขึ้นอีกปิฎกหนึ่ง  


--->>  อาจมีปัญหาขึ้นว่า  คณะภิกษุสุตตันตธรกับภิกษุคณะอภิธรรมิกะต่างกันอย่างไร ?  ขอตอบว่า  คณะภิกษุสัตตันตธรย่อมดำรงอรรถแห่งพระสูตรทั้งหมด  รวมทั้งเรื่องราวของเหตุการณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง  ส่วนภิกษุคณะอภิธรรมิกะนั้น  จำทรงแต่เฉพาะที่เป็นแก่งธรรมล้วน ๆ ในพระสูตร  ซึ่งพระสาวกนำมาปุจฉาวิสัชนาแล้วรวบรวมขึ้นไว้  

พูดง่ายๆ คือ พระสูตรเป็นเรื่องราวของบุคคลาธิษฐานเจือธรรมาธิษฐาน  ส่วนพระอภิธรรมนั้นเป็นธรรมาธิษฐานล้วน  อภิธมเม  ในสมัยนี้มีตัวอย่างให้เห็นได้  คือ  คัมภีร์มหานิทเทส  จุลนิทเทส  และปฏิสัมภิทามัคค์  ทั้ง ๓ คัมภีร์ได้แยกตัวออกจากพระสูตร  สงเคราะห์เข้าใน  ขุททกนิกาย  คัมภีร์มหานิทเทส,  จุลนิทเทศ  แต่งอธิบายธรรมะในสุตตนิบาต  ตอนอัฏฐวัคคิกะกับตอนปรายนวรรค  ส่วนคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์อธิบาย  ปรมัตถธรรมที่สุขุมมาก  ในฝ่ายสันสกฤตนิกายสรวาสติวาท  ก็มี  อภิธมเม  รูปเค้าเดียวกัน  คือคัมภีร์อภิธรรมสังคีติบนนยายปาทศาสตร์ของพระสารีบุตรและคัมภีร์อภิธรรมสกันธปาทศาสตร์  ของพระโมคคัลลานะ,  ที่ว่าเหมือนกันก็คือ  คัมภีร์ทั้งสองมีลีลาแก้พระสูตรอีกทีหนึ่ง



--->>>   ส่วน  อภิวินเย  หรืออภิวินัย  ก็ได้แก่การปุจฉาวิสัชนา  อธิบายอรรถะแห่งพระวินัย  ถ้าจะชี้ก็ขอชี้คัมภีร์ มหาวิภังค์,  ภิกขุนีวิภังค์  และคัมภีร์บริวาร  มหาวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์  ยังเจือพุทธพจน์  กับถ้อยคำของพระสาวกสาวิกา  อธิบายพระพุทธพจน์อีกต่อหนึ่ง  ส่วนคัมภีร์บริวาร  เป็นประชุมอธิบายข้อความสำหรับวินิจฉัยพระวินัย  ตั้งเป็นรูปกระทู้แล้วอธิบายมีลักษณะเป็นอภิวินัยอย่างสมบูรณ์



**************************************************************************


๓.  สมัยแยกจากพระสูตรเป็นอีกปิฎกหนึ่ง


แม้  อภิธมฺเม  อภิวินเย  จะมีมาสมัยเดียวกันก็จริง  แต่เนื่องด้วยเรื่องของวินัยเป็นระเบียบแบบแผนกำหนดไว้  ไม่สู้จะมีปัญหาที่ต้องขบให้พิสดาร  ผิดกับความคิดและทัศนะทางธรรมะ  ซึ่งมีอาณาบริเวณแห่งจินตนาการกว้างขวางมาก  ตามความรู้ความเข้าใจของบุคคล  ฉะนั้นเรื่อง  อภิธมฺเม  จึงพัฒนาไปไกลกว่าเรื่อง  อภิวินเย  



ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๓  พระสาวกได้รวบรวมข้ออภิปรายธรรมนิเทสต่างๆ จัดขึ้นเป็นปิฎกที่สามคืออภิธรรมปิฎก  ต่างคณะต่างรวบรวม  ฉะนั้น  พระอภิธรรมปิฎกของนิกายต่างๆ จึงหาเหมือนกันไม่  

แต่ปัจจุบันนี้  อภิธรรมปิฎกยังคงเหลืออยู่  ๓  นิกาย  ที่เรียกได้ว่าพอแก่การศึกษา  คือพระอภิธรรมปิฎกฝ่ายบาลีของนิกายเถรวาทหนึ่ง  พระอภิธรรมปิฎกฝ่ายสันสกฤตของนิกายสรวาสติวาทหนึ่ง,  และพระอภิธรรมปิฎกของลัทธิมหายานหนึ่ง  



-->>  สำหรับฝ่ายเถรวาทมีสมบูรณ์กว่าเพื่อน  คือมีพร้อมทั้งอรรถกถา,  ฎีกา,  อนุฎีกา,  และโยชนา  

-->  ฝ่ายสันสกฤตอันดับสองมีแปลสู่จีนพากย์เป็นส่วนมาก  

--> ฝ่ายสันสกฤตอันดับสามก็แปลรักษาไว้ในจีนพากย์ไว้ได้มาก  แต่พระอภิธรรมของลัทธิมหายานเป็นของกำเนิดขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๕  ล่วงแล้ว  และไม่จัดเป็นปิฎก  เพิ่งมาจัดขึ้นต่อภายหลังอีกนานเรียกกันว่า  “ศาสตร์” (หลุง)  เป็นรจนาของคณาจารย์ต่างๆ แห่งมหายาน  มีพระนาคารชุน,  พระอสังคะ,  พระวสุพันธุ,  เป็นอาทิ  


ฉะนั้น  ถ้าจะว่าไปแล้วก็เหลือพระอภิธรรมปิฎก ๒ นิกายเท่านั้น  คือนิกายเถรวาทกับนิกายสรวาสติวาท  ที่จัดได้ว่าเป็นของเก่าสืบมาแต่สมัยที่สอง



**************************************************************************


๔.  สมัยรวบรวมสารัตถะแห่งพระอภิธรรม


จำเดิมนับแต่มีพระอภิธรรมขึ้นเป็นเอกเทศ  รวมเป็นพระไตรปิฎกโดยสมบูรณ์แล้ว  พัฒนาการแห่งความคิดในหลักธรรมก็ยิ่งเจริญไปไกล  

คณาจารย์ฝ่ายอภิธรรมิกะได้ขยายแนวอธิบายสภาวธรรมตามทัศนะของท่านให้พิสดารกว้างขวาง  และมีการโต้แย้งมติในระหว่างคณาจารย์ด้วยกัน  ละเอียดซับซ้อนออกไปเรื่อยๆ  จึงเป็นการยากแก่นักศึกษาที่มีเวลาจำกัดในการซึมซาบพระอภิธรรมได้  ฉะนั้น  จึงมีคณาจารย์ที่เล็งเห็นความลำบากในเรื่องนี้  ได้เก็บเอาสารรัตถะสำคัญแห่งพระอภิธรรมปิฎกออกมาเรียบเรียงใหม่ให้ย่นย่อ  เพื่อเป็นอุปกรณ์พาให้นักศึกษาเข้าถึงปิฎกนี้โดยง่าย  คัมภีร์ประเภทนี้มักแต่งด้วยคาถาอันไพเราะ สะดวกแก่การท่องจำ  และมีคำอธิบายอรรถกถากำกับด้วยเป็นร้อยแก้ว  บางทีก็รจนาเป็นความเรียงอธิบายพระพุทธพจน์บทใดบทหนึ่ง  

ในนิกายเถรวาท  คัมภีร์ประเภทนี้มีชื่อโด่งดังมาก  เห็นจะเป็น  “วิสุทธิมัคค์ปกรณพิเศษ”  ของพระพุทธโฆษะ  “อภิธัมมาวตาร”  ของพระพุทธทัตตะ  และ  “อภิธัมมัตถสังคหะ”  ของพระอนุรุธาจารย์  

ในฝ่ายนิกายสรวาสติวาทก็มี  “สังยุตตาภิธรรมหฤทัย”  ของพระธรรมตร  “อภิธรรมโกศะ”  ของพระวสุพันธุ  เป็นต้น


ต่อมานักศึกษาปกรณ์เหล่านี้  ยังเห็นว่าบางตอนท่านกล่าวไว้รวบรัด  ยากที่จะเข้าใจ  จึงเกิดมีคันถรจนาจารย์อีกพวกหนึ่ง  แต่งขยายอรรถที่ลี้ลับในปกรณ์ดังกล่าวออกมาอีก



--->>>   พระอภิธรรมมีลักษณะพิเศษ  ประกอบด้วยทฤษฎี  และกฎเกณฑ์ทางสภาวธรรมอย่างพิสดารเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งด้านนามและด้านรูป  และเป็นอภิปรัชญา  ซึ่งไม่มีในคัมภีร์ของศาสนาอื่นใด  ฉะนั้นอภิธรรมจึงต้องศึกษาด้วยการถ่ายทอดทำความเข้าใจเป็นพิเศษจากอาจารย์  ก็ผู้ที่จำทรงในพระอภิธรรมปิฎกได้  ข้าพเจ้ารับรองได้ว่า  ผู้นั้นจะไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ  จักทวีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น  เป็นโชคดีของวงการปริยัติศึกษาของเรา  ได้สนใจเล่าเรียนพระอภิธรรมแพร่หลาย  จึงนับเป็นลาภอันประเสริฐต่อพุทธบริษัทผู้ใคร่ในการศึกษาทั้งหลายโดยแท้…


**************************************************************************
ข้อมูลจาก  หนังสือ  คดีธรรม-คดีโลก :  เสถียร  โพธินันทะ

หมายเลขบันทึก: 215964เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท