พระพุทธองค์ไม่มีไม้ตาย , คาถาแสดงธรรมสังเวช


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

พระพุทธองค์ไม่มีไม้ตาย , คาถาแสดงธรรมสังเวช

-->>  พระพุทธองค์ไม่มีไม้ตาย


พุทธวนะที่น่าสังเกตนี้ก็คือ   ทรงบอกพระอานนท์ว่าพระพุทธองค์ไม่มี   “อาจริยมุฏฐิ”  (กำมือของอาจารย์)   มีเท่าไร   บอกหมด   อะไรที่จะเป็นทางพ้นทุกข์ได้ตรัสบอกหมดแล้ว   ไม่ปิดบังไม่มีอะไรกำไว้ในมือ


“กำมืออาจารย์”นี้เทียบได้กับ  “ไม้ตาย” ของครู
ครูที่ฝึกวิชาต่าง ๆ   เช่น  วิชาฟันดาบ   ยิงธนู  ครูจะไม่สอนลูกศิษย์ทุกกระบวนท่า  เพราะเกรงว่าศิษย์ที่อกตัญญูคิดล้างครู   เมื่อได้เรียนจบวิชาไปแล้วอาจคิดกำจัดครูได้  จึงจำต้องสอนสงวน  “ ไม้ตาย ”  ไว้


แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า   พระองค์ไม่ได้สงวน  “ไม้ตาย ”
 ดังกล่าวไว้   เพราะแนวทางการสอนของพระองค์สอนให้ละ  ให้ปล่อยวาง   ยิ่งสอนจดหมดเปลือกหมดไส้หมดพุงก็ยิ่งดี


อีกเรื่องหนึ่งที่ตรัสให้พระอานนท์ฟังก็คือ   พระพุทธวจนะนี้บ่งบอกถึงการที่พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตยมิได้เผด็จการปกครองสงฆ์แบบเบ็ดเสร็จ   ตรงข้ามพระองค์ทรงมอบภาระการบริหารสงฆ์และการทำสังฆกรรมเช่นอุปสมบท  เป็นต้น  แก่พระสงฆ์   มอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหารคณะสงฆ์แม้พระองค์เองก็ทรงเคารพสงฆ์


**************************************************************************


-->> คาถาแสดงธรรมสังเวช



ที่น่าศึกษาก็คือ  พระสาวกที่ท่านมีหูทิพย์  ท่านได้บันทึกเสียงสะท้อนหลังจากพุทธปรินิพพานไว้ด้วย  คือ  ท้าวสหัมบดีพรหม และพระอินทร์   ได้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวช  (คือ ปลงเพราะเข้าใจถึงธรรมดาแห่งชีวิต)  ไว้ด้วย


-->> ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคาถาว่า


สัตว์ทั้งปวงทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก  แม้แต่พระตถาคตศาสดา

ผู้ไม่มีใครเปรียบปาน  ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ  ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง   ยังดับสนิทแล้ว

เตือนให้คิดว่า  อย่าว่าแต่เราเลย   แม้พระผู้ประเสริฐอย่างพระสัมมาสัมพุทธะยังปรินิพพานให้พิจารณาเห็นความจริงของสรรพสิ่งเสียเถอะ  อย่างได้ยึดติดอะไรจนเกินไป


--> พระอินทร์ก็กล่าวคาถาว่า


สังขาร (สิ่งผสม)   ทั้งหลายไม่เที่ยงแท้หนอ   เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา  การดับสังขารทั้งหลายได้  เป็นความสุขแท้

คาถาของพระอินทร์ได้ถูกนำมาเป็นคาถา  “บังสุกุล”  ของพระสงฆ์มาจนบัดนี้   ญาติโยมเองก็ได้ยินบ่อยๆ จนจำได้  คือ  คาถาว่า  

อนิจจา  วะตะ  สังขารา  อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิตวา   นิรุชฌันติ  เตสัง   วูปะสะโม   สุโข



ที่ว่า  “ดับสังขารได้เป็นสุข”หมายถึงดับกิเลสได้   หรือบรรลุนิพพานนะขอรับ  ไม่ใช่  “ฆ่าตัวตาย”  แล้วเป็นสุขนะ   อย่าเข้าใจผิด


--> พระอนุรุทเถระได้กล่าวคาถาความว่า


พระพุทธเจ้าผู้มีพระทัยมั่นคง   ผู้คงที่  ไม่หวั่นไหว  ทรงหมดลมหายใจแล้ว

พระมณีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว  พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่

ทรงระงับเวทนาได้   พระทัยหลุดพ้น  ทรง ดับสนิทแล้วดุจเปลวประทีปดับ  ฉะนั้น


--> พระอานนท์กล่าวคาถาความว่า


เมื่อพระพุทธองค์ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยประการทั้งปวงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  ได้เกิดความสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าแล้ว


-->> มีข้อน่าเปรียบเทียบก็คือ
 วาทะของพระอรหันต์ทรงอภิญญา  (พระอนุรุทธะ)   กับของพระเสขบุคคล  (ผู้ยังไม่หมดกิเลสสิ้นเชิงคือพระอานนท์)  เนื้อหาแตกต่างกัน   พระอนุรุทธะนั้นกล่าวอย่างผู้เข้าใจกฎธรรมดาว่า   ทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้วจะต้องดับไป   แม้พระพุทธเจ้ายังดับ   แต่การดับของพระองค์นั้นดับอย่างสนิท   เพราะทรงละกิเลสอาสวะทั้งปวงได้แล้ว


ส่วนวาทะของพระอานนท์  ยังใส่ความรู้สึกของผู้ยังมีอุปทานอยู่  แม้ว่าท่านจะเป็นพระโสดาบันแล้วก็ตาม (พระโสดาบันนั่งร้องไห้เสียใจอาลัยอาวรณ์ได้  ดังนางวิสาเมื่อหลานตายก็ยังร้องไห้ฟูมฟายไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  )


-->> ในสังคมพุทธไทย
  เมื่อจัดงานเผาศพญาติมิตรผู้ล่วงลับก็จะพิมพ์หนังสืองานศพ   เขียนคำไว้อาลัยผู้ตายไว้ด้วย   ประเพณีนี้เริ่มมาแต่เมื่อใดไม่ทราบ  อาจจะเลียนแบบคาถาแสดงธรรมสังเวชที่ผู้กล่าวเมื่อครั้งพุทธปรินิพพาน  ก็เป็นได้   แต่เท่าที่สังเกต  คำไว้อาลัยนั้นมักเป็นไปในทำนองยกย่องผู้ตายเสียเลอเลิศ   และแสดงความอาลัยอาวรณ์เกินความจริง   ชักจูงไปทางลุ่มหลงมัวเมาในชีวิตมากกว่าจะเตือนสติตัวเองและผู้อื่นให้เข้าใจธรรมชาติและธรรมดาของชีวิต



.............................................

 

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ http://khunsamatha.com/

พุดคุยสนทนาธรรมในประเด็นต่างๆ กันได้ที่ห้องสนทนา  http://forums.212cafe.com/samatha/

หมายเลขบันทึก: 215981เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท