ผู้ไม่ได้อบรมกาย..ศีล..จิต..ปัญญาให้ดี แล้วไปสนทนากันเรื่องอภิธัมมกถา เวทัลลกถา ก็จะพลัดไปสู่ธรรมดำโดยไม่รู้ตัว


ผู้ไม่ได้อบรมกาย..ศีล..จิต..ปัญญาให้ดี แล้วไปสนทนากันเรื่องอภิธัมมกถา เวทัลลกถา ก็จะพลัดไปสู่ธรรมดำโดยไม่รู้ตัว

ข้อมูลที่ใช้เรียบเรียง  :  "สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง"  โดย  วศิน  อินทสระ

ในพระไตรปิฎกบาลีเล่ม  ๒๒  หน้า  ๑๒๒  ข้อ  ๗๙  ว่า  ผู้ไม่ได้อบรมกาย  ไม่ได้อบรมศีล  ไม่ได้อบรมจิต  ไม่ได้อบรมปัญญาให้ดีแล้ว  ไปสนทนากันเรื่องอภิธัมมกถา  เวทัลลกถา  ก็จะพลัดตกลงไปสู่ธรรมดำโดยไม่รู้ตัว    อันนี้ดูภัยในอนาคต ๕  ประการของพระภิกษุ  ข้อนี้อยู่ในข้อ ๓  ของพระไตรปิฎกเล่ม ๒๒  หน้า ๑๒๒  ข้อ ๗๙  ท่านที่มีพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยก็ดูข้อ  ๗๙  โยธาชีวรรค  


ถ้าเผื่อไม่ได้อบรมกาย  ไม่ได้อบรมศีล  ไม่ได้อบรมจิต  และไม่ได้อบรมปัญญาให้ดีแล้ว  ไปสนทนาเรื่องอภิธัมมกถา  หมายความว่า  ถ้อยคำที่เกี่ยวกับปรัชญาลึกๆ จะสับสน  จะค่อยๆ ขยายความเทียบเคียงให้ดู…ดังนี้


เวทัลลกถา
   คือถ้อยคำที่เขาคุยกันในเรื่องธรรมลึกๆ เหมือนกัน  เคยเห็นอยู่  ๒  สูตร  เวทัลละเกี่ยวกับพระสารีบุตรคุยกับพระมหาโกฏฐิตะ  ปัญญาอย่างพระสารีบุตรคุยกับพระมหาโกฏฐิตะเวทัลลกถา  ท่านได้อบรมกาย  อบรมศีล  อบรมจิต  อบรมปัญญาดีแล้ว  ไม่เป็นไร  แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนี้  แล้วไปคุยกันเรื่องอย่างนี้  จะตกไปสู่ธรรมดำ  คือเป็นมิจฉาทิฏฐิโดยไม่รู้ตัว


-->>  เคยมีบุคคล  ๒  คน เป็นสามีภรรยากัน  ทีแรกก็ไปทำบุญให้ทานอยู่ที่วัดหนึ่ง  ต่อมาสามีไปฟังธรรมที่วัดหนึ่ง  ฟังธรรมลึก ๆ ไม่มีตัวไม่มีตน    ฟังไป ๆ ต่อมาก็ไม่ทำบุญสุนทาน  ไม่ทำแล้ว  ภรรยายังทำบุญอยู่  ยังรักษาศีลอยู่  ยังให้ทานอยู่  แต่สามีไม่ทำแล้ว  บอกว่าเรื่องตื้นๆ ไม่ทำแล้ว  อันนี้ก็เรียกว่าพลัดตกไปสู่มิจฉาทิฏฐิโดยไม่รู้ตัว

คราวนี้  ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ดู    ในปรัชญามาธยามิก  ของท่านนาคารชุนที่ว่าด้วยสุญญตา  ท่านบอกว่าผู้ที่มาสนใจในเรื่องสุญญตานี้  จะต้องมีศีลและสมาธิดีแล้วจึงจะมาสนใจในสุญญตา  ถ้ายังไม่มีศีลและไม่มีสมาธิอย่างดีแล้ว  ก็จะพลัดไปในมิจฉาทิฏฐิ  ตกไปในมิจฉาทิฏฐิ  เพราะว่าไม่มีพื้นฐาน  อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว  


-->>  เมื่อเราขึ้นต้นไม้เราต้องขึ้นทางโคนไม่ใช่ขึ้นทางปลาย  การไปสนใจธรรมะที่ละเอียดและกว้างขวางลึก  โดยที่ไม่มีพื้นฐานของจริยธรรมคุณธรรม มันทำให้เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ง่ายๆ อันนี้น่ากลัวอยู่  คือละเลยจริยธรรมหมด  ไปมุ่งเอาปรมัตถธรรม  โดยไม่สนใจในเรื่องจริยธรรม   เพราะพุทธธรรมของพระพุทธเจ้าต้องอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม  มีทั้งสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ  จึงจะเข้าใจและปฏิบัติถูกต้องในพุทธธรรมหรือธรรมของพุทธศาสนา  ว่าการใดที่ควรประพฤติในจริยธรรมหรือสมมติสัจจะ  เมื่อใดควรจะประพฤติปรมัตถธรรมหรือปรมัตถสัจจะ


ในพระสุตตันตปิฎกมีเนื้อธรรมที่ลึกซึ้งเยอะแยะไปหมดเลย  ลองอ่านดูซี...  และเหมาะกับการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อยู่มากมาย  ท่านลองอ่านดูจะเห็นเนื้อธรรม  ก็เห็นเนื้อธรรมอันเดียวกันกับอภิธรรม  อภิธรรมสอนเรื่อง  จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน  สอนเรื่องขันธ์ ๕  เรื่องอายตนะ  เรื่องกรรมฐาน  เรื่องจิต  เรื่องเจตสิก  เรื่องวิถีจิต  เรื่องวิถีมุตตกสังคหะ  มีรูปปัจจัย  กรรมฐานต่างๆ เหล่านี้  ซึ่งก็มีอยู่ในพระสุตตันตปิฎกเป็นเนื้อธรรมเดียวกัน  แต่พระสุตตันตปิฎกอธิบายน้อย  ใช้ภาษาชาวบ้านในภาษาธรรมดา ๆ  ทว่าอภิธรรมใช้ภาษายาก  


แม้จะเป็นเนื้อหาเดียวกัน  เหมือนผมพูดภาษาธรรมดา  คนธรรมดาก็เข้าใจ แต่ถ้าพูดภาษาทางปรัชญาก็ต้องคิดกันหน่อย  มันเป็นอาหารสมองของคนที่จะใช้สมอง  อย่างผมบอกว่ารถกำลังเคลื่อนที่ไป  อย่างนี้ใครก็เข้าใจ  ใครฟังก็รู้เรื่อง  ใครฟังก็เข้าใจว่ารถกำลังเคลื่อนที่ไป  ถ้าพูดภาษาทางปรัชญาบางส่วน  เขาจะบอกว่า การเคลื่อนไหวไม่มี...  Motion  ไม่มี...  มีแต่การหยุดอยู่ที่เปลี่ยนเทศะ...  


-->>  เป็นอย่างไรบ้างครับ  ฟังรู้เรื่องไหม  การเคลื่อนไหวไม่มี  มีแต่การหยุดอยู่ที่เปลี่ยนเทศะ  เปลี่ยน  Space  เท่านั้น    อย่างนี้เป็นภาษาปรัชญาซึ่งมีความหมายเดียวกัน  ว่ารถกำลังเคลื่อนที่ไปอยู่  แต่พอพูดภาษาทางปรัชญาเข้า  มันก็เข้าใจยาก  แต่ว่ามันเป็นอาหารสมอง  ทำให้คนได้คิด  พูดกันไปแล้วสนุก ยิ่งตรรกศาสตร์พุทธ  (Buddhist  Logic)  นี่ยิ่งสนุกกันใหญ่เลย  ใช้ภาษาที่สนุกกันใหญ่  มันเป็นอาหารสมอง  ความหมายเนื้อหาไม่ได้ยากอะไรหรอก  แต่ภาษามันยากเท่านั้น


สมมติว่ามีหนังสืออยู่  ๒  เล่ม  เล่มหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ  อีกเล่มเป็นภาษาไทย  เนื้อหาเดียวกัน  ท่านลองนึกดูคนที่รู้ภาษาอังกฤษน้อยเขาจะรู้สึกว่าเล่มที่เป็นภาษาอังกฤษมันยากแค่ไหน  แต่ถ้าเป็นภาษาไทยเขาอ่านปราดเดียวก็รู้เรื่อง  แต่มันไปยากตรงภาษาเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 215990เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมขอเลื่อนต่อไปที่ อภิธรรม ๗ คัมภีร์ ในพระไตรปิฎกนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ทีแรกมี ๖ คัมภีร์ เมื่อสังคายนาครั้งที่ ๓ เพิ่มกถาวัตถุเป็นคำถามคำตอบหลายร้อยข้อ เพื่อต้องการกำจัดลัทธิมิจฉาทิฏฐิ อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

-->> ขอย้ำตรงที่คนชอบพูดว่า “ไม่เรียนอภิธรรมแล้วไม่สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแม้จะปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้” อันที่จริงก็ไม่ควรจะพูดอย่างนั้น ลองดูในวิมุตตายตนสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า บ่อเกิดแห่งความหลุดพ้นมีอะไรบ้าง เช่น...

๑. ฟังธรรมก็หลุดพ้นได้ ก็มีเยอะคนที่ฟังธรรมแล้วหลุดพ้น อย่างพระยสะฟังอนุปุพพิกถา ฟังอริยสัจต่อก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

๒. บางท่านแสดงธรรมอยู่ก็บรรลุได้ บรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้อย่างพระนาคเสนในประวัติว่า แสดงธรรมไปๆ ตัวเองก็ได้บรรลุธรรม อุบาสิกาผู้ฟังธรรมก็ได้บรรลุธรรม

๓. สาธยายธรรม คือได้ยินได้ฟังธรรมมาแล้วก็นำมาสาธยาย... สาธยายคือสวด ท่อง ทบทวน สมมติว่าเราสวดธัมมจัก ฯ หมายความว่า เราสวดแล้วต้องเข้าใจความด้วย ก็บรรลุธรรมได้

๔. ใคร่ครวญธรรม ก็บรรลุธรรมได้

๕. เจริญสมถวิปัสสนา เป็นข้อสุดท้ายในวิมุตตายตนสูตร คือบ่อเกิดของความหลุดพ้น

-->> อันนี้เป็นข้อความจาก อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ หน้า ๒๒ ข้อ ๒๖ ลองตรวจดูได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้อย่างไร ทรงแสดงว่าบุคคลสามารถจะบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องรู้อภิธรรมได้ แต่ใครที่รู้ก็ไม่ว่าอะไร

นอกจากนี้ยังมีธรรมอีก ๔ ประการ ที่จะบ่มวิมุติให้แก่กล้า เช่นว่า

๑. เป็นผู้มีศีล

๒. เป็นพหูสูต

๓. วิริยารัมภะ เป็นคนมีความเพียรสม่ำเสมอ

๔. มีปัญญา

-->> ธรรม ๔ ประการนี้บ่มวิมุติให้แก่กล้า และเธอนั้นประกอบด้วยธรรมมีวิมุติเป็นที่ ๕ อยู่ที่ใดจิตก็จะหลุดพ้นในที่นั้น ท่านจะเห็นว่ามีทางเยอะแยะที่จะบรรลุธรรมได้ เหมือนกับสระใหญ่ที่มีทางลงโดยรอบ สพฺพโตปพฺพํ ใครจะลงทางไหนก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละคนลองดูในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ เหมือนกัน หน้า ๑๖๙ ข้อ ๑๓๔

-->> แล้วก็ยังมีธรรมเครื่องชูกำลังใจให้ปรารถนาความสิ้นอาสวะ มีแล้วทำให้มีกำลังใจในการที่จะให้ปรารถนาความสิ้นอาสวะ เช่น มีศรัทธา มีอาพาธน้อย เป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนซื่อตรง มีความเพียรสม่ำเสมอ และมีปัญญา...

ในสมัยพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องธรรมกับวินัย ไม่มีคำว่าอภิธรรมหรืออภิวินัย ถ้าจะมีบ้างก็หมายถึงคำอธิบายวินัย อภิธรรมหมายถึงคำอธิบายพระธรรม อย่างในพระไตรปิฎก อย่างวินัยปิฎก

ถ้าท่านอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นว่าแม้แต่ในพระไตรปิฎกก็มีคำอธิบายพระวินัยอยู่ในนั้น ลองไปเปิดดู ลองไปอ่านดูจะพบคำอธิบายพระวินัย

ยกตัวอย่างเช่นว่า ภิกษุใดที่มีสิกขาและสาชีพประกอบด้วยสิกขาและสาชีพเสมอกันด้วยภิกษุทั้งหลาย และยังไม่ได้บอกคืนสิกขา ยังไม่ทำความทุรพลให้ชัดเจน เสพเมถุน หมายถึงเสพกาม ร่วมเพศ แม้โดยที่สุดกับสัตว์เดรัจฉานเป็นอาบัติปาราชิก ตัวบทมันก็มีอย่างนี้ ตอนนั้นในพระวินัยปิฎกนั้นเองที่จะมีคำอธิบาย

ยกตัวอย่าง เช่น สิกขาและสาชีพนั้นคืออะไร สิกขาท่านอธิบายเป็นไตรสิกขา อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ถามต่อไปว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นั้นคืออะไร ก็หมายถึงสิกขาในองค์มรรค ท่านอธิบายไว้ในพระวินัยปิฎกนั่นเอง

อย่างในวินัยปิฎกเล่ม ๑ หน้า ๔๒ ก็จะมีคำอธิบายอันนี้ คำว่า สาชีพนั้นคืออะไร พอได้ยินคำว่าสาชีพ ความคิดของคนก็จะไปในทางว่ามีอาชีพ เหมือนกับ สะ + อาชีวะ = คนมีอาชีพเสมอกัน แต่ในคำอธิบายในวินัยปิฎกไม่ได้หมายความอย่างนั้น ...ท่านอธิบายไว้ว่าสิกขาบททั้งหมดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ทั้งหมด เรียกว่าสาชีพ สาชีวะ สาชีวํ นาม หมายความว่าสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ทั้งหมด เรียกว่า สาชีพ

แม้ในพระไตรปิฎกเองไม่ใช่อรรถกถาท่านมีคำอธิบายไว้ให้ นี่แหละคืออภิวินัย วินัยนั้นคือตัวบท อภิวินัยคือคำอธิบายวินัย ก็มีอยู่แม้ในพระไตรปิฎกนั่นเอง

ที่นี้ถ้าเป็นอรรถกถาก็ยิ่งไปกันใหญ่ อย่างในอรรถกถาที่ชื่อ สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ พูดถึง ปาราชิก ๔ ข้อ ท่านอธิบายเล่มใหญ่เบ้อเริ่มเลย อธิบายตั้ง ๓๕๐ กว่าหน้า นี่คือ อภิวินัย

-->> ที่นี้อภิธรรมก็อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ คำอธิบายพระธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอาไปจากพระสุตตันตปิฎก ขนไปจากพระสุตตันตปิฎกนั่นเองไปอธิบาย ในสังคายนาครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ ก็ยังไม่ปรากฏว่าแยกพระธรรมออกเป็นพระสุตตันตปิฎกหรือพระอภิธรรมปิฎก คงเรียกอยู่แต่ว่าสังคายนาพระธรรมพระวินัย ทีนี้มาแต่งกันขึ้นภายหลังจากสังคายนาคราวนั้น เมื่อจารึกเป็นตัวอักษรในสังคายนาครั้งที่ ๕ ประมาณ พ.ศ. ๔๕๒ จะได้มีครบทั้ง ๓ ปิฎก แยกกันออกไป อย่างนี้เป็นต้น

ผมพูดถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้ในวินัยปิฎกเอง ในส่วนที่เป็นบทภาชนีย์ บทแจก หมายถึงอธิบายแต่ละบท แต่ละศัพท์ และเรื่องวินีตวัตถุ คือเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากรเองเดิมที่เป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท เช่น สิกขาบทที่ ๑ เรื่องพระสุทินเป็นเรื่องเดิม พระสุทินไปเสพเมถุนด้วยภรรยาเดิมของตนด้วยการถูกขอร้อง แล้วก็จบแค่นั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัย ต่อมาก็มีเรื่องเกิดขึ้นเรื่อยๆ คนนั้นทำอย่างนั้น คนนี้ทำอย่างนี้ คนโน้นทำอย่างโน้น อะไรที่พระพุทธเจ้ายังไม่บัญญัติ เขาก็ทำอันนี้เรียกวินีตวัตถุ ก็ยิ่งมากมายก่ายกอง

…คราวนี้มาถึงปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง คือการสวดศพในสังคมไทย ในเมืองไทยใครตายลงก็เอาศพไปตั้งสวดที่วัด ทำไมจึงเรียกว่าสวดอภิธรรม ? ทำไมต้องเป็นอภิธรรม ? สวดพระสูตรไม่ได้หรือ ? สวดวินัยไม่ได้หรือ ?

-->> ตอบว่า ได้ สวดอะไรก็ได้ สวดอะไรคนฟังก็ไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว คนสวดบางส่วนก็ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นทางต่างจังหวัดไม่ได้สวดอภิธรรม แต่สวดข้อความในพระสุตตันตปิฎก เช่น สวดอาทิตตปริยายสูตร ที่ว่าด้วยอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เป็นของร้อน ทุกขัง อนัตตา สวดอนัตตลักขณสูตร ที่ว่าด้วยเรื่องอนัตตา ทีนี้จะเรียกสิ่งนี้เป็นอภิธรรมก็ได้ ก็เป็นสักแต่ว่าชื่อเท่านั้นเอง จะเรียกว่าอะไรก็ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะที่ลึกซึ้งอยู่ตลอดเวลาสำหรับคนที่ควรได้รู้สิ่งที่ลึกซึ้ง แต่ท่านไม่ทรงเรียกว่าอภิธรรม เท่านั้นเอง ไม่มีคำเรียกอย่างนั้น เหมือนกับดอกกุหลาบ ท่านจะเรียกว่าดอกอะไรก็ได้ แล้วแต่ท่านจะเรียก เพราะเนื้อธรรมก็เป็นเนื้อธรรมที่ใช้แก้ทุกข์ได้ แก้ปัญหาได้ ทำความทุกข์ให้เบาบางลดลงได้ ท่านจะเรียกมันว่าอะไรก็ตามใจ

เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมต้องสวดอภิธรรม ? เวลานี้เป็นแต่เพียงตัวหนังสือ กลายเป็นธรรมเนียมว่า คำว่าสวดศพคือตั้งศพ พระต้องสวดอภิธรรม พระท่านจะสวดอะไรก็ได้ ผมไปฟังบ่อยๆ ท่านก็ไม่ได้สวดอภิธรรม ท่านสวดโมกขุปายคาถา ท่านสวดปัพพโตปมคาถา ท่านสวดอะไรต่ออะไรซึ่งชาวบ้านก็ฟังไม่ออกว่าท่านสวดอะไร แต่เรียกชื่อว่าสวดอภิธรรม

...ธรรมนี่เรามีไว้สำหรับปฏิบัติ เนื้อธรรมที่จะนำมาปฏิบัติได้มากก็อยู่ในพระสุตตันตปิฎก เนื้อธรรมที่มีอยู่ในอภิธัมมัตถสังคหะ อภิธัมมัตถภาวินีฎีกาที่แต่งขึ้นมา ก็นำมาใช้สำหรับที่จะคุยกัน อภิปรายถกเถียงกัน ก็ถามกันไป คุยกันไป ตอบกันไป สำนักวิปัสสนาบางแห่งมีการตั้งสำนักวิปัสสนาและสอนอภิธรรมด้วย แต่บางแห่งตั้งสำนักวิปัสสนาห้ามเรียนอภิธรรมอย่างนี้ก็มี

มีข้อน่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือ อภิธรรมพูดกันว่าไม่พูดถึง สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่เนื้อธรรมล้วนๆ

แต่ถ้าท่านสำรวจอภิธรรมด้วยดีให้ทั่วให้จบ มีหลายแห่งที่พูดถึงนรก-สวรรค์ เทวดามีอายุเท่าไรๆ เหลือที่จะนับ ตัวเลขเยอะแยะไปหมด ตัวอย่างเช่นตอนที่ว่า ธัมมหทัยวิภังค์ในพระไตรปิฎกเล่ม ๓๕ เป็นอภิธรรมปิฎกมี ๑๘ วิภังค์ด้วยกัน มีธัมมหทัยวิภังค์เป็นสุดท้าย พูดเรื่องนรก-สวรรค์ พูดเรื่องเทวดามีอายุเท่าไร ชั้นไหนอายุเท่าไร มากมายก่ายกองนับไม่ไหว ตัวเลขนับไม่ถ้วน ไม่รู้เพิ่มศูนย์เข้ามากี่ร้อยตัว

-->> พระธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอะไร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมหรือชาดกก็ตาม ประโยชน์ของมันคือการนำไปใช้ประโยชน์

ประโยชน์อยู่ที่คนนำไปใช้ประโยชน์ ถ้าคนนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอะไร ไม่ว่าท่านจะพูดอะไร พูดดีสักแค่ไหน จะมีคนนิยมสักเท่าไร อย่างไร ถ้าคนเอาไปใช้ไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ในการที่จะปฏิบัติ

-->> เพราะพระธรรมที่จะมีประโยชน์ที่สุดแม้ในรูปของชาดก ก็อยู่ที่เขานำไปใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น บางอย่างมันก็นำไปใช้ประโยชน์ได้สำหรับบางคน เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่การใช้ประโยชน์

-->> ผมขอเน้นย้ำตรงนี้ และขอให้พุทธบริษัทมองศาสนาทั้งระบบ เหมือนกับมองต้นไม้ทั้งต้น เห็นช้างทั้งตัว เรารู้ว่าช้างเป็นอย่างไร แต่ถ้ารู้จักพุทธศาสนาหรือเรียนพุทธศาสนาเหมือนคนตาบอดคลำช้าง ก็จะเถียงกันตาย

ถ้าเราไม่เห็นต้นไม้ทั้งต้น มีแต่คนดึงส่วนของต้นไม้ให้ดู เอาลูกมะม่วงให้ดู แล้วบอกว่านี้คือมะม่วง อีกคนหนึ่งเอาใบมะม่วงมาให้ดู โดยเราไม่เคยเห็นต้นมะม่วงเลย บอกนี่คือมะม่วงทั้งหมด อีกคนหนึ่งก็เอาเปลือกไม้มะม่วงมาให้เราดู แล้วบอกว่านี่คือมะม่วงทั้งหมด แล้วเราซึ่งไม่เคยเห็นต้นมะม่วงทั้งต้น ก็ไปยึดมั่นในส่วนนั้นๆ ว่าเป็นมะม่วงทั้งหมด แต่ละคนทั้ง ๓ คน ๔ คน ก็ยึดมั่นในส่วนนั้นๆ ว่าเป็นมะม่วงทั้งหมด ก็เถียงกันตาย ตกลงว่าทั้ง ๓ คนไม่รู้จักต้นมะม่วงสักคนหนึ่ง

ก็เหมือนคนตาบอดคลำช้างในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าท่านเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังนั่นแหละ คนที่ไปคลำถูกขาก็ว่าช้างเหมือนเสา ไปคลำถูกหางก็คิดว่าเหมือนไม้กวาด มาเถียงกัน มาตั้งหมัดตั้งมวยกัน ก็เพราะว่าไม่เห็นช้างทั้งตัว เพราะฉะนั้นทางที่ปลอดภัยที่สุดและดีที่สุดก็คือว่า มองพุทธศาสนาให้เห็นทั้งระบบทั้งหมดเลยทีเดียว แล้วเราก็จะรู้จักพุทธศาสนาแจ่มแจ้งชัดเจนรู้จริง จะเกิดความถูกต้องขึ้น...

**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้เรียบเรียง : "สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง" โดย วศิน อินทสระ

ขอบคุญครับผมเห็นด้วย เราศึกษาธรรม จากพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียวถึงได้ประโยชน์ก็จริงแต่ถ้าเราไมรู้ความเป็นมาของพุทธศาสนาและธรรมนั้นๆ เราก็จะไม่ได้ประโยชน์อย่างสูงสุดเลยและถึงกระนั้น ถ้าเราไม่ลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธีเราก็จะไม่รู้ซึ้งถึงความสุขอย่างอิ่มเอมเบิกบานที่เรียกว่านิพพานได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท