ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ นั้น เราไม่สมารถพบได้ด้วยสติปัญญาสามัญ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ นั้น เราไม่สมารถพบได้ด้วยสติปัญญาสามัญ

ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ นั้น  เราไม่สมารถพบได้ด้วยสติปัญญา(intellect)  ดังนั้นจึงไม่สามารถอธิบายได้...


สติปัญญาที่กล่าวถึงในข้อนี้  หมายถึงสติปัญญาในระดับการหาเหตุผลตามแบบตรรกศาสตร์  หรือการอนุมาน(คาดคะเน) ไม่ใช่สติปัญญาในระดับประสบการณ์ตรงที่เรียกว่า  ภาวนามยปัญญา  


สติปัญญาในขั้นอนุมานนั้นอยู่ในพวกจินตามยปัญญา  ปัญญาที่ได้จากการติดตามหาเหตุผล  สติปัญญาในระดับนี้ไม่สามารถจะพบธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ได้  ที่เราได้พบเห็นได้รู้ลักษณะความเป็นไปของสิ่งต่างๆ นั้น  มันเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข  มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งและเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วแปรเปลี่ยนไป



มีความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์  ซึ่งไม่มีเหตุปัจจัยและพ้นจากความเปลี่ยนแปลง      ข้อนี้หมายถึงความจริงในตัวเอง  คือมันจริงอย่างนั้น  เป็นอย่างนั้น(ตถตา)  ไม่เป็นอย่างอื่น(อนัญญตา)  เช่น  ความแก่  ความตายของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วนั้นเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ปรากฏแก่เราอยู่ในประสบการณ์ของเรา  แม้จะเป็นจริงที่ตายตัวเด็ดขาดก็ตาม  แต่มันก็เป็นเพียงความจริงชั้นนอกที่ปรากฏออกมา  แต่ความจริงชั้นในและอยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์อันนี้ยังมีอีก  เป็นกฎที่เฉียบขาดว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนเด็ดเดี่ยวนั่นคือกฎหรือสภาวธรรมอันทำให้สัตว์ที่เกิดแล้วต้องแก่ต้องตาย  กฎที่ว่านั้นคืออะไร ?  คือ  ความไม่เที่ยง  ความเป็นทุกข์  และความเป็นอนัตตานั่นเอง  สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า


“ตถาคต  จะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม  ธาตุนั้นก็คง
ดำรงอยู่อย่างนั้น  คือเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง  กล่าวคือ
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์  ธรรมทั้ง
ปวงเป็นอนัตตา  ตถาคตเพียงแต่ได้ตรัสรู้  แทงทะลุปรุ
โปร่ง  เมื่อตรัสรู้แล้ว  แทงทะลุ  จึงได้บอกแสดง
บัญญัติ  เปิดเผย  จำแนก  และทำให้ง่ายเท่านั้น”


(อังคุตตรนิกาย  20/368/576)  



จะต้องมีความจริงที่เป็นโลกุตตระอยู่เบื้องหลังความจริงที่เป็นปรากฏการณ์


 
ความจริงทางศีลธรรมหรือจริยธรรมในสังคมที่สอนให้คนเว้นจากการเบียดเบียนกัน  ให้สงเคราะห์เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน  ทุกคนยอมรับว่าข้อนี้เป็นความจริงที่ดี  สังคมจึงมีจุดมุ่งหมายไปทางนี้ทั้งสิ้น  แม้จะมีวิธีการที่ต่างกันก็ตาม  อะไรคือสัจธรรมที่อยู่เบื้องหลังของจริยธรรมในสังคมข้อนี้  สัจจะอันสูงสุด ในเรื่องนี้ก็คือ  ความรู้ชัด  ความตระหนักแน่ว่า  คนทุกคนสัตว์ทุกตัว  รักสุขเกลียดทุกข์  ไม่ชอบให้ใครมาเบียดเบียนตน  ประสงค์การสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ


เราจะเห็นตัวอย่างในสังคมของพระอริยะ  ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์  จะไม่มีการเบียดเบียนกันเลย  พระโสดาบันและพระสกิทาคามีนั้น  แม้จะมีความโลภ  โกรธ  หลงอยู่  แต่กิเลสอย่างนี้ของท่านไม่รุนแรงถึงขั้นคุมไม่อยู่ถึงกับต้องเบียดเบียนผู้อื่น


อีกนัยหนึ่ง  ศีลธรรม  หรือจริยธรรมที่ดีงามนั้นจะต้องมีปรมัตถธรรมอยู่เบื้องหลัง  อธิบายได้ด้วยปรมัตถธรรม  ผู้ที่ไม่เข้าใจปรมัตถธรรมของศีลธรรมข้อนั้นๆ จะไม่สามารถเข้าใจในศีลธรรมข้อนั้นได้  และอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ด้วย  เพราะไม่เข้าใจความจริงที่อยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์  เปรียบเหมือนคนที่ไม่รู้ว่าฟ้าร้องเพราะอะไร  จึงไม่สามารถอธิบายเรื่องฟ้าร้องให้ถูกต้องได้  ทั้งๆ ที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ


มีความจริงอยู่  2  อย่างซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพุทธธรรม  อย่างหนึ่งคือ  สมมติสัจจะ  อีกอย่างหนึ่ง  คือปรมัตถสัจจะ


สมมติสัจจะคือความจริงระดับสมมติ  ที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปรู้จักและยอมรับกันอยู่  เช่น  ความเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ  ยศศักดิ์ฐานันดรต่างๆ  ฝ่ายสังฆมณฑล เช่น  สมณศักดิ์เป็นพระครู  เจ้าคุณชั้นต่างๆ ล้วนเป็นสมมติสัจจะทั้งสิ้น  เหมือนเราดูหนังละคร  เขาผูกเรื่องขึ้น  สมมติว่าคนนั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  คนนี้เป็นมเหสี  คนโน้นเป็นเสนาบดีเป็นอำมาตย์  หรือเป็นชาวนาก็ล้วนแต่สมมติขึ้นแล้วดำเนินเรื่องไป  ทำให้คนหัวเราะบ้าง  ร้องไห้เพราะเศร้าโศกไปตามเรื่องนั้นบ้าง  เกลียดคนนั้น  รักคนนี้ในเรื่องหนังเรื่องละคร  บางทีคนดูดูเพลินไปจนลืมว่าเรากำลังดูหนังดูละคร  เอาตัวเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ในเรื่องที่เขาสร้างขึ้นจึงหลงรักหลงชังตามไปด้วย


ในชีวิตจริงๆ ของคนเรา (ไม่ใช่หนังในละคร)  ก็เป็นเรื่องทำนองนั้นเหมือนกัน  ถ้าเผลอเพลิดเพลินไป  หลงติดสมมติเข้าก็ทำให้ยุ่งใจ  ยึดมั่นถือมั่นเป็นเรื่องจริงจังเกินไป  เห็นเรื่องสมมติเป็นเรื่องจริง  เช่นได้ยศแล้วหลงยศ  เป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่นที่ไม่มียศเช่นตน  ผู้ที่มียศด้วยกันก็ข่มกันด้วยยศที่สูงกว่า


มองให้ละเอียดลงไปอีก  คนสัตว์และสิ่งของในโลกนี้ก็ล้วนแต่สมมติทั้งนั้น  อย่างนี้สมมติเรียกว่าคน  อย่างนี้สมมติเรียกว่าสัตว์  อย่างนี้สมมติเรียกว่าต้นไม้  อย่างนี้โต๊ะ  อย่างนี้เก้าอี้  เมื่อแยกย่อยออกไปก็ไม่มีคน  ไม่มีสัตว์  มีแต่ขันธ์  5  ธาตุ  4  หรือธาตุ  6  ประชุมกันเข้าถูกส่วน  เหมือนเหล็กบ้าง  ไม้บ้าง  ยางบ้าง  สายไฟบ้าง  กระจกบ้าง  นำมาประกอบถูกส่วนให้แล่นไปได้ด้วยมีคนขับ  เราสมมติเรียกว่ารถยนต์  สมดังที่ท่านกล่าวว่า


“ยถา  หิ  องฺคสมฺภารา  โหติ  สทฺโท  รโถ  อิติ
เอวํ  ขนฺเธสุ  สนฺเตสุโหติ  สตฺโตติ  สมฺมติ”

เมื่อขันธ์ 5  มีอยู่  การสมมติเรียกว่า  “สัตว์”  ก็มีได้
เหมือนการนำเอาสัมภาระต่างๆ มาประกอบกันเข้าแล้ว
เรียกว่า  “รถ”  ก็มีขึ้น”




นี่คือตัวอย่างแห่งความจริงที่เป็นสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ  บุคคลผู้ต้องการศึกษาพุทธธรรมให้เขาใจลึกซึ้ง  ไม่ให้สับสน  จะต้องทำความเข้าใจในสัจจะทั้ง  2  ประการนี้ให้ดี  เมื่อเข้าใจดีแล้วจะได้ไม่นำพระธรรม  2  ระดับมาขัดแย้งกัน  มิฉะนั้นแล้วจะสับสนปนเป  และเห็นว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าขัดกันเอง  


ยกตัวอย่าง  ทรงสอนว่า  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  แต่อีกที่หนึ่งทรงสอนว่า  ตัวตนไม่มี (อนัตตา)  
ที่หนึ่งทรงสอน  ให้สงเคราะห์บุตรภรรยา   อีกที่หนึ่งทรงสอนว่า  บุตรไม่มี  ตนของตนยังไม่มี  บุตรและทรัพย์จะมีอย่างไร  ดังนี้เป็นต้น  ถ้าเราทำความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าโดยปริยายแรกทรงแสดงโดยสมมติสัจจะ  ปริยายหลังทรงแสดงโดยปรมัตถสัจจะ  แล้วความสับสนจะไม่มี  เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่รู้จักความแตกต่างระหว่างความจริง  2  อย่างนี้  ย่อมไม่สามารถเข้าใจพุทธธรรมที่ลึกซึ้งได้...

หมายเลขบันทึก: 215993เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท