พระรัตนตรัยในฐานะเครื่องนำเข้าสู่มรรคและเป็นที่รวมของการปฏิบัติตามมรรค


พระรัตนตรัยในฐานะเครื่องนำเข้าสู่มรรคและเป็นที่รวมของการปฏิบัติตามมรรค


หลักยึดเหนี่ยวเบื้องต้นของชาวพุทธ คือ พระรัตนตรัย   อันได้แก่  พระพุทธเจ้า  พระธรรม  และ พระสงฆ์   ตามปกติจึงถือเอา     สรณคมน์ คือ การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะว่าเป็นเครื่องหมายของการเป็นพุทธศาสนิกชน  และความเป็นอุบาสกอุบาสิกา  แม้แต่พระโสดาบัน  ก็มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งว่า   เป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นไมหวั่นไหวในพระรัตนตรัย  จึงเป็นข้อที่น่าศึกษาว่า  ความเคารพนับถือพระรัตนตรัยเป็นข้อปฏิบัติ ณ ส่วนใด  อยู่ที่จุดไหนในการดำเนินตามมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทา


ความเคารพนับถือพระรัตนตรัย  ที่แสดงออกด้วยสรณคมน์สำหรับคนทั่วไปก็ดี  ความมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยของพระโสดาบัน  ก็ดี  เป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดแล้วว่า  คุณธรรมที่เด่นสำหรับพุทธศาสนิกชนในระดับเบื้องต้นนี้ทั้งหมดได้แก่  ศรัทธา


เมื่อพิจารณาในระบบแห่งมัชฌิมาปฏิปทาเท่าที่อธิบายมาแล้วจะเห็นได้ว่า  ศรัทธาอยู่   ณ  ส่วนบุพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทา  โดยเฉพาะเป็นตัวเชื่อมบุคคลกับกัลยาณมิตรหรือปรโตโฆสะที่ดี  และมุ่งที่จะให้โยงไปสู่โยนิโสมนสิการ  โดยมีสาระสำคัญว่าให้เป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา  คือ  ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ  ซึ่งเป็นองค์มรรคข้อแรก นำเข้าสู่มรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทาต่อไป


หลักนี้  แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยเป็นเครื่องนำเข้าสู่มรรค  นับว่าชัดเจนพอสมควรอยู่แล้ว  แต่เพื่อให้หนักแน่นขึ้น  ควรพิจารณาตามหลัก   องค์คุณของพระโสดาบัน  (โสดาปัตติยังคะ)  หรือ  ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา  (ปัญญาวุฒิธรรม)  ๔  ประการคือ


๑. สัปปุริสสังเสวะ  การเสวนาสัตบุรุษ  การคบหาคนดี

๒. สัทธรรมสวนะ  การสดับสัทธรรม  การฟังหรือเรียนรู้ธรรมที่ถูกแท้

๓. โยนิโสมนสิการ  การทำในใจโดยแยบคาย   การใช้ความคิดถูกวิธี   การรู้จักคิด

๔. ธรรมานุธรรมปฏิบัติ   การปฏิบัติธรรมย่อมคล้อยแก่ธรรมใหญ่  การปฏิบัติธรรมถูกหลัก



ความจริงธรรมหมวดนี้มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งชื่อว่า  ธรรมที่เป็นไปเพื่อ
ประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล  จนถึงอรหัตตผล ดังพุทธพจน์ว่า


“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม  ๔  อย่างเหล่านี้  เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป  เพื่อประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล ....เพื่อประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล .... เพื่อประจักษ์แจ้งอนาคามิผล  ...  เพื่อประจักษ์แจ้งอรหัตตผล; ๔  อย่างอะไรบ้าง ?  ได้แก่  สัปปุริสสังเสวะ   สัทธรรมเสวนะ  โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ.....”


การเสวนาสัตบุรุษ  ก็คือการมีกัลยาณมิตร  สัตบุรุษ  และกัลยาณมิตรอย่างสูงสุด  ก็คือ  พระพุทธเจ้า


การเสวนาสัตบุรุษ  หรือการมีกัลยาณมิตร  นำไปสู่ปรโตโฆสะที่ดี  คือ การได้สดับหรือเรียนรู้สัทธรรม  อันได้แก่  หลักความจริงและความดีงามที่แท้  เรียกง่าย ๆ  ว่า  พระธรรม


โยนิโสมนสิการต่อพระธรรมและตามพระธรรมนั้น  ทำให้เกิดกุศลธรรมและปัญญาที่เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามเป็นจริงพร้อมทั้งทำให้ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักตามความมุ่งหมาย  เมื่อปฏิบัติถูกหลัก  ก็ทำให้บรรลุผล  คือประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผลเป็นต้น   ตลอดจนถึงอรหัตตผล  ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงผู้บรรลุอรหัตตผลคือพระอรหันต์  เป็นสมาชิกทั้งหลายผู้ประกอบกันเข้าเป็นชุมชนพุทธแท้  เรียกว่าสาวกสงฆ์หรืออริยสงฆ์ซึ่งจัดเป็นสงฆ์หรือ  พระสงฆ์  ในพระรัตนตรัย


โดยนัยนี้  เมื่อพิจารณากิจที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติต่อพระรัตนตรัยในการดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็มองเห็นได้ชัดว่า  เบื้องแรกรับเอาพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร  แล้วสดับเล่าเรียนธรรมคำสอนของพระองค์ จากนั้นปฏิบัติต่อธรรมด้วยโยนิโสมนสิการ   รวมครบ  ๒  ขั้นตอนเบื้องต้นที่เรียกว่า   บุพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทา   เป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ   เกิดความเห็นความเข้าใจถูกต้องตามเป็นจริงจึงปฏิบัติธรรมนั้นต่อไปอย่างถูกหลัก   เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติคือดำเนินในตัวมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทา   จนสำเร็จได้รับอริยผลเป็นอริยบุคคลแล้วร่วมเป็นสมาชิกแห่งพระสงฆ์ และในฐานะเป็นอริยบุคคลในสงฆ์นั้น  ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่น  โดยทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรระดับรองลงมาจากพระพุทธเจ้าได้ต่อ ๆ  ไป  พร้อมนั้นสงฆ์ก็เป็นชุมชนหรือสังคมแบบอย่างที่รวมของผู้ปฏิบัติตามและผู้ได้รับผลจากหลักแห่งการมีพุทธกัลยาณมิตร  และการดำเนินตามธรรมมรรคากับทั้งเป็นแหล่งแห่งกัลยาณมิตร   เป็นบุญเขตที่เจริญงอกงามและเผยแพร่ความดีงามแก่ชาวโลก


อนึ่ง   การมีสงฆ์เป็นหลักหนึ่งอยู่ในพระรัตนตรัย  เป็นเครื่องแสดงด้วยว่า  พระพุทธศาสนาถือว่า  มนุษย์ที่ดีงามย่อมเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอยู่ในชุมชนหรือสังคม  ชุมชนหรือสังคมที่ถือเป็นหลักเรียกได้ว่าสงฆ์นี้  ทางด้านภายในจิตใจสมาชิกทั้งหลายมีภูมิธรรมที่ได้บรรลุเป็นเครื่องธำรงรักษา  ส่วนทางด้านการดำเนินชีวิต  ภายนอกเครื่องธำรงรักษาได้แก่  วินัย  ความสามัคคี  และความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน


โดยสรุป  หลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล กับการดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา  และหลักพระรัตนตรัย   เทียบกันได้ดังนี้


๑.  สัปปุริสสังเสวะ มีกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้า  (ระดับสูงสุด)

๒.  สัทธรรมสวนะ ปรโตโฆสะที่ดี พระธรรม

๓.  โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ (กิจต่อพระธรรม)

๔.  ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เดินในมรรค     เข้าร่วมสงฆ์




--->> จากความที่กล่าวมา  พอแสดงความหมายของพระรัตนตรัยอย่างรวบรัดได้ดังนี้


๑.  พระพุทธเจ้า   คือ  ท่านผู้ได้ตรัสรู้ธรรม  ค้นพบมรรคาแล้วบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรองค์เอก   ทรงสั่งสอนธรรม  ชี้นำมรรคานั้นแก่ชาวโลก   และเป็นแบบอย่างที่ยืนยันถึงความดีงามความสามารถสูงสุดที่ฝึกขึ้นได้ในมนุษย์


๒.  พระธรรม   คือ  หลักความจริง  หลักความดีงาม ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ  และทรงแนะนำสั่งสอน  ซึ่งผู้ศรัทธาพึงเรียนสดับรับเอามาพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ให้เข้าใจถูกต้องตามจริง  เพื่อจะปฏิบัติให้เป็นมรรค  และให้สำเร็จผลต่อไป


๓.  พระสงฆ์  คือ หมู่ชนผู้ปฏิบัติตามมรรค  และผู้สำเร็จผลซึ่งศรัทธามั่นใจว่าเป็นหมู่ชน  หรือสังคมอันประเสริฐ ซึ่งควรสร้างสรรค์ให้เกิดมีขึ้น และซึ่งตนสามารถมีส่วนร่วมได้  ด้วยการปฏิบัติตามมรรคและการสำเร็จผลนั้น  เริ่มด้วยการปฏิบัติตามลักษณะแบบอย่างที่ปรากฏภายนอก  คือ  วินัย   ความสามัคคี   และความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน  ความมีกัลยาณมิตรก็ดี  การโยนิโสมนสิการก็ดี  การปฏิบัติตามมรรคก็ดี  จะเจริญงอกงามได้ผลดี  ในสังคมที่ดำเนินตามคติแห่งสงฆ์นี้


พระรัตนตรัยเป็นสรณะ  คือ  เมื่อระลึกถึงพระรัตนตรัยก็เตือนให้ใช้วิธีที่ถูกต้องในการแห้ปัญหาดับทุกข์  คือ ทำตามหลักอริยสัจจ์   อย่างน้อยก็ทำให้หยุดยั้งจากความชั่ว  มั่นใจที่จะทำดีหายหวาดกลัว  และจิตใจผ่องใส  ในเวลานั้น ๆ

หมายเลขบันทึก: 216027เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท