นิพพานไม่สูญ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

นิพพานไม่สูญ

 

จูฬสัจจกสูตร เหตุที่พระสาวกเป็นผู้ทำตามคำสอนและเป็นพระอรหันต์ (๑๒ : ๓๐๘)

        “…พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงดับสนิทแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความดับสนิท…” คำว่า “ดับ” หมายถึงอะไร พิจารณาจากพระสูตรต่อไป

       ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหานิทเทส (๓๐ : ๓๐)

        “…คำว่า ดับแล้ว ความว่าชื่อว่าความดับแล้ว เพราะเป็นผู้ดับราคะ โทสะ โมหะ … มทะ ปมาทะ กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง…”

        ข้อนี้กล่าวว่าความดับ หมายถึง ดับราคะ โทสะ โมหะ มทะ ปมาทะ กิเลส ทุจริต ความกระวนกระวาย ความเร่าร้อน ความเดือดร้อน และอกุสลาภิสังขาร แต่ไม่มีข้อความใดบ่งชี้ได้ว่าพระนิพพานเป็นที่สูญจากจิต

        ส่ำสัตว์โดยทั่วไปเมื่อถูกมรณภัยไล่ต้อน ย่อมต้องไปเกิดในภูมิทั้ง ๓๑ คือ ทุคติภูมิ ๔ กามภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๖ และอรูปภูมิ ๔ มีสภาพเป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา หรือพรหมตามบุญกรรมที่ชักนำไปสู่ภพภูมินั้น ๆ ส่วนพระอรหันตขีณาสวเจ้าย่อมไม่เข้าถึงภูมิทั้ง ๓๑ นี้ ซึ่งเป็นประเด็นชวนคิดว่าพระอรหันต์เมื่อถึงมรณกาล จิตหรืออทิสสมานกายของท่านเหล่านั้นไปอยู่ที่ใด

        พระไตรปิฎกกล่าวถึงประเภทของ “เทพ” ไว้ว่า “…เทพ ในอุเทศว่า ‘ปสฺสามหํ เทวมนุสฺสโลเก’ ดังนี้ มี ๓ คือ สมมติเทพ ๑ อุปบัติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑…วิสุทธิเทพเป็นไฉน ? พระอรหันตขีณาสพสาวกของพระตถาคต และพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เรียกว่า วิสุทธิเทพ…”   เมื่อพระอรหันตสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นวิสุทธิเทพ น่าจะตีความได้ว่าจิตหรืออทิสสมานกายน่าจะตั้งอยู่ ณ ที่นี้ มีสภาพเป็น “เทวดาจำพวกหนึ่ง” ที่ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ประเด็น “นิพพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพาน ไม่สูญ”

 

-->>  นิพพานํ ปรมํ สุญฺญํ   นิพพาน ไม่สูญ

        การศึกษาเพื่อให้ได้คำตอบว่าพระนิพพานสูญหรือไม่สูญ น่าจะลองย้อนไปศึกษาภูมิปัญญาในอดีตว่าคนสมัยก่อนมีความคิดเรื่องพระนิพพานอย่างไร

        ภูมิปัญญาสมัยกรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัยเป็นสิ่งที่น่าหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้ถ้วนถี่ เพราะการศึกษาพุทธพจน์หรือการศึกษาพระไตรปิฎก มิใช่เพิ่งมาศึกษาเอาเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์และเลือกแปลพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกให้ภิกษุสามเณรในวัดมกุฏกษัตริยารามได้ศึกษา เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๔๒-๒๔๔๔   แต่มีหลักฐานว่ามีการศึกษาตำราอันเกี่ยวข้องกับพระศาสนามาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นอย่างน้อย ดังปรากฏในผูกสมุดไทเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ของพญาลิไทที่ทรงนิพนธ์เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ระกาศก ศักราชได้ ๒๓ อันเป็นวันมฤคเลียรนักษัตร   ว่าพระองค์ศึกษารวบรวมจากพระวินัยปิฎก พระมิลินท พระธัมมบท พระวิสุทธิมรรค เป็นต้น ทั้งพระองค์ยังทรงศึกษาหาความรู้จากพระมหาเถรอโนมทัลสี พระมหาเถรธัมมบาล พระมหาเถรสริทส และพระมหาเถรพุทธโฆสาจาริย์ผู้อยู่ในเมืองหริภุญชัย เป็นต้น อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์มีความรู้ทางพระพุทธศาสนามิน้อย

        พระนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วง ฉบับพญาลิไท กล่าวถึงกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ อันเป็น ๓ ภูมิหลัก หากนับแยกย่อยตั้งแต่นรกภูมิจนถึงเนวสัญญายตนภูมิ ย่อมมีทั้งสิ้น ๓๑ ภูมิด้วยกัน ส่วนท้ายของหนังสือไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงแดนพระนิพพานว่า

        “…พระพุทธเจ้าแลพระองค์ ๆ โปรดเทพยดามนุษย์ทั้งหลายเข้าสู่นิพพาน ผิวคณนาได้ ๒๔ อสงไขยแล ๑๑๖๐ โกฏิก็มี มิก ๑๐๖,๖๖๖ คนเป็นกำไรโสดเถิงนครนิพพานอันประเสริฐยิ่งภูมิทั้งหลาย ๓ นี้แล ฯ ทั้งอนันตจักรวาฬอันเป็นเอกาทสกจบโดยสังเขปแล ฯ ผู้ใดจะเถิงแก่มหานคยนิพพานนนบมิรู้ฉิบหาย บมิรู้แปรปรวนไปมา แลฝูงสัตว์ทงหลายอยู่ในไตรภูมินี้แล ฯ กล่าวเถิงไตรภูมิกถามมหานิพพานแล ฯ…”  


        ข้อความที่ยกมานี้แสดงให้เห็นว่าพญาลิไท หรืออาจหมายรวมไปถึงเหล่าพระมหาเถระในสมัยนั้น ล้วนมีความเห็นตรงกันว่าพระนิพพานมีสภาพเป็นแดน เป็นเมือง จึงเรียกพระนิพพานว่าเป็น “มหานครนิพพานอันมิรู้ฉิบหาย” 

        นอกจากความเชื่อเรื่องพระนิพพานมีสภาพเป็นเมืองปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิของพญา ลิไทแล้ว ความเชื่อนี้ยังปรากฏในหนังสือไตรภูมิฉบับภาษาเขมรอีกด้วย ดังปรากฏข้อความในไตรภูมิฉบับภาษาเขมร กล่าวถึงพระนิพพานว่า

        …อณานฺตโยชมหารตฺนณ…ชนฺนลุะดล มหาพฺรํหฺมนูชาตแขตอนาแขตโดยทูลายตฺรลุด…วาลมานกํแพงเหีย เทาโดยแถว ๗ ปฺรการฺยฺยโหง…

        ข้อความที่ยกตัวอย่างมานี้ถอดความได้ว่า “….อนัตโยชน์มหารัตน…ขึ้นไปถึงมหาพรหมเป็นเขตแดน อาณาเขตกว้าง…มีกำแพงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการฯ …” อันแสดงให้เห็นว่าไตรภูมิทั้ง ๒ ฉบับ มีคติเกี่ยวกับพระนิพพานตรงกัน คือ พระนิพพานมีสภาพเป็นแดน เป็นเมือง มิได้ขาดสูญ หากยังคงอยู่ถาวรตลอดไป หาความพินาศฉิบหายบ่มิได้ ไม่เคลื่อนไปสู่ภพอื่น แต่มีข้อสงสัยว่าพระไตรปิฎกกล่าวว่าพระนิพพานเป็นแดนด้วยหรือไม่ ?

       มีข้อความที่บ่งว่าพระนิพพานมีสภาพ มีธาตุ มีอายตนะอยู่หลายพระสูตรด้วยกัน การศึกษาครั้งนี้ขอยกข้อความในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง โดยแสดงชื่อพระสูตร (เล่มที่ : เลขหน้า) เช่น ฉฉักกสูตร (๑๔ : ๓๘๘) ดังต่อไปนี้

*************************************

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (พกพรหมหายไปจากพระผู้มีพระภาค) (๑๒ : ๔๒๑)

            “…นิพพานอันผู้บรรลุพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิทัสนะ (ไม่เห็นได้ด้วยจักษุวิญญาณ) เป็นอนันตะ (ไม่มีที่สิ้นสุดหรือหายไปจากความเกิดขึ้นและความเสื่อม) มีรัศมีในที่ทั้งปวง…”

            ข้อสังเกต ; ถ้านิพพานมีสภาพสูญ ทำไมจึงมีรัศมีในที่ทั้งปวง


*************************************

พาหิยสูตร (๒๕ : ๖๐)

           “…ได้ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ‘ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่มีสว่าง ความมืดย่อมไม่มี…”

           ข้อสังเกต ; ถ้านิพพานมีสภาพสูญ ทำไมจึงใช้ว่า “นิพพานธาตุ”

*************************************

ธาตุสูตร (๒๕ : ๑๙๘-๑๙๙)

          “…พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาอาสวะมิได้ ถูกต้องอมตธาตุอันหาอุปธิมิได้ด้วยนามกาย…”

          ข้อสังเกต ; ถ้านิพพานมีสภาพสูญ ย่อมมิอาจถูกต้องอมตธาตุได้ด้วยนามกาย

*************************************

โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส (๓๐ : ๒๑๐)

         “…อมตนิพพาน คือ ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด…

*************************************

รัตนสูตร ใน ขุททกปาฐ (๒๕ : ๔)

        “…พระอริยบุคคลเหล่านี้ บรรลุอรหัตผลที่ควรบรรลุ หยั่งลงสู่อมตนิพพาน ได้ซึ่งความดับกิเลสโดยเปล่า เสวยผลอยู่…”

        ข้อสังเกต ; ทำไมจึงสามารถเสวยผลอยู่ได้ในอมตนิพพาน ถ้ามีสภาพสูญไม่น่าจะมีการ “เสวยผลอยู่” ต่อไปได้
อุทานปาฏลิคามิยวรรค ที่ ๘ นิพพานสูตร ที่ ๑ ว่าด้วย อายตนะ คือ นิพพาน (๒๕ : ๑๔๓)

         “…ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็นการมา การไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์…”

         ข้อสังเกต ; ข้อความนี้ค่อนข้างชัดเจน เพราะแสดงให้เห็นว่าธาตุและอายตนะอื่น ๆ ย่อมไม่ปรากฏในพระนิพพานอีก แต่อายตนนิพพานซึ่งหาที่ตั้งอาศัยหรืออารมณ์มิได้ยังคงมีอยู่

*************************************

โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส (๓๐ : ๒๔๘)

        “…ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา…”

         ข้อสังเกต ; ทำไมจึงใช้ว่านิพพานย่อมปรากฏอยู่โดยแท้ โดยอธิบายว่าเป็นความเที่ยง (นิจฺจํ)

*************************************

ทวยตาปัสสนาสูตร ที่ ๑๒ (๒๕ : ๓๕๘)

         “…นิพพานเป็นธรรมชาติ เปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น…”

*************************************

ทวยตาปัสสนาสูตร ที่ ๑๒ (๒๕ : ๓๕๗)

        “…นามรูปมีความสาปสูญไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สาปสูญไปเป็นธรรมดา…”

        ข้อสังเกต ; ข้อความนี้ชัดเจนที่สุด เพราะบ่งว่านามรูปทั้งหลายมีความสาปสูญไปเป็นธรรมดา แต่พระนิพพานไม่สาปสูญไปไหน

*************************************

การศึกษาเนื้อหาพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงพระนิพพานในครั้งนี้ จึงพอสรุปได้ว่า

        ๑. นิพพานย่อมไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เพราะอารมณ์ของพระอรหัตผลย่อมสิ้นอาสวะกิเลสทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ไม่ยึดมั่นถือมั่นแม้ธรรมะใด ๆ (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) ดังความว่า

        “…พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นแล…”   

*************************************

        ๒. นิพพานเป็นที่ดับแห่งกิเลส สิ้นแห่งอุปธิทั้งปวง สูญจากราคะ โทสะ โมหะ มทะ ปมาทะ กิเลส ทุจริต ความกระวนกระวาย ความเร่าร้อน ความเดือดร้อน และอกุสลาภิสังขาร

*************************************

       ๓. นิพพานไม่มีสภาพสูญ หากแต่มีอายตนะ (อายตนนิพพาน) ธาตุ (นิพพานธาตุ) รัศมี (รัศมีแห่งพระวิสุทธิเทพ) สัตว์ผู้สิ้นกิเลสย่อมสัมผัสอมตธาตุเหล่านี้ได้ด้วยนามกาย

*************************************
     
-->>         พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสอนอันจริงแท้ แน่นอน ไม่มีความแปรปรวน บุคคลรู้และให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาล ผู้เข้าถึงธรรมย่อมสัมผัสอมตะรสได้ด้วยตนเองเท่านั้น
พระพุทธเจ้าจึงมีคุณมากที่แสดงธรรมวิเศษเหล่านี้

พระธรรมมีคุณมากเพราะขัดเกลาจิตของสัตว์มิให้ตกลงสู่ที่ต่ำ

พระสงฆ์มีคุณมากเพราะเป็นผู้พร่ำสอนสัตว์แทนพระทศพล

-->>  ดังนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงไม่ควรสงสัยในพระนิพพานหรือพระไตรรัตน์ ละสังโยชน์เบื้องต้น ๓ ประการ บำเพ็ญธรรมทั้ง ๒ คือสมถะ และวิปัสสนา เพื่อหลุดพ้น ไม่กระวนกระวายอีกต่อไป

*************************************

เอกสารประกอบการศึกษา

        พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง

 

ขอให้ทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง  นิพพานไม่สูญ  

ส่วนจะเป็นอัตตาหรืออนัตตา  สุดแล้วแต่ท่านใดจะวินิจฉัย  

ขอแต่อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นพระนิพพาน  ถ้าท่านเข้าใจบทว่า...

 "สัพเพ  ธัมมา  นาลัง  อะภินิเวสายะ"

  "ธรรมทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น"




หมายเลขบันทึก: 216124เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท