พรรณนาอนิสงส์แห่งปัญญาภาวนา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปัญญาภาวนานิสังสนิทเทส
(พรรณนาอนิสงส์แห่งปัญญาภาวนา)



ในนิทเทสนี้   ท่านพรรณนาปัญญาภาวนานิสงส์คืออานิสงส์แห่งปัญญาภาวนาไว้มากหลายเพราะการอบรมปัญญานี้มีอานิสงส์หลายร้อยประการ   การจะประกาศอานิสงค์แห่งปัญญาภาวนามิใช่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่ายเลยอย่างไรก็ตามท่านพรรณนาอานิสงส์แห่งการอบรมปัญญาไว้   ๔  ประการ คือ


๑. ทำลายกิเลสนานา  ประการ  (นานากิเลส วิทฺธํสนํ)


๒. ได้เสวยรสแห่งอริยผล        (อริยผลรสานุภวนํป


๓. สามารถเข้านิโรธสมาบัติ  (นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชนสมตฺถตา)


๔. สำเร็จภาวะต่าง ๆ   มีภาวะแห่งอาหุเนยยบุคคล  เป็นต้น   (อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ)




-->>  ๑.   กำจัดกิเลสนานาประการ
ก็กิเลสมีประการต่าง   ๆ  มีสักกายทิฏฐิ   และสังโยชน์เบื้องสูง   มีรูปราคะและอรูปราคะเป็นต้น  สามารถถูกกำจัดเสียได้ด้วยปัญญาภาวนานี้   ดังนั้นท่านจึงกล่าวเป็นคาถาซึ่งถอดใจความได้ว่า  


ปัญญาอันบุคคลอบรมดีแล้ว   ย่อมกำจัดข่ายคือ
กิเลส  ซึ่งสร้างความพินาศทั้งปวงที่ติดตามบุคคลมาเป็น
เวลายืดยาวนานประหนึ่งสายฟ้าฟาดลงมา  อย่างแรงน่า
สะพรึงกลัว  ทำลายภูเขาหิน  หรือจุดไฟอันโหมแรง
เพราะกำลังลมไหม้ป่าให้พินาศไป  ประดุจพระอาทิตย์
โพลงด้วยแสง โชติช่วง  กำจัดความมืดให้สูญหาย  พึง
ทราบอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนาดังกล่าวมานี้  โดยผลที่
เห็นประจักษ์ก่อน




-->>  ๒.  
เสวยรสแห่งอริยผล

ปัญญาภาวนานอกจากทำลายกิเลสดังกล่าวแล้ว   ยังทำให้บุคคลผู้ทำลายกิเลสได้  มีโอกาสได้เสวยรสแห่งอริยผลมีโสดาปัตติผล เป็นต้น  มีอรหันตตผลเป็นปริโยสาน   ซึ่งท่านจำแนกไว้  ๒  ประการ  คือ



๑. ในวิถีแห่งมรรค

๒. ในความเป็นไปด้วยสามารถแห่งผลสมบัติ
ประการแรกในวิถีแห่งมรรคนั้นได้กล่าวโดยแจ่มแจ้งแล้วแต่ต้น   ส่วนประการที่  ๒   คือ ผลสมาบัตินั้นจักอธิบายต่อไป


ผลสมาบัติ   คือ  การเข้าเสวยความสุขในปัจจุบันแห่งท่านผู้ได้บรรลุอริยผลมีโสดาปัตติผลเป็นต้น   เรื่องผลสมาบัตินี้มีปัญหามาก   จึงขอตั้งเป็นข้อ  ๆ ดังนี้



๑.   อะไรชื่อว่าผลสมาบัติ    ท่านตอบว่าอัปปนาในนิโรธแห่งอริยผล      คือการเข้านิโรธของท่านผู้บรรลุอริยผลนั้นเอง


๒.   พวกไหนเข้าได้   พวกไหนเข้าไม่ได้  ?    ตอบว่า   ปุถุชนไม่อาจเข้าผลสมาบัติได้   เพราะมิได้บรรลุอริยผล    จึงไม่ทราบจะเข้าไปเสวยผลแห่งอะไร   พระอริยบุคคลทุกจำพวกเข้าได้   พระอริยบุคคลทุกจำพวกย่อมเข้าผลสมาบัติตามภูมิชั้นแห่งตน ๆ


๓.   เข้าผลสมาบัติเพื่อเหตุอะไร  ?   ตอบว่าเพื่อแสวงหาความสุขสงบในภพปัจจุบัน   เช่นเดียวกับพระราชาเสวยความสุขในรัชสมบัติ   เทพยดาเสวยความสุขอันเป็นทิพย์    พระอริยก็ฉันนั้น  ย่อมเสวยความสุขอันเป็นโลกุตตระอันประเสริฐ


๔.   เข้าอย่างไร  ?    แก้ว่า  ถ้าผู้บำเพ็ญเพียรบรรลุมรรคมีปฐมฌานเป็นอารมณ์   ผลสมบัติของท่านผู้นั้นก็มีปฐมฌานเป็นอารมณ์   ถ้าท่านบรรลุมรรคมีทุติยฌานเป็นอารมณ์  ผลสมาบัติของท่านผู้นั้นก็มีทุติยฌานเป็นอารมณ์


๕   ผลสมาบัติดำรงอยู่ด้วยอาการอย่างไร  ?    ตอบว่า   ผลสมาบัติย่อมดำรงอยู่ตามที่เขาตั้งใจไว้ก่อนเข้าว่าจะเข้านานสักเท่าใด   ผลสมาบัติย่อมตั้งอยู่นานเท่ากาลที่กำหนดไว้ก่อนเข้า


๖.   ออกอย่างไร  ?   ตอบว่า   เมื่อใฝ่ใจถึงอารมณ์แห่งภวังค์ก็เป็นอันออกจากผสมาบัติ   โดยใจความปัจจัยแห่งอาการออกจากผลสมาบัติ  คือใฝ่ใจซึ่งสรรพนิมิต  ๑ ไม่ใฝ่ใจถึงธาตุอันไม่มีนิมิต   ๑ ฯลฯ



ท่านกล่าวพรรณนาอานิสงส์   แห่งผล
สมาบัติไว้ว่า  ผลแห่งความเป็นสมณะ  ซึ่งสามารถระงับ
ความกระวนกระวายเสียได้มีพระนิพพานเป็นอารมณ์   เป็น
คุณธรรมที่งดงาม  คายเหยื่อของโลกได้  เป็นความสุขสูง
สุด  สะอาด  มีรสอร่อยน่ายินดียิ่งนัก  ดุจน้ำผึ้ง  เอิบอาบ
ซาบซ่าน  บุคคลผู้เป็นบัณฑิตเจริญปัญญา   ย่อมประสบ
ความสุขอันมีรสเลิศ  การเสวยรสแห่งอริยผลนี้   ท่าน
เรียกว่าเป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนา




-->>  ๓. สามารถเข้านิโรธสมบัติ


๑. อะไรชื่อว่านิโรธสมาบัติ  ?   ตอบว่า    ธรรม  คือ  จิตและเจตสิก  ไม่เป็นได้ด้วยสามารถ
แห่งอนุปุพพนิโรธ


๒.  
พวกไหนเข้าได้  พวกไหนเข้าไม่ได้  ?  ตอบว่า  ปุถุชนทุกจำพวก  พระโสดาบัน  พระสนทาคามีพระอนาคามี  และพระอรหันต์สุกขวิปัสสก  (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน)  เข้าไม่ได้  เพราะไม่มีกำลังสมาธิพอ  ส่วนพระอนาคามี  และพระอรหันต์ผู้ได้สมาบัติ ๘    ย่อมเข้าได้เพราะมีกำลังสมาธิพอ  สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า   ปัญญาคือความชำนาญด้วยญาณจริยา   ๑๖   สมาธิจริยา     ๙     เพราะประกอบด้วยกำลัง  ๒  และเพราะระงับสังขาร   ๓   เสียได้ชื่อว่าญาณในนิโรธสมาบัติ



สัมปทานี้   ยกเว้นพระอนาคามีและพระขีณาสพผู้ได้  สมาบัติ  ๘   เสียแล้ว  ผู้อื่นไม่อาจมีได้  ถามว่ากำลัง  ๒  คือ  อะไร  ความชำนาญคืออะไร  ?  กำลัง  ๒   คือ  กำลังแห่งสมถะ  ๑  กำลังแห่งวิปัสสนา  ๑


กำลังแห่งสมถะ  คือ  ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจเนกขัมมะ   ด้วยอำนาจ  แห่งความไม่พยาบาท  ด้วยอำนาจแห่งอาโลกสัญญา  ฯลฯ   ซื่อว่ากำลังแห่งสมถะเพราะไม่หวั่นไหวด้วยนิวรณ์ ฯลฯ


กำลังแห่งวิปัสนา   เพราะตามเห็นความไม่เที่ยง  (อนิจจานุปัสสนา)  ความเป็นทุกข์  ความคลาย  ความดับไม่หวั่นไหวด้วยนิจจสัญญา  ไม่หวั่นไหวด้วยสุขสัญญา  ไม่หวั่นไหวในในอวิชชา  ในกิเลสอันสหรคด้วย   อวิชชาในขันธ์  ๕  นี้  คือกำลังแห่งวิปัสสนา



ข้อว่าระงับสังขาร  ๓   คือระงับวจีสังขาร  อันได้แก่  วิตก  วิจาร  ของท่านผู้เข้าทุติยฌาร,  กายสังขารคือลมหายใจเข้าออก  แห่งท่านผู้เข้าจตุตถฌาน,จิตตสังขาร   คือ  สัญญาและเวทนาแห่งผู้เข้านิโรธสมาบัติ  



ญาณจริยา  ๑๖

ญาณจริยา  ๑๖  คือ


๑. อนิจจานุปัสสนา  (พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง)

๒. ทุกขานุปัสสนา

๓. อนัตตานุปัสสนา

๔. นิพพิทนุปัสสนา

๕. วิราคานุปัสสนา

๖. นิโรธานุปัสสนา

๗. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา

๘. วิวัฏฏานุปัสสนา

๙. โสดาปัตติมรรค

๑๐.โสดาปัตติผลสมาบัติ

๑๑.สกทาคามิมรรค

๑๒.สกทาคามิผลสมาบัติ

๑๓.อนาคามิมรรค

๑๔.อนาคามิผลสมาบัติ

๑๕.อรหัตตมรรค

๑๖.อรหัตตผลสมาบัติ



สมาธิจริยา  ๙


สมาธิจริยา  ๙   คือ  รูปฌาน   ๔   อรูปฌาน  ๔  เป็น  ๘  รวม  วิตก  วิจาร  ปิติ  สุข  เอกัคคตา  เพื่อได้ฌานนั้น  ๆ  อีก  ๑  เป็น  ๙



วสี  ๕

๑. อาวัชชนวสี  ชำนาญในการระลึก

๒. สมาปัชชนวสี  ชำนาญในการเข้า

๓. อธิฐานวสี  ชำนาญในการอธิษฐานคือการหยุด

๔. วุฏฐานวสี   ชำนาญในการออก

๕. ปัจจเวกขณวสี  ชำนาญในการพิจารณา



-->  
เหตุไรพระโสดาบันจึงเข้านิโรธไม่ได้


ถ้าจะมีคำถามว่า  เพราะเหตุไรพระโสดาบันและพระสกทาคามี   จึงไม่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้   ตอบว่าเพราะยังละราคะมิได้   การเข้านิโรธสมาบัติจะต้องใช้กำลังทั้งสอง คือกำลังแห่งสมถะ  และกำลังแห่งวิปัสสนา  ราคะเป็นอันตรายแห่งสมาธิ   เมื่อพระโสดาบันยังละไม่ได้กำลังของสมถะจึงไม่สมบูรณ์  เพราะฉะนั้นจึงมิอาจเข้าได้


-->  เข้านิโรธที่ไหน
 
ปัญหานี้   ตอบว่า  เข้าในปัญจโวการภพ   คือภพแห่งสัตว์ผู้มีขันธ์  ๕   ในจตุโวการภพเป็นต้นมิอาจเข้าได้เลย
เพราะไม่มีกรัชกายหรือไม่มีหทัย



เข้าอย่างไร

ตอบว่า  ผู้ต้องการเข้านิโรธสมบัติ  พึงพยาวยามด้วยสมถะและวิปัสสนา  ทำบุพพกิจเสร็จแล้วเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ  เมื่อดับเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้วจึงเข้านิโรธสมาบัติ


ท่านพรรณนาไว้ว่า  นิโรธสมาบัตินั้นจะต้องเข้าด้วยวิปัสสนาอันไม่อ่อนนักไม่แก่กล้านัก  วิปัสสนาที่พิจารณาสังขารเป็นวิปัสสนาอ่อน  วิปัสสนาประจำผลสมาบัติเป็นวิปัสสนาที่แก่กล้า  ส่วนวิปัสสนาประจำนิโรธสมาบัติ  ไม่อ่อนเกินไปและไม่แก่เกินไป  จึงจะควร

ก่อนจะเข้านิโรธสมาบัติ   พึงทำกิจเบื้องต้น  ๔   อย่างให้สำเร็จเสียก่อน  คือ


๑.  อธิษฐานรักษาของที่ไม่ติดอยู่กับกาย  เช่น
เตียงตั่งหรือของอื่น ๆ  เป็นต้นว่ากุฏิที่พักอาศัย  อธิษฐานว่าตลอดเวลา  ๗  วันที่เข้านิโรธสมาบัตินั้น  ขอสิ่งของต่าง  ๆ เหล่านั้นอย่าได้เป็นอันตราย  เพราะโจร  หรือหนูหรือน้ำ  ลม  ไฟ  ท่านกล่าวว่าของนั้นจะปลอดภัยตลอดเวลา  ๗ วัน


๒. นึกถึงการรอคอยแห่งสงฆ์
คือเมื่อจะเข้านิโรธ  พึงตั้งจิตอธิษฐานว่า   ถ้าในระหว่างที่กำลังจะเข้านิโรธนั้นมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่สงฆ์ต้องทำ  ขอให้ออกได้ทันที  ไม่ต้องให้สงฆ์ส่งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปเรียกเมื่อตั้งใจไว้อย่างนั้น   ถ้ามีการประชุมสงฆ์และสงฆ์ต้องการผู้นั้นจะออกจากนิโรธได้ทันที


๓. การรับสั่งหาของพระศาสดา  
ก็ทำนองเดียวกับข้อ  ๒  คือพึงคำนึงถึงว่า  ในระหว่าง๗  วันที่เข้านิโรธพระผู้มีพระภาคอาจจะทรงรับสั่งหา  ถ้าเป็นดังนั้นขอให้ออกจากนิโรธทันที  ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะสั่งภิกษุอื่นมาตาม


๔. กำหนดเวลา  ข้อนี้มีอธิบายว่า  ก่อนเข้าพึงระลึกเวลาอายุขัยของตนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด  ให้สำรวจอายุให้ดี  เพราะถ้าอายุสิ้นภายใน ๗ วัน  เธอจะต้องออกจากนิโรธก่อนครบ  ๗  วัน  เพราะ ในนิโรธสมาบัตินั้นไม่มีความตาย  คือบุคคลจะไม่ตายในขณะเข้านิโรธ   แต่นิโรธสมาบัติอาจห้ามความตายได้  สมมุติว่า    เธอเข้าไปได้  ๒  วัน  สิ้นอายุขัย  ถึงคราวจะต้องตาย  เธอต้องออกจากนิโรธแล้วจึงตาย


ท่านกล่าวว่า  ปุพพกิจ  คือ  กิจเบี้องต้น  ๔  อย่างนี้สำคัญมาก  ต้องทำให้เสร็จบริบูรณ์ก่อนเข้านิโรธ  อย่างอื่นจะบกพร่องบ้างก็ไม่เป็นไร

หมายเลขบันทึก: 215978เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อเข้าเสวยผลแห่งธรรมที่ตนบรรลุเต็มที่แล้วคราวนี้ถึงคราวออก จะออกอย่างไร การออกมี ๒ อย่าง

๑. เพราะการเกิดขึ้น แห่งอนาคามิผลสำหรับพระอนาคามี

๒. เพราะการเกิดขึ้นแห่งอรหัตตผล สำหรับพระอรหันต์

เพราะขณะเข้านิโรธสมาบัตินั้น อนาคามิผล หรือ อรหันตผลระงับไปชั่วคราว (กถํ วุฏฺฐานนฺติ อนาคามิสฺส อานาคามิผลุปฺปตฺติยา อรหโต อรหตฺตุปฺติยาติ เอวํ เทฺวธา วุฏฐานํ โหติ)

เรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้เทียบดูวิสุทธิมรรคฉบับภาษาอังกฤษซึ่งท่านญาณโมลี ภิกฺขุ ชาวลังกา เป็นผู้แปลก็คงได้ความอย่างเดียวกัน ดังนี้

How does the emergence form it come about ? The emergence come about in two ways thus: by means of the fruition of non – return in the case of the Non-Returner, or by the fruition of Arahantship in the case of the Arahant คำแปลก็ทำนองเดียวกัน คือมีข้อความเหมือนกัน

เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว จิตใจของท่านจะโน้มไปเอียงไปในพระนิพพาน น้อมไปในวิเวก

คนตายกับผู้เข้าสมาบัตินิโรธ

ข้อแตกต่างระหว่างคนตายและผู้เข้านิโรธสมาบัติก็คือ คนตายนั้น กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารดับไออุ่นไม่มี อินทรีย์กระจาย และอายุสิ้น ส่วนผู้เข้านิโรธสมาบัติ แม้กายสังขารเป็นต้นจะดับ แต่อายุยังไม่สิ้นอินทรีย์ยังไม่กระจ่าย ไออุ่นยังมีอยู่

ความสามารถในการเข้านิโรธสมาบัติ เพื่อเสวยผลแห่งพระนิพพานอันเป็นสุขอย่างยิ่ง จัดเป็นอานิสงส์แห่งการเจริญอบรมปัญญาประการหนึ่ง

๔. สำเร็จเป็นอาหุเนยยบุคคล

เนื่องจากท่านผู้อบรมปัญญาด้วยดีตามที่กล่าวมาแล้ว ย่อมสามารถบรรลุอริยผลต่าง ๆ มีโสดาปัตติผล เป็นต้น ดังนั้นท่านจึงเป็นอาหุเนยยบุคคล ควรแก่ของบูชาของทำบุญ ของต้นรับ เป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยมของโลก

พระโสดาบัน นั้น ที่มีอินทรีย์อ่อนจะต้องเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เรียกว่า สัตตัขขัตตุปรมะ

ที่มีอินทรีย์ปานกลางจะเกิดอีก ๒-๖ ชาติ เรียก โกลังโกละ

ที่มีอินทรีย์แก่กล้าจะเกิดอีกเพียงชาติเดียว เรียกเอกพิธี คำว่า อินทรีย์ที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึงอินทรีย์มีศรัทธา และปัญญาเป็นต้น

พระอนาคามี ๕ จำพวก

ภูมิที่สูงกว่าโสดาบันและสกทาคามีขึ้นไป คือ อนาคามี (ผู้ไม่กลับมาอีก) ท่านแบ่งไว้ ๕ จำพวก

๑. อันตราปรินิพพายี หมายถึงท่านผู้เกิดในภพสุทธาวาส ยังมิทันถึงกลางอายุก็ปรินิพพาน

๒. อุปหัจจปรินิพพายี ท่านผู้ล่วงเลยกลางอายุไปแล้วจึงนิพพาน

๓. อสังขารปรินิพพายี ท่านผู้ทำมรรคเบื้องสูงให้เกิดขึ้น คืออรหันตตมรรคโดยง่าย โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากเกินไป

๔. สสังขารปรินิพพายี ท่านผู้ทำมรรคเบื้องสูงให้เกิดขึ้น โดยต้องใช้ความพยายามมาก

๕ อุทธังโสโต - อกนิฏฺฐคามี ท่านผู้เลื่อนชั้นขึ้นไปจากภพที่ตนเกิดจนถึงภพอกนิฏฐะแล้วจึงนิพพาน

บุคคลผู้อบรมปัญญาจนสามารถทำลายกิเลสนานาชนิดได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบัน จนถึงอรหันต์ขีณาสพสิ้นอาสวะทั้งมวล ชื่อได้ว่าสางรกชัฎสางความยุ่งเหยิงแห่งชีวิตต่างๆ เป็นผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก

พรรณาอานิสงส์ แห่งการอบรมปัญญาจบเพียงเท่านี้

********************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง : สาระสำคัญแห่ง วิสุทธิมรรค โดย วศิน อินทสระ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท