กรรมเป็นปฐมเหตุของสังสารวัฏ


กรรมเป็นปฐมเหตุของสังสารวัฏ

พระพุทธศาสนาเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมก็เพื่อที่จะให้มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้   และใช้ปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย   การให้ผลของกรรมย่อมแตกต่างกันไป  กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้    เรียกว่าทิฏฐธรรมเวทนียกรรมกรรม  บางอย่างให้ผลในชาติหน้า  เรียกว่า  อุปบัชชเวทนียกรรม และ  กรรมบางอย่างให้ผลในชาติต่อ  ๆ  ไป เรียกว่า  อปราปรเวทนียกรรม  

กรรมเป็นของผู้ใด  ผลกรรมก็ย่อมเป็นของผู้นั้น   จะยกไปให้ผู้อื่นไม่ได้  นี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน   เหตุอย่างใด    ผลก็อย่างนั้นเสมอ   การให้ผลของกรรมนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น  เมื่อมีผู้ทำกรรม ผลแห่งกรรมก็ย่อมตอบสนองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ผู้กระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี  ครั้นตายไปเขาก็ต้องไปเกิดในสุคติ   ผู้กระทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว  ครั้นตายไปเขาก็ต้องไปเกิดในทุคติ   กรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี   ครั้นตายไปเขาก็ต้องไปเกิดในสุคติ  

กรรมดีและกรรมชั่วจึงมีความสัมพันธ์กันกับการเวียนว่ายตายเกิดใหม่อย่างแน่นอน  เพราะเหตุนี้  พระพุทธองค์จึงสอนเรื่องกรรมอันเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดกรรมเท่านั้นเป็นตัวนำสรรพสัตว์ให้ไปเกิดในที่ดีหรือไม่ดี   แต่คำว่า  กรรมในที่นี้หมายถึงกรรมที่เกิดจากการกระทำของตนเท่านั้น    ไม่ว่าจะเป็นกรรมในอดีตหรือในปัจจุบันแต่ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เช่น  ในอดีตชาติเราทำกรรมชั่ว  พอมาในชาตินี้ผลของกรรมชั่วตอบสนอง  เราก็ทำกรรมดีเพื่อบรรเทาผลของกรรมชั่วในอดีตให้อ่อนกำลัง  แต่กรรมดีในชาตินี้จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยในชาตินี้และชาติหน้าต่อไป  การเกิดใหม่ด้วยอำนาจผลของกรรมนั้น  ไม่ว่าจะเกิดในโลกมนุษย์   โลกสวรรค์   และโลกนรกถือว่าเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น  สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องวนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ชาติแล้วชาติเล่า  เนื่องมาจากกรรมนั่นเอง  ดังพระพุทธพจน์ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม  บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย  ด้วยวาจา  ด้วยใจ  ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน  คือผัสสะเป็นเหตุเกิดกรรม  ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน  คือ  กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี  ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี   ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี   ที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มี  ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี.....

(องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๓๔/๔๖๔-๔๖๕. ฉบับ  สยามรฏฐสฺส  เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)


จากพระพุทธพจน์นี้  แสดงให้เห็นว่า   ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ถ้ากล่าวโดยปรมัตถ์แล้วก็คือ   การเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  เป็นทุกข์   เพราะว่า  ชีวิตสรรพสัตว์หาได้มีเพียงชาตินี้เดียวไม่  ชีวิตภายหลังความตายก็ต้องได้รับผลของกรรมอีกต่อไปวนเวียนไปในวัฏสงสารด้วยอำนาจของกิเลส  กรรม  และวิบาก  จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน  คือ  ความดับจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล  ดังนั้น   พระพุทธองค์จึงตรัสสอนใช้ดับกรรมก็เพื่อให้ดับต้นตอแห่งสังสารวัฏนั่นเอง

-->> จึงสรุปได้ว่า  บ่อเกิดแห่งสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตาย  เกิดได้แก่กรรมดีและกรรมชั่ว  ซึ่งยจะได้อธิบายเรื่องสังสารวัฏโดยละเอียดต่อไป

 

สังสารวัฏในพุทธปรัชญาเถรวาท

ก. สังสารวัฏในพระพุทธศาสนา

ตามทรรศนะพระพุทธศาสนา  การที่คนใดคนหนึ่งตายไปตกนรกหรือไม่สวรรค์หรือบรรลุพระอรหัต  ก็เพราะอาศัยการกระทำของตนเป็นพื้นฐาน  มนุษย์จึงมีฐานะที่สูงสุด  หมายความว่ามนุษย์เป็นนายของตนเอง  ไม่มีผู้วิเศษหรือสิ่งอื่นใดจะมาตัดสินชะตากรรมของมนุษย์ได้นอกจากกรรมของตนเท่านั้น  เรื่องนรก  สวรรค์  เป็นสถานที่อยู่อาศัยสัตว์ทั้งหลายที่มาเกิดตามอำนาจผลแห่งกรรม   เรื่องราวเวียนว่ายนี้มีปรากฏขึ้นในพระญาณของพระพุทธเจ้าในวันตรัสรู้  2  ประการคือ   ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ  ส่วนอาสวักขยญาณนั้นไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ในที่นี้จะได้ศึกษาเกี่ยวกับปุพเพนิวาสนุสสติญาณ  จุคูปปตญาณและอาสวักขยญาณตามลำดับดังต่อไปนี้

1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  หมายถึง ญาณที่สามารถระลึกอดีตชาติ  คือ  ชาติก่อนได้เป็นจำนวนมาก  กล่าวคือ  ระลึกชาติได้  หนึ่งชาติ  สองชาติ เป็นต้น ในญาณนี้ยังระลึกสิ่งที่ละเอียดอีกด้วย   ในเรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้   พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับวัจฉะในจูฬวัจฉโคตตสูตร ว่า

(ม.ม. ๑๓/๒๔๒/๒๓๘. ดูข้อความนัยเดียวกันใน , ม.ม. ๑๓/๑๕/๑๕, ที.สี. ๙/๑๓๖/๑๐๗,  ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)


ดูก่อนวัจฉะ  ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น   ย่อมระลึกชาติได้เป็นอันมาก  คือ  ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง   สองชาติบ้าง  สามชาติบ้าง.....ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง  ตลอดวิวัฏกัปวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่าในภพโน้น  เรามีชื่ออย่างนั้น  มีโคตรอย่างนั้น   เสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น   ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว  ได้ไปเกิดในภพโน้น  แม้ในภพนั้น  เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น   มีโคตรอย่างนั้น  มีผิวพรรณอย่างนั้น   มีอาหารอย่างนั้น   เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น  ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก   พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุทเทสด้วยประการนี้

ในอุปทาน  พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงบุพพกรรมของพระองค์ไว้มากมาย  แต่ในที่นี้จะขอเลือกนำมากล่าวเป็นบางเรื่องเท่านั้นดังนี้

(ขุ.อป. ๓๒/๓๙๒/๔๗๑-๔๗๔, ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

ในชาติหนึ่ง   พระองค์เป็นนักเลงชื่อ อปุนาสิ   ได้กล่าวตู่ใส่ร้ายพระพุทธเจ้าสุรภิ  ผู้มิได้ประทุษร้ายต่อพระองค์เลย  ผลกรรมนั้นทำให้เวียนว่ายในนรกได้รับทุกขเวทนาตลอดกาลนาน  ในพระชาติสุดท้ายจึงถูกนางสุนทรีใส่ความ

ในชาติหนึ่ง   พระองค์ได้กล่าวตู่ใส่ความนันทะสาวกของพระพุทธเจ้าสัพพาภิภู   ต้องไปตกนรกอยู่เป็นเวลานาน  ในพระชาติสุดท้ายจึงถูกนางจิญจมานวิกามาใส่ความ

ในพระชาติหนึ่ง   พระองค์ทรงฆ่าน้องต่างมารดาตาย  เพราะเหตุแห่งทรัพย์โดยการผลักน้องชายตกลงซอกเขาแล้วเอาหินทุ่ม  ในพระชาติสุดท้ายจึงถูกพระเทวทัตเอาหินทุมสะเก็ดกระเด็นมากระทบพระบาทจนพระโลหิตห้อ

ในพระชาติหนึ่ง   พระองค์เป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่  เห็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าแล้ว  จุดไฟเผาดักไว้ทั่วทุกหนทาง   ในพระชาติสุดท้ายจึงถูกพระเทวทัตชักชวนนายขมังธนูให้มาประทุษร้ายพระองค์

ในพระชาติหนึ่ง   พระองค์เป็นนายควาญช้าง  ได้ไล่ช้างให้จับมัดพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กำลังเดินบิณฑบาต   ในพระชาติสุดท้ายจึงถูกข้างนาฬาคีรีจะประทุษร้ายเป็นต้น


ในญาณนี้เป็นเรื่องระลึกอดีตชาติที่ผ่านมา  พระพุทธศาสนาพยายามจะชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่สามารถระลึกชาติได้นั้น  จำต้องบำเพ็ญบารมีไว้เป็นหลายชาติ   แต่ละชาตินั้นมีทั้งความสุขและความทุกข์ทรมาน   ชีวิตที่ผ่านประสบการณ์มาแต่ละชาติเป็นเรื่องของกรรมที่อำนวยผลมาให้

 

2.  จุตูปปาตญาณ  ได้แก่ญาณที่พระองค์สามารถเห็นหมู่สัตว์ทั้งหลายกำลังจุติ (ตาย)   กำลังอุบัติ (เกิด)   นั่นหมายความว่า  สัตว์ที่กำลังตายและกำลังเกิดสัตว์บางพวกทำดีก็ไปสถานทีดี  และบางพวกทำชั่วก็ไปสู่สถานที่ไม่ดี  (ทุคติ)   ในญาณนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้

ดูก่อนวัจฉะ  ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ   กำลังอุบัติเลว  ประณีต  มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม  ได้ดี  ตกยาก  ด้วยทิพยจักขุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดชิ่งหมู่สัตว์  ผู้เป็นไปตามกรรมว่า  สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต   ติเตียนพระอริยเจ้า   เป็นมิจฉาทิฏฐิยึดถือการกระทำด้วยมิจฉาทิฏฐิ   เบื้องหน้าแต่ตาย   เพราะกายแตก  เขาเข้าถึงอบาย  ทุคติ   วินิบาต   นรก   ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต  วจีสุจริต   มโนสุจริต   ไม่ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ  ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก   เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(ม.ม. ๑๓/๒๔๒/๒๓๘, ข้อความนัยเดียวกันใน, ม.อุป. ๑๔/๕๐๕/๓๓๔-๓๓๕, ม.ม. ๑๓/๑๖/๑๖, ที.สี. ๙/๑๓๗/๑๐๙, ฉบับ สยามรัฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

ในญาณนี้ เมื่อพิจารณาแล้ว  จะเห็นได้ว่า  ทำไมคนเราจึงไม่เห็นสัตว์ที่เกิดที่ตายเล่า   จากข้อความที่อ้างข้างบนนี้จะเห็นได้ว่า  พระองค์ทรงเห็นบรรดาสัตว์กำลังตาย   กำลังเกิด  ด้วยทิพยจักษุ   หรือตาทิพย์   ซึ่งมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่สามารถเห็นได้  จุตูปปาตญาณเป็นวิชชาที่เกี่ยวโยงถึงกฎแห่งกรรมและสังสารวัฏพระองค์ทรงมีจักษุทิพย์ด้วยญาณทั้งสามคือ  อติตังสญาณ  อนาคตังสญาณ  และปัจจุบันนังสญาณ

อตีตังสญาณ  ปรีชาหยั่งเห็นเหตุการณ์ในส่วนอดีตกาลว่า  เป็นเหตุการณ์อะไรครั้งไหนอย่างไร   เป็นต้น  เหมือนตนเองได้เห็นมาก่อน

อนาคดังสญาณ   ปรีชาหยั่งเห็นเหตุการณ์ในอนาคตอันไกลว่าเป็นเช่นไรเกิดขึ้นเมื่อไร  ที่ไหน  เป็นต้น  ญาณนี้จะสามารถพยากรณ์เหตุการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำดุจตาเห็น


ปัจจุบันนังสญาณ  ปรีชาหยั่งรู้เห็นเหตุการณ์ในปัจจุบันอันจะเกิดขึ้นในระยะใกล้และรู้ได้ว่าเป็นเหตุการณ์อะไร   เกิดที่ไหน  มองเห็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง  เป็นต้น

 

3.  อาสวักขยญาณ  หมายถึงญาณที่สิ้นอาสวะกิเลส  พระองค์ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตมุติ   ปัญญาวิมุติ  ในญาณนี้ถือว่าเป็นวิชชาสูงสุดทางพระพุทธศาสนาพระองค์สามารถทำลายกิเลสอาสวะได้โดยเด็ดขาด  พระองค์ได้ตรัสกับวัจฉะไว้ดังนี้

ดูก่อนวัจฉะ  เราทำให้แจ้งแล้วซึ่งเจโตวิมุติ   ปัญญาวิมุติ   อันหาอาสวะมิได้  เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป  ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่

(ม.ม. ๑๓/๒๔๒/๒๓๘. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

 

ในวิชชา  3  เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า  ทางพระพุทธศาสนายอมรับเรื่องสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติอย่างแน่นอน  เรื่องสังสารวัฏนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า  การตายไม่ใช่กระบวนสุดท้ายของชีวิตหรือจบสิ้นเท่านั้น  ชีวิตใหม่ต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องตามแรงแห่งกรรมนั้น

 

ข. สังสารวัฏคืออะไร

คำว่าสังสารวัฏหรือวัฏสงสารมีใจความหรือความหมายอันเดียวกัน  สังสารวัฏแยกออกเป็น  สังสาร  กับ  วัฏฏะ  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตสถาน  พ.ศ.   2525  ได้ให้ไว้  คำว่า  สงสาร  หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด,  การเวียนตายเวียนเกิด คำว่า วัฏ  หมายถึง  วงกลม,  การหมุน   การเวียนไป,  รอบแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย  สังสารวัฏแปลตามอักษรว่า  การเวียนว่ายตายเกิดเป็นวงกลม   โดยใจความหมายถึง   การที่สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เวียนว่ายตายเกิด  คือ  เกิดแล้วตาย  ตายแล้วเกิดใหม่   แล้วตายอีกแล้วเกิดใหม่อีกวนเวียนอยู่อย่างนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น   นี้คือ   การท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม

(นายสุนทร ณ รังสี , ราชบัณฑิต  บทความเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสังสารสัฏกับมรรผลนิพพานในพุทธปรัชญา , เสนอในที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก  สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๓ , หน้า ๒)

จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หมุนเวียนอย่างช้ำๆ  ซาก ๆ  เช่นนี้จึงทำให้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป   เช่น  น้ำในแม่น้ำลำคลอง   เมื่อถูกแสงอาทิตย์แผดเผา  น้ำจะกลายเป็นไอน้ำ   ลักษณะเช่นนี้จะเกิดการหมุนเวียนอยู่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด   เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้   ได้ปรากฏในหนังสือปัญหาพระยามิลินท์ซึ่งพระยามิลินท์ได้ถามพระนาคเสนว่าสังสารวัฏได้แก่อะไร   พระนาคเสนได้ตอบว่าสังสารวัฏ  ได้แก่ การเวียนว่ายตายเกิด  อุปมาเหมือนขาวสวนปลูกมะม่วงไว้  ครั้นเกิดผลก็เก็บมารับประทานแล้วนำเอาเมล็ดมะม่วงนั้นเพาะปลูกต่อไป   เมื่อต้นมะม่วงออกผลก็เก็บ มารับประทานแล้วปลูกใหม่อีกต่อไป   สังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดก็  เช่นนั้น  ดังที่พระนาคเสนได้อธิบายไว้ว่า

สังสารวัฏก็มีอาการหมุนเวียนเช่นนั้นเหมือนกัน  คือนับแต่เราเกิดมา  เราก็ตั้งต้นเพาะความดีความชั่วเป็นตัวบุญบาปขึ้น  เมื่อเราเพาะความดีความชั่วอันเป็นเหตุขึ้นแล้ว   เราก็ต้องรับผลของความดีความชั่วนั้น   แต่จะช้าหรือเร็วสุดแต่อำนาจบุญบาป  ผลนั้นแลจูงใจให้เราเพาะเหตุต่อไปอีก  เหมือนผู้ที่ได้รับประทานผลมะม่วงแล้ว  เพาะเมล็ดมะม่วงนั้นขึ้นใหม่ต่อไป  ฉะนั้นก็ขณะเมื่อเราเพาะเหตุและรับผลอยู่นี้   เราย่อมถูกความแก่ชราพยาธิพัดผันให้ใกล้ความตายเข้าไปทุก ๆ  ขณะ  ครั้งเราถึงวาระแห่งความตาย  ความดีความชั่ว   คือ  บุญบาปที่เราได้เพาะทำไว้ในชาตินั้นก็เริ่มปั่นให้เราหมุนไปเกิดแก่เจ็บตายต่อ ๆ  ไปอีก  วนเวียนกันอยู่โดยทำนองนี้เรื่อยไปจนกว่าเราจะได้หยุดเพาะเหตุ  2  ประการนั้นเสีย....

(กรมศิลปากร , ปัญหาพระยามิลินท์ , พระนคร : โรงพิมพ์เจริญธรรม , ๒๔๘๓ , หน้า ๙๐.)

 

ค. ความยาวนานแห่งสังสารวัฏ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเกี่ยวกับกาลเวลาแห่งสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งใช้เวลา
ยาวนานมาก  ตามทรรศนะของพุทธปรัชญา  เราไม่อาจสาวไปหาจุดเริ่มต้นและเบื้องปลายของมนุษย์ได้  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  พระองค์ทรงอุปมาความยาวแห่งสังสารวัฏไว้ดังนี้

(สิ.นิ. ๑๖/๔๒๑/๒๑๒. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)



…..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า  บุรุษตัดทอนหญ้า  ไม้  กิ่งไม้  ใบ้ไม้  ในชมพูทวีปนี้  แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว  พึงกระทำให้เป็นมัด ๆ  ละ  4  นิ้ววางไว้  สมมติว่า   นี้เป็นมารดาของเรา   นี้เป็นมารดาของมารดาเราโดยลำดับ  มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น  ไม่พึงสิ้นสุด  ส่วนว่าหญ้าไม้  กิ่งไม้ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้  พึงถึงการกำหนดสิ้นไป....

(สิ.นิ. ๑๖/๔๒๒/๒๑๒.ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕. )

......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เหมือนอย่างว่า  บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน  ก้อนละเท่าเม็ดกระเบาแล้ววางไว้  สมมติว่า   นี้เป็นบิดาของเรา  นี้เป็นบิดาของเรา  นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา   โดยลำดับ   บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด  ส่วนปฐพีนี้ถึงการหมดสิ้นไป........

(สิ.นิ. ๑๖/๔๒๓/๒๑๒-๒๑๓. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้  ฯลฯ   พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน  น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา   คร่ำครวญร้องไห้อยู่  เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ   เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจโดยกาลนานนี้  กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง  4  สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พวกข้าพระองค์  ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า  น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมา   คร่ำครวญร้องไห้อยู่มากกว่า  ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง  4 ไม่มากกว่าเลย........


(สิ.นิ. ๑๖/๔๒๕/๒๑๓.ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕. )

จากข้อความในพระพุทธพจน์นี้  เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า  สังสารวัฏนี้มีความยาวนานมาก  จนที่ไม่สามารถจะกำหนดได้ว่า  มันเริ่มต้นและสิ้นสุดลงได้เมื่อไรและความยาวนานแห่งสังสารวัฏนี้เอง  เราไม่สามารถที่จะนับได้ว่า   เป็นวัน  เป็นเดือน  เป็นปี  หรือในที่สุดแม้จะนับเป็นกัปได้เลย  ในบัพพสูตร   สาสบสูตร  สาวกสูตร  และคงคาสูตร   พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องกับหนึ่งว่า  มีความยาวนานมาก   กัปหนึ่งไม่สามารถที่จะนับเท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี  เท่านี้พันปี  และเท่านี้แสนปี  ดังพุทธพจน์ว่า  

ดูก่อนภิกษุ   กัปหนึ่งนานแล   มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า   เท่านี้ปี  เท่านี้  100  ปี  เท่านี้  1,000   ปี  หรือว่าเท่านี้  100,000  ปี   พระองค์ทรงอุปมาเกี่ยวกับเวลากัปหนึ่งนั้นว่า  มีกาลเวลายาวนานมาก  ประมาณไม่ได้  ดังที่พระพุทธเจ้าทรงอุปมาไว้ดังนี้

(สิ.นิ. ๑๖/๔๒๙/๒๑๕. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

........ดูก่อนภิกษุ เหมือนอย่างว่า  ภูเขาหินลูกใหญ่  ยาวโยชน์หนึ่ง  กว้างโยชน์หนึ่ง  สูงโยชน์  ไม่มีช่อง  ไม่มีโพรง   เป็นแท่งทึบ  บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น  100  ปีต่อครั้ง   ภูเขาหินลูกใหญ่   พึงถึงการหมดไปสิ้นไปเพราะความพยายามนี้  ยังเร็วกว่าแล  ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไปสิ้นไปกัป   นานอย่างนี้แล   บรรดากัปที่นานอย่างนี้  พวกเธอท่องเที่ยวไปแล  มิใช่หนึ่งกัป   มิใช่ร้อยกัป  มิใช่พันกับ   มิใช่แสนกับ.....

(สิ.นิ. ๑๖/๔๓๐/๒๑๕-๒๑๖. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

........ดูก่อนภิกษุ   เหมือนอย่างว่า  นครที่ทำด้วยเหล็กยาวโยชน์  1 กว้างโยชน์  1 สูงโยชน์  1 เติมด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด   มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน   บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง ๆ  ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด  เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่ นั้น  พึงถึงความสิ้นไปหมดไป  เพราะความพยายามนี้  ยังเร็วกว่าแล   ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไปหมดไป  กัปนานอย่างนี้แล  บรรดากับที่นานอย่างนี้  พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่หนึ่งกัป   มิใช่ ร้อยกัปมิใช่ร้อยกับ  มิใช่พันกัป  มิใช่แสนกัป......

(สิ.นิ. ๑๖/๔๓๑/๒๑๖. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

........ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  มีสาวก  4 รูป ในศาสนานี้  เป็นผู้มีอายุ  100 ปี  มีชีวิต 100  ปี หากว่า  ท่านเหล่านั้นพึงระลึกถอยหลังไปได้วันละแสนกัป  กัปที่ท่านเหล่านั้นระลึกไม่ถึงยังมีอยู่อีก  สาวก  4 รูปของเราผู้มีอายุ  100  ปี  มีชีวิต  100  ปี  พึงทำกาละโดยล่วงไป  100  ปี  ๆ  โดยแท้แล  กัปที่ผ่านไปแล้วล่วงไปแล้ว  มีจำนวนมากอย่างนี้แล  มิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า  เท่านี้กัปเท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป  หรือว่าเท่านี้แสนกับ.....

(สิ.นิ. ๑๖/๔๓๔/๒๑๗.ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕. )

.......ดูก่อนพราหมณ์   แม้น้ำคงคานี้ย่อมเกิดแต่ที่ใด  และย่อมถึงมหาสมุทร  ณ  ที่ใด เมล็ดทรายในระยะนี้ไม่เป็นของง่ายที่กำหนดได้ว่า  เท่านี้เม็ด  เท่านี้  100  เม็ด  เท่านี้  1,000  เม็ด  หรือว่าเท่านี้  100,000 เม็ด  ดูก่อนพราหมณ์กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว   ล่วงไปแล้ว   มากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น   มิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า  เท่านี้กัป  เท่านี้  100  กัป  เท่านี้  1,000  กัป   หรือว่าเท่านี้  100,000 กัป.......


(สิ.นิ. ๑๖/๔๓๖/๒๑๘. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

จากพระพุทธพจน์ที่ยกมานี้  ตอนท้ายข้อความ  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

“.......ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะว่า  สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น  .......”  

การที่สัตว์ตายแล้วย่อมถือปฏิสนธิเกิดใหม่วนเวียนอยู่ใน  ภูมินี้หรือในโลกทั้งสาม  กล่าวคือ  โลกนรก  โลกมนุษย์  โลกสวรรค์  แต่ละโลกนั้นมีกาลเวลายาวนานมาก  เช่น  เราในฐานะอยู่ในโลกมนุษย์ถ้าทำความดีก็ไปเกิดในโลกสวรรค์  ถ้าทำความชั่วจะบังเกิดในโลกนรกต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 216106เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท