ความหมายของ “สัมมาอะระหัง”


ความหมายของ  สัมมาอะระหัง

 

                หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนให้บริกรรมภาวนาว่า  สัมมาอะระหัง   เคยมีผู้วิจารณ์ว่าคำภาวนาของหลวงพ่อนั้นยืดยาว  ไม่กะทัดรัด  เมื่อหลวงพ่อทราบท่านก็ยิ้มรับคำติเตียนว่ากล่าวของผู้ไม่รู้ทั้งหลาย   การที่หลวงพ่อท่านให้บริกรรมภาวนาว่า  สัมมาอะระหัง   เพราะท่านทราบความหมายของพระพุทธคุณบทนี้ว่า  สำคัญและมีคุณประโยชน์อย่างไร  ท่านเห็นว่าการนำบทพระพุทธคุณมาเป็นพุทธานุสติในการเจริญกัมมัฏฐานนั้นให้คุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติพระธรรมโกศาจารย์   วัดมหาธาตุได้อธิบายถึงการบริกรรมภาวนา  สัมมาอะระหังว่าเป็นพุทธานุสติอันเป็นมงคลแก่ผู้ยึดถือไว้ดังนี้ 

 

                พุทธานุสติจะเป็นธรรมประการต้นที่เจ้าคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำสนใจปฏิบัติและสอนสานุศิษย์เป็นพิเศษ  ทุกครั้งที่ปฏิบัติธรรมจะต้องให้ตั้งใจระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เพราะพุทธานุสตินั้นเป็นธรรมให้จิตตื่น  ให้จิตสว่าง ให้จิตมีกำลัง  ให้จิตมีความกล้าที่จะปฏิบัตธรรมสืบต่อไป   เป็นวิสัยอันดีของพุทธศาสนิกชนทั่วไป   ธรรมดาบุคคลเราถ้าไม่มีอะไรยึดแล้ว จิตย่อมคอยแต่จะฟุ้งซ่านจะทำให้สงบอยู่ไม่ได้จิตจึงต้องมีพุทธคุณยึด  เมื่อมีพุทธคุณยึดแล้ว  จะหลับก็ตามจะตื่นก็ตาม  จิตย่อมอยู่ในการรักษาทั้งนั้น  เพราะพุทธานุภาพย่อมรักษาคนที่มีสติระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อยู่เป็นนิตย์   ดังพุทธภาษิตว่า

 

                สปฺปพุทธํ  ปพุชฺฌนฺติ                         สทา  โคตมสาวกา 

                เยสํ   ทิวาจ  รตฺโต                             นิจฺจํ  พุทฺธคตา  สติ 

 

แปลความว่า   สติที่ไปในพระพุทธเจ้ามีแต่พระสาวกของพระโคดมเหล่าใดทั้งวัน  ทั้งคืนพระสาวกของพระโคดมเหล่านั้นจะหลับก็ตาม จะตื่นก็ตาม  ชื่อว่าตื่น ๆ แล้วด้วยดี  ดังนี้

 

                อาศัยเหตุนี้พุทธานุสติจึงเป็นคุณธรรมให้เกิดความสุขใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นประการแรก  ดังนั้นเจ้าคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำจึงสนใจนัก   เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าท่านเดือนพุทธบริษัทเสมอ ๆ ว่าอย่าให้เป็นคนว่าง  ควรมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์แม้จะยังไม่บรรลุอริยผลเบื้องสูงก็ตาม  แต่รับรองว่าตายแล้วก็ไม่ตกนรก  เป็นไปสวรรค์แน่  ต้องด้วยกระแสพุทธภาษิตว่า

 

                เยเกจิ  พุทธํ  สรณํ  คตา  เส

                น เต คมิสฺสนฺติ  อปายภูมึ

                ปหาย  มานุสฺสํ  เทหํ

                เทวกายํ  ปริปูเรสฺสนฺติ

แปลความว่า   ชนเหล่าใดถึงซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ชนเหล่านั้นแลจักไม่ไปสู่อบายเมื่อเขาละร่างกายร่างกายนี้แล้วก็จะไปเพียบพร้อมอยู่ในเทวสมาคม  ดังนี้ฯ

 

                เหตุดังนั้นพุทธานุสติจึงเป็นธรรมอารักขากัมมัฏฐาน  รักษาใจบุคคลให้ควรแก่งานยิ่งนัก  ดังที่เจ้าคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำได้เตือนศิษยานุศิษย์ให้มีพุทธานุสติเป็นอารมณ์    จึงเป็นที่น่านิยมว่าระลึกไว้ประจำตนทั่วไป

                ส่วนความหมายของพุทธานุสติว่า  สัมมาอะระหัง นั้น  พ.อ.  อาภรณ์  ดิลกโศภณได้อธิบายถึงความหมายและที่มาไว้ดังนี้

 

                สัมมาอะระหัง 

                คำว่า สัมมาอะระหัง  เป็นภาษาบาลี มีศัพท์ควบคู่กันอยู่ ๒  ศัพท์  สัมมา  ศัพท์หนึ่ง

อะระหัง    ศัพท์หนึ่ง

 

                สัมมา   เป็นศัพท์ที่มีความหมายสูง  แปลว่า  ชอบ  ในพระพุทธคุณ  ๙ บท  ท่านเอาศัพท์นี้เข้าคู่กับสัมพุทโธ  เป็นสัมมาสัมพุทโธ  แปลว่า  ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  นอกจากใช้ในบทพระพุทธคุณแล้ว  ยังมีใช้ในองค์อริยมรรค  ๘ ด้วย  โดยมีคำว่า  สัมมาควบองค์มรรค  อยู่ทุกข้อเป็นสัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ  เป็นต้น

 

                ส่วนศัพท์ว่า  อรหัง  เป็นพระพุทธคุณบทต้น  แปลว่า  พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์  เมื่อเข้าคู่กันเป็นสัมมาอะระหัง   ก็แปลว่า  พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์โดยชอบ  คือถูกต้อง  ไม่ผิด  โดยนัยว่าบทบริกรรมสัมมาอะระหังของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  จึงมีความหมายสูงและอยู่ในขอบข่ายของพุทธานุสสติโดยแท้

 

                บทสัมมาอะระหังนี้  โบราณาจารย์สมัยก่อนท่านแยกพรรณนาพระพุทธคุณทีละอักษร  ในบทภาวนานี้มี ๕  อักษร คือ สัม,  มา,  อะ,  ระ,  หัง   แต่ละอักขระหรือแต่ละอักษรไปนี้ท่านโบราณจารย์ได้ให้ความหมายไว้  ดังต่อไปนี้

 

(สัม)

                สงฺขตาสงฺขเต  ธมฺเม

                สมฺมา  เทเสติ  ปาณินํ

                สํสารสฺส วิฆาเฏติ

                สมฺพุทฺธํปิ  นมามหํ

 

๑.       พระพุทธองค์ทรงแสดงสังขตธรรม  และอสังขตธรรม  โดยชอบแก่สัตว์ทั้งหลาย

๒.     พระพุทธองค์  ทรงลำลายการเวียนเกิดเวียนตายได้

๓.     พระพุทธองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

ข้าพเจ้าขอนมัสการ

 

พระคาถาบทนี้ท่านบอกอุปเล่ห์  คือวิธีใช้ไว้ว่า  ให้ภาวนาก่อนจะเข้าสู่สงครามหาผู้ทำร้ายมิได้แล

 

               (มา)

                มาตาว   มานปาลิเต

                มานสตฺเต  ปมทฺทิ โย

                มานิโต  เทวสงฺเฆหิ

                มานฆาตํ  นมามิหํ

 

๑.       พระพุทธองค์ทรงย่ำยีสัตว์ผู้มีมานะที่มานะเลี้ยงไว้ดุจมารดา

๒.     พระพุทธองค์ อันหมู่ทวยเทพยอมรับนับถือ

๓.     พระพุทธองค์ทรงทำลายมานะได้ 

 

       (ข้าพเจ้าขอนมัสการ)

 

พระคาถาบทนี้  ท่านบอกอุปเท่ห์ไว้ว่า  ภาวนาเพื่อทำคนแข็งให้อ่อน  หมายความว่า ถ้า

บังเอิญท่านต้องเผชิญกับคนใจแข็งให้มีอันแข็งข้อ แข็งกระด้างเอากับท่าน อย่างนี้แล้วโบราณาจารย์ท่านแนะนำให้ใช้คาถาแบบนี้แก้ไขเหตุการณ์

 

                (อะ)

                อนุสฺสาหสพฺพสตฺตานํ

                อนุสฺสาเหติ  โย ชิโน

                อนนฺตคุณสมฺปนฺโน

                อนฺตคามี  นมามิหํ

 

๑.       พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนคนไม่มีอุตสาหะให้มีความอุตสาหะ

๒.     พระพุทธทรงสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมไม่สิ้นสุด

๓.     พระพุทธองค์ทรงถึงที่สุดแห่งทุกข์

ข้าพเจ้าขอนมัสการ

                พระคาถาบทนี้  ท่านบอกอุปเท่ห์ไว้ว่า  ภาวนาป้องกันเสือและจระเข้  หมายความว่า ถ้าท่านต้องเข้าป่าที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม  หรือต้องลงน้ำในย่านที่มีสัตว์น้ำอันตราย  ถ้าทำใจให้เป็นสมาธิ  ภาวนาคาถาบทนี้  จะป้องกันสัตว์ร้ายได้

 

(ระ)

                รโต  นิพฺพานสมฺปตฺโต

                รโต โส  สตฺตโมจโน

                รมาเปติธ  สตฺเต  โย

                รมทาตํ   นมามิหํ

 

๑.       พระพุทธองค์ทรงยินดีในธรรมได้ทรงบรรลุถึงพระนิพพาน

๒.     พระพุทธองค์ทรงปลดเปลื้องสัตว์ให้พ้นทุกข์

๓.     พระพุทธองค์ทรงยังสัตว์ให้ยินดีในพระนิพพาน

๔.     พระพุทธองค์เป็นผู้ทรงประทานให้ซึ่งพระนิพพานอันเป็นที่ยินดี

ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ ถ้าใครยึดมั่นท่องบ่นภาวนาเป็นนิจสามารถป้องกันการกระทำคุณผีและคุณคนทั้งปวงได้

 

(หัง)

                หญฺญติ  ปาปเก  ธมฺม

                หํสาเปติ  ปทํ  ชนํ

                หํ  สมานํ  มหาวีรํ

                หนฺปาปํ   นมามิหํ

 

๑.       พระพุทธองค์ทรงฆ่าบาปธรรม

๒.     พระพุทธองค์ยังชนให้ยินดี  ซึ่งทางฆ่าบาปนั้น

๓.     พระพุทธองค์ทรงร่าเริง

๔.     พระพุทธองค์ทรงกล้าหาญยิ่งใหญ่

๕.     พระพุทธองค์ทรงฆ่าบาปได้แล้ว

ข้าพเจ้าขอนมัสการ

                พระคาถาบทนี้ โบราณาจารย์ท่านแนะนำ  ให้หมั่นเพียรภาวนาเมื่อจะเข้าสู่ณรงค์สงครามทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้

 

                พระคาถา  แสดงความหมาย   แต่ละอักขระของบทสัมมาอะระหัง ที่นำมาลงไว้พร้อมทั้งอุปเท่ห์คือวิธีใช้นี้สำหรับผู้ที่นับถือและเชื่อมั่นภาวนาให้จริงจังจนจิตเป็นสมาธิมั่นคง   ย่อมได้ผลจริงดังใจหมาย

 

                จะอย่างไรก็ตาม บทสัมมาอะระหังนี้ ย่อมใช้ได้ทั้งในแง่ของโลก  กล่าวคือเมื่อบริกรรมภาวนาอยู่เสมอย่อมจะหาผู้ทำร้ายมิได้  ทำคนใจแข็งให้อ่อน  ป้องกันเสือและจระเข้ได้  ป้องกันการกระทำคุณผีและคุณคนได้  ที่ว่าตามคดีโลกที่คนโบราณท่านว่าไว้และใช้ได้ทั้งในแง่ของธรรม  กล่าวคือ  ผู้ปฏิบัติตามบทสัมมาอรหัง  ย่อมจะเห็นแจ้งในสังขตธรรมและอสังขตธรรมทำลายการเวียนเกิดเวียนตายได้ ทำลายมานะได้  มีความอุตสาหะเต็มที่  มีความยินดีในธรรมคือ  พระนิพพาน และฆ่าบาปธรรมได้

 

                อนึ่ง  สำหรับบทอรหังโดยเฉพาะนั้น คนสมัยก่อนหรือคนสมัยนี้รู้เรื่องนิยมนำไปใช้กับคนไข้หนักก่อนสิ้นลมหายใจ  คือกล่าวนำและเตือนเขาผู้กำลังจะสิ้นใจ  ให้ท่องหรือนึกถึงพระอรหัง  โดยเชื่อกันว่า  ถ้าคนไข้มีสติน้อมใจตามคำบอกว่า  อรหัง  เพียงใจได้สัมผัสเท่านั้น  ก็จะได้ไปเกิดในที่ดี  สู่สุคติสรวงสวรรค์  จึงนิยมแนะนำกันต่อ ๆ มาจนทุกวันนี้

 

                เรื่องนี้เป็นสิ่งดี  มิใช่ของเสียหายในคัมภีร์พระธรรมบทซึ่งเป็นหนังสือเรียนของพระได้กล่าวถึงเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร  ท่านผู้นี้ก่อนสิ้นใจ ขณะป่วยหนักในภาคเป็นมนุษย์  ใจได้สัมผัสกับพระพุทธรังสีแวบหนึ่งแล้วเกิดเป็นเทพบุตรตัวอย่างมีอยู่ในคัมภีร์อย่างนี้  การบอกอรหังหรือพระอรหังแก่คนไข้หนัก  จึงมีผลทางด้านจิตใจสูง 

หมายเลขบันทึก: 216085เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
วัชรศปัสตาวยมุทรา

สาธุๆๆ สัทธา ทานัง อนุโมทนามิ

หลวงพ่อสดท่านสอนไว้ดีแล้ว มีแต่พวกที่ชอบหาเรื่องเท่านั้นแหละ

ที่ชอบมาติโน่นตินี่ ยังไม่ทันได้ศึกษาให้เข้าถึงจริงๆเลย

ก็ติหลวงพ่อสดแล้ว พวกนี้ไม่ไหวเลย

คุณนะอธิบายน่าฟังนะ หาเนื้อดี ชอบศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ถ้าคุณปรับ

อีกนิดหนึ่งคือ คุณลองมาพิสูจน์ก่อน อย่าได้กล่าวหาอะไรโดยที่ได้พิสูจน์

ผมถามคุณ คุณเจอหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือหยัง? คุณถามท่านหรือยังว่าวิธีสอน

แบบท่านมันไม่ดี? ไม่เย็นเขา แต่เย็นคุณ คุณทำไม่ถูกนะ

และที่ว่าปราชญ์ขยะนะ สำหรับคุณละกัน แต่สำหรับผมและผู้สนใจ มันคือความสุข ที่ไม่เคนสัมผัสมาก่อน ไปพิสูจน์ก่อนนะก่อนจะว่าอะไร

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่เวบ http://khunsamatha.com/

ศึกษากิจกรรมดีๆ ที่ http://forums.212cafe.com/samatha/board-4/list.html

อยากจะศึกษาคะ แต่ไม่อยากให้มีการยึดติดคะ

ดูอะไรเป็นรูปแบบไปหมดนะคะ

เพราะเป็นคนที่มีกระบวนการทางความคิด จึงเชื่ออะไรได้ยากคะ

การเชื่ออะไรยาก เป็นสิ่งที่ดีครับ

ทำไมไม่ลองศึกษาให้ดีก่อน แม้พระพุทธองค์ยังทรงให้ใช้หลักกาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ ตั้ง 10 กรณี

การยึดติดหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เราไปคิดให้เขา อยู่ที่ว่าเราเข้าใจเขาอย่างไรกระมังครับ อย่าไปยึดติดแต่ให้เข้าถึงสภาวธรรมตามเป็นจริง ให้ได้เถิดครับ

เอ...ที่ว่าเป็นคนที่มีกระบวนการทางความคิด กระบวนการที่ว่าเป็นอย่างไรล่ะครับ มันมีประโยชน์หรือมีโทษต่อการเข้าใจธรรมล่ะ ถ้ามีประโยชน์ก็จงใช้มันเสียแต่บัดนี้ ถ้ามีโทษก็อย่าเอามาใช้เลยครับ

ลองดูทีซีว่ากระบวนการทางความคิดที่ว่านั้นเป็นสัมมาทิฏฐิจริงหรือไม่ด้วยนะครับ....

สุขใจกันทุกท่านเถิดสาธุๆๆ

ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวพุทธด้วยกัน ถึงชอบทะเลาะกันเอง แค่คิดเห็นไม่ตรงกัน ไม่เบื่อบ้างหรือ มัวแต่สร้างความอ่อนแอให้แก่ศาสนาที่ตัวเองศรัทธานับถือ เห็นประโยชน์อันใดหรือที่ทำแบบนี้ ใครได้ประโยชน์จากการไม่เป็นหนึ่งเดียวของพุทธบริษัททั้งสี่

ภาวนาทุกวันทุกครั้งที่ว่างรู้สึกมีความสุขสมหวังกับสิ่งที่หวังไว้ในทุกๆเรื่องเลยค่ะ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ: )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท