ขั้นตอนของความหลุดพ้น


ขั้นตอนของความหลุดพ้น


วิสุทธิ  ๗
 


ขั้นตอน  ของความหลุดพ้นในพุทธปรัชญา   เมื่อพิจารณาตามแนววิสุทธิ  ๗ จะ มี  ๗  ขั้นตอน  คือ


๑.  สีลวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งศีล  คือ เมื่อมีการสำรวมระวังความบริสุทธิ์แห่งศีลก็จะเกิดขึ้น


๒.  จิตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือ การฝึกอบรมจนเกิดสมาธิขั้นอุปจารถึงอัปปนา  ในฌานสมาบัติ


๓.  ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ  คือ  ความรู้ความเข้าใจที่มองเห็น นามรูปตามสภาพที่เป็นจริง


๔.  กังขาตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณ  เป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย  คือกำหนดรู้ปัจจัยของนามรูป   ตามแนวปฏิจจสมุปบาท


๕.  มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง


๖.  ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน


๗.  ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ  คือ ความรู้ในอริยมรรค  ๔ ซึ่งเกิดถัดจาก   โคตรภูญาณ  เมื่อมรรคญาณเกิดแล้ว   ผลญาณก็จะเกิดตามมา   มรรคญาณ  และผลญาณจะเกิด  ๔ ครั้ง คือ  (๑)  มรรคญาณ.  ผลญาณ  เกิดครั้งแรกเป็นพระโสดาบัน   (๒)  ครั้งที่สอง  เป็นพระสกทาคามี  (๓)  ครั้งที่สาม   เป็นพระอนาคามี (๔)  ครั้งที่สี่  เป็นพระอรหันต์


-->> ในวิสุทธิ  ๗ ข้อนี้   ขั้นที่หลุดพ้นเป็นสมุจเฉทจริง ๆ   คือ  ขั้นที่  ๗   (ญาณทัสสนวิสุทธิ)  ส่วนขั้นที่  ๑-๖  แม้ยังไม่ใช่ขั้นของความหลุดพ้นจริง ๆ  ก็ตาม   แต่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดขั้นญาณทัสสนวิสุทธิ  คือ  ถ้าศีลวิสุทธิ   และ วิสุทธิข้ออื่น  ๆ   ไม่มีแล้ว   ญาณทัสสนวิสุทธิก็จะมีไม่ได้






ประเภทของความหลุดพ้น



วิมุติ  ๕


ในพุทธปรัชญาได้แบ่งความหลุดพ้นออกเป็น  ๕  ประเภท คือ

(๑)  วิกขัมภนวิมุติ (ความหลุดพ้นด้วยการข่มกิเลสไว้ด้วยอำนาจฌาน)

(๒)  ตทังควิมุติ  (ความหลุดพ้นชั่วขณะ)  

(๓)  สมุจเฉทวิมุติ   (ความหลุดพ้นด้วยการตัดกิเลสขาด  )

(๔)  ปฏิปัสสัทิวิมุติ  (ความหลุดพ้น  ด้วยการสงบระงับ)  

(๕)  นิสสรณวิมุติ  (ความหลุดพ้นด้วยการสลัดกิเลสออก)


ความหลุดพ้นทั้ง  ๕  ประเภทนี้  จัดเป็น ๒  ระดับคือ  ระดับโลกียะ และระดับโลกุตตระ  วิกขัมภนวิมุติ  กับ ตทังควิมุติ   เป็นความหลุดพ้นระดับโลกียะ  เพราะยังกำจัดกิเลสไม่ได้เด็ดขาด  ส่วนสมุจเฉทวิมุติ, ปฏิปัสสัทธิวิมุต, นิสสรณวิมุติ  เป็นความหลุดพ้นระดับโลกุตตระ  สามารถกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด  เป็นความหลุดพ้นของพระอริยเจ้า  คือเป็นความหลุดพ้นของพระโสดาบัน,  พระสกทาคามี อนาคามี  และพระอรหันต์

หมายเลขบันทึก: 216042เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท