พระอภิธรรมปิฎก อธิบายอย่างไร...?


พระอภิธรรมปิฎก อธิบายอย่างไร...?

 

๑. ศึกษาในแง่มุมประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา  พระอภิธรรมปิฎกเป็นพัฒนาการในยุคหลัง  พระไตรปิฎกพูดถึงสังคายนาครั้งที่ ๑  และครั้งที่ ๒  เท่านั้น  และสังคายนาทั้งสองครั้งเรียกว่า  ธัมมวินยสังคีติ  (สังคายนาพระธรรมวินัย)  หรือ  "ติปิฎกวิสัชนา" (วิสัชนาพระไตรปิฎก)

๒. ในแง่ภาษา  ภาษาพระ  ในพระอภิธรรมเป็นภาษาเขียน  ภาษาวิชาการที่เรียบเรียงขึ้นเป็นตอน  มิใช่ภาษาพูดเหมือนในพะสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมข้อนี้แสดงว่า อภิธรรมปิฎกเพิ่มมาภายหลัง

๓. มีข้อถกเถียงกันว่า  พระอภิธรรมปิฎกเป็นพระพุทธพจน์หรือไม่  "ทั้งฝ่ายปฏิเสธ  และฝ่ายยอมรับว่าเป็นพุทธพจน์  ต่างก็ให้เหตุผลที่น่าฟังและเป็นไปได้ทั้งสองฝ่าย  ข้อถกเถียงนี้มีมานานแล้ว  และรุนแรงขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐  อันเป็นยุคทองของอรรถกถา

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ขอนำข้อคิดเห็นทั้งสองฝ่ายมาให้พิจารณา  ดังนี้

--->> ฝ่ายที่ปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎกให้เหตุผล  ดังนี้

๑. ภาษาในอภิธรรมปิฎกเป็นสำนวนภาษารุ่นหลัง  เป็นภาษาที่เรียบเรียงเป็นลักษณะวิชาการจัดอยู่ในประเภท  "เวยยากรณะ"  ไม่ใช่ภาษาพูดหรือสนทนา  และภาษาในพระสูตรและพระวินัย

๒. ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพาน  พระพุทธเจ้าตรัสมหาปเทศ ๔  ให้สาวกเทียบเคียงหลักปฏิบัติว่าผิดหรือถูก  โดยให้สอบสวนให้ถูกต้องลงรอยกับพระสูตรและพระวินัย  ถ้าถูกต้องลงรอยกันได้  ให้ถือปฏิบัติ  ถ้าไม่ถูกต้องลงรอยกันไม่ควรถือปฏิบัติ  ในที่นี้มิได้ให้เทียบเคียงกับพระอภิธรรมปิฎกเลย

๓. ข้ออ้างของอีกฝ่ายหนึ่งว่า  พระพุทธเจ้าตรัสอภิธรรมโดยยกเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์  เป็นเพียงคำกล่าวของพระอรรถกถาจารย์ เป็นหลักฐานรุ่นหลังมาก  เรื่องนี้ไม่มีในพระสูตรและพระวินัย

๔. แม้คำว่า  "อภิธมฺเม"  ที่ปรากฏในพระสูตรบางแห่ง  ก็มิได้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎก  เช่น  ในกินติสูตร  มัชฌิมนิกาย  อุปริปัณณาสก์  คำว่า  "อภิธมฺเม"  พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า  หมายถึง  โพธิปักขิยธรรม  ๓๗  ประการ

๕. ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน  พระพุทธเจ้าตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้ในความรับผิดชอบของเหล่าสาวกว่า  ธมฺโม  จ  วินโย  จ  หมายถึงพระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น  มิได้หมายถึงพระอภิธรรมเลย

๖. ในอภิธรรมปิฎกเอง  ปรากฏคำว่า  ยญฺจ  โข  ภควตา  ชานตา  ปสฺสตา  แปลว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้ารู้อยู่  เห็นอยู่  และคำว่า  วุตฺตญฺเจตํ  ภควตา  แปลว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ ดังนี้  สำนวนเช่นนี้เป็นของพระสังคีติกาจารย์  มิใช่เป็นพุทธวจนะ  

๗. นิกายสรวาสติวาทิน  ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  นิกายอภิธรรม  เพราะถืออภิธรรมมาก  ก็ถือว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นสาวกภาษิต  มิใช่พุทธวจนะ

--->> ฝ่ายทียอมรับพระอภิธรรมให้เหตุผล  ดังนี้

๑. เรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมาดา  มีหลักฐานปรากฏชัดในปรมัตถทีปนี  และธัมมปทัฏฐกถา  

๒. ในอังคุตตรนิกาย (๒๒/๓๓๑/๔๓๙)  ข้อความตอนหนึ่งว่า  เตน  โข  ปน  สมเยน  สมฺพหุลา  เถรา  ภิกขู  ปจฺฉาภตฺตํ  ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺตา  มณฺฑลมาเฬ  สนฺนิสินฺนา  สนฺนิปติตา  อภิธมฺมกถํ  กเถนฺติ  แปลว่า  สมัยนั้นแลพระภิกษุผู้เป็นเถระจำนวนมาก  กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว  นั่งประชุมกล่าวอภิธรรมกถากันที่โรงธรรม

-->  ในพระวินัยปิฎก  มหาวิภังค์ (๑/๕๔๓/๓๖๙)  ข้อความว่า  เย  เต  ภิกขู  อาภิธมฺมิกา  เตสํ  เอกชฺฌํ  เสนาสนํ  ปญฺญาเปติ  เต  อญฺญมญฺญํ  สากวฺฉิสฺสนฺตีติ...แปลว่า  พระทัพพมัลลบุตรจัดเสนาสนะให้พระภิกษุที่เรียนอภิธรรมอยู่รวมกัน  ด้วยคิดว่าท่านเหล่านั้นจักได้สนทนาอภิธรรมกัน



-->  ในพระวินัยปิฎก  ภิกขุนีวิภังค์  (๓/๔๗๗/๒๔๕)  กล่าวว่า  ปญฺหํ  ปุจฺเฉยฺยาติ  สุตฺตนฺเต  โอกาสํ  การาเปตฺวา  วินยํ  วา  อภิธมฺมํ  วา  ปุจฺฉติ  อาปตฺติ  ปาจิตฺติยสฺส  วินเย  โอกาสํ  การาเปตฺวา  สุตฺตนฺตํ  วา  อภิธมฺมํ  วา  ปุจฉติ

อาปตฺติ  ปาจิตฺติยสฺส  วินเย  โอกาสํ  การาเปตฺวา  สุตฺตนฺตํ  วา  อภิธมฺมํ  วา  ปุจฺฉติ   อาปตฺติ  ปาจิตฺตติยสฺส  อภิธมฺเม  โอกาสํ  การาเปตฺวา  สุตฺตนฺตํ  วา  วินยํ  ปุจฺฉติ  ปาจิตฺติยสฺส

แปลว่า  ภิกษุณีถามปัญหา  ถ้าขอโอกาสถามพระสูตร  แต่ไปถามพระวินัยหรือพระอภิธรรม  ต้องอาบัติปาจิตีย์  ถ้าขอโอกาสถามพระวินัย  แต่กลับไปถามพระสูตรหรือพระอภิธรรม  ต้องปาจิตตีย์  ถ้าขอโอกาสถามพระอภิธรรม  แต่กลับไปถามพระสูตรหรือพระวินัย  ต้องปาจิตตีย์

-->  ในขุททกนิกาย  อปทาน  (๓๒/๘/๖๓) มีข้อความว่า

สุตฺตนฺตํ  อภิธมฺมญฺจ        วินยญฺจาปิ  เกวลํ
นวงฺคํ  พุทฺธวจนํ              เอสา  ธมฺมสภา  ตว

แปลว่า  พระสูตร  พระอภิธรรม  พระวินัย  รวมพระพุทธวจนะ  มีองค์ ๙  ทั้งหมดนี้  เป็นธรรมสภาของพระองค์

-->  ในเถรีอปทาน (๓๓/๑๕๘/๓๐๙) กล่าวว่า

กุสลาหํ  วิสุทฺธีสุ       กถาวตฺถุวิสารทา
อภิธมฺมวินยญฺญูจ     วสิปฺปตฺตามฺหิ  สาสเน

แปลว่า (นางเขมาเถรีกล่าวว่า) ข้าพเจ้าฉลาดในวิสุทธิ ๗  และสามารถในกถาวัตถุ  เป็นผู้รู้วินัยแห่งพระอภิธรรม  เป็นผู้ถึงความเชี่ยวชาญในพระศาสนา

-->>   ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมาย  คำว่า  "อภิธมฺม"  ในที่นี้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎกนั่นเอง

๓. คำว่า  ธมฺโม  จ  วินโย  จ  ที่แปลว่า  พระธรรมและพระวินัยนั้น  คำว่า  ธรรม  มิได้หมายเพียงพระสุตตันตปิฎกเท่านั้น  แต่หมายรวมถึงพระอภิธรรมปิฎกด้วย

๔. ถ้าปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก  เพราะเหตุเพียงคำว่า  วุตฺตญฺเจตฺ  ภควตา เป็นต้น  พระสูตรกับพระวินัยก็ควรปฏิเสธด้วย  เพราะทั้งพระสูตรและพระวินัย  ล้วนฟังมาจากพระพุทธเจ้าทั้งนั้น  พระพุทธองค์มิได้ทรงขีดเขียนไว้ที่ไหน  และในพระสูตรเองก็มีคำว่า  "เอวมฺเม  สุตํ  ข้าพเจ้าสดับมาดังนี้"  ในพระวินัยปิฎกก็มีคำว่า  เตน  โข  ปน  สมเยน  ภาวตา  โดยสมัยนั้นแล  พระผู้มีพระภาค... เหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดของพระสังคีติกาจารย์ทั้งสิ้น

๕. ยอมรับว่าในอภิธรรมปิฎก  มีภาษิตของพระเถระอยู่คัมภีร์หนึ่ง  คือ  กถาวัตถุ  ที่แต่งโดยพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ  แต่พะโมคคัลลีบุตรก็แต่งตามพุทธาธิบาย

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

การโต้แย้งหักล้างกันในเรื่องนี้มีมานานแล้ว  และคงจะมีต่อไป  การหักล้างกันด้วยวาทะบางครั้งก็รุนแรง  ดังใน  อัฏฐสาลินีอรรถกถา  พระภิกษุแห่งสำนักอภิธรรมเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐  ได้ว่าผู้ปฏิเสธอภิธรรมเสียเจ็บแสบ

"ผู้ปฏิเสธอภิธรรมย่อมชื่อว่าปฏิเสธสัพพัญญุตญาณในชินจักรนี้  ชื่อว่าทำเวสารัชชญาณของพระศาสดาให้หมุนกลับ  ทำให้บริษัทผู้ใคร่จะฟังเข้าใจผิด  กั้นทำนบในอริยมรรค (กีดขวางอริยมรรค)  เขาผู้ปฏิเสธพระอภิธรรม  จัดอยู่ในพวกที่ก่อเหตุแตกร้าว  ๑๘  จำพวก  จำพวกใดจำพวกหนึ่ง  เป็นผู้ควรลงอุกเขปนียกรรม  นิยสกรรม  และตัชชนียกรรมโดยแท้  คนเช่นนี้พวกเราควรลงปัพพาชนิยกรรม  เป็นต้น  แล้วขับไล่ไสส่งว่า  พวกเจ้าจงไปเป็นคนกินเดนเสียเถิด"

->  ถ้อยคำรุนแรงเช่นนี้เข้าใจว่า  ท่านมุ่งเป้าไปยังพระสงฆ์นิกายอื่นที่ไม่นับถือพระอภิธรรม  เช่น นิกายเสาตรานติกะ  ซึ่งไม่ยอมรับว่าพระอภิธรรมเป็นพุทธวัจนะ  ยอมรับเฉพาะ  "มาติกา" เท่านั้น  

น่าประหลาดที่นิกายสรวาสติวาทิน  ซึ่งมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  นิกายอภิธรรม  เพราะนับถืออภิธรรมมาก  กลับมีความเชื่อว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นบทนิพนธ์ของพระสาวกสำคัญ  ๓  รูป  มิใช่พระวจนะของพระพุทธเจ้า  พระสาวกสำคัญ  ๓  รูปนั้น  คือ  พระมหากัจจายนะ  พระสารีบุตร  และพระโมคคัลลานะ

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////


-->  เสถียร  โพธินันทะ  แสดงมติในเรื่องนี้ว่า

"อภิธรรมปิฎกนี้ไม่ใช่พระพุทธภาษิตทั้งหมด  จะเป็นพระพุทธภาษิตก็เฉพาะแต่บทมาติกาและข้ออธิบายบางแห่ง  นอกนั้นเป็นอาจริยภาษิต  ซึ่งอรรถาธิบายมาติกาอย่างพิสดารตามพุทธมติ  จึงไม่ควรถือว่าเมื่อไม่ใช่พระพุทธภาษิตทั้งหมด  แล้วก็เฉยไม่นิยมนับถือ  ความจริงพระอภิธรรมนั้นมิใช่อื่นไกลที่ไหน  เนื้อแท้ก็เป็นธรรมะในพระสูตรนั่นเอง"

-->  ท่าน ญาณดิลก  พระนักปราชญ์ตะวันตก  กล่าวว่า  "ความแตกต่างระหว่างสุตตันตปิฎกกับอภิธรรมนั้น  มิได้เกี่ยวกับเนื้อหาของเรื่อง  มันต่างกันแต่เพียงวิธีจัดคำ  วิธีใช้คำ  ส่วนใจความนั้นเพ่งเล็งถึงสิ่งเดียวกัน  สุตตันตปิฎกพูดภาษาธรรมดาที่ชาวบ้านพูด  ส่วนคัมภีร์อภิธรรมนั้น  ใช้ภาษาทางปรัชญาอย่างบริสุทธิ์  ในความหมายชั้นปรมัตถ์"  แล้วสรุปด้วยคำพูดที่ครอบคลุมที่สุดว่า  "อภิธรรมปิฎกไม่อยู่ในรูปเป็นพระพุทธพจน์"

--->>>  วิวาทะเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมาก  ยกมาเป็นตัวอย่างสองทรรศนะ  สรุปแล้วไม่ว่าจะเป็นใครพูดก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ตะวันตกหรือตะวันออก  ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน  ต่างก็ลงรอยกันในประเด็นสรุปข้างท้ายนี้  คือ

๑. ที่พูดว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์ทั้งหมด  หรือใช่พุทธพจน์เฉพาะบทมาติกาก็ดี  พระอภิธรรมไม่อยู่ในรูปพุทธพจน์ก็ดี  ผู้พูดมิได้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมปิฎกมิใช่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพียงแค่ต้องการบอกว่าอภิธรรมปิฎก  เป็นเรื่องที่  "แต่งเพิ่มเข้ามาภายหลัง"

๒. ทุกคนยอมรับว่าเนื้อหาในพระอภิธรรมปิฎก  เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพราะสอดคล้องตามหลักตัดสินพระธรรมวินัย  ๘  ประการแล้ว  โดยประการทั้งปวง

หมายเลขบันทึก: 216127เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กำลังเรียนเรื่อนนี้อยู่พอดี จะใช่ หรือไม่ใช่ ใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง แต่ผมว่าพระอภิธรรมก็สอนให้เรารู้ว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรควร และไม่ควรนะครับ

เชิญมาพิสุจน์ ก่อนตัดสินใจปฏิเสธ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=8134&Z=8214

พระอานนทเถระได้เรียนธรรมจาก

พระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ได้เรียนมาจากสำนักภิกษุมีพระธรรม

เสนาบดีเป็นต้น ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงรวมเป็นที่คล่องปากขึ้นใจ

๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=8134&Z=8214

พระอานนทเถระได้เรียนธรรมจาก

พระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ได้เรียนมาจากสำนักภิกษุมีพระธรรม

เสนาบดีเป็นต้น ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงรวมเป็นที่คล่องปากขึ้นใจ

๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์

เมื่อก่อนอาตมาภาพก็เคยปฏิเสธอภิธรรมมมาก่อนเหมือนกันและเคยเห็นคนที่เรียนอภิธรรมทำตัวไม่งามเลยเหมารวมกันไปด้วยว่าอภิธรรมไม่ใช่ของพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันพอได้มาศึกษาเองจึงได้เห็นซึ่งเพราะมหาปัญญาธิคุณขององค์สมเด็จพระมหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน พราห์มไม่สามารถแต่งคัมภีร์นี้ได้แน่นอน อย่าว่าแต่คนถืออภิธรรมเลยแม้แต่คนถือพระสูตรเป็นใหญ่ถ้าหากเป็นคนที่ศึกษารู้แต่ธรรมแต่ไม่เข้าถึงธรรมก็ชื่อว่าเข้าไม่ถึงพระพุทธศาศนา แม้จบป.ธ. ๙ แต่เข้าไม่ถึงพระธรรมมีเยอะไปเพราะธรรมของพระพุทธองค์ย่อมแสดงเป็นสองคือ สมมุติสัจจะคือจริงโดยสมมุติ (พระสุตตันตะ) จริงโดยปรมัติสัจจะ (อภิธรรม) เราจะเอาอย่างไดอย่างหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้หรอก เช่นสภาวะที่ขุ่นข้องหมองใจ ไม่พอใจ (ปรมัตถสัจจะ) พระพุทธเจ้าย่อมบัญญัติชื่อนี้ว่า โทสะ (สมมุติสัจจะ) สภาวะอาการติดข้องในสิ่งชอบใจ ย่อมบัญญัติว่า โลภะ เป็นต้น และการที่เพราะไปถือว่าอภิธรรมเป็นของอรรถกถาจารย์แต่งขึ้นก็ถูกส่วนเดียว เพราะแม้แต่เพราะสูตรเองก็ต้องได้รับการอธิบายจากอรรถกถาเพราะอรรถกถาจารย์เป็นผู้อธิบายแจกแจงซึ่งเป็นหน้าที่ของพระสาวก ยกตัวอย่างเช่น ภัทเทกรัตตสูตร (ถ้าจำชื่อไม่ผิดนะ ) ที่ว่าด้วยผู้มีความเพียรแม้เพียงราตรีเดียวก็ชื่อว่าประเสริฐ ซึ่งพระพุทธองค์แสดงไว้เพียงโดยย่อ พระสาวกทั้งหลายต่างไม่เข้าใจจึงเข้าไปถามกับพระมหากัจจายนะ ซึ่งท่านก็อธิบายไว้อย่างพิศดาร แล้วเมื่อได้ฟังจากพระมหากัจจายนะแล้ว จึงเกิดความสงสัยว่าที่ท่านอธิบายถูกต้องหรือไม่จึงทูลถามต่อพระพุทธเจ้า เพราะองค์ท่านก็กล่าวว่าแม้เป็นเราตถาคตก็กล่าวเช่นมหากัจจายนะ นี้แสดงให้เห็นว่าอรรถกถาที่มาในพระไตรปิฎกสามารถเชื่อถือได้ ไม่เหมือนพระเถระหลายท่านที่ไม่เข้ากับความคิดของตัวเองก็อ้างว่าไม่ใช่พุทธพจน์ เป็นแค่อรรถกถา พราห์มแต่งขึ้นแล้วสอดแทรก ให้ฉีกทิ้ง การศึกษาพระพุทธศาสนาจะศึกษาอย่างปรัชญา ตรรกะศาสตร์ หรือคิดเอาทางภาษาไม่ได้ต้องหยั่งรู้เห็นเองซึ่งสภาวะตรงนั้น ซึ่งสภาวะ 57 ประการนี้ก็มีทั้งในสุตตันตะ และอภิธรรมทุกคนสามารถหยั่งเห็นเองได้ (สภาวะ 57 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ18 อินทรีย์ 22 จะไม่ขออธิบายรายละเอียดตรงนี้เพราะสามารถอ่านเพิ่มเติมจากหนังธรรมศึกษาเพราะง่ายต่อการค้นของบุคคลทั่วไป) ถ้าท่านใดมีความสงสัยในเรื่องของอภิธรรมก็คุยกันได้เพราะมีคนก็เก่งกว่าเราอยู่ (เพราะเราเพิ่งเริ่มเรียนเอง แต่ที่นี้สอนไม่เหมือนที่อื่นไม่มีใบประกาศให้เพราะสอนให้รู้ซึ่งหลักแห่งสภาวะที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเราเอง)

[email protected]

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท