พระพุทธเจ้า...ทรงโต้ตอบเทวดาเรื่องฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

พระพุทธเจ้า...ทรงโต้ตอบเทวดาเรื่องฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข

พระพุทธเจ้า...ทรงโต้ตอบเทวดาเรื่องฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข





เทวดาผู้หนึ่งทูลถามว่า


“ฆ่าอะไรเสียได้จึงอยู่เป็นสุข   ฆ่าอะไรเสียได้จึงไม่เศร้าโศก
พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าอะไรว่าเป็นธรรมอันเอก”



พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า


“ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข  ฆ่าความโกรธเสียได้ไม่ต้องเศร้าโศก  พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษมียอดหวาน   บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศก”
(พระไตรปิฎก เล่ม  ๑๕   ข้อ  ๑๙๘-๑๙๙)



เรื่องความโกรธ  โทษของความโกรธ   วิธีละความโกรธและคุณของการละความโกรธ  ได้พรรณนาไว้มากแล้วในที่อื่น   เช่น  ในสาระสำคัญแห่งวิสุทธิมรรค  ตอนว่าด้วยเรื่องเมตตาในพรหมวิหารนิเทศ   และในทางแห่งความดีเล่ม  ๓   ตอนที่ว่าด้วย  “โกรธวรรควรรณนา”  (วรรคที่ว่าด้วยความโกรธ)



ในที่นี้  ขออธิบายข้อที่ว่า  “พระอริยเจ้าทั้งหลาย   สรรเสริญการฆ่าความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ  มียอดหวาน”



พระอริยเจ้าคือใคร?  คือท่านผู้บรรลุโลกุตตรธรรมแล้วตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์   จะเป็นบรรพชิต   (ผู้บวช)  ก็ตาม  เป็นฆราวาส  (ผู้ครองเรือน )   ก็ตาม  ไม่ว่าจะเกิดในตระกูลใด   วรรณะใด    เชื้อชาติใด   เมื่อบรรลุโลกุตตรธรรมแล้วนับเป็นพระอริยเสมอกันหมด   เปรียบเหมือนน้ำไหลจากที่ต่าง ๆ   เมื่อลงสู่มหาสมุทรแล้วก็เรียกว่าน้ำทะเลเหมือนกันหมด



ปัญหาต่อไปมีว่า   โลกุตตรธรรมคืออะไร?   จะบรรลุได้อย่างไร?  

โลกุตตรธรรม   แปลตามตัวว่า   ธรรมเหนือโลก   กล่าวคือ  พ้นจากโลกียวิสัยอย่างน้อยที่สุดก็ก้าวเข้าสู่ทางนั้นแล้วแม้จะยังดำเนินไปไม่สุดสายก็ตาม  เช่นพระโสดาบันผู้บรรลุโลกกุตตรธรรมในระดับโสดาปัตติผลแล้วเข้าสู่กระแสแห่งโลกุตตรธรรมแล้ว    



กล่าวโดยชื่อก็คือ   มรรค  ๔  ผล  ๔  นิพพาน  ๑  เป็นโลกุตตรธรรม ๙   มรรค   ๔  คือ โสดาปัตติมรรค   สกทาคามิมรรค  อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค    ผล  ๔  ก็เหมือนกัน  เปลี่ยนแต่คำว่า  มรรคเป็นผลเท่านั้น



จะบรรลุได้อย่างไร?   บรรลุได้โดยวิธีดำเนินชีวิตตามอริยมรรคมีองค์  ๘  มีความเห็นชอบเป็นต้น    ซึ่งย่อลงเป็นศีล สมาธิ  ปัญญา   ดำเนินชีวิตตามหลักศีล  สมาธิ  ปัญญา  นั่นเอง   ย่อมนำไปสู่โลกกุตตรภูมิได้  เมื่อก้าวเข้าสู่โลกุตตรภูมิแม้ในระดับแรกคือโสดาบัน   ท่านก็แปรสภาพจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า



โลกกุตตรธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรต้องการ  ทั้งในชีวิตอย่างบรรพชิต และชีวิตอย่างฆราวาส  พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์เช่นนั้น   เพื่อให้พุทธบริษัททั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์มีชีวิตที่เบาสบายขึ้นไม่ตกเป็นทาสของกิเลสเกินไป หรือตลอดเวลา  อนึ่ง   การแก้ปัญหาโลกนั้นต้องแก้ด้วยธรรม   เหมือนเราจะแก้ความวุ่นวายด้วยความสงบ  แก้ความร้อนด้วยความเย็น  แก้ความมืดด้วยความสว่าง



โลกวุ่นวายอยู่เสมอ  ใจที่เกาะเกี่ยวอยู่กับโลกก็เป็นใจที่วุ่นวายเพราะใจของคนในโลกวุ่นวายนั่นแหละ  จึงทำให้โลกวุ่นวายไร้ความสงบ  ไม่มีสันติภาพอันถาวรเลย    ถ้าดำเนินตามวิธีของโลกแล้ว    สันติภาพถาวร   (Iasting peace)  ก็เป็นแต่เพียงความฝันเท่านั้น  เป็นจริงขึ้นในโลกไม่ได้    อย่าว่าแต่จะถาวรเป็นเดือน  เป็นปี  หรือเป็นสิบปีเลย  แม้เพียงวันเดียวก็หาไม่ได้   รายงานของหนังสือพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศบอกเราว่า   ไม่มีสักวันเดียวที่โลกนี้ปราศจากปัญหา    เรื่องร้ายเกิดขึ้นในหนังสือพิมพ์    วิทยุและโทรทัศน์รายงานได้ทุกวัน  ตราบใดที่ใจของคนยังวุ่นวายเป็นทาสของกิเลสอยู่   ชนิดที่ควบคุมมันไม่ได้อยู่   ตราบนั้นโลกก็คงต้องวุ่นวายอยู่ต่อไป  


แม้ในโลกแคบ  ๆ   ซึ่งมีคนอยู่เพียง   ๔-๕  คน  หรือ   ๖-๗  คน  เช่นในครอบครัว   หรือในที่ทำงานทั่ว ๆ   ไปก็ยังหาความสงบสุขไม่ได้    ยังวุ่นวานอยู่ด้วยโลภ  โกรธ  หลง   ริษยา   พยาบาท   ใส่ร้ายเสียดสีกันอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน   เมื่อเป็นเช่นนี้   ในโลกกว้างขวางซึ่งมนุษย์อยู่เป็นอันมากจะเป็นเช่นไร    ในหมู่สัตว์ดิรัจฉาน  อีกเล่า   มีการเบียดเบียนล้างผลาญกันเพียงไร



โลกเร้าร้อนอยู่เสมอ    เร้าร้อนด้วยเพลิงคือกิเลสบ้าง  เพลิงคือทุกข์บ้าง เพลิงกิเลสคือ  ราคะบ้าง   โทสะบ้าง   โมหะบ้าง    หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  โลภ  โกรธ หลง  นั่นเอง   ซึ่งเป็นอกุศลมูลเป็นรากเหง้าของอกุศลซึ่งจะมีผลเป็นทุกข์ต่อไปส่วนเพลิงทุกข์นั้นหมายเอา  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย   อันเป็นของทั่วไปแก่สัตว์โลกทั้งหลาย  แม้มนุษย์จะก้าวหน้า   ไปในทางวิชาการด้านต่าง ๆ  มากมายแล้ว  แต่มนุษย์ก็ยังเอาชนะความแก่   ความเจ็บ    และความตายไม่ได้



งานค้นคว้าทางประเทศสวีเดน  เปิดเผยว่า  “นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบโดยบังเอิญซึ่งสารชนิดหนึ่งซึ่งสามารถหยุดยั้งความแก่   หรือทำคนแก่เช่นหนังเหี่ยวย่นให้กลับเต่งตึงอย่างหนุ่มสาวได้   แต่ยังไม่กล้ายืนยันหรือเปิดเผยออกมาอย่างแน่นอน  เพราะยังไม่มั่นใจนัก”   ข้อความเป็นทำนองนี้  อาจไม่ตรงทุกตัวอักษร  คอยดูกันต่อไปว่า   มนุษย์จะสามารถเอาชนะความแก่ได้หรือไม่ถ้าสมมุติว่าสามารถเอาชนะได้จะมีปัญหาอะไรตามมาอีก   เพราะคนไม่รู้จักแก่



แต่พระอริยเจ้าทั้งสามารถเอาชนะความแก่   เจ็บ  ตาย   ได้แล้ว

โดยการที่ไม่ต้องเกิดมา   พ้นจากสังสารวัฏ  คือ  การเวียนว่ายตายเกิด



-->> เพลิงโทสะและพยาบาท  รวมทั้งความโลภ   ความหลงนั้นได้ชักจูงมนุษย์ให้ประหัตประหารห้ำหั่นกันมาตลอด  ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติโลกไม่เคยว่างเว้นจากกิจกรรมอันทารุณโหดร้ายเหล่านี้เลย



นักฆ่ามนุษย์ในประวัติศาสตร์มีอยู่เป็นจำนวนมากเขาอาจอยู่ในรูปของนักการเมือง  นักปกครอง  เขาปกครองคนเป็นจำนวน   ๑๐ ล้าน  ๑๐๐  ล้านแต่ใจของเขาเองถูกปกครองโดยโทสะ   พยาบาท   และความหลงผิด   จึงสามารถฆ่ามนุษย์ด้วยตนเองบ้าง  ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าบ้าง   นำกันไปเป็นพวก ๆ  แล้วฆ่ากันบ้าง



กรณีของนักฆ่ามนุษย์ในประวัติศาสตร์   ยกตัวอย่าง  เช่น คือประธานาธิบดี  อีดี อามิน   แห่งประเทศอูกันดา  ตลอดเวลา  ๙  ปี  (๒๕๑๖-๒๕๒๒)  ที่เขาครองอำนาจอยู่นั้นประมาณกันว่า    อามินฆ่าคนเสียถึงประมาณ  ๓๐๐,๐๐๐   (สามแสน)  คน  ชาวอูกันดาอยู่กันอย่างประหวั่นพรั่นพรึงเป็นยุคทมิฬของอูกันดาอย่างแท้จริง   เมื่อมีคนถูกฆ่ามากถึงเพียงนี้ลองคิดดูเถิดว่าประชาชนจะเดือดร้อนปานใด   เพราะทุกคนมีญาติ  มีพ่อแม่  พี่น้องและลูกเมียเขาเหล่านั้นมีจำนวนเท่าใดที่จะต้องพลอยเดือดร้อนกับผู้ที่ถูกฆ่า



ถ้านักฆ่ามนุษย์เหล่านี้คิดฆ่าความโกรธ   เกลียดพยาบาท   และความโลภ  ความหลงของตนให้น้อยลงแล้วตนเองจะสงบสุข   ผู้อื่นก็จะสงบสุขด้วยสักเพียงใด   พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงสรรเสริญการฆ่าความโกรธ   ซึ่งมี  รากเป็นพิษ  มียอดหวาน



ที่ว่า   มีรากเป็นพิษ  มียอดหวาน    นั้น  อธิบายว่าความโกรธมีรากมาจากความหลง(โมหะ)  ความไม่พอใจ(อรติ)  ความหงุดหงิดรำคาญ   (ปฏิฆะ)  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพิษแก่จิตใจทั้งสิ้น  แม้ตัวความโกรธเองก็เป็นพิษแก่ร่างกาย  และจิตใจของผู้โกรธอย่างมาก   ทำให้โรคหัวใจกำเริบ  ทำให้ประสาทตึงเครียด  กระเพาะและลำไส้ผิดปกติ  จิตใจเร่าร้อน    กระวนกระวาย   อยากทำลายข้าวของทำร้ายคน   เมื่อได้ทำลายหรือทำร้ายแล้ว    ความโกรธจะสงบลง  เพราะได้ระบายความร้อนภายในออกแล้วสบายใจขึ้นเหมือนน้ำเดือดที่มีทางระบาย   อาการ  อย่างนี้แหละเรียกว่ามียอดหวาน(มธุรัคคะ)   แต่ในที่สุดก็นำไปสู่ทุกข์อีก  และเป็นทุกข์ที่ยิ่งใหญ่เหมือนคนดื่มน้ำหวานที่ผสมยาพิษ  ทีแรกหวานแต่พอยาพิษออกฤทธิ์เท่านั้น  ก็ได้เห็นโทษของยาพิษว่ามีอย่างไร   ต้องเศร้าโศกเสียใจไปตลอดชีวิตก็มี  การทำอะไรลงไปเพราะความโกรธนั้นเป็นการทำลายตนเองทำลายผู้อื่น  มีความทุกข์  ความโศกเป็นผล    เพราะฉะนั้น   พระพุทธองค์จึงตรัสว่า  บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศก

.............................................

 

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ http://khunsamatha.com/

พุดคุยสนทนาธรรมในประเด็นต่างๆ กันได้ที่ห้องสนทนา  http://forums.212cafe.com/samatha/

หมายเลขบันทึก: 215988เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

--->> อุบายสำหรับลดละความโกรธกล่าวโดยย่อดังนี้

๑. พิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธทั้งที่มีต่อตนเองและผู้อื่น เช่น ความโกรธทำลายคุณธรรมต่าง ๆ ที่เคยสั่งสมอบรมมาเป็นต้น

๒.พิจารณาให้เห็นคุณของขันติ (ความอดทน) และเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นและสัตว์อื่น และคุณของการให้อภัยว่าเป็นคุณที่ยิ่งใหญ่ ผู้มีคุณธรรมเช่นนี้ ย่อมบรรลุถึงความยิ่งใหญ่ (มหัตตา) ผู้ยิ่งใหญ่อันเป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งหลาย ได้อาศัยคุณธรรมเช่นนี้มาแล้ว

๓. เมื่อความโกรธเกิดขึ้น จงรีบใช้ขันติและเมตตา ใช้ขันติอดกลั้นไว้ก่อนแล้วใช้น้ำคือเมตตารดบ่อย ๆ รดที่ใจ ซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยความโกรธ ใจจะเย็นลง

๔. มองแง่ดีของเขาบ่อย ๆ ระลึกถึงความดีของเขาเสมอ ๆ เพราะคนเราย่อมมีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี หรืออย่างน้อยก็มีทั้งส่วนที่เราพอใจและไม่พอใจ กล่าวคือส่วนใดที่เราพอใจเราก็ว่าดี ส่วนที่เราไม่พอใจ เราก็ว่าไม่ดี ที่จริงเขาอาจดีก็ได้คนอื่นอาจพอใจส่วนที่เราไม่พอใจก็ได้ มนุษย์เรามักตัดสินโลกตามความพอใจหรือไม่พอใจของตน ถ้าเรามองคนในแง่ดีไว้บ้าง ก็จะช่วยป้องกันความโกรธที่ยังไม่เกิดและช่วยระงับความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว

๕. พิจารณาตนเอง ติเตียนตนเองเสียบ้างที่เป็นคนขี้โกรธ อะไรนิด อะไรหน่อยก็โกรธ ไม่รู้จักละอายตนเอง เปรียบเหมือนคนขี้โรค มัวโทษนั่นโทษนี่มองแต่สิ่งอื่น ไม่หันมามองสุขภาพที่ทรุดโทรม ร่างกายที่อ่อนแอของตน เพื่อปรับปรุงตนเองให้ดีแล้ว อะไร ๆ อาจจะดีขึ้นเกินคาดก็ได้ พระพุทธองค์ทรงสอนว่า

“จงเตือนตนเอง พิจารณาตนเอง

เขาผู้มีสติคุ้มครองตนได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข”

๖. พิจารณาถึงกฎแห่งกรรมอยู่เนือง ๆ ว่าเราและสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน ผู้ทำกรรมอย่างใด ย่อมได้รับผลกรรมอย่างนั้น เมื่อเขาทำชั่วผลชั่วย่อมตกถึงเขาเอง เราจะไปจัดการแทนกฎแห่งกรรมได้อย่างไร เราไม่มีหน้าที่เช่นนั้น แล้ววางเฉยเสีย ปล่อยให้กฎแห่งกรรมหรือคนที่เขามีหน้าที่จัดการกันไป ถ้าพอช่วยได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็แล้วไป รู้จักปล่อยวางอารมณ์ปล่อยวางเหตุการณ์ อย่าแบกโลกหรือถือเป็นธุระของเราเสียหมด

๗. ระลึกถึงพระจริยาของพระพุทธเจ้าบ่อย ๆ ที่ทรงเสียสละ ไม่ทรงโกรธผู้คิดร้าย ทำร้ายพระองค์ แต่ทรงใช้พระขันติพระเมตตาอยู่เนืองนิตย์ เราเล่าเป็นอะไรนักหนาจึงจะมีใครล่วงเกินไม่ได้

๘. ขอให้คิดว่าผู้ที่โกรธเรานั้น เขามีความทุกข์เพราะไฟคือความโกรธเผาลนมากอยู่แล้ว อย่าต้องไปโกรธตอบซ้ำเติมเขาอีกเลย

๙. คิดว่า คนเราดีกันไว้ เกื้อกูลกันไว้ ดีกว่าเกลียดกัน โกรธกัน เราอาจจะเกื้อกูลกันมาหลายชาติแล้วก็ได้ บางชาติอาจเป็นศัตรูกัน บางชาติเป็นมิตรกัน เช่นเรื่องภิกษุรูปหนึ่งได้อุบาสิกาคนหนึ่งอุปการะ ท่านบำเพ็ญสมณธรรมจนได้บรรลุอรหัตตผล ทั้งสองท่านระลึกชาติได้ จำได้ว่าชาติหนึ่งอุบาสิกาเคยช่วยชีวิตท่านไว้ อีกชาติหนึ่งเป็นภรรยาของท่านและฆ่าท่านตายเป็นมารดาและบุตรกันก็เคย

แม้ในชาติเดียวกันนี้บ้างช่วงชีวิตเราก็เป็นมิตรกันรักใคร่กัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน บางรายถึงกับรู้สึกว่าจะจากกันไม่ได้ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องล้มตายไปเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร แต่พออีกช่วงหนึ่งของชีวิตกลายเป็นศัตรูกันจนมองหน้ากันไม่ได้ ถึงกับทำลายชีวิตกันก็มี เมื่อยังไม่บรรลุธรรม สังสารวัฏนี้ช่างสับสนปนเปเหมือนกองหญ้าแห้งที่สุมกันอยู่เป็นภูเขา ต้นและปลายสับสนปนเปกันจนยากที่จะสางหรือจัดระเบียบได้ โปรดจำไว้ว่าดีกันไว้เกื้อกูลกันไว้ดีกว่าเป็นศัตรูกัน

๑๐. คิดไว้เสมอ ๆ ว่า คนเราทุกคนก็สักแต่ว่าเป็นธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง ) และวิญญาณ ประกอบกันหาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ เราโกรธใคร โกรธอะไร ถ้าโกรธคือโกรธ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณซึ่งหาตัวตนไม่ได้นั่นเอง

เมื่อหมั่นพิจารณาบ่อย ๆ ซึ่งโทษของความโกรธและคุณของเมตตาเป็นต้นอยู่เช่นนี้ ความโกรธย่อมจะระงับลงไป ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ผู้ฆ่าความโกรธที่เกิดขึ้นได้เสมอ ๆ เมื่อนานเข้าก็จะเกิดความเคยชินในทางนั้นความโกรธไม่อาจครอบงำได้เป็นผู้ชนะความโกรธ ย่อมอยู่เป็นสุขในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เป็นที่สรรเสริญของพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นที่เคารพนับถือและวางใจสนิทของผู้เขาใกล้คบหาสมาคมในฐานะเป็นผู้ไม่มีภัย ไม่มีเวร มีชีวิตเกษมสุข เป็นบัณฑิตสมพระพุทธภาษิตที่ว่า “เขมี อเวรี อภโย ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ ” แปลว่า “ผู้เกษมสุข ไม่มีเวร ไม่มีภัย อันนักปราชญ์เรียกท่านผู้เช่นนั้นว่าเป็นบัณฑิต”

ส่วนผู้มักโกรธและมีพิษร้ายจากความโกรธ พิษนั้นทำลายตนเองก่อนพ่นไปที่ผู้ใดก็ทำลายผู้นั้นด้วยเหมือน

อสรพิษซึ่งมีพิษร้าย เป็นที่ระแวงอันตรายของผู้เข้าใกล้พบเห็นและรู้เรื่อง ไม่เป็นที่วางใจสนิทของผู้คบหาสมาคมหวั่นใจอยู่เสมอว่า ไม่รู้เขาจะพ่นพิษร้ายออกมาเมื่อไรอีก ความหวั่นใจระแวงเช่นนี้ ทำให้ไม่สนิทใจในความรัก ไม่ไว้วางใจในความคุ้นเคย

ภรรยาผู้มักพ่นพิษใส่สามีเสมอนั้นย่อมเป็นที่เอือมระอาของสามี, สามีผู้มีพิษร้ายคือความโกรธ ก็เช่นเดียวกัน ย่อมเป็นที่เบื่อหน่ายของภรรยา คู่อื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้ เช่น...

นายจ้างกับลูกจ้างเป็นต้น นายจ้างคนหนึ่ง ความโกรธของเขาได้ทำลายชีวิตเขา วันหนึ่งเขาโกรธลูกจ้างที่ชงกาแฟไม่ถูกใจและมีเรื่องโต้แย้งกันขึ้น เขาวิ่งไปเอาปืนมายิงลูกจ้าง แต่ล้มลงขาดใจตายเสียก่อนขณะปืนยังอยู่ในมือนั่นเอง แพทย์ลงความเห็นว่าเขาตายเพราะความโกรธ เขาโกรธจนหัวใจหยุดทำงานลงทันทีทันใด ความโกรธแค้นจึงเป็นไฟที่เผาตนเองและเผาผู้อื่นด้วยก่อความเดือดร้อนแก่ลูกหลานบริวารอยู่เนือง ๆ

ผู้หญิงรักความสวยงาม สาละวนแต่การแต่งหน้าแต่งตัวสรรหาเสื้อผ้าแพรพรรณอันเลอเลิศ ราคาแพงลิ่ว แต่ใบหน้าของหล่อนบูดบึ้ง ขึ้งเครียดในใจมีแต่อารมณ์ร้าย โกรธคนนั้นเกลียดคนนี้ ริษยาคนโน้น หมักหมมอยู่ด้วยอารมณ์เน่านานาประการ เปล่งวาจาแต่เรื่องนินทาว่าร้าย เสียดสี ไม่เว้นวัน ริมฝีปากซึ่งบรรจงแต่งเสียอย่างประณีตนั้น จะมีประโยชน์อะไร ถ้าวาจาที่เปล่ง ออกจากริมฝีปากเช่นนั้นมีแต่เรื่องสกปรกนานาประการ

ทำไมเธอจึงไม่หัดแต่งใบหน้าให้สวยเก๋ดูงามซึ้งโดยการแต่งอารมณ์และจิตใจให้ประณีต หรือให้มีความงามทางจิตใจด้วย ให้ใจงามด้วยคุณธรรมต่าง ๆ การแต่งหน้าและเสื้อผ้าแพรพรรณถือเป็นเพียงสิ่งเสริม ไม่ใช่สิ่งหลักที่จะต้องเอาใจใส่มากนัก

อารมณ์ของคนเป็นเครื่องแต่งใบหน้าและกิริยาวาจาของคนให้น่ารักหรือน่าเกลียดได้มากกว่าสิ่งภายนอก เมื่อท่านพูดด้วยความรัก วาจาของท่านจะต่างกับเมื่อพูดด้วยความเกลียดหรือโกรธสักเพียงใด ท่านเองก็เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้มาแล้ว ท่านต้องฝึกหัดและเปลี่ยนแนวจิตเสียใหม่คือ พอนึกเกลียดหรือไม่ชอบผู้ใด จงรีบแผ่เมตตาให้ผู้นั้นทันที และแผ่เมตตาแก่ตัวท่านเองด้วย เพื่อไม่ให้ท่านตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ร้ายหรือความโกรธแค้นจริงอยู่วิธีนี้อาจผิดลำดับในการแผ่เมตตาอยู่บ้าง แต่จำเป็นทำเพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เป็นกรณีฉุกเฉินย่อมทำอะไรข้ามลำดับได้บ้าง เหมือนหมอลัดคิวให้คนไข้ที่ร่อแร่จวนจะตาย

ก่อนนอนและตื่นเช้าทุกวัน ขอให้ทำจิตให้ผ่องใส ด้วยการแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั่วหน้าว่า ขอผู้มีทุกข์ จงพ้นทุกข์ ผู้มีโศกจงพ้นโศก ผู้มีโรคจงพ้นโรค และผู้มีภัยจงพ้นภัย หลังจากนั้นขอให้สำรวมจิตในกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง เสร็จแล้วตั้งใจให้อภัยต่อทุกสิ่งทุกอย่าง-อย่างน้อยก็เพื่อความสุขสำราญของเราเองไปตลอดวัน ขอให้ทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจเพื่อลืมความขุ่นเคืองโกรธแค้นใด ๆ ที่มีอยู่ จิตของเรารับอารมณ์ได้ขณะละอย่าง เมื่อเราผูกจิตไว้กับอารมณ์ดีแล้ว อารมณ์ร้ายย่อมไม่ได้โอกาส การงานที่เราทำทั้งวันจะช่วยให้เราเพลิดเพลินลืมความขุ่นเคือง โกรธแค้นและอารมณ์เศร้าหมองต่าง ๆ ถ้าทำได้อย่างนี้ เชื่อว่าเราได้รับพรแห่งชีวิตตลอดวันและทุกวัน การขอพรและการให้พรนั้นดีอยู่ดอก แต่สู้การกระทำอันก่อให้เกิดพรไม่ได้ ท่านผู้รู้จึงว่าทำดีดีกว่าขอพร

ขอให้มีอุดมคติเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จไปแต่ละวัน แต่ละเดือนแต่ละปี จนไม่มีเวลาพอที่จะเสียไปกับความคิดอันเหลวไหลไร้สาระ เช่นความโกรธแค้น ขุ่นเคือง ความริษยา ความวิตกหมกมุ่นอันปรุงแต่งขึ้นเพื่อให้เป็นทุกข์เปล่า ๆ คำว่า “ช่างเถอะ” จะช่วยให้อารมณ์ของเราแจ่มใสขึ้น จิตใจปลอดโปร่ง ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใดมากเกินไป ความผิดพลาดบกพร่องเป็นสิ่งต้องมีในการทำงาน เราคิดและพูดว่า ช่างเถอะ แล้วทำใหม่ ที่พลาดไปเป็นบทเรียน

ขอให้ทุกท่าน มีความสุข ความเบิกบานใจ พ้นภัยจากพิษร้ายแห่งความโกรธแค้น ชิงชัง มนุษย์และสัตว์ทั้งมวลเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ทุกข์ที่มีอยู่โดยสภาพแห่งสังขารก็มีอยู่มากแล้ว อย่าต้องไปเพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นด้วยการเติมความโกรธแค้นชิงชังลงไปอีกเลย

พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญการฆ่าความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน ดังนี้แล...

**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง : พุทธปฏิภาณ โดย วศิน อินทสระ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท