ว่าด้วยธรรมะที่ไม่ผิด


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ว่าด้วยธรรมะที่ไม่ผิด 

๑๐ . อปัณณกสูตร

สูตรว่าด้วยธรรมะที่ไม่ผิด 


   พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อ   “สาลา ”   ( ในสาเลยยกสูตรที่ ๔๑   มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ที่ย่อไว้แล้วที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๕ ว่าชื่อ “สาลา”


ณ ที่นั้น ได้ตรัสถามพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านสาลาว่า ท่านมีศาสดาใด ๆ ที่น่าพอใจ ที่ท่านได้ศรัทธามีอาการ ( อันดี ) บ้างหรือไม่.  


เมื่อเขาตอบว่า   ไม่มี   จึงตรัสว่า เมื่อพวกท่านไม่ได้ศาสดาที่น่าพอใจ ก็จงสมาทานประพฤติธรรมะที่ไม่ผิด ธรรมะที่ไม่ผิด ที่สมบูรณ์แล้ว สมาทานแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่าน.

 


-->>  ธรรมะที่ไม่ผิดข้อแรก 

   ครั้นแล้วตรัสขยายความเรื่องธรรมะที่ไม่ผิดต่อไป . ทรงแสดงถึงสมณพราหมณ์ที่เห็นว่า   “ ไม่มี ”   ( นัตถิกทิฏฐิ ) เช่น ไม่มีผลของกรรมดีกรรมชั่ว กับสมณพราหมณ์ที่เห็นเป็นปฏิปักษ์กัน คือเห็นว่า   “ มี ”   พวกที่เห็นว่า   “ไม่มี ”   หวังได้ว่าจะเพิกถอนสุจริตทางกาย วาจา ใจ, สมาทาน ประพฤติทุจจริตทางกาย   วาจา   ใจ   เพราะไม่เห็นของอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ของกุศลกรรม.


ความเห็น ความดำริ และคำพูดถึงโลกหน้า ซึ่งมีอยู่ว่า   “ ไม่มี ”   ดังนี้ ย่อมเป็นความเห็นผิด ความดำริผิด และคำพูดผิด เขาย่อมกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ผู้รู้จักโลกหน้า ย่อมทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าโลกหน้าไม่มี อันเป็นการบัญญัติต่อสัทธรรมและยกตนข่มผู้อื่นเพราะเหตุนั้น เดิมมีศีลดีก็ละเสีย,   ตั้งความเป็นผู้ทุศีล,   มีความเห็นผิด,   ความดำริผิด ,  คำพูดผิด,   มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอริยเจ้า มีการบัญญัติอสัทธรรม มีการยกตนข่มผู้อื่น ฉะนี้


อกุศลธรรมจึงชื่อว่าเกิดมีขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย. ในข้อนั้นวิญญูชนพิจารณาเห็นว่า ถ้าโลกหน้าไม่มี คนคนนี้ตายแล้วจักทำตนให้ปลอดภัยได้ แต่ถ้าโลกหน้ามี ก็จักเข้าถึงอบาย     ทุคคติ     วินิบาต    นรก.


แม้แต่สมณพราหมณ์จะกล่าวไว้ว่า โลกหน้ามี   ถ้อยคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ จงยกไว้ แต่คนนั้นก็ถือเอาโทษ .  ทั้งสองฝ่าย คือถูกติเตียนในปัจจุบัน และตายไปก็จักเข้าถึงอบาย   ทุคคติ   วินิบาต   นรก.


--> คนคนนั้นชื่อว่าถือผิดสมาทานผิดซึ่งอปัณณกธรรม ( ธรรมะที่ไม่ผิด) แผ่ไปแต่ความเห็นแง่เดียวของตน เว้นฐานะอันเป็นกุศล. ส่วนผู้เห็นว่า   “ มี ”   ( ซึ่งเป็นทางตรงกันข้าม) ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งปัณณกธรรม แผ่ไปซึ่งอปัณณกธรรม แผ่ไปซึ่งส่วนทั้งสอง ( ทั้งวาทะของตนและวาทะของคนอื่น ) เว้นฐานะอันเป็นอกุศล.
 



-->>  ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๒ 

  สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ทำไม่เป็นอันทำ ( อกิริยทิฏฐิ ) เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ก็ไม่เป็นอันฆ่า ไม่เป็นอันลัก ชื่อว่าเป็นฝ่ายถือผิด ส่วนที่เห็นว่า ทำเป็นอันทำ ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งอปัณณกธรรม ฯลฯ.
 



-->>  ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๓ 

  สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ไม่มีเหตุปัจจัยแห่งความเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลาย ( อเหตุทิฏฐิ ) สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ( เอง ) โดยไม่มีเหตุปัจจัย ชื่อว่าเป็นฝ่ายถือผิดส่วนที่เห็นว่ามีเหตุปัจจัย ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งอปัณณกธรรม ฯ ล ฯ.
 



-->>  ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๔ 

  สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ไม่มีพรหมโลกที่ไม่มีรูปด้วยประการทั้งปวง แต่บางพวกกล่าวว่า มีด้วยประการทั้งปวง พวกที่เห็นว่ามี ย่อมปฎิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อดับรูปทั้งหลาย ( เป็นฝ่ายไม่ผิด ).
 



-->>  ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๕ 

  สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความดับภพไม่มีด้วยประการทั้งปวง แต่บางพวกกล่าวว่ามีด้วยประการทั้งปวง พวกที่เห็นว่ามี ย่อมปฎิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อดับภพ ( ความมีความเป็น ) ทั้งหลาย.



พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕

หมายเลขบันทึก: 215965เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท