พระพุทธเจ้า แม้แรกเกิด ประเสริฐสุดในโลกธาตุ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

                    แม้แรกเกิด  ประเสริฐสุดในโลกธาตุ



              “ดูก่อนพราหมณ์  เราตรวจดูด้วยจักษุคือ
สัพพัญญุตญาณ (พระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวงทั้งที่
เป็น  อดีต   ปัจจุบัน  และอนาคต)  ซึ่งไม่มีอะไรขัดขวาง
ได้ก็ไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้  ควรลุกรับ หรือ
ควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะในโลกต่างประเภทมีเทวโลกเป็น
ต้นนี้เลย   อีกอย่างหนึ่งข้อที่เราได้บรรลุความเป็น
สัพพัญญูในวันนี้ไม่เล็งเห็นบุคคลที่ควรทำการนอบน้อมถึง
ปานนั้น  ไม่น่าอัศจรรย์เลยอีกประการหนึ่ง  แม้ในกาลเมื่อ
เราเกิดได้ครู่หนึ่งเท่านั้นก็ผินหน้าไปทางทิศอุดร  เดินไป
ได้  7  ก้าวแล้วได้ตรวจดูหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น เราก็มิได้เล็ง
เห็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้   ควรลุกรับ  หรือควรเชื้อ
เชิญด้วยอาสนะในโลกต่างโดยประเภทมีเทวโลกเป็นต้นนี้
เลย




                คราวนั้นแล  ถึงท้าวมหาพรหมผู้เป็นพระ
ขีณาสพ  (ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว,  หมดกิเลสแล้ว)  ซึ่งมีอายุ
ได้หนึ่งหมื่นหกพันกัปก็ได้ประคองอัญชลีเกิดความโสมนัส
ต้อนรับเราว่า


              ท่านเป็นมหาบุรุษในโลก ท่านเป็นผู้เลิศเจริญ
ที่สุดและประเสริฐที่สุดแห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลกบุคคลผู้
เยี่ยมกว่าท่านย่อมไม่มี


                อนึ่งแม้ในกาลนั้น  เราเมื่อไม่เล็งเห็นบุคลผู้
เยี่ยมกว่าตนเองจึงได้เปล่งอาสภิวาจาว่า


             เราเป็นยอดแห่งโลก  เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่ง
โลก  เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก


              ดังนั้น  บุคคลที่ควรแก่สามีจิกรรม  (ควร
แสดงความเคารพ)  มีการกราบไหว้เป็นต้นของเราแม้แต่ผู้
เกิดได้ครู่เดียวยังไม่มีด้วยประการฉะนี้  บัดนี้เรานั้นได้
บรรลุความเป็นสัพพัญญูแล้วจะพึงกราบไหว้พึงลุกรับหรือ
พึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะเล่า


                 พราหมณ์เอย... เพราะเหตุนี้  ท่านอย่าได้
ปรารถนาความนอบน้อมเช่นนั้นจากตถาคตเลย  ตถาคต
กราบไหว้  พึงลุกรับ  หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วย
อาสนะ  แม้ศีรษะของบุคคลนั้นพึงขาดจากคอตกลงไปบน
พื้นดินโดยเร็วพลันทีเดียวดุจผลตาลแก่หง่อมหล่นจากขั้ว
เมื่อค่อนคืนฉะนั้น”


 (พระไตรปิฎกอรรถกถาแปล  มหามกุฏราชวิทยาลัย   เล่ม  1  หน้า 225-226)

 

สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ  ประทับอยู่โคนไม้สะเดาใหญ่เขตเมืองเวรัญชา  เวรัญชพราหมณ์ผู้มีอายุซึ่งเป็นใหญ่ในเขตนั้นทราบและได้ยินได้ฟังมาก่อนว่าพระพุทธเจ้า
เป็นผู้ที่ไม่กราบไหว้ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าผู้ใหญ่  ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับหรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะเลย  การที่พระองค์ไม่ทรงทำความเคารพผู้ใหญ่เช่นนั้น  พราหมณ์ผู้เฒ่ามีความเห็นว่าเป็นการไม่สมควรเลยและเมื่อได้มาพบพระพุทธเจ้าก็เป็น เช่นที่ได้ฟังมาจริง ๆ  พราหมณ์จึงได้ทูลถามเชิงตำหนิว่า



           
“จริงหรือที่ข้าพเจ้าได้ฟังและได้เห็นมาว่า
ท่านไม่กราบไหว้  ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าผู้ใหญ่
ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับหรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ
เลย  การที่พระองค์ไม่ทรงทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้
เป็นต้นนั้นไม่สมควรเลย”



พระพุทธองค์จึงตรัสตอบพราหมณ์ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นใช่ว่าพระพุทธองค์จะทรงตอบพราหมณ์ด้วยยกตนข่มท่านก็หามิได้  แต่ได้ตรัสด้วยความเป็นจริงที่ปรากฏในสัพพัญญุตญาณอย่างชัดแจ้งทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงเป็นผู้ประเสริฐยิ่งถึงเพียงนั้น   ประเสริฐที่สุดในหมื่นโลกธาตุอนันตจักรวาล  ไม่มีใครเทียบได้ ก็ลองพิจารณาภูมิหลังของพระองค์ในบางประการ


เอาเพียงแค่ตัดตอน  เริ่มตั้งแต่ในพระชาติที่ทรงดำริในพระทัย (คิดในใจ)  ว่า


“เราจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง”



-->> เพียงทรงนึกอยู่ในพระทัยเช่นนี้แต่อย่างเดียวยังมิได้ออกพระโอษฐ์พระวาจานั้นออกมาก็ใช้เวลาตั้งพระทัยอยู่นานถึง 7  อสงไขย (อสงไขยหนึ่งเป็นเวลานานมากจนนับไม่ได้  นับไม่ถ้วน)  ในระหว่างที่ตั้งพระทัยเช่นนั้นทุกพระชาติทีเวียนว่ายตายเกิดทรงสร้างสมพระบารมีตลอดมา   ซึ่งเรียกว่าสร้างสมพระบารมีตอนต้น


หลักจากทรงดำริจักเป็นพระพุทธเจ้าอยู่นานถึง  7  อสงไขยแล้วจึงทรงออกโอษฐ์ปรารถนาภูมิทรงเปล่งพระวาจาว่า


“เราจักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลให้จงได้”


-->> ทรงออกพระวาจาปรารถนาเช่นนั้นอยู่นานถึง  9 อสงไขย  ทรงสร้างสมพระบารมีทุกภพทุกชาติอยู่เรื่อยมา  เรียกว่าสร้างสมพระบารมีตอนกลาง


หลังจากออกโอษฐ์ปรารถนาอยู่  9 อสงไขย  แล้วก็พึงได้รับพยากรณ์รับคำทำนายจากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่า


“จักได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างเที่ยงแท้แน่นอน”


-->> เมื่อทรงอยู่ในฐานะพระนิยตโพธิสัตว์  (พระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน)  ก็ทรงสร้างสมพระบารมีอีกมากมายหลายภพหลายชาตินับไม่ถ้วนนานถึง  4  อสงไขยกับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป  เรียกว่าสร้างสมพระบารมีตอนปลาย


-->> รวมเวลาที่ทรงสร้างพระบารมีทั้ง  3  ตอนเป็นเวลายาวนานถึง  20  อสงไขยกับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป

 (โลกนาถทีปนี  พระธรรมธีรราชมหามุนี)

.............................................

 

อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ http://khunsamatha.com/

พุดคุยสนทนาธรรมในประเด็นต่างๆ กันได้ที่ห้องสนทนา  http://forums.212cafe.com/samatha/

หมายเลขบันทึก: 216017เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การสร้างพระบารมีคือการบำเพ็ญคุณงามความดีอย่างยิ่งยวดติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานเหลือเกิน มากมายเหลือเกิน ทรงอดทนอดกลั้นเหลือเกิน ทรงวิริยะอุตสาหะบากบั่นมั่นคงเหลือเกินสุดที่จะพรรณนานับ เช่นนั้นนี่เล่า เมื่อแรกเกิดในพระชาติสุดท้ายจึงทรงเป็นผู้ประเสริฐที่สุดทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุอนันตจักรวาล

ใช่ว่าพระองค์จะทรงเป็นผู้บอกกล่าวอ้างเองแต่อย่างเดียวเช่นว่านั้น ถ้าจะย้อนขึ้นไปดูก่อนที่พระองค์จะจุติลงมาประสูติจากสวรรค์ชั้นดุสิต พระองค์ก็ทรงได้รับความเห็นชอบจากสภาสวรรค์ที่มีเทพพรหมชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายทั่วทุกเทวโลก พรหมโลก ได้ร่วมประชุมสรรหาพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเอกฉันท์มาชั้นหนึ่งแล้ว ดังจะเห็นได้จากการประชุมสภาสวรรค์คราวนั้น

“สภาสวรรค์อันทรงยศ มีท้าวมหาพรหมองค์อาวุโสเป็นองค์ประธาน ประกอบด้วยท้าวสวัตตีผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ท้าวสุนิมมิตะแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ท้าวสันตุสิตะแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุยามะแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวสักกะแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และท้าวมหาราชทั้งสี่แห่งสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกาทั้งหลายทุกจักรวาลเป็นเทพมนตรีในที่ประชุม ทวยเทพเทวดาทั้งพรหมโลก เทวโลก เป็นองค์ประชุมเพื่อสรรหาองค์เทพผู้ถึงพร้อมด้วยพุทธสมบัติที่จะจุติเป็น

พระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

ในที่สุดที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ พิจารณาแล้วเห็นว่าพระมหาโพธิสัตว์องค์เทพซึ่งมีชื่อว่า “ท้าวสันดุสิต” ผู้สถิตในภพดุสิตแห่งจักรวาลนี้แต่พระองค์เดียวเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพุทธสมบัติดังกล่าวคือ

พระมหาโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญพระบารมี 10 ทัศครบถ้วนทุกประการ เป็นการบำเพ็ญคุณความดีอย่างยิ่งยวดมาหลายภพหลายชาติ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา มุ่งบรรลุจุดหมายอันสูงสุด มิใช่ปรารถนาสมบัติท้าวสักกะ มิใช่ปรารถนาสมบัติมาร มิใช่ปรารถนาสมบัติพรหม มิใช่ปรารถนาสมบัติจักรพรรดิ แต่พระองค์ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพื่อช่วยขนสัตว์ข้ามโอฆสงสาร”

(แดนดาวดึงส์...บัญช์ บงกช)

พระองค์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด เป็นผู้เจริญที่สุดแม้เมื่อแรกประสูติและต่อมาเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะมีผู้ใดประเสริฐเท่าพระองค์ได้เล่า เพราะความประเสริฐความเจริญสุดยอดแห่งพระพุทธเจ้ามีอานุภาพยิ่งนัก ไม่มีผู้ใดที่จะมีบุญบารมีถึงพระองค์ท่านพอที่พระองค์ท่านจะทำความเคารพกราบไหว้ได้เลย ถ้าพระองค์ท่านทรงกราบไหว้ผู้ใดแล้วผู้นั้นศีรษะจะขาดออกจากคอตกลงสู่พื้นทันทีด้วยพุทธานุภาพอันเป็นพุทธวิสัยซึ่งบุคคลไม่อาจทำความเข้าใจได้โดยง่าย

ความเป็นพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่มีมาแล้วเป็นจำนวนมากจะเกิดจากนิมิต 4 ประการ เป็นนิมิตดลใจให้ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ภาวะแห่งการ แก่ เจ็บ ตาย ของสัตวโลกและภาวะนักบวชเป็นองค์นิมิต พื้นฐานพระพุทธเจ้าล้วนแต่ตั้งความปรารถนาที่จะหาทางชนะภาวะอันไม่น่าปรารถนาทั้งสามด้วยน้อมจิตประพฤติพรหมจรรย์เป็นสำคัญ ผลที่สุดทุกพระองค์ก็ได้ทรงพบทางที่จะดำเนินไปเพื่อสู่ชัยชนะ นั้นคือเส้นทางที่หลุดพ้นไปเสียจากภาวะเช่นนั้น คือเส้นทางแห่งพระนิพพานสายเดียวไม่มีสายอื่นอีก

ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เข้าสู่นิพพานเบื้องต้น คือ ภาวะแห่งนิพพานธาตุที่ดับกิเลสแล้วมีเบญจขันธ์เหลือ (สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ) ก็ด้วยการที่ทรงชนะมารในราตรีสุดท้ายที่จะตรัสรู้ ทั้ง มาร ที่ปรากฏแสดงตัวตนยกกองทัพมาขัดขวางเป็นมหาโกลาหล และมาร 5 คือ

กิเลสมาร ก็ทรงชนะด้วยอาสวักขยญาณ หรือความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ

ขันธมาร คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ทรงชนะด้วยความหลุดพ้นแห่งใจ (จิตวิญญาณ) ที่ดับกิเลสแล้วสิ้นเชิงไม่กลับขึ้นมากำเริบปรุงแต่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร อีกต่อไป

อภิสังขารมาร คือตัวปรุงแต่งกรรมที่เป็นบุญ เป็นบาป เป็นฌาน (ในอรูปฌาน) พระองค์ก็ทรงชนะแล้วด้วยทรงสลัดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นเสียทั้งหมด

เทวปุตมาร เทพเทวดาที่เป็นฝ่ายมารทั้งหลายพระองค์ก็ทรงชนะด้วยไม่ทรงยินดียินร้ายแม้ในความสุขสบายอย่างยิ่งในสรวงสวรรค์และโลกียฤทธิ์อำนาจมากมายที่เหล่ามารผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นสูงสุดจักพึงมีด้วยมิจฉาทิฏฐิหลงติดผิดทาง

มัจจุมาร คือความตาย คือตัวที่จะมาฉุดกระชากลากขันธ์ให้แตกหักออกจากกันแล้วปรุงแต่งให้เกิดใหม่ในภพใหม่ พระองค์ก็ทรงชนะด้วยการทำลายปัจจัยแห่งการเกิด (กิเลสตัณหา) หมดสิ้นแล้ว มัจจุมารไม่อาจทำให้ตายเพื่อเกิดอีกได้ต่อไปแล้ว

พระพุทธองค์ทรงชนะความตายแล้วเพราะทรงเป็นผู้ไม่เกิดอีกต่อไปอย่างแน่แท้

เมื่อทรงชนะมารทั้งหลายโดยเด็ดขาดต่อมาในปัจฉิมยามแห่งราตรีก็ตรัสรู้

ทรงเป็นผู้มีความสุขที่สุดเหนือโลกธาตุ เป็นวิมุตติสุขอันเป็นความสุขซึ่งเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์ทั้งมวลได้เสวยวิมุตติสุขอยู่นานถึง 7 สัปดาห์หลังจากตรัสรู้เมื่อค่อนรุ่งวิมุตติสุขที่ทรงเสวยคงจะเป็นคำที่พระกล่าวไว้บ่อย ๆ คือ “เกษม” เป็นความสุขที่ไม่กลับมาทุกข์อีกและไม่มีใครสามารถอธิบายได้เพราะเป็นความสุขที่เหนือโลกพ้นโลก

หลังจากเสวยวิมุตติสุขสิ้นสัปดาห์ที่ 7 แล้วทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้ คือปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน แล้วน้อมพระทัยที่จะไม่แสดงธรรมเพราะทรงเห็นว่าทั้งมนุษย์และเทพทั้งหลายจะรู้ตามเห็นตามได้ยาก เป็นธรรมที่ทวนกระแสความรู้สึกในโลก เป็นต้นว่ากระแสธรรมกล่าวว่าการกระทำอย่างนี้เป็นความดีเป็นบุญกุศลกระแสโลกจะเห็นและกล่าวว่า ทำดีเกือบตายไม่เห็นรวยซักทีเช่นนี้เหมือนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เดินเส้นทางเดียวกันแต่สวนกัน อยากทำดีเหมือนกันแต่ทำดีเพื่อรวย (เพื่อโลภ) มิใช่เพื่อบุญกุศล เป็นเหตุให้สหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดสัตว์

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาที่จะแสดงธรรมตามที่พรหมผู้เป็นใหญ่มากราบทูลร้องขอก็ได้ตรัสเปิดประตู “พระอมตนิพพาน” ว่า

“…เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟังปล่อยศรัทธามาเถิด”

นี้เป็นคำที่พระพุทธองค์ทรงตอบรับเพื่อจะแสดงธรรมแก่สัตวโลกแต่ผู้ที่จะเข้ามาฟังต้องน้อมจิตใจและกายเข้ามาด้วยความมีศรัทธาเป็นที่ตั้ง อันเป็นจุดเริ่มต้นในการฟังธรรมที่จะให้บังเกิดผล ผู้ฟังธรรมที่เริ่มต้นด้วยความตั้งใจ และพิเคราะห์พิจารณาจนเห็นจริงและเชื่อถือคือเลื่อมใสทั้งนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องโดยชอบมักจะบรรลุมรรคผลถึงขั้นสูงสุดหลุดพ้นได้ไม่ยากเลย

ก่อนที่จะหลุดพ้นได้ พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำวิธีสุดท้ายไว้ว่า

“…ศรัทธา เป็นปัจจัยแห่งโมหะ...”

หมายความว่า แม้ตัว “ศรัทธา” ซึ่งพระองค์ทรงให้นำมาก่อนที่จะฟังธรรมนั้นก็ให้ละเสียทิ้งเสียเพราะแม้แต่ความเชื่อถือนี้ก็ตามก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดการติดการหลงได้เช่นกัน ทิ้งไปให้หมด

“…เธอหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น...”

ทรงกล่าวบอกแก่พระอัญญาโกฑัญญะ พระมหาสาวกผู้เป็นปฐมสาวกของพระองค์ขณะที่สำเร็จอรหัตเป็นพระอรหันต์ด้วยการฟังธรรมอนัตตลักขณสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงจบ

“เธอหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น”

ประโยคสั้น ๆ ฟังง่าย ๆ แต่มีความหมายสูงส่งสุดขีด สุดโลกสุดวัฏสงสาร เพราะท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าถึงภาวะนิพพานธาตุแล้วบัดนั้น พระพุทธองค์ทรงกล่าวบอกพร้อมกับวิมุตติญาณทัสสนะซึ่งเกิดขึ้นกับพระอัญญาโกณฑัญญะหยั่งรู้ด้วยตนเองว่าได้หลุดพ้นแล้วในขณะเดียวกัน

ความหมายสำคัญอยู่ที่ว่า...

“แม้กระทั่งความศรัทธาเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและในธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนทั้งหมดเพื่อความหลุดพ้นก็ให้ละเสียทิ้งเสียอย่าไปเสียยึดถือเอาไว้ทั้งสิ้น”

นั่นเองคือ “เพราะไม่ถือมั่น” ดังที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระวาจาในประการที่สุด

-->> เมื่อไม่ถือมั่นทุกอย่างก็หลุดพ้นทุกคน ดี ชั่ว ในวัฏสงสารเป็นตัวติดทั้งนั้น เป็นตัวทำให้เหล่าสัตว์ยึดมั่นถือมั่นไว้ไม่ยอมปล่อยง่าย ๆ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละความชั่วทุกอย่าง ให้ทำความดีทุกอย่าง ทำจิตใจให้ผ่องแผ้วแจ่มใสนั้นหมายความว่า ความชั่วให้ละเสียทั้งหมดเพราะเป็นทางนำไปสู่ความทุกข์ทำแต่ความดีทั้งปวงเพราะจะนำไปสู่ความสุข ถ้ายังไม่ปรารถนาหลุดพ้นก็จงอยู่อย่างเป็นสุขดีกว่าอยู่อย่างเป็นทุกข์ ถ้าปรารถนาหลุดพ้นเมื่อใดก็สลัดทิ้งเสียแม้ความดีที่ทำให้จิตใจเป็นสุขเพื่อจิตใจจะได้ผ่องแผ้วแจ่มใสอันเป็นทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ในที่สุด

จะเห็นว่าความดีคือบันไดไปสู่นิพพาน และเมื่อก้าวล่วงพ้นบันไดขั้นสุดท้ายก็จงปล่อยทิ้งเสีย (ไม่ยึดมั่นถือมั่น) แม้บันไดอันเป็นเครื่องให้ขึ้นมาได้ถึงจุดสูงสุดเมื่อนั้นตัวเชื่อมโยงที่จะนำกลับลงสู่ที่ต่ำไม่มีอีกแล้ว ไม่กลับลงที่ต่ำอีกแล้ว ชาติสงสารที่เวียนว่ายไปมานานหนักหนาสิ้นลงแล้วพ้นแล้วจากวัฏสงสารอันน่าเบื่อหน่ายนั้น นี้คือนิพพาน

พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ทรงเป็นผู้เจริญที่สุดทรงมีความเพียรเป็นที่สุด ทรงมีพระปัญญามากที่สุด ทรงรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเป็นที่สุด ตรัสรู้แล้วทรงอยู่ในภาวะเหนือโลกพ้นโลกในที่สุด ทรงดับกิเลสหมดสิ้นเป็นที่สุดแล้วแม้จะยังมีเบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหลืออยู่ก็เป็นเพียงขันธ์ที่สำรวมอยู่ในภาวะเป็นกลางวางเฉยอยู่ในอุเบกขาธรรม คำสอนต่าง ๆ ตลอดจนถ้อยคำโวหารแห่งพระพุทธองค์ก็ยังเป็นโลกิยะ (ในโลก) เพียงเพื่อให้บุคคลในโลกได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจได้ตามสมควรแก่โลกและเพื่อความพ้นโลก มิใช่เป็นโลกุตตระไปเสียทั้งหมดจนคนในโลกไม่สามารถอาจเอื้อมได้ถึง

(พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน สุชีพ ปุญญานุภาพ หน้า 694)

แม้กระทั่งเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุด เหนือโลกพ้นโลกแล้วก็ตามพระพุทธองค์ก็ยังทรงติดดินยิ่งกว่ามนุษย์ธรรมดามากนัก แทบจะกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงนอนกะดินกินกะทรายเลยทีเดียว ทรงสมถะสันโดษอยู่กับความสงัดวิเวกในป่าเขาลำเนาไพรเกือบจะตลอดระยะเวลา 45 พรรษาแห่งการโปรดสัตว์ ทรงช่วยรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้ข้ามโอฆสงสารได้เป็นจำนวนมากโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะหรือคนดีคนชั่วไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทพเทวดา มหาพรหมซึ่งอยู่ในขอบข่ายแห่งเวไนยสัตว์ พระองค์ทรงเมตตาอนุเคราะห์ทั้งสิ้น แม้ธรรมคำสั่งสอนที่กระจัดกระจายอยู่ก็ทรงหยิบยกชี้แนะเพื่อให้มีการสังคายนาร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์พ้นโลกสู่โลกุตตระเพื่อผู้ที่เกิดภายหลังพุทธกาลจะได้เข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์อันเป็น โลกิยพจน์ (ภาษาโลก) ได้โดยสะดวก เพราะความเป็นพระพุทธเจ้าของพระองค์ในภาคหลังซึ่งได้เสด็จเข้าสู่อมตมหานิพพานแล้ว หูตาปุถุชนไม่อาจล่วงพ้นเข้าไปถึงนอกจากอย่างน้อยก็ผู้ที่ดวงตาเห็นธรรมคือโสดาปัตติบุคคลเป็นเบื้องต้นที่จะเข้าสู่กระแสสัมผัสธรรมอันเป็นโลกุตตระได้ในลักษณะที่พระองค์ตรัสไว้

“ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม”

เราคือ “ตถาคต” ตถาคตยังอยู่ตลอดไป

ตถาคตทรงภาวะอมตมหานิพพาน ไม่ตาย ยั่งยืน มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท