ความหมายของนิพพาน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ความหมายของนิพพาน

คำว่า  นิพพาน  มาจาก  นิ  อุปสรรค  แปลว่า  ออกไป   หมดไป  ไม่มี  เลิก+วาน  แปลว่าพัดไป  หรือเป็นไปบ้าง   เครื่องร้อยรัดบ้าง  ใช้เป็นกิริยาของไฟหรือการดับไปหรือของที่ร้อนเพราะไฟ  แปลว่า  ดับไฟหรือดับร้อน  หมายถึง  หายร้อน  เย็นลง  หรือเย็นสนิท  (แต่ไม่ใช่ดับสูญ)  แสดงสภาวะทางจิตใจ  หมายถึง  เย็นใจ  สดชื่น ชุ่มชื่นใจ   ดับความร้อนใจ  หายร้อนรน  ไม่มีความกระวนกระวาย  หรือแปลว่า  เป็นเครื่อง  ดับกิเลส  คือ  ทำให้ราคะ   โทสะ  โมหะ  หมดสิ้นไป  แต่ในปัจจุบันนิยมแปลว่า  ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด   หรือออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยรัดติดไว้กับภพ  นิพพานเป็นการดับสนิทของไฟ  กล่าวคือ  ไฟคือราคะ  ไฟคือโทสะ  นิพพานจึง หมายถึง  สภาพเย็นสนิท

นิพพาน ตามความหมายเชิงอรรถ   พูดในเชิงภาพพจน์หรืออุปมาเมื่อ  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ดับไป  นิพพานก็ปรากฏแทนที่พร้อมกัน  หรืออาจกล่าวได้ว่า  การดับอวิชชา  ตัณหาอุปาทาน  นั่นแหละ  คือ  นิพพาน  จิตใจเปิดเผยกว้างขวางไม่มีประมาณ  โปร่งโล่ง  เป็นอิสระเป็นภาวะที่แจ่มใส  สะอาด  สว่างสงบ   ละเอียดอ่อน  ประณีต   ลึกซึ้ง  สำหรับผู้เข้าถึงก็รู้เห็นประจักษ์แจ้งเองเมื่อนั้น  ดังคุณบท  คือ  คำแสดงคุณลักษณะของนิพพานว่า  นิพพาน อันผู้บรรลุเห็นได้เองไม่ขึ้นกับกาลเวลา  เรียกให้มาดูได้  ควรนอบน้อมเอามาไว้  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”  ส่วนข้อความภาวะโดยตรงจะยกมาประกอบพิจารณาดังพุทธพจน์ที่ปรากฏในขุททกนิกาย  อุทานมีเรื่องหนึ่งว่า  คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมมีกถาเกี่ยวกับนิพพานแก่ภิกษุทั้งหลายพระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานว่า

.....มีอยู่นะ  ภิกษุทั้งหลาย  อายตนะที่ไม่มีปฐวี  ไม่มีอาโป  ไม่มีเตโช  ไม่มีวาโย   ไม่มีอากาสานัญจายตนะ  ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ  ไม่มีอากิญจัญญายตนะ   ไม่มีแนวสัญญายตนะ  ไม่มีโลกนี้  ไม่มีปรโลก  ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่าง  เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็นการมา  การไป  การหยุดอยู่  การจุติ   การอุบัติ  อายตนะนั้นไม่มีที่ตั้งอาศัย  (แต่ก็)ไม่เป็นไป ทั้งไม่ต้องมีเครื่องยึดหน่วง  นั่นแหละคือจุดจบของทุกข์

ขุ.อุ.๒๕/๑๕๘/๑๗๕.  พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง ๒๕๑๔.

จากพุทธพจน์ข้างต้นนี้ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า  ผู้ปฏิบัติย่อมเข้าถึงได้ในสภาวะที่ปราศจากกิเลสด้วยสติปัญญาของมนุษย์เอง  ปุถุชนไม่สามารถนึกเห็น  ไม่อาจคิดให้เข้าใจภาวะของนิพพานได้เพราะธรรมดาของมนุษย์   เมื่อไม่เห็นประจักษ์เองซึ่งสิ่งใดก็เรียนรู้สิ่งนั้นด้วยอาศัยความรู้เก่าพื้นเทียบภาวะของนิพพาน  นิพพานไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใดทีปุถุชนเคยรู้เคยเห็นดังนั้นปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจได้  แต่จะว่านิพพานไม่มีก็ไม่ถูก

การบรรลุนิพพานและธรรมขั้นสูงอื่น ๆ   เป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นไปได้จริงว่า  ในเมื่อทำปัญญาให้เกิดขึ้น  ดังพุทธพจน์เป็นเครื่องแสดงว่าพระพุทธองค์ทรงยืนยัน  ทรงตรัสโต้มติของพราหมณ์คนหนึ่งผู้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะรู้จะเห็นญาณทรรศนะวิเศษยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ความว่า

นี่แน่ะ  มาณพ  เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด  เขาไม่เห็นรูปดำ รูปขาว  รูปเขียว  รูปเหลือง  รูปแดง รูปสีชมพู   รูปที่เรียบเสมอและไม่เรียบ  ไม่เห็นหมู่ดาว  ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์  (ถ้า)เขากล่าวว่า  รูปดำ  รูปขาวไม่มี  คนเห็นรูปดำรูปขาวก็ไม่มี   รูปเขียวไม่มี คนเห็นรูปเขียวก็ไม่มี  ฯลฯ  ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ไม่มี  คนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็ไม่มี ข้าฯ   ไม่รู้  ข้า ฯ   ไม่เห็นสิ่งนั้น  ๆ  เพราะฉะนั้น   สิ่งนั้น ๆ  ย่อมไม่มี   เมื่อเขากล่าวดังนี้   จะชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือมาณพ  มาณพทูลตอบว่า  ไม่ถูกต้องพระองค์จึงตรัสต่อไปว่า  ข้อนี้ก็เช่นกัน  พราหมณ์โปกขรสาติ  โอปมัญญาโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุรควัน  เป็นคนมืดบอดไม่มีจักษุการที่เขาจะรู้เห็นธรรมบรรลุญาณทัศนะวิเศษอันประเสริฐเหนือกว่ามนุษยธรรม  จึงเป็นไปไม่ได้

ม.ม.๑๓/๗๑๙/๖๕๖.  พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง ๒๕๑๔.

 

ประเภทนิพพาน


ตามภาวะที่แท้จริง  นิพพานมีอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ที่แยกประเภทออกไป  เพื่อแสดงอาการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิพพานบ้าง  พูดถึงนิพพานโดยปริยายคือความหมายบางด้านเท่านั้นโดยจำแนกได้  ๒  ประการคือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่  นิพพานธาตุยังมีเบญจขันธ์เหลือ  หมายถึง  นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่และยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์

๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่  นิพพานธาตุไม่มีเบญจขันธ์เหลือ  หมายถึง  นิพพานของพระอรหันต์ผู้ที่ดับขันธ์แล้วและไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์

เพื่อที่จะศึกษาวิเคราะห์เรื่องนิพพานให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่ง ๆ  ขึ้นไปจะได้ยกสาระสำคัญเกี่ยวกับสอุปาทิเสสนิพพานธาตุและอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ   ดังความปรากฏใน  ขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ  ว่า

แท้จริงพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคองค์อรหันต์ได้ตรัสไว้  ข้าพเจ้าได้สดับมานี้  ภิกษุทั้งหลายนิพพานธาตุ  ๒  อย่างเหล่านี้  กล่าวคือ  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ภิกษุทั้งหลาย  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  เป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยเป็นอรหันต์สิ้นอาลวะแล้ว  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว   ปลงภาระลงได้แล้วบรรลุประโยชน์ตนแล้ว  มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้วหลุดพ้นแล้ว  เพราะรู้ชอบ  อินทรีย์   ๕  ของเธอยังดำรงอยู่เทียว  เพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหายเธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ  ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์   อันได้เป็นความสิ้นราคะ  ความสิ้นโทสะ  ความสิ้นโมหะ  ของเธอ  อันนี้เรียกว่า  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  เป็นไฉน  ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะ....หลุดพ้นแล้ว  เพราะรู้ชอบอารมณ์ที่ได้เสวย  (เวทยิต)  ทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว  (อนภินันทิต)  จักเป็นของเย็น   ข้อนี้เรียกว่า  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ


ในตอนท้ายของพระสูตร   พระพุทธองค์ได้ตรัสคาถาประพันธ์ว่า  นิพพานธาตุ  ๒  อย่าง  เหล่านี้  พระผู้ทรงจักษุ  ผู้คงที่  ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด  ได้ทรงประกาศไว้แล้ว  (คือ)  นิพพานธาตุอย่างหนึ่งเป็นทิฏฐธัมมิกะ  (มีในปัจจุบันหรือทันตาเห็น)   ชื่อว่าสอุปาทิเสส  เพราะสิ้นตัณหาเครื่องไปสู่ภพ  ส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่ง   เป็นสัมปรายิกะ  (มีในเบื้องหน้าสัมปรายิกะหรือเป็นของล้ำ)  เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น  ชื่อว่าอนุปาทิเสส  ชนเหล่าใดรู้บทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้  มีจิตหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ  ชนเหล่านั้นยินดีในนิพพาน  เป็นที่สิ้นกิเลสเพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ  เป็นผู้คงที่  ละภพได้ทั้งหมด

ขุ.อิติ. ๒๕/๒๒๒/๒๓๑. พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับหลวง.


จากพุทธพจน์ที่แสดงนิพพานธาตุ  ๒  อย่างดังกล่าวมาแล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวถึงนิพพานโดยบรรยายอาการ  หรือลักษณะแห่งการเกี่ยวข้องกับนิพพาน  กล่าวคือเป็นการกล่าวถึงนิพพานเท่าที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้บรรลุ  หรืออาจกล่าวได้ว่า  ใช้บุคคลผู้บรรลุนิพพานเป็นอุปกรณ์สำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพาน  มิใช่เป็นการบรรยายภาวะของนิพพานล้วน ๆ  โดยตรง  และ

อาจจะชี้แจงได้อีกว่า  ผู้ที่บรรลุพระอรหันต์เป็นบุคคลผู้ซึ่งดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง  ปราศจากการเสพอารมณ์ทั้งที่พอใจและไม่พอใจ  ย่อมไม่ยึดมั่นในอารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา  และอนิฏฐารมณ์คือ  อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา  หลักการนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้อีกว่านิพพานนั้นอาจมีผู้เข้าใจได้อย่างแน่นอน

 

นิพพานซึ่งแบ่งเป็น  ๒  ประเภทนั้น  นิพพานอย่างแรกในรุ่นอรรถกถาว่า  กิเลสปรินิพพาน  (ดับกิเลสสิ้นเชิง)  นิพพานอย่างที่สอง  ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า  ขันธปรินิพพาน  (ดับขันธ์  ๕  สิ้นเชิง)   สำหรับความหมายของนิพพานทั้งสองอย่างนั้น  พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์  ปยุตฺโต)   ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

๑.   สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ   แปลว่า  ภาวะของนิพพานที่เป็นไปกับด้วยอุปธิเหลืออยู่หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕  ได้แก่  นิพพานของพระอรหันต์  ในเวลาที่เสวยอารมณ์ต่าง ๆ  รับรู้สุขทุกข์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕   หรือนิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕   ในกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์พูดอีกอย่างหนึ่งว่านิพพานท่ามกลางกระบวนการรับรู้ทางประสาททั้ง ๕  ซึ่งเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕   โดยฐานเป็นอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรับรู้นิพพานในข้อนี้  เป็นด้านที่เพ่งถึงผลซึ่งปรากฏออกมาในการรับรู้  หรือการเกี่ยวข้องกับโลก  คือ  สิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตตามปกติของพระอรหันต์  

ดังนั้น  จึงเล็งไปที่ความหมายในแง่ของความสิ้นราคะ  โทสะ  และโมหะ  ซึ่งทำให้การรับรู้หรือเสวยอารมณ์ต่าง ๆ  เป็นไปด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ  ขยายความออกไปว่า  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่  ภาวะจิตของพระอรหันต์นั้นผู้ยังมีอินทรีย์สำหรับอารมณ์ต่าง ๆ  บริบูรณ์ดีอยู่ตามปกติเสวยอารมณ์ทั้งหลายด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ  ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน  การเสวยอารมณ์หรือเวทนานั้น  ไม่ถูกกิเลสครองงำหรือชักจูง  จึงไม่ทำให้เกิดตัณหา  ทั้งในทางบวกและทางลบ  (  ยินดี-ยินร้าย-ชอบ-ชัง-ติดใจ-ขัดใจ)     พูดอีกอย่างหนึ่งว่าไม่มีตัณหาที่จะปรุงแต่งภพหรือชักนำไปสู่ภพ  (ภวเนตฺติ)  


ภาวะนี้มีลักษณะที่มองได้ ๒  ด้าน ด้านหนึ่ง  คือ  การเสวยอารมณ์  นั้นเป็นเวทนาอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ในตัว   เพราะไม่มีสิ่งกังวลติดข้องค้างใจหรือเงื่อนปมใด ๆ   ภายในที่จะมารบกวน  และอีกด้านหนึ่งเป็นการเสวยอารมณ์อย่างสงบ  ไม่อภินันท์  ไม่ถูกครอบงำ  หรือผูกมัดตัว   ไม่ทำให้เกิดการยึดติดหรือมัวเมาเป็นเงื่อนงำต่อไปอีก   ภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นไปอยู่ตลอดเวลาในการดำรง ชีวิตตามปกติของพระอรหันต์เป็นเรื่องปัจจุบันเฉพาะหน้า  แต่ละเวลาแต่ละขณะที่รับรู้อารมณ์ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งเรียกว่าทิฏฐิธรรม  แปลว่า  อย่างที่เห็น ๆ  กัน  หรือทันตา

เห็นในเวลานั้น ๆ ตามความหมายดังที่กล่าวมานี้นิพพานธาตุอย่างที่หนึ่ง  จึงต้องเป็นภาวะของพระอรหันต์ที่ยังทรงชีพและดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกอยู่ตามปกติ   อย่างที่เห็น ๆ  กันและทันตาเห็นปัจจุบัน

 

๒  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  แปลว่า  ภาวะของนิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลืออยู่   หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕  ได้แก่  นิพพานของพระอรหันต์พ้นจากเวลาที่เสวยอารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕   หรือ  นิพพานของพระอรหันต์ที่นอกเหนือจากความเกี่ยวข้องกับขันธ์  ๕   ในกระบวนการรับรู้  เสวยอารมณ์  

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า   ภาวะของนิพพานเองล้วน ๆ  แท้ ๆ  ซึ่งประจักษ์แก่พระอรหันต์ในเมื่อประสบการณ์ในกระบวนการรับรู้ทางประสาททั้ง  ๕   สิ้นสุดลงหรือในเมื่อไม่มีการรับรู้หรือในเมื่อไม่มีการเกี่ยวข้องกับการรับรู้อารมณ์ทางประสาททั้ง  ๕   เหล่านั้น   (รวมทั้งอารมณ์ผ่านทางประสาททั้ง  ๕  นั้น  ที่ยังค้างอยู่ในใจ)  

ขยายความออกไปว่า  อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่ภาวะนิพพานที่พระอรหันต์ประสบอันเป็นส่วนที่ลึกซึ้งลงไปหรือล้ำเลยออกไปกว่าที่มองเห็นกันได้พ้นจากเวลาที่เสวยอารมณ์หรือรับรู้ประสบการณ์ทางอินทรีย์ทั้ง  ๕   แล้ว  กล่าวคือ  หลังจากรับรู้ประสบการณ์  หรือเสวยอารมณ์  โดยไม่อภินันท์  ด้วยตัณหา  ไม่เสริมแต่งคลอเคลียหรือกริ่มกรุ่นด้วยกิเลสคือราคะ  โทสะ  และโมหะ  (อภินันทิตะ)  แล้ว  อารมณ์หรือประสบการณ์เหล่านั้น ก็ไม่ค้างคาที่จะมีอำนาจครอบงำชักจูงหรือรบกวนต่อไปอีก  จึงกลายเป็นของเย็น  (สีติภวิสฺสนฺติ)  คือสงบราบคาบหมดพิษสงไป  ไม่อาจก่อชาติก่อภพขึ้นได้อีก

พูดเป็นสำนวนว่า   พระอรหันต์มีความสามารถพิเศษที่จะทำให้อารมณ์หรือประสบการณ์ต่าง ๆ  ที่ผ่านเข้ามา  มีสภาพเป็นกลางปราศจากอำนาจครอบงำหน่วงเหนี่ยว   กลายเป็นของสงบเย็นอยู่ใต้อำนาจของท่าน  พระอรหันต์จึงได้ชื่อที่เป็นคุณลักษณะอย่างอื่นว่า  สีติภูตะ  หรือสีตะ  แปลว่า  เป็นผู้เย็นแล้ว  ภาวะที่ประจักษ์โดยปราศจากประสบการณ์เสริมแต่งค้างคาอยู่  หรือภาวะที่ประสบในเมื่อไม่มีอารมณ์ภายนอกคั่งค้างครองใจหรือคอยรบกวนอย่างเช่นนี้  

นับว่าเป็นภาวะชั้นในซึ่งอยู่นอกเหนือจากการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก   ล้ำเลิศไปกว่าระดับการรับรู้ทางอินทรีย์  ๕   พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ที่พัวพันอยู่กับขันธ์  ๕  เป็นอารมณ์  ท่านผู้บรรลุนิพพานแล้ว  ก็จึงมีนิพพานเป็นอารมณ์  คือประจักษ์หรือประสบนิพพานในฐานะที่เป็นธัมมายตนนิพพาน  ในข้อที่สองนี้   เป็นด้านที่เพ่งถึงภาวะของนิพพานเองแท้ ๆ  ที่ประจักษ์แก่พระอรหันต์พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ภายนอก  นอกเหนือจากการดำเนินชีวิตตามปกติ   เป็นภาวะที่พูดถึงหรือบรรยายได้เพียงแค่ลักษณะของการเกี่ยวข้องกับนิพพานนั้น  ถึงจุดที่ประสบการณ์ที่รู้ที่เข้าใจกัน  ซึ่งไม่ใช่นิพพานได้สิ้นสุดลงส่วนภาวะของนิพพานเองแท้ ๆ   ซึ่งลึกเลยไปกว่านั้น   เป็นเรื่องของผู้ประสบและประจักษ์เองจะรู้และเข้าใจ  คือเป็นสันทิฏฐิกะ  ดังได้กล่าวมาแล้ว

ถ้าจะอุปมาเปรียบมนุษย์ปุถุชนทั้งหลายเหมือนคนที่ว่ายน้ำฝ่ากระแสคลื่นลมในทะเลใหญ่  ผู้บรรลุนิพพานก็เหมือนคนที่ขึ้นฝั่งได้แล้ว   ภาวะที่ขึ้นอยู่บนฝั่งแล้ว   ซึ่งเป็นภาวะเต็มอิ่มสมบูรณ์ในตัวของมันเอง  มีความปลอดโปร่งโล่งสบาย  ซึ่งบุคคลผู้นั้นประสบอยู่ภายใน  ประจักษ์แก่ตนเองโดยเฉพาะ  เปรียบได้กับอนุปาทิเสสนิพพาน  ส่วนภาวะที่ไม่ถูกบีบคั้นคุกคาม  ไม่ติดขัดจำกัดตัวอยู่ในเกลียวคลื่น  ไม่ถูกขัดไปขัดมา  ไม่เป็นผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของคลื่นลม  สามารถเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่รอบข้างอย่างเป็นอิสระและได้ผลดี   ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ตามความปรารถนาเปรียบได้กับสอุปาทิเสสนิพพาน

หรือถ้าจะอุปมาให้ใกล้ตัวมากกว่านั้นเปรียบมนุษย์ปุถุชนทั้งหลายเหมือนคนเจ็บไข้  ผู้บรรลุนิพพานก็เหมือนคนที่หายป่วยแล้วหรือคนที่สุขภาพดี  ไม่มีโรค  ความไม่มีโรค  หรือความแข็งแรงมีสุขภาพดีนั้นเป็นภาวะที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง  ซึ่งบุคคลผู้รู้นั้นจะประสบประจักษ์อยู่ภายในตนเองโดยเฉพาะ  ภาวะนี้จะอิ่มเอิบชื่นบานปลอดโปร่ง  โล่งสบายคล่องเบาอย่างไร  เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของผู้นั้น  คนอื่นอาจคาดหมายตามอาการและเหตุผล  แต่ก็ไม่สามารถประสบเสวยได้  ภาวะนี้เปรียบได้กับอนุปาทิเสสนิพพาน  ส่วนภาวะอีกด้านหนึ่งซึ่งเนื่องอยู่ด้วยกันนั่นเอง  และอาจแสดงออกได้หรือมีผลต่อการแสดงออกในการดำเนินชีวิตหรือติดต่อเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ  คือ  ความไม่ถูกโรคบีบคั้น   ไม่อึดอัด  ไม่อ่อนแอ ไม่ถูกขัดขวาง    ถ่วงหรือชะงักงันด้วยความเจ็บปวดและอ่อนเปลี้ย  เป็นต้น  สามารถขยับเขยื้อน  เคลื่อนไหวทำอะไรต่าง ๆ  ได้ตามต้องการ ภาวะนี้เทียบได้กับสอุปาทิเสสนิพพาน


สรุปความว่า  นิพพานมีอย่างเดียว  แต่แบ่งออกเป็น  ๒  ด้าน  ด้านที่หนึ่ง  คือ  นิพพานในแง่ของความสิ้นกิเลส  ซึ่งมีผลต่อการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก  หรือต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  ด้านที่สอง  คือ  นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะจำเพาะของผู้บรรลุซึ่งไม่อาจหยั่งถึงได้ด้วยประสบการณ์ทางอินทรีย์   ๕   เป็นเรื่องนอกเหนือจากประสบการณ์ที่เนื่องด้วยขันธ์  ๕  ทั้งหมดอนุปาทิเสสนิพพาน  คือ  นิพพานตามความหมายในทางปฏิบัติเมื่อสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวัน  พูดอีกอย่างหนึ่งว่า  อนุปาทิเสสนิพพาน  คือ  นิพพานตามความหมายที่พระอรหันต์มีนิพพานเป็นอารมณ์  สอุปาทิเสสนิพพาน คือ  นิพพานในความหมายที่พระอรหันต์มีขันธ์  ๕  เป็นอารมณ์

นอกจากนี้ยังมีข้อความเกี่ยวกับนิพพานหลายแห่ง  แต่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเฉพาะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างเดียว เช่น  พระพุทธพจน์แสดงพระธรรมวินัยว่า  มีความอัศจรรย์เหมือนดังมหาสมุทร  ๘  ประการว่า  แม้ภิกษุจำนวนมากมายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นิพพานธาตุจะปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะเหตุนั้นก็หามิได้  เปรียบได้กับสายฝนที่หลั่งลงจากฟากฟ้า  มหาสมุทรจะทำให้มหาสมุทรปรากฏเป็นความพร่องหรือเต็มไปเพราะเหตุนี้ก็หามิได้  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าเมื่อเป็นพระอรหันต์ล้วนคงตัวอยู่อย่างนั้นไม่มีเสื่อมหรือผันแปรเป็นอย่างอื่นได้อีกเลย

หมายเลขบันทึก: 216112เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นิพพาน คือ สภาวจิตที่สามารถบริหารจ้ดการกิเลส ตัณหา อุปาทาน ได้อย่างพอเหมาะ พอดี พอประมาณ หรือ ความสามารถในการรักษาจิตอุเบกขา ให้สงบตั้งมั่นอยู่ได้ โดยไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ปรุงแต่งของกิเลสตัณหา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท