พระพุทธเจ้าตรัส เรื่องกิเลสที่ครอบงำจิต


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

เรื่องกิเลสที่ครอบงำจิต

ตรัสตอบท้าวมหานาม  เรื่องกิเลสที่ครอบงำจิต



พระศาสดาประทับอยู่  ณ  นิโครธาราม   เมืองกบิลพัสดุ์   เจ้าศากยะพระองค์หนึ่ง  คือ   ท้าวมหานามเสด็จไปเฝ้าทูลว่า   ทรงเข้าพระทัยในพระธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงมานานแล้วว่า   โลภะ  โทสะ  โมหะ  เป็นสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง  แต่มันก็ยังครอบงำพระทัยของพระองค์อยู่เป็นครั้งคราว   ทรงสงสัยว่ามีอะไรอยู่ภายในพระทัย   มีอะไรที่ยังทรงละไม่ได้ขาด  จึงทำให้  โลภ  โกรธ  หลง   ครอบงำพระทัยได้เป็นครั้งคราว


พระศาสดาตรัสตอบว่า  ที่เป็นอย่างนั้นเพราะยังทรงละกามไม่ได้    ถ้าทรงละกามราคะได้แล้ว  ก็จะไม่ทรงอยู่ครองเรือน  ตรัสต่อไปว่า    อริยสาวก (สาวกของพระอริยะ   หรือสาวกที่เป็นอริยะ)   ทราบอย่างดีว่า    กามทั้งหลายให้สุขน้อย   ให้ทุกข์มากถึงกระนั้นถ้าเขาไม่ได้ปิติสุขอันเหนือกว่ากามสุขแล้ว   เขาก็คงเวียนมาหากามสุขอีก    แต่เมื่อใดเขาได้ปิติสุขอันอยู่เหนือกามสุขแล้ว  เขาย่อมไม่เวียนมาหากามสุข


ตรัสเล่าเรื่องของพระองค์เองสมัยที่ยังมิได้ตรัสรู้ทรงรู้เห็น  เหมือนกันว่ากามทั้งหลายให้สุขน้อย  ให้ทุกข์มากแต่เมื่อมิได้สุขอื่นที่เหนือกว่ากามสุข   ก็ยังไม่สามารถปฏิญญาพระองค์ว่าจะไม่เวียนมาสู่กามสุขอีก  เมื่อทรงได้สุขอื่นที่เหนือกว่าแล้ว   จึงทรงปฏิญญาได้ว่าจะไม่เวียนมาหากามสุขอีก


ต่อจากนั้น   ตรัสถึงคุณและโทษของกาม   พร้อมทั้งอุบายวิธีที่จะถอนตนจากกามเหมือนที่กล่าวแล้วในมหาทุกขักขันธสูตร


ตรัสเล่าเรื่องที่ประทับอยู่  ณ   ภูเขาคิชฌกูฏ   นครราชคฤห์   คราวนั้นที่ตำบลกาฬศิลา  ข้างภูเขาอิสิคิลิ   พวกนิครนถ์จำนวนมากถือการยืนเป็นวัตรคือยืนอย่างเดียวไม่นั่ง  ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ซึ่งเกิดจากความพยายามนั้น(มิจฉาวายามะ  ความเพียรในทางที่ผิด)  พระองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น  เสด็จเข้าไปหาพวกนิครนถ์เหล่านั้น  ได้ถามพวกเขาถึงการถือการยืนเป็นวัตรนั้นว่าทำด้วยเหตุผลอะไร   ?   พวกนิครนถ์ตอบว่านิครนถ์นาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของเขาเป็นผู้รู้ธรรมทั้งปวง    เห็นธรรมทั้งปวง   ยืนยันญาณทัสสนะ(ความรู้ความเห็น)  ของท่านว่า  บริสุทธิ์หมดจดโดยประการทั้งปวง   สอนให้สาวกทำความเพียรอันเข้มงวดเช่นนี้เพื่อสลัดบาปกรรมอันเคยทำมาแต่กาลก่อน


อนึ่ง   การที่พวกท่านสำรวมกาย  วาจา  ใจ  ในบัดนี้  เป็นการไม่กระทำบาปกรรมต่อไป  เพราะกรรมเก่าสิ้นไปด้วยตบะนี้    และเพราะไม่ทำกรรมใหม่  ความถูกบังคับจึงไม่มี   เพราะไม่ถูกบังคับจึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรมจึงสิ้นทุกข์  เพราะสิ้นทุกข์จึงสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา  (ความรู้สึกว่าเป็นสุขหรือทุกข์)  จึงเป็นอันพวกท่านสลัดทุกข์ได้หมด  พวกเราพอใจคำกล่าวนี้ของท่านนิครนถ์นาฏบุตร(ศาสดาของศาสนาเชน)  จึงยินดีบำเพ็ญตบะนี้


พระพุทธองค์ตรัสถามพวกนิครนถ์เหล่านั้นว่า   ท่านทราบหรือว่าพวกท่านเคยเกิดมาก่อน ?   ท่านได้ทำกรรมไว้ในกาลก่อน ?  เคยทำกรรมอย่างนี้  ๆ  มาก่อน ?  ท่านทราบหรือว่าสลัดทุกข์ได้เท่านี้แล้ว   ยังมีทุกข์อีกเท่านี้ที่จะต้องสลัด  เมื่อทุกข์เท่านี้ท่านสลัดได้แล้วเป็นอันสลัดทุกข์ได้หมดสิ้น  ?   พวกท่านทราบการละอกุศลและการบำเพ็ญกุศลในปัจจุบันหรือ?


คำถามเหล่านี้   พวกนิครนถ์ตอบว่า  ไม่ทราบทั้งสิ้น

พระศาสดาจึงตรัสว่า    เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่จะบวชในสำนักของพวกท่านก็มีแต่คนที่มีมารยาททราม     มีมือเปื้อนโลหิตทำกรรมชั่วช้า


พวกนิครนถ์โต้ตอบว่า   บุคคลมิใช่จะประสบความสุขได้ด้วยความสุขแต่จะประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์    ถ้าหากบุคคลประสบความสุขได้ด้วยความสุขแล้ว  พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแห่งแคว้นมคธก็จะพึงมีความสุขมากกว่าพระสมณโคดม  เพราะโดยปกติพระเจ้าพิมพิสารมีชีวิตอยู่เป็นสุขกว่าพระสมณโคดม


พระศาสดาตรัสถามเป็นเชิงเปรียบเทียบว่า  พระเจ้าพิมพิสารจะทรงสามารถอยู่อย่างไม่ไหวพระกาย    ไม่ไหวพระวาจา (คือไม่ตรัสอะไรเลย)   เสวยสุขอย่างเดียวอยู่ตลอด   ๗  วัน   ๖  วัน...จนถึงเพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่งได้หรือไม่พวกนิครนถ์ทูลตอบว่าไม่ได้


พระพุทธองค์ตรัสว่า   พระองค์เองสามารถไม่ทรงไหวพระกาย  พระวาจา  เสวยความสุขอยู่อย่างเดียวตลอดเวลา   ๗  วันได้  เมื่อเป็นเช่นนี้   ระหว่างพระองค์กับพระเจ้าพิมพิสาร   ใครจะอยู่เป็นสุขกว่ากัน   พวกนิครนถ์ทูลรับว่าพระพุทธองค์ทรงอยู่เป็นสุขกว่าอย่างแน่นอน   เมื่อพระศาสดาตรัสเล่าเรื่องนี้จบลงแล้ว  ท้าวมหานามทรงชื่นชมยินดีกับพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค



**************************************************************************



เรื่องนี้แสดงโทษของความเพียรที่มากเกินไป    และทำไปโดยไร้ปัญญาเป็นการทำตนให้ลำบากเปล่า  (อัตตกิลมถานุโยค)  เป็นทุกข์เปล่าไม่มีประโยชน์ไม่ประเสริฐ  เช่น   ความเพียรในการยืนอย่างเดียวของพวกนิครนถ์ในเรื่องนี้


พระพุทธศาสนาสอนเรื่องปัญญา อันเป็นคุณธรรมหลัก   คือให้ทำอะไร ๆ   ด้วยปัญญา   มิใช่ด้วยความเขลา   หรือสักแต่ว่าเคยทำสืบ ๆ   กันมาแต่โบราณ   การเข้มงวดกับชีวิตเกินไป  ก็เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์   เป็นกองทุกข์ใหญ่อย่างหนึ่งเหมือนกัน


.............................................

 

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ http://khunsamatha.com/

พุดคุยสนทนาธรรมในประเด็นต่างๆ กันได้ที่ห้องสนทนา  http://forums.212cafe.com/samatha/

หมายเลขบันทึก: 215984เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผู้อบรมดีแล้ว

ผู้ที่ได้อบรมกาย อบรมจิตดีแล้ว ดูได้ที่ไหน? ดูที่ เมื่อสุขเวทนา (ความรู้สึกสุข) หรือทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์) ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตเกิดขึ้น มันสามารถครอบงำจิตได้หรือไม่ถ้าครอบงำได้ทำให้เขาต้องเศร้าโศกเสียใจ พิไรรำพันต่าง ๆ หรือเพลิดเพลิน หลงใหล แสดงว่า เขายังมิได้ อบรมกาย อบรมจิตด้วยดี ถ้าสุขทุกข์นั้นครอบงำ จิตไม่ได้ แสดงว่า เขาได้อบรม กาย อบรมจิตดีแล้ว

(นัยพระพุทธพจน์ จากมหาสัจจกสูตร)

ม.มู. พระไตรปิกฎเล่ม ๑๒ ข้อ ๔๐๘-๘)

พถุภถัไพคะพกุพุ้พถุคถำพถัพหั้กะพ

ดะระคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท