ทรรศนะของพุทธปรัชญาที่มีต่อสังสารวัฏในแนวคิดสัสสตทิฏฐิ


ทรรศนะของพุทธปรัชญาที่มีต่อสังสารวัฏในแนวคิดสัสสตทิฏฐิ

ศาสนาพราหมณ์และศาสนาเชนเชื่อว่า  ภายในตัวมนุษย์มีแก่นสารที่เป็นอมตะ   ไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลาย   แก่นสารที่ว่านี้จะเป็นตัวไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ต่อไป  ทั้งสองทรรศนะนี้เชื่ออีกว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีแก่นสารที่เป็นอมตะคนละหนึ่งดวง  แก่นสารที่เป็นอมตะจึงเป็นเอกลักษณ์พิเศษในทรรศนะของศาสนาพราหมณ์และศาสนาเชน แก่นสารที่ว่านี้ไม่ตายไปพร้อมกับร่างกาย   เมื่อใดร่างกายชำรุดแตกสลายหรือตายไม่  แก่นสารที่เป็นอมตะนี้จะทิ้งร่างกายเก่าและจะไปสิงในร่างกายใหม่ทันที

พุทธปรัชญาย่อมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้แน่นอน  การที่คนทั่วไปเข้าใจว่าในตัวคนเรามีแก่นสารที่เป็นอมตะ เช่นนั้น  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  เป็นการเข้าใจผิดในความเป็นจริง  แก่นสารที่เป็นอมตะนั้นไม่มี  พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่าแก่นสารที่เป็นอมตะน่าจะอยู่ในอำนาจหรือบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้  แต่แก่นสารที่เป็นอมตะนั้นไม่สามารถอยู่ในอำนาจ  หรือบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราเลย  ดังพระพุทธพจน์ในปัญจวัคคียสูตร  ซึ่งเป็นสูตรที่ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตาได้แสดงไว้ว่า

.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  รูปมิใช่ตัวตน   ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้   รูปนี้ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ   ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่าขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย  ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน  ฉะนั้นรูปจึงเป็นเพื่ออาพาธ  และไม่ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า  ขอรูปของเรา   จงเป็นอย่างนี้เถิด   อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.....
เวทนามิใช่ตัวตน.....สัญญามิใช่ตัวตน.....สังขารมิใช่ตัวตน.....วิญญาณมิใช่ตัวตน.....


(สํ.ข. ๑๗/๑๒๗/๖๒-๘๓. ฉบับ สยามรฏฐสฺส  เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

จากพระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า  การที่เราเข้าใจว่า  มีตัวตนที่เที่ยงแท้ ถาวรนั้น ในพุทธมติเห็นว่า  ไม่มี  เพราะคำว่า ตัวตน”   เป็นเพียงการประกอบร่วมกันเหมือนกับคำว่า  รถ    ที่เรียกว่ารถก็เพราะอาศัยสิ่งต่างๆ  เข้าร่วมกันเป็นองค์ประกอบของรถ  เมื่อแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ  ออกแล้ว  คำว่ารถจะมีได้อย่างไร   ตัวตนก็ เช่น เดียวกัน  และสิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นมันเป็นการสมมติที่เราใช้เรียกเท่านั้น   ในความเป็นจริง  หามีสิ่งนั้นไม่  จากข้อความนี้แสดงถึงพุทธมติดังนี้


ถ้าขันธ์  5 เป็นอัตตาแล้วไซร้  ขันธ์เหล่านี้ก็คงไม่เกิดอาพาธ  ไม่เสื่อมสลาย  ไม่ชำรุด  ดูเหมือนว่า  ขันธ์  5  มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ  แม้รูปที่เราเห็นว่ามันเป็นรูปร่างลักษณะ  น่าจะเป็นตัวตนได้  แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  หากใครว่ารูปเป็นอัตตานั้น  หาเป็นการสมควรไม่  ดังนัยแห่งพระพุทธพจน์ว่า

.....ผู้ใดกล่าวว่า  รูปเป็นอัตตา  คำของผู้นั้นไม่ควร รูปย่อมปรากฏแม้ความเกิดแม้ความเสื่อม  ก็สิ่งใดแล   ปรากฏแม้ความเกิดแม้ความเสื่อมสิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า   อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป  เพราะฉะนั้นคำของผู้ที่กล่าวว่า  รูปเป็นอัตตานั้นจึงไม่ควร  ด้วยประการฉะนี้  จักษุจึงเป็นอนัตตา  รูปจึงเป็นอนัตตา.....

(ม.อุ. ๑๔/๘๑๘/๕๑๒. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎฏกํ ๒๕๒๕.)

ข้อความนี้ชี้ให้เห็นว่า รูปเป็นสิ่งที่มีการเกิดและการดับ  จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน  จากจุดนี้ เอง   พุทธปรัชญาจึงไม่เห็นด้วยที่ว่า  อาตมันตามนัยของศาสนาพราหมณ์  มีแก่นสารที่เป็นอมตะ  เพราะอาตมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การที่พุทธปรัชญาไม่เห็นด้วยกับแก่นสารที่เป็นอมตะโดยอาศัยหลักอนัตตานั้น  เมื่อเราศึกษาเรื่องอนัตตา  ก็จะพบว่า  อัตตาที่เที่ยงแท้นั้นไม่มี   ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   มีการเกิด-ดับอยู่เสมอ  และมีสันตติคือการสืบต่อเกี่ยวโยงกันไปไม่ขาดสายดุจลูกโซ่   จากหลักอนัตตานี้จึงมีลักษณะเด่นดังนี้

1. ไม่มีตัวตนที่แท้จริง  ของสิ่งนั้นยืนตัวเป็นแก่นอยู่

2. สภาพที่ปรากฏนั้นเกิดจากองค์ประกอบต่าง  ๆ  มาประชุมกันปรุงแต่งขึ้น

3. องค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา  และสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันประมวลขึ้นเป็นกระบวนธรรม

4. ถ้ากำหนดแยกออกเป็นกระบวนธรรมย่อย ๆ มากมาย  ก็มีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกันระหว่างกระบวนธรรมด้วย

 

ข. ทรรศนะของพุทธปรัชญาที่มีต่ออุจเฉททิฏฐิ

ในประเด็นที่พระพุทธปรัชญามีทรรศนะต่ออุจเฉททิฏฐิ  นี้   เมื่อเราศึกษาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเห็นว่า  พุทธปรัชญาย่อมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดอุจเฉททิฏฐิ  อย่างแน่นอนประมวลสรุปเหตุผลที่พุทธปรัชญาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดอุจเฉททิฏฐิดังต่อไปนี้

พุทธปรัชญาได้วิจารณ์นักอุจเฉททิฏฐิที่ไม่เชื่อกรรมและสังสารวัฏนั้น  นักคิดอุจเฉททิฏฐิมีความเห็นว่า  มนุษย์ตายแล้วขาดสูญ

นักอุจเฉททิฏฐิเช่นปรัชญาจารวากถือว่า  มนุษย์เป็นกลุ่มก้อนของสสารเมื่อมนุษย์ตายไป ชีวิตย่อมจบสิ้นเพียงนั้น  การกระทำความดีและความชั่ว  จะมีใครรับรู้หรือไม่ก็ตาม  เมื่อมนุษย์ตายลงความดีและความชั่วก็จะตายไปพร้อมกับร่างกายนั้นด้วย  จากจุดนี้    นักอุจเฉททิฏฐิชี้ให้เห็นว่า  ความดีและความชั่วมีค่าเท่ากัน

พุทธปรัชญาย่อมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้  เพราะการกระทำของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว  จะมีค่าเท่ากันไม่ได้  และในสามัญสำนึกของคนทั่วไปย่อมแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วว่ามีความแตกต่างกัน  และในการกระทำดีและกระทำชั่วมิได้อยู่ภายในเงื่อนไขที่ว่าจะมีคนรับรู้หรือไม่  ความดีและความชั่วมิได้ขึ้นกับสิ่งเหล่านี้  ความดีและความชั่วเป็นกฎที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองดังพระพุทธพจน์ว่า

 หิ  ธมฺโท  อธมิโม   จ อฺโภ  สมวิปากิโน
อธมฺโม  นิรยํ   เหติ ธมฺโม  ปาเปติ  สุคฺคติ

ธรรมและอธรรม  2  ประการ  ให้ผลเหมือนกันหามิได้
อธรรมย่อมนำไปสู่นรก   ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ


(ขุ.ชา. ๒๗/๒๑๐/๖๔. ฉบับ สยามรฎฐสฺส ๒๕๒๕.)

จะเห็นได้ว่าการที่พุทธปรัชญาสอนเรื่องกรรมและสังสารวัฏนั้น  ก็เพื่อที่จะแสดงผลแห่งกรรมนั้นย่อมมีค่าไม่เท่ากันแน่นอน  เพราะเหตุดีย่อมนำไปสู่สถานที่ดีเหตุไม่ดีย่อมนำไปสู่สถานที่ไม่ดีอย่างแน่นอน  ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

จิตฺเต   สงฺกิสิฏเฐ  ทุคฺคติ   ปาฏิกงฺขา
จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา

เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว  ทุคติ  เป็นที่ต้องหวังได้
เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว  สุคติ   เป็นอันที่หวังได้


(ม.มู. ๑๒/๙๒/๖๔. ฉบับ สยามรัฎฐสฺส  เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

พุทธปรัชญามิได้สอนเพียงแต่ความสุขในระดับโลกียธรรมเท่านั้น  หากแต่ยังสอนเกี่ยวกับความสุขในระดับโลกกุตตรธรรมด้วย  เป้าหมายสูงสุดในชีวิตตามทรรศนะพุทธปรัชญาได้แก่  นิพพาน  ดังนั้น  พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นเรื่องมนุษย์ให้มีความเข้าใจชีวิตของตนเอง   หลักคำสอนของพระพุทธองค์ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฏีเท่านั้น  หากยังเน้นถึงการปฏิบัติอีกด้วย   นักอุจเฉททิฏฐิได้กล่าวถึงความสุขแห่งชีวิตในระดับโลกียธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ในอรรถกถาสามัญญผลสูตรได้กล่าวถึงนักอุจเฉททิฏฐิว่า  เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ   ห้ามทางสวรรค์และนิพพาน  

และพระอรรถกถาจารย์ยังได้กล่าวถึงทรรศนะอชิตเกสกัมพลว่า  เป็นผู้ห้ามวิบาก  จึงกล่าวได้ว่า   ทรรศนะนี้ห้ามทั้งกรรมและวิบากนั่นเอง  จะเห็นได้ว่า  พระอรรถกถาจารย์ได้วิพากษ์วิจารณ์นักอุจเฉททิฏฐิว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ   คือเป็นผู้มีความเห็นผิด   ส่วนพุทธปรัชญาแสดงว่า  อนันตริยกรรมเป็นกรรมหนักที่สุดในพระพุทธศาสนา  ผู้ใดทำอนันตริยกรรม   ผู้นั้นห้ามสวรรค์และนิพพาน  แต่นักอุจเฉททิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิจึงมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

พุทธปรัชญาเชื่อว่า  นักอุจเฉททิฏฐิที่ได้ปฏิเสธเรื่องกรรม  การให้ผลของกรรม  ย่อมทำให้เกิดผลกระทบด้านพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่ปัจเจกบุคคลและสังคมอย่างแน่นอน   เพราะนักอุจเฉททิฏฐิสอนให้มนุษย์แสวงความสุขความสบายให้แก่ชีวิตตนเองให้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงว่าความสุขและความสบายที่เกิดขึ้นนั้น  จะมาจากการกระทำเช่นใด   เป้าหมายสูงสุดในชีวิตนักอุจเฉททิฏฐิก็คือความสุข  ส่วนวิธีการกระทำของมนุษย์นั้นอาจดีบ้างไม่ดีบ้างก็ไม่สำคัญ   แต่การกระทำใด  ๆ  ที่เป็นไปเพื่อความสุขในชีวิตนี้   การกระทำนั้น ๆ  ถือว่า   เป็นความสุขและเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต



จากการเสนอแนวคิดของนักคิดสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิแล้ว  หากจะมีปัญหาว่า  พุทธปรัชญามีจุดยืนที่ตรงไหนและมีแนวความคิดอย่างไร  ในประเด็นนี้  มีข้อความที่น่าพิจารณาตอนหนึ่งว่า   ครั้งนั้น”   พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาหาแล้วทรงแสดงธรรมว่า  ภิกษุทั้งหลายทางสุดโต่งสองประการต่อไปนี้เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะ  ทางสุดโต่งสองประการที่ว่านั้น  กามสุขัลลิกานุโยค......และอัตตกิลมถานุโยค........

(วินย. ๔/๑๓/๑๘. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฎกํ ๒๕๒๕.)

จากพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นว่า  พุทธปรัชญาได้ปฏิเสธทางสุดโต่ง  2 ประการ คือกามสุขัลลิกานุโยค   ได้แก่การหมกมุ่นอยู่ด้วยกาม   และอัตตกิลมถานุโยค   ได้แก่ การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตัวเอง   การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อนและเมื่อกล่าวหากแต่หมายความว่า   การเกิดใหม่นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกล่าวคือ  กิเลสตัณหา  แต่ตัวที่ไปเกิดใหม่นั้นเรียกว่าจิต   ซึ่งมีลักษณะเปลี่ยนแปลงเสมอ  จิตดวงนี้จะเป็นดวงเดิมก็ไม่ใช่   จะไม่ใช่ดวงเดิมก็ไม่ใช่   ดังนั้น   พุทธปรัชญาจังไม่ใช่สัสสตทิฏฐิแน่นอน  และทรรศนะที่ว่ามนุษย์ตายแล้วขาดสูญก็จัดเป็นปัญหาสุดโต่งอีกปัญหาหนึ่ง   ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบแน่นอน  เพราะเป็นอพยากตปัญหา  คือ  ปัญหาที่ไม่มีข้อยุติและไม่นำมาซึ่งประโยชน์สุข   ทั้งไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์   แต่เมื่อบุคคลได้บรรลุพระอรหัตต์แล้วครั้นปรินิพพาน (ตาย)   ก็จะไม่ไปเกิดใหม่อีกต่อไป   เหมือนไฟที่หมดเชื้อแล้ว  พุทธปรัชญาพยายามที่จะบอกให้เราทราบว่า   จุดยืนของพุทธปรัชญาอยู่ที่เหตุปัจจัย  คือเมื่อเหตุปัจจัยมีผลก็ย่อมมี  เมื่อเหตุไม่มีปัจจัยไม่มี  ผลก็ย่อมไม่มีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม  ในสมัยพุทธกาล   ประเทศอินเดีย  มีศาสนาและลัทธิต่าง ๆ   เกิดขึ้นร่วมสมัยกันกับพุทธศาสนามากมาย   พุทธปรัชญายังสามารถดำรงอยู่ได้อย่างโดดเด่น  ศาสนาต่าง ๆ  และลัทธิต่าง ๆ  ได้เสนอปัญหาอภิปรัชญาหรือแนวคิดของตน  แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเหล่านี้  ไม่ใช่ว่าพระองค์จะไม่ทรงทราบปัญหาเหล่านี้แท้จริงแล้วทรงทราบดีกว่าเจ้าของลัทธิมากนัก   เพราะทรงเป็นโลกวิทู  คือ  ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง  แต่ทรงเห็นว่า  ปัญหาเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์   ไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดนิพพิทา  (ความเบื่อหน่าย)   วิราคะ   (คลายกำหนัด)   วิมุตติ  (หลุดพ้น)   วิสุทธิ     (หมดจด)   สันติ  (สงบ)   และนิพพาน   (ดับกิเลสและกองทุกข์)   ถ้าหากพระองค์ตอบไปเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้อื่น  ฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบก็คือ   เรื่องที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่เป็นอดีต  และสิ่งที่เป็นอนาคต   ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

อคีตํ   นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข   อนาคตํ
ยทตีตมฺปหินนฺคํ อปฺปตฺตญจ  อนาคตํ
ปจฺจฺปฺปนฺนญจ ตตฺถ   ตคฺถ   วิปสฺสติ
อสิหิรํ  อสงฺกฺปฺปิ ติ  วิทฺธา   มนฺพฺรูหเย
อชฺเชว  กิจฺจมาตปฺปิ โก  ชญญา  มรณํ   สฺเว
น  หิ   โน   สงฺครนฺเตน มหาเสเนน   มจฺจฺนา
เอวิวิหาริมาตาปิ อโหรคฺตมตนฺทิตํ
ตํ  เว  ภพฺเทกรตฺโตติ สนฺโต  อาจิกฺข   เต  มุนีติฯ

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว   ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยัง
ไม่มาถึง   สิ่งใดไปแล้ว   สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว  และ
สิ่งที่ยังไม่มาถึง   ก็เป็นอันยังไม่ถึง  ก็บุคคลใดเห็นแจ้ง
ธรรมปัจจุบัน  ไม่ง่อนแง่น  ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้
บุคคลนั้นถึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ   ให้ปรุโปร่งเถิด  
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ.....


หลักคำสอนดังกล่าวนี้  ชี้ให้เห็นว่า  พระพุทธศาสนามุ่งเน้นถึงหลักการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้  โดยให้เร่งขวนขวายกระทำความเพียรในปัจจุบัน  เพื่อขจัดปัญหาต่างๆ   ในชีวิตประจำวันให้หมดสิ้นไป   และมุ่งเน้นถึงสิ่งที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขต่อการดำเนินชีวิตทั้งได้สอนเรื่องความจริงอันประเสริฐซึ่งเรียกว่าอริยสัจ  4 คือทุกข์  เหตุเกิดแห่งทุกข์  ความดับทุกข์  และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  รวมความว่าจุดยืนของพุทธปรัชญานั้นได้เน้นถึงเรื่องมนุษย์และการประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน

 

หมายเลขบันทึก: 216107เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท