ยุคมืดพระพุทธศาสนาในอินเดีย


 ยุคมืดพระพุทธศาสนาในอินเดีย

พระพุทธศาสนาหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช


พระเจ้าอโศกมหาราชครองราชย์อยู่ 41 ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 311 เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว ผู้สืบสันติวงศ์ของพระองค์ก็เสื่อมอำนาจลงจนแตกกระจัดกระจาย พระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อ ๆ มาไม่สามารถจะรักษาอำนาจไว้ได้ การบำรุงพระพุทธศาสนาไม่แข็งแรงเหมือนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อประมาณ พ.ศ. 359 กษัตริย์วงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชก็เสื่อมอำนาจลง พระพุทธศาสนาก็เริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ สมัยนี้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า ศุงศ์ ได้ชิงราชสมบัติจากกษัตริย์วงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช


แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์พระนามว่า ปุษยมิตร กษัตริย์พระองค์นี้เลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์มาก
สมัยนี้ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีพระเจ้าปุษยมิตรเป็นราชูปถัมภ์ ก็ได้กระเตื้องขึ้นมามาก พระพุทธศาสนาซบเซาลง วัดวาอารามถูกทำลาย พระภิกษุสามเณรถูกฆ่า มีการตั้งรางวัลเป็นเงินจำนวนมากแก่ผู้ตัดศีรษะพระภิกษุได้ ภิกษุจำนวนมากหวั่นเกรงภัยได้หนีจากแคว้นมคธไปอยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของของอินเดีย ขณะที่พระพุทธศาสนาในแคว้นมคธอันเป็นภาคกลางของอินเดียกำลังถูกมรสุมอย่างหนักนั้น พระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทิน กำลังรุ่งโรจน์อยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และนิกายมหาสังฆิกะกำลังรุ่งเรืองอยู่ทางอินเดียใต้


พุทธศักราช 500 - 800 ปี
พระพุทธศาสนาหยุดชะงักการการเผยแผ่ไปในอินเดีย


ในขณะที่พระพุทธศาสนาได้หยุดชะงักไปชั่วคราวจากอินเดีย เพราะขาดผู้อุปถัมภ์ และได้รับการเบียดเบียนจากพระเจ้าปุษยมิตรนั้น ดินแดนนอกอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินที่นับถือศาสนาฮินดูนั้น ก็ได้ต้อนรับเอาพระพุทธศาสนาเข้าไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นบากเตรียน ซึ่งมีพระราชาชาติกรีกปกครองอยู่นั้น พระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นและเจริญขึ้นตามลำดับมีพระสงฆ์ปกครองกับเป็นหมวดหมู่


พระเจ้ามิลินท์ประกาศศาสนา


พระพุทธศาสนามาเจริญเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้ามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีกที่มาปกครองอินเดียอยู่ระยะหนึ่ง เล่าความย้อนไปสักเล็กน้อยว่า เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพเข้ารุกรานอินเดีย และเลิกทัพกลับไปนั้น แคว้นที่ทรงตีได้แล้วก็ได้โปรดให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองดูแล ทิ้งกองทหารกรีกไว้บางส่วน ฝรั่งชาติกรีกเหล่านี้ได้ตั้งเป็นอาณาจักรอิสระขึ้น เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว อาณาจักรที่มีกำลังมากคืออาณาจักรซีเรียและบากเตรีย ปัจจุบันคือเตอรกีสถานและอัฟกานิสถาน ซีเรียเป็นอาณาจักรมหาอำนาจเป็นสื่อเชื่อมอารยธรรมกรีกกับอินเดียอยู่เป็นเวลานานถึง 247 ปี จึงถูกโรมันตีแตก ส่วนบากเตรียเดิมทีอยู่ในอำนาจของซีเรีย มาสถาปนาเป็นรัฐอิสระได้เมื่อ พ.ศ. 287 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในมุมนี้ของโลกสับสนวุ่นวายด้วยการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ประมาณร้อยปีเศษ จนกระทั่งลุถึง พ.ศ. 392 พระราชาเชื้อสายกรีกพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เมนันเดอร์ หรือที่เรียกในคัมภีร์บาลี พระเจ้ามิลินท์ ยกกองทัพตีเมืองต่าง ๆ แผ่พระราชอำนาจลงมาถึงตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำคงคา เดิมทีมิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงขัดขวางการขยายตัวของพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป เนื่องจากทรงแตกฉานในวิชาไตรเพท (ของพราหมณ์)


และศาสนาปรัชญาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย จึงประกาศโต้วาทีกับนักบวชลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในเรื่องศาสนาและปรัชญา ปรากฏว่าไม่มีใครสู้พระองค์ได้ เวลานั้นพระเจ้ามิลินท์ประทับอยู่ที่นครสาคละ พระภิกษุสามเณรต่างครั่นคร้ามในวาทะของพระเจ้ามิลินท์ อยู่ไม่เป็นสุขในเมืองสาคละพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นเสียหมดสิ้น เมืองสาคละว่างพระสงฆ์สามเณรอยู่ถึง 12 ปี จนกระทั่งคณะสงฆ์สมัยนั้นเลือกสรรพระเถระผู้สามารถรูปหนึ่งมายังเมืองสาคละ เพื่อสนทนาเรื่องศาสนาและปรัชญากับพระเจ้ามิลินท์ ท่านผู้นั้นคือพระนาคเสน พระเจ้ามิลินท์ทรงทราบข่าวนั้นเสด็จไปสนทนาเป็นเชิงปุจฉาวิสัชนา อภิปรายกันขึ้นเป็นเวลาหลายวัน ผลปรากฏว่าพระเจ้ามิลินท์ยอมแพ้พระนาคเสน ข้อสนทนาระหว่างนักปราชญ์ทั้ง 2 ท่านได้รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า “มิลินทปัญหา”


พระเจ้ามิลินท์ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาตั้งแต่ภูเขาฮินดูกูฎจนกระทั่งลุ่มแม่น้ำสินธู สมัยนี้พระพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นมากในกรีก รวมทั้งซีเรียด้วย ซึ่งเราทราบได้จากหลักฐานต่าง ๆ เช่น เหรียญตราที่ทำเป็นรูปธรรมจักร และซากปรักหักพังของวัดวาอารามทางพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นสมัยที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองที่สุดในดินแดนแห่งนี้



ข้อมูลโดย...คุณ newhatyai

หมายเลขบันทึก: 216034เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้ากนิษกะ

เมื่อกษัตริย์วงศ์ ของพระเจ้าอโศกมหาราชเสื่อมอำนาจลง อินเดียก็เริ่มปั่นป่วน ชนชาติในทวีปเอเซีย ชื่อ ตาต ได้ยกทัพข้ามแม่น้ำสินธูเข้าไปหลายครั้ง มีการรบพุ่งกันหลายครั้งหลายคราว พระพุทธศาสนาที่อ่อนกำลังอยู่แล้วก็ยิ่งอ่อนกำลังลงอีก ต่อมาเกิดมีอาณาจักรขึ้นใหม่เรียกว่า กุษาณ กษัตริย์พระองค์แรกของวงศ์นี้คือ พระเจ้ากัทพิเสส หรือ กุชุล กะสะ กษัตริย์พระองค์นี้เป็นเผ่ากุษาณะ ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของเผ่าง้วยจี ชนเผ่านี้เดิมได้อาศัยอยู่ในเตอรกีสตานของจีน (ปัจจุบันคือ มณฑล ซินเกียง)

ครั้นต่อมาพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ในวงศ์กุษาณได้ขึ้นครองราชสมบัติ ตกราว พ.ศ. 621 – 643 กษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้แผ่เดชานุภาพไปในดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือโดยตลอด จนถึงแคว้นคันธาระ แคชเมียร์ สินธู และบางส่วนของมัธยมประเทศ ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจราชศักดิ์ยิ่งใหญ่ เรียกกันว่าอโศกองค์ที่ 2

ในรัชสมัยของพระองค์นี้ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้แผ่เข้าสู่เอเซียกลางและจีนอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง วรรณคดีพระพุทธศาสนาภาษาสันตกฤตได้เจริญขึ้นแทนภาษาบาลีมีพระภิกษุผู้ทรงความรู้เป็นจำนวนมาก เช่น ท่านปารศวะ ท่านอัศวโฆษ ท่านวสุมิตร เป็นต้น ท่านเหล่านี้ได้รจนาตำราพระพุทธศาสนาเป็นภาษาสันตกฤตเป็นจำนวนมาก ในด้านศิลปกรรมการแกะสลักแบบคันธาระซึ่งเป็นศิลปกรรมอันสวยงาม ก็ได้เจริญขึ้นอย่างสุดขีด ได้มีการสร้างพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ขึ้น พระเจ้ากนิษกะได้รับสั่งให้สร้างวัด อาราม วิหาร พระสถูป และพระเจดีย์มากมาย พระเจดีย์องค์หนึ่งมีความสูง 400 ฟิต มีฐาน 5 ชั้น และฐานสูง 150 ฟิต

นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังได้โปรดให้ชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนา ซึ่งมหายานถือว่าเป็นการทำสังคายนาครั้งที่ 4 (ฝ่ายเถรวาทไม่ได้ยอมรับสังคายนาครั้งนี้) ได้กระทำกันอยู่ที่เมืองชาลันธระในแคว้นแคชเมียร์ ปรากฏว่ามีพระภิกษุมาประชุมกันมากเกินไป จึงได้คัดเลือกเอาพระอรหันต์เพียง 499 รูปเท่านั้น ยังไม่ครบจำนวน 500 รูป ที่ประชุมได้ลงมติคัดเลือกเอาท่านวสุมิตรเข้าร่วมประชุมให้ครบจำนวน 500 รูป ซึ่งขณะนั้นท่านยังไม่ได้บรรลุอรหัตเพราะยังปรารถนาโพธิสัตวภูมิอยู่ ซึ่งครบจำนวน 500 รูปพอดี และได้เลือกท่านเป็นประธานของที่ประชุม

พุทธศักราช 800 – 1100 ปี

ราชวงศ์คุปตะได้เกิดขึ้นทางอินเดียตอนเหนือเมื่อประมาณ พ.ศ. 800 กว่าปี ราชวงศ์นี้มีอำนาจแผ่ไปในที่ต่าง ๆ อย่างไพศาล และยืนนานมาได้เป็นเวลา 150 ปี จึงเสื่อม สมัยนี้เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้น และได้มีการต่อสู้กันระหว่างลัทธิสากลนิยมพระพุทธศาสนาซึ่งจัดอยู่ในลัทธิสากลนิยมก็ถูกบีบคั้น เบียดเบียนและทำลายแล้วก็เสื่อมไป ส่วนศาสนาฮินดูกลับเจริญขึ้นสุดขีด

ต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงได้ประมาณ 900 ปี ชาติฮั่นหรือตาตมงคล พวกหนึ่งได้เข้ามามีอำนาจปกครองประเทศอินเดียเป็นเวลาประมาณ 50 ปี ได้ทำการทารุณกรรมต่อชาวอินเดีย ทำลายวัดวาอาราม ศาสนา และพระภิกษุสงฆ์ จึงทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลงไปกว่าเดิมอีก เมื่อปี พ.ศ. 1070 อินเดียจึงสามารถขับไล่ชาติฮั่นออกไปจากอินเดียได้

เมื่อประมาณ พ.ศ. 940 - 957 นักจิกแสวงบุญของจีนชื่อฟาเหียน ได้เดินทางไปแสวงบุญในอินเดียและได้บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาไว้อย่างละเอียด ซึ่งเราสามารถรู้ความเคลื่อนไหวของพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยนี้ ก็เพราะได้อาศัยหลักฐานจากการรายงานของท่านเป็นส่วนมากท่านฟาเหียน ได้บันทึกไว้ว่า ท่านได้พบพระพุทธศาสนาเจริญในที่ทุกแห่งที่ผ่านไป เว้นแต่ที่ กาโนช กบิลพัสดุ์ รามคาม เวสาลี และ คยา ณ สถานที่เหล่านี้ ที่กาโนช มีวัดฝ่ายเถรวาทอยู่เพียง 2 วัด ส่วนกบิลพัสดุ์ ได้กลายเป็นสภาพไปเป็นเมืองร้าง มีพระไม่กี่รูปดูแลรักษาสถานที่ และมีประชาชนอยู่ประมาณ 10 ครอบครัว ที่รามคามมีเพียงวัดเดียว ที่เวสาลีมีเหลืออยู่แต่มหาวันวิหาร แห่งเดียว ที่คยามีแต่วัดร้าง ที่อาฟกานิสถาน มีพระอยู่ถึง 3,000 รูป ทั้งเถรวาทและมหายาน ที่มถุรา พระพุทธศาสนาเจริญมาก ประชาชนให้ความเคารพนับถือพระอย่างสูง

เมื่อประมาณ พ.ศ. 1100 กว่าปี พระเจ้าหรรษวรรธนะ ทรงตั้งราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองกานยกพุทธ์ (ได้แก่กาโนช) ในปัจจุบัน อยู่ทางทิศเหนือของอินดีย พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หรือพราหมณ์พอ ๆ กัน ได้บำรุงศาสนาทั้งสองเสมอกัน พระองค์ทรงบำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทามากกว่ากษัตริย์องค์ใด ๆ

สมัยนี้ พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูได้เจริญพอ ๆ กัน แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้นได้หลอมตัวให้เข้ากับฮินดูได้ในบางประการ เช่นถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นประดุจเทพเจ้าองค์หนึ่ง จึงเป็นเหตุให้มีรูปพระโพธิสัตว์ขึ้น พวกพราหมณ์ฮินดูในสมัยนั้นกล่าวอ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปแล้ว พระองค์ได้จากไปโดยไม่มีความเยื่อใย ไม่สามารถที่จะกลับมาช่วยมนุษย์ได้อีก ส่วนพระเจ้าของฮินดูนั้น ยังตามปกปักรักษาให้ความร่มเย็นเป็นสุขอยู่เสมอ ดังนั้น จึงไม่นับถือพระพุทธศาสนา

เพราะถือเสียว่า เมื่อเจ้าของศาสนาหมดแล้วก็เป็นอันแล้วไป เพื่อที่จะแก้ข้อกล่าวหานี้ มหายานจึงกล่าวว่า แม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่ยังมีพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นประดุจกับเทพเจ้าผู้มีความการุณย์ต่อมนุษย์ จะต้องขนสัตว์ทั้งหลายข้ามวัฏสงสารให้หมดเสียก่อน เมื่อคิดเช่นนี้จึงสร้างรูปพระโพธิสัตว์ขึ้น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับพระเจ้าของฮินดูมาก แสดงว่า สมัยนี้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้นได้หลอมตัวเข้าหาศาสนาฮินดูมากที่สุด นอกจากนี้แล้ว ในด้านวรรณคดียังยอมรับเอาภาษาสันตกฤตเป็นภาษาวรรณคดีตามฮินดูด้วย

พุทธศักราช 1172 – 1187 ปี

ท่านสมณะเฮี้ยนจัง ภิกษุชาวจีน เดินทางไปในประเทศอินเดีย เมื่อประมาณพุทธศักราช 1172 - 1187 ได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า สมัยนั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียเริ่มเสื่อมแล้ว สถานที่สำคัญต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพทรุดโทรมที่เมืองเวสาสี มีวัดอยู่ประมาณ 100 วัด ซึ่งโดยมากได้ทรุดโทรมไปมากแล้ว มีเทวาลัยอยู่ 10 แห่ง และมีวัดพวกนิครนธ์มากมายที่กาโนช มีพุทธศาสนิกชน และพวกเดียรถีย์จำนวนพอ ๆ กัน มีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ 100 วัด มีพระภิกษุอยู่ 1,000 รูป มีเทวาลัยอยู่ 200 แห่ง และมีพวกเดียรถีย์อยู่หลายพันคนที่มถุรา มีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ 20 วัด มีพระภิกษุ 2,000 รูป ที่มติปุระ สรุงคะ พรหมปุระ ปรายาค โกสัมพี วิสาขะ และสาวัตถี มีวัดพุทธศาสนาอยู่แห่งละ 5 วัด ถึง 10 วัด และตามสถานที่เหล่านี้ มีพวกเดียรถีย์อยู่เป็นจำนวนมาก เช่นที่ สรุงคะ มีวัดพระพุทธศาสนาอยู่เพียง 5 วัด มีเทวาลัยอยู่ 140 แห่ง ที่ปรายาค มีวัดพุทธศาสนาอยู่เพียง 2 วัด มีเทวาลัยอยู่มากมาย ที่โกสัมพีมีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ 10 วัด มีเทวาลัยอยู่ 50 แห่ง ที่วิสาขะ มีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ 20 วัด มีพระภิกษุ 3,000 รูป ซึ่งสังกัดอยู่ในนิกายเถรวาท มีเทวาลัยอยู่ 50 แห่งที่มหาวิทยาลัยนาลันทา มีพระภิกษุนักศึกษา เป็นจำนวนหมื่น ล้วนแต่เป็นนิกายมหายานที่เมืองพาราณสี มีวัดพระพุทธศาสนาน้อย จำนวนพุทธศาสนิกชนน้อย มีผู้นับถือพระศิวะมากมายที่ปาฏลีบุตร มีพระและวัดน้อย สถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนาชำรุดทรุดโทรมปราศจากผู้รักษาที่เปษวาร์ ซึ่งเป็นนครหลวงของพระเจ้ากนิษกะ และเป็นมาตุภูมิของพระอสังคะ และวสุพันธุ กำลังตกอยู่ในความยึดครองของพวกฮั่น

พระพุทธศาสนาได้รับความกระทบกระเทือน ถูกทำลายโดยพวกฮั่นอย่างย่อยยับ มีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ 1,000,000 วัด แต่อยู่ในสภาพหักพัง ถูกทอดทิ้งที่ตักสิลา มีวัดพระพุทธศาสนาอยู่มาก แต่ก็ถูกพวกฮั่นทำลายย่อยยับเช่นกันที่แคชเมียร์ มีวัดพระพุทธศาสนา 100 วัด มีพระภิกษุ 5,000 รูป ซึ่งวัดเหล่านี้เป็นผลิตผลของพระเจ้าอโศกมหาราช และพระเจ้ากนิษกะจึงอาจกล่าวได้ว่า ในสมัยที่ท่านภิกษุเฮี้ยนจังเดินทางไปอินเดียนั้น พระภิกษุกำลังจะหมดไปจากอินเดีย และวัดของพระพุทธศาสนาขาดผู้อุปถัมภ์ ตกอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ส่วนศาสนาฮินดูนั้นได้เจริญขึ้นแทนที่

พุทธศักราช 1300 - 1500 ปี

เมื่อประมาณ พ.ศ. 1300 ปี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ สังกราจารย์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์และนักสอนศาสนาคนสำคัญของฮินดู ได้ประกาศศาสนาฮินดูอย่างเอาจริงเอาจัง ท่านผู้นี้ได้เอาหลักปรัชญาของศาสนาต่าง ๆ ในอินเดีย รวมทั้งของพระพุทธศาสนาด้วย เข้าผสมผสานกัน แล้วได้ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นนารายณ์อวตารอีกปางหนึ่ง คือ ปางที่ 9 แล้วกล่าวอ้างว่า พระพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ครั้งนี้ ศาสนาพุทธถูกศาสนาพราหมณ์กลืนเสียสนิท ประชาชนได้หันไปนับถือศาสนาฮินดูมากขึ้นตามลำดับ จนลืมพระพุทธศาสนา

ท่านสังกราจารย์ ผู้นี้ได้เดินทางเข้าไปประกาศศาสนาในประเทศเนปาลด้วย และได้ทำให้พระพุทธศาสนาในเนปาลอ่อนกำลังไปมาก

ประมาณ ปี พ.ศ. 1500 พระพุทธศาสนาได้ผสมกับลัทธิตันตระ ของฮินดู ซึ่งเป็นลัทธิของคนชั้นต่ำ พระพุทธศาสนาในยุคนี้จึงได้ชื่อว่า “พุทธตันตระ” เกิดสัทธรรมปฏิรูปกับศาสนาฮินดู ทำให้พระพุทธศาสนาถึงแก่ความเสื่อม

พระพุทธศาสนาที่ผสมกับลัทธิตันตระของฮินดูได้นำเอาประเพณี พิธีกรรมอันลึกลับน่ากลัว และลามกอนาจารมาปฏิบัติ เช่นข้อปฏิบัติ 5 ประการ ซึ่งขึ้นต้นด้วย ม ได้แก่

1. มางสะ ได้แก่การกินเนื้อ

2. มัตสยา ได้แก่การกินปลา

3. มุทรา ได้แก่การแสดงท่ายั่วยวนให้เกิดกิเลสตัณหา

4. มัทยะ ได้แก่การดื่มน้ำเมา

5. ไมถุน ได้แก่การเสพเมถุนธรรมโดยวิธีที่สกปรก

หนังสือ ศรีสมาช (คุยหสมาช) สาธนมาลา และชญานุสิทธิ เป็นต้น ซึ่งเป็นคัมภีร์ของนิกายวัชรยาน ได้สอนให้มีการเหยียบย่ำแม้กระทั่งศีล 5 สนับสนุนให้มีการฆ่า การลัก การเสพเมถุนธรรม และการดื่มน้ำเมา

ผู้ที่จะเข้าพิธีตามลัทธิตันตระจะต้องปฏิบัติ 5 ข้ออย่างเคร่งครัด ถือว่าเป็นการบูชาพระศักติ ในสถานที่บางแห่ง เมื่อผู้หญิงจะไหว้พระจะต้องเปลื้องเครื่องแต่งตัวออกทั้งหมดแล้วแสดงการร่ายรำไปจนเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีใหม่ ๆ จะมีการเล่นกันอย่างลามกที่สุด

นักปฏิบัติ ยอมรับว่า ลัทธิ 5 ข้อนี้ไม่ดี เป็นมายา และเป็นเครื่องกีดกันไม่ให้คนไปสวรรค์นิพพานได้ คนโดยมากมักจะติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น จึงต้องหาความชำนาญในสิ่งเหล่านี้ให้มากเท่าที่จะมากได้ เมื่อนาน ๆ เข้าก็จะเกิดเบื่อไปเอง เมื่อยังไม่รู้ไม่ชำนาญและยังมิได้มีประสบการณ์มาด้วยตนเอง อย่างช่ำชองแล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะเกิดความเบื่อหน่ายได้ ต้องเล่นวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง

มีนักปฏิบัติบางท่านถือยิ่งขึ้นไปว่า ผู้ที่ยังไม่ผ่านการเสพเมถุนธรรมจะไปนิพพานไม่ได้ เพราะจิตใจยังลังเลอยู่ ต้องเสพเมถุนธรรมให้ถึงที่สุดจนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน

อย่างไรก็ตาม ลัทธิตันตระ นี้มีผู้ปฏิบัติแพร่หลายอยู่ทางอินเดียตะวันออก คือใน แคว้นเบงกลอล อัสสัม โอริสสา และ บิฮาร์ มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา เป็นศูนย์ศึกษาลัทธินี้ และต่อมาลัทธินี้ได้แผ่เข้าไปสู่ประเทศธิเบตด้วย

พุทธศักราช 1700 ปี

ในขณะที่ลัทธิพุทธตันตระ กำลังได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในอินเดียทางเหนือ และทิศตะวันออกในหมู่ชนชั้นต่ำ พระพุทธศาสนาดั้งเดิมก็ถึงแก่ความเสื่อม เกิดสัทธรรมปฏิรูปผสมผสานกันเข้า จนแทบหาความบริสุธิ์ไม่ได้นั้น กษัตริย์มุสลิมก็ได้เคลื่อนกองทัพอันเกรียงไกรเข้ายึดอินเดียทางทิศเหนือไว้ได้ครอบครองโดยเด็ดขาด ชาวมุสลิมได้ทำลายวัดวาอาราม และสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ฆ่าพระภิกษุสามเณรตายนับจำนวนพัน ๆ กองทัพม้าของมุสลิมได้เข้าบุก และเผามหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นอย่างราบเรียบ มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ได้กลายเป็นสุสานของพระภิกษุสามเณรไปในชั่วพริบตาเดียว พระภิกษุสงฆ์ถูกบังคับให้สึก รูปใดไม่สึกก็จะต้องถูกประหารชีวิต หรือไม่ก็หลีกหนีไปอยู่ในประเทศใกล้เคียง ซึ่งโดยมากได้ไปอาศัยอยู่ที่เนปาล และธิเบต

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาก็ได้เสื่อมและหมดไปจากอินเดียโดยไม่มีอะไรเหลือให้ปรากฎ นอกจากซากปรักหักพังของสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา และพระพุทธรูปที่ถูกทำลายเป็นส่วนมาก และสิ่งเหล่านี้ก็ได้ถูกทอดทิ้งลบเลือนไปจากความทรงจำของชาวอินเดีย มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 800 ปี จึงไม่เป็นการแปลกเลยว่า เพราะเหตุไรชาวอินเดียทุกวันนี้จึงไม่รู้จักพระพุทธศาสนา

พุทธศักราช 2100 ปี

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2100 ปีเศษ ชาวยุโรป มีชาติโปรตุเกส วิลันดา และอังกฤษ ได้เดินทางเข้ามาค้าขายติดต่อกับอินเดียและในที่สุดอังกฤษก็เข้าครอบครองอินเดียได้ ในระยะนี้อังกฤษก็ได้นำศาสนาของตนคือคริสตศาสนา เข้ามาเผยแพร่ในอินเดียด้วย อินเดียได้ต้อนรับเอาศาสนาใหม่อีกศาสนาหนึ่ง แต่คริสตศาสนาก็ไม่สามารถที่จะกลืนศาสนาฮินดูได้ เพราะอังกฤษมุ่งอำนาจในการเมืองมากกว่าทางศาสนา สมัยนี้ศาสนามุสลิมอ่อนกำลังลงไปบ้าง ศาสนาฮินดูกลับเจริญขึ้นสุดขีด ศาสนาเชนก็มีบ้างประปราย ซึ่งโดยมากมีผู้นับถือที่แคว้นบอมเบย์ ในหมู่พวกพ่อค้าชาวกุชราตี ที่แคว้นเบงกอลและแคว้นพหารบ้างบางส่วน ศาสนาเชนนั้น แม้จะมีคนนับถือกันน้อย แต่เชนศาสนิกโดยมากก็เป็นคนร่ำรวย วัดของศาสนาเชนสะอาดและสวยงามทุกแห่ง ไม่เหมือนกับวัดฮินดู ซึ่งโดยมากสกปรก ส่วนพระพุทธศาสนานั้นได้ถูกทอดทิ้งลบเลือนไปจากความทรงจำของชาวอินเดียอย่างสนิท

วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย

สาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดียนั้น มีหลายท่านได้ตั้งข้อสงสัย ว่าทั้ง ๆ ที่อินเดียเป็นแดนเกิดของพระพุทธศาสนา ทำไมพระพุทธศาสนาจึงได้ได้เสื่อมไปจากประเทศอินเดีย ปัญหานี้มีคนสงสัยกันมาก แต่ก็มีน้อยคนที่ได้สนใจในปัญหานี้กันอย่างแท้จริง และก็มีจำนวนมากที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงสมควรที่จะค้นหาและวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ในเรื่องนี้ ซึ่งพอจะกล่าวโดยย่อได้ดังนี้

เหตุภายใน

1. ความเสื่อมศีลธรรมของพุทธบริษัท หมายถึงผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเองทั้งภิกษุและฆราวาสไม่สนใจต่อการประพฤติธรรมเหินห่างจากศีลธรรม มีหลักฐานปรากฏว่า “พระไม่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย อยู่อย่างเกียจคร้าน อยู่อย่างไร้ค่า ใช้ชีวิตอย่างชาวโลก ชอบเที่ยวเตร่หาความแพลิดเพลิน แม้จะห่มผ้ากาสาวพัตร์ แต่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เลี้ยงปศุสัตว์ และมีเมีย มีลูก”

เหตุการณ์ที่กล่าวนี้เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 ตามบันทึกของท่านสมณะเฮี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง)ถอยหลังไปอีก 2 ศตวรรษ คือพุทธศตวรรษที่ 10 มีบันทึกหลักฐานตามประวัติศาสตร์ของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ว่า“ครึ่งหนึ่งของวัดบางวัดในแคว้นแคชเมียร์ จัดให้เป็นที่อยู่ของพระที่มีความประพฤติดีและไม่มีเมีย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของวัดจัดให้เป็นที่อยู่ของพระที่มีลูกเมียและมีทรัพย์สมบัติมาก”

ในต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ท่านสมณะอีจิง ภิกษุชาวจีนที่ไปสืบศาสนาในอินเดีย และใช้เวลาอยู่ในอินเดียนานถึง 25 ปี ได้บันทึกไว้ว่า “วัดส่วนมากในอินเดียทำไร่ เลี้ยงวัวมีคนรับใช้ในวัด บางวัดก็ตระหนี่ถี่เหนียวไม่ยอมแบ่งผลผลิตให้ใคร เป็นการไม่สมควรที่วัดจะมีทรัพย์สมบัติมากมาย มียุ้งฉางเต็มไปด้วยข้าวเปลือก (เก็บไว้จนเสีย) มีคนใช้ชายหญิงมีเงินทองและทรัพย์สมบัติที่เก็บไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้มันให้เป็นประโยชน์” รวมความว่าพระภิกษุในอินเดียเวลานั้นไม่อยู่ในศีลในธรรม ฆราวาสทั่วไปก็เป็นเช่นเดียวกัน

2. การแตกแยกนิกาย และการขัดแย้งกันในเรื่องลัทธินิกาย ได้แตกแยกออกเป็น 18 นิกาย มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2 นิกายเหล่านี้ต่างทะเลาะวิวาทกันด้วยทิฏฐิที่แต่ละนิกายยึดถืออยู่ ไม่กลมเกลียวสามัคคีกัน นำมาซึ่งความเสื่อมแก่หมู่คณะเปิดทางให้ผู้มุ่งร้ายทำลายได้โดยง่าย

ความแตกสามัคคี ไม่มีความปรองดองกัน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเป็นใหญ่ หลงใหลในลาภยศสักการะ ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ติดอยู่ในพิธีกรรมมากกว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรม เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสอนอันดั้งเดิม เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดสัทธรรมปฏิรูป ซึ่งได้เกิดขึ้นแม้แต่สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ เช่น เรื่องการแตกสามัคคีของพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพี และพระเทวทัตต์ เป็นต้น และได้มีสืบต่อ ๆ กันมา ไม่ขาดระยะ นับว่าเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งในวงการของพระพุทธศาสนาอันเป็นเหตุให้ศาสนาอื่น ๆ ฉวยโอกาสโจมตีได้

3. คำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทวนกระแส คือตรงดิ่งสู่ความเป็นจริง เป็นการฝืนใจคน ต้องดึงคนเข้าหาหลัก มิใช่ดึงหลักเข้าหาคน ไม่บัญญัติหรือสอนไปตามความชอบพอของคนบางคนแต่สอนไปตามความจริงอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้ผู้มักง่ายเกิดความเอือมระอา พากันไปหาคำสอนที่ถูกกับอัธยาศัยของเขา

4. หลักคำสอนเกี่ยวกับการปฏิเสธวรรณะของพระพุทธศาสนา ทำให้ขัดต่อความคิดเห็นของคนชั้นสูงและคนชั้นต่ำ ผู้ยึดมั่นอยู่ในลัทธิประเพณี พวกคนชั้นสูงก็ไม่อยากให้มีการเลิกการถือชั้นวรรณะ คนชั้นต่ำก็ไม่ต้องการให้ล้มเลิกลัทธิประเพณีของเขา คนชั้นต่ำไม่ได้นับถือศาสนาด้วยปัญญา แต่นับถือด้วยการยึดมั่นอยู่ในพิธีกรรม จึงทำให้เป็นการขัดต่อความเชื่อถือของเขา พระพุทธศาสนาจึงเหมาะสมกับคนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นอื่น ๆ (หมายถึงชาวอินเดีย)

5. เพราะพระพุทธศาสนารับเอาลัทธิตันตระของฮินดูมาปฏิบัติ ซึ่งเป็นการขัดต่อคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา

เหตุภายนอก

1. การมุ่งร้ายของพวกลัทธิศาสนาพราหมณ์ ซึ่งหาโอกาสทำลายพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา คัมภีร์ปุราณะของพราหมณ์ได้ประกาศออกมาว่า “การเห็นพระในพุทธศาสนาทุกครั้งแม่แต่ในความฝัน เป็นอัปมงคล ควรหลีกเลี่ยงเสีย” และได้วางกฎไว้ว่า “การเข้าไปในบ้านของชาวพุทธถือเป็นบาปหนักของพวกพราหมณ์”ในยุคหลัง ๆ นักปราชญ์ทางฮินดูหลายคนโจมตีพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง นักปราชญ์เหล่านั้นเป็นที่นิยมนับถือของชาวอินเดียส่วนใหญ่ คนส่วนมากเชื่อถือ จึงเลื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาไปด้วย พวกที่ไม่เลื่อมใสอยู่แล้วก็หันหลังให้ทีเดียว

2. ถูกศาสนาพราหมณ์กลืน เมื่อศาสนาพราหมณ์ฟื้นฟูแล้ว เอาหลักธรรมสำคัญ ๆ ของพระพุทธศาสนาไปสั่งสอน และอ้างว่าเป็นหลักธรรมของพราหมณ์ เพราะศาสนาพราหมณ์มีมาก่อน ดังที่พราหมณ์ชื่อสังกราจารย์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์และนักสอนศาสนาคนสำคัญของฮินดู ท่านผู้นี้ได้เอาหลักปรัชญาของศาสนาต่าง ๆ ในอินเดีย รวมทั้งของพระพุทธศาสนาด้วย เข้าผสมผสานกัน แล้วได้ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นนารายณ์อวตารอีกปางหนึ่ง คือ ปางที่ 9 แล้วกล่าวอ้างว่า พระพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ครั้งนี้ ศาสนาพุทธถูกศาสนาพราหมณ์กลืนเสียสนิท ประชาชนได้หันไปนับถือศาสนาฮินดูมากขึ้นตามลำดับ จนลืมพระพุทธศาสนากษัตริย์อินเดียในยุคนั้น แม้จะนับถือพระพุทธศาสนาก็หาได้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเดียวไม่ นับถือพราหมณ์ควบคู่ไปด้วย สร้างเทวรูปและพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในที่เดียวกัน และรูปพระโพธิสัตว์ของมหายานมีลักษณะคล้ายเทวรูปของพราหมณ์มาก พระเจ้าหรรษะวรรธนะ ซึ่งเป็นอุปถัมภกองค์สำคัญของพระพุทธศาสนานั้นนอกจากบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว ยังบูชาพระศิวะและรูปพระอาทิตย์ด้วย กษัตริย์ราชวงศ์ปาละของเบงกลอลก็ทำนองเดียวกัน แม้จะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่เคยห่างลัทธิพราหมณ์เลยรวมความว่าพุทธกับพราหมณ์ในสมัยนั้น สับสนปนเปกันจนไม่รู้ไหนพุทธไหนพราหมณ์ ในที่สุดสิ่งที่ใหญ่กว่าก็กลืนสิ่งที่เล็กกว่า คือพุทธศาสนาถูกกลืนหายเข้าไปในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู

3. ขาดผู้อุปถัมภ์ พระพุทธศาสนาเจริญและดำรงมาได้ก็เพราะมีพระเจ้าแผ่นดินให้ความอุปถัมภ์บำรุง เมื่อสิ้นกษัตริย์ผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ทำให้พระพุทธศาสนาต้องขาดผู้อุปถัมภ์ ไม่ได้รับการบำรุงส่งเสริม ซึ่งพอจะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญในรัชกาลของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้ามิลินท์ และพระเจ้ากนิษกะ เป็นต้น ซึ่งกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์นี้ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก

4. การทำลายล้างของกษัตริย์นอกพระพุทธศาสนา ข้อนี้ได้ทำเป็นระยะ ไ ไม่ได้ทำติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่พระเจ้าปุษยมิตร มาจนถึงการการทำลายล้างของพวกฮั่นหรือตาต เผ่ามองโกลที่เข้ามารุกรานอินเดีย กษัตริย์องค์หนึ่งของพวกฮั่น มีนิสัยโหดร้ายทารุณ นับถือศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ บูชาพระศิวะ ไม่พอใจพระพุทธศาสนา ทำลายล้างพุทธศาสนสถานเสียถึง 1,600 แห่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 ตอนปลายพระเจ้าศศางกะอีกองค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ที่มุ่งทำลายล้างพระพุทธศาสนา เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ นับถือศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ ทรยศปลงพระชนม์พระเจ้าราชยวรรธนะ แห่งแคว้นเบงกอลแล้วขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์ที่โหดร้ายทารุณ ได้กำจัดพระสงฆ์ในนครกุสินาราเสียสิ้น นอกจากนี้ยังโยนรอยพระพุทธบาทซึ่งทำด้วยศิลาที่เมืองปาฏลีบุตรลงแม่น้ำคงคา และโค่นต้นศรีมหาโพธิ์ (ต้นที่ 2) ที่พุทธคยาจนถึงรากแล้วยังเอาไฟสุมส่วนที่เหลือเพื่อไม่ให้งอกขึ้นอีก ทรงให้ย้ายพระพุทธรูปสำคัญออกจากพุทธคยานั้น แล้วให้เอาศิวลึงค์เข้าไปประดิษฐานไว้ท่ามกลางวิหาร (ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2500 นี่เอง รัฐบาลอินเดียจึงให้เอาศิวลึงค์ออกไป แล้วนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้อย่างเดิม) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราวกลาง ๆ พุทธศตวรรษที่ 12

5. การทำลายล้างของพวกมุสลิม ตกปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ดมฮัมหมัดเบนกาซิม ขุนพลอิสลามได้ยกกองทัพจากด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เข้าโจมตีแคว้นสินธุและแคว้นมลตาน เข้ายึดครองบริเวณนี้ไว้ตั้งราชวงศ์อิสลามขึ้นเป็นเวลานานถึง 3 ศตวรรษ เจ้าครองนครของอินเดียเวลานั้น ได้ผนึกกำลังกันต่อต้านการบุกของอิสลามอย่างเหนียวแน่น เพื่อมิให้กองทัพอิสลามล่วงล้ำเข้าไปในลุ่มแม่น้ำคงคาคราวหนึ่งที่แคว้นราชสถาน สงครามระหว่างฮินดูกับอิสลามระเบิดขึ้น พวกเจ้าราชบุตร คือพวกวรรณะกษัตริย์ชาวฮินดูได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวตามอุดมคติที่ว่าต้อนรับมิตรอย่างดีที่สุด ไม่หันหลังให้ศัตรู ไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้ ถือสัตย์ยิ่งกว่าชีวิต แต่พวกราชบุตรพ่ายแพ้ตายในที่รบหมด ชายาของท่านเหล่านั้นไม่ยอมตกเป็นเชลยของอิสลาม ได้ก่อไฟขึ้นแล้วกะโดดเข้ากองไฟหมดทุกคนคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็พลอยย่อยยับไปด้วย วัดในพระพุทธศาสนาในภาคตะวันตกของอินเดียมีเป็นจำนวนหมื่นถูกพวกอิสลามเผาผลาญหมด ทรัพย์สมบัติใดที่พอขนเอาได้ก็เอาไป พระสงฆ์จำนวนแสนหนีเข้าแคว้นเบงกอลและมคธ

พุทธศตวรรษที่ 15 อิสลามยึดเดลฮีได้ พุทธศตวรรษที่ 16 อินเดียภาคเหนือส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อำนาจของอิสลาม ราชวงศ์อินเดียส่วนมาก แม้จะยังไม่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มิได้นับถือพระพุทธศาสนา มีแต่ราชวงศ์ปาละในมคธและเบงกอลเท่านั้นที่ยังนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ ราชวงศ์ปาละเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะการอุปถัมภ์ของราชวงศ์นี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์หลายแห่งในมคธและเบงกอลจึงยังพอทรงตัวอยู่ได้เช่น มหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา โอทันตบุรี

ที่ 16 อินเดียภาคเหนือส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อำนาจของอิสลาม ราชวงศ์อินเดียส่วนมาก แม้จะยังไม่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มิได้นับถือพระพุทธศาสนา มีแต่ราชวงศ์ปาละในมคธและเบงกอลเท่านั้นที่ยังนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ ราชวงศ์ปาละเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะการอุปถัมภ์ของราชวงศ์นี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์หลายแห่งในมคธและเบงกอลจึงยังพอทรงตัวอยู่ได้เช่น มหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา โอทันตบุรี

พระเจ้ายักษปาละเป็นกษัตริย์สุดท้ายของราชวงศ์ปาละ พราหมณ์เสนาบดีผู้หนึ่งชื่อราวเสนเป็นกบฏทำลายราชวงศ์ปาละลง ตั้งเสนวงศ์ขึ้น ราชวงศ์เสนะเป็นฮินดู พระพุทธศาสนาจึงขาดผู้ครองเมืองอุปถัมภ์ เวลาใกล้ ๆ กันนั้นเองกองทัพอิสลามภายใต้การนำของแม่ทัพชื่อ ภักติยาร์ และขิลจี บุตรชาย ได้บุกมคธ เผามหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา ปล้นเอาทรัพย์สินสมบัติของวัดต่าง ๆ ฆ่าฟันภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่พบเห็น พระพุทธศาสนาซึ่งเหลืออยู่เป็นจุดสุดท้ายในแห่งนี้ถูกถอนรากถอนโคนจนไม่มีอะไรเหลืออีก ภิกษุสงฆ์ที่รอดตายได้หนีไปในเนปาลและธิเบต ไม่มีผู้ใดกล้ากลับมาอินเดียอีก

พุทธศาสนาซึ่งเกิดในอินเดีย เจริญและเสื่อมอยู่ในอินเดียเป็นเวลา 1,700 ปี ก็อวสานลงด้วยภัยต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว

น่าสนใจมากครับ

อยากทราบว่า ผมจะหาอ่านเพิ่มเติมได้จากที่ใดอีกครับ

ขอเอกสารอ้างอิงหน่อยครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณ มาก ครับ

น่าสนใจมากๆๆๆเลย

สุดยอดครับปราชญ์ขยะ


โปรด ศึกษา
- ก่อนศาสนาพุทธ จะหายไปจากอินเดีย  มหาลัย นาลันทา ได้ถูกทำลาย
  หรือถูกโจมตี  ถึง 3 ครั้ง  
- ครั้งแรก กษัตริย์จีนฮั่น ได้เข้าโจมตี จนเสียหายแทบไม่เหลือ หลังจากนั้น
  จึงได้บูรณะครั้งใหญ่             เพราะศาสนาพุทธในช่วงนั้นยังเข้มแข็งอยู่  
  หลังจากนั้นก็โดนทหารฮินดูเข้าโจมตีเป็นครั้งที่สอง   และก่อน ที่กองทหาร
  (ไม่ใช่กองทัพ)  มุสลิมจะทำลายในครั้งสุดท้าย   มหาลัยนาลันทา ก็ถึงภาวะ
   ตกต่ำ อย่างมากมาย แล้วครับ  ดังนี้  
- เริ่มจากพระมุ่งมาเรียนปรัชญา  ที่นาลันทากันมาก  จนเกือบจะไม่มีพระ 
  สอนฆราวาสตามชุมชนต่าง ๆ ชาวบ้านเริ่ม เหินห่างจากศาสนาพุทธ  ปล่อย
  ให้ฮินดู เข้ามาสอนแทน  
- เริ่มมีการ แบ่งเป็นนิกาย เถรวาท กับ มหายาน และอื่น ๆ  มหายานเริ่มมีอิทพล
  มากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีนิกาย ตันตระ (ซึ่งเป็นลัทธิที่เชื่อว่าการร่วมประเวณี การ
  หลับนอนกัน เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาพระ) (เล่นคุณไสยต์) 
- เริ่มมีการ ปั้นพระพุทธรูป ใช้ความเชื่อตามแบบ การกราบไหว้เทพเจ้าของกรีก
- ศาสนาฮินดู มีการปรับตัว โดยดึงศาสนาพุทธ เข้าไปอยู่ในศาสนาฮินดู คือ 
  นับถือฮินดู หนึ่งเดียว ได้กราบไหว้ทั้ง ฮินดู และพุทธ  สุดท้ายวัดพุทธเริ่ม
   เปลี่ยนไปเป็นวัดฮินดู  
- สุดท้าย เหลือพระในมหาลัยนาลันทา ไม่น่าเกิน 3,000 ก็ถูก กองกำลัง 
  (บางคนเรียกกองทัพ จริงมีทหารแค่ 200 คน มันจะเป็นกองทัพได้อย่างไร 
   กองทัพมันต้องมีทหารเป็น 10,000 หรือ เป็น แสนคน)  กองทหารเติร์ก-อัฟกัน 
   บุกโจมตี มีพระจำนวนหนึ่งได้หนีถอยออกไป  ตามความคิดผม น่าจะเหลือไม่เกิน
    3,000 คน  หลังจากนั้น  ก็ถูก  กองทหารมุสลิม เติร์ก ฆ่า ซึ่ง กองทหารน่าจะมี
    ไม่เกิน 200 คน  ตามที่อ่าน มันไม่ใช่สงคราม  แต่มันเป็นการฆ่าฝ่ายเดียว โดย
    พระนั่งให้ฆ่า  ผมต้องถือว่า ผู้ที่ฆ่านักบวชได้ขนาดนี้ ไม่มีความเป็นลูกผู้ชายเลย
    ครับ ค่อนข้างป่าเถื่อน (ทหารกองนี้) ซึ่งศาสนาอิสลามก็ไม่มีคำสอนให้ทำแบบนี้
    แล้วมีหลักบัญญัติห้าม ฆ่านักบวชเด็ดขาด  มันเป็นการกระทำส่วนบุคคล โดยเฉพาะ
    คนคุมกองทหาร 
- การกระทำเหมือน หนึ่งเป็นคนไม่มี ศาสนา ไม่มีความเมตตาเลย  ผมมองว่า คนคุมทหาร
   น่าจะอยากได้สมบัติในนาลันทา มากกว่า (มองจากเหตุการที่เกิดขึ้น)  
- หลังจากนั้น  ก็มีคนฝรั่งคริสต์ มาขุดค้นพบ พุทธ โบราณสถาน ในอินเดีย
- หนังจากนั้น ประธานาธิปดี ของศรีลังกา  พยายามฟื้นฟู ศาสนาพุทธ ในอินเดีย  
- หลังจากนั้น ท่าน เอ.พี.เจ. อับดุล คาลัม ประธานาธิบดีอินเดียในขณะนั้นได้เสนอ
   แนวคิดการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทาขึ้นใหม่ต่อสภารัฐพิหาร ทั้งที่ท่านเป็น 
   ##  ชาวมุสลิม  ##  ซึ่งตรงนี้ คนพุทธทั่วไป  ไม่มีใครพูดถึงเลยนะครับ ผมมองว่า
  ใจคอคับแคบมากครับ  ไม่ว่าพระและฆราวาส ส่วนใหญ่ที่เคยได้ยินไม่เคยมีใคร
  พูดตรงนี้ แย่มาก  พูดไม่หมด  
- หลังจากนั้น ก็มีมุสลิม บริจาคที่ดินให้ 12 ไร่ เพื่อทำศูนย์ นาลันทา ศึกษา ครับ
- ฆ่ากันไป ฆ่ากันมา สุดท้าย ก็ตายทุกคน ตายช้าตายไว ตายทุกคน เหลือไว้ แต่ ชั่วดี
  เท่านั้นครับ 
- พูดอะไร เขียนอะไร ใช้ความจริงครับ อย่าใส่ไฟ คิดเอง ทำเอง ท่านต้องรับผิดชอบ
  ในสิ่งที่ทำ และที่พูดนะครับ ถ้าคนนั้นมีศาสนา ต้องเชื่อตรงนี้ครับ  
- ขอให้ความเจริญย่อมเกิดแก่ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติดี ครับ  
- ตรงไหน ผิดถูก ชี้แจง วิจารณ์ได้ครับ  ถ้าผมเขียนผิด ขออภัยไว้ล่วงหน้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท