พระพุทธเจ้า ผู้เกิด ๒ หน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

พระพุทธเจ้า ผู้เกิด ๒ หน 

“พระพุทธเจ้าเกิด  ๒  หน  คือเกิดด้วยรูปกาย ได้แก่  ขันธ์ ๕  และอายตนะธาตุอินทรีย์  ครั้งที่ ๑
เกิดด้วยนามกาย  คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  มรรค  ผล  อีกครั้งหนึ่ง
แต่เกิดด้วยรูปกายนั้นยังไม้เป็นพระพุทธเจ้า  ต่อเกิดด้วยนามกายจึงจะเป็นพระพุทธเจ้า...”


(ไตรโลกวิตถาร  หลวงพ่อน่วม  อธิปญโญ  หนังสือธรรมะแจกฟรี  ของโลกทิพย์  ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๓๗  หน้า ๔๒)


ในหนังสือเล่มเดียวกัน  หลวงพ่อน่วม  อธิปญโญ  ยังได้ตอบคำถามที่ว่า


“พระพุทธองค์ได้เป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร”


ตอบว่า  “พระองค์เป็นด้วยกำลังพระปัญญา  บารมีแก่กล้าพิจารณาสังขารแล้วก็ค้นหาปัจจัยที่เกิดที่ดับสังขาร  ครั้นได้ปัญญาญาณแก่กล้ารู้เท่าทันสังขารแล้วก็เกิดนิพพิทาเบื่อหน่ายในสังขาร  จึงถึงวิราคธรรม  คืออริยมรรคและวิมุตติมรรค  หรืออริยผลพ้นจากกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาน  มีขันธสันดานอันบริสุทธิ์”

ครั้นแรกเกิดเป็นรูปกาย  มีขันธ์ ๕  ได้แก่  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  เช่นเดียวกับสัตว์ทั้งหลายในโลกสงสาร


อีกครั้งหนึ่งเกิดด้วยนามกาย  “นามกาย”  คืออะไร  เป็นอย่างไร  ลองติดตามค้นหา...


“นามกาย”  ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์  ประยุทธ  ปยุตฺโต  อธิบายว่า  กองแห่งนามธรรม  หมายถึงเจตสิกทั้งหลาย


“เจตสิก”  พจนานุกรมเล่มเดียวกันอธิบายว่า  ธรรมที่ประกอบกับจิต,  อาการหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต  เช่น  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ศรัทธา  เมตตา  สติ  ปัญญา  เป็นต้น



ตามความหมายดังกล่าวเพียงเท่านั้นก็เป็นเพียงนามธรรม  คือ  สภาวะที่น้อมไปหาอารมณ์,  ใจและอารมณ์ที่เกิดกับใจ  คือ จิต และ  เจตสิก,  สิ่งของที่ไม่มีรูป  คือรู้ไม่ได้ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  แต่รู้ได้ทางใจ  จึงยังไม่น่าจะหมายถึงการเกิดครั้งที่ ๒  ของพระพุทธเจ้า



คราที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่เวรัญชพราหมณ์  ผู้มีอายุแห่งเมืองเวรัญชาถึงการเป็นผู้ประเสริฐที่สุดเจริญที่สุดของพระองค์  พร้อมทั้งการปฏิบัติบางประการ  พระพุทธองค์ทรงแสดงคุณวิเศษแห่งธรรมตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงวิชชา ๓  ซึ่งทรงบรรลุแล้วในเบื้องต้นได้ทรงกล่าวแสดงตั้งแต่ฌาน ๑  ฌาน ๒  ฌาน ๓  ซึ่งเรียกว่าตติยฌาน  พระองค์ทรงกล่าวว่า



“เรามีอุเบกขาอยู่  มีสติ  มีสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย  เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ  ว่าเป็นผู้มีอุเบกขา  มีสติ  มีสุขอยู่  เป็นฌาน ๓”



คำว่า  “นามกาย”  ในตติยฌาน  ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกอรรถกถาแปลมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๗๕  เป็นพระอภิธรรมเล่มที่ ๑  ภาคที่ ๑  หน้า  ๔๖๒  อธิบายว่า


“ความผูกใจในการเสวยเฉพาะความสุขของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยตติยฌานย่อมไม่มีแม้ก็จริงแม้เมื่อเป็นเช่นนั้น  เพราะความสุขของพระโยคาวจร(ผู้ปฏิบัติฯ)  นั้นสัมปยุต  (ประกอบ)  ด้วยนามกาย หรือว่าพระโยคาวจรนั้นพึงเสวยสุขใดนั้นอันสัมปยุตด้วยนามกายหรือเพราะรูปอันประณีตยิ่งอันตั้งขึ้นด้วยนามกายนั้นถูกต้องรูปกายของพระโยคาวจรนั้น  แม้เธอออกจากฌาณแล้วก็ยังเสวยความสุขเพราะความที่กายนั้นอันรูปประณีตยิ่งถูกต้องแล้ว...”


พอจะหมายความได้ว่า  “นามกาย”  นี้คือ  “รูปอันประณีตยิ่งซึ่งบังเกิดด้วยนามกาย”



อันพอจะหมายถึงการเกิดครั้งที่ ๒ ของพระพุทธเจ้าได้  คือ  รูปอันประณีตยิ่งบังเกิดด้วยนามกาย  ไร้ขันธ์ ๕  ทั้งปวง  ส่วนรูปกายซึ่งประกอบด้วยขันธ์  ๕  ได้บังเกิดขึ้นแล้วก็คงปรากฏอยู่ให้เห็นแต่ก็เป็นขันธ์ ๕  ที่ปรากฏเพียงแต่ปรากฏอยู่ในภาวะเป็นกลางวางเฉยในอุเบกขาธรรม

“รูปอันประณีตยิ่งอันตั้งขึ้นด้วยนามกายนั้นถูกต้องรูปกายของพระโยคาวจรนั้น  แม้เธอออกจากฌานแล้วก็ยังเสวยความสุข  เพราะความที่กายนั้นอันรูปประณีตยิ่งถูกต้องแล้ว”


จากประโยคดังกล่าวนี้จะเห็นรูป  ๒  รูปปรากฏซ้อนกันอยู่ในพระพุทธองค์  ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐาน(พระโยคาวจร) ในขณะบรรลุฌาน ๓  คือรูปกายของพระองค์ที่กำลังประทับนั่งขัดสมาธิถูกสัมผัสด้วยรูปอันประณีตยิ่งอันตั้งขึ้นด้วยนามกายในฌานนั้น  แม้ออกจากฌาณแล้วก็ยังเสวยสุขอยู่เพราะรูปกายที่ประทับนั่งได้รับการสัมผัสจากรูปประณีตยิ่งมาแล้วในขณะอยู่ในฌาณ


พระไตรปิฎกในเล่มเดียวตอนเดียวกัน  อธิบายว่า


“...สุขในตติยฌานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง  ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่านี้...(หมายถึงในโลกียสุข)”



ความสุขดังกล่าวยังติดตามออกมาแม้เมื่อออกจากฌาน  แต่ด้วยอานุภาพแห่งสติอันทรงอยู่ด้วยอุเบกขา  วางเฉยแล้วในรูปกายที่ปรากฏภายนอก  พระพุทธองค์หามีความยินดีในความสุขอันยิ่งนั้นไม่  ซึ่งตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า



“...พระอรหันต์ขีณาสพ...หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ  ภิกษุนั้นยังมีอินทรีย์ ๕ (สัทธา,  วิริยะ,  สติ,  สมาธิ, ปัญญา) ดำรงอยู่เพราะเหตุที่อินทรีย์ ๕ ยังไม่หมดสิ้นไปจึงประสบสิ่งที่น่าพอใจบ้าง เสวยสุขบ้าง  ทุกข์บ้าง  ความสิ้นราคะ  โทสะ  โมหะ  ของภิกษุนั่นเรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ...”



พิจารณาให้ละเอียดประณีตจะเห็นได้ชัดขึ้น  แม้เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอันเกิดจากนามกายแล้วก็ยังทรงรูปอยู่ด้วยภาวะ  ๒  รูป  คือรูปหยาบ (รูปกาย)  และรูปอันประณีตยิ่ง (นามกาย)  รูปกายและรูปอันประณีตยิ่งอยู่ในพระพุทธองค์เดียวกัน  แต่ความใกล้ไกลย่อมแตกต่างกันมากในภาวะที่แตกต่างกันดังตัวอย่าง  เช่น



“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าแม้ว่าภิกษุจับชายสังฆาฏิ (ผ้าทาบบนจีวร)  ตามหลังย่างเท้าตามทุกก้าวแต่เธอมีความละโมบ  มีความติดใจแรงกล้าในกามทั้งหลาย  มีจิตพยาบาท  มีความดำริแห่งใจเป็นโทษ  ลืมสติ  ไม่มีสัมปชัญญะ  มีจิตไม่ตั้งมั่น  มีจิตหมุนไปผิด  ไม่สำรวมตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย ใจ  ภิกษุนั้นก็ยังอยู่ไกลเราโดยแท้  และเราก็อยู่ไกลภิกษุนั้น  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม  ผู้ไม่เห็นธรรมย่อมไม่เห็นเรา


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าแม้ว่าภิกษุนั้นอยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์  แต่เธอไม่มีความละโมบ ไม่มีความติดใจแรงกล้าในกามทั้งหลาย  มีจิตไม่พยาบาท  มีความดำริแห่งใจอันไม่เป็นโทษ มีสติตั้งมั่น  มีสัมปชัญญะ  ชื่อว่าอยู่ใกล้เราโดยแท้  และเราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรม  ผู้เห็นธรรมย่อมเห็นเรา”

อิติวุตตก  ๒๕/๓๐๐
(พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน  สุชีพ  ปุญญานุภาพ  หน้า  ๕๐-๕๑)



--->>   แม้จะอยู่ใกล้ชิดติดรูปกายทุกฝีก้าวแต่ใจไม่มีธรรมะก็ถือว่าอยู่ไกลรูปอันประณีตยิ่ง  แม้ผู้อยู่ไกลแสนไกลแต่ใจมีธรรมะก็ถือว่าอยู่ใกล้รูปอันประณีตยิ่ง  จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าแท้จริงก็คือรูปอันประณีตยิ่งนั่นเอง  มิใช่เพียงรูปกายภายนอกแห่งพระพุทธเจ้าเท่านั้น


รูปอันประณีตยิ่งอันตั้งขึ้นด้วยนามกายเป็นพระรูปแท้ของพระพุทธเจ้าอันทรงอมตมหานิพพาน  ทรงสภาวะเช่นนั้นตลอดไป


สัตว์โลกใดเห็นธรรมสัตว์โลกนั้นเห็นพระพุทธเจ้าได้เสมอ  พระพุทธเจ้าอันตั้งขึ้นด้วยนามกายนี้เป็นการเกิดครั้งที่ ๒

ตามที่  หลวงพ่อน่วม  อธิปปัญโญ  กล่าวไว้ในหนังสือไตรโลกวิตถารดังกล่าว  การเกิดครั้งแรกของพะพุทธเจ้าเป็นการเกิดของสัตว์โลกในวัฏสงสาร  การเกิดครั้งที่ ๒  เป็นการเกิดของพระพุทธเจ้าเหนือวัฏสงสารแล้ว  เป็นการบังเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก  เป็นการบังเกิดตามสัจกุศลธรรม  ธรรมฝ่ายดีที่ค้ำจุนโลกธาตุให้พ้นจากความมืดบอดซึ่งนานๆ ครั้งจึงจะบังเกิดตามวาระของผู้ปรารถนาพุทธภูมิที่ได้บำเพ็ญเพียรบ่มพระบารมีแก่กล้าจนเข้าขั้นแล้วเท่านั้น  



เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานพ้นจากสภาวะที่จะทรงสั่งสอนด้วยขันธ์หยาบ (ขันธ์ ๕)  ธรรมวินัยอันเป็นขันธ์ประณีต  ๘๔,๐๐๐  พระธรรมขันธ์ นั้นเป็นศาสดาแทนพระองค์  จนกว่าสัตว์โลกจะถูกกิเลสหยาบช้าเข้าครอบงำสิ้นเชิงอีกวาระหนึ่ง  ความมืดบอดจะเข้าครอบครองแทนที่อยู่ทั่วไป  เมื่อนั้นสัตว์โลกทั้งหลายก็จะลืมเลือนธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้และทรงสั่งสอนไว้กันถ้วนทั่ว  พระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นไปแต่พระพุทธเจ้าและธรรมะมิได้สิ้นสูญไปด้วย ยังคงดำรงอยู่เป็นนามกายและธรรมขันธ์(ธรรมกาย)อยู่เช่นนั้นเป็นธรรมดา



นามกายแห่งพระพุทธและธรรมขันธ์(ธรรมกาย)แห่งพระธรรมเป็นธรรมชาติแห่งธรรมชาติที่มีอยู่ด้วยอริยวินัย  พระพุทธเจ้าที่ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลกจำนวนมากก่อนพระสมณโคดมพุทธเจ้า  ทั้งที่ปรากฏพระนามและไม่ปรากฏพระนามก็ยังคงมีอยู่เป็นอมตนิพพานเช่นกัน  เมื่อโลกว่างพระพุทธศาสนา  เหล่าสัตว์ก็รำลึกไม่ได้ถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายจนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นอีกพระองค์  ตรัสรู้นำมาบอกกล่าวสอนกันอย่างนี้  



เช่นเดียวกัน  ความจริงยามโลกว่างพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้ามิได้ว่างลงเลยแต่สัตว์โลกหลงใหลอยู่ในอวิชชาจนไม่มีผู้ใดสามารถมีดวงตาเห็นธรรมได้  จึงไม่สามารถเห็นพระพุทธเจ้า  แม้องค์ที่จะเพิ่งลืมเลือนไปหยกๆ ธรรมะก็มีอยู่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็มีอยู่อย่างนั้น แต่โลกมืดบอดเองมองไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่เพราะเป็นกาลเวลาที่โลกว่างวิชชาคือความรู้แจ้งจริงแล้วกลับเรียกกันว่าโลกว่าง  ความไม่รู้จริงนั่นเองทำให้เกิดการหลงผิดไปเรียกกงจักรว่าดอกบัว  เรียกดอกบัวว่ากงจักร  กลับกันตรงข้ามเช่นนั้นได้



ผู้ที่จะทำให้ศาสนารุ่งเรืองอยู่และทำให้ศาสนาเสื่อมสิ้นไปก็คือพวกที่อยู่ในพระพุทธศาสนานี่เอง  ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า


“บริษัททั้งหลาย ๔  มีภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก อุบาสิกา  จะทำศาสนาให้รุ่งเรืองผู้อื่นไม่ทำศาสนาให้รุ่งเรืองเจริญได้
   บริษัททั้งหลาย ๔  มีภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก อุบาสิกา  จะทำศาสนาให้เสื่อมผู้อื่นไม่ทำให้เสื่อมได้”



พุทธบริษัท  ๔  มีภิกษุเป็นต้น คือพระสงฆ์  เป็นสำคัญที่จะทำศาสนาให้เจริญหรือเสื่อมได้ไม่ใช่อื่นแต่พระพุทธเจ้า  และพระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีใครทำให้เสื่อมได้ คงเป็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าอยู่เช่นนั้นตลอดไปไม่เป็นอย่างอื่น จะเห็นว่าความเป็นความมีพระพุทธเจ้ามีอยู่ทุกขณะ  พระพุทธเจ้ามิได้หายไปไหน  เช่นเดียวกับธรรมะก็มีอยู่โดยตลอด  ธรรมะเป็นนามธรรม  พระพุทธเจ้าเป็นนามกาย  สัตว์โลกทั้งหลายเป็นนามรูป  เมื่อนามธรรม  นามกาย  และนามรูปทั้ง ๓  มาประชุมพร้อมกันจึงเกิดพระพุทธศาสนา  เห็นนรก  เปรต  อสุรกาย  เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา  พรหม  และนิพพานได้  ครั้นสิ้นพระพุทธศาสนาเสียแล้วสัตว์ต่างๆ เหล่านั้นต่างคนต่างอยู่ไม่เห็นกัน  ไม่รู้กันไม่ทราบความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน  ไม่เข้าใจการเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้วิบากแห่งกรรม  ไม่เห็นทางนำสู่ความหลุดพ้นมีแต่ความมืดบอดมืดมนอนธการอยู่โดยรอบ


**************************************************************************
ข้อมูลในการเรียบเรียง  :  ธรรมบัญชา  โดย  บัญช์  บงกช

.............................................

 

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ http://khunsamatha.com/

พุดคุยสนทนาธรรมในประเด็นต่างๆ กันได้ที่ห้องสนทนา  http://forums.212cafe.com/samatha/

หมายเลขบันทึก: 215968เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท