ธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้า


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้า


พระสมณโคดมเคยเสด็จไปศึกษากับพระอาจารย์อาฬารดาบส  อาจารย์ผู้ได้สมาบัติถึงชั้นอากิญจัญญายตนฌาน  เป็นการกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์(อรูปฌาน  3 )   จนสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วก็ยังไม่ทรงเห็นการรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมตามที่ทรงตั้งความปรารถนาไว้  จึงทรงล่ำลาพระอาจารย์เสด็จไปศึกษาอยู่กับพระอาจารย์อุททกดาบส   อาจารย์ผู้ได้สมาบัติถึงขั้นแนวสัญญานาสัญญายตนะ  การกำหนดภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่  ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  (อรูปฌาน 4)  ได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน  ก็ยังไม่ทรงเห็นการรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม  จึงทรงล่ำลาพระอาจารย์ท่านนี้ไปอีกและไม่มีพระอาจารย์ที่เก่งกว่าพระอาจารย์ทั้งสองอีกแล้วในครั้งกระนั้นพระองค์จึงเสด็จไปบำเพ็ญทุกกรกิริยาด้วยวิธีการทรมานตนต่าง ๆ  ด้วยพระองค์  และในที่สุดก็ทรงเลิกละเสียเพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่วิธีที่จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมได้

จนในที่สุดพระสมณโคดมก็ทรงพิจารณาได้ถึงทางสายกลางการปฏิบัติเป็นกลาง ๆ  ไม่หย่อนจนเกินไปและไม่ตึงจนเกินไป (มัชฌิมาปฏิปทา)   ทรงเห็นเป็นทางแห่งปัญญา  เริ่มด้วยปัญญาดำเนินด้วยปัญญา  นำไปสู่ปัญญา  เป็นทางพอดีที่จะทำให้ถึงจุดหมายคือความดับกิเลสและความทุกข์   ได้แก่มรรคมีองค์  8  มีสัมมาทิฏฐิเริ่มต้น  สัมมาสมาธิเป็นที่สุด   พระสมณะทรงบำเพ็ญพระองค์โดยมุ่งเอาพระปัญญาเป็นหลักเพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จพุทธภาวะ  คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า

พระปัญญา  หรือปัญญาขันธ์   จึงเป็นหมวดธรรม   เป็นธรรมที่เป็นพุทธสภาวะ  เป็นธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้า  พระสมณโคดมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระพุทธเจ้าประเภท  พระปัญญาธิกะ  มีพระปัญญาเป็นอันมากนอกจากปัญญาขันธ์อันเป็นหลักแห่งความถึงพร้อมในประโยชน์ตนยังมีองค์ธรรมอีก  4  ประกอบที่ทำให้ถึงพร้อมในประโยชน์ดังกล่าว คือ  ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์   วิมุตติขันธ์   วิมุตติญาณทัสสนขันธ์  รวมเป็น  5  ธรรมขันธ์   คือ  ศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์  วิมุตติขันธ์   และ  วิมุตติญาณทัสสนขันธ์   ทรงบำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์เองเสด็จสิ้นสมบูรณ์  เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยธรรมอันเป็นธรรมขันธ์  5  ประการนั้น ธรรมขันธ์  5  จึงเป็นองค์ธรรมแห่งพระพุทธเจ้า   เป็นธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้า   นอกเหนือจากพุทธธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าดังกล่าวแล้วเบื้องแรก 

ธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้าคือศีลขันธ์   สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์  วิมุตตขันธ์  และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์  ไม่สิ้นสูญไปกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุของพระพุทธเจ้า   แม้ธรรมขันธ์ 5  แห่งพระอรหันตขีณาสพก็มิได้สิ้นสูญไปกับการนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้จากคราวที่พระสารีบุตรนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  (ดับกิเลสและเบญจขันธ์)   พระอานนท์ (ซึ่งขณะนั้นยังไม่บรรลุอรหันต์)   พร้อมด้วยสามเณรจุนทะผู้นำข่าวการนิพพานของพระสารีบุตรมาบอกพระอานนท์  พระอานนท์ได้กราบทูลแด่พระพุทธองค์ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   สามเณรจุนทะรูปนี้ได้บอกอย่างนี้ว่าท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว  นี้บาตรและจีวรของท่าน  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไปแม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์  แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เพราะได้ฟังว่าท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

“ดูก่อนอานนท์  สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์   สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์  วิมุตติขันธ์  หรือ  วิมุตติญาณทัสสนขันธ์   ปรินิพพานไปด้วยหรือ”


พระอานนท์กราบทูลว่า  “หามิได้พระเจ้าข้า”

-->> คำว่า  “ปรินิพพาน”  ดังที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวกับพระอานนท์ก็ทรงหมายถึงการดับขันธ์   มิใช่หมายถึงการตายในความหมายทางโลกดังที่พระอานนท์เข้าใจและเศร้าโศกอยู่ขณะนั้น

-->> แม้ธรรมขันธ์  5  แห่งพระอรหันต์ยังไม่สูญสิ้นไปกับการดับเบญจขันธ์ของพระอรหันต์   แล้วธรรมขันธ์  5  แห่งพระพุทธเจ้าเป็นธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้านี้เล่าจะสูญสิ้นไปเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้อย่างไร   พระพุทธองค์ดับขันธ์ในส่วนที่เป็นขันธมารหลังจากได้ทรงสั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์เป็นเวลาอันสมควรแล้วเพื่อทรงไว้ซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเต็มพระองค์   ไร้ทั้งกิเลสและขันธ์อันเป็นมารเกาะเกี่ยวอย่างสิ้นเชิง  พระพุทธองค์  (รูป)  ดับไป “องค์พระพุทธ”  ยังทรงอยู่เป็นอมตมหานิพพานมิใช่หรือ  

องค์พระพุทธทรงอยู่ในดวงธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้า  เป็นอสังขตธรรม  ธรรมที่ปัจจัยใด  ๆ  ไม่สามารถมาปรุงแต่งได้  เป็นอนัตตธรรม  อนัตตลักษณะที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับชาใคร ๆ   ทั้งสิ้น   องค์พระพุทธมิได้สูญสิ้นไป  ตรงตามพุทธวจนะที่ตรัสไว้ว่า

“ผู้ใดถึงธรรมผู้นั้นถึงเรา  ผู้ใดถึงเราผู้นั้นถึงธรรม”


องค์ธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพุทธสภาวะมีญาณสำคัญเป็นองค์กำกับคือญาณที่ได้รู้เห็นว่าได้หลุดพ้นจากสภาวะแห่งอาสวกิเลสทั้งหลายทั้งสิ้นเชิงแล้ว   คือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์   เป็นดวงธรรมแห่งปัญญาอันรู้แจ้งถึงสภาพแห่งความหลุดพ้น  อยู่เหนือสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกินกว่าที่จะพรรณนาให้ชัดเจนได้  เป็นพุทธวิสัยอันไม่ควรคิดให้ไกลเกินเหตุเพราะปุถุชนไม่อาจล่วงรู้ไปไกลได้ถึงขนาดนั้นนอกจากจะปฏิบัติให้ถึงเองได้

พิจารณาเพียงว่า  เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานทรงดับเบญจขันธ์อันเป็นขันธมารให้สูญสิ้นตามกองกิเลสซึ่งดับไปก่อนแล้วเช่นนั้นยังทรงความเป็นพระพุทธเจ้าไว้ด้วยศีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์   วิมุตติขันธ์  และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์   เช่นนี้ควรหรือที่จะกล่าวว่า  “ปรินิพพาน”  คือ  “อาการตายของพระพุทธเจ้า”


.............................................

 

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ http://khunsamatha.com/

พุดคุยสนทนาธรรมในประเด็นต่างๆ กันได้ที่ห้องสนทนา http://group.wunjun.com/khunsamatha

 

หมายเลขบันทึก: 216001เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2013 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท