เปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องความหลุดพ้นในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาเชน


เปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องความหลุดพ้นในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาเชน

ความหมายของความหลุดพ้น

 

                ในประเด็นเรื่อง  ความหมายของความหลุดพ้นของปรัชญาทั้งสองระบบสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้  โดยแยกออกเป็น    ประเด็นหลัก ๆ  คือ

 

                นิพพาน  กับโมกษะ

 

                ความหลุดพ้นในพุทธปรัชญา เรียกว่า  นิพพาน  แปลว่า  เป็นเครื่องดับกิเลส  คือ  ทำให้ราคะ  โทสะ  โมหะ   หมดไปบ้าง  แปลว่า  ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด  หรือออกไปแล้วจากตัณหาอันเป็นเครื่องร้อยรัดติดไว้กับภพบ้าง  หรืออาจกล่าวได้ว่า  นิพพาน  ก็คือ  การดับ อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  เมื่อ อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ดับไป  นิพพานก็ปรากฏแทนที่ตามปกติปุถุชน  เมื่อถูกกิเลสเหล่านี้ครอบงำ  จะทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ  คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง  เมื่อ อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ดับไป  แสงสว่างคือ  ปัญญาก็จะเกิดตามมา  ทำให้มองเห็นสิ่งทั้งหลาย  ตามความเป็นจริง  ทำให้จิตเป็นอิสระ  สว่าง สะอาด  สงบ  ปุถุชนที่ถูก  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทานครอบงำ  จะไม่รู้ไม่เข้าใจ  แต่เมื่อเข้าถึงเมื่อใด  ก็รู้แจ้งประจักษ์ด้วยตนเอง  ดังพุทธดำรัสว่า.....นิพพาน  อันผู้บรรลุเห็นได้เองไม่ขึ้นกับกาล  เรียกให้มาดูได้  ควรน้อมเข้ามาไว้  อันวิญญูชน  พึงรู้เฉพาะตน  การที่ปุถุชนไม่เข้าใจสภาวะของนิพพานได้นั้น  เพราะนิพพานเป็นภาวะที่พ้นจาก  สภาพทั้งหลายที่ปุถุชนรู้จัก  ปุถุชนจึงไม่อาจนึกหรือคิดเอาได้

 

                ส่วนความหลุดพ้นในปรัชญาเชน  เรียกว่า  โมกษะ  หมายถึง  การที่ชีวะเป็นอิสระจากอนุภาคของกรรม   เพราะไม่มีสาเหตุของการติดข้อง  คือ  อวิชชา  (ความไม่รู้จริงเกี่ยวกับชีวะ)  อวิชชานี้ทำให้เกิดกิเลส  เรียกว่า  กษายะ (ยางเหนียว)  ๔ อย่างคือ  โลภะ ความโลภ  โกรธะ  ความโกรธ  มานะ  ความถือตัว  และมายา  ความหลง  เมื่อสามารถกำจัดกรรมใหม่และกรรมเก่าได้อย่างเด็ดขาด  ก็จะพ้นจากการเกี่ยวกับวัตถุอย่างสิ้นเชิงกลายเป็นชีวะที่บริสุทธิ์ดังเดิม  ชีวะที่บริสุทธิ์นี้จะมีความรู้อันหาที่สุดมิได้  (อนันตชญาณ)มีความเห็นอันหาที่สุดมิได้  (อนันตทัศนะ)  มีความสุขอันหาที่สุดมิได้  (อนันตสุข)   ชีวะของผู้ที่บรรลุโมกษะแล้วจะลอยสูงขึ้นไปพำนักอยู่ที่สิทธสิลาอันเป็นตรงยอดสุดของโลกากาศและสถิตอยู่เป็นอมตะไม่มีการเสื่อมสลาย   จะคงอยู่ชั่วนิรันดร  อย่างไรก็ตามปัญหามีว่าชีวะที่บริสุทธิ์แต่เดิมมัวหมองได้อย่างไร   ข้อนี้เชนมิได้กล่าวเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  แต่ไปเน้นที่การกำจัดกรรมให้หมดไป  ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า  ชีวะที่บรรลุโมกษะแล้ว  อาจกลับมาติดข้องผูกพ้นอยู่กับวัตถุ  กลายเป็นชีวะที่มัวหมองได้อีก

                ตามที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า  โมกษะของปรัชญาเชนหมายถึง  ความหลุดพ้นเป็นอิสระจากกรรม  เพราะเชนเห็นว่ากรรม  เป็นตัวปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ชีวะต้องมัวหมองดังนั้นจึงมุ่งทำลายกรรมใหม่และกรรมเก่า  ด้วยสัมวร  (การปิดกั้นกรรมใหม่)   และนิรชรา (การทำลายกรรมเก่า)  เมื่อสิ้นกรรมมีบรรลุโมกษะ  ส่วนพุทธปรัชญา   เห็นว่ากิเลสเป็นตัวปัญหาที่สำคัญที่ทำให้จิตต้องมัวหมองดังนั้นจึงมุ่งทำลายกิเลสตามหลักมัชฌิมปฏิปทา (สีล  สมาธิ   ปัญญา)  เมื่อสิ้นกิเลส  ก็นิพพาน

 

                นิพพาน กับโมกษะ  เหมือนกันตรงที่  เป็นภาวะที่หลุดพ้นจากทุกข์ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก  ต่างกันตรงที่ภาวะของโมกษะเป็นอัตตา   เพราะเชนถือว่า  ชีวะที่บรรลุโมกษะแล้วจะมีความสมบูรณ์  มีความสงบอันเกิดจากความหลุดพ้นเป็นชีวะที่บริสุทธิ์ ไม่เสื่อมสลาย  เป็นอมตะอยู่ชั่วนิรันดร  สถิตอยู่    สิทธศิลา     ส่วนภาวะของนิพพานเป็นอนัตตาดังพระบาลีว่า

 

                อนิจฺจา   สพฺพสงฺขารา                        ทุกฺขานตฺตา      สงฺขตา

                นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺติ (ปญฺญตฺติ)  อนตฺตา  อิติ   นิจฺฉยา

                สังขารทั้งปวง  อันปัจจัยปรุงแต่ง  ไม่เที่ยง เป็นทุกข์   เป็นอนัตตา

                นิพพานและบัญญัติ  เป็นอนัตตา   วินิจฉัยมีดังนี้

 

                กล่าวได้ว่า  นิพพาน  และโมกษะ  เป็นสภาวะที่หลุดพ้นเหมือนกัน  แตกต่างกันที่โมกษะเป็นอัตตา  นิพพาน  เป็นอนัตตา

 

                กรรม

 

                พุทธปรัชญา  และปรัชญาเชน  ได้วางเป้าหมายสูงสุดในชีวิตไว้เหมือนกัน  คือความหลุดพ้นจากอำนาจของกรรม  ทั้งที่เป็นกรรมดีและกรรมชั่ว  เพราะปรัชญาทั้งสองระบบพิจารณาเห็นว่า  กรรมเป็นสิ่งที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ  อันนำมาซึ่งความทุกข์  แม้กรรมดีจะให้ผลเป็นความสุขก็ตาม  แต่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง  เป็นเพียงโลกียะสุข  ไม่ใช่โลกุตตรสุข  อันเป็นความสุขที่แท้จริง

 

                ในทรรศนะเรื่องกรรมนี้  พุทธปรัชญา  และปรัชญาเชนมีทรรศนะที่ต่างกัน คือ กรรมในทรรศนะของเชน  ไม่ใช่หมายเอาการกระทำเช่นเดียวกับพุทธปรัชญา  การจะรู้ว่ากรรมใดดีหรือชั่วให้ดูที่อนุภาคของกรรม   คือให้ดูที่ผลของกรรมเป็นสำคัญ  กรรมจะมีลักษณะเป็นอนุภาคเล็ก ๆ  ทุกครั้งที่มีการกระทำก็จะเกิดอนุภาคของกรรมขึ้น   และอนุภาคของกรรมนี้จะไหลแทรกซึมเข้าไปติดอยู่กับชีวะ  ทำให้ชีวะต้องมัวหมอง  ส่วนกรรมในพุทธปรัชญา  หมายถึงการกระทำ   และการกระทำที่จัดเป็นกรรมได้ให้ดูที่เจตนาเป็นหลักถ้าเจตนาดี  กรรมนั้นก็จะเป็นกรรมดีจะให้ผลเป็นความสุข  ถ้าเจตนาไม่ดีกรรมนั้นก็จะเป็นกรรมชั่วจะให้ผลเป็นความทุกข์   และถ้าไม่มีเจตนาในขณะที่กระทำก็ไม่จัดว่าเป็นกรรมดังนั้น  พุทธปรัชญาจึงไม่ดูที่ผลของการกระทำ  แต่ดูที่เจตนา  และผลของกรรมก็ไม่ใช่มีลักษณะเป็นวัตถุอย่างปรัชญาเชน   แต่เป็นนามธรรม

 

                แม้ความหมายของกรรมของปรัชญาทั้งสองระบบจะต่างกันก็ตาม  แต่ประเด็นในทรรศนะเรื่องกรรมที่เห็นตรงกัน  คือ  เห็นว่ากรรมเป็นตัวการที่ทำให้จิตหรือชีวะต้องติดข้องเวียนว่ายตายเกิดในสังวัฏ  และตัวการที่ทำให้มีการทำกรรมขึ้นคืออวิชชาในบรรดากรรมทั้งหมดนั้นก็รวมลงในสองประเภทหลัก ๆ  เหมือนกัน  คือ  กรรมดี  และ กรรมชั่ว  กรรมดีจะให้ผลเป็นความสุขกรรมชั่วจะให้ผลเป็นความทุกข์  แม้กรรมดีจะให้ผลเป็นความสุขแต่ก็เป็นเพียงความสุขขั้นโลกียะ  เป็นความสุขขั้นต่ำ    ดังนั้น  ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว  ปรัชญาทั้งสองระบบเห็นตรงกันว่า  ควรละเสียทั้งหมด

 

                จิต  กับ  ชีวะ

 

                ในพุทธปรัชญานั้น  คำว่า  จิต  มีคำที่ใช้แทนได้หลายคำ  เช่นคำว่า  มโน  วิญญาณ  มีความหมายเดียวกัน  ดังพุทธดำรัสว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติใด  ที่เรียกว่า  จิตบ้าง  มโนบ้าง  วิญญาณบ้าง  การที่ปุถุชนไม่ได้เรียนรู้พึงเบื่อหน่าย  คลายความยินดีหรือหลุดพ้นในธรรมชาตินั้น  ย่อมเป็นเป็นไม่ได้    ในพุทธปรัชญาท่านวิเคราะห์คำว่าจิตว่า  ธรรมชาติใด  ย่อมคิด  เหตุนั้น  ธรรมชาติ  นั้นชื่อว่าจิต  อธิบายว่า  ย่อมรู้แจ้งอารมณ์ตามความหมายที่ท่านวิเคราะห์จิตก็คือ  ธรรมชาติที่นึกคิดและรู้อารมณ์  จิตไม่ใช่สมองแต่อยู่เบื้องหลังการทำงานของสมอง  คืออยู่เบื้องหลังการทำงานของประสาทตา  หู   จมูก  ลิ้น  กาย

 

                ตามแนวอภิธรรมท่านกล่าวว่า จิต มีลักษณะ    อย่าง  คือ  (๑)  วิชานนลกฺขณํ (มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ)   (๒)  ปุพฺพงฺคมรสํ  (มีการเกิดก่อน และเป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ) (๓)  สนฺธานปจฺจุปฏฐานํ  (มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสายเป็นผลหรือเป็นอาการปรากฏ)  (๔)  นามรูปปทฏฺฐานํ  (มีนามรูป  เป็นเหตุให้เกิด)  จะเห็นได้ว่าตามแนวอภิธรรมนี้ได้แจกแจงลักษณะของจิตไว้อย่างชัดเจน  และในบรรดาลักษณะทั้ง ๔  นี้    ลักษณะที่สำคัญที่สุดจิตก็คือ  การรู้แจ้งอารมณ์   ส่วนลักษณะอื่น ๆ  นั้นผู้วิจัยเห็น  ว่า  มีความสำคัญรองลงไป

 

                อีกประการหนึ่ง   จิต  ไม่ใช่สาร  (Substance)  เพราะสิ่งที่เป็นสาร  จะต้องดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเที่ยงแท้  จิต  เป็น  อนิจจัง  คือเปลี่ยนแปลงเกิดดับอยู่ทุกขณะอาการเกิดดับของจิตจะมี    ระยะ  คือระยะที่จิตเกิดขึ้น  (อุปาทะ)  ระยะที่จิต  ดำรงอยู่  (ฐิติ)  และระยะที่จิตดับ  (ภังคะ)  คือ  มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่  แล้วดับไป   เป็นกระแสสืบต่อกันไม่ขาดสาย  จิตดวงเก่าเกิดขึ้นแล้วดับไป  แต่ก่อนที่มันจะดับไปนั้น  มันได้ส่งผลให้เกิดจิตดวงต่อมาจิตดวงเก่าที่ดับไป   กับจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น  จะว่าเป็นดวงเดียวกันก็ไม่ใช่  จะว่าเป็นคนละดวงก็ไม่เชิง ดังพระบาลีว่า        โส        อญฺโญ   ที่ว่า  ดวงเดียวกันก็ไม่ใช่   เพราะดวงเก่าดับไปแล้วจึงเกิดดวงใหม่  ที่ว่าเป็นคนละดวงก็ไม่เชิง  เพราะว่าก่อนที่ดวงเก่าจะดับไปนั้นมันได้ส่งพลังงานไปให้เกิดดวงใหม่ขึ้น  ส่วนในปรัชญาเชน  ถือว่า  ชีวะ  (Jiva)   เป็นสิ่งที่จริงแท้มีอยู่อย่างนิรันดรและไม่มีรูปร่าง  ลักษณะที่สำคัญของชีวะ  คือ  ความรู้สำนึก   (Getana)  ที่ทำให้ชีวะมีความรู้ทั้งที่เป็นทรรศนะ  (Darsna)  ความรู้ขั้นต่ำ  และชญาณ  (Jnana)  ความรู้ชั้นสูง   แม้ว่าชีวะจะไม่มีรูปร่าง  แต่เมื่อเข้าไปอาศัยร่างกายใด  ก็จะแสดงความรู้สึกผ่านทางร่างกายนั้นและทำหน้าที่ควบคุมร่างกาย   เหมือนนานสารถี  ทำหน้าที่ควบคุมรถ  ฉะนั้น

 

                ในคัมภีร์เนมินาถะ สิทธานตะ  (Neminatha  Siddhanta)  เป็นอรรถกถาที่สำคัญของเชน  ได้กล่าวถึงลักษณะของชีวะไว้     ประการดังนี้

 

๑.       มีความสำนึก

๒.     สัมผัสไม่ได้

๓.     เป็นตัวแทนการกระทำ

๔.     มีความเข้าใจ  และความรู้ได้

๕.     เข้ารวมกับร่างกาย  และทำให้ร่างกายมีชีวิตจิตใจ

๖.      เป็นตัวรับผลของการกระทำ

๗.     เป็นนิรันดร

๘.     บรรลุโมกษะได้

๙.      มีธรรมชาติในตัวที่เคลื่อนที่สูงได้

 

ลักษณะที่สำคัญของชีวะ คือ  ความรู้สึก  และความรู้สำนึกนี้จะเกี่ยวเนื่องกับกรรมด้วยคือ 

ถ้าชีวะถูกห่อด้วยอนุภาคของกรรมน้อย  ก็จะมีความสำนึกมา  และชีวะถูกห่อหุ้มด้วนอนุภาคของกรรมมากก็จะมีความสำนึกน้อย  ไปตามลำดับ

 

                ชีวะเดิมแท้นั้น  มีธรรมชาติที่สมบูรณ์  คือ  มีความรู้มีทัศนะ  มีความสุข  และมีอำนาจอันไม่มีขอบเขตกำจัด  แต่เมื่อชีวะเข้าอาศัยในวัตถุคือร่างกาย  ชีวะก็จะถูกอำนาจของกรรมครอบงำทำให้เสียความสมบูรณ์ไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความมากหรือน้อยของกรรมถ้าพลังกรรมมาก  ธรรมชาติเดิมแท้ของชีวะก็จะแสดงออกมาน้อย  แต่ถ้าพลังกรรมน้อยธรรมชาติเดิมแท้ของชีวะก็จะแสดงออกมาได้มาก

 

                จากการศึกษาเรื่องจิต  และชีวะ  ทำให้เห็นถึงลักษณะที่เหมือนกันและต่างกันดังนี้  ที่เหมือนกันคือ  ทั้งชีวะและจิต  มีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์รู้สำนึก  และเป็นนามธรรมสัมผัสไม่ได้  แต่เมื่อจิต  และชีวะ  เข้ามาอยู่รวมกับร่างกาย  ทำให้ร่างกายมีชีวิตจิตใจขึ้นสามารถบรรลุนิพพานและโมกษะได้.  เป็นตัวรับผลของการกระทำ  คือ  เมื่อทำกรรมใด ๆ  ไว้จิต  และ  ชีวะ  จะทำหน้าที่รับผลกรรมนั้น ๆ ที่แตกต่างกันคือ  ชีวะมีลักษณะเป็นสาร  (Substance)   ที่เที่ยงแท้นิรันดร  เป็นอมตะ  เป็นภาวะที่เที่ยงแท้ไม่เสื่อมสลาย  ส่วนจิตไม่ใช่สาร (Substance)   จะเปลี่ยนแปลง  คือ  เกิดดับอยู่ตลอดเวลา  ลักษณะของการเกิดดับมี    ระยะ  คือ  อุปาทะ  ฐิติ  ภังคะ  เป็นกระแสสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย  ดังนั้น  ชีวะจึงมีลักษณะเป็นอัตตา  ส่วนจิตมีลักษณะเป็นอนัตตา  ชีวะมีธรรมชาติในตัวที่จะเคลื่อนสู่ที่สูงได้  คือมีการพัฒนาไปในทางที่สูงขึ้น ๆ  เช่น  ชีวะของพีช  จะพัฒนาไปเป็นชีวะของสัตว์   ชีวะของสัตว์จะพัฒนาไปเป็นชีวะของมนุษย์  เป็นต้น  การพัฒนานี้จะไม่มีการถอยกลับเช่น  ชีวะของมนุษย์  จะไม่กลับเป็นชีวะของสัตว์อีก  แต่จะพัฒนาสูง ๆขึ้น ๆ จนถึงบรรลุโมกษะ   ส่วนจิตตรงกันข้ามกับชีวะ  แม้จิตจะถูกพัฒนาให้สูงขึ้นได้  แต่ตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงโลกุตตระก็อาจจะถอยกลับกลายเป็นจิตที่ตกต่ำได้

 

หมายเลขบันทึก: 216103เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อัตตา กับ อนัตตา

ปรัชญาเชนถือว่า ชีวะเป็นอัตตา ตามที่ทราบกันแล้ว และได้ปฏิเสธทฤษฎีอนัตตาของพุทธปรัชญา โดยแย้งว่าถ้าหากถือว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตาแล้ว จะต้องเกิดโทษ ๕ ประการ คือ

๑. จะเกิดความพินาศแห่งกรรมทั้งปวง คือ เมื่อไม่มีคนมารับผลของกรรมกรรมก็จะสูญพินาศไป

๒. จะมีผู้เสวยผลกรรม จากสิ่งที่ตนมิได้กระทำ

๓. ความขาดแห่งความเกิด คือ ถ้าไม่มีอัตตาแล้วใครเล่าจะไปเกิด

๔. ความขาดแห่งความหลุดพ้น คือ ถ้าไม่มีอัตตาแล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้หลุดพ้น

๕. ความขาดแห่งความทรงจำ คือ ถ้าไม่มีอัตตาแล้ว ความรู้ที่เล่าเรียนมาในวันนี้ ก็จะไม่มีในพรุ่งนี้

ปรัชญาเชนใช้หลัก ๕ ประการนี้มาปฏิเสธ อนัตตาของพุทธปรัชญา และพุทธปรัชญาได้โต้ตอบปัญหานี้ว่า คำว่า อนัตตา ไม่ใช่ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย ถ้าปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลยไม่ใช่พุทธปรัชญา อนัตตาในพุทธปรัชญามีความหมายแค่ว่า ตัวเราได้แก่ขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรที่จะคงที่ในตัวมันเอง ทุกสิ่งเกิดจากเหตุปัจจัยหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป ไม่มีอะไรคงที่ แต่ในความไม่คงที่นั้น มันมีความสืบต่อกัน ความสืบต่อกันนี้เรียกว่า สันตติสันตตินี้อุปมาเหมือนเมล็ดมะม่วง คือเมล็ดมะม่วง ไม่ใช่ต้นมะม่วง ต้นมะม่วงไม่ใช่ใบมะม่วง ใบมะม่วงไม่ใช่ผลมะม่วง แต่ทั้งผลมะม่วง ใบมะม่วง ต้นมะม่วง หน่อมะม่วงก็เกิดจากเมล็ดมะม่วง ถ้าไม่มีเมล็ดมะม่วงเป็นแกนมาก่อนแล้ว ต้นมะม่วงจะไม่มีหน่อ มะม่วงจะไม่มี กิ่งมะม่วงจะไม่มี ใบมะม่วงก็จะไม่มี ผลมะม่วงก็จะไม่มี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใบก็ไม่ใช่กิ่ง กิ่งก็ไม่ใช่ผล ผลก็ไม่ใช่ต้น ต้นก็ไม่ใช่เมล็ด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันสืบต่อกันเพราะมีเมล็ด และมีปัจจัยมาประชุมกันแล้ว หน่อก็งอก หน่องอกแล้วต้นก็เกิด ต้นเกิดแล้ว ก็แตกกิ่งก้านสาขา มีใบมีดอกออกช่อออกผล เป็นลำดับมา ฉันใด หลักอนัตตาก็ฉันนั้น คืออนัตตา เป็นแต่เพียงปฏิเสธว่า ไม่มีสภาวะที่คงที่หรือไม่มีภาวะเที่ยงแท้

อาการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเบญจขันธ์ มิใช่ดับสูญถ้าดับสูญมีสองนัย คือ นัยแรก หมายถึง เข้าสู่นิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน อีกนัยหนึ่งเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ที่เข้าใจผิด สิ่งที่ทำให้ชีวิต หรือเบญจขันธ์ มีอาการสืบเนื่องเป็นสันตตินั้น คือตัณหา ตัณหา เป็นยางเหนียวที่อยู่ภายใน ตราบใดที่ยังมีตัณหาอยู่ความสืบต่อ หรือสันตติก็ยังมีอยู่ตราบนั้น เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่มียางนำไปปลูกในที่ไร่ที่นา พอถูกแดดถูกไอร้อน มันก็งอกขึ้นมา แต่ถ้าเมล็ดพืชนั้นไม่มียางเหนียวคือ เมล็ดพืชสิ้นยางแล้ว นำไปปลูกในที่ดินดีสักเพียงไหนมันก็ไม่งอก

เพราะฉะนั้นการที่ปรัชญาเชนมาคัดค้านหลักอนัตตาเพราะไม่เข้าใจเรื่องสันตติ จึงมีความเห็นไปว่า ถ้าทุกอย่างเป็นอนัตตาแล้ว จะเกิดโทษ ๕ ประการ ดังกล่าว พุทธปรัชญาได้ตอบปัญหานี้ โดยอาศัยหลักสันตติ เป็นข้อหักล้าง

วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้น

พุทธปรัชญาและปรัชญาเชน มีทรรศนะที่เหมือนกัน ในเรื่องของการติดข้องคือเห็นว่าความติดข้องเกิดจากจิตหรือชีวะ ถูกอวิชชาหรือวิทยาครอบงำ เป็นผลทำให้จิต หรือชีวะหลงผิดไม่รู้จักธรรมชาติตามความเป็นจริง เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชาจึงทำให้เกิดกิเลสอื่น ๆ ตามมา เมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม แล้วก็รับผลของกรรมการทำกรรม และรับผลกรรมนั้น เป็นลักษณะของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

ในทัศนะเรื่องกิเลส พุทธปรัชญาแบ่งกิเลสออกเป็น ๓ คือ โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) กิเลสทั้ง ๓ นี้ เป็นเจตสิกที่จะเกิดขึ้นกับจิต จึงมีสภาพเป็นคุณสมบัติของจิต ส่วนปรัชญาเชน ได้แบ่งกิเลสออกเป็น ๔ คือ โกรธะ (ความโกรธ) โลภะ (ความอยากได้) มานะ (ความถือตัว) และมายา (ความหลง) กิเลส ทั้ง ๔ ประการนี้ มีลักษณะเป็นยางเหนียว ซึ่งเรียกว่ากษายะ ทำให้ชีวะต้องเสียความ บริสุทธิ์ไป กิเลสตามทัศนะของปรัชญาทั้งสองนี้จะต่างกันก็โดยประเภทเท่านั้น คือ พุทธปรัชญา มี ๓ ประเภท ส่วนปรัชญาเชนมี ๔ ประเภท แต่โดยลักษณะแล้วไม่ได้ต่างกัน คือ โลภะ ตรงกับ โลภะ โทสะ ตรงกับ โกรธะ และโมหะ ตรงกับ มายา มานะ

กิเลสดังกล่าวข้างต้น ทำให้จิต หรือชีวะต้องทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วย่อมรับผลของกรรม จึงทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดดังกล่าว อันมีสภาพเป็นทุกข์การจะพ้นทุกข์ได้ ปรัชญาทั้งสองมีทรรศนะที่ตรงกัน คือ ต้องทำลายอวิชชา ซึ่งเป็นต้นตอของการติดข้องให้ได้ แต่วิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดอวิชชานั้น พุทธปรัชญาและเชน มีทรรศนะที่เหมือนกันและแตกต่างกันในบางประการคือ พุทธปรัชญา เห็นว่า อวิชชาเป็นต้นเหตุที่ทำให้สรรพสัตว์สร้างกรรมอันเป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ดังนั้นจึงต้องทำลายอวิชชา การจะทำลายอวิชชาให้หมดสิ้นได้ จะต้องปฏิบัติตามอริยมรรคอันมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) มรรค ๘ ประการ จะต้องปฏิบัติให้ครบทุกข้อจึงจะได้ผล และเมื่อปฏิบัติได้ก็จะเกิดวิชชา คือความรู้ที่แท้จริง เมื่อเกิดวิชชาแล้ว อวิชชาก็ดับไป ภาวะเช่นนี้ เรียกว่าบรรลุนิพพาน มรรค ๘ ประการ โดยสรุปก็คือไตรสิกขา คือ มรรคข้อ ๑,๒ จัดเป็นปัญญาสิกขา มรรคข้อ ๓,๔,๕จัดเป็นศีลสิกขา และมรรคข้อที่ ๖,๗,๘ จัดเป็นจิตสิกขา

ส่วนปรัชญาเชน เห็นว่ากรรมเก่าที่ทำไว้ในอดีต เป็นตัวการสำคัญที่ผลักดันให้ชีวะกระทำกรรมใหม่ขึ้น เมื่อมีกรรมชีวะก็จะต้องเสวยผลของกรรม อันเป็นลักษณะที่ชีวะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏการจะทำลายสังสารวัฏได้นั้น จะต้องแยกอนุภาคของกรรมที่ติดอยู่กับชีวะให้ได้อย่างเด็ดขาด เชนได้เสนอวิธีการ ๒ วิธีคือ วิธีแรกปิดกั้นอนุภาคของกรรมใหม่ มิให้ไหลแทรกซึมเข้าสู่ชีวะได้วิธีนี้เรียกว่า สัมวร และวิธีที่สอง คือการทำลายอนุภาคของกรรมให้หมดไปเรียกว่า นิรชรา เมื่อปฏิบัติตามวิธีการทั้งสองแล้วจะทำให้เกิดสัมยัคชญาณ คือความรู้ชอบ ได้แก่ความรู้ที่ถูกต้องตามสภาพตามความเป็นจริง ไม่มีมายามาปิดบัง เป็นความรู้ เท่าทันกิเลสตัณหา เมื่อเกิดความรู้ชนิดนี้ขึ้นมาก็จะสามารถแยกอนุภาคของกรรมออกจากชีวะได้อย่างสิ้นเชิง ชีวะจึงกลับบริสุทธิ์ดั้งเดิมภาวะนี้เรียกว่า การบรรลุโมกษะอย่างไรก็ตามก่อนที่จะปฏิบัติตามวิธีการทั้งสอง จะต้องศึกษาคำสอนของดีรถังกร (ศาสดา) ก่อน ขั้นตอนในการศึกษาคำสอนของดีรถังกรมี ๓ ประการ คือ (๑) สัมยัคทรรศนะ ศรัทธาชอบ หมายถึง การยอมรับนับถือในสิ่งที่ยืนยันว่ามีอยู่จริง ๗ ประการ คือ ชีวะ อชีวะ อาสารวะ พันธะ สัมวร นิรชรา และโมกษะ ความเชื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น (๒) สัมยัคชญาณ ความรู้ชอบ หมายถึงความรู้จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งจะต้องเป็นความรู้ที่มีสัมยัคทรรศนะเป็นพื้นฐาน (๓) สัมยัคจาริตร ความประพฤติชอบ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้หลายประการ แต่โดยสรุปแล้วก็รวมอยู่ในมหาพรต ๕ ประการ คือ อหิง งดเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ อัสเตยะงดเว้นจากการลักขโมยทรัพย์ของผู้อื่น พรหมจารียะ การประพฤติพรหมจรรย์ สัตยะงดเว้นการกล่าวเท็จ และอปริครหะ งดเว้น จากการยินดียินร้าย ในอารมณ์ทั้ง ๕ มีรูปเป็นต้น ขั้นตอนทั้ง ๓ ประการ นี้รวมเรียก ตริรัตนะ

ในประเด็นเรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความหลุดพันในพุทธปรัชญา และปรัชญาเชน เราสามารถนำประเด็นต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้

ไตรสิกขา กับ ตริรัตนะ

พุทธปรัชญาเห็น ไตรสิกขา เป็นหลักการศึกษาที่ชาวพุทธจำต้องศึกษาเพราะ เป็นหลักที่หลักที่ครอบคลุมเนื้อหาของข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสไว้ทั้งหมด และถือว่าไตรสิกขานี้เป็นหลักจริยศาตร์ที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ศึกษาหลุดพ้น ส่วนตริรัตนะของปรัชญาเชนก็เป็นหลักที่ว่าด้วยการศึกษา และถือเป็นหลักจริยศาสตร์ที่สำคัญคล้ายพุทธปรัชญา นอกจากนี้ไตรสิกขาและตริรัตนะยังมีข้อปลีกย่อยที่คล้ายกัน คือ สัมยัคชญาณความรู้ชอบเปรียบเทียบได้กับปัญญาสิกขาข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญญา สัมยัคจาริตร ความประพฤติชอบเปรียบเทียบได้กับ ศีลสิกขา คือข้อปฏิบัติที่ฝึกอบรมกายวาจาให้เรียบร้อยและสัมยัคทรรศนะ ความเชื่อชอบ คือ มีความเชื่อมั่น มีความมั่นคงในหลักคำสอนของดีรถังกร (ศาสดา) เปรียบเทียบได้กับ จิตสิกขา คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตใจมั่นคงตั้งมั่น ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างไตรสิกขา กับตริรัตนะ คือ ไตรสิกขา เมื่อขยายออกก็จะได้แก่มรรค มีองค์ ๘ ประการ อันมีลักษณะเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลางไม่ตึงเกินไปไม่ย่อหย่อนจนเกินไป (มัชฌิมาปฏิปทา) ดังนั้น อาจกล่าวโดยอนุโลมได้ว่าไตรสิกขา ก็คือ ทางสายกลาง ส่วนตริรัตนะของปรัชญาเชน เป็นข้อปฏิบัติที่มีลักษณะเป็นทุกรกิริยา คือเป็นหลักปฏิบัติที่ตึงจนเกินไป เช่นการอดอาหาร (โปรษะโธปวาสพรต)และการฆ่าตัวตาย (สัสเลขนาพรต) เป็นต้น เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือเป็นข้อปฏิบัติที่กำหนดให้เกิด ความลำบาก ทุกข์ยาก และข้อปฏิบัตินี้พุทธปรัชญาก็ประฌามว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ประเสริฐ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ศีล ๘ กับ มหาพรต ๕

ศีล ๘ มหาพรต ๕

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี ๑. อหิงสา

๒. อทินฺนาทานา เวรมณี ๒. อัสเตยะ

๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี ๓. พรหมจารียะ

๔. มุสาวาทา เวรมณี ๔ . สัตยะ

๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฐานา เวรมณี ๕. อปริครหะ

๖. วิกาลโภชนา เวรมณี

๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนมาลาคนฺธ เวรมณี

๘. อุจฺจสยนมหาสยนา เวรมณี

ศีล ๘ ในพุทธปรัชญาสามารถเปรียบเทียบ มหาพรต ๕ ในปรัชญาเชนได้ คือ (๑) ปาณาติปาตา เวรมณี การงดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป เปรียบเทียบได้กับ อหิงสา คือการงดเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ (๒) อทินนาทานา เวรมณี การงดเว้นจากการลักทรัพย์ของผู้อื่น เปรียบเทียบได้กับ อัสเตยะ การงดเว้นจากการ ลักทรัพย์ของผู้อื่น (๓) อพรหมจริยา เวรมณี การงดเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์เปรียบเทียบได้กับ พรหมจารียะ การงดเว้นจากเมถุนธรรมทุกประเภท (๔) มุสาวาทาเวรมณี การงดเว้นจากการกล่าวเท็จ เปรียบเทียบได้กับ สัตยะ การพูดแต่คำจริงและเว้นจากการพูดคำเท็จ ส่วนศีลข้อ ๕,๖,๗,๘ โดยเนื้อหาก็คือให้งดเว้นจากกามคุณ ๕ ดังนั้น ผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะเปรียบเทียบกันได้กับพรตข้อ อปริครหะ การไม่ยินดียินร้ายไม่ยึดติดในกามคุณ นอกจากศีล ๘ กับ มหาพรต ๕ จะสามารถเปรียบเทียบกันได้แล้ว ยังมีลักษณะที่เหมือนกันอีกประการหนึ่งคือ เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดความสำรวมกายและวาจา ส่วนความแตกต่างกัน คือ พุทธปรัชญาถือว่า ศีลทุกข้อมีความ สำคัญเท่า ๆ กันส่วนปรัชญาเชนถือว่าพรตข้ออหิงสา สำคัญกว่าพรตทุกข้อ ข้ออื่น ๆ เป็นเพียงส่งเสริมสนับสนุนพรตข้ออหิงสาเท่านั้น

นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาศีล ๕ กับ อนุพรต ๕ มาเปรียบเทียบกันได้ในบางข้อ คือ ศีลข้อ ปาณาติบาต เปรียบเทียบได้กับ อหิงสา อทินนาทาน เปรียบเทียบได้กับอัสเตยะ. กาเมสุมิจฉาจาร เปรียบเทียบได้กับ พรหมจารียะ, มุสาวาท เปรียบเทียบได้กับสัตยะ ศีล ๕ และอนุพรต ๕ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้ครองเรือน ไม่เข้มงวดเหมือนมหาพรต

ธุดงค์ กับ ตบะ

ธุดงค์ คือ องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส หมายถึงข้อวัตรปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น ธุดงส์ ทั้งหมด มี ๑๓ ข้อ คือ

๑. ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร์

๒. เตจีวรกังคะ องค์แห่งผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร์

๓. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร์

๔. สปาทานจาริกังคะ องค์แห่งผู้เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร์

๕. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งผู้นั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร์

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร์

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร์

๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร์

๙. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร์

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร์

๑๑. โสสานิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร์

๑๒. ยถาสันติกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร์

๑๓. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร์

ธุดงค์ทั้ง ๑๓ นี้ โดยสรุปก็อยู่ในสามเรื่องใหญ่ ๆ คือ ความสันโดษในจีวรความสันโดษ

ในบิณฑบาต, ความสันโดษในเสนาสนะที่อยู่อาศัย โดยปกติพระสงฆ์ก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แต่ถ้ารูปใดปรารถนาจะปฏิบัติให้เคร่งครัด เข้มงวดยิ่งขึ้นก็ต้องสมาทานธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่ง ใน ๑๓ ข้อนั้น ธุดงค์ที่ปฏิบัติอย่างเข้มงวดจะเป็นตัวส่งเสริมสนับสนุนให้บรรลุธรรมได้

ส่วนตบะ ในปรัชญาเชน หมายถึงความเข้มงวด ได้แก่การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเอาจริงเอาจัง ตบะ มี ๒ ชนิด

๑. ตบะภายนอก ๖ ประการ

๑. อนคน(Anasana) การอดอาหาร

๒. อวเมาทรยะ(Avamuadarya) การกินอาหารน้อยกว่าหนึ่งอิ่ม

๓. วฤตติปรสัมขยานะ(Vrttiparisamkhyana) การยอมรับอาหารแบบมีเงื่อนไข

๔. รสปริตรยาคะ (Rasaparityaga) ไม่ติดในรสอาหาร

๕. วิวิกตศยยาสนะ(Viviktasayyasana) นั่งหรือนอนในที่อันสงัด

๖. กายกเลศะ (Kayaklesa) การทรมานร่างกาย

๒. ตบะภายใน ๖ ประการ

๑. ปรายศจิตตะ(Prayascitta) การสำนึกในความผิดแล้วปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

๒. วินยะ(Vinaya) ความสุภาพ ความถ่อมตน

๓. ไวยยาวฤตยะ(Vaiyavrtya) การขวนขวายช่วยเหลือแก่นักบวชด้วยกันเมื่อมีความจำเป็น

๔. สวาธยายะ (Svadhyaya) การศึกษาคัมภีร์

๕. วยุตสรคะ(Vyutsarga) การไม่ติดข้อง ได้แก่ การสละความเป็นเจ้าของทั้งภายนอก เช่น การสละทรัพย์สมบัติ และการสละภายใน เช่น การสละความโกรธ

๖. ธยานะ(Dhyana) การทำจิตให้แน่วแน่มั่นคง รวมทั้งการตรึกตรองถึงธรรมชาติ และสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลด้วย

การปฏิบัติอย่างเข้มงวดที่เรียกว่า ตบะ นี้ จะสามารถทำลายอนุภาคของกรรมให้หมดสิ้นได้

ธุดงค์ และตบะ มีประเด็นที่เหมือนกัน และต่างกัน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ คือ ธุดงค์ และตบะ มีลักษณะที่เหมือนกันที่ต่างก็เป็นข้อปฏิบัติที่มีลักษณะเข้มงวดเอาจริงเอาจัง เป็นข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด และสนับสนุน ความมักน้อย สันโดษความต่างกัน คือ ธุดงค์นั้นพุทธปรัชญาไม่ได้กำหนดว่า พระภิกษุทุกรูปต้องปฏิบัติ รูปใดปรารถนาจะปฏิบัติก็ทำได้ตามอัธยาศัย ส่วนตบะนั้น เชนถือว่าจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพราะการจะแยกชีวะออกจากอนุภาคของกรรมได้นั้น จะต้องประพฤติตบะทั้งภายนอกและภายใน

นอกจากนี้ยังสามารถ นำข้อปลีกย่อยบางข้อมาเปรียบเทียบกันได้ คือ ธุดงค์ที่เกี่ยวกับการขบฉัน ๕ ข้อมีปิณฑปาติกังคะ, สปาทานจาริกังคะ, เอกาสนิกังคะ, ปัตตปิณฑิกังคะ และ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ทั้งหมดนี้เปรียบเทียบได้กับ ตบะ ข้อ อวเมารยะ, วฤตติปริสังขยานะ และ รสปริตรยาคะ ๓ ข้อนี้ เป็นตบะ ที่เกี่ยวกับการกิน ธุดงส์ ข้ออารัญญิกังคะ , รุกขมูลิกังคะ, อัพโภกาสิกังคะ และโสสานิกังคะ ๔ ข้อนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอยู่อาศัย เปรียบเทียบ ได้กับตบะข้อ วิวิกตศยยาสนะ การนั่งหรือนอนในที่อันสงัดธุดงส์และตบะดังกล่าวนี้ แม้ข้อปลีกย่อยจะคล้ายกันบ้างแตกต่างกันบ้าง แต่มีประเด็นหลักที่เหมือนกันคือ เพื่อความมักน้อย สันโดษ เพื่อความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ และ เพื่อสนับสนุนการบรรลุถึงความหลุดพ้น

สมาธิ กับ ธยานะ

สมาธิ ในพุทธปรัชญา หมายถึง ความตั้งมั่นแห่งจิต หรือสภาวะที่จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน จิตที่เป็นสมาธิจะมีลักษณะสำคัญ คือ ตั้งมั่น (สมาหิตะ) บริสุทธิ์ (บริสุทธิ) ผ่องใส (ปริโยทาตะ) โปร่งใสเกลี้ยงเกลา (วิคตูปกิเลส) นุ่มนวล (มุทุภุตะ) ควรแก่การงาน (กัมมนิยะ) ตั้งมั่นไม่วอกแวกหวั่นไหว (ฐิตอาเนญฺชปฺปตฺต) จิตที่เป็นสมาธิจะมีพลังมาก สงบราบเรียบ เหมือนน้ำ ไม่กระเพื่อม ใสกระจ่าง มองเห็น อะไร ๆ ได้ชัดเจน

ประเภทของสมาธิ

๑. สมาธิ ๒ ได้แก่

- อุปจารสมาธิ สมาธิจวนจะแน่วแน่

- อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ หมายเอาสมาธิในองค์ฌาน

๒. สมาธิ ๓ ได้แก่

- ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ

- อุปจารสมาธิ สมาธิจวนจะแน่วแน่

- อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ หมายเอาสมาธิในองค์ฌาน

๓. สมาธิ ๓ ได้แก่

- สุญญตสมาธิ คือ สมาธิที่กำหนดพิจารณาความว่างได้แก่ตัววิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้น ด้วยการกำหนดอนัตตลักษณะ

- อนิมิตตสมาธิ คือ สมาธิที่กำหนดพิจารณาธรรมที่ไม่มีนิมิต ได้แก่ตัว วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้น ด้วยการกำหนด อนิจจลักษณะ

- อัปปริหิตสมาธิ คือสมาธิที่กำหนดพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา ได้แก่ ตัววิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยการกำหนดทุกขลักษณะ

ในบรรดาสมาธิ ๓ ประเภทนี้ สมาธิ ๒ , สมาธิ ๓ ข้างต้น เป็นสมาธิที่เกิดจากการเจริญสมถกรรมฐาน เพราะการเจริญสมถะจะทำให้เกิดสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง ถึงอัปปนาสมาธิ ส่วนสมาธิ ๓ ประเภทหลัง ได้แก่สมาธิที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา โดยการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์

วิธีฝึกสมาธิ ที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันสืบ ๆ มาตามแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีลำดับขั้นตอนดังนี้ (๑) ตัดปลิโพธิ (๒) เข้าหากัลยาณมิตร (๓) รับเอากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔๐ อย่าง (๔) อยู่ในวัดที่เหมาะสมกับการเจริญสมาธิ (๕) ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ การเจริญสมาธิ จิตจะประณีตขึ้นตามลำดับ เป็นขั้น ๆ ภาวะจิตจะสงบเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปณา เป็นสมาธิที่เกิดจากองค์ฌาน หรืออาจกล่าวได้ว่า ผลจากการเจริญสมาธิจะทำให้ได้ฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติแม้เป็นภาวะแห่งจิตที่ลึกซึ้ง แต่ก็ยังเป็นเพียงระดับโลกีย์เท่านั้น ไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริงของพุทธปรัชญา ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลของสมาธินั้นกิเลสต่าง ๆ จะสงบระงับไปชั่วคราว ไม่ยั่งยืนแน่นอน คือกิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนหินทับหญ้า ยกหินออกเมื่อใดหญ้าก็กลับงอกขึ้นได้อีกอย่างไรก็ตาม แม้ฌานจะไม่ใช่จุดหมายของพุทธปรัชญาก็ตาม แต่สามารถนำเอาฌานที่ได้ใช้เป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อ เพราะจิตที่เป็นสมาธิเป็นจิตที่ควรแก่การงาน พร้อมที่จะถูกพัฒนาให้สูงขึ้น ๆ จึงถึงบรรลุธรรมขึ้นสูงสุด

จุดประสงค์ของการฝึกสมาธิก็เพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน, เพื่อได้ญาณทัศนะ,เพื่อมีสติสัมปชัญญะ และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย สมดังพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา (การเจริญสมาธิ) มี ๔ อย่าง คือ สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ฌานทัศนะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ สติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

จากพุทธพจน์ แสดงให้เห็นว่า สมาธิที่เจริญดีแล้ว ย่อมได้ประโยชน์ ๔ ประการ คือสามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความสุขในปัจจุบัน, มีญาณทัสสนะที่ถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ และที่สำคัญคือไม่มีกิเลสอันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มารบกวน นับได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางของพุทธปรัชญา

ส่วนธยานะ ในปรัชญาเชน มีความหมายที่ปรากฏใน ตัดตวารถสูตรว่า “ธยานะ หมายถึง ความจดจ่อของจิตไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง วิธีนี้คล้ายกับการฝึกสมาธิสำหรับท่าในการฝึกธยานะไม่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ หากสำคัญอยู่ที่จิตของผู้ฝึกเอง คือจะต้องมีจิตแน่วแน่ มั่นคง และบริสุทธิ์ แม้ว่าเชนจะไม่ให้ความสำคัญกับท่าในการฝึกก็ตาม แต่ท่าที่นิยมปฏิบัติกัน คือ ผู้ฝึกจะต้องนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายวางไว้บนหน้าตัก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ไม่เคลื่อนไหวใบหน้า แล้วกำหนดลมหายใจ (ปราณายามะ) มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดจิตให้ แน่วแน่ มั่นคง และสิ่งที่สำคัญกว่าการกำหนดลมหายใจ คือ การเพ่งจิตไปที่หน้าผาก (ปรัตยหาร) นอกจากนั้นยังมีการเพ่งจิตที่ตา, หู, ปลายจมูก, ปาก, ศรีษะ, หัวใจ และ ระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง

เชนได้แบ่ง ธยานะ ออกเป็น ๔ ชนิด คือ อารตะ, เราทระ, ธรมะ และศุกละสองแบบแรกเป็นธยานะที่ไม่ดี เพราะไม่สามารถนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ ส่วนสองชนิดหลังเป็น ธยานะที่ดี คือธรรมะ ธยานะ จะนำไปสู่สวรรค์ และศุกละ ธยานะ จะนำไปสู่ความหลุดพ้น

ธรมะ ธยานะ แบ่งออกเป็น ๔ แบบ คือ

๑. อชฺญาณ วิจาย ธรมะ ธยานะ (Ajanana vicaya Dhyana)หมายถึง ความมีศรัทธาอันมั่นคง ในคำสอนของคัมภีร์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ โดยประกอบด้วยความรู้แจ้งของตนด้วย

๒. อปรายวิจายะ ธรมะ ธยานะ (Apryavicaya dhrna dhyana) หมายถึงการคิดว่าชีวะที่มัวหมองด้วยกรรมนั้นเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับหนทางแห่งความรู้แจ้งรวมทั้งการไตร่ตรองถึงวิธีที่จะช่วยให้นักรบบวชที่มีศรัทธา ความรู้ และความประพฤติที่ผิด ๆ ได้กลับมามีความเห็นที่ถูกต้อง

๓. วิปากวิจายะ ธรมะ ธยานะ (Vipka vicaya dharma dhayana) หมายถึงความคิดในเรื่องผล

ของกรรม รวมทั้งความเพลิดเพลิน ความเจ็บปวดทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง ซึ่ง

สามารถกำหนดและควบคุมได้

๔. สัมสถาน วิจายะ ธรมะ ธยานะ (Samsthana vicaya dharma dhyana) หมายถึง ตรึก

ตรองถึงธรรมชาติและสิ่งต่างๆ ในจักรวาล ในลักษณะที่ปราศจากความติดข้อง รวมทั้งการตรึกตรองถึงลักษณะรูปร่างของจักรวาล นรกทั้ง ๗ รวมทั้งความทุกข์ในนรกโลกมนุษย์ สวรรค์ทั้ง ๑๖ และความสุขในสวรรค์รวมทั้งสิทธิศิลา (Siddhasila) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชีวะที่หลุดพ้นแล้วจะไปสถิตอยู่

ธรมะ ธยานะ ทั้ง ๔ แบบนี้ จะนำไปสู่สวรรค์และความสุขในสวรรค์โดยตรงและ

สนับสนุนให้ไปสู่ความหลุดพ้นโดยอ้อม การจะบรรลุถึงความหลุดพ้นได้จะต้องมีศุกละธยานะ

การไตร่ตรองในที่นี้คือ การใช้จิตที่ได้สมาธิแล้วไตร่ตรองพิจารณาในเรื่องกรรม, จักรวาล, นรก สวรรค์ เป็นต้น ดังนั้น ความหมายของสมาธิและธยานะ จึงคล้ายกันในแง่ที่ว่า หมายถึงภาวะของจิตที่แน่วแน่มั่นคงจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน

วิธีฝึกสมาธิ และธยานะ มีข้อปลีกย่อยที่เหมือนกันและต่างกันคือ ท่าในการฝึกสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา แล้วกำหนดอารมณ์ที่เหมาะกับจริตของตนอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔๐ อย่าง เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ) หรืเพ่งกสิณ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นสมถกรรมฐาน และผลที่เกิดจากการฝึกสมถกรรมฐาน คือได้ฌานสมาบัติซึ่งมิใช่จุดหมายของพุทธปรัชญา การจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ จะต้องเจริญวิปัสสนาต่อโดยใช้สติพิจารณา กาย, เวทนา, จิต, ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ผลของวิปัสสนาจะทำให้เกิดวิปัสสนาญาณ ที่รู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันกิเลส ตัณหา และบรรลุถึงความหลุดพ้นในที่สุดส่วนท่าในการฝึกธยานะจะนั่งท่าขัดสมาธิ หลับตาแล้วกำหนดลมหายใจเข้าออก(ปราณายามะ-Pranayama) จุดประสงค์เพื่อทำจิตใจตั้งมั่นแน่วแน่และที่สำคัญกว่าการกำหนดลมหายใจ คือ การเพ่งจิตไปที่หน้าผาก (ปรัตยาหาระ-Pratyahara) และที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย จุดประสงค์ก็เพื่อทำจิตให้สงบ และหลุดพ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าท่านั่งในการฝึกคล้ายกัน ต่างกันแต่วางมือเท่านั้น นอกจากนี้การกำหนดอารมณ์ก็ คล้ายกัน คือ อานาปาณสติ เปรียบเทียบ ได้กับปราณายมะ และกสิณ ได้แก่การเพ่งเปรียบเทียบได้กับปรัตยาหาระ การเพ่งจิตไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่หน้าผาก เป็นต้น ส่วนความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดเจน คือ พุทธปรัชญา มีการฝึกสติ (สติปัฏฐาน) แต่ปรัชญาเชนไม่มี

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อปลีกย่อยต่าง ๆ จะเหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้าง แต่จุดประสงค์หลักของการ ฝึกสมาธิ และ ธยานะ เหมือนกันคือ เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อความสิ้นกิเลส เพื่อความดับทุกข์

ขั้นตอนของความหลุดพ้น

วิสุทธิ ๗ กับ คุณสถาน ๑๔

ขั้นตอนของความหลุดพ้นในพุทธปรัชญา เมื่อพิจารณาตามแนววิสุทธิ ๗ จะมี ๗ ขั้นตอน คือ

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล คือ เมื่อมีการสำรวมระวังความบริสุทธิ์แห่งศีลก็จะเกิดขึ้น

๒. จิตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือ การฝึกอบรมจิตจนเกิดสมาธิขั้นอุปจารถึงอัปปนา ในฌานสมาบัติ

๓. ทิฏฐิวิสุทธิความหมดจดแห่งทิฏฐิคือ ความรู้ความเข้าใจที่มองเห็น นามรูปตามสภาพที่เป็นจริง

๔. กังขาตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณ เป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย คือ กำหนดรู้ปัจจัยของนามรูป ตามแนวปฏิจจสมุปบาท

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค ๔ ซึ่งเกิดถัดจาก โคตรภูญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดแล้ว ผลญาณก็จะเกิดตามมา มรรคญาณ และผลญาณจะเกิด ๔ ครั้ง คือ (๑) มรรคญาณ ผลญาณ เกิดครั้งแรก เป็นพระโสดาบัน (๒) ครั้งที่สอง เป็นพระสกทาคามี (๓) ครั้งที่สาม เป็นพระอนาคามี (๔) ครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์

ในวิสุทธิ ๗ ข้อนี้ ขั้นนี่หลุดพ้นเป็นสมุจเฉทจริง ๆ คือขั้นที่ ๗ (ญาณทัสสนวิสุทธิ) ส่วนขั้นที่ ๑-๖ แม้ยังไม่ใช่ขั้นของความหลุดพ้นจริง ๆ ก็ตามแต่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดขั้นญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ถ้าศีลวิสุทธิ และวิสุทธิข้ออื่น ๆ ไม่มีแล้ว ญาณทัสสนวิสุทธิก็จะมีไม่ได้

ส่วนขั้นตอนของความหลุดพ้น ในปรัชญาเชน เมื่อพิจารณาตามคุณสถาน จะมี ๑๔ ขั้นตอน คือ

๑. มิถยาทฤษฎี คุณสถาน ขั้นที่ยังมีศรัทธาที่ผิด ๆ

๒. สาสวาทนะ สัมยัคทฤษฎี คุณสถาน ขั้นที่เริ่มมีศรัทธาที่ถูกต้อง

๓. มิศร คุณสถาน เป็นขั้นของความลังเลสสัย อยู่ระหว่างความเชื่อที่ถูกต้องกับความเชื่อที่ผิด

๔. อวิรตะ สังยัคทฤษฎี คุณสถาน เป็นขั้นที่มีศรัทธาถูกต้องมั่นคง

๕. เทสสัมยตะ คุณสถาน เป็นขั้นที่กรรมเริ่มอยุดหลั่งไหล

๖. ปรมัตตะ สัมยัค คุณสถาน เป็นขั้นที่มองเห็นความสงบบางส่วน แต่ยังมีความพอใจในทางโลกอยู่

๗. อปรมัตต สัมยตะ คุณสถาน เป็นขั้นที่สามารถชนะความหลับได้

๘. นิวฤตติ พาทระ คุณสถาน เป็นขั้นที่ชีวะเริ่มมีความบริสุทธิ์จนสามารถทำให้การหลั่งไหล ของกรรมน้อยลงและกรรมเก่าอ่อนตัวลง

๙. อนิวฤตติ สามปรายะ คุณสถาน เป็นขั้นที่ไม่มีความโกรธและมนะ ส่วนราคะจะเบาบาง

๑๐. สุกษมะ สัมปรายะ คุณสถาน เป็นขั้นที่กำจัดกิเลสได้เหลือเพียงโลภะอย่างเดียว

๑๑. อุปสานตะ โมหนียะ คุณสถาน เป็นขั้นที่สามารถกำจัดกรรมชั่วได้

๑๒. กษีณะ กาษายะฉทมสถา วีตราคะ คุณสถาน เป็นขั้นที่สามารถกำจัดกรรมได้หมด และโมหนียะ (กรรมที่ทำให้เกิดความหลง) ก็จะถูกทำลาย กลายเป็นผู้รู้แจ้ง (ตรัสรู้)

๑๓. สโยคะ เกวลิ คุณสถาน เป็นขั้นที่ชีวะจะพบกับความไม่จำกัด ๔ อย่าง คือ อนันตชญาณ (มีความรู้อันหาที่สุดมิได้) อนันตวีรยะ (มีความเพียรอันหาที่สุดมิได้อนันตทัศนะ (มีความเห็นอันหาที่สุดมิได้) และอนันตสุข (มีความอันหาที่สุดมิได้) ในขั้นนี้กรรมที่จะนำไปเกิดอีกได้หมดสิ้นแล้ว เหลือเพียงอฆาตีกรรม ๔ อย่าง คือ เวทนียะ, อายุส, นาม , และโคตร เพราะยังมี

กิจกรรมทางกาย วาจา และใจอยู่ จนกระทั่ง อายุสกรรมหมดไป กรรมอื่น ๆ นอกจากนี้จึงหมดไปด้วย

๑๔. อโยคะ เกวลิ คุณสถาน เป็นขั้นที่บรรลุโมกษะชีวะจะมีความอิสระอยู่กับ

ความบริสุทธิ์เป็นขั้นที่มีความรู้ชอบศรัทธาชอบ และความประพฤติชอบอย่าง

สมบูรณ์

คุณสถานทั้ง ๑๔ ขั้นนี้ เชนถือว่าขั้นที่ ๑๑ เป็นขั้นแรกของการพัฒนาเพราะสามารถกำจัดกรรมชั่วได้ และขั้นที่ ๑๒ เป็นขั้นของการพัฒนาที่สูงสุด เพราะสามารถกำจัดกรรมได้หมด กลายเป็นผู้รู้แจ้งเป็นอันว่าตรัสรู้ ในขั้น ๑๒ นี้แม้ว่ากรรมเก่าจะได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าบรรลุโมกษะ จะต้องรอให้อายุสกรรมดังกล่าวสิ้นไปในขั้นที่ ๑๓ ก่อนจึงบรรลุโมกษะในขั้นที่ ๑๔ คือ ชีวะจะบรรลุโมกษะได้จะต้องแยกออกจากร่างกายก่อนคือ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว วิญญาณหรือชีวะก็จะออกจากร่างกายลอยสูงขึ้นไปสถิตอยู่ ณ สิทธศิลา ส่วนขั้นที่ ๑-๑๐ ไม่ใช่ขั้นตอนของการพัฒนาที่แท้จริงเพราะยังไม่สามารถกำจัดกรรมได้ แต่เป็นขั้นทีสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา จนถึงความหลุดพ้นในวิสุทธิ ๗ และ คุณสถาน ๑๔ มีประเด็นที่คล้ายกันและแตกต่างกันสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้

คล้ายกันในแง่ที่ว่า ทั้งวิสุทธิ และคุณสถาน ต่างก็เป็นขั้นตอนของการพัฒนาจิตหรือชีวะ ที่หลุดพ้นเป็นขั้น ๆ และคล้ายกันอีกประการหนึ่งคือ วิสุทธิ และคุณสถานต่างก็สอดคล้องกับหลักจริยศาสตร์ของตน คือ วิสุทธิ สอดคล้องกับไตรสิกขา คุณสถานสอดคล้องกับตริรัตนะ ต่างกันในแง่ที่ว่าวิสุทธิ์ ๗ มุ่งความบริสุทธิ์ หมดจดของจิตจากกิเลสเป็นหลัก เมื่อกิเลสถูกทำลายก็ถือว่าเสร็จกิจ ส่วนคุณสถาน หาเป็นเช่นนั้นไม่ คือ แม้กิเลสและกรรมถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าเสร็จกิจ ต้องรอให้อายุกรรสิ้นไปเสียก่อน แล้วบรรลุโมกษะจึงเป็นอันเสร็จกิจ และความแตกต่างกันอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อพิจารณาดูวิสุทธิ จะพบว่ากิเลสค่อย ๆ ถูกทำลายทีละขั้น ๆส่วนคุณสถานจะพบว่ากรรมจะถูกทำลายทีละขั้น ๆ จนหมด

นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาข้อปลีกย่อยบางข้อของวิสุทธิและคุณสถานมาเปรียบเทียบกันได้อีก คือ สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล เมื่อมีการสำรวมระวังความหมดจดแห่งศีลย่อมเกิดขึ้นเปรียบเทียบได้กับ นิวฤตติ พาทระ คุณสถานเป็นขั้นที่กรรมหลั่งน้อยลง และกรรมเก่าอ่อนตัวลง เพราะมีการสำรวมระวังอันเกิดจากการประพฤติพรต

จิตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต สามารถระงับกิเลสต่าง ๆ ได้ด้วยอำนาจของสมาธิในองค์ฌาน เปรียบเทียบได้กับ อนิวฤตติ สามปรายะ คุณสถาน เป็นขั้นที่สามารถสงบระงับกิเลสต่าง ๆ ได้

ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ เปรียบเทียบได้กับกษีณ กาษายะ ฉทมสถา วีตราคะ คุณสถาน เพราะเป็นขั้นที่กิเลสและกรรมถูกทำลายจนหมดกลายเป็นผู้รู้แจง (ตรัสรู้) ในขั้นนี้

อย่างไรก็ตาม วิสุทธิ ๗ และคุณสถาน ๑๔ แม้จะมีข้อปลีกย่อย ๆ คล้ายกัน บ้างแตกต่างกันบ้าง แต่ประเด็นหลักคล้ายกัน คือ ต่างก็เป็นขั้นตอนของการพัฒนาจิตหรือชีวะเหมือนกัน

ประเภทของความหลุดพ้น

วิมุติ ๕ กับ คุณสถาน ๑๔

ในพุทธปรัชญาได้แบ่งความหลุดพ้นออกเป็น ๕ ประเภท คือ (๑) วิกขัมภนวิมุติ (ความหลุดพ้นด้วยการข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจฌาน) (๒) ตทังควิมุติ (ความหลุดพ้นชั่วขณะ) (๓) สมุจเฉทวิมุติ (ความหลุดพ้นด้วยการตัดกิเลสขาด) (๔) ปฏิปัสสัทธิวิมุติ (ความหลุดพ้น ด้วยการสงบระงับ (๕) นิสสรณวิมุติ (ความหลุดพ้นด้วยการสลัดกิเลสออก)

ความหลุดพ้นทั้ง ๕ ประเภทนี้ จัดเป็น ๒ระดับ คือ ระดับโลกียะ และระดับ โลกุตตระ วิกขัมภนวิมุติ กับ ตทังควิมุติ เป็นความหลุดพ้นระดับโลกียะ เพราะยังกำจัดกิเลสไม่ได้เด็ดขาด ส่วนสมุจเฉทวิมุติ, ปฏิปัสสัทธิวิมุติ, นิสสรณวิมุติ เป็นความหลุดพ้นระดับโลกุตตระ สามารถกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด เป็นความหลุดพ้นของพระอริยเจ้า คือ เป็นความหลุดพ้นของพระโสดาบัน พระเสกทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์

ในคุณสถาน ๑๔ ได้กล่าวถึงการพัฒนาการของจิตเป็นขั้น จากขั้นต่ำสุด คือ มิถยาทฤษฎี คุณสถาน ไปจนถึงขั้นที่ ๑๔ คือ อโยคะ เกวลิ คุณสถาน ก็ตาม แต่ก็มิได้บอกไว้ว่าขั้นตอนไหนเป็นความหลุดพ้นประเภทใด ดังนั้นเป็นการยากที่จะบอกว่าขั้นไหนเป็นความหลุดพ้นประเภทใดอย่างไรก็ตามจากการศึกษาคุณสถานทั้ง ๑๔ ขั้นพบว่า ขั้นที่ ๑-๑๐ เป็นขั้นที่ยังไม่มีความแน่นอน เพราะยังไม่สามารถกำจัดกิเลสและกรรมได้อย่างเด็ดขาด บางครั้งก็พัฒนาบางครั้งก็ถอยกลับ จึงควรจัดเป็นความหลุดพ้นระดับโลกียะส่วนขั้นที่ ๑๑-๑๔ เป็นขั้นที่แน่นอนเพราะสามารถกำจัดกรรมได้ตามลำดับจนหมดสิ้นจึงควรจัดเป็นความหลุดพ้นระดับโลกุตระ ดังนั้น ประเภทของความหลุดพ้นจึงน่าจะมี ๒ ประเภท คือ ประเภทแรกเป็นความหลุดพ้นระดับโลกียะ ประเภทที่สองเป็นความหลุดพ้นระดับโลกุตตระ

ในทรรศนะเรื่องประเภทของความหลุดพ้นนั้นจะเห็นว่า พุทธปรัชญาต่าง จากปรัชญาเชนอย่างชัดเจน เพราะพุทธปรัชญาได้จัดประเภทของการหลุดพ้นไว้ ส่วนปรัชญาเชนมิได้จัด การที่ปรัชญาเชนไม่ได้จัดประเภทของความหลุดพ้นไว้ อาจเป็นเพราะเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญส่วนประเด็นที่สำคัญจึงควรเป็นเรื่องของการทำลายกรรมเมื่อสามารถทำลายกรรมได้หมด ก็ถือว่าหลุดพ้นเป็นอันใช้ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดประเภท ส่วนการจัดประเภทของความหลุดพ้นในพุทธปรัชญานั้น แม้จะจัดเป็น ๕ ประเภทก็ตาม แต่ประเภทที่หลุดพ้นจริง ๆ มีเพียง ๓ ประเภท คือ สมุจเฉทวิมิติ, นิสรณวิมุติ, ปฏิปัสสัทธิวิมุติ อยู่ในระดับโลกุตระ ส่วน ๒ ประเภทที่เหลือยังมิใช่ความหลุดพ้นที่แท้อยู่ในระดับโลกียะเท่านั้น ผู้วิจัยถึงเห็นว่า การที่พุทธปรัชญา จัดไว้หลายประเภทเช่นนี้น่าจะเป็นกุศโลบายในการสอนธรรมมากกว่า คือผู้มุ่งปฏิบัติจะได้เกิดกำลังใจ แม้ว่าความหลุดพ้น ๒ ประเภทแรก จะไม่ใช่ความหลุดพ้นที่แท้จริงก็ตาม แต่เป็นกำลังใจให้เกิดอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น และหลุดพ้นอย่างแท้จริงได้ในที่สุดอย่างไรก็ตาม แม้เชนจะมิได้จัดประเภทของความหลุดพ้นไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากคุณสถาน ๑๔ จะพบว่ามีความหลุดพ้นอยู่สองระดับ คือ โลกียะ กับโลกุตตระ จึงสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับ วิมุติ ๕ ได้ในแง่ที่ว่า วิมุติ ๕ เมื่อจัดเป็น ๒ระดับ จะเป็นระดับโลกียะ กับโลกุตตระเหมือนกัน

พระอรหันต์

พระอรหันต์ในพุทธปรัชญา และอรหันต์ในปรัชญาเชน สามารถนำเอาความหมาย,ภาวะ, และบทบาทหน้าที่มาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้

๑. ความหมายในพุทธปรัชญา คำว่า อรหันต์ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลสหมายถึงผู้ที่

สามารถกำจัดได้หมด กลายเป็นผู้ตรัสรู้ ส่วนในปรัชญาเชน อรหันต์หมายถึงผู้ที่ทำลายกรรมได้เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อสามารถแยกชีวะออกจากกรรมได้จึงเสร็จกิจ ดังนั้น ความหมายของอรหันต์ใน

พุทธปรัชญาและปรัชญาเชน จึงต่างกันในแง่ที่ว่า อรหันต์ในพุทธปรัชญา พ้นจากกิเลส ส่วนอรหันต์ในปรัชญาเชน พ้นจากกรรม ที่เหมือนกันคืออรหันต์ในพุทธและเชน เป็นผู้หลุดพ้น ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

๒. ภาวะของอรหันต์ พระอรหันต์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาเชน มีภาวะทางจิตและภาวะทางความประพฤติที่คล้ายกันคือ ภาวะทางจิตจะมีความสุข สงบ เพราะสามารถกำจัดกิเลสและกรรมได้หมด จึงไม่ถูกกิเลสรบกวน และภาวะทางความประพฤติท่านก็ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ส่วนที่แตกต่างกันคือ ภาวะทางปัญญาเพราะเชนถือว่า ผู้ที่หลุดพ้นแล้วจะมีภาวะทางปัญญาที่แตกต่างกันไปตามลำดับคือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก จะมีภาวะทางปัญญาที่ลดหลั่นกันลงมา

๓. บทบาทหรือหน้าที่ของพระอรหันต์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาเชน พระอรหันต์มีหน้าที่ที่คล้ายกันคือ ทำหน้าที่เป็นครูคอยแนะนำสั่งสอนชี้นำสังคม ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนหน้าที่ที่แตกต่างกัน คือ อรหันต์ในปรัชญาเชนมีหน้าที่หรือบทบาทในฐานะเป็นเทพ ส่วนอรหันต์ในพุทธปรัชญา ไม่มีหน้าที่ในฐานะเป็นเทพ

ปรัชญาเชนปฏิเสธพระเจ้า แต่ก็ยกย่องผู้หลุดพ้นในฐานะเป็นเทพ เพราะถือว่าที่หลุด พ้นแล้วจะมีสภาวะของเทพอยู่ภายใน ดังนั้น พระอรหันต์จึงต้องทำหน้าที่ในฐานะเป็นเทพ หน้าที่ของเทพเป็นอย่างไร เช่นไม่ได้บอกไว้ชัด บอกแต่เพียงว่าอรหันต์ในฐานะเทพนั้น จะเป็นที่เคารพบูชาเทิดทูนของสังคม ผู้วิจัยเห็นว่าบทบาทในฐานะเทพนี้ก็ คือ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าจะมีพระเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยว แต่เชนปฏิเสธพระเจ้า จึงยึดเอาพระอรหันต์เป็นที่ยึดเหนี่ยวแทน ส่วนพระอรหันต์ในพุทธปรัชญาไม่มีหน้าที่ในฐานะเป็นเทพ แม้จะยกย่องบูชาพระอรหันต์ แต่ก็มิได้ยกย่องท่านเหมือนเทพ เพราะฐานะของพระอรหันต์ในพุทธปรัชญานั้น สูงส่งยิ่งกว่าเทพใด ๆ

กล่าวได้ว่า พระอรหันต์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาเชน แม้จะมีบางประเด็จทีแตกต่างกันบ้าง แต่มีประเด็นหลักที่เหมือนกันคือ เป็นผู้หลุดพ้นไม่ต้องกลับมาเกิดอีกด้านการดำเนินชีวิตก็เป็นแบบอย่างที่ดี มีความสุข มีคุณธรรมไม่หลีกหนีสังคม เสียสละอุทิศตนในการอบรมสั่งสอน ดังนั้นพระอรหันต์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาเชน จึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของสังคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท