สภาวะสิ้นชีพของพระอรหันต์


สภาวะสิ้นชีพของพระอรหันต์

ปัญหาสำคัญที่คนทั่วไปสนใจสงสัยคือ   เมื่อธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา    พระอรหันต์สิ้นชีพแล้วเป็นอย่างไร  หรือว่าผู้บรรลุนิพพานตายแล้วเป็นอย่างไร  ยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ความจริงปัญหานี้ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องอัตตานั่นเอง  กล่าวคือ  ผู้ถามปัญหาอย่างนี้มีความรู้สึกติดอัตตาแฝงลึกอยู่ในใจเป็นแรงผลักดันและเป็นแกนสำหรับก่อรูปเป็นคำถามขึ้น  ความยึดติดในอัตตา   หรือเรียกให้เต็มว่าความถือมั่นวาทะว่าอัตตา (อัตตาวาทุปาทาน)  นี้ ฝังลึกและแน่นแฟ้นในใจของปุถุชน  โดยมีภวตัณหาคอยหนุน  และอวิชชาเป็นฐานให้  

ในทางปฏิบัติ เมื่อยังไม่ดำเนินตามวิธีแก้ไขที่ตัวเหตุ   คือทำลาย  อวิชชา  ตัณหา  และอุปทานเสียโดยตรง   ท่านจะไม่สนับสนุนให้มาถกเถียงเรื่องเช่นนี้  คือ ต้องการให้รู้ด้วยการปฏิบัติ  ไม่ใช่เอามาพูดเดากันไป   การถกเถียงเรื่องนี้มีข้อเสียที่สำคัญคือ  ไม่ว่าจะพูดกันอย่างไรความถือมั่นในอัตตาวาทะที่แฝงลึกซึ้งยังถอนทิ้งไม่ได้นั้น   จะทำให้มองคำตอบ หรือคำชี้แจงเอียงไป  ณ   ที่สุดข้างใดข้างหนึ่งเสมอ  คือ  ไม่มองเห็นนิพพานเป็นความเที่ยงแท้ยั่งยืนของอัตตา  (สัสสตทิฏฐิ)   ก็ต้องมองเป็นความขาดสูญของอัตตา  (อุจเฉททิฏฐิ)   ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งสองอย่างพวกที่ถือความเห็นขาดสูญ  ก็มองนิพพานเป็นความขาดสูญ  เข้ากับความเห็นของพวกตน

 

ก.  พุทธพจน์เกี่ยวกับความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องอัตตา   ความยั่งยืน และความขาดสูญซึ่งถูกต้องจัดเป็นที่สุด  ๒   ด้าน  ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความหมายของภวตัณหา  และวิภวตัณหาได้อย่างชัดเจนด้วยว่า

ภิกษุทั้งหลาย  เทพและมนุษย์ทั้งหลาย  ถูกทิฏฐิ ๒  จำพวก  เข้าครองใจแล้ว  พวกหนึ่งติดล้าอยู่  พวกหนึ่งวิ่งเลยไป   ส่วนพวกที่มีตาจึงมองเห็น

ภิกษุทั้งหลาย  พวกหนึ่งติดล้าอยู่เป็นอย่างไร?   (กล่าวคือ)  เทพและมนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้มีภพเป็นที่ยินดี  รื่นรมย์ในภพ  บันเทิงในภพ  (ภวะ),   เมื่อตถาคตแสดงธรรมเพื่อความดับแห่งภพ  (ภวนิโรธ)   จิตของเทพและมนุษย์เหล่านั้น  ย่อมไม่แล่นไป  ไม่เลื่อมใสไม่ตั้งแน่วลง ไม่น้อยดิ่งไป:  พวกหนึ่งติดล้าอยู่อย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย  พวกหนึ่งวิ่งเลยไป  เป็นอย่างไร ?  (  กล่าวคือ)  คนพวกหนึ่ง  อึดอัดระอารังเกียจอยู่ด้วยภพนั่นแหละ  จึงพร่ำชื่นชมวิภพ  (วิภวะ  แปลว่า   ปราศจากภพ,  ความขาดสูญ)  ว่า  “นี่แนะท่านเอย  นัยว่า  หลังจากร่างกายแตกทำลายตายไปแล้ว  อัตตานี้ก็จะขาดสูญ  หายสิ้น  หลังจากตายจะไม่มีอยู่อีกนี่ละคือ  ภาวะสุดประเสริฐ   (สันตะ)  นี่ละคือภาวะดีเยี่ยม  ( ปณีตะ)  นี่ละคือภาวะที่เป็นของแท้  (ยาถาวะ)”  พวกหนึ่งวิ่งเลยไปอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย  พวกที่มีตาจึงมองเห็นเป็นอย่างไร  ?  (กล่าวคือ)  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ย่อมมองเห็นสภาพภพ   โดยความเป็นสภาพ  (คือเห็นตามสภาวะที่เป็นจริง)  ครั้นเห็นสภาพภพโดยความเป็นสภาพภพแล้ว  ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อหายติด  (นิพพิทา)   เพื่อหมดใคร่  (วิราคะ)  เพื่อนิโรธแห่งสภาพภพนั้น;  ส่วนพวกที่มีตาจึงมองเห็นอย่างนี้


และมีคาถาสรุปว่า

ผู้ใดเห็นสภาพภพโดยความเป็นสภาพภพ
และเห็นสภาวะที่ล่วงพ้นสภาพภพ
ผู้นั้นย่อมน้อมใจดิ่งไปในภาวะที่เป็นจริง
เพราะหมดสิ้นภวตัณหา ;
ถ้าเขากำหนดรู้  เขาจะเป็นผู้ปราศจากตัณหา
ทั้งในภพและอภพ  เพราะความหมดภพ
แห่งสภาพภพ   ภิกษุทั้งหลายจะไม่มาสู่ภพอีก

 

ข.  พุทธพจน์ปฏิเสธความเข้าใจผิดว่า  วิญญาณออกจากร่างไปเกิด  ในมหาตัณหาสังขยสูตร เรื่องว่า  ครั้งหนึ่ง  ภิกษุชื่อสาติ  เป็นบุตรชาวประมง  มีความเห็นผิดว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า  วิญญาณดวงเดียวนี้  ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ  ภิกษุทั้งหลายพยายาม  เปลื้องความเห็นผิดของเธอแต่ไม่สำเร็จ จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธเจ้า   พระองค์จึงตรัสเรียกพระสาติมา  และทรงสอบถามดังความว่า

พระพุทธเจ้า   :   เป็นความจริงหรือ  สาติ  มีข่าวว่า  เธอเกิดความเห็นชั่วร้ายอย่างนี้ว่า  ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่าวิญญาณนี้นั่นเอง  ย่อมวิ่งแล่นย่อมท่องเที่ยวไป มิใช่อื่น”?

พระสาติ :  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอย่างนั้น ฯลฯ


พระพุทธเจ้า :  นี้แน่ะสาติ  วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร?

พระสาติ :  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ(วิญญาณนั้น ) คือ  ตัวสภาวะที่เป็นผู้พูด  เป็นผู้รู้  เสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย  ทั้งดีและชั่วในที่นั้น ๆ

พระพุทธเจ้า :  ดูกรโมฆบุรุษ  เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้  แก่ใครหนอ ; เรากล่าวไว้โดยอเนกปริยายมิใช่หรือว่า  วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น  (ปฏิจจสมุปบัน), เว้นจากปัจจัยเสียการเกิดแห่งวิญญาณย่อมไม่มี ;   ก็แล  ด้วยความเห็นที่ตนเองถือเอาไว้ผิด   เธอย่อมกล่าวตู่เรา  ย่อมขุดตนเอง  และประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก  ,  ความเห็นนั่นแหละจักเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูลเพื่อความทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน

จากนั้นได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ  เกิดขึ้น  ก็ถึงความนับไปตามปัจจัย   นั้น ๆ นั่นแหละ,( กล่าวคือ)  วิญญาณอาศัยจักษุและรูปเกิดขึ้น  ก็ถึงความนับว่าจักขุวิญญาณ  ,  วิญญาณอาศัยโสตและเสียงเกิดขึ้นก็ถึงความนับว่าโสตวิญญาณ ,  วิญญาณอาศัยฆานะ และกลิ่นเกิดขึ้น  ก็ถึงความนับว่าฆานวิญญาณ,  วิญญาณอาศัยชิวหาและรสเกิดขึ้น  ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ,  วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดขึ้น  ก็ถึงความนับว่ากายวิญญาณ,  วิญญาณอาศัยมโนและธรรมมารมณ์เกิดขึ้นก็ถึงความนับว่ามโนวิญญาณ; เปรียบเหมือนไฟ  อาศัยเชื้อใด  ๆ  ติดขึ้น  ก็ถึงความนับไปตามเชื้อนั้น   ๆ......ว่าไฟไม้.....ว่าไฟเศษของ.....ว่าไฟหญ้า.....ว่าไฟโคมัย....ว่าไฟแกลบ.....ว่าไฟหยากเยื่อ.....ฯลฯ"

 

ค.   แก้ความเห็นผิดว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญ  ดังมีเรื่องราวว่า  ครั้งหนึ่งพระภิกษุชื่อยมกมีความเห็นผิดว่า  พระพุทธเจ้าสอนว่า  พระอรหันต์ตายแล้วขาดสูญ  ภิกษุทั้งหลายพยายามเปลื้องเธอจากความเห็นผิด  แต่ไม่สำเร็จ  จึงพากันไปขอร้องพระสารีบุตรให้ช่วยแก้ไข  พระสารีบุตรได้ไปหาพระยมก  และได้สนทนาดังความต่อไปนี้

พระสารีบุตร : เป็นความจริงหรือ ท่านยมก  ข่าวว่าท่านเกิดความเห็นชั่วร้ายอย่างนี้ว่าข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า  ภิกษุเป็นขีณาสพถัดจากกายแตกทำลายก็จะขาดสูญ  หายสิ้น หลังจากตายจะไม่มีอยู่อีก

พระยมก : อย่างนั้นแล  ท่านผู้มีอายุ ฯลฯ

พระสารีบุตร : ท่านยมก  ท่านสำคัญว่าอย่างไร  รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

พระยมก : ไม่เที่ยงครับท่าน

พระสารีบุตร : เวทนา....สัญญา...สังขาร....วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง

พระยมก : ไม่เที่ยงครับท่าน

พระสารีบุตร : เพราะฉะนั้นแลรูป....เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งที่เป็นอดีต  อนาคต  และปัจจุบัน  ฯลฯ  ทั้งหมด  พึงเห็นด้วยสัมมาปัญญาตามเป็นจริงอย่างนี้  ว่า  ไม่ใช่  นั้นของเรา”  ไม่ใช่  เราเป็นนั่น”  ไม่ใช่  นั่นเป็นตัวตนของเรา”  เมื่อเห็นอย่างนี้  ย่อมหายติด ฯลฯ  

ท่านสำคัญอย่างไร  ท่านยมกท่านมองเห็นรูปว่าเป็น ตถาคตหรือ?

พระยมก : มิใช่เช่นนั้น  ท่านผู้มีอายุ

พระสารีบุตร : ท่านมองเห็นเวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณว่าเป็นตถาคตหรือ?

พระยมก : มิใช่เช่นนั้น  ท่านผู้มีอายุ

พระสารีบุตร : ท่านสำคัญว่าอย่างไร  ท่านยมก ท่านเห็นว่า  ตถาคตมีในรูปหรือ?

พระยมก : มิใช่เช่นนั้น  ท่านผู้มีอายุ

พระสารีบุตร : ท่านมองเห็นว่าตถาคตมีต่างหากจากรูปหรือ?

พระยมก : มิใช่เช่นนั้น  ท่านผู้มีอายุ


พระสารีบุตร : ท่านมองเห็นว่า  ตถาคตมีในเวทนา...มีต่างหากจากเวทนา...มีในสัญญา....มีต่างหากจากสัญญา...มีในสังขาร....มีต่างหากจากสังขาร....มีในวิญญาณ...มีต่างหากจากวิญญาณ  หรือ?

พระยมก : มิใช่เช่นนั้น  ท่านผู้มีอายุ

พระสารีบุตร              : ท่านสำคัญว่าอย่างไร  ท่านยมก ท่านมองเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ...ว่าเป็นตถาคต หรือ?

พระยมก : มิใช่เช่นนั้น  ท่านผู้มีอายุ

พระสารีบุตร : ท่านสำคัญว่าอย่างไร  ท่านยมก  ท่านมองเห็นว่า  ตถาคตนั้นเป็นสภาวะไม่มี รูป  ไม่มีเวทนา  ไม่มีสัญญา  ไม่มีสังขาร  ไม่มีวิญญาณ หรือ?

พระยมก : มิใช่เช่นนั้น  ท่านผู้มีอายุ

พระสารีบุตร : นี่แน่ะท่านยมกในปัจจุบันนี้เอง  ที่ตรงนี้  ท่านยังหาตถาคตโดยจริงโดยแท้ไม่ได้ควรหรือที่ท่านจะกล่าวแถลงว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วว่า   ภิกษุผู้เป็นขีณาสพ   ต่อจากกายแตกทำลาย  ก็จะขาดสูญหาย  หลังจากตายจะไม่มีอยู่อีก

พระยมก               : ข้าแต่ท่านสารีบุตร  แต่ก่อนเมื่อยังไม่รู้ผมจึงได้มีความเห็นชั่วร้ายนั้น,  เพราะได้สดับธรรมเทศนาของท่านสารีบุตรบุตรนี้  ผมจึงละความเห็นชั่วร้ายนั้นได้แล้ว  และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้ว

พระสารีบุตร          : แนะท่านยมก  ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านอย่างนี้ว่า  ท่านยมก  ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพหลังจาก  ร่างกายแตกทำลายไปแล้ว  จะเป็นอย่างไร? “ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะกล่าวชี้แจงว่า อย่างไร?

พระยมก                : ผมพึงกล่าวชี้แจงอย่างนี้ว่า  รูปแลเป็นสิ่งไม่เที่ยง,  สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์,  สิ่งใดเป็นทุกข์  สิ่งนั้นดับแล้ว  สิ่งนั้นถึงความไม่ตั้งอยู่แล้ว :   เวทนา.....สัญญา....สังขาร.....วิญญาณ.....เป็นสิ่งไม่เที่ยง,สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์,  สิ่งใดเป็นทุกข์  สิ่งนั้นดับแล้ว  สิ่งนั้นถึงความไม่ตั้งอยู่แล้ว :  ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้  พึงกล่าวชี้แจงอย่างนี้

 

พระสารีบุตร : ดีแล้ว  ท่านยมก ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 216110เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 05:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท