ปัญหาเกี่ยวกับความจริง


ปัญหาเกี่ยวกับความจริง



แนวคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับจักรวาล  วิญญาณ มนุษย์  และเทพเจ้านั้น  ถึงแม้พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้  แต่ก็เห็นว่ามิได้ช่วยให้ผู้ที่มีความสงสัยคลายจากความสงสัยนั้นได้  เพราะบางครั้งเมื่อยิ่งตอบก็จะเกิดปัญหาติดตามที่ไม่รู้จบ
  ทั้งนี้เพราะผู้ที่สงสัยมิได้เห็นความเป็นจริงด้วยตนเอง  



ดังนั้นเมื่อมีผู้ทูลถามกับพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ก็ทรงเลือกที่จะตอบปัญหากับผู้สนทนาด้วยวิธีการต่าง ๆ  ดังบันทึกในพระไตรปิฎกฉบับหลวง  เล่ม  ๒๑  หน้า  ๔๓  ถึงวิธีตอบคำถามของพระพุทธเจ้า  ดังนี้


๑. กล่าวแก้โดยส่วนเดียว  คือ  ตอบตรงตามที่ถาม

๒. จำแนกกล่าวแก้  คือ  ตอบโดยการแยกแยะ   อธิบายและยกตัวอย่าง

๓. ย้อนถามกล่าวแก้  คือ  ตอบโดยย้อนให้ผู้ถามเข้าใจเอง

๔. การงดกล่าวแก้  คือ  ทรงนิ่งเสียถ้าเห็นว่าตอบแล้วไม่เกิดประโยชน์  หรือทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิด



โดยมากแล้วพระพุทธเจ้าจะทรงตอบปัญหาให้กับผู้ที่ถาม  แต่มีปัญหาอยู่  ๑๐  ประการ
พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเสียด้วยเห็นว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง   อีกทั้งผู้ฟังไม่สามารถเห็นได้ด้วยประสาท
สัมผัสสามัญ
 ดังบันทึกในพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม  ๒๕  หน้า  ๑๔๒-๑๔๓ ถึงเรื่องที่
พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเสีย  ดังนี้



๑ โลกเที่ยง

๒ โลกไม่เที่ยง

๓ โลกมีที่สุด

๔ โลกไม่มีที่สุด

๕ ชีพอันนั้น  สรีระก็อันนั้น

๖ ชีพเป็นอื่น  สรีระก็เป็นอื่น

๗ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว  ย่อมเป็นอีก

๘ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว  ย่อมไม่เป็นอีก

๙ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว  ย่อมเป็นอีกก็มี   ย่อมไม่เป็นอีกก็มี

๑๐ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว  ย่อมเป็นอีกก็หามิได้  ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้



จากแนวคิดอภิปรัชญาดังกล่าว   นักปราชญ์ทางพุทธ  ที่ชื่อ ศาสตราจารย์  เดวิด  (Prof.  
David  J.  Kalupahana)  ได้เขียนไว้ในหนังสือ    Buddhist  Philosophy,  A  Historical  Analysis  หน้า   ๑๕๖.  ว่าการวิเคราะห์คำถาม  และตอบคำถามเชิงอภิปรัชญาของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้หลัก  ๓  ประการ



๑.  ทฤษฏีทางอภิปรัชญาขึ้นอยู่กับหลักเหตุผล  ไม่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์สามัญ  (a  priori)  ซึ่งการยืนยันหรือปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ล้วนเป็นสิ่งที่ยากที่จะพิสูจน์ให้เห็นตามความเป็นจริงได้



๒.  นักอภิปรัชญาเมื่อขาดประสบการณ์ตรง  แต่ได้พยายามที่จะตัดสินสิ่งที่จะรู้  ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  โดยไม่พอใจในสิ่งที่ตนรู้อยู่ย่อมไม่สามารถรู้ชัดในความแท้จริงได้



๓.  บทสรุป  ยืนยันหรือปฏิเสธของอภิปรัชญาที่ไม่ได้อาศัยประสาทสัมผัส   หรือประสบการณ์สามัญ  ถือว่าเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย(อัปปาฏิทีรกตะ)  ซึ่งทัศนะนี้ในปัจจุบันปรากฏในปรัชญาสายตรรกปฏิฐานนิยม (Logical  positivism)  



--->> อย่างไรก็ตาม  เราจะเห็นว่าผู้ที่เชื่อและดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยมากนั้นจะเชื่อเรื่องจิต  นรก  สวรรค์  นิพพาน  แต่ก็มีอยู่บ้างที่ปฏิเสธหรือไม่สนใจ  เนื่องจากเป็นสิ่งมองไม่เห็นจับต้องไม่ได้  


แต่สำหรับผู้สนใจในปรัชญาแล้วควรคำนึงเสมอว่า  สิ่งต่าง ๆ นั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้    เราเห็น   เราเชื่อตามผู้อื่นที่เคยรับรู้สิ่งนั้น ๆ  เช่น  เชื่อเรื่องอะตอมตามหลักวิทยาศาสตร์   เชื่อหลักฐานทางโบราณคดี  เชื่อเพราะเราเห็นว่าผู้ที่บอกเรานั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ   โลกนี้นอกจากสิ่งที่เรารู้และเราเชื่อแล้ว  ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่เคยรู้  ไม่เคยเห็นฉะนั้นสิ่งที่เราไม่เคยรู้    ไม่เคยเห็นแล้วเราจะปฏิเสธว่าไม่มี  ก็คงจะเป็นสิ่งทีไม่เหมาะสมนัก


สำหรับผู้มีความคิด  มีสติปัญญา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ศึกษาปรัชญา   ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาปรัชญาจึงควรที่จะค้นคว้า  หาเหตุผล  และปฏิบัติ  เพื่อพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง    มากกว่าการยอมรับหรือปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลนัก  


ดังที่ปรากฏในอังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต   เรื่องกาลามสูตร  ที่พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลใช้เหตุผล  พิสูจน์ทดลองหาประสบการณ์ด้วยตนเองก่อน  และไม่ควรด่วนเชื่อหรือยอมรับสิ่งใด  ๆ  ว่าจริงหรือเท็จ  เพียงว่าสิ่งเหล่านี้


๑. ฟังตาม  ๆ  กันมา

๒. เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ

๓. เป็นข่าวลือ

๔. ตรงคัมภีร์  มีในตำรา

๕. นึกคิดเองตามหลักตรรกวิทยา

๖. เพราะอาศัยลักษณะภายนอก

๗. นึกเดาเอา

๘. เพราะเห็นว่าตรงกับทัศนะของตน

๙. เพราะเห็นว่ามีลักษณะน่าเชื่อถือ

๑๐. เพราะผู้พูดเป็นครู  อาจารย์ของตน


หลักการทั้ง  ๑๐  ประการนี้มิใช่สอนให้บุคคลมีทิฐิ  ปฏิเสธทุกเรื่อง  ดื้อไม่เชื่อใคร  หรือ
ไม่ยอมรับสิ่งใด แต่เป็นการสอนให้เรารู้จักคิดพิจารณาก่อนการตัดสินสิ่งต่าง ๆ


**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  : หนังสือพุทธปรัชญาเถรวาท (ผศ. วิโรจน์  นาคชาตรี)

หมายเลขบันทึก: 215974เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท