อสังขตธรรม เป็นไฉน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

อสังขตธรรม  เป็นไฉน

กฎปฏิจจสมุปบาทนั้น  แม้จะเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งในพุทธศาสนา ก็ยังคงมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่มิใช่น้อยในด้านความเข้าใจเกี่ยวกับฐานะของปฏิจจสมุปบาทว่า   มีภาวะที่แท้จริง ๆ  ต่างหากจากสิ่งต่าง ๆ  ที่ดำเนินไปตามกฎของปฏิจจสมุปบาท  หรือว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นเพียงชื่อเรียกอาการของสิ่งทั้งหลายที่ดำเนินไปตามครรลองของปฏิจจสมุปบาทเท่านั้น

เรื่องในทำนองนี้เคยมีปัญหาขัดแย้งกันมาแล้ว  ในวงการพระสงฆ์เถรวาทหลังพุทธกาลซึ่งมีมติไม่ลงรอยกันในเรื่องเกี่ยวกับ  อสังขตธรรม  ดูเหมือนว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น  คงไม่มีปัญหาในเรื้องนี้แต่อย่างใด   จึงไม่ปรากฏว่าทรงระบุถึงสิ่งที่เรียกว่าอสังขตธรรมไว้เลยว่ามีจำนวนเท่าใด  ทราบเพียงว่า  นิพพานเป็นสิ่งที่รู้จักและยอมรับกันดีในฐานะอสังขตธรรม

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นปัญหาในรายละเอียด  เราจะพิจารณาความหมายของคำว่าอสังขตธรรมกันเสียก่อนว่าคืออะไร  มีความหมายว่าอย่างไร

อสังขตธรรม  แปลว่า สิ่งที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง  ความหมายกว้าง ๆ  ของคำ  ๆ  นี้ก็คือ  สิ่งที่เกิดและดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง  ไม่มีผู้สร้างหรือสาเหตุทำให้มันเกิด  เมื่อมันดำรงอยู่ดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่น  อสังขตธรรมนั้นตรงกันข้ามกับสังขตธรรมซึ่งแปลว่า  สิ่งที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง และมีความหมายกว้าง ๆ    ว่า  เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง  หากแต่เกิดเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้มันเกิดเมื่อมันดำรงอยู่ก็ดำรงอยู่โดยอิงอาศัยสิ่งอื่น   เมื่อใดก็ตามที่ปัจจัยซึ่งหล่อเลี้ยง  การดำรงอยู่ของมันสิ้นสุดลง  เมื่อนั้นตัวมันก็จะต้องสูญสลายตามไปด้วย

สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอสังขตธรรมที่เกิดขึ้นนั้น  เนื่องจากมีความเห็นในเรื่องจำนวนแตกต่างกันจนมีมติไม่ลงรอยกัน
 กล่าวคือ

๑.  ฝ่ายหนึ่งมีมติว่า   อสังขตธรรมมีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือนิพพาน

๒.  ฝ่ายหนึ่งมีมติว่า  อสังขตธรรมมีมากว่าหนึ่ง  ไม่ใช่เพียงนิพพานเท่านั้นโดยเสนอว่านอกจากนิพพพานแล้ว  นิยาม  ปฏิจจสมุปบาท  อริยสัจ  อรูปฌาน นิโรธสมาบัติ  และอากาสะ  ก็ล้วนแต่เป็นอสังขตธรรมเช่นกัน



และเนื่องจากว่าพระสงฆ์กลุ่มที่มีมติว่าอสังขตธรรมมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ นิพพาน  เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการร้อยกรองพระอภิธรรม  ดังนั้น   จึงปรากฏว่า  มีเนื้อหาที่สอดคล้องต้องกันในเชิงยืนยันมติของฝ่ายตนเอาไว้อย่างชัดเจน  ซึ่งบางแห่งก็ระบุชัดลงไปเลยว่า   อสังขตธรรมมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น  คือ  นิพพาน  และจากหลักฐานในคัมภีร์กถาวัตถุพบว่า  เหตุผลที่พระสงฆ์กลุ่มนี้ใช้เป็นเครื่องมือหักล้างข้อเสนอฝ่ายตรงข้าม  ด้วยการใช้วิธีอ้างตรรกวิทยาง่าย ๆ ว่า  สิ่งใดไม่ใช่นิพพาน  สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่อสังขตธรรม ซึ่งเห็นได้ชัดว่า  การหักล้างไม่สมเหตุสมผล เพราะถือเอาสมมุติฐานของตนเป็นหลัก   โดยไม่คำนึงถึงสมมุติฐานของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับฝ่ายตน  เมื่อและฝ่ายมีสมมุติฐานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า  (assumption)  ต่างกัน  ผลที่ออกมาก็ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา  การใช้สมมุติฐานไม่ตรงกันเป็นฐานในการหักล้างความคิดของฝ่ายอื่น  ย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผล  เพราะสมมุติฐานที่แต่ละฝ่ายมีอยู่นั้นต่างก็เป็นข้อตกลงในกลุ่มของตนเองของแต่ละฝ่ายสมมุติฐานเหล่านี้มีฐานะเท่ากัน  คือ  ต่างก็ไม่ได้รับการตรวจสอบกับข้อเท็จจริงที่น่ายอมรับมันจึงเป็นเพียงความเชื่อที่แต่ละฝ่ายมีเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องอสังขตธรรมนี้  นิพพานเป็นที่รู้จักและยอมรับกันโดยทั่วไปอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา  ปัญหามีอยู่ที่ข้อเสนอของพระสงฆ์ฝ่ายที่มีมติว่า  อสังขตธรรมมีมากว่าอย่าง เดียว  ได้แก่  นิยาม  ปฏิจจสมุปบาท  อริยสัจ  อรูปฌาน  นิโรธสมาบัติ  และอากาสะฉะนั้นพระสงฆ์กลุ่มนี้มีเหตุผลอย่างไรจึงเสนอมาและข้อเสนอเหล่านี้มีความน่าจะเป็นอสังขตธรรมอย่างไร   เราไม่สามารถทราบเหตุผลของพระสงฆ์กลุ่มนี้  แต่เราจะนำข้อเสนอเหล่านี้มาวิเคราะห์หาเหตุผลกันดูเพราะในพระสุตตันตปิฎกมีพระพุทธวจนะบางแห่งส่อไปในทำนองว่าอสังขตธรรมน่าจะมีหลายอย่างไม่จำกัดอยู่เพียงนิพพานเท่านั้น  ซึ่งเรื่องนี้ได้มีผู้วิเคราะห์พระพุทธวจนะนั้นทั้งในแง่เนื้อหาและในแง่ภาษาอย่างละเอียดแล้วให้ข้อสรุปไว้ว่าสามารถอ้างเป็นหลักฐานได้ว่า  อสังขตธรรมน่าจะมีมากกว่าหนึ่งอย่างเพราะพุทธวจนะจะเปิดทางให้ตีความได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะไม่ได้ตรัสระบุว่าอสังขตธรรมมีจำนวนเท่าใด  มีอะไรบ้างก็ตาม   แต่ก็ได้ทรงวางหลักการที่สำคัญยิ่งในการตัดสินว่า  สิ่งใดเป็นสังขตธรรม  สิ่งใดเป็นอสังขตธรรม  เอาไว้อย่างชัดเจน  ในพระสุตตันตปิฎก  ซึ่งมีใจความว่า

ตีณีมานิ  ภิกฺขเว  สงฺขตสฺส  สงฺขตลกฺขณานิ  กตมานิ ตีณิ.
อุปฺปาโท  ปญฺญายติ  วโย  ปญฺญายติ  ฐิตสฺส  อญฺญถติตํ  ปญฺญายติ.
อิมานิ  โข  ภิกขเว  ตีณิ สงฺขตสฺส  สงฺขตลกฺขณานีติ.


ตีณีมานิ  ภิกฺขเว  อสงฺขตสฺส  อสงฺขตลกฺขณานิ.  กตมานิ  ตีณิ.
น อุปฺปาโท  ปญฺญยติ.  นิ  วโย  ปญฺญายติ. น  ฐิตสฺส  อญฺญถตฺตํ  ปญฺญายติ
อมานิ  โข  ภิกฺขเว  ตีณิ  อสงฺขตสฺส  อสงฺขตลกฺขณานีติ

ภิกษุทั้งหลาย ทั้งสังขตลักษณะของสังขตธรรม  มีสามประการ
สามประการอะไรบ้าง  คือ  การเกิดปรากฏ  ความเสื่อมปรากฏ
เมื่อสังขตธรรมนั้นดำรงอยู่  ความแปรเปลี่ยนปรากฏ
ภิกษุทั้งหลาย  สามประการเหล่านี้แล คือ  สังขตลักษณะของสังขตธรรม

ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม  มีสามประการ
สามประการอะไรบ้าง  คือ  การเกิดไม่ปรากฏ   ความเสื่อมไม่ปรากฏ
เมื่ออสังขตธรรมนั้นดำรงอยู่  ความแปรเปลี่ยนไม่ปรากฏ
ภิกษุทั้งหลาย สามประการเหล่านี้แล  คือ  อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม


พระพุทธวจนะข้างต้นนี้อาจสรุปเป็นหลักการเพื่อความชัดเจนได้ดังต่อไปนี้

สิ่งใดก็ตามที่เป็นสังขตธรรม  สิ่งนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะ  ๓  ประการ
ต่อไปนี้

๑ สิ่งนั้นปรากฏการเกิด

๒ สิ่งนั้นปรากฏความเสื่อมสลาย

๓ สิ่งนั้นขณะดำรงอยู่ปรากฏความแปรเปลี่ยน

ส่วนสิ่งใดก็ตาม  ที่เป็นอสังขตธรรม  สิ่งนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะ  ๓  ประการต่อไปนี้  คือ

๑ สิ่งนั้นไม่ปรากฏการเกิด

๒ สิ่งนั้นไม่ปรากฏความเสื่อมสลาย

๓ สิ่งนั้นขณะดำรงอยู่ไม่ปรากฏความแปรเปลี่ยน

เมื่อมีหลักการที่ชัดเจนอยู่เช่นนี้  การที่จะตัดสินว่าสิ่งใดเป็นสังขตธรรม  สิ่งใดเป็นอสังขต
ธรรม  ตามทรรศนะของพุทธศาสนาจึงสามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดโดยนำสิ่งที่ผู้เสนอว่าเป็นอสังขตธรรมนั้นมาตรวจสอบวินิจฉัยคุณสมบัติดูว่าตรงตามหลักการสามข้อข้างต้นนั้นหรือไม่

ในกรณีที่พระสงฆ์กลุ่มที่เสนอว่า  อสังขตธรรมมีมากกว่าอย่างเดียวได้แก่นิยาม  ปฏิจจสมุปบาท  อริยสัจ   อรูปฌาน  นิโรธสมาบัติ  และอากาสะ  เราก็สามารถนำข้อเสนอแต่ละอย่างมาวิเคราะห์คุณสมบัติดูก็ย่อมรู้ได้ทันทีหากสิ่งใดตรงกับหลักการที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้สิ่งนั้นย่อมจัดเป็นอสังขตธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นที่ทราบกันดีว่า นิยาม.  ปฏิจจสมุปบาท  อริยสัจ  เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับหลักอิทัปปัจจยตา  กล่าวคือ    นิยามกับอิทัปปัจจยตา   เป็นคำที่พุทธปรัชญาใช้ระบุถึงสิ่งเดียวกัน  ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของอิทัปจจยตา   ส่วนอริยสัจก็เป็นหลักธรรมที่นิรนัยออกมาจากหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท     หลักอิทัปปัจจยตานี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า   มีความสำคัญเสมือนหนึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา  เพราะมีเนื้อหากว้างขวางลุ่มลึกครอบคลุมหลักธรรมสำคัญอื่น ๆ  เอาไว้แทบทั้งสิ้น

หลักอิปทัปปัจจยตามีฐานะเป็นกฎควบคุมความเป็นสาเหตุและผลของสังขตธรรมทุกอย่างในเอกภพ   กฎนี้พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า  เป็นธรรมธาตุ  ธรรมฐิติ  ธรรมนิยาม  ซึ่งหมายความว่า  มันเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยไม่มีใครสร้างขึ้นมา  มันมีอยู่ของมันเอง  มีอยู่ตลอดเวลา  และจะมีอยู่ตลอดไป  มันเป็นสิ่งมีอยู่จริงต่างหากจากสิ่งที่ดำเนินไปตามกฎ คือ[/b]  มันเป็นสิ่งที่ควบคุมสังขตธรรม ทุกอย่างในเอกภพนี้ให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ

เมื่อวิเคราะห์ดูลักษณะของกฎอิทัปปัจจยตาอย่างละเอียดแล้ว  เห็นได้ชัดเจนว่าตรงกับหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ทุกประการ  กล่าวคือ  กฎอิทัปปัจจยตา  เป็นสิ่งที่มีอยู่ต่างหากจากสิ่งที่ดำเนินไปภายใต้การควบคุมของมัน  มันจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยปรมัตถ์
   การมีอยู่ของมันไม่เกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ  ในเอกภพ  แม้ว่าเอกภพนี้จะปราศจากสิ่งอื่น จะดำเนินไปตามกฎหมายของมันก็ตาม  มันก็จะยังอยู่ตลอดเวลาอย่างเป็นอมตะโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง  นี้ย่อมเป็นข้อยืนยันอยู่ในตัวว่ามันเป็นอสังขตธรรม   ในเมื่อกฎอิทัปปัจจยตาเป็นอสังขตธรรม  หลักธรรมอื่นที่ใช้เรียกสิ่งเดียวกันนี้  เช่น นิยามก็ย่อมเป็นอสังขตธรรมด้วย  และแม้แต่กฎเฉพาะที่นิรนัยออกไปจากกฎนี้  เช่น  อริยสัจก็ย่อมจัดเป็นอสังขตธรรมด้วยเช่นกัน

สำหรับอรูปฌานและนิโรธสมาบัติ
  สองสิ่งนี้เป็นภาวะหรือภูมิธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งการเข้าถึงมันหากปราศจากผู้ปฏิบัติตามปฏิปทาที่นำไปสู่มัน  มันก็จะมีไม่ได้   ตัวบุคคล    การลงมือปฏิบัติและหลักเกณฑ์หรือปฏิบัติตามปฏิปทาที่นำไปสู่มัน  เมื่อพิจารณาลักษณะต่าง ๆ  ของมันดูแล้วไม่ตรงกับหลักการที่ทรงวางเอาไว้   มันจึงไม่อาจจัดเป็นอสังขตธรรมได้  ส่วนอากาสะนั้นเมื่อนำคุณลักษณะของมันมาวิเคราะห์ดูโดยใช้หลักการที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้  เข้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีความสอดคล้องต้องตามพุทธมติ   อากาสะจึงมีฐานะเป็นอสังขตธรรมแน่นอน

สรุปแล้วสิ่งที่พระสงฆ์กลุ่มนี้เสนอมาว่าเป็นอสังขตธรรมนั้น  มีอยู่สี่อย่างที่สอดคล้องกับพุทธมติ  คือ  นิยาม   ปฏิจจสมุปบาท   อริยสัจ  และอากาสะ  เมื่อรวมนิพพานเข้าด้วยเราสามารถจำแนกอสังขตธรรมข้างต้นออกเป็น  ๓  ประเภท  คือ

๑.   ประเภทที่อยู่ในรูปกฎธรรมชาติได้แก่   นิยาม  ปฏิจจสมุปบาท  และอริยสัจ

๒.  ประเภทที่อยู่ในรูปภาวะทางธรรม  ได้แก่  นิพพาน

๓.   อสังขตธรรมพิเศษ  ได้แก่  อากาสะ


กล่าวรวบยอดเฉพาะกฎปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นชื่อเรียกสิ่งที่ควบคุมความเป็นสาเหตุและผลของสังขตธรรมในเอกภพให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ  มันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงไม่ใช่สิ่งที่สมมุติ  แต่การมีอยู่ของมันนั้น ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า  เพราะมันมีอยู่ในภาวะปรมัตถ์ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะสูงสุดในธรรมชาติ   ดังนั้น  จึงถือว่ากฎปฏิจจสมุปบาทเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง (being)  ไม่ใช่ชื่อสมมุติเรียกอาการดำเนินไปของธรรมชาติเท่านั้น


หมายเลขบันทึก: 216116เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร

เจริญพร ชาวสมาชิก gotoknow ทุกท่าน

คือว่า ตอนนี้อาตมาทำวิทยานิพนธ์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสังขตธรรมกับอสังขตธรรม ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับสังขตธรรมอสังขตธรรมเพิ่มเติม

ขอเพื่อนสมาชิก ช่วยบอกแหล่งข้อมูลด้วย และขอให้ช่วยตั้งปัญหาเกี่ยวกับสังขตธรรมและอสังขตธรรมด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูง

พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร

เจริญพร ขอบคุณ คุณสมถะที่ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังขตะอสังขตะ และเจริญพรขอบคุณ คุณ sleep ที่ช่วยแนะนำพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อสด เกี่ยวกับสังขตะอสังตะ

ถ้าไม่คิดมากแล้ว ดูตามความหมายแล้วก็ไม่น่าจะต้องเป็นหัวข้อโต้แย้งกันเลย อสังขตธรรม ก็คือ กฏธรรมชาติ เป็นกระบวนการ หรือสภาวธรรม หรือธรรมชาติที่เป็นไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้มีการปรุงแต่ง ย่อมไม่มีตัวตนไม่มีการเกิดไม่มีการเสื่อมสลายไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ขึ้นกับกาล เพราะมันเป็นเพียงสภาวะหรือกฏ เช่นไฟหรือตัวไฟเป็น สังขตธรรม อันนี้เข้าใจง่าย ส่วนธรรมชาติของไฟ (ไฟนั้นแปล่งแสงและมีความร้อน) หรือกฏของไฟนั้นเป็น อสังขตธรรม เนื่องจาก

ธรรมชาติหรือกฏของไฟนั้นไม่มีการเกิด เพราะไม่มีใครสร้างกฏ ไม่มีแหล่งที่มา มันก็เป็นกฏของมันอยู่อย่างนั้นเอง ที่ว่ามีแสงและร้อน

ธรรมชาติหรือกฏของไฟไม่มีการเสื่อมสลาย เพราะมันเป็นเพียงกฏ เป็นเงื่นไข หรือธรรมชาติของไฟ คือให้แสงให้ความร้อนเสมอ

ธรรมชาติหรือกฏของฟนั้นไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นจริงเสมอที่เมื่อใดมีไฟเกิดขึ้นแล้วธรรมชาติของไฟย่อมเป็นไปตามกฏของมันเสมอ

แต่ถ้าดันไปคิดลึกคิดมากว่า มันเป็นธรรมชาติหรือเป็นกฏของมันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้มาปรุงเป็นปัจจัยให้เกิดไฟแล้วย่อมไม่มีธรรมชาติของไฟที่ว่านี้ละก็ มันก็คงไม่เหลืออะไรเลยที่จะเป็น สังขตธรรม

อย่างที่คุณวิเคราห์มาก็ถูกหมด เพราะ ทั้ง นิพพาน นิยาม ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ และ อากาสะ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงกฏธรรมชาติ เป็นสภาวะธรรม หรือธรรมชาติที่เป็นไปอย่างนั้นเอง

ต้องอ่านหลายๆ รอบ ^_^ จะพยายามครับ

พิจารณา​ดูเอาโดยคำจำกัดความ​ นิยามหรือ​ความ​หมายของคำทั้งสองคำนี้ สังขตธรรม​ คือ​อะไร? อสังขตธรรม​ คืออะไร? แน่นอนว่าทั้งสอง​สิ่งนี้คือธรรม​ คือธรรมชาติ ดังนั้น​ความหมาย​ นิยาม​หรือ​คำจำกัดความ​ของคำว่า​ “อสังขตธรรม” คืออะไร​ มีความหมาย​ว่า​คือ​ “นิพพาน​” อย่าง​เดียว​หรือ​ไม่อย่างไร​ ก็พึงวิเคราะห์​พินิจ​พิจารณา​ให้​รอบคอบ​เถิด​ หาก​ยังไม่แจ่มแจ้ง​ก็​ลองค้น​คว้าหาดูในพระไตรปิฎก​แล้ว​นำเอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์​พินิจ​พิจารณา​ให้​รอบคอบ​ยิ่ง​ยิ่ง​ขึ้นไป​ก็จะได้​คำตอบ​ที่แท้จริง​ที่ไม่สามารถ​เป็น​อื่น​ได้​

พิจารณา​ดูเอาโดยคำจำกัดความ​ นิยามหรือ​ความ​หมายของคำทั้งสองคำนี้ สังขตธรรม​ คือ​อะไร? อสังขตธรรม​ คืออะไร? แน่นอนว่าทั้งสอง​สิ่งนี้คือธรรม​ คือธรรมชาติ ดังนั้น​ความหมาย​ นิยาม​หรือ​คำจำกัดความ​ของคำว่า​ “อสังขตธรรม” คืออะไร​ มีความหมาย​ว่า​คือ​ “นิพพาน​” อย่าง​เดียว​หรือ​ไม่อย่างไร​ ก็พึงวิเคราะห์​พินิจ​พิจารณา​ให้​รอบคอบ​เถิด​ หาก​ยังไม่แจ่มแจ้ง​ก็​ลองค้น​คว้าหาดูในพระไตรปิฎก​แล้ว​นำเอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์​พินิจ​พิจารณา​ให้​รอบคอบ​ยิ่ง​ยิ่ง​ขึ้นไป​ก็จะได้​คำตอบ​ที่แท้จริง​ที่ไม่สามารถ​เป็น​อื่น​ได้​

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท